Friday, July 31, 2015

มองแนวโน้มเศรษฐกิจไทย (4)

“Toward a New Frontier” Series บทความชุด “ทะยานสู่พรมแดนใหม่”







ในตอนนี้เราจะมาดูดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจที่สำคัญด้านการใช้จ่ายกันต่อจากตอนที่แล้ว


ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน


ตอนที่แล้วเราได้ศึกษาเกี่ยวกับดัชนีราคาผู้บริโภคอันเป็นตัวชี้วัดด้านราคาสินค้าและบริการ ยังมีตัวชี้วัดด้านการจับจ่ายใช้สอยที่สำคัญอีกตัวชี้วัดหนึ่ง นั่นคือ ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน (private consumption index) ซึ่งเป็นตัวชี้วัดด้านกำลังการจับจ่ายใช้สอยของบุคคล เรามักใช้ดูประกอบกับดัชนีราคาผู้บริโภค สองดัชนีนี้ให้ภาพการบริโภคที่ไม่เหมือนกัน ดัชนีราคาผู้บริโภคบ่งบอกว่าราคาสินค้าถูกหรือแพง ส่วนดัชนีการอุปโภคบริโภคบอกว่าผู้บริโภคซื้อมากน้อยเท่าไร บางทีสินค้าราคาถูกแต่ผู้บริโภคก็ยังไม่จับจ่าย หรือสินค้าราคาแพงแต่ผู้บริโภคก็ยังจับจ่ายอย่างไม่ยั้ง เหล่านี้จะทำให้เกิดภาพเศรษฐกิจที่แตกต่างกันออกไป

ดัชนีราคาผู้บริโภคนั้นคำนวนจากการจับจ่ายใช้สอยทั้ง สินค้าสิ้นเปลือง (หรือเรียกว่าสินค้าไม่คงทน เช่น เชื้อเพลิง กระแสไฟฟ้า สินค้าปลีก ฯลฯ) สินค้ากึ่งคงทน (เช่น เครื่องนุ่งห่ม ฯลฯ) สินค้าคงทน (เช่น รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ ฯลฯ) การใช้จ่ายภาคบริการ (เช่น การกินอาหารในห้องอาหารหรือภัตตาคาร ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ฯลฯ) และ การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ก็นำเอาข้อมูลการใช้จ่ายใน 5 หมวดเหล่านี้มาคำนวณเป็นดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน


ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนบ่งบอกภาพรวมของการจับจ่ายใช้สอยของภาคประชาชน ส่วนดัชนีการใช้จ่ายสินค้าคงทนเน้นที่การใช้จ่ายสินค้าที่อายุใช้งานยาวนานและราคาสูง


เรามาดูกราฟดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน (เส้นสีฟ้า) กัน จากกราฟเส้นสีฟ้าจะเห็นว่าการอุปโภคบริโภคในปี 2556 นั้นปรับตัวลงอย่างรวดเร็ว บ่งบอกถึงการจับจ่ายใช้สอยที่หดตัวลง จากนั้นก็ดีขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงต้นปี 2557 พอกลางปี 2557 เป็นต้นมาดัชนีก็รุดตัวเป็นแนวโน้มขาลงมาโดยตลอด มีเดือน พ.ค. 2558 นี่เองที่เด้งขึ้นมาแบบพรวดพราด

เส้นสีฟ้านี้เราอาจจะรู้สึกว่าดูแนวโน้มยาก นั่นเป็นเพราะเป็นดัชนีที่เฉลี่ยจากการอุปโภคบริโภคหลายสิ่งหลายอย่าง โดยเฉพาะพวกสินค้าไม่คงทนหรือของกินของใช้ทั่วไปในชีวิตประจำวันนั้นบางทีอยากจะประหยัดก็ทำได้ยาก เหตุปัจจัยหลายอย่างผสมกันจนผันผวน ทำให้ดูแนวโน้มได้ยาก

ในการพิจารณาเศรษฐกิจนั้นโดยทั่วไป การดูที่การบริโภคสินค้าคงทนอาจเห็นภาพได้ชัดกว่า เนื่องจากหากเศรษฐกิจไม่ดี แม้ว่าผู้บริโภคจะยังซื้อของกินของใช้ทั่วไปแต่มักจะไปชะลอการซื้อของที่อายุใช้งานยาวนานและราคาสูง ซึ่งดัชนีสินค้าคงทนนั้นคำนวณจากการซื้อรถยนต์และรถมอเตอร์ไซค์ ซึ่งก็คือของที่มีอายุการใช้งานยาวนานและราคาสูงนั่นเอง

ดังนั้น เมื่อดูเส้นสีเหลืองหรือดัชนีสินค้าคงทน จะเห็นว่าเป็นขาลงหรือหมายถึงเศรษฐกิจน่าจะไม่ค่อยดีมาตั้งแต่ปี 2556 แล้วเพราะการบริโภคสินค้าคงทนลดลงมาโดยตลอด แต่เราจะสรุปฟันธงเศรษฐกิจจากกราฟเดียวไม่ได้ เพราะผลจากโครงการรถคันแรกที่ดึงกำลังซื้อไปล่วงหน้าก็สะท้อนอยู่ในเส้นนี้ด้วย ดังนั้นจำต้องพิจารณาดัชนีอื่นๆประกอบด้วย


ดัชนีราคาอสังหาริมทรัพย์ ตัวชี้วัดเศรษฐกิจที่สำคัญ


ดัชนีอีกชุดหนึ่งที่นิยมใช้พิจารณาภาวะเศรษฐกิจ นั่นคือ ดัชนีราคาอสังหาริมทรัพย์ ลองดูกราฟต่อไปนี้


ดัชนีราคาอาคารชุดปรับตัวขึ้นได้เร็วและผันผวนสูงเนื่องจากคอนโดมิเนียมมีสภาพเก็งกำไรมากกว่าบ้านเดี่ยว


ดัชนีราคาอสังหาริมทรัพย์นั้นมีดัชนีย่อยหลายดัชนี แต่วันนี้ลุงแมวน้ำนำมาให้ดูกันเพียง 2 ดัชนี นั่นคือ ดัชนีราคาอาคารชุด กับ ดัชนีราคาบ้านเดี่ยวพร้อมที่ดิน โดยปกติแล้วหากเศรษฐกิจเติบโต ราคาอสังหาริมทรัพย์จะค่อยๆขยับตัวสูงขึ้น หากเศรษฐกิจโตดีราคาอสังหาก็ขึ้นเร็วหน่อย หากเศรษฐกิจฝืดเคืองราคาอสังหาก็ทรงตัว หรือหากแย่มากก็อาจหดตัวได้

เมื่อพิจารณาจากกราฟ จะเห็นว่าราคาอาคารชุด (ราคาคอนโดมิเนียม เส้นสีเหลือง) ราคาขยับขึ้นเร็วกว่าราคาบ้านเดี่ยวพร้อมที่ดิน (เส้นสีฟ้า) อีกทั้งเส้นสีเหลืองยังผันผวนกว่า นั่นเป็นเพราะธรรมชาติของคอนโดมิเนียมมีความเป็นสินค้าเก็งกำไรมากกว่า ราคาจึงขึ้นเร็วกว่าและแกว่งตัวมากกว่า (โดยทั่วไปรูปแบบกราฟราคาคอนโดมิเนียมของไทยนั้นจะมีรูปทรงคล้ายขั้นบันได คือขึ้นแล้วพัก พักแล้วขึ้นต่อ จากนั้นพักอีก เนื่องจากการเก็งกำไรสูงทำให้เกิดภาวะโอเวอร์ซัพพลายเป็นระยะๆ ซึ่งต้องอาศัยเวลาดูดซับ) การพิจารณาแนวโน้มเศรษฐกิจจากดัชนีราคาอาคารชุดจึงอาจตีความยากสักหน่อย

แต่หากลองดูเส้นสีฟ้า ดัชนีราคาบ้านเดี่ยวพร้อมที่ดิน ปกติบ้านเดี่ยวพร้อมที่ดินไม่ใช่สินค้าเก็งกำไร ผู้ที่ซื้อมักต้องการอยู่อาศัยอย่างแท้จริง ดังนั้นราคาไม่แกว่งมาก ลุงแมวน้ำว่าการดูแนวโน้มเศรษฐกิจจากดัชนีราคาบ้านเดี่ยวพร้อมที่ดินจะทำให้เห็นภาพเศรษฐกิจได้ชัดเจนกว่า

จากกราฟ จะเห็นว่าทั้งดัชนีราคาคอนโดกับดัชนีราคาบ้านเดี่ยวตั้งแต่ต้นปี 2558 เป็นต้นมา บ่งชี้ไปในทิศทางเดียวกัน นั่นคือ ทั้งราคาคอนโดและบ้านเดี่ยวทรงตัว สะท้อนภาพเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยสดใสนัก ดีที่ยังไม่ใช่แนวโน้มหดตัว แต่ก็ประมาทไม่ได้ ระยะต่อไปจะเป็นอย่างไรก็ยังไม่รู้ 


พิจารณาภาพรวมเศรษฐกิจด้วยดัชนีผสม


จากดัชนีที่ลุงแมวน้ำคุยมาให้ฟังทั้ง 3 ตอน หากเราลองรวมดัชนีสำคัญมาพล็อตอยู่ในกราฟเดียวกัน เราจะได้ภาพสะท้อนเศรษฐกิจที่น่าสนใจ ลองมาดูกราฟนี้กัน


ภาพของเศรษฐกิจไทยที่สะท้อนจากดัชนี 4 ดัชนีทั้งภาคธุรกิจการลงทุน และภาคการบริโภค


กราฟนี้เป็นการรวมเอาดัชนีด้านธุรกิจ การค้า การลงทุน มารวมกับดัชนีด้านการบริโภคที่สำคัญ ลุงแมวน้ำเลือกมา 4 ดัชนี คือ ดัชนีพ้องเศรษฐกิจ ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจ ดัชนีค่าใช้จ่ายสินค้าคงทน และดัชนีราคาบ้านเดี่ยวพร้อมที่ดิน จะเห็นว่าทั้งสี่ดัชนีนี้ไม่ทรงก็ลง สะท้อนภาพเศรษฐกิจไทยที่น่าเป็นห่วง โดยเฉพาะดัชนีสินค้าคงทนกับดัชนีบ้านเดี่ยวนั้นหากอยู่ในสภาวะทรงตัวหรือทรุดตัวแล้วการจะให้กลับเป็นขาขึ้นนั้นเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลานาน แปลความว่าเศรษฐกิจไทยยังต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวอีกนานพอควรทีเดียว 


หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ชี้ภาพเศรษฐกิจทางอ้อม


การพิจารณาภาพทางเศรษฐกิจนอกจากดูที่การลงทุนหรือการบริโภคแล้ว เรายังอาจดูจากภาคการเงินก็ได้ นั่นคือ ปริมาณหนี้เสีย บางทีก็ดูปริมาณเช็คเด้ง แล้วแต่สะดวก เนื่องจากหากเศรษฐกิจไม่ดีการชำระหนี้ย่อมฝืดเคืองไปด้วย ปริมาณการผิดนัดชำระหนี้ย่อมมากขึ้น

ปกติการจัดชั้นหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้นั้น คือหนี้ที่ขาดชำระเกินกว่า 3 เดือน เราก็ดูเอาจากรายงานการจัดชั้นหนี้ หาก NPL เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องย่อมสะท้อนภาพเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยดี ดังในภาพนี้


ปริมาณหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว ควรพิจารณาหนี้ชั้น SML ประกอบด้วยเพื่อให้เห็นภาพได้ชัดเจนยิ่งขึ้น


ข้อมูล NPL ออกเป็นรายไตรมาส ก็ไม่ค่อยฉับไวต่อสถานการณ์เมื่อเปรียบเทียบกับตัวชี้วัดที่รายงานเป็นรายเดือน นอกจากนี้ การพิจารณายอด NPL นั้นที่จริงควรพิจารณาชั้นหนี้ขาดชำระ 1-3 เดือนด้วย (ที่เรียกว่าชั้น SML) ว่าหนี้ชั้น SML  มีมากเท่าไรด้วยเนื่องจากพวกนี้คือกลุ่มที่รอเป็น NPL หาก NPL ก็มาก และ SML ก็รออยู่มาก ยิ่งบ่งบอกภาพเศรษฐกิจที่น่าหนักใจ


เอาละคร้าบ เล่ามาครบหมดแล้ว ทีนี้พวกเราก็พอจะติดตามภาพเศรษฐกิจกันได้ด้วยตนเองแล้ว

Monday, July 27, 2015

มองแนวโน้มเศรษฐกิจไทย (3)

“Toward a New Frontier” Series บทความชุด “ทะยานสู่พรมแดนใหม่”





ในบทความสองตอนก่อนเราได้คุยเกี่ยวกับมุมมองแนวโน้มเศรษฐกิจไทยโดยพิจารณาจากตัวชี้วัดด้านธุรกิจการค้า อุตสาหกรรม การลงทุน ซึ่งเป็นการมองเศรษฐกิจจากตัวชี้วัดด้านการสร้างรายได้ อันถือเป็นต้นน้ำของเศรษฐกิจ เพราะมีรายได้จึงจะมีการจับจ่ายใช้สอยเกิดขึ้นตามมา

สำหรับในตอนนี้เราจะมาพิจารณาเศรษฐกิจไทยจากตัวชี้วัดด้านการอุปโภคบริโภคหรือด้านการจับจ่ายใช้สอยกันบ้าง หลายคนอาจสงสัยว่าก็ในเมื่อมีรายได้จึงจะมีการจับจ่ายใช้สอย ดังนั้นพิจารณาเศรษฐกิจจากตัวชี้วัดด้านธุรกิจ การค้า การลงทุนก็น่าจะเพียงพอแล้ว พูดแบบนั้นก็ไม่เชิง เนื่องจากการจับจ่ายใช้สอยมีปัจจัยทางจิตวิทยาเข้ามาเกี่ยวข้องสูง บางทีแม้มีรายได้ดีแต่อาจไม่อยากจับจ่ายก็เป็นได้เพราะเรามองแนวโน้มในอนาคตข้างหน้าไม่ค่อยดีนัก จึงอยากประหยัดเอาไว้ก่อน เป็นต้น ดังนั้นตัวชี้วัดด้านการอุปโภคบริโภคก็บ่งชี้อาการทางเศรษฐกิจได้ไวและด้วยมุมมองที่แตกต่างออกไป หากจะมองเศรษฐกิจให้เกิดภาพหรือมุมมองอย่างทั่วถึงก็ควรพิจารณาทั้งตัวชี้วัดต้นน้ำและปลายน้ำประกอบกัน

ตัวชี้วัดด้านการอุปโภคบริโภคมีมากมายหลายตัว เรามาดูกันเพียง 3-4 ตัวชี้วัดที่สำคัญก็พอ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน และดัชนีอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งดัชนีเหล่านี้จะมีดัชนีย่อยอีก และมีของแถม คือ ตัวชี้วัดเศรษฐกิจด้านการธนาคาร นั่นคือ ปริมาณหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือยอดเอ็นพีแอล (NPL)


ดัชนีราคาผู้บริโภค บ่งบอกภาวะการครองชีพ เงินเฟ้อ เงินฝืด


ดัชนีราคาผู้บริโภค (consumer price index) คือตัวชี้วัดที่เรานำมาคำนวณอัตราเงินเฟ้อนั่นเอง อัตราเงินเฟ้อปีละเท่านั้นเท่านี้ก็ได้มาจากดัชนีนี้ และเนื่องจากอัตราเงินเฟ้อเป็นตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจที่สำคัญตัวหนึ่ง ดังที่เราได้อ่านพบในข่าวอยู่เสมอ ดังนั้นวันนี้เราจะคุยเรื่องนี้กันเยอะสักหน่อย

ดัชนีราคาผู้บริโภคหรือจะเรียกให้เข้าใจง่ายก็คือดัชนีราคาสินค้าและบริการนั่นเอง โดยดัชนีนี้บ่งบอกราคาสินค้าและบริการที่จำเป็นในการครองชีพโดยบอกเป็นภาพรวม

ดัชนีนี้คำนวณจากราคาอาหารและเครื่องดื่ม ราคาเครื่องนุ่งห่มรองเท้า ราคาเกี่ยวกับที่พักอาศัย (ค่าเช่า เครื่องตกแต่งบ้าน ค่าน้ำค่าไฟ ค่าดูแลความสะอาด ฯลฯ) ค่ารักษาพยาบาล ค่าเบี้ยประกัน ค่าเดินทาง ค่าติดต่อสื่อสาร ค่าบันเทิงสันทนาการ ค่าการศึกษา เป็นต้น ก็เอาราคาพวกนี้มาเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักกัน ได้เป็นดัชนีราคาผู้บริโภคเพื่อบ่งบอกภาวะค่าครองชีพโดยรวม

ทีนี้ก็ต้องทำความเข้าใจกันหน่อยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคที่เรามักนิยมอ้างอิงกันนั้น มี 2 ดัชนีย่อย คือ

ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป คือค่าใช้จ่ายต่างๆในย่อหน้าที่แล้วเอามาคำนวณเป็นดัชนี ดัชนีนี้เอาไปคำนวณอัตราเงินเฟ้อ อัตราเงินเฟ้อที่ได้เรียกว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (headline inflation)

อีกดัชนีหนึ่งที่ควบคู่กันไป นั่นคือ ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน ก็คำนวณจากราคาสินค้าและบริการต่างๆข้างบนเช่นกัน แต่หักค่าอาหารและเชื้อเพลิงออกไป (คือไม่รวมค่าอาหารและเชื้อเพลิงนั่นเอง)  ดัชนีนี้เอาไปคำนวณอัตราเงินเฟ้อ อัตราเงินเฟ้อที่ได้เรียกว่า อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (core inflation)

เหตุที่ต้องมีดัชนีสองตัวนี้ใช้ควบคู่กันเนื่องจากราคาอาหารและเชื้อเพลิงนั้นราคาไม่คงที่ แกว่งตัวหวือหวา โดยอาจเป็นไปตามฤดูกาลหรือเป็นช่วงสั้นๆ (ยกตัวอย่างเช่นหน้าแล้งผักแพง มะนาวแพง แต่ก็เพียงไม่นาน เป็นต้น) บางทีการแกว่งตัวที่หวือหวาอาจบดบังสภาพเศรษฐกิจที่แท้จริงไป เราจึงต้องมีดัชนีแบบที่ตัดสินค้าอาหารและเชื้อเพลิง ไว้พิจารณาควบคู่กัน หากงงก็ไม่เป็นไร เดี๋ยวดูกราฟแล้วจะเข้าใจ

การใช้ข้อมูลดัชนีราคาผู้บริโภคนั้นต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่าดัชนีนี้เกี่ยวกับการบริโภคของชนชั้นกลางและมีรายได้ประจำ เป็นตัวแทนกำลังการบริโภคส่วนใหญ่ของประเทศแต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมดของประเทศ หากต้องการพิจารณาการบริโภคของคนยากคนจน ก็มีดัชนีราคาผู้บริโภคของผู้มีรายได้น้อย หรือหากต้องการพิจารณาการบริโภคในชนบทห่างไกล ก็มีดัชนีราคาผู้บริโภคในชนบท ให้ใช้พิจารณาโดยเฉพาะ เป็นต้น หรือหากเราต้องการดูภาวะการครองชีพในแต่ละภูมิภาค เราก็มีดัชนีราคาผู้บริโภคของแต่ละภาคให้ใช้ เป็นต้น

ทีนี้เรามาดูกราฟดัชนีราคาผู้บริโภคและการประเมินอัตราเงินเฟ้อกัน ดูภาพต่อไปนี้


ดัชนีราคาผู้บริโภค (consumer price index) ทั้งชุดทั่วไปและชุดพื้นฐานทั่วประเทศ ปี 2556-2558 


ในภาพนี้ เส้นสีฟ้าคือดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป เส้นสีส้มคือดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน จะเห็นว่าในช่วงปี 2557 ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (สีฟ้า) แกว่งตัวหวือหวาคือดัชนีร่วงแรง เพราะรวมราคาพลังงานและอาหารเข้าไปด้วย และปัจจัยที่ทำให้แกว่งตัวมากคือราคาน้ำมันนั่นเองเนื่องจากในปี 2557 นั้นราคาน้ำมันดิบตลาดโลกปรับตัวลงแรง หากนำข้อมูลนี้ไปคำนวณเป็นอัตราเงินเฟ้อทั่วไปก็จะได้อัตราเงินเฟ้อที่แกว่งตัว เดี๋ยวอัตราเงินเฟ้อเป็นบวก เดี๋ยวอัตราเงินเฟ้อติดลบ ทำให้ประเมินภาพเศรษฐกิจยาก

หากจะพูดให้เข้าใจง่าย ดัชนีเงินเฟ้อทั่วไปเปรียบเหมือนดัชนีเซ็ตนั่นเอง ดัชนีเซ็ตถ่วงน้ำหนักด้วยหุ้นกลุ่มพลังงานค่อนข้างมาก พอราคาน้ำมันโลกร่วงแรง หุ้นพลังงานก็ร่วง ดัชนีเซ็ตก็ร่วง ภาพที่เห็นดูเหมือนตลาดหุ้นร่วงทั้งตลาด แต่ที่จริงราคาหุ้นบางกลุ่มก็ไม่ได้ร่วงตามไปด้วย เป็นต้น

และนั่นเองคือที่มาของเส้นสีส้ม ลองดูเส้นสีส้ม ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานที่หักค่าพลังงานและอาหารออกไปแล้ว จะเห็นว่าเส้นสีส้มค่อยๆขยับตัวขึ้น บ่งบอกสภาพค่าครองชีพที่ค่อยๆขยับตัวขึ้น ทำให้ใช้ตีความเป็นภาพเศรษฐกิจได้ดีกว่า

ทีนี้เรามาดูกันอีกภาพหนึ่ง ดังนี้


ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานยุคต้มยำกุ้ง 2540-2542 เทียบกับปัจจุบัน 2556-2558 ความชันของเส้นบ่งบอกระดับของเงินเฟ้อได้อย่างคร่าวๆ


ภาพนี้เราดูกันเฉพาะดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน เพราะแบบทั่วไปตีความยาก เป็นภาพเดิมแต่ลุงแมวน้ำเติมเส้นสีเทาลงไป เส้นสีเทานี้คือดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานในยุคต้มยำกุ้งปี 2540-2542

เรามาพิจารณาลีลาของเส้นกัน การดูความชันของเส้นทำให้เราประมาณอัตราเงินเฟ้อได้แบบคร่าวๆ ไม่ต้องไปคำนวณให้ปวดหัว

ดูที่เส้นสีเทา

ในปี 2540 เส้นสีเทามีความชันพอควร ลุงแมวน้ำเทียบให้เป็นอัตราเงินเฟ้อระดับ ++

ปี 2541 ช่วงต้นปีและกลางปี เส้นสีเทามีความชันลดลง ให้เป็นระดับ + แสดงว่าปี 2541 เมื่อเทียบกับปี 2540 เศรษฐกิจแย่ลงเนื่องจากอัตราเงินเฟ้อลดลง

ปลายปี 2541 ต่อต้นปี 2542 ช่วงคร่อมปีนี้เส้นสีเทาไม่มีความชัน คือเป็นความชันระดับ 0 ตอนนี้ค่าครองชีพนิ่ง คงที่ สินค้าบริการไม่ขึ้นราคา อัตราเงินเฟ้อเป็น 0 อย่างนี้ไม่ดีแล้ว แปลว่าเศรษฐกิจแย่ลงกว่าปี 2541 เสียอีก

กลางปี 2542 เส้นสีเทาความชันเป็น – (เป็นลบ) คือราคาสินค้าบริการลดลง แปลว่าเศรษฐิจแย่ลงกว่าเดิมอีก สินค้าบริการยืนราคาเดิมไม่ไหวเพราะไม่มียอดขาย ต้องลดราคาลง นี่คืออัตราเงินเฟ้อติดลบ หากติดลบนานไปก็กลายเป็นเศรษฐกิจถดถอย

เส้นสีเทานั้นคืออดีต แต่เส้นสีส้มคือสถานการณ์ปัจจุบัน ลองดูว่าตลอดเวลาที่ผ่านมา ความชันของเส้นสีส้มลดลงเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบันความชันของเส้นสีส้มเป็นบวกเพียงเล็กน้อย (คือความชันน้อย) แปลความว่าอัตราเงินเฟ้อลดลง เศรษฐกิจแย่ลง หากไม่แก้ไขอะไรหรือแก้ไขแต่ไม่สำเร็จ โมเมนตัมของเศรษฐกิจในช่วงต่อไปน่าจะก้าวไปสู่ความชัน 0 และความชันติดลบในที่สุด

วันนี้คุยกันได้แค่ดัชนีราคาผ้บริโภค แต่ก็ได้ความรู้เอาไปติดตามข่าวต่างได้ ครั้งหน้าคุยกันเรื่องดัชนีที่เหลือคร้าบ

Wednesday, July 22, 2015

มองแนวโน้มเศรษฐกิจไทย (2)

“Toward a New Frontier” Series บทความชุด “ทะยานสู่พรมแดนใหม่”





วันนี้เรามาคุยกันต่อ การวิเคราะห์แนวโน้มของเศรษฐกิจเราก็ต้องวิเคราะห์จากตัวชี้วัด (indicator) ต่างๆ ซึ่งก็คล้ายๆกับการวิเคราะห์ทางเทคนิคนั่นเองที่ประกอบด้วยเครื่องมือวิเคราะห์และตัวชี้วัดมากมายหลายอย่างให้เลือกใช้ ก็สุดแท้แต่มุมมองของนักลงทุนที่จะเลือกใช้ตัวชี้วัดอะไร และขึ้นอยู่กับการตีความผลของตัวชี้วัดด้วย เช่น บางคนใช้ MACD บางคนใช้ RSI-14 บางคนใช้ MA หรือบางคนก็ใช้หลายอย่างร่วมกัน เป็นต้น การใช้ก็ต้องมีวิธีการตีความด้วยจึงจะอ่านออกมาเป็นเรื่องราวได้

ฉันใดก็ฉันนั้น ตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจก็มีมากมายหลายตัวชี้ การนำมาใช้ก็ขึ้นกับความรู้ความเข้าใจและความถนัดด้วย ในที่นี้เราจะมีดูตัวชี้วัดที่สำคัญกันหลายตัว เพื่อให้สะท้อนให้เห็นมุมทางเศรษฐกิจหลายๆมุม


ดูเศรษฐกิจ ให้ดูการค้าการลงทุน


กลุ่มแรกที่เราจะมาดูกันก็เป็นตัวชี้วัดที่เกี่ยวกับธุรกิจ การค้า การลงทุน เพราะกิจกรรมเหล่านี้เป็นกิจกรรมที่ก่อให้เกิดรายได้ เมื่อมีรายได้หรือมีเงินเข้ากระเป๋าก็มีกำลังไปจับจ่ายใช้สอย หรือเรียกว่าเป็นกิจกรรมต้นน้ำทางเศรษฐกิจก็ได้

ตัวชี้วัดในกลุ่มธุรกิจ การค้า การลงทุน ที่ลุงแมวน้ำอยากนำมาคุย ได้แก่ สถิติการส่งออก อัตราการใช้กำลังการผลิต (capacity utilization rate) ดัชนีเศรษฐกิจ (economic index) ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ (business sentiment index) ที่จริงเราก็ได้ดูกันไปบ้างแล้ว นั่นคือ สถิติการส่งออก และอัตราการใช้กำลังการผลิต วันนี้เราจะมาคุยเกี่ยวกับตัวชี้วัดอื่นกันต่อ

จากตอนที่แล้วเราจะเห็นว่าการส่งออกของเราหดตัวลงต่อเนื่อง 3 ปี รวมทั้งอัตราการใช้กำลังการผลิตก็ลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นทิศทางที่สอดคล้องกัน


อัตราการใช้กำลังการผลิต


ทีนี้วิธีการตีความอย่างง่ายก็ใช้จินตนาการช่วยนิดหน่อย ลองดูอัตราการใช้กำลังการผลิต ปัจจุบันอยู่ที่ 56.6% แปลความง่ายๆว่ามีเครื่องจักร 100 เครื่องแต่ใช้งานเพียง 56.6 เครื่อง หรือใช้กำลังการผลิตประมาณครึ่งเดียวของที่มีอยู่ หากเป็นแบบนี้ สถานการณ์ที่เกิดกับพนักงานในโรงงานผลิตก็คือไม่มีค่าโอที รวมทั้งอาจมีการปรับลดพนักงานลงเพื่อให้เหมาะกับปริมาณงาน นอกจากนี้ยังอาจหมายถึงการปิดกิจการเพราะสู้ต้นทุนไม่ไหว ดังนั้นการใช้กำลังการผลิตที่ลดลงต่อเนื่องย่อมส่งผลถึงรายได้และการบริโภคของประชาชนในภาพรวมด้วย


ดัชนีเศรษฐกิจ ตัวชี้วัดเศรษฐกิจภาพกว้างในระยะสั้น


ต่อไปเราจะไปดูตัวชี้วัดทางธุรกิจ การค้า การลงทุนกันอีกตัวชี้วัดหนึ่ง นั่นคือ ดัชนีเศรษฐกิจ (economic index) 

ที่จริงดัชนีเศรษฐกิจนี้ให้ภาพเศรษฐกิจในมุมกว้าง คือเป็นภาพในระดับที่ใหญ่กว่ามูลค่าการส่งออกหรืออัตราการใช้กำลังการผลิต ที่จริงควรจะคุยเรื่องนี้กันก่อน แต่ไหนๆก็ไหนๆ แล้วไปแล้ว >.<

ดัชนีเศรษฐกิจนี้แบ่งเป็น 2 ดัชนีย่อย นั่นคือ เป็นตัวชี้วัดความคาดหวังกับอนาคตข้างหน้าตัวหนึ่ง เรียกว่า ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจ (leading economic index) กับ ตัวที่บ่งชี้สถานการณ์ปัจจุบันอีกตัวหนึ่ง เรียกว่าดัชนีพ้องเศรษฐกิจ (coincident economic index) ใช้มองภาพเศรษฐกิจในระยะสั้นประมาณ 3 เดือน

ดัชนีพ้องเศรษฐกิจนั้นใช้ชี้วัดสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน โดยคำนวณจากข้อมูลการนำเข้า ผลผลิตทางอุตสาหกรรม ภาษีมูลค่าเพิ่ม การซื้อรถยนต์ ฯลฯ ส่วนดัชนีชี้นำเศรษฐกิจคำนวณจากข้อมูลที่ยังไม่เกิดผลในปัจจุบันแต่จะเกิดผลในอนาคตอันสั้นข้างหน้า ยกตัวอย่างเช่น การคำนวณจากเงินทุนจดทะเบียนของบริษัทตั้งใหม่ พื้นที่ที่ได้รับอนุญาตก่อสร้าง เป็นต้น บริษัทที่ตั้งใหม่หรือพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตก่อสร้าง ยังไม่เกิดผลทางเศรษฐกิจในวันนี้ แต่ก็ย่อมจะมีการลงทุนต่างๆตามมา

ทีนี้เรามาดูกราฟดัชนีเศรษฐกิจกัน ดังกราฟต่อไปนี้ เส้นสีส้มคือดัชนีชี้นำเศรษฐกิจ ส่วนเส้นสีน้ำเงินคือดัชนีพ้องเศรษฐกิจ


ดัชนีเศรษฐกิจ บ่งชี้สถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันไปพร้อมกับคาดการณ์ล่วงหน้าไปอีกสามเดือน


จะเห็นว่าตั้งแต่ปี 2013 จนถึงต้นปี 2014 เส้นสีส้มหรือดัชนีชี้นำเศรษฐกิจทรงตัว หรือจะเรียกว่าไซด์เวย์ก็ได้ ยังจำได้ไหมว่าช่วงนั้นเป็นช่วงที่มีการชุมนุมประท้วงกันอย่างต่อเนื่อง ช่วงนั้นความคาดหวังทางเศรษฐกิจหากมองจากดัชนีชี้นำเศรษฐกิจก็ตีความได้ว่าช่วงนั้นยังไม่เห็นความหวังอะไร ก็อยู่แบบประคองตัวไปเรื่อยๆ แต่พอเดือนมิถุนายน 2014 กราฟสีส้มพุ่งทะยานต่อเนื่องไปจนถึงปลายปี ตีความได้ว่า เมื่อเดือนพฤษภาคม 2014 เกิดการรัฐประหาร ลุงตู่ยึดอำนาจการปกครอง ช่วงนั้นเศรษฐกิจดูมีความหวังมากขึ้นเรื่อยๆ

แต่พอย่างเข้าปี 2015 เส้นสีส้มก็ทรงตัวเป็นไซด์เวย์ แปลว่าไม่ได้คาดหวังดีๆอีก แค่ประคองตัวไปเท่านั้น

ทีนี้มาดูเส้นสีฟ้า เส้นสีส้มคือความหวัง เส้นสีฟ้าคือความเป็นจริงของปัจจุบัน ปรากฏว่าดัชนีพ้องเศรษฐกิจเป็นทิศทางขาลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2013 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งสอดคล้องกับตัวเลขส่งออกที่หดตัวต่อเนื่อง แปลว่าความหวังไม่สัมฤทธิ์ผล ความจริงเป็นอีกแบบหนึ่ง นั่นคือ เศรษฐกิจแย่ลงเรื่อยๆ


ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ บอกขวัญและกำลังใจ


จากนั้นก็มาดูตัวชี้วัดกันอีกชุดหนึ่ง นั่นคือ ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ (Business sentiment index) ดัชนีนี้แบ่งเป็นสองดัชนีย่อยเช่นกัน คือเป็นความเชื่อมั่นในปัจจุบัน กับความเชื่อมั่นกับสถานการณ์ในอีกสามเดือนข้างหน้า ตัวชี้วัดนี้ใช้บ่งชี้ภาพใหญ่ของธุรกิจ การค้า การลงทุน เช่นเดียวกับดัชนีเศรษฐกิจ แต่ว่าต่างกันตรงที่มา ดัชนีเศรษฐกิจนั้นคำนวณจากข้อมูล ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจนี้เป็นการไปสอบถามความคิดเห็นของผู้ประกอบการอันเป็นเรื่องของทัศนคติหรือความเชื่อมั่นล้วนๆ 

มาดูกราฟดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจกัน วิธีดูก็คล้ายๆกับดัชนีเศรษฐกิจแต่ดัชนีความเชื่อมั่นนี้จะสะท้อนถึงขวัญและกำลังใจของผู้ประกอบการมากกว่า ถ้าแนวโน้มขาขึ้นก็ดี ถ้าขาลงก็ไม่ดี ถ้าทรงตัวก็แปลว่ามึนๆไม่รู้จะไปทางไหน นอกจากนี้ ตัวเลข 50 ยังเป็นเกณฑ์สำคัญ เกิน 50 ถือว่าดี ต่ำกว่า 50 ถือว่าไม่ดี


ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ (BSI) ประเมินจากทัศนคติของนักธุรกิจผู้ประกอบการ ประกอบด้วยความเชื่อมั่นในปัจจุบันกับความเชื่อมั่นในอีกสามเดือนข้างหน้า


จากกราฟ ดูเส้นสีส้ม ความเชื่อมั่นในสามเดือนข้างหน้า จะเห็นว่าตั้งแต่ปี 2013 หรือ พ.ศ. 2556 เป็นต้นมา เส้นกราฟเป็นแนวโน้มขาลงต่อเนื่อง ตีความว่าความเชื่อมั่นทางธุรกิจลดลงตลอด ขวัญและกำลังใจของผู้ประกอบการ นักธุรกิจ หดหายไปเรื่อยๆตลอดการชุมนุมประท้วง จนมาถึงเดือนมิถุนายน 2014 ความเชื่อมั่นก็พุ่งทะยานเพราะเกิดการรัฐประหาร

แต่ความเชื่อมั่นพุ่งทะยานได้เพียง 3-4 เดือน จากนั้นก็เริ่มมึนๆคิดอะไรไม่ออกอีก และจากปีใหม่ 2015 หรือ 2558 ปีนี้เป็นต้นมา ความเชื่อมั่นของนักธุรกิจผู้ประกอบการดูเหมือนจะหดหายไป แต่อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้แม้จะขึ้นบ้าง มึนบ้าง ลงบ้าง แต่ยังเกินกว่า 50 ก็ยังพอทน

ทีนี้มาดูเส้นสีน้ำเงิน ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจในปัจจุบัน ลีลาก็คล้ายเส้นสีส้ม คือ ปี 2556 เป็นขาลงทั้งปี มาปี 2557 ค่อยๆดีขึ้นหลังรัฐประหาร แต่ในช่วงชุมนุมและหลังรัฐประหาร เส้นสีน้ำเงินต่ำกว่า 50 มาโดยตลอด แปลว่าแม้จะดีขึ้นแต่ยังจัดว่าลำบากอยู่ พอมาต้นปี 2558 ดัชนีความเชื่อมั่นผันผวนหนัก มีทั้งเกิน 50 และต่ำกว่า 50 แสดงว่าช่วงนี้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจการเมืองผันผวนสูง กระทบความเชื่อมั่นมากทีเดียว แต่ถ้าพิจารณาเส้นสีส้มประกอบด้วยก็อาจตีความได้ว่าความเชื่อมั่นในปัจจุบันไม่ค่อยดี และยังมองว่ามีแนวโน้มที่สถานการณ์จะแย่ลงไปอีก

และยิ่งถ้าเราพิจารณาดัชนีเศรษฐกิจ (economic index ชุดนี้เป็นข้อมูล ไม่ใช่ทัศนคติ) ประกอบด้วย ก็น่าจะตีความว่าสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในตอนนี้ไม่ค่อยดีและแนวโน้มในอนาคตคงแย่ลง นี่แหละที่น่าเป็นห่วงอยู่เหมือนกัน


ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม


และแถมท้ายด้วยดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (Thailand industries sentiment index) ที่จริงเดิมทีลุงแมวน้ำไม่คิดจะนำมาคุย เพราะมีดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจดูก็น่าจะพอแล้ว ดูเยอะเดี๋ยวงง แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจนำมาเป็นของแถม เพราะว่าดัชนีชุดนี้ออกช้อมูลเดือนล่าสุดมิุนายนแล้ว ซึ่งข้อมูลทันสมัยอัปเดตดี จึงเอามาแถม


ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (TISI)


ดัชนีนี้เป็นความเชื่อมั่นในภาคอุตสาหกรรม กราฟนี้มีข้อมูลถึงมิถุนายน 2558 ด้วย เพิ่งออกสดๆร้อนๆ ที่อยากให้ดูก็คือทิศทางความเชื่อมั่นในภาคอุตสาหกรรมของไทยลดลงโดยตลอดตั้งแต่ปลายปี 2557 ทั้งสองเส้นเลย เส้นความบอกทิศทางชัดเจนกว่าดัชนีเศรษฐกิจเสียอีก นั่นคือปัจจุบันก็มีทิศทางแย่ลง ความคาดหหวังก็มองแย่ลง ประเด็นนี้น่าเป็นห่วง

วันนี้คุยกันได้แค่ดัชนีในภาคธุรกิจ การค้า การลงทุน ยังไม่จบนะคร้าบ คราวหน้ามาดูตัวชี้วัดที่มองจากด้านการอุปโภคบริโภค หรือด้านการจับจ่ายใช้สอยนั่นเอง

Monday, July 20, 2015

มองแนวโน้มเศรษฐกิจไทย (1)

“Toward a New Frontier” Series บทความชุด “ทะยานสู่พรมแดนใหม่”




วันนี้เราจะมาคุยกันในภาคเศรษฐกิจจริงกันเพื่อเป็นการเปลี่ยนบรรยากาศจากที่คุยกันแต่เรื่องตลาดทุนอยู่เป็นประจำ ที่จริงแล้วภาคเศรษฐกิจจริงเชื่อมโยงกับตลาดทุนอย่างแยกกันไม่ออก การพิจารณาภาคเศรษฐกิจจริงย่อมช่วยเสริมมุมมองในการวิเคราะห์ตลาดหุ้นได้


เศรษฐกิจไทยพึ่งพาเศรษฐกิจโลก


เศรษฐกิจไทยในปัจจุบันพึ่งพาการส่งออกในระดับที่สูง โดยมีสัดส่วน 77% ของจีดีพีทีเดียว นี่หมายความรวมถึงการส่งออกสินค้าและบริการ หากคิดเฉพาะการส่งออกสินค้าก็ประมาณ 60% ของจีดีพี ดังนั้นพูดง่ายๆก็คือเศรษฐกิจไทยขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจโลก หากเศรษฐกิจโลกไม่ค่อยดี ลูกค้าของเรา (คือประเทศคู่ค้าต่างๆ) กระเป๋าแฟบ ไทยก็พลอยแห้งเหี่ยวไปด้วย

เรามาดูการนำเข้าและส่งออกในงวด 5 เดือน (มกราคม ถึง พฤษภาคม) ของปี 2013, 2014 และ 2015 เปรียบเทียบกัน ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง ดังกราฟต่อไปนี้


การนำเข้าส่งออกของไทยงวด 5 เดือน (ม.ค. ถึง พ.ค.) เทียบกันระหว่างปี 2013, 2014, 2015 จะเห็นว่าทั้งการนำเข้าละการส่งออกของไทยหดตัวลงอย่างต่อเนื่อง

มาดูด้านการนำเข้าก่อน จะเห็นว่าในงวด 5 เดือนของสามปีที่ผ่านมานี้การนำเข้าของไทยลดลงตลอด โดยเฉพาะปี 2015 นี้การนำเข้าของไทยลดลง -9.2% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว สาเหตุที่ลดลงมากขนาดนี้ส่วนหนึ่งเกิดจากมูลค่าการนำเข้าผลิตภัณฑ์น้ำมันที่ลดลงเนื่องจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกลดลง ทำให้เราประหยัดการนำเข้าไปได้ แต่เมื่อจำแนกกลุ่มสินค้านำเข้าให้ลึกลงไปอีกก็จะพบว่าเรานำเข้าสินค้าทุน (หมายถึงสินค้าที่นำมาใช้ในการผลิต เช่น เครื่องจักร ฯลฯ) ก็ลดลงด้วยเช่นกัน

ทีนี้มาดูด้านการส่งออก จะเห็นว่าในงวด 5 เดือนของสามปีที่ผ่านมานั้นยอดส่งออกสินค้าของไทยก็ลดลงอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยเฉพาะงวดห้าเดือนปี 2015 นั้นลดลงจากปี 2014ถึง -4.2% หรือหากคิดเป็นจำนวนเงินก็คือรายได้ห้าเดือนลดลงกว่า 130,000 ล้านบาท

การส่งออกที่หดตัวนี่แหละที่มีผลต่อสภาพเศรษฐกิจไทยอย่างมีนัยสำคัญ เพราะการส่งออกสินค้าคือเส้นเลือดใหญ่ เพราะเป็นสัดส่วนราว 60% ของจีดีพีไทย ส่วนการลงทุนภาครัฐในแต่ละปีนั้นเป็นสัดส่วนประมาณ 5% ของจีดีพี การที่เราพยามเร่งการลงทุนภาครัฐก็เหมือนพยายามทะลวงเส้นเลือดเล็กโล่ง แต่ในขณะที่เส้นเลือดใหญ่ตีบตันอยู่ ก็ย่อมมีส่วนช่วยได้ไม่มากนัก ดังนั้นการแก้ที่ตรงจุดคือการทะลวงเส้นเลือดใหญ่ให้โล่งหรือการเพิ่มยอดส่งออกสินค้านั่นเอง แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย พูดง่ายแต่ทำยากมาก

ทีนี้เรามาสืบดูต่อไปว่ายอดส่งออกนั้นหายไปไหน เราก็ต้องมาดูกันก่อนว่าคู่ค้ารายใหญ่ของไทยเป็นใครบ้าง ตอนนี้คู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของไทยคือจีน รองลงมาคือ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ยุโรป คิดอย่างง่ายๆเพื่อให้เห็นภาพก็คือ รายได้ของไทย 100 บาทมาจากการส่งออกสินค้า 60 บาท และยอดส่งออกนี้คู่ค้าหลักสี่รายที่ว่าก็ซื้อไปเกือบๆ 30 บาทแล้ว โดยเป็นรายได้จากจีน 8.5 บาท ส่วนรายได้จากอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น ประมาณรายละ 6.5 บาท ที่เหลือเป็นป็นรายได้จากคู่ค้ารายย่อยอื่นๆ


ส่องคู่ค้าหลักของไทย จีนซื้อน้อยลง


ยอดส่งออกของไทย (งวด 5 เดือนแรกของปี) ไปยังคู่ค้าหลัก 4 ราย จีน ยุโรป ญี่ปุ่น นำเข้าลดลงมาก มีเพียงสหรัฐอเมริกาที่นำเข้าเพิ่มขึ้น

จากกราฟ ตอนนี้ลูกค้ารายใหญ่ จีน ยุโรป ญี่ปุ่น ซื้อสินค้าจากไทยน้อยลงมาก มีเพียงอเมริกาเท่านั้นที่ซื้อสินค้าจากไทยเพิ่มขึ้นแต่ก็ไม่ได้ช่วยกู้สถานการณ์เพราะยอดขายที่หายไปเยอะกว่าที่เพิ่มขึ้น

เอาละ ทีนี้เราจะลองไปเจาะรายละเอียดของลูกค้าบางรายเพื่อดูว่าทำไมความต้องการซื้อสินค้าจากเราเปลี่ยนแปลงไป เราลองมาดูที่ลูกค้าประเทศจีนกันก่อน ลองดูกราฟต่อไปนี้กัน


การนำเข้าส่งออกงวดห้าเดือนแรกของจีน จะเห็นว่าสามปีที่ผ่านมาจีนส่งออกทรงตัวแต่นำเข้าลดลงมาก ซึ่งกระทบต่อไทยไม่น้อย

กราฟนี้เป็นสรุปการนำเข้าและส่งออกของจีนในงวดห้าเดือน คือมกราคมถึงพฤษภาคม 3 ปีเปรียบเทียบกัน ประเทศจีนได้ชื่อว่าเป็นโรงงานผลิตสินค้าของโลก มีการผลิตและส่งออกสินค้ามากมาย เมื่อเราพิจารณายอดส่งออกงวดห้าเดือนของจีนเปรียบเทียบกัน 3 ปีจะเห็นว่ายอดส่งออกของจีนทรงตัว มีการเปลี่ยนแปลงน้อยมาก ภาพนี้ทำให้เราเห็นภาพเศรษฐกิจโลกได้ชัดเจนยิ่งขึ้น นั่นคือ ภาพรวมของเศรษฐกิจโลกยังฟื้นตัวได้ช้า กำลังซื้อจึงแค่ทรงตัว

ทีนี้มาดูด้านการนำเข้าของจีน จะเห็นว่าปีนี้จีนนำเข้าลดลงมาก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะราคาน้ำมันดิบตลาดโลกที่ลดลงทำให้จีนประหยัดการนำเข้าพลังงาน แต่ทางด้านยอดนำเข้าสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆก็ลดลงด้วยเช่นกัน และยอดส่งออกจากไทยไปจีนที่หดตัวลงก็สอดคล้องกับภาพนี้ นั่นคือ เป็นเพราะว่าจีนนำเข้าน้อยลงนั่นเอง


มองสหรัฐอเมริกา ซื้อจากเวียดนามมากกว่าไทย


จากนั้นเราจะไปดูที่สหรัฐอเมริกากัน สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศแห่งการบริโภค ประชากรราวสามร้อยล้านคนแต่กินเยอะใช้เยอะจริงๆ จีนกับอเมริกาสัมพันธ์กันในเชิงการค้าสูงมาก เพราะจีนเป็นซับพลายเออร์รายใหญ่ของอเมริกา และขณะเดียวกันอเมริกาก็เป็นลูกค้ารายใหญ่ของจีน เรามาดูโครงสร้างการนำเข้าของสหรัฐอเมริกาในงวดห้าเดือนแรกเปรียบเทียบกัน 3 ปี


โครงสร้างการนำเข้าของสหรัฐอเมริกาจากประเทศคู้ค้าหลักบางราย จะเห็นว่าแม้นำเข้าจากไทยเพิ่มขึ้นแต่กลับนำเข้าจากเกาหลีใต้ เวียดนาม มาเลเซียมากกว่า

ซับพลายเออร์หรือผู้ที่ขายสินค้าให้สหรัฐอเมริกา หากจะนับซับพลายเออร์รายใหญ่ของอเมริกา 15 รายแรกก็จะเป็นจีน ยุโรป แคนาดา เม็กซิโก ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไทย มาเลเซีย เวียดนาม ฯลฯ

ในงวดห้าเดือนของปี 2015 นี้เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า สหรัฐอเมริกานำเข้าสินค้าจากเอเชียเพิ่มขึ้นมาก และลดการนำเข้าจากยุโรป เม็กซิโก แคนาดาลง โดยนำเข้าจากจีน +6% ส่วนสินค้าจากญี่ปุ่นนั้นนำเข้าเพิ่มไม่มากนัก และที่น่าสังเกตคือยอดนำเข้าจากเกาหลีใต้ เวียดนาม มาเลเซีย เพิ่มขึ้นเด่นมาก สหรัฐนำเข้าจากไทยเพิ่มขึ้นเช่นกัน แต่คิดแล้วยังน้อยกว่าสามชาติเกาหลีใต้ เวียดนาม มาเลเซีย และหากจะพูดอีกนัยหนึ่งก็คือ ปัจจุบันสหรัฐอเมริกาถือว่าเวียดนาม มาเลเซีย เป็นคู่ค้ารายใหญ่กว่าไทยเสียอีก ดูจากยอดการนำเข้าที่สูงกว่าการนำเข้าจากไทย

ประมวลจากข้อมูลต่างๆที่ลุงแมวน้ำเล่ามา ก็คงปะติดปะต่อให้เห็นเป็นภาพว่าตอนนี้เศรษฐกิจโลกยังเปราะบางอยู่ การฟื้นตัวเป็นไปอย่างช้าๆ ยกเว้นสหรัฐอเมริกาที่ฟื้นตัวได้ดีหน่อย แต่โดยรวมแล้วการค้าโลกกระเตื้องอย่างเชื่องช้า

ประเทศไทยเป็นประเทศผู้ส่งออก รายได้หลักมาจากการส่งออกสินค้า ดังนั้นเศรษฐกิจโลกจึงมีผลกระทบต่อไทยมาก โดยเฉพาะจีนซึ่งเป็นลูกค้ารายใหญ่

จีนนั้นมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจภายในประเทศ เมื่อการค้าโลกไม่ค่อยดีก็พยายามปรับตัวเองให้พึ่งพาการส่งออกน้อยลง และหันไปพึ่งพาการบริโภคในประเทศมากขึ้น โดยสินค้าที่ส่งออกนั้นจีนก็มีการปรับโครงสร้าง โดยเน้นสินค้าที่เพิ่มมูลค่า คือหมายถึงการนำเข้าวัตถุดิบมาผลิตสินค้าที่ขายได้ราคาแพง ดังนั้น ตอนนี้จีนจึงอยู่ในช่วงของการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจภายใน รวมทั้งปรับโครงสร้างการนำเข้าส่งออกด้วย สินค้าของไทยคงตรงกับความต้องการของจีนน้อยลง ยอดขายของไทยไปจีนจึงตกไป และนอกจากนี้ ยอดขายของไทยที่ส่งไปยังคู่ค้าหลักอื่นๆก็ลดลง ทำให้น่าคิดว่าสาเหตุที่ยอดขายลดลงส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะสินค้าของไทยไม่ค่อยตรงกับความต้องการของลูกค้าเสียแล้วก็เป็นได้

และเมื่อเราไปดูโครงสร้างการนำเข้าของสหรัฐอเมริกา ที่นำเข้าจากเกาหลีใต้ เวียดนาม มาเลเซียเพิ่มขึ้น แล้วมาดูข้อเท็จจริงที่ว่าตอนนี้โรงงานผลิตสินค้าสำคัญของไทยปิดตัวไปหลายบริษัท เช่น รถยนต์รุ่นใหม่ๆก็มีการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่น ส่วนโรงงานจอแอลซีดี โรงงานมอตอร์ฮาร์ดดิสก์ ก็ปิดตัวไปเพราะสินค้าเหล่านี้หมดสมัย ก็ดูเหมือนจะช่วยตอกย้ำว่าสินค้าของไทยไม่ค่อยตรงกับความต้องการของลูกค้านัก หรือหมายความว่าเราเสียความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออกไปนั่นเอง

และหากเรานำข้อมูลอัตราการใช้กำลังการผลิต (capacity utilization rate) มาพิจารณาประกอบ ค่านี้เป็นการมองว่าหากมีเครื่องจักรผลิตสินค้าอยู่ 100 เครื่อง ตอนนี้เราใช้กำลังการผลิตอยู่กี่เครื่อง ก็ปรากฏว่าอัตราการใช้กำลังการผลิตของเราลดลงโดยตลอด ยกตัวอย่างจากภาพ ในตอนต้นปี 2013 เครื่องจักร 100 เครื่องเราใช้อยู่ 66 เครื่อง ที่เหลืออีก 44 เครื่องปล่อยว่างไว้ไม่ได้ใช้งาน มาในปัจจุบัน ตอนนี้ใช้งานเพียง 56.6 เครื่อง แปลว่ากำลังซื้อหายไป จึงจำต้องลดการผลิตลง ภาพนี้ก็มีส่วนบอกเราว่าเราอาจผลิตสินค้าไม่ตรงกับความต้องการของผู้ซื้อ (รวมทั้งอาจบอกว่าลูกค้ากระเป๋าแฟบจึงลดการซื้อลงก็ได้ด้วย ต้องดูตัวชี้วัดอื่นประกอบด้วย)


อัตราการใช้กำลังการผลิตของไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง

วันนี้เราดูกันเฉพาะภาพการนำเข้าส่งออก วันต่อไปเราจะมาดูตัวเลขเศรษฐกิจอื่นๆภายในประเทศกันคร้าบ

Tuesday, July 14, 2015

เมื่อหุ้นจีนซิ่งสาย 8 ถึงเวลาฟองสบู่แตกหรือยัง (2)

“Toward a New Frontier” Series บทความชุด “ทะยานสู่พรมแดนใหม่”



ทิศทางของเศรษฐกิจจริงและความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นจีนตั้งแต่ปี 1990 เป็นต้นมา เศรษฐกิจเติบโตสูงมาตลอดแต่ตลาดหุ้นไม่ร้อนแรง คลื่น 1 ใหญ่และ 2 ใหญ่ กินเวลานาน ต่อมาปี 2006 ตลาดหุ้นร้อนแรงมาก ตลาดขึ้นแบบม้วนเดียว คลื่นใหญ่ 3-4-5 รวมเป็นลูกเดียวกัน และตอนขาลงก็เร็วมากเช่นกัน คลื่นขาลง A-B-C รวมเป็นลูกเดียวแยกไม่ออก จนในปี 2014 หลังจากมีการกระตุ้นเศรษฐกิจ ตลาดหุ้นจีนก็กลับมาร้อนแรงมากอีก

วิเคราะห์ตลาดหุ้นจีน เศรษฐกิจซึมเซาแต่ตลาดหุ้นร้อนแรง


เศรษฐกิจจีนร้อนแรงมานับยี่สิบปีแต่ตลาดหุ้นจีนเพิ่งร้อนแรงใน ช่วงปี 2006-2007 เป็นเวลาเพียงหนึ่งปีครึ่งตลาดหุ้นจีนก็พุ่งถึง +450% 

ในทางตรงกันข้าม จากปี 2008 เป็นต้นมา เศรษฐกิจจีนค่อยๆชะลอตัว แต่ตลาดหุ้นจีนตอบสนองอย่างรุนแรง เพียงหนึ่งปีตลาดหุ้นร่วงไป -73% หลังจากนั้นก็หมดความร้อนแรงไปเป็นเวลาหลายปี

จนในราวปลายปี เดือนตุลาคม 2014 จีนเริ่มใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการลดอัตราดอกเบี้ยและลดสัดส่วนเงินกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ (RRR, reserved requirement ratio) หลายครั้งติดต่อกัน ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องแก่ระบบเศรษฐกิจ

มาตรการเหล่านี้ยังเห็นผลต่อระบบเศรษฐกิจไม่ชัด แต่ว่ากลับเกิดผลต่อตลาดหุ้นจีนอย่างรุนแรง ในปี 2014-2015 ดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตวิ่งจาก 2300 จุดไป 5160 จุดหรือ +125% ในเวลาครึ่งปีเท่านั้น และถ้าหากมองดัชนีเซินเจินคอมโพสิตก็ยิ่งร้อนแรงกว่า คือ +140%

หากเราจะเปรียบเทียบความร้อนแรงของตลาดหุ้นจีนในยุคก่อนโอลิมปิกฤดูร้อน หรือปี 2007 กับตอนนี้ มีทั้งความเหมือนและความต่าง ลองมาดูกัน


ตลาดหุ้นจีนหลังจากร่วงแรงในปี 2007 ก็เกิดเป็นรูปแบบสามเหลี่ยมชายธงใหญ่ อธิบายได้ว่าตลาดหุ้นจีนต้องใช้เวลานานในการปรับตัวให้เข้าส่ดุลยภาพ โดยสอดคล้องไปกับปัจจัยการชะลอตัวทางเศรษฐกิจด้วย


ในช่วงก่อนโอลิมปิก ตลาดขาขึ้นในรอบนั้นอยู่ในช่วงที่เศรษฐกิจจีนเติบโตอย่างรวดเร็วต่อเนื่องมาหลายปีแต่ตลาดหุ้นยังไม่ร้อนแรง พอมาปี 2006 ถึงบทจะร้อนแรงก็ร้อนแรงอย่างรวดเร็วและตลาดก็วายในเวลาอันรวดเร็วเช่นกัน หากพิจารณาในเชิงเทคนิค จากกราฟในยุโอลิมปิกจะเห็นว่าคลื่น 3-4-5 นั้นแยกไม่ออก ขึ้นม้วนเดียวก็จบคลื่น 5 ไปเลย และหลังจากนั้นตอนขาลงก็ลงเร็วมาก คลื่น A-B-C รวมเป็นคลื่นเดียวกัน รวมแล้วคลื่น 3-4-5-A-B-C กินเวลาประมาณสองปีครึ่งเท่านั้น

หลังจากจบรอบนั้น อัตราการเติบโตของจีนลดลงเรื่อยมา จากจีดีพีที่โตปีละ 14% ก็เหลือ 12%, 10%, 9%, 8% ฯลฯ ส่วนตลาดหุ้นจีนหลังจากการร่วงแรงในปี 2008 จากนั้นก็มีการเด้งขึ้นลงไปตามภาวะเศรษฐกิจ และมาสลบเหมือดเอาในปี 2013 ซึ่งหากวิเคราะห์ด้วยรูปแบบทางเทคนิคจะเห็นว่าตั้งแต่ปี 2008 เป็นต้นมา ตลาดหุ้นจีนก็ก่อรูปแบบสามเหลี่ยมชายธง (wedge) ใหญ่ อธิบายได้ว่าตลาดหุ้นจีนขึ้นแรงเกินไปและลงแรงเกินไปจนตลาดเสียดุลยภาพ เมื่อตลาดเสียดุลยภาพ ตลาดก็พยายามปรับตัวให้เข้าสู่ดุลยภาพ ดังนั้นจึงเห็นราคาเด้งขึ้นลงเป็นรูปสามเหลี่ยมชายธง

รูปแบบสามเหลี่ยมชายธงนี้เป็นรูปแบบในธรรมชาติ นั่นคือเป็นรูปแบบคล้ายการเคลื่อนที่ของคลื่นกลผ่านตัวกลางนั่นเอง นึกง่ายๆก็คือคลื่นในมหาสมุทร เมื่อเกิดในมหาสมุทรจะเป็นคลื่นสูงมาก แต่เมื่อเข้าใกล้ชายฝั่ง คลื่นจะค่อยๆเตี้ยลงเรื่อยๆ จนเหลือเพียงระลอกเล็กๆเมื่อมาถึงฝั่ง

อีกตัวอย่างหนึ่งก็คือการโยนหินลงในน้ำ ตอนแรกน้ำจะกระเพื่อมแรง ต่อมาเมื่อระลอกเดินทางไกลออกไปก็จะเล็กลงเรื่อยและหายไปในที่สุดน้ำก็กลับมาราบเรียบดังเดิม รูปแบบสามเหลี่ยมชายธงก็เป็นแบบนี้นั่นเอง

นั่นเป็นเรื่องในอดีต ทีนี้ประเด็นก็อยู่ที่ว่าในปี 2014 ขณะที่เศรษฐกิจจีนชะลอตัวอยู่ ตลาดหุ้นจีนขึ้นแรงได้อย่างไร

คำตอบก็คือ ครั้งก่อนตลาดหุ้นจีนร้อนเพราะเศรษฐกิจร้อน แต่ตอนนี้ตลาดหุ้นจีนร้อนเพราะฤทธิ์ของยาโด๊ปการกระตุ้นเศรษฐกิจ การลดอัตราดอกเบี้ย การลดสัดส่วนกันสำรอง RRR ประกอบกับการให้สินเชื่อมาร์จินแก่นักลงทุนรายย่อยในตลาดหุ้น ทำให้ตลาดหุ้นจีนที่ซบเซากลับสู่ภาวะเก็งกำไรอย่างร้อนแรง จนประวัติศาสตร์กลับมาซ้ำรอยเดิมอีกครั้งหนึ่ง


ตลาดหุ้นจีน 2015 ร้อนแรงกว่าเดิม อันตรายกว่าเดิม


แม้ว่าอัตราการขึ้นของตลาดหุ้นจีนในรอบนี้จะขึ้นไป +125% ซึ่งน้อยกว่าครั้งก่อน (ครั้งก่อน +450%) แต่การขึ้นรอบนี้ใช้เวลาประมาณครึ่งปีเท่านั้น อีกทั้งสภาพเศรษฐกิจจริงก็ด้อยกว่าในรอบก่อน ดังนั้นลุงแมวน้ำจึงมองว่าครั้งนี้เก็งกำไรกันดุเดือดกว่า

งานเลี้ยงก็ต้องมีวันเลิกรา ในที่สุดก็ถึงเวลาที่ตลาดวาย หลังจากที่หุ้นถูกไล่ราคาจนเกินไปปัจจัยพื้นฐานไปมาก พีอีของดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตขึ้นไปถึง 23 เท่ากว่า และพีอีของดัชนีเซินเจินคอมโพสิตขึ้นไปถึง 70 เท่า ทางการจีนก็เริ่มเป็นห่วงและควบคุมการให้เทรดด้วยมาร์จินให้เข้มงวดขึ้น ตรงนี้แหละที่เป็นการจุดชนวน พอควบคุมมาร์จินเข้าตลาดก็ร่วง

เมื่อตลาดร่วง ใครต่อใครก็ชิงกันขาย ในที่สุดตลาดหุ้นก็เกิดอาการแตกตื่นในตอนกลางเดือนมิถุนายน 2015 ที่เพิ่งผ่านมา ที่จริงก่อนหน้านั้นในราวปลายเดือนพฤษภาคม มีสัญญาณเตือนล่วงหน้าอยู่บ้าง นั่นคือ หุ้นบางตัวในตลาดฮ่องกงร่วงแรงผิดปกติ ดังที่ลุงแมวน้ำเคยคุยให้ฟังไปแล้ว หลังจากนั้นตลาดหุ้นจีนก็เริ่มร่วง และตลาดหุ้นฮ่องกงก็ร่วงตาม

ถามว่าที่ตลาดหุ้นลงแรงครั้งนี้มีขบวนการทุบหุ้นหรือไม่ จะมีหรือไม่มีลุงแมวน้ำก็ไม่อาจยืนยันได้ แต่เมื่อขึ้นแรงแพงขนาดนี้ แม้ไม่มีขบวนการทุบตลาด อะไรไปสะกิดเข้าหน่อยก็ต้องร่วงลงมาเองอยู่แล้ว

ตลาดหุ้นจีนร่วงลง -34% ในเวลาประมาณครึ่งเดือน ทางการจีนพยายามอออกมาตรการหลายประการเพื่อหยุดการร่วงของหุ้น ได้แก่การห้ามซื้อขายหุ้นประมาณ 1300 หลักทรัพย์ ห้ามขายชอร์ต ห้ามรายใหญ่ขายหุ้นในเวลา 6 เดือน ห้ามกองทุนขายหุ้น ตั้งกองทุนพยุงหุ้น ผ่อนคลายเรื่องมาร์จินอีก ฯลฯ ผลจากการระงับการซื้อขายหุ้นไปเกือบครึ่งตลาดทำให้ตลาดหุ้นหยุดร่วงได้จริงๆ


วิเคราะห์เหตุการณ์ตลาดหุ้นจีน 2015 ตกแต่ไม่แตก บทเรียนราคาแพงของจีน


มาวิเคราะห์เหตุการณ์ในครั้งนี้กัน เป็นบทเรียนราคาแพงของจีนจริงๆ  จีนกระตุ้นเศรษฐกิจพร้อมทั้งกระตุ้นตลาดหุ้นไปด้วยเพราะหากตลาดหุ้นขึ้น ผลก็คือความมั่งคั่งที่เพิ่มขึ้นของนักลงทุนรายย่อยชาวจีนซึ่งมี 90 ล้านบัญชีและส่วนใหญ่น่าจะเป็นชนชั้นกลางของจีนที่มีอยู่ประมาณ 200-300 ล้านคน เปรียบเหมือนกับจีนให้ยาโด๊ปแต่พลาดตรงที่ไม่เข้าใจผลข้างเคียงดีพอ ผลก็คือ ยานี้มีผลข้างเคียงรุนแรง ทำให้ท้องเสีย เบื่ออาหาร ผมร่วง ฯลฯ จีนเคยมีประสบการณ์กับครั้งโอลิมปิกมาแล้ว แต่ครั้งนี้ก็ยังพลาด เชื่อว่าจะทำให้ทางการจีนระมัดระวังในการกระตุ้นเศรษฐกิจและการกำกับตลาดทุนให้ดียิ่งขึ้น

ตลาดหุ้นตกครั้งนี้ยังไม่น่าถือว่าเป็นสถานการณ์ฟองสบู่แตก เนื่องจากปัจจัยเศรษฐกิจจีนยังชะลอตัว อัตราเงินเฟ้อก็ยังไม่สูง ไม่ใช่สถานการณ์ที่เอื้อต่อการเกิดฟองสบู่ ตลาดหุ้นเก็งกำไรรุนแรงไปบ้างจึงตกลงมาก เมื่อตกลงมาแล้วสถานการณ์ก็ไม่ได้ลุกลามเนื่องจากทางการจีนออกมาตรการสกัดการลุกลามอย่างรวดเร็ว ลุงแมวน้ำมองว่าเป็นเพียงการผันผวนที่รุนแรงเท่านั้น ไม่ใช่ภาวะฟองสบู่ตลาดหุ้นแตก

หลังจากนี้จะเป็นอย่างไรต่อไป ลงทุนในตลาดหุ้นจีนได้หรือยัง


มาพิจารณาปัจจัยเศรษฐกิจกันก่อน เศรษฐกิจจีนยังชะลอตัวอยู่ แม้จีนจะประกาศว่าจะรักษาอัตราการเจริญ จีดีพีโตปีละ 7% ให้ได้ แต่ตอนนี้ผ่านมาครึ่งปีแล้ว สัญญาณทางเศรษฐกิจหลายประการบ่งชี้ว่าอาจโตไม่ถึง 7% คือได้แค่ 6.8% เท่านั้น ดังนั้นเป้าหมายดัชนีปลายปี 2015 อาจถูกปรับลดลงไปบ้าง


ดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตปัจจุบันมีพีอี 20 เท่า ส่วนดัชนีเซินเจินคอมโพสิต 52.3 เท่า ดัชนีตลาดหุ้นจีนมีโอกาสปรับตัวลงได้อีกหากคาดการณ์เศรษฐกิจจีน 2015 นี้โตไม่ถึง 7%


นอกจากนี้ ทางการจีนคงพยายามกำกับตลาดทุนให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น ประกอบกับความเสียหายของนักลงทุนรายย่อยอาจทำให้บางส่วนเข็ดขยาด หรือทุนหมด ดังนั้นรวมๆแล้วตลาดหุ้นจีนคงไม่ร้อนแรงเช่นเดิมแล้ว และน่าจะเทรดกันที่ค่าพีอีตลาดที่ต่ำลงกว่าเดิม

ในทางเทคนิค ดัชนีคงก่อตัวเป็นรูปแบบสามเหลี่ยมชายธงคล้ายกับรอบก่อน แต่การเดินเข้าสู่ปลายสามเหลี่ยมชายธงน่าจะเร็วกว่าเดิม แปลความว่าตลาดคงเด้งขึ้นเด้งลงในโซนราคาแถวๆนี้ไปอีกหลายเดือน หลังจากนั้นเมื่อเข้าสู่ปลายชายธงก็ต้องดูกันอีกที หลายเศรษฐกิจดี ดัชนีคงตัดทะลุชายธงขึ้นข้างบน แต่หากเศรษฐกิจชะลอตัวยิ่งกว่าเดิม ดัชนีก็คงตัดทะลุลง


ตลาดหุ้นจีนนับจากนี้ไป น่าจะก่อตัวเป็นรูปแบบสามเหลี่ยมชายธงอีก เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในครั้งก่อน และคงใช้เวลาอีกหลายเดือนเพื่อเข้าสู่ปลายชายธง 


ถามว่าถึงเวลาลงทุนได้หรือยัง โบราณว่าข่าวดีให้ขาย ข่าวร้ายให้ซื้อใช่ไหม ตอนนี้ก็ถือเป็นข่าวร้ายแล้ว แต่ลุงแมวน้ำคิดว่าควรรอดูไปก่อน เพราะตอนนี้ตลาดยังอาจลงไม่สุด ที่ตลาดหยุดลงเนื่องจากหุ้นจีนยังถูกห้ามขายอยู่พันกว่าหลักทรัพย์ หากเปิดซื้อขายได้ตามปกติก็ไม่แน่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น อีกประการ ตลาดหุ้นจีนในช่วงที่ผ่านมาผันผวนรุนแรงมาก ไม่ค่อยน่าลงทุนเท่าไรนักเนื่องจากตลาดที่ผันผวนมากมักขาดเสถียรภาพ หลังจากนี้ตลาดหุ้นจีนคงถูกคุมเข้ม การที่จะสร้างผลตอบแทนที่ร้อนแรงอีกคงยากแล้ว แม้ว่าเรื่องเสถียรภาพอาจจะดีขึ้นแต่ก็เป็นเสถียรภาพที่เกิดจากกฎเกณฑ์ที่แปลกประหลาดที่ตลาดเสรีอื่นๆไม่ทำกัน ก็ยังไม่รู้ว่าจะยังน่าลงทุนไหม

ดังนั้น ลุงแมวน้ำคิดว่าตลาดตอนนี้ยังฝุ่นตลบ ควรรอให้สถานการณ์ฝุ่นจางลงก่อน ให้เข้าสู่ปลายชายธงและตัดทะลุปลายให้เรียบร้อยก่อนดีกว่า ถึงตอนนั้นหากยังน่าลงทุนก็ค่อยเข้าลงทุน


ผลจากตลาดหุ้นจีนกระทบเศรษฐกิจไทยหรือไม่


ลุงว่าไม่น่า แม้ว่านักลงทุนรายย่อยจีนที่เสียหายในตลาดหุ้นเหล่านี้คือกลุ่มชนชั้นกลางที่เดินทางท่องเที่ยวและเข้ามาเที่ยวในเมืองไทยนี่เอง ตลาดลงราวๆ -30% ถึง -40% ทำให้ความมั่งคั่งของชนชั้นกลางลดลงไปบ้าง แต่ประเด็นคือเรื่องขวัญและกำลังใจมากกว่า ตอนนี้ไม่ใช่วิกฤตเศรษฐกิจจีน ดังนั้นอีกไม่นานขวัญและกำลังใจของนักลงทุนจีนก็คงกลับมา ดังนั้นแม้ตลาดหุ้นลงแรงก็จริงแต่คงไม่กระทบกับภาพรวมของการจับจ่ายใช้สอยของนักท่องเที่ยวจีนจนกระทบเศรษฐกิจไทย แต่ประเด็นที่น่าติดตามอยู่ที่การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนที่ทำให้การนำเข้าสินค้าของจีนลดลง เรื่องนี้ต่างหากที่มีผลกระทบต่อการส่งออกของไทยและกระทบต่อเศรษฐกิจไทย


ตลาดหุ้นฮ่องกง รักแล้วรอหน่อย


การลงทุนในตลาดหุ้นฮ่องกง ยังรอได้ ไม่ต้องรีบ แม้ราคาถูกแล้วแต่ก็อาจไม่ขึ้น


แถมเรื่องตลาดหุ้นฮ่องกง ตอนนี้ตลาดหุ้นฮ่องกงถูกมาก พีอีตลาดอยู่แค่ 10.8 เท่าเอง ดูเหมือนจะน่าซื้อ แต่ลุงแมวน้ำก็คิดว่าดูไปก่อนเช่นกัน เนื่องจากตลาดหุ้นฮ่องกงอาศัยโมเมนตัมของตลาดหุ้นจีนรวมกับโมเมนตัมของตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกาผสมกัน หากไม่มีโมเมนตัมจากสองตลาดนี้ แม้ตลาดหุ้นฮ่องกงถูกกว่านี้ก็ไม่วิ่ง ดังนั้นก็รอได้ ใจเย็นๆคร้าบ

Friday, July 10, 2015

เมื่อหุ้นจีนซิ่งสาย 8 ถึงเวลาฟองสบู่แตกหรือยัง (1)

“Toward a New Frontier” Series บทความชุด “ทะยานสู่พรมแดนใหม่”




ตลาดหุ้นจีนร่วงแรง -34% นักลงทุนในตลาดหุ้นขาดทุนหนัก ดาราบางคนมีข่าวว่าพอร์ตเสียหายไปนับหมื่นล้าน ทำให้เกิดเป็นประเด็นร้อนว่าตลาดหุ้นจีนฟองสบู่แตกแล้วใช่หรือไม่ รวมทั้งคำถามอื่นๆอีกมากมายที่ตามมา

ตลาดหุ้นจีนร่วงตั้งแต่กลางเดือนมิถุนายน 2015 จนถึงต้นเดือนกรกฎาคม ในเวลาครึ่งเดือนดัชนีตลาดหุ้นลดลงไป -34%

สองสามวันมานี้ข่าวใหญ่ด้านเศรษฐกิจที่มาแรงแซงปัญหาหนี้กรีซก็คือเรื่องตลาดหุ้นจีน เนื่องจากตอนนี้ตลาดหุ้นจีนร่วงอย่างรวดเร็วประมาณ -34% ภายในเวลาสองสัปดาห์นับจากจุดสูงสุดในตอนกลางเดือนมิถุนายน รวมทั้งตลาดหุ้นฮ่องกงก็ร่วงตามด้วย แม้ทางการจีนจะออกมาตรการอย่างเร่งด่วนมาเป็นชุดเพื่อสกัดการทรุดตัวของตลาดหุ้นจีนแต่ก็ดูเหมือนจะได้ผลไม่มากนักเนื่องจากตลาดหุ้นจีนยังร่วงต่อ

จนถึงวันนี้ เรื่องตลาดหุ้นจีนก็กลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาว่าตลาดหุ้นจีนในตอนนี้ฟองสบู่แตกแล้วใช่หรือไม่ สื่อมวลชนต่างก็จับประเด็นนี้มาวิเคราะห์อธิบายกันมากมาย รวมทั้งยังขยายผลต่อไปอีกว่ามีดาราจีนคนนั้นคนนี้พอร์ตแดงไปกี่หมื่นกี่พันล้าน

วันนี้เรามาคุยเรื่องตลาดหุ้นจีนกันอีกสักวัน ที่จริงลุงแมวน้ำคุยเรื่องตลาดหุ้นจีนมาให้ฟังเป็นระยะแล้ว ดังนั้นวันนี้จะไม่ทบทวนอะไรมาก เกรงว่าทวนเรื่องเดิมๆแล้วพวกเราจะเบื่อกัน เรื่องพวกนี้บางทีก็ซับซ้อน คุยครั้งเดียวไม่มีทางจบหรือคุยได้ครบ สถานการณ์ก็เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ดังนั้นก็ต้องคุยอัปเดตกันไปเป็นระยะ เมื่อเราได้ภาพหลายๆภาพมาปะติดปะต่อกันก็จะทำให้เราค่อยๆเข้าใจได้มากขึ้นไปเอง

ดังนั้นเอาเป็นว่าวันนี้เราคุยกันเพิ่มเติมเรื่องตลาดหุ้นจีนว่าฟองสบู่แตกหรือยัง สำหรับผู้ที่อ่านบทความนี้ หากสนใจก็อาจย้อนไปอ่านในโพสต์ก่อนๆของลุงแมวน้ำที่คุยเกี่ยวกับตลาดหุ้นจีนเอาไว้ ก็จะช่วยให้ปะติดปะต่อภาพได้ดียิ่งขึ้น


เข้าใจคนจีน เข้าใจตลาดหุ้นจีน


ตลาดหุ้นจีนก็เช่นกัน ตลาดหุ้นจีนนั้นขึ้นชื่อลือชาในเรื่องความผันผวน ขึ้นลงเร็วและแรง เนื่องจากนักลงทุนเก็งกำไรกันอย่างสุดเหวี่ยง ความผันผวนของตลาดลุงแมวน้ำคิดว่ายังดุเดือดร้อนแรงกว่าตลาดห้นไทยเสียอีก ทำไมจึงเป็นเช่นกัน ลุงแมวน้ำว่าเรามาทำความเข้าใจกับนักลงทุนรายย่อยชาวจีนกันสักหน่อยดีกว่า การที่เราเข้าใจนักลงทุนจีนหรือว่าเข้าใจบุคลิกของคนจีนรุ่นใหม่จะช่วยให้เราเห็นภาพชัดขึ้นว่าตลาดหุ้นจีนนั้นฟองสบู่แตกหรือยัง

คนจีนรุ่นใหม่ที่เป็นคนหนุ่มสาวซึ่งเติบโตมาในยุคที่จีนเริ่มเปิดประเทศรับเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ก็คะเนว่าเป็นชาวจีนที่ปัจจุบันมีอายุไม่เกิน 50 พวกนี้จะเป็นปลายเจนเอ็กซ์ เจนวาย และเจนที่หลังจากนั้น

ประเทศจีนในปัจจุบันมีประชากรประมาณ 1300 ล้านคน ในยุคทศวรรษ 1980s นั้นประชากรจีนมีราวๆกว่า 900 ล้านคน จีนเป็นประเทศที่มีระชากรมาก การที่รัฐจะจัดการด้านเศรษฐกิจให้ประชาชนกินดีอยู่ดีอย่างทั่วถึงนั้นเป็นเรื่องที่ยากมาก แม้พยายามจะให้ทั่วถึงแต่ก็ไม่ทั่วถึงดีนัก

เมื่อทรัพยากรมีจำกัด  การแข่งขันจึงสูง ชาวจีนต้องเผชิญกับการแข่งขันที่ดุเดือดมาตั้งแต่เด็ก เริ่มตั้งแต่การแข่งขันเพื่อให้เข้าเรียนในโรงเรียนดีๆ เมื่อจบชั้นมัธยมก็ต้องแข่งขันเพื่อให้เข้ามหาวิทยาลัยได้ เพราะที่นั่งในมหาวิทยาลัยมีจำกัด พอจบมหาวิทยาลัยแล้วก็ยังต้องแข่งขันเพื่อให้ได้งานดีๆทำ งานดีๆก็มีจำกัดอีก ก็ต้องแข่งขันกันหนัก

ประกอบกับคนจีนมีวัฒนาธรรมรักหน้าตา คือพูดง่ายๆว่ากลัวเสียหน้า การรประสบความสำเร็จในชีวิตช่วยให้มีหน้ามีตา ดังนั้นยิ่งเป็นแรงผลักดัน และหล่อหลอมให้คนจีนรุ่นใหม่มีบุคลิกดิ้นรน มุมานะ กระหายในความสำเร็จอย่างรุนแรง ความคาดหวังในความสำเร็จของชาวจีนรุ่นใหม่นั้นหากเทียบกับการสอบก็เหมือนกับคนที่ต้องการสอบให้ได้เกรด A หรือ B ซึ่งได้มายาก มีไม่กี่คนที่จะทำได้ ส่วนเกรด C, D, F นั้นไม่ต้องการ แต่คนส่วนใหญ่ก็มักอยู่ในกลุ่ม C, D, F นี้แหละ (เช่น จบแค่มัธยม ทำงานรับจ้าง เงินเดือนน้อย บางคนก็ค้าขายเล็กน้อย ขายผักขายปลา รายได้แค่พออยู่ได้ ฯลฯ) ดังนั้นจะเห็นว่าการประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะในระดับที่โดดเด่นในสังคมจีนนั้นยากพราะต้องแข่งขันสูงมาก

คนจีนรุ่นใหม่ก็ดิ้นรนไปทุกที่ทุกทางเพื่อให้ประสบความสำเร็จ มีโอกาสอะไรก็ฉวย ไม่ปล่อยให้หลุดมือ กล้าได้กล้าเสีย ไม่กลัวลำบาก ทำมาหากินในประเทศยากนักบางคนมีช่องทางก็ไปแสวงโชคในต่างประเทศ เช่น มาทำมาหากินในเมืองไทย เป็นต้น บางคนที่หัวทันสมัยหน่อยก็มักได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับการให้เงินทำงาน แพสซีฟอินคัม (passive income) รวยด้วยหุ้น ฯลฯ ก็หันมาสนใจลงทุนในตลาดหุ้น นี่คือส่วนหนึ่งของแรงจูงใจที่ผลักดันชาวจีนรุ่นใหม่เข้ามาในตลาดหุ้น


ย้อนตำนานตลาดหุ้นจีนยุคโอลิมปิก หุ้นซิ่งสาย 8


ใครๆก็รู้กันดีกว่ารถเมล์สาย 8 นั้นโด่งดังในด้านความเร็วเพียงใด รถร่วมสาย 8 นั้นวิ่งมาประมาณ 30 ปีแล้วแต่ก็ยังรักษามาตรฐานในด้านความเร็วได้อย่างไม่เปลี่ยนแปลง เมื่อก่อนเร็วยังไง เดี๋ยวนี้ก็ยังเร็วอย่างนั้น จนถึงขนาดเกมดังคือ GTA V ยังต้องนำเอารถเมล์สาย 8 เข้าไปซิ่งในเกมทีเดียว >.<

ด้วยความหอมหวนของตลาดทุนที่สามารถสร้างผลตอบแทนแก่ผู้ลงทุนได้อย่างงดงาม ประกอบกับบุคลิกที่ต้องการประสบความสำเร็จโดยเร็ว ทัศนคติมีโอกาสต้องรีบฉวย (เพราะถ้าไม่ฉวยคนอื่นก็เอาไปแทน) รวมทั้งความกล้าได้กล้าเสีย ที่คนจีนบอกว่าไม่เข้าถ้ำเสือไหนเลยจะได้ลูกเสือ นี่เองที่เป็นส่วนหนึ่งที่ผลักดันให้ตลาดหุ้นจีนหวือหวา มีการเก็งกำไรสูง

ตั้งแต่ยุค 4 ทันสมัยของเติ้งเสี่ยวผิง หรือจำง่ายๆคือตั้งแต่ 1980 เป็นต้นมา จีนก็ขับเคลื่อนนโยบายทางเศรษฐกิจแบบทุนนิยมผสมคอมมิวนิสต์ มีการลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ถนนหนทาง เปิดรับกระแสทุนและกระแสเทคโนโลยีจากต่างชาติเป็นการใหญ่ อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนตั้งแต่นั้นมาก็โดดเด่นมาก จากข้อมูลในภาพนี้ ตั้งแต่ปี 1990-2007 จีดีพีจีนโตประมาณปีละ 7% ถึง 14% ทีเดียว


อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจจีนนับแต่ปี 1990 ถึง 2007 เติบโตอย่างร้อนแรงปีละ 7% ถึง 14% และนับแต่ปี 2008 เศรษฐกิจจีนก็เริ่มลดความร้อนแรงลงเรื่อยมา


จนมาในปี 2001 จีนได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน 2008 จีนก็ยิ่งเร่งลงทุนเป็นการใหญ่ โดยเฉพาะการก่อสร้างต่างๆเพื่อเตรียมเป็นเจ้าภาพโอลิมปิก มีการนำเข้าสินค้าโภคภัณฑ์ น้ำมัน เหล็ก สินค้าเกษตร และอื่นๆมากมาย การนำเข้าอย่างมหาศาลของจีนทำให้ราคาน้ำมันดิบและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกพุ่งแรง จากนั้นในปี 2006 ตลาดหุ้นจีนก็เริ่มร้อนแรงอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เพียงระยะเวลาประมาณปีครึ่ง จากต้นปี 2006 ถึงปลายปี 2007 ตลาดหุ้นจีนพุ่งทะยาน +450% (สี่ร้อยห้าสิบเปอร์เซ็นต์) โดยดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตวิ่งจาก 1,100 จุดไปถึง 6,000 จุด

หลังจากที่จีนก่อสร้างสถานที่ต่างๆที่เกี่ยวกับโอลิมปิกเรียบร้อย การนำเข้าสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆก็ลดลงอย่างฮวบฮาบ และพร้อมกันนั้น ตลาดหุ้นจีนก็ดิ่งลงอย่างรวดเร็ว ในระยะเวลาประมาณ 1 ปี จากปลายปี 2007 ถึงปลายปี 2008 ดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตไหลลงจาก 6,000 จุดเหลือ 1,600 จุด หรือ -73%

ในภาคเศรษฐกิจจริง หลังจากกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน เศรษฐกิจของจีนก็ลดความร้อนแรงลงเรื่อยมา อัตราการเติบโตของจีดีพี (GDP growth) ค่อยๆลดลงจาก 14% ต่อปี จนล่าสุดเหลือประมาณ 7% ต่อปี

หากเราพิจารณาภาคเศรษฐกิจจริงคู่ไปกับตลาดหุ้นจีน เราจะได้ภาพดังนี้


ทิศทางของเศรษฐกิจจริงและความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นจีนตั้งแต่ปี 1990 เป็นต้นมา

ดูภาพกันไปก่อน แล้วเรามาคุยกันต่อในตอนต่อไปคร้าบ

Tuesday, July 7, 2015

มองกลุ่มธนาคาร อาจยังลงไม่สุดและจะฟื้นตัวได้ช้า


ดัชนีเซ็ตเทียบกับดัชนีกลุ่มธนาคารและพลังงาน



ช่วงนี้ตลาดหุ้นไทยไหลจนดัชนีเซ็ตหลุด 1500 จุดลงมาแล้ว สาเหตุมาจากสองสามกลุ่มหลัก คือธนาคาร พลังงาน แถมด้วยกลุ่มปิโตรเคมี  โดยกลุ่มธนาคารเป็นพระเอกในการฉุดดัชนี

ราคาหุ้นในกลุ่มพลังงานนั้นปรับตัวลงตามราคาน้ำมันดิบตลาดโลก เมื่อราคาน้ำมันดิบลดลงหุ้นพลังงานก็ลงด้วย ส่วนราคาหุ้นในกลุ่มธนาคารนั้นปรับตัวลงตามสภาพเศรษฐกิจ

เป็นที่ทราบกันดีกว่าผลประกอบการของธนาคารพาณิชย์นั้นอ่อนไหวกับสภาพเศรษฐกิจ คือเป็นกระจกที่สะท้อนภาพเเศรษฐกิจ หากเศรษฐกิจดี สินเชื่อก็ขยายตัวดี หนี้เสียก็น้อย ธนาคารก็มีผลประกอบการดี

ในทางตรงกันข้าม หากเศรษฐกิจไม่ดี สินเชื่อก็ปล่อยยาก หนี้เสียก็เพิ่มสูงขึ้น ผลประกอบการของธนาคารก็แย่

เรามาดูกราฟดัชนีรายเซ็กเตอร์กัน จะเห็นว่าในรอบปีที่ผ่านมา ดัชนีเซ็ตปรับตัวลงประมาณ -1.5% ดัชนีกลุ่มพลังงานปรับตัวลง -4% ส่วนดัชนีกลุ่มธนาคารนั้นปรับตัวลงถึง -27.8% โดยราคาหุ้นในกลุ่มธนาคารนั้นมีแนวโน้มเป็นขาลงตั้งแต่ปีที่แล้ว คือลงมาตลอด เพิ่งมาเด้งขึ้นในช่วงต้นปีนี้เหมือนกับจะกลับทิศเป็นขาขึ้น แต่แล้วก็กลับไหลลงแรงอีก ไหลลงแรงตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์มาจนถึงตอนนี้ แม้แต่ต่างชาติซึ่งถือหุ้นไทยไม่มากแล้วก็ยังขายหุ้นกลุ่มธนาคารหนักในระยะที่ผ่านมา หุ้นกลุ่มธนาคารมีผลต่อดัชนีมากเสียด้วย ดังนั้นจึงฉุดดัชนีเซ็ตลงมา


สาเหตุกลุ่มธนาคารปรับตัวลง


สาเหตุที่หุ้นกลุ่มธนาคารลงแรงเป็นเพราะ

1. ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ทั้งหน่วยงานภาครัฐและสถาบันการเงินต่างก็พากันปรับลดเป้าจีดีพี ปรับลดเป้าการส่งออก หลายต่อหลายครั้ง ซึ่งเหล่านี้้ล้วนแต่เป็นผลจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจที่ในปีที่แล้วเรายังเห็นภาพไม่ชัดนัก แต่มาเห็นภาพได้ชัดขึ้นในปีนี้

2. ปริมาณสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือที่เรียกว่าเอ็นพีแอล (NPL, non performing loan) นั้นเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2014 และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มต่อไปในปี 2015 นี้ การที่ปริมาณเอ็นพีแอลของธนาคารพาณิชย์เพิ่มสูงขึ้น ยิ่งมากเท่าไรก็ยิ่งเป็นภาระแก่ธนาคาร เนื่องจาก หากเป็นหนี้ชำระปกติหรือขาดส่งไม่เกิน 3 เดือน (ที่ขาดส่งหนึ่งถึงสามเดือนเรียกว่า SML, special mentioned loan) พวกนี้ยังไม่เป็นเอ็นพีแอล จะตั้งสำรองไม่เกิน 2% ของสินเชื่อ แต่หากถูกจัดชั้นป็นเอ็นพีแอลเมื่อใด ภาระการตั้งสำรองจะกลายเป็น 100% ซึ่งจะเห็นว่าพอเป็น NPL ปุ๊บภาระการตั้งสำรองจะเพิ่มอีกมาก และนี่เองที่ไปฉุดกำไรของธนาคาร


ปริมาณ SML (หนี้ขาดส่งไม่เกิน 3 เดือน), NPL (หนี้ขาดส่งเกิน 3 เดือน) เพิ่มอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ 1Q2014 และคาดว่าปี 2015 นี้ SML บางส่วนจะกลายเป็น NPL ทำให้ NPL เพิ่มอย่างต่อเนื่อง


สำหรับปี 2015 นี้ การขยายตัวของสินเชื่อธนาคารน่าจะลดลงตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ซ้ำเติมด้วยภาระการตั้งสำรองเอ็นพีแอล ก็มองกันว่าผลประกอบการคงไม่น่าประทับใจ ดังนั้นจึงมีแรงขายหุ้นในกลุ่มธนาคาร บางคนไหวตัวเร็วก็ขายตั้งแต่ปีที่แล้ว บางคนเพิ่งมาคิดได้ในช่วงปีนี้ก็รีบขายกันออกมา สภาพการจึงเป็นดังที่เห็นกันอยู่

หุ้นกลุ่มธนาคารจะลงไปถึงไหน 


สำหรับธนาคารใหญ่ คือ BBL, KBANK, SCB, KTB สินเชื่อ NPL กับภาระการตั้งสำรองคงเพิ่มขึ้นต่อไปในไตรมาส 2, 3, 4 ปัจจัยฉุดยังอยู่ต่อไปอีกพักใหญ่ ยังไม่ลดง่ายๆ ดังนั้นหุ้นกลุ่มธนาคารอาจลงต่อได้อีกนิดนึง ลองมาดูกรณีศึกษา KBANK ดังในภาพกัน



ในทางเทคนิค แนวรับสำคัญตามระดับฟิโบนาชชีมีหลายระดับ คือ 170, 145 และ 120 บาท แนวรับไหนน่าจะเป็นไปได้มากที่สุด

สำหรับ 120 บาท ลุงแมวน้ำว่าต่ำเว่อไป เศรษฐกิจต้องเสียหายหนักราคาจึงจะลงไประดับนั้น ในทางปัจจัยพื้นฐานดูแล้วคงลงไปถึงนั่นได้ยาก

ที่ 145 บาท ราคานี้ หากพิจารณาจาก trailing P/E ratio (ค่าพีอีปัจจุบัน) ก็ราวๆ 7.4 เท่า ส่วนค่า P/BV ราคาต่อมูลค่าทางบัญชี 1.3 เท่า ถือว่าต่ำแล้ว ราคานี้มองแล้วเป็นไปได้มากกว่า

ดังนั้นลุงแมวน้ำมองว่ากลุ่มธนาคารยังฉุดตลาดได้อีกหน่อย

ส่วนธนาคารขนาดรอง พวก TISCO, TCAP ฯลฯ ลองดูกราฟ TISCO ธนาคารขนาดรองตั้งสำรองไปมากแล้วเนื่องจากเอ็นพีแอลโผล่ก่อนธนาคารใหญ่ อะไรที่ควรตั้งก็ตั้งไปเยอะแล้ว ดังนั้นภาระการตั้งในอนาคตมีอีกไม่มาก รูปแบบของราคาจึงไม่ลงหนักเหมือนธนาคารใหญ่


ไม่ต้องรีบร้อน พวกนี้ตอนฟื้นตัวจะค่อยๆฟื้น ใจเย็นๆค่อยๆรอเก็บได้คร้าบ