Tuesday, March 29, 2011

28/03/2011 * ตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกากำหนดทิศทางตลาดหุ้นทั่วโลกจริงหรือไม่ (1)

วันนี้ดัชนี SET ปิดที่ 1032.94 จุด ลดลง 4.79 จุด

สำหรับหุ้นในกลุ่ม SET50 วันนี้ไม่มีสัญญาณซื้อขาย ขณะนี้ถือหุ้นอยู่รวมทั้งหมด 36 ตัว

กลุ่มฟิวเจอร์ส วันนี้ไม่มีสัญญาณซื้อขาย

ด้านตลาดต่างประเทศ วันนี้ตลาดหุ้นทั่วโลกส่วนใหญ่ปิดคละกันทั้งเขียวและแดง ตลาดฝั่งทวีปอเมริกาส่วนใหญ่ปิดแดง ตลาดฝั่งยุโรปและเอเชียปิดคละกัน

ช่วงนี้ตลาดหุ้นทั่วโลกดูทรงๆ ไม่เห็นทิศทางที่ชัดเจน ช่วงที่ผ่านมาค่าเงินดอลลาร์ สรอ อ่อนตัวมาตลอด เงินบาทก็แข็งค่าขึ้นมาบ้าง เมื่อค่าเงินดอลลาร์อ่อนเช่นนี้ก็ดูยังไม่มีเหตุผลอะไรที่นักลงทุนจะต้องย้ายเงินออกจากตลาดเอเชียเนื่องจากอยู่ไปก่อนก็ได้เปลี่ยนด้านอัตราแลกเปลี่ยน ดังนั้นตลาดหุ้นไทยและในแถบเอเชียในช่วงนี้จึงไม่ค่อยลง แถมยังมีแรงซื้อหุ้นไทยกลับเข้ามาเสียอีก

แต่อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 25 ที่ผ่านมา ค่าเงินดอลลาร์ สรอ ดีดกลับขึ้นมา ดังนั้นต้องคอยติดตามดูไปก่อนว่าดอลลาร์จะเคลื่อนไหวอย่างไรต่อไป จะมีการกลับทิศหรือไม่ ดังนั้นคาดว่าตลาดหุ้นของไทยน่าจะไม่เคลื่อนไหวในกรอบแคบไปก่อนในระยะสั้นเพื่อรอดูทิศทางค่าเงิน


ตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกากำหนดทิศทางตลาดหุ้นทั่วโลกจริงหรือไม่ (1)


เมื่อราวสักสิบปีก่อนและก่อนหน้านั้นย้อนขึ้นไปอีก ตลาดหุ้นของสหรัฐอเมริกาถือว่าเป็นตลาดที่ชี้นำทิศทางของตลาดหุ้นอื่นๆทั่วโลก นักลงทุนของไทยเองก็ยังต้องติดตามข้อมูลว่าดัชนีดาวโจนส์ (DJI) ของสหรัฐอเมริกาในแต่ละวันว่าเป็นอย่างไร หากวันใดที่ดัชนีดาวโจนส์ร่วง ดัชนีของตลาดหุ้นอื่นๆก็มักร่วงตามไปด้วย

นั่นเป็นเรื่องของเมื่อหลายปีก่อนที่ศูนย์กลางของเศรษฐกิจและการลงทุนยังอยู่ในซีกโลกด้านตะวันตก แต่ในปัจจุบันโลกได้เปลี่ยนไป เศรษฐกิจในซีกโลกตะวันตกเหมือนตะวันในยามบ่ายที่กำลังรอเวลาอัสดง ส่วนเศรษฐกิจในซีกโลกตะวันออกกลับเป็นเหมือนตะวันยามสายที่ยังส่องสว่างเจิดจ้าต่อไปได้อีกนาน และหากดูปริมาณการค้า ปัจจุบันการค้าในระหว่างเอเชียด้วยกันเองมีมากขึ้น รวมทั้งยังมีตลาดเกิดใหม่อื่นๆนอกเอเชียอีก โดยเฉพาะการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกาลดลงไปมาก ดังนั้นหากมองในแง่ปัจจัยพื้นฐานแล้วนักวิเคราะห์มักประเมินว่าของสหรัฐอเมริกาไม่ได้เป็นพี่ใหญ่ที่ทุกคนต้องคอยเดินตามเหมือนเมื่อก่อนแล้ว

สำหรับผู้ที่วิเคราะห์ในเชิงปัจจัยทางเทคนิคก็ยังมีความเห็นเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งก็ว่าดัชนีดาวโจนส์ยังมีบทบาทชี้นำทางเทคนิคแก่ตลาดหุ้นอื่นๆอยู่ อีกกลุ่มนึ่งก็ว่าปัจจัยทางเทคนิคของสหรัฐอเมริกาไม่ส่งผลแล้วเนื่องจากปัจจบันความสำคัญของเศรษฐกิจย้ายมาอยู่ที่เอเชียแล้ว แถมบางคนยังมองไปถึงขั้นที่ว่าดัชนีดาวโจนส์ต้องขึ้นลงตามดัชนีของเอเชียต่างหาก

ลุงแมวน้ำมองว่าการตอบจากความรู้สึกนั้นยากที่จะชี้วัดให้เป็นรูปธรรมได้เพราะต่างคนก็ต่างความคิด ดังนั้นวันนี้ลุงแมวน้ำจะลองพยายามตอบคำถามนี้ด้วยการใช้เครื่องมือทางสถิติดู

เครื่องมือทางสถิติที่ลุงแมวน้ำจะใช้วิเคราะห์ก็เป็นเครื่องมือที่เราเคยคุยกันไปแล้ว นั่นคือ สัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ (correlation coefficient) โดยลุงแมวน้ำนำเอาข้อมูลดัชนีตลาดหลักทรัพย์ของประเทศและกลุ่มประเทศต่างๆหลายตัวมาคำนวณและเปรียบเทียบให้ดูกันตลอดช่วงเวลาหลายปี คือตั้งแต่ต้นปี 2004 (2547) จนถึงปลายเดือนมีนาคม 2011 (2554) แล้วลองดูว่าข้อมูลของแต่ละตลาดมีระดับความสัมพันธ์อย่างไร

ดัชนีที่ลุงแมวน้ำนำมาเปรียบเทียบกันมีดังนี้

  1. A3DOW กลุ่มละตินอเมริกา (บราซิล เมกซิโก ชิลี)
  2. AORD ออสเตรเลีย
  3. BSESN อินเดีย
  4. DJI สหรัฐอเมริกา
  5. E1DOW ยุโรปตะวันตก (อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ สเปน อิตาลี เนเธอร์แลนด์ เบลเยียม ออสเตรีย ไอร์แลนด์ กรีซ โรปตุเกส แอฟริกาใต้)
  6. P3DOW เอเชียใต้ (อินโดนีเชีย มาเลเซีบ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไต้หวัน ไทย)
  7. SET ไทย
  8. SSECI จีน
  9. STI สิงคโปร์
  10. W5DOW ตลาดเกิดใหม่ (บราซิล จีน ไต้หวัน เกาหลีใต้ อินเดีย รัสเซีย แอฟริกาใต้ เมกซิโก มาเลเซีย อินโดนีเซีย ชิลี ไทย โปแลนด์ ฯลฯ)

ตารางที่ลุงแมวน้ำคำนวณมามีทั้งหมด 9 ตาราง โดยตารางแรกเป็นผลการคำนวณหาความสัมพันธ์รวมตลอดระยะเวลาตั้งแต่ปี 2004 ถึง มีนาคม 2011 ส่วนตารางถัดมาเป็นระดับความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละปี ลองมาดูตารางกันก่อน





วิธีดูก็คือหาคู่เปรียบเทียบที่ต้องการและดูในปีที่ต้องการ เช่น ต้องการดูความสัมพันธ์ระหว่างดัชนีดาวโจนส์ (DJI) กับดัชนี SET ในปี 2004

เราก็ไปที่ตารางปี 2004 ดูหัวตารางทั้งในแนวตั้งและแนวนอน ให้ด้านหนึ่งเป็น DJI และอีกด้านหนึ่งเป็น SET จากนั้นดูเซลล์ที่แถวและสดมภ์ตัดกัน ในกรณีตัวอย่างนี้ได้ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ระหว่าง DJI กับ SET คือ 0.59 ดังภาพต่อไปนี้



การตีความค่า หากค่าใกล้ 1 เท่าไร ระดับความสัมพันธ์แบบตามกันจะยิ่งสูง คือหากค่าหนึ่งขึ้น อีกค่าก็ต้องขึ้นตาม หากค่ายิ่งน้อย (ใกล้ 0) ระดับความสัมพันธ์จะยิ่งต่ำ คือไม่มีความสัมพันธ์กัน สำหรับค่า 0.59 ถือว่ามีความสัมพันธ์แบบตามกันในระดับปานกลาง

หากค่าติดลบ การตีความค่าติดลบก็คือ หากค่าเข้าใกล้ -1 มากเท่าใด ระดับความสัมพันธ์แบบสวนทางกันจะยิ่งสูง คือค่าหนึ่งขึ้น อีกต่าหนึ่งต้องลง หากติดลบแค่ค่อนไปทาง 0 หรือติดลบเข้าใกล้ 0 หมายถึงว่าแทบจะไม่มีความสัมพันธ์กัน และหากค่าติดลบอยู่ประมาณ -0.5 หมายถึงว่ามีความสัมพันธ์แบบสวนทางกันพอประมาณ

ลองดูตารางและพยายามใช้ตารางนี้ด้วยตนเองไปก่อน แล้วเรามาคุยกันต่อในวันถัดไป





1 comment:

mark said...

ขอบคุณครับสำหรับข้อมูลดี