Tuesday, June 30, 2015

วิกฤตหนี้กรีซใกล้เส้นตาย เศรษฐกิจไทยอาจชะลอยาว (2)


ตลาดหุ้นกรีซ ในหนึ่งปีที่ผ่านมาตลาดหุ้นปรับตัวลงไปแล้วราว -40%


กรณีกรีซไม่ยอมรับแผนปฏิรูปของกลุ่มเจ้าหนี้ทรอยกาและประกาศทำประชามติเพื่อให้ประชาชนชาวกรีกเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะรับแผนปฏิรูปซึ่งรวมทั้งยอมรับมาตรการรัดเข็มขัดต่างๆหรือไม่ ทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกในวันที่ 29 มิถุนายนผันผวน สถานการณ์ดูเลวร้ายลงเนื่องจากโอกาสที่กรีซจะผิดนัดชำระหนี้มีสูงขึ้น รวมทั้งกรีซมีอาจต้องออกจากกลุ่มยูโรโซน แต่อย่างไรก็ตาม โอกาสที่จะตกลงกันได้ในนาทีสุดท้ายยังไม่หมดไปเสียทีเดียว ยังมีโอกาสอยู่

ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลดลงในวันที่ 29 อันเป็นผลทางจิตวิทยาของตลาดหุ้นต่างๆที่ตอบสนองต่อข่าวกรีซ ตลาดหุ้นยุโรป (ดัชนี EURO STOXX 50) ปรับตัวลง -4.2% ตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกา (ดัชนี S&P 500) ปรับลง -2% ตลาดหุ้นญี่ปุ่น (ดัชนีนิกเกอิ 225) -3% ตลาดหุ้นอินเดีย -0.6% ส่วนตลาดหุ้นไทย -0.45%

จะเห็นว่าตลาดหุ้นที่หวั่นไหวต่อกรณีกรีซมากที่สุดเป็นตลาดหุ้นในภูมิภาคยุโรป ส่วนผลทางจิตวิทยาของตลาดหุ้นในภูมิภาคอื่นมีค่อนข้างจำกัด สำหรับประเทศไทยเองนั้นในภาคเศรษฐกิจจริงสัมพันธ์กับกรีซเป็นมูลค่าไม่มากนัก ดังนั้นจากการประเมินในเบื้องต้น ลุงแมวน้ำคิดว่าแม้ในที่สุดกรีซผิดนัดชำระหนี้จริงๆ ผลกระทบต่อตลาดหุ้นอเมริกา เอเชีย และตลาดหุ้นไทย น่าจะมีไม่มากนัก ส่วนผลที่ตามมาหากกรีซเป็นชนวนให้ยูโรโซนล่มสลาย ประเด็นนั้นค่อยมาประเมินกันอีกทีเพราะยังอีกไกล


ความเสี่ยงอยู่ที่จีน


ประเด็นที่ลุงแมวน้ำเป็นห่วง และคาดว่าน่าจะมีผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทยในระยะต่อไป ไม่ใช่กรณีกรีซ แต่มีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆดังต่อไปนี้

1.กรณี สหรัฐอเมริกากำลังจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยเฟด หลังจากที่กระประชุมเฟดเดือนมิถุนายนนี้ไม่ได้ขึ้นอัตราดอกเบี้ย สถานการณ์ก็ยังคงอึมครึมต่อไปจนถึงการประชุมเฟดในนัดเดือนกันยายน กรณีนี้จะทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกไปต่อได้ยาก แม้แต่ตลาดหุ้นอเมริกาเองก็เช่นกัน

ตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกา หลังจากที่หลุดปลายสามเหลี่ยมชายธงลงด้านล่างก็ก่อตัวเป็นแนวโน้มขาลง คาดกว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯจะลงไปจนกว่าเฟดจะขึ้นอัตราดอกเบี้ย


2. กรณีจีน เมื่อวันหยุดที่ผ่านมา ธนาคารกลางของจีนปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากลงอีกขาละหนึ่งสลึงหรือ 0.25 % และลดสัดส่วนการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ หรือ อาร์อาร์อาร์ (RRR) สำหรับธนาคารพาณิชย์ที่ให้บริการแก่ลูกค้าในกลุ่มพื้นที่ชนบท ภาคการเกษตร และธุรกิจขนาดเล็ก -0.50% ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้แก่ระบบเศรษฐกิจ

ปกติจีนมักประกาศนโยบายการเงินในช่วงวันหยุด ครั้งนี้ก็เช่นกัน พอตลาดหุ้นจีนเปิดมาในเช้าวันจันทร์ก็บวกไปประมาณ +2% จากนั้นก็แกว่งตัวขึ้นลงแรงหลายรอบตลอดวัน สุดท้าย ตลาดหุ้นจีนโดยดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตปิดที่ -3.3% ซึ่งกรณีจีนนี้ลุงแมวน้ำคิดว่าสถานการณ์เริ่มน่าเป็นห่วง เนื่องจากปีนี้ธนาคารกลางของจีนใช้มาตรการทางการเงิน ได้แก่ การลดอัตราดอกเบี้ยและการลดสัดส่วนการกันสำรองมาหลายครั้งแล้วเนื่องจากเศรษฐกิจจีนชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง ตัวเลขทางเศรษฐกิจโดยรวมยังไม่น่าพอใจนัก เพียงครึ่งเดือนที่ผ่านมา ตลาดหุ้นจีนปรับตัวลงไป -21% แล้ว ซึ่งถือว่าเร็วและแรง

ตลาดหุ้นจีนปรับตัวลง -21% ภายในเวลาประมาณครึ่งเดือน


แต่ละครั้งที่จีนมีการผ่อนคลายทางการเงิน ตลาดหุ้นจีนตอบสนองในเชิงบวก คือตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นแรง แต่ครั้งนี้ตลาดหุ้นปรับตัวลง อธิบายได้ว่าการลดอัตราดอกเบี้ยและลดสัดส่วนกันสำรองในครั้งก่อนๆ นักลงทุนมองเชิงบวกว่ามาตรการเหล่านี้จะกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างได้ผล แต่มาในครั้งนี้นักลงทุนกลับมีท่าทีเสียความเชื่อมั่น กลายเป็นมองเชิงลบว่าเศรษฐกิจคงแย่มากจึงได้กระตุ้นกันไม่หยุดหย่อน พูดง่ายๆคือตอนนี้นักลงทุนจีนมองว่าเศรษฐกิจจีนชะลอตัวอย่างยากจะเยียวยาแล้ว

กรณีจีน ตอนนี้เศรษฐกิจไทยอิงการส่งออกค่อนข้างสูง คือกว่า 70% ของจีดีพี และการส่งออกของเรานั้นพึ่งพาเศรษฐกิจจีนค่อนข้างมาก การที่เศรษฐกิจจีนชะลอตัวทำให้ยอดการนำเข้าของจีนลดลง ส่งผลให้ไทยขายสินค้าแก่จีนได้น้อยลงโดยเฉพาะสินค้าโภคภัณฑ์ ประกอบกับไทยเสียความสามารถในการแข่งขันส่งออกไป ลุงแมวน้ำจึงเห็นว่าผลจาการชะลอของเศรษฐกิจจีนจึงกระทบเศรษฐกิจไทยค่อนข้างมาก


เศรษฐกิจไทยชะลอกว่าที่คาด


คาดว่าตลาดหุ้นไทยน่าจะซึมลงในไตรมาส 3 

3. เศรษฐกิจไทยยังชะลอตัว การที่ทางการไทยปรับลดคาดการณ์ทางเศรษฐกิจและคาดการณ์ยอดส่งออกลงหลายครั้งเพราะยอดส่งออกของไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง สินค้าทำเงินย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่น (เช่น จอภาพ ทีวี ยานยนต์ ฯลฯ) และนอกจากยอดส่งออกแล้ว ในด้านการนำเข้าสินค้าทุนก็ลดลงอย่างต่อเนื่อง สะท้อนให้เห็นว่าในภาคการผลิตได้ชะลอการผลิตและการลงทุนใหม่ๆลง ส่วนในภาคอสังหาริมทรัพย์ ผู้ประกอบการก็ชะลอการลงทุน โครงการเมกะโปรเจกต์ต่างๆก็ยังติดขัด และในภาคเกษตรก็ประสบภัยแล้ง

4. ในปีนี้มีการออกหุ้นไอพีโอ ทั้งกองทุนรวมอสังหาฯ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน และหุ้นกู้ ค่อนข้างมาก เหล่านี้มีส่วนดูดซับเงินออกไปจากตลาด น่าจะมีส่วนทำให้ตลาดหุ้นขึ้นต่อได้ยากด้วย

ลุงแมวน้ำคาดว่าในไตรมาส 3 นี้ไทยน่าจะยังไม่เห็นการฟื้นตัวที่ชัดเจน ปริมาณหนี้เอ็นพีแอลที่เพิ่มขึ้น การบริโภคที่ชะลอตัว ส่งผลต่อหุ้นในกลุ่มธนาคารและกลุ่มอุปโภคบริโภค และอาจเป็นกลุ่มที่ฉุดตลาดได้

สี่กรณีข้างต้นประกอบกัน ดังนั้นลุงแมวน้ำมองว่าตลาดหุ้นไทยในไตรมาสสามน่าจะซึมลง แม้ว่าจะไม่มีกรณีกรีซก็น่าจะซึมลงอยู่แล้ว เดิมทีคาดว่าไตรมาสสามน่าจะเริ่มสดใสได้ แต่ตอนนี้คงต้องปรับมุมมอง ประกอบกับต้องรอการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดอีก ส่วนไตรมาสสี่นั้นสถานการณ์น่าจะดีขึ้นบ้าง เพราะการท่องเที่ยวเข้าสู่ไฮซีซัน จะช่วยเศรษฐกิจไทยได้บ้าง


กลยุทธ์การลงทุนไตรมาส 3


จากที่เล่ามาข้างบน ลงแมวน้ำจึงปรับกลยุทธ์การลงทุน และปรับพอร์ต ตอนนี้ขายหุ้นในตลาดฮ่องกงออกไป และลดพอร์ตหุ้นไทยลง ถือเงินสดกว่า 50% ของพอร์ต และรอจังหวะเหมาะเพื่อกลับเข้าลงทุนใหม่ ลุงแมวน้ำมองภาพไว้ 2 กรณีหรือ 2 ซีนาริโอ คือ

1. หากตลาดหุ้นลงแรง หรือค่อยๆซึมลง ก็ตาม ลุงแมวน้ำรอจังหวะเข้าซื้อที่ระดับต่ำกว่า 1450 จุด เล็งกลุ่มหุ้นและตัวหุ้นเอาไว้บ้างแล้ว เลือกตัวที่อนาคตดี แต่ราคายังถูกอยู่ เพื่อให้มีต้นทุนต่ำ หรือที่เรียกว่ามี margin of safty (MOS) สูงหน่อย คาดว่าจังหวะที่เข้าลงทุนน่าจะเป็นกลางหรือปลายไตรมาส 3

2. หากตลาดหุ้นไม่ลงแต่กลับไปต่อ ลุงแมวน้ำจะรอให้ผ่าน 1530 จุดและก่อแนวโน้มขาขึ้นชัดเจนก่อนค่อยเข้าลงทุน สำหรับแผน 2 นี้ลุงแมวน้ำมีโพยหุ้นอีกชุดหนึ่งที่แตกต่างไปจากแผนแรก เนื่องจากสถานการณ์แตกต่างกัน

3. การลงทุนในต่างประเทศ ยังสนใจตลาดหุ้นฮ่องกงเช่นเดิม และเพิ่มตลาดหุ้นอินเดียเป็นตัวเลือกเข้าไปด้วย ตอนนี้รอก่อนเพราะตลาดเป็นขาลง รอกลางหรือปลายไตรมาสสามค่อยเข้าลงทุน

4. ไม่ลงทุนในตราสารหนี้ระยะยาว ไม่ลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ ไม่เก็งกำไรค่าเงิน เพราะโอกาสขาดทุนสูง


อินเดียมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐิจสูง ตลาดหุ้นจึงน่าสนใจ แต่ตอนนี้เงินทุนไหลออกจากอินเดียเพราะรอเฟดขึ้นอัตราดอกเบี้ย 


แนวทางของลุงแมวน้ำก็ทำนองนี้แหละ จะเห็นว่าลุงแมวน้ำไม่ได้เตรียมการรับมือกับกรณีกรีซโดยตรง รวมทั้งไม่รวมกรณีโรคเมอร์สระบาดรุนรงด้วย แต่แม้จะเกิดเหตุไม่คาดหมายขึ้นมา ก็น่าจะพอรับมือกับความเสี่ยงเหล่านั้นได้ เนื่องจากตอนนี้ถือเงินสดไว้ในสัดส่วนสูงอยู่แล้ว

Monday, June 29, 2015

วิกฤตหนี้กรีซใกล้เส้นตาย เศรษฐกิจไทยอาจชะลอยาว (1)


ประชาชนกรีซกำลังเข้าคิวถอนเงินจากตู้เอทีเอ็มหลังจากที่กรีซและทรอยกาตกลงกันไม่ได้ และกรีซประกาศปิดทำการตลาดหุ้นและธนาคารในวันจันทร์ที่ 29 มิถุนายนนี้ ประชาชนถอนเงินได้จากตู้เอทีเอ็มเท่านั้น ซึ่งข่าวล่าสุดตอนนี้เงินหมดตู้แล้ว


นายกรัฐมนตรี อล็กซิส ซีปราส ของกรีซ



เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ผลการประชุมกรณีปัญหาหนี้ของกรีซ ระหว่างกลุ่มเจ้าหนี้คือทรอยกา และลูกหนี้คือกรีซ ปรากฏว่าขิงก็ราข่าก็แรง ไม่มีใครยอมใคร ปัญหาวิกฤตหนี้กรีซที่มีเส้นตายวันที่ 30 มิถุนายนดูเหมือนว่าจะไม่มีทางออก ทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ต่างก็จะเดินตามทางของตน คือพังเป็นพัง


ทบทวนวิกฤตหนี้กรีซ


เรามาทบทวนวิกฤตหนี้กรีซกันอย่างสั้นๆก่อน เพื่อให้ติดตามเรื่องได้สะดวก

กรีซประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ และได้รับเงินช่วยเหลือ (ก็คือเงินกู้ยืมนั่นเอง) จากกลุ่มสถาบันการเงินของยุโรปที่เรียกว่ากลุ่มทรอยกา ได้แก่้ ไอเอ็มเอฟ ธนาคารกลางยุโรป และสหภาพยุโรป เพื่อบรรเทาปัญหาเศรษฐกิจและปัญหาหนี้สินต่างๆกับเจ้าหนี้ที่เป็นเอกชน รวมแล้วเป็นเงินประมาณ 240,000 ล้านยูโร โดยกรีซต้องแลกกับการปฏิรูปเศรษฐกิจและรัดเข็มขัดตามแผนการฟื้นฟูของกลุ่มทรอยกา แต่กรีซก็ไม่สามารถทำตามแผนปฏิรูปเศรษฐกิจได้ โดยเฉพาะเรื่องมาตรการรัดเข็มขัดต่างๆที่ทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนกรีซลดลงจากเดิม โดยนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน อเล็กซิส ซีปราส ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนก็เพราะประกาศนโยบายไม่เอามาตรการรัดเข็มขัดจนประชาชนสนับสนุน

เมื่อซีปราสได้เป็นนายกรัฐมนตรีก็พยายามขอลดหย่อนมาตรการรัดเข็มขัดกับกลุ่มเจ้าหนี้ แต่กลุ่มเจ้าหนี้ไม่ยอม ซ้ำยังบังคับให้กรีซเพิ่มมาตรการรัดเข็มขัดเสียอีกด้วยเพราะการปฏิรูปเศรษฐกิจไม่้ก้าวหน้าเท่าที่ควร


ทำไม 30 มิถุนายนจึงมีความสำคัญ ถือเป็นเส้นตาย 


ประเด็นที่เป็นปัญหาอยู่สำหรับตอนนี้ก็คือ กรีซถึงกำหนดต้องชำระหนี้เงินกู้บางส่วนให้แก่ไอเอ็มเอฟ ในวันที่ 30 มิถุนายนนี้ มูลค่าประมาณ 1,600 ล้านยูโร ซึ่งคาดว่ากรีซไม่น่าจะมีเงินจ่าย ทางกลุ่มทรอยกาก็บอกว่า เอาอย่างนี้ก็แล้วกัน หากยินยอมเพิ่มมาตรการรัดเข็มขัดให้ตึงยิ่งขึ้นไปอีก เงินงวดที่ต้องชำระคืนในสิ้นเดือนนี้ก็ให้ยืดหนี้ไปได้อีก 5 เดือน พร้อมกันนั้นจะขยายวงเงินช่วยเหลือเพิ่มให้อีก 15,000 ล้านยูโร แถมยังพร้อมให้เงินกู้ฉุกเฉินที่เบิกจ่ายได้ในทันที 1,800 ล้านยูโร แต่ซีปราสไม่ต้องการ ซีปราสต้องการขอผ่อนปรนหนี้พร้อมทั้งผ่อนปรนมาตรการรัดเข็มขัดด้วย

การต่อรองดำเนินไปอย่างเข้มข้น สุดท้ายซีปราสงัดมุขประชามติออกมาใช้ โดยบอกแก่กลุ่มเจ้าหนี้ว่าถ้าเจรจากันไม่สำเร็จก็ขอให้ประชาชนชาวกรีซลงประชามติก็แล้วกันว่าจะตัดสินใจยอมรับภาระหนี้และมาตรการต่างๆที่จะมาบังคับกับประชาชนกรีซหรือไม่ โดยจะกำหนดวันลงประชามติ 5 ก.ค. นี้ ปลายเดือน ก.ค. ก็จะรู้ผล ดังนั้นขอผ่อนผันการชำระหนี้ออกไปก่อนอีก 1 เดือน

หลังจากเจรจากันอย่างหนัก กลุ่มเจ้าหนี้ไม่ยินยอมรับเงื่อนไขของซีปราส โดยบอกว่า หากไม่เพิ่มมาตรการรัดเข็มขัด เรื่องเงินก็ไม่ต้องคุยกัน และนั่นหมายความว่ากรีซคงต้องผิดนัดชำระหนี้ในวันที่ 30 มิ.ย. นี้ ซึ่งการผิดนัดชำระหนี้งวดนี้แม้จะเป็นเงินไม่มากเมื่อเทียบกับเงินกู้ทั้งหมด แต่ก็เท่ากับกรีซเบี้ยวหนี้แล้ว คือเสียเครดิตไปเลย นอกจากนี้ ภายในเดือน ก.ค. นี้กรีซยังมีหนี้เงินกู้และยังมีพันธบัตรกรีซที่ครบกำหนดซึ่งต้องจ่ายคืนอีกหลายพันล้านยูโร  ซึ่งก็คงต้องเบี้ยวหนี้ไปด้วย

ผลจากการเบี้ยวหนี้ก็คือกรีซคงต้องออกจากกลุ่มยูโรโซน เลิกใช้เงินยูโร ปัญหาจะตามมาอีกมากมายโดยเฉพาะการสะสางปัญหาหนี้สินจะยิ่งวุ่นวายมากขึ้นไปอีก  ประชาชนคงแห่กันไปถอนเงินจากธนาคาร ซึ่งหากกรีซไม่มีการจัดการอะไรเลย ธนาคารในกรีซคงล้ม ซึ่งข่าวล่าสุด กรีซประกาศให้ธนาคารและตลาดหุ้นปิดทำการในวันจันทร์นี้ ประชาชนจะถอนเงินได้จากตู้เอทีเอ็มเท่านั้น นี่คือมาตรการรับมือฉุกเฉินเพื่อป้องกันเงินทุนไหลออกเบื้องต้น หลังจากนี้คงมีมาตรการอื่นๆตามมาอีก แต่สถานการณ์ล่าสุดคือเงินหมดตู้เอทีเอ็ม ถอนเงินไม่ได้แล้ว




นี่คือที่มาที่ไปแบบสั้นๆของวิกฤตหนี้กรีซและสิ่งที่กำลังจะเกิดในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้


ถ้ากรีซเบี้ยวหนี้จริงจะมีผลกระทบต่อตลาดหุ้นแค่ไหน แล้วจะทำยังไงต่อดี


ที่จริงเรื่องหนี้กรีซนั้นลุงแมวน้ำก็ยังคิดว่าน่าจะคุยกันได้ แม้ในตอนที่พิมพ์บทความอยู่นี้ก็ยังคิดว่าน่าจะตกลงกันได้ เพราะการที่กรีซยังอยู่ในยูโรโซนจะทำให้ทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ได้ประโยชน์ทั้งคู่ ดีกว่าที่กรีซต้องออกจากกลุ่มไป แต่เอาเถอะ หากตกลงกันไม่ได้จริงๆ เมื่อกลุ่มเจ้าหนี้เล่นไม้แข็ง ไม่ยอมผ่อนผันลูกหนี้อีกแล้ว คิดว่ากลุ่มเจ้าหนี้คงมีมาตรการรองรับผลกระทบไว้บ้างแล้ว เรื่องกรีซเบี้ยวหนี้นั้นจำนวนเงินไม่สำคัญเท่ากับเรื่องที่ว่าอาจเป็นชนวนให้ยูโรโซนล่มสลาย ต้องจับตาผลกระทบที่ตามมาเป็นลูกโซ่

ผลกระทบระยะสั้นต่อตลาดหุ้นก็คงมี เพราะตลาดหุ้นอ่อนไหวต่อปัจจัยทางจิตวิทยา คือตกใจง่าย แต่จะมากหรือน้อยลุงแมวน้ำก็ยังดูไม่ออก คงต้องค่อยดูและประเมินสถานการณ์กันไป ปรับกลยุทธ์กันไป

เรื่องคาดการณ์นั้นย่อมมีผิดมีถูก แต่จะคาดการณ์ผิดหรือถูกก็ไม่สำคัญเท่ากับว่าเราเตรียมรับมือกับความเสี่ยงได้ดีเพียงใด ยกตัวอย่างเช่นเรื่องกรีซนี้ แม้เรามองว่าน่าจะตกลงกันได้ แต่ถ้าหากตกลงกันไม่ได้แล้วเราจะรับมือได้หรือไม่

ที่จริงตอนนี้เศรษฐกิจไทยและตลาดหุ้นไทยมีปัญหาที่ส่งผลกระทบมากกว่ากรณีกรีซอยู่หลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนที่แนวโน้มชะลอมากกว่าที่คาด การส่งออกของไทยที่ชะลอตัวมากกว่าที่คาด และล่าสุดคือเรื่องปัญหาภัยแล้วที่รุนแรงกว่าที่คาด เหล่านี้ล้วนแต่เกินความคาดหมายทั้งสิ้น และนอกจากนี้ ยังมีเรื่องการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดที่ยังไม่รู้วันเวลาแน่ชัดอีก วันใดที่เฟดขึ้นอัตราดอกเบี้ยก็คงส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นทั่วโลกรวมทั้งตลาดหุ้นไทย เราเตรียมการรับมือกับความเสี่ยงที่ไม่คาดหมายเหล่านี้หรือไม่ และอย่างไร

สำหรับลุงแมวน้ำ ช่วงหลังนี้ลุงแมวน้ำเห็นสัญญาณเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยดีแบบเกินความคาดหมายหลายอย่าง เช่น  การค้าขายฝืดเคืองต่อเนื่องและยังไม่ค่อยเห็นการฟื้นตัว ปริมาณเอ็นพีแอลในระบบธนาคารเพิ่มขึ้น ระดับน้ำในเขื่อนใหญ่ที่ต่ำจนถึงระดับวิกฤต ฯลฯ ทางด้านจีนเองก็ชะลอตัวกว่าที่คาด ประกอบกับเรื่องการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเฟดที่ยังอึมครึม เหล่านี้ล้วนแต่มีผลลบต่อเศรษฐกิจไทยและตลาดหุ้นไทยทั้งสิ้น ซึ่งลุงแมวน้ำได้ทยอยนำมาคุยให้ฟังและปรับมุมมองอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งแนะนำให้ถือเงินสดเอาไว้บ้าง ในบทความของลุงแมวน้ำก่อนหน้านี้

ลุงแมวน้ำเองก็ลดพอร์ตลงอย่างต่อเนื่อง ตอนนี้ถือเงินสดเกินกว่า 50% ของพอร์ต นี่คือการวางกลยุทธ์เพื่อรับมือกับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในช่วงนี้ หากตลาดหุ้นลงแรงลุงแมวน้ำก็จะทยอยกลับเข้าไปลงทุน ก็เตรียมทำการบ้านเอาไว้ล่วงหน้าว่ากรณีที่ตลาดหุ้นลงจะทำอย่างไร

ยังไม่จบนะคร้าบ ติดตามอ่านพรุ่งนี้

Sunday, June 28, 2015

เช้าวันหยุดกับลุงแมวน้ำ บะหมี่พ่อมึงตาย สร้างจุดขายแบบหลุดโลก












เช้าวันหยุดวันนี้เรามาคุยเรื่องเบาๆกัน เป็นเรื่องอาหารการกินที่มีแง่มุมทางการตลาดที่น่าสนใจ

ที่จังหวัดเชียงใหม่ ในอำเภอเมือง แถวๆซอยเจ็ดยอด-ช้างเคี่ยน มีร้านบะหมี่ในห้องแถวขนาดคูหาเดียวอยู่ร้านหนึ่งที่มีชื่อเสียงเลื่องลือ คนไปต่อคิวกันกันยาวเฟื้อย นั่นคือร้านเฮียฮ้ง หรือชื่อที่ปรากฏตามป้ายในร้านเขียนว่า เฮียฮ๋ง

เวลาเราไปอบรมหลักสูตรที่เกี่ยวกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เราก็มักถูกสอนว่าธุรกิจเอสเอ็มอีที่จะแจ้งเกิดหรือเป็นที่รู้จักและสร้างยอดขายได้นั้นต้องมีการ สร้างความแตกต่าง หรือที่ภาษาอังกฤษว่า differentiation เพราะหากทำเหมือนๆกันไปหมดก็คงไม่มีอะไรโดดเด่นให้ลูกค้าจดจำหรือมาอุดหนุน แต่การสร้างความแตกต่างนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย บางทีคิดจึงหัวผุก็คิดไม่ออก หรือบางทีคิดออกแต่พอเอาไปทำจริงแล้วก็ไม่ประสบผล

สำหรับร้านบะหมี่เฮียฮ้งนั้นถือว่าประสบความสำเร็จในการสร้างความแตกต่าง โดยใช้ความแปลกหลุดโลกเป็นจุดขาย ซึ่งไม่ใช่แปลกหลุดโลกเพียงเรื่องเดียว แต่ในร้านนี้มีเรื่องหลุดโลกรวมกันอยู่หลายอย่าง หลายคนคงรู้จักร้านนี้กันมาแล้ว เราลองมาดูกันว่ามีอะไรบ้าง

เมนูชื่อพิสดาร เมนูดังของร้านนี้เป็นชื่อแปลกๆ เช่น บะหมี่โคตรโง่ โคตรเฮี่ย พ่อมึงตาย ฯลฯ

อาหารขนาดไม่ปกติ จานใหญ่เว่อ บะหมี่โคตรโง่ใช้บะหมี่ 24 ก้อน กินได้ 5 คน ราคา 250 บาท

เมนูโคตรเฮี่ยใช้บะหมี่ 36 ก้อน ราคา 350 บาท

เมนูพ่อมึงตายใช้บะหมี่ 60 ก้อน ราคา 600 บาท กินกันได้สิบกว่าคน

และล่าสุดเพิ่งออกเมนู จะไปตามหาพ่อมึง ใช้บะหมี่ 84 ก้อน ราคา 1200 บาท

เจ้าของร้านมีบุคลิกโผงผาง พูดจาตรง ใช้สรรพนามกู-มึงกับลูกค้า บางทีก็ใช้ลูกค้าให้ช่วยงานในร้าน

เปิดร้าน 23 น - ตีสาม อันเป็นเวลานอนของคนทั่วไป

เท่าที่อ่านดู เจ้าของร้านพูดจาไม่ค่อยไพเราะ เมนูชามใหญ่มาก กินเข้าไปยังไงไหว แถมเปิดร้านในยามวิกาลซึ่งเป็นเวลาที่คนส่วนใหญ่นอนกัน รวมความแล้วร้านนี้ไม่น่าจะมีลูกค้า เพราะผิดหลักการตลาดหมดเลย แต่มีถูกอยู่เรื่องเดียว นั่นคือ การสร้างความแตกต่าง

แต่ปรากฏว่าร้านนี้ขายดิบขายดี คนมาเข้าคิวกิน บางคนรอชั่วโมงกว่า ดึกดื่นก็ยังมากินกัน แถมชามใหญ่คนเดียวกินไม่หมด ไม่เป็นไร นัดเพื่อนมาเป็นกลุ่ม สั่งแล้วมากินด้วยกันเหมือนสังสรรค์กัน กลายเป็นดีเสียอีก

เรื่องพูดจาไม่ไพเราะนั้น บางคนก็บอกว่าแปลกดี จริงใจดี เป็นกันเองดี หาฟังไม่ได้จากร้านอื่น อ้าว เกิดถูกใจตลาดอีก

รวมความแปลกหลุดโลกหลายๆอย่าง (แต่ที่สำคัญที่สุดซึ่งยังเป็นพื้นฐาน นั่นก็คืออาหารต้องอร่อย) ลูกค้าที่ไปกินก็นำไปเผยแพร่ในเครือข่ายสังคมออนไลน์ สื่อมวลชนก็มาทำข่าว สุดท้ายก็ดังและติดตลาดได้ ลูกค้าบางคนก็ตั้งฉายาว่าบะหมี่มาเฟีย บางคนก็ตั้งฉายาให้ว่าบะหมี่ปากหมาน (เอา น หนู ออก >.<)

เครือข่ายสังคมออนไลน์มีบทบาทในยุคนี้อย่างสูง เรื่องอะไรที่โดนใจและนำไปแชร์กันมากๆจะมีคนไปอุดหนุนกันมาก เพราะอยากรู้อยากลอง ทำให้แจ้งเกิดได้อย่างรวดเร็ว ตอนนี้ถือว่าแจ้งเกิดได้แล้ว ความยากในขั้นต่อไปก็คือจะรักษายอดขายเอาไว้ได้อย่างไรในระยะยาว ทำอย่างไรจึงจะให้ลูกค้าที่มาทดลองใช้บริการเพราะอยากสัมผัสความแปลกใหม่หลุดโลกกลายมาเป็นลูกค้าขาประจำ

ร้านนี้ลุงยังไม่เคยไปกินนะคร้าบ และนี่ก็ไม่ได้เอามาโฆษณา ลุงแมวน้ำไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียแต่อย่างใด เพียงแต่เห็นว่าเป็นกรณีศึกษาทางการตลาดที่น่าสนใจ เลยนำมาฝากกัน

อ้อ แถมท้ายอีกนิด สมัยก่อน ราวๆ 20 ปีมาแล้ว แถวเยาวราชดูเหมือนจะมีร้านก๋วยเตี๋ยวอยู่ร้านหนึ่ง คนก็เรียกกันว่าบะหมี่ปากหมาน เพราะเจ้าของร้านชอบด่าลูกค้า จะไปเร่งหรือเปลี่ยนเมนูไม่ได้ เป็นต้องโดนด่า แต่คนก็ไปกินกันแน่นร้าน มีอยู่วันหนึ่งเจ้าของร้านก็โดนดักตีหัว คงเพราะไปด่าเขานั่นแหละ แต่พอรักษาตัวเรียบร้อยแล้วก็กลับมาด่าตามเดิม ปัจจุบันคงเลิกไปแล้วเพราะนานมากแล้ว นี่ก็เล่าขำ ลุงก็ไม่เคยไปกินเช่นกันคร้าบ ^_^






Friday, June 26, 2015

ตลาดหุ้นจีนแพงแล้ว ส่งออกไทยหดตัวต่อเนื่อง






วันนี้เรามาคุยกันถึงเรื่องจีนกันอีกครั้ง ทั้งตลาดหุ้นและภาคเศรษฐกิจจริงที่กระทบต่อเศรษฐกิจไทยและต่อตลาดหุ้น คุยกันหลายเรื่องทีเดียว

มาเริ่มกันที่ตลาดหุ้นจีนก่อน ตอนนี้ตลาดหุ้นจีนผันผวนหนัก เหวี่ยงขึ้นเหวี่ยงลงเป็นรถไฟเหาะตีลังกา ขึ้นลงวันละหลายเปอร์เซ็นต์ทีเดียว

ลองมาดูกราฟตลาดหุ้นจีนกัน กราฟนี้มี 3 เส้น เพราะมี 3 ดัชนี มาดูกันทีละดัชนีแล้วจะรู้ว่าตลาดหุ้นจีนตอนนี้แพงจริง

เส้นแรก สีน้ำเงินเป็นดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิต (shanghai composite index) ที่พวกเราชอบดูกันนั่นแหละ เวลาพูดถึงดัชนีตลาดหุ้นจีนมักอ้างอิงดัชนีตัวนี้กัน ตอนนี้ดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตมีค่าพีอี (P/E ratio) ประมาณ 23.7 เท่า เห็นค่า 20 กว่าเท่านี่เราก็บอกว่าแพงกันแล้ว เพราะเมื่อปลายปีที่แล้วยังเทรดกันที่ 8-9 เท่ากันอยู่แลย

แต่ถ้ามาดูดัชนีเซืนเจินคอมโพสิต (Shenzhen composite index) ดัชนีนี้มักถูกพูดถึงน้อยกว่า แต่ดัชนีเซินเจินนี้มีค่าพีอีสูงถึง 69.2 เท่า ยิ่งแพงกว่าดัชนีเซี่ยงไฮ้มาก

มาทำความเข้าใจกันก่อน ดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตนี้ถ่วงน้ำหนักด้วยหุ้นในกลุ่มธนาคารค่อนข้างมาก ปกติแล้วหุ้นธนาคารเทรดกันที่พีอีต่ำหน่อย มักต่ำกว่าเซ็กเตอร์อื่นๆ  ส่วนดัชนีเซินเจินนั้นถ่วงน้ำหนักด้วยหุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตค่อนข้างมาก ซึ่งรวมหุ้นไอทีและหุ้นไฮเทคโนโลยีด้วย (หุ้นไอทีและหุ้นไฮเทคมักเก็งกำไรกันอย่างหนัก เทรดกันที่พีอีสูงมาก) นี่ขนาดเป็นหุ้นที่เทรดกันที่พีอีต่ำเช่นหุ้นในตลาดเซี่ยงไฮ้ยังปาเข้าไป 20 กว่าเท่า ดังนั้นเมื่อเรามองสองดัชนีนี้ประกอบกันทำให้มองเห็นภาพได้ชัดขึ้นว่าตอนนี้ตลาดหุ้นจีนเก็งกำไรกันอย่างสุดเหวี่ยง

ยังมีดัชนีอีกดัชนีหนึ่ง ลุงไม่ได้นำกราฟมาให้ดู เป็นดัชนี CSI 700 mid & smallcap คือเป็นดัชนีพวกกลุ่ม SME น่ะ ดัชนีนี้ก็มีค่าพีอี 52 เท่า ยิ่งช่วยเสริมให้เห็นว่าตลาดหุ้นจีนตอนนี้แพงมากแล้ว

ถามว่าตลาดหุ้นจีนไปต่อได้อีกไหม ลุงแมวน้ำคิดว่าในปีนี้คงยาก ตลาดหุ้นจีนในปีนี้ หมายถึงว่าต่อจากนี้จนสิ้นปี น่าจะเป็นตคลาดขาลง เพราะหากดูจากมูลค่าแล้วถือว่าแพงถึงแพงมาก ซื้ออนาคตกันไปมากแล้ว และยิ่งตอนนี้เศรษฐกิจจีนชะลอตัวด้วย และเมื่อดูรูปแบบทางเทนิค ก็น่าจะเป็นคลื่น 4 หรือคลื่น A ซึ่งเป็นคลื่นขาลง ดังนั้นควรระมัดระวังในการเข้าลงทุน

เส้นสุดท้าย ตลาดหุ้นฮ่องกง พีอี 11.3 เท่า ยังไม่สูง แต่ว่ารูปแบบทางเทคนิคคล้อยตามตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกา ผสมกับตลาดหุ้นจีนนิดๆ ดังนั้นลุงแมวน้ำก็คิดว่าตลาดหุ้นฮ่องกงในปีนี้ยังไม่ไปไหนเช่นกัน น่าจะลงเสียมากกว่า

มาพูดกันถึงภาคเศรษฐกิจจริงกันสักนิด แล้วเดี๋ยวจะโยงไปตลาดหุ้นไทย วันนี้กระทรวงพาณิชย์จะประกาศตัวเลขการส่งออกของไทยในเดือนพฤษภาคม ซึ่งคาดว่าติดลบต่อเนื่องอีก แปลว่าส่งออกของเรายังไม่กระเตื้องเลย มีแต่ถอยลง

คู่ค้าที่สำคัญของไทยในช่วงหลังหลายปีมานี้คือจีน แต่จีนนำเข้าสินค้าจากไทยน้อยลงและน้อยลง นี่คือสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ยอดส่งออกของไทยหดตัวลงด้วย และข่าวร้ายล่าสุดก็คือ จีนกับเกาหลีใต้ทำข้อตกลงลดภาษีสินค้าอุปโภคบริโภคระหว่างกัน เรื่องนี้มีความสำคัญทีเดียวเพราะปีที่แล้ว 2014 จีนนำเข้าสินค้าจากเกาหลีใต้ประมาณ 200,000 ล้านดอลลาร์ สรอ และนำเข้าสินค้าไทยราว 40,000 ล้านดอลลาร์ สรอ แค่นี้ก็เห็นว่าสินค้าเกาหลีใต้ได้รับความนิยมในจีนมาก และหากมีการลดภาษีระหว่างกันอีก สินค้าเกาหลีใต้จะยิ่งได้เปรียบเรื่องต้นทุน ดังนั้นเป็นไปได้ว่ายอดส่งออกของไทยจะหดตัวต่อเนื่องไปอีกเพราะสินค้าเกาหลีใต้เบียดสินค้าไทย สินค้าไทยที่มีโอกาสถูกสินค้าเกาหลีใต้ตีตลาดในจีนก็คือ สินค้าแฟชัน เครื่องสำอาง เครื่องใช้ภายในบ้าน และอาหาร




หากยอดส่งออกของไทยหดตัวต่อเนื่อง ย่อมส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยและกระทบตลาดหุ้นไทย ตลาดหุ้นไทยก็อาจฟื้นตัวช้าลงอีก แต่กระทบขนาดไหน และช้านานขนาดไหนยังประเมินยาก ต้องตามดูไปก่อนอีกสักระยะหนึ่ง

ชีวิตไม่มีอะไรแน่นอน ที่คาดไว้ก็ผิดคาด ที่หวังเอาไว้ก็ผิดหวัง เป็นเรื่องปกติ ก็ต้องปรับกลยุทธ์เอาตัวรอดกันไป ที่สำคัญคือต้องเอารอดให้ได้คร้าบ

Thursday, June 25, 2015

สงครามตัดราคาน้ำมันดิบยังไม่จบ ทองคำกับโลกยุคเงินเฟ้อต่ำ กรีซละครโรงใหญ่






วันนี้เราอัปเดตกันหลายเรื่อง ทั้งมุมมองแนวโน้มราคาน้ำมันดิบ ราคาทองคำ แถมท้ายด้วยเรื่องกรีซนิดหน่อย

มาดูราคาน้ำมันดิบกันก่อน หลังจากที่ติดตามราคาน้ำมันดิบในยุคสงครามตัดราคาระหว่างกลุ่มโอเปก กลุ่มนอกโอเปก กับเทคโนโลยีการผลิตน้ำมันจากชั้นหินดินดาน (shale oil) กลุ่มโอเปกลดราคาน้ำมันดิบก่อสงครามราคาเพื่อรักษาส่วนแบ่งการตลาดของตนเองเอาไว้

มาดูกราฟ CL กัน กราฟนี้เป็นราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ของอเมริกา แต่ก็ใช้ดูได้เนื่องจากราคาน้ำมันดิบทั่วโลกอิงกันหมด ราคาน้ำมันดิบ WTI นิ่งๆแถว 60 ดอลลาร์ สรอ/บาเรล บวกลบอยู่แถวนี้มานานหลายเดือนแล้ว นอกจากนี้ กลุ่มโอเปกเองยังผลิตน้ำมันดิบเกินโควต้าของตัวเองที่ตกลงกันในกลุ่มว่าวันละ 30 ล้านบาเรล ก็ผลิตรวมกันอยู่ที่ประมาณ 31.5 ล้านบาเรลต่อวันมาหลายเดือนแล้ว นอกจากนี้ อิรัก ลิเบีย ยังมีแนวโน้มผลิตเพิ่ม รวมทั้งอิหร่านก็คงผลิตเพิ่มหลังจากที่ไม่ถูกคว่ำบาตรแล้ว

ตามหลักของสงครามราคาแล้วการตัดราคาต้องดำเนินไปนานพอควรเพื่อให้คู่แข่งออกจากตลาดไป ตอนนี้แนวโน้มการผลิตน้ำมันดิบจากชั้นหินดินดานของอเมริกาลดลงเพราะขาดทุน มีการปิดหลุมเจาะ บริษัทพลังงานเจ๊งไป เนื่องจากต้นทุนการผลิตอยู่ที่ราว 70 ดอลลาร์ขึ้นไป  และเมื่อพิจารณาจากกราฟราคาแล้ว ลุงแมวน้ำคาดว่าโอเปกคงต้องการคุมราคาน้ำมันดิบไปอีกพักใหญ่เพื่อให้เชลออยล์เจ๊งสนิท ประกอบกับเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวช้าด้วย ดังนั้นราคาคงอยู่แถวๆนี้แหละ 55-65 ดอลสำหรับ WTI ลุงคิดว่าในปี 2559 หรือ 2016 ราคาก็ยังคงอยู่แถวๆนี้ ดังนั้นกองทุนน้ำมันอาจดูไม่ค่อยมีเสน่ห์เท่าไร รวมทั้งราคายางพาราก็คงไปไม่ไกลจากนี้แล้วล่ะ คงแกว่งตัวขึ้นลงในกรอบแถวๆนี้

ทีนี้มาดูราคาทองคำกันบ้าง หากราคาน้ำมันดิบอยู่แถวๆนี้ ดังนั้นอัตราเงินเฟ้อของโลกในภาพรวมก็คงไม่ได้มากมายกว่านี้ ตอนนี้ชาติที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ไม่ว่าอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น ต่างก็เหนื่อยกับการเร่งอัตราเงินเฟ้อให้ถึงเป้า 2% แต่ก็ยังไม่ถึง เพราะเศรษฐกิจไปช้าๆ ดังนั้นในโลกยุคเงินเฟ้อต่ำ จะหวังให้ทองราคาพุ่งคงยาก ประกอบกับดอลลาร์ สรอ มีแนวโน้มแข็งค่าจากการที่เฟดขึ้นอัตราดอกเบี้ย ดังนั้นลุงแมวน้ำจึงคิดว่าจากนี้จนถึงปีหน้า 2016 ราคาทองคำคงอยู่ในกรอบ 1100-1230 ดอลลาร์ สรอ/ทรอยออนซ์ กองทุนทองคำก็คงไม่ค่อยมีเสน่ห์เท่าไร

แถมเรื่องกรีซ กรีซนี่ละครโรงใหญ่ สุดท้ายก็ตกลงกันได้ เพราะหากตกลงกันไม่ได้แปลว่ากรีซคงต้องถูกเนรเทศออกจากกลุ่มยูโรโซนที่ใช้เงินยูโรร่วมกัน ยูโรโซนอาจแตก หากระบบเงินยูโรพัง เยอรมนีพี่ใหญ่เสียประโยชน์เยอะเลยเพราะตอนนี้เงินยูโรอ่อนเอื้อการส่งออกของเยอรมนีเต็มๆ ป้าอังเกลาไม่อยากให้ยูโรพังหรอก อีกประการ หากกรีซออกจากยูโรและไปใช้เงินสกุลของตนเอง ประเทศไหนก็ไม่ค้าด้วยเพราะสกุลเงินไม่น่าเชื่อถือ ประชาชนกรีซเองจะเดือดร้อนหนักกว่านี้มาก นายกคงตกกระป๋อง ดังนั้นตอนนี้เล่นบทบาทต่อรองกัน อีกหน่อยก็อุ้มกันต่อไปคร้าบ

Tuesday, June 23, 2015

โรค MERS กับหุ้น






ลุงแมวน้ำไม่ได้อัปเดตเว็บบล็อกมาสักพักหนึ่งแล้ว ที่จริงลุงก็ไม่ได้หายไปไหนหรอก ยังอัปเดตในเฟซบุ๊กเป็นประจำ แต่ไม่ได้อัปเดตในเว็บบล็อก คือบางทีการอัปเดตสถานการณ์เล็กน้อยๆ ลุงก็อัปเดตแค่ใน FB ไม่ได้เอามาใส่ไว้ในบล็อก

ช่วงนี้ตลาดก็ขึ้นๆลงๆอยู่แถวนี้ ไปไหนไม่ไกล ลุงแมวน้ำมองว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวได้ช้ากว่าที่คาด ทั้งเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย ดังนั้นตลาดหุ้นในช่วงต้นไตรมาส 3 อาจซึมลงก่อน  ที่เห็นขึ้นแรงในช่วงสองสามวันมานี้ส่วนหนึ่งมาจากเรื่องโรคเมอร์ส (MERS) และอีกส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการทำราคาปิดปลายไตรมาสให้ดูดีขึ้นมาหน่อย หรือที่เรียกว่า window dressing นั่นเอง

มาคุยกันเรื่องโรคเมอร์สกันหน่อย ตอนนี้กำลังดัง พวกเราส่วนใหญ่คงอ่านและฟังข่าวเกี่ยวกับโรคนี้กันจนอาจจะเบื่อแล้วก็ได้ แต่ที่ลุงแมวน้ำจะคุยในวันนี้เป็นมุมที่เกี่ยวกับหุ้น ลองมาดูกัน

เท้าความกันเล็กน้อย โรคเมอร์ส (MERS) หรือบางทีก็เรียก เมอร์ส-คอฟ (MERS-CoV) นั้น ที่จริงเป็นชื่อย่อ ชื่อเต็มก็คือ Middle East Respiratory Syndrome-Corona Virus หมายถึงโรคทางเดินหายใจที่เกิดจากเชื้อไวรัสโคโรนาที่มีต้นกำเนิดมาจากตะวันออกกลาง ชื่อยาวเฟื้อยนี้เรียกย่อๆก็คือ เมอร์ส หรือ เมอร์ส-คอฟ นั่นเอง

โรคนี้เป็นโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจที่มีต้นตอการระบาดมาจากประเทศแถบตะวันออกกลางในราวปี 2555 โดยสาเหตุของโรคนั้นมาจากเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง เรียกว่าไวรัสโคโรนา (CoronaVirus บางคนก็เรียกว่าโคโรนาไวรัส บางคนก็เรียกไวรัสโคโรนา ก็เข้าใจได้ทั้งคู่) ซึ่งโคโรนาไวรัสนี้เองที่เป็นสาเหตุของโรคระบาดซาร์ส (SARS-CoV) ที่อาละวาดในเอเชียในปลายปี 2002 (2545) ต่อเนื่องถึงปี 2003

ยังจำได้ว่าในช่วงนั้นประเทศไทยเกิดวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ตลาดหุ้นไทยไหลตั้งแต่ดัชนี 1700 จุด เกิดเรื่องโน่น นี่ นั่น มีเรื่องราวไม่ดีไม่หยุดหย่อน จนมาเหลือ 200 กว่าจุดในปี 2002 พอดัชนีเริ่มโงหัวฟื้นตัวมาได้ราว 300 กว่าจุดก็เจอเรื่องโรคซาร์สระบาดในกวางตุ้งของจีน จากนั้นลามไปฮ่องกง พอไปฮ่องกงแล้วก็ไปโลด ข้ามไปมาเก๊า ไต้หวัน สิงคโปร์ กระจายไปทั่ว ฯลฯ

ตอนที่ซาร์สระบาดนั้นมีผลกระทบกับการท่องเที่ยวมาก เพราะโรคนี้เป็นโรคทางเดินหายใจที่แพร่ได้ง่ายทางการไอจาม การดำเนินของโรคมีความรุนแรงมาก ผู้ป่วยจะมีอาการนำคล้ายเป็นหวัด แต่ต่อมาปอดจะอักเสบอย่างรวดเร็วจนระบบการหายใจล้มเหลว ผู้ป่วยมีโอกาสเสียชีวิตค่อนข้างสูง ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่มักเกิดจากปอดอักเสบรุนแรงจนปอดพัง ไม่มียารักษาโรคไวรัสโดยตรงด้วย ทำได้แค่รักษาตามอาการ

ตอนนั้นการท่องเที่ยวของฮ่องกงนี่สลบไปในทันที ไม่ใช่แค่ฮ่องกง แต่การท่องเที่ยวในย่านเอเชียนี้สลบไปหมด รวมทั้งไทย ตลาดหุ้นไทยกำลัง 300 จุดปลายๆก็ตกลงมา 30-40 สุด ซึ่งก็ถือว่าเยอะสำหรับตอนนั้น

มาในครั้งนี้ก็เช่นกัน โรคเมอร์สที่เกิดจากเชื้อโคโรนาไวรัสเช่นเดียวกับซาร์ส (แต่คนละสายพันธุ์กัน) ตั้งต้นมาจากตะวันออกกลาง แล้วจู่ๆก็มาโผล่ที่เกาหลีใต้ และมาโผล่ที่ไทย ตลาดหุ้นไทยจึงร่วงระนาวเมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้วหลังจากที่มีข่าวพบผู้ป่วยโรคเมอร์สในประเทศไทย ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะประสบการณ์เก่าๆจากเมื่อครั้งเกิดการระบาดของโรคซาร์สเมื่อสิบกว่าปีก่อนยังหลอนอยู่ ก็เลยกลัวกัน

ที่จริงเราเอาสถานการณ์โรคเมอร์สไปเทียบกับสถานการณ์ตอนเกิดโรคซาร์สคงเทียบกันได้ยาก เพราะเวลาผ่านไปนานแล้ว ปัจจุบันเรามีการสาธารณสุขที่ดีขึ้นกว่ายุคนั้นมาก โดยเพราะการรับมือเกี่ยวกับโรคทางเดินหายใจทำนองนี้ เพราะได้ประสบการณ์มาจากการรับมือกับไข้หวัดนก

ไข้หวัดนกเกิดจากไวรัสคนละชนิดกับเมอร์ส (ไข้หวัดนกเกิดจาก Influenza virus) แต่การระบาด อาการป่วย คล้ายคลึงกัน คือทำให้ปอดอักเสบเฉียบพลันและมักเสียชีวิตเนื่องจากปอดพังเช่นกัน อัตราการเสียชีวิตค่อนข้างสูง ไทยมีประสบการณ์ในการรับมือกับไข้หวัดนกมาอย่างโชกโชน ดังนั้นลุงแมวน้ำคิดว่าเราสามารถควบคุมโรคได้ เท่าที่ติดตามข่าวก็ยังไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง และถ้าควบคุมโรคได้ การท่องเที่ยวก็ยังไม่มีอะไรน่าห่วง

แม้ไทยจะเพิ่งพบผู้ป่วยรายแรก แต่ตลาดหุ้นก็ตอบสนองในทางลบทันที หุ้นที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยงลงกันเป็นส่วนใหญ่ ไม่ว่าหุ้นการท่า AOT หุ้นสายการบิน (AAV) หุ้นโรงแรม (MINT, CENTEL) ฯลฯ  ผลกระทบหากจะมีก็คงเป็นแค่ปัจจัยทางจิตวิทยาในช่วงสั้นเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตาม ลุงแมวน้ำตั้งข้อสังเกตว่า AAV กับ MINT นั้นรูปแบบทางเทคนิคเป็นขาลงอยู่แล้ว ดังนั้นหากยังลงต่อก็อาจมาจากสาเหตุอื่นมากกว่า





มีเกร็ดเล็กน้อยอีกหน่อย โรคเมอร์สนี้เกิดจากเชื้อไวรัส ยังไม่มียารักษา แต่ขณะเดียวกัน หุ้น APCO ก็ออกข่าวว่าจะรีบวางตลาดผลิตภัณฑใหม่ เป็นผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่ช่วยเสริมภูมิคุ้มกัน ทำให้มีโอกาสหายจากโรคนี้เพิ่มขึ้น นักลงทุนก็สงสัยกันว่าจะเป็นไปได้จริงหรือ



นี่ว่ากันในเชิงทฤษฎี เรื่อฆ่าไวรัสนั้นไม่ได้หรอก แต่ว่าการที่ไวรัสทำให้เกิดอาการปอดอักเสบเฉียบพลันรุนแรงนั้นเกิดจากการที่ไวรัสกระตุ้นให้ร่างกายสร้างสารที่เรียกว่าไซโตไคน์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย สารนี้แหละเมื่อร่างกายสร้างขึ้นมากมาย (เรียกว่า cytokine storm) ที่ปอดก็ทำให้ปอดอักเสบรุนแรงจนถึงขั้นปอดพังได้

ทีนี้สารบางชนิด อย่างเช่น เคอร์คิวมินอยด์ในขมิ้นชัน ฯลฯ สามารถยับยั้งการสร้างไซโตไคน์ได้ ดังนั้น ผลิตภัณฑ์ที่ช่วยเกี่ยวกับผู้ป่วยซาร์ส เมอร์ส หรือไข้หวัดนก ไข้หวัดใหญ่ ที่มีอาการปอดอักเสบเฉียบพลันรุนแรง ก็มาด้วยทฤษฎีนี้แหละ คือยับยั้งไซโตไคน์เพื่อลดความรุนแรงของอาการปอดอักเสบ แต่ลุงก็ยังไม่เคยอ่านพบรายงานการวิจัยที่มีการพิสูจน์ทางคลินิกว่าได้ผลอย่างไร นี่เป็นเพียงแค่แนวคิดเชิงทฤษฎี

วันนี้เล่าเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย แต่ก็เกี่ยวกับหุ้นหลายตัว อยากให้ลงทุนด้วยความเข้าใจคร้าบ