Wednesday, March 23, 2011

22/03/2011 * CL, การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา





วันนี้ดัชนี SET ปิดที่ 1019.14 จุด ลดลง 0.79 จุด

สำหรับหุ้นในกลุ่ม SET50 วันนี้มีสัญญาณขาย BBL ขณะนี้ถือหุ้นอยู่รวมทั้งหมด 29 ตัว

กลุ่มฟิวเจอร์ส วันนี้ไม่มีสัญญาณซื้อขาย ราคาน้ำมันดิบ (CL) กลับพุ่งขึ้นมาอีก

ด้านตลาดต่างประเทศ วันนี้ตลาดหุ้นทั่วโลกปิดคละเคล้ากันไป มีทั้งปิดเขียวและปิดแดง ตลาดด้านอเมริกาและยุโรปส่วนใหญ่ปิดแดง ส่วนตลาดด้านเอเชียส่วนใหญ่ปิดเขียว

ด้านราคาน้ำมันดิบ (CL) ปรับตัวสูงขึ้นมาอีก ลองดูกราฟน้ำมันดิบต่อไปนี้



ดังที่ลุงแมวน้ำเคยบอกว่าขณะนี้ CL อยู่ในคลื่นลูกใดระหว่างคลื่น 5 กับคลื่น B ยากตอบได้เนื่องจากดูก้ำกึ่ง แต่ความเห็นของลุงแมวน้ำโน้มเอียงไปทางที่ว่าขณะนี้อยู่ในคลื่น 5 มากกว่า

ขณะนี้ราคาน้ำมันดิบมาป้วนเปี้ยนอยู่แถวๆระดับ fibonacci ที่ 61.8% หรือที่ราวๆ 104 ดอลลาร์/บาเรล หากเป็นคลื่น 5 ราคาน้ำมันอาจปรับตัวย่อลงมาบ้างเนื่องจากถึงระดับ fibonacci จากนั้นคงทะยานขึ้นต่อไปอีก โดยราคาอาจไปถึง 215 ดอลลาร์/บาเรล อันเป็นระดับ fibonacci 161.8% อย่าคิดว่าราคาน้ำมันดิบจะพุ่งสูงขนาดนั้นเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ทั้งนี้เพราะตลาดฟิวเจอร์สมีส่วนในการเก็งกำไร ทำให้ราคาสินค้าแกว่งตัวขึ้นแรงลงแรง โดยดูได้จากราคายางพาราที่ผ่านมา แต่ราคาน้ำมันในครั้งนี้ไม่ใช่ขึ้นแล้วยืนได้ แต่เป็นการขึ้นแรงเพื่อไปจบคลื่น 5 หลังจากนั้นราคาน้ำมันจะเข้าสู่คลื่นขาลง A-B-C

ผลจากราคาน้ำมันที่ขึ้นอย่างรุนแรงในคลื่น 5 จะเป็นอย่างไร อนาคตเป็นเรื่องที่เราไม่รู้ แต่หากดูจากอดีต เมื่อราคาน้ำมันขึ้น หุ้นในกลุ่มพลังงานมักได้รับอานิสงส์ ดัชนีตลาดหลักทรัพย์จะดีขึ้นเนื่องจากหุ้นพลังงานเป็นตัวนำ แต่หากราคาน้ำมันยังขึ้นต่อไป เมื่อสูงถึงระดับหนึ่งตลาดจะกลายเป็นตอบสนองในทางลบเพราะมองว่าราคาน้ำมันที่สูงเกินไปเป็นเครื่องบั่นทอนเศรษฐกิจ ดังนั้นเมื่อถึงจุดนั้นความคิดของตลาดจะเปลี่ยนและตลาดหุ้นจะกลายเป็นปรับตัวลงสวนทางกับราคาน้ำมัน

ลุงแมวน้ำคาดว่าราคาน้ำมันดิบคงปรับตัวขึ้นไปอีกเรื่อยๆ ไม่ว่าสถานการณ์ในโลกอาหรับและลิเบียจะเป็นอย่างไรก็ตาม


แถมท้ายสำหรับวันนี้ ลุงแมวน้ำเอาภาพสงครามกลางเมืองมาให้ดู 2 ภาพ ภาพบนเป็นเหตุการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในประเทศรวันดา (Rwanda) ที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2537 (1994) อันเป็นเหตุการณ์ที่ชนเผ่าฮูตู (Hutu) ซึ่งเป็นชนหมู่มากในประเทศรวันดาไล่เข่นฆ่าชนเผ่าทุตซี (Tutsi) ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อย เหตุการณ์ไล่ล่าเข่นฆ่าดำเนินไปประมาณ 3 เดือน ประเมินกันว่ามีผู้เสียชีวิตมากถึง 800,000 ถึง 1,000,000 คน โดยเหตุการณ์ในครั้งนั้นสหประชาชาติไม่เข้าระงับยับยั้งความรุนแรงที่เกิดขึ้น รายละเอียดดูได้จาก การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา

ในตอนนั้นยังไม่มีสังคมสื่อสารออนไลน์และชุมชนออนไลน์เช่นในวันนี้ ข่าวเรื่องรวันดาเป็นข่าวต่างประเทศที่กินเนื้อที่ข่าวไม่มากนักในหน้าหนังสือพิมพ์ โลกในยุคนั้นกว้างใหญ่กว่าในยุตนี้ การนำเสนอข่าวยังไม่ฉับไว ดังนั้นเรื่องในประเทศรวันดา ทวีปแอฟริกาจึงดูเป็นเรื่องไกลตัวสำหรับย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่สามารถสร้างอารมณ์ร่วมแก่ผู้เสพข่าวได้มากเท่ากับการใช้สื่อในสมัยนี้ แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ลุงแมวน้ำก็ติดตามข่าวนี้ด้วยความสนใจและรู้สึกเศร้าสลดใจกับจำนวนผู้เสียชีวิตอันมากมายที่เข่นฆ่ากันอย่างไม่หยุดยั้ง

มาในปี 2554 (2011) กองกำลังสหประชาชาติเข้าโจมตีกองทัพของรัฐบาลลิเบียโดยให้เหตุผลว่าเพื่อยับยั้งการเข่นฆ่าสังหารระหว่างกองกำลังของรัฐบาลและกองกำลังของประชาชนในลิเบีย ประเด็นที่น่าคิดซึ่งลุงแมวน้ำอยากฝากไว้ขบคิดพิจารณาก็คือ อะไรคือความแตกต่างของสองเหตุการณ์นี้ ทำไมสหประชาชาติจึงไม่ใช้กองกำลังเข้าระงับเหตุการณ์ในรวันดาเพื่อรักษาชีวิตของคนจำนวนมากมายเอาไว้ แต่กลับสามารถใช้กองกำลังเข้าโจมตีกองทัพของรัฐบาลลิเบีย




No comments: