วันนี้ดัชนี SET ปิดที่ 1036.36 จุด เพิ่มขึ้น 3.42 จุด
สำหรับหุ้นในกลุ่ม SET50 วันนี้มีสัญญาณซื้อ SSI ขณะนี้ถือหุ้นอยู่รวมทั้งหมด 37 ตัว
กลุ่มฟิวเจอร์ส วันนี้มีสัญญาณขายกาแฟ (KC) ช่วงนี้สินค้าเกษตรทรงตัวกับปรับตัวลงเล็กน้อย
ด้านตลาดต่างประเทศ วันนี้ตลาดหุ้นทั่วโลกส่วนใหญ่ปิดคละกันทั้งเขียวและแดง ตลาดฝั่งทวีปอเมริกาส่วนใหญ่ปิดค่อนไปทางเขียว ตลาดฝั่งยุโรปปิดค่อนไปทางแดง และเอเชียปิดคละกัน ตลาดอียิปต์ปรับตัวขึ้นแรงอีกวันหนึ่ง ส่วนตลาดประเทศกรีซปรับตัวลงแรง
ดัชนีดาวโจนส์ (DJI) ของสหรัฐอเมริกาเกิดสัญญาณซื้อ ดัชนีตลาดหุ้นของมาเลเซียและออสเตรียก็เกิดสัญญาณซื้อ
ยางพารา (RSS3) ยังขึ้นแรงลงแรงจนน่ากลัวเช่นเดิม หลังจากเตุการณ์สึนามิที่ญี่ปุ่นทำให้ราคายางพารายิ่งผันผวน ทีแรกก็ร่วงลงเนื่องจากประเมินว่าการผลิตรถยนต์ของญี่ปุ่นจะชะลอตัว ทำให้การใช้ยางลดลงไปชั่วคราว ต่อมาเมื่อมีพายุเข้าภาคใต้ของประเทศไทย ฝนตกน้ำท่วม ไร่นาเสียหาย ราคายางพาราก็กลับดีดตัวขึ้นมาอีก แต่รวมแล้วยังอยู่เป็นสัญญาณขายออยู่ ยังไม่เกิดสัญญาณซื้อ
ตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกากำหนดทิศทางตลาดหุ้นทั่วโลกจริงหรือไม่ (2)
เมื่อวานเราดูวิธีอ่านตารางพร้อมกับดูตารางสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของตลาดหุ้นต่างๆไปแล้ว สำหรับท่านที่ยังงงๆกับการอ่านตาราง ลุงแมวน้ำได้ทำตารางสรุปสำหรับตลาดบางคู่ รวม 6 คู่ มาให้ดูกัน ดังนี้
แม้ว่าจะดูอย่างคร่าวๆแต่ก็คงพอเห็นว่าตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมา ตลาดหุ้นอเมริกากับยุโรปตะวันตกนั้นสัมพันธ์ตามกันในระดับสูงเกือบทุกปี ส่วนตลาดสหรัฐอเมริกากับไทยนั้นก็ตามบ้างไม่ตามบ้าง ส่วนสหรัฐอเมริกากับจีนก็ตามบ้างไม่ตามบ้าง บางปีตามกันในระดับสูง (ค่า r สูงเข้าใกล้ 1)
และหากพิจารณาตารางของเมื่อวานกับตารางข้างบน มีข้อที่น่าสังเกตอีกประการหนึ่ง นั่นก็คือ ไม่ว่าตลาดบางตลาดที่เราดูแล้วเห็นว่าบางปีก็ตามสหรัฐอเมริกามากหน่อย บางปีก็ตามน้อยหน่อย อย่างเช่นไทยกับจีน แต่สำหรับในปี 2008-2009 อันเป็นช่วงปีที่เกิดวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ทุกตลาดมีความสัมพันธ์แบบตามกันในระดับที่สูงขึ้นกับตลาดสหรัฐอเมริกาทั้งสิ้น โดยดูจากค่า r ที่เพิ่มมากขึ้นจากปีก่อนหน้า
ครั้นพอมาปี 2010 เมื่อวิกฤตคลายตัวลง หลายตลาดก็เริ่มกลับมาสัมพันธ์ตามกันกับตลาดอเมริกาน้อยลง
ที่เป็นเช่นนี้อาจพออธิบายได้ว่า ในยามที่ภาวะเศรษฐกิจไปได้ ตลาดแต่ละตลาดในโลกก็เป็นไปตามปัจจัยของประเทศตนเองมากหน่อย แต่ครั้งเกิดวิกฤตเศรษฐกิจจากสหรัฐอเมริกา ทุกตลาดก็หวั่นไหวและได้รับผลกระทบไปหมด แม้ผลกระทบทางปัจจัยพื้นฐานจะมีมากน้อยต่างกัน แต่ปัจจัยทางจิตวิทยาดูจะสำคัญกว่า
ลองเปรียบเทียบให้ดูกันชัดๆอีกภาพหนึ่ง ดังภาพต่อไปนี้
ภาพนี้เป็นการเปรียบเทียบความสัมพันธ์ของตลาดต่างๆในปี 2005 กับ 2008 จะเห็นว่าในปี 2005 บางตลาดสัมพันธ์ตามกันกับอเมริกาในระดับน้อยมากถึงปานกลาง (เซลล์ที่ระบายสีเหลือง) แต่พอมาในปี 2008 ความสัมพันธ์กลับกลายเป็นระดับที่สูงขึ้น อย่างเช่นจีนในปี 2005 ค่า r = 0.22 (สัมพันธ์กันน้อย) แต่มาในปี 2008 ค่า r = 0.79 คือกลายเป็นตามกันค่อนข้างสูง ปีนั้นตลาดสหรัฐอเมริกาเข้าคลื่น A ตลาดจีนก็พลอยร่วงไปด้วย
จากประสบการณ์ที่ผ่านมา เราเรียนรู้จากอดีตว่าหากตลาดสหรัฐอเมริกาย่ำแย่จะฉุดตลาดอื่นให้แย่ไปด้วย เราคงตอบไม่ได้ว่าหากในอนาคตเกิดเหตุการณ์แบบนี้อีกแล้วประวัติศาสตร์จะตามรอยเดิมหรือไม่ แต่อย่างน้อยอดีตก็เป็นบทเรียนที่เตือนให้เราไม่ประมาท
No comments:
Post a Comment