คำแนะนำในการอ่านผลวิเคราะห์

ข้อมูลหุ้นและอนุพันธ์ในแต่ละวันทำการจะถูกนำมาวิเคราะห์และคำนวณเพื่อกำหนดสัญญาณทางเทคนิค หุ้น อนุพันธ์ และดัชนีที่นำมาคำนวณมีดังต่อไปนี้

กลุ่มดัชนี
1. Set Index
2. Set50

กลุ่มอนุพันธ์ มีทั้งของไทยและต่างประเทศ
3. Set50 Futures (ใช้สัญลักษณ์ S50) ตลาด TFEX ราคาปิดมีหน่วยเป็น จุด
4. ฟิวเจอร์สยางพารา Rubber (ใช้สัญลักษณ์ TH@RSS) ตลาด AFET ราคาปิดมีหน่วยเป็น บาท
5. ฟิวเจอร์สยางพารา Rubber (ใช้สัญลักษณ์ JP@IR) ตลาด TCOM ประเทศญี่ปุ่น ราคาปิดมีหน่วยเป็น เยน
6. ฟิวเจอร์ทองคำ Gold (ใช้สัญลักษณ์ GC) ตลาด COMEX ประเทศสหรัฐอเมริกา ราคาปิดมีหน่วยเป็น ดอลลาร์ สรอ
7. ฟิวเจอร์สน้ำมันดิบ Crude Oil (ใช้สัญลักษณ์ CL) ตลาด NYMEX ประเทศสหรัฐอเมริกา ราคาปิดมีหน่วยเป็น ดอลลาร์ สรอ

กลุ่มหลักทรัพย์
8. หลักทรัพย์ทั้ง 50 หลักทรัพย์ที่ประกอบกันเป็น SET50

ในแต่ละวัน ข้อมูลราคาปิดของหุ้น อนุพันธ์ และดัชนีดังกล่าวจะถูกนำมาคำนวณ และรายงานออกมาดังนี้



ในรายงานจะแบ่งออกเป็นสองส่วน ส่วนบนเป็นสรุปพอร์ตจำลอง ส่วนล่างเป็นผลการวิเคราะห์ประจำวัน

มาดูที่ส่วนล่างกันก่อน ผลวิเคราะห์นั้นจะประกอบด้วยราคาปิด และสถานะการซื้อ/ขาย ที่เกิดขึ้นในวันทำการที่ระบุในรายงาน

ในกรณีของหุ้น
- ถ้า BUY=1 และ TODAY'S ACTION=1 แปลว่าเกิดสัญญาณซื้อเพิ่งเกิดขึ้นในวันทำการนั้น
- ถ้า BUY=1 และ TODAY'S ACTION=0 แปลว่าเกิดสัญญาณซื้อเกิดขึ้นหลายวันแล้ว ตอนนี้กำลังถืออยู่
- ถ้า SELL=1 และ TODAY'S ACTION=1 แปลว่าเกิดสัญญาณขายเพิ่งเกิดขึ้นในวันทำการนั้น
- ถ้า SELL=1 และ TODAY'S ACTION=0 แปลว่าเกิดสัญญาณขายเกิดขึ้นหลายวันแล้ว ตอนนี้ขายไปแล้วและยังไม่ได้ทำอะไร

ในกรณีของ Futures
- BUY นอกจากจะหมายความว่า Long แล้ว ในกรณีที่ Short เอาไว้ คำว่า BUY อาจหมายถึงการปิดสัญญาขาย(cover Short position)ได้ด้วย
- SELL นอกจากจะหมายความว่า Short แล้ว ในกรณีที่ Long เอาไว้ คำว่า SELL อาจหมายถึงการปิดสัญญาซื้อ (cover Long position)ได้ด้วย

ส่วนต้นของรายงานจะเป็นพอร์ตจำลองของ Futures 4 ตัว โดยสมมติว่าเทรดครั้งละ 1 สัญญาเท่านั้น ผลกำไรขาดทุนสะสมระรายงานอยู่ในช่อง Cumulative P/L จนถึงวันปัจจุบัน อนึ่ง ในการคำนวณนี้จะคิดค่าคอมมิชชันเอาไว้ด้วย จะได้ทราบกำไรขาดทุนสุทธิ เพราะบางครั้งดูแต่ส่วนต่างของราคาแล้วคิดว่ามีกำไร แต่ที่จริงอาจขาดทุนเพราะเสียค่าคอมมิชชันไปมากก็ได้

นอกจากนี้ การเทรดของพอร์ตจำลองนี้จะ Long และ Short และพิจารณาแนวโน้มประกอบด้วย กล่าวคือ เมื่อแนวโน้มระยะกลางเป็นขาขึ้น (uptrend) จะใช้การ Long และ cover Long เท่านั้น ไม่ทำการ Short

เมื่อแนวโน้มระยะกลางเป็นขาลง (downtrend) จะใช้การ Short และ cover Short ไม่ทำการ Long

การพิจารณาว่าเมื่อใดเป็น uptrend หรือ downtrend ใช้การวิเคราะห์ด้านเทคนิคอื่นๆประกอบ

หากอ่านคำแนะนำนี้แล้วยังเข้าใจไม่กระจ่าง ขอให้ติดตามอ่านบทวิเคราะห์รายวันไปสักระยะหนึ่งก็จะเข้าใจได้


หมายเหตุ

ผลการวิเคราะห์จะรายงานหลังวันทำการนั้นๆอย่างน้อย 1 วัน เช่น ผลการวิเคราะห์ตลาดของวันทำการที่ 16 เมษายน ก็จะต้องไปรายงานในวันที่ 17 เมษายน แต่วันที่ในรายงานจะระบุตามวันทำการที่ 16 เมษายน


การปรับปรุง 16 กันยายน 2552

มีการเพิ่มเติมฟิวเจอร์สต่างประเทศที่สำคัญบางตัวเข้าไปในรายงานราคาปิดและในพอร์ตจำลอง ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความหลากหลาย รวมทั้งทำให้นักลงทุนติดตามการใช้ระบบเทรดของลุงแมวน้ำกับผลิตภัณฑ์ชนิดต่างๆที่แตกต่างกันออกไป เพราะระบบที่ดีควรใช้งานได้ในทุกตลาด

ผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้นมามีดังนี้

1. ฟิวเจอร์สถั่วเหลือง Soybean (ใช้สัญลักษณ์ S) ตลาด CBOT ประเทศสหรัฐอเมริกา ราคาปิดมีหน่วยเป็น เซนต์ (cent หน่วยย่อยของดอลลาร์ สรอ)
2. ฟิวเจอร์สน้ำตาล Sugar #11 (ใช้สัญลักษณ์ SB) ตลาด NYBOT ประเทศสหรัฐอเมริกา ราคาปิดมีหน่วยเป็น เซนต์ (cent หน่วยย่อยของดอลลาร์ สรอ)
3. ฟิวเจอร์สดัชนีดอลลาร์ สรอ US Dollar Index (ใช้สัญลักษณ์ DX) ตลาด NYBOT ประเทศสหรัฐอเมริกา ราคาปิดมีหน่วยเป็น จุด
4. ฟิวเจอร์สดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ Dow Jones Industrial Index (ใช้สัญลักษณ์ DJ) ตลาด CBOT ประเทศสหรัฐอเมริกา ราคาปิดมีหน่วยเป็น จุด
5. ฟิวเจอร์สทองคำของตลาด TFEX หรือฟิวเจอร์สทองคำของไทยนั่นเอง (ใช้สัญลักษณ์ GF) ราคาปิดมีหน่วยเป็น บาท

ทั้งนี้รายงานผลกำไร/ขาดทุนของผลิตภัณฑ์ใหม่ทั้งสี่ที่เพิ่มเข้ามาในพอร์ตจำลองจะคำนวณตั้งแต่ต้นปี 2552 (2009) เมื่อเกิดสัญญาณซื้อครั้งแรกของปีขึ้น ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถเปรียบเทียบผลกำไร/ขาดทุนกับผลิตภัณฑ์อื่นๆที่มีอยู่แล้วได้

รูปแบบของรายงานแบบใหม่เป็นดังนี้



ขณะนี้ในพอร์ตจำลองมีผลิตภัณฑ์ futures รวมทั้งสิ้น 9 ผลิตภัณฑ์

นอกจากการเพิ่มผลิตภัณฑ์ในพอร์ตจำลองแล้ว ลุงแมวน้ำยังได้ปรับปรุงรายงาน โดยเพิ่มสัญญาณซื้อขายของดัชนีต่างประเทศอีก 5 ประเทศเพื่อประโยชน์แก่นักลงทุนในการติดตามทิศทางของตลาดต่างประเทศ โดยดัชนีที่เพิ่มเข้ามา คือ

1. ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ (Dow Jones Industrial Index) ของประเทศสหรัฐอเมริกา ใช้ตัวย่อ DJIA หรือ DJI
2. ดัชนีแดกซ์ (DAX Index) ของเยอรมนี ใช้ตัวย่อ DAX
3. ดัชนีฟุตซี (FTSE Index) ของอังกฤษ ใช้ตัวย่อ FTSE100
4. ดัชนีหั่งเส็ง (Hang Seng Index) ของฮ่องกง ใช้ตัวย่อ HSKI
5. ดัชนีนิกเกอิ 225 (Nikkei 225) หรือที่เรียกกันสั้นๆว่านิกเกอิ ของประเทศญี่ปุ่น ใช้ตัวย่อ NIX
6. ดัชนีเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Stock Exchange Composite Index) ของสาธารณรัฐประชาชนจีน ใช้ตัวย่อ SSECI
7. ดัชนีสเตรทส์ไทมส์ (Strait Times Index) ของสิงคโปร์ ใช้ตัวย่อ STI

และนอกจากนี้ เพื่อให้เพื่อนักลงทุนได้ประโยชน์จากรายงานมากยิ่งขึ้น ลุงแมวน้ำยังได้เพิ่มรายการ Trend Status เข้าไปในรายงานอีกด้วย ด้วย Trend Status นี้จะบอกว่าหุ้นหรือดัชนีในขณะนี้อยู่ในสภาวะไร้ทิศทางหรือว่า sideway หรือไม่ ถ้าอยู่ในสภาวะ sideway จะขึ้นเครื่องหมาย S เอาไว้ ถ้าไม่มีเครื่องหมายแสดงว่าหุ้นหรือดัชนีนั้นกำลังอยู่ในภาวะ uptrend หรือ downtrend อย่างใดอย่างหนึ่ง โดยสภาวะไร้ทิศทางนั้นใช้ค่าจาก directional movement indicator เป็นตัวบ่งชี้

ในส่วนของพอร์จจำลอง ได้เพิ่มรายการแสดงกำไร/ขาดทุนเมื่อเทียบกับมาร์จินเริ่มต้น (initial margin, IM) โดยแสดงเป็นค่าร้อยละ เพื่อให้เห็นผลกำไร/ขาดทุนจากพอร์ตจำลองได้ดียิ่งขึ้น

การปรับปรุง 5 มีนาคม 2553

มีการปรับปรุงรายงานอีกครั้งโดยรูปแบบของรายงานยังคงเดิมแต่ว่าเพิ่มเติมฟิวเจอร์สของสินค้าเกษตรในต่างประเทศ เพิ่มเติมฟิวเจอร์สหุ้น (single stock futures) ของไทยบางตัว เพิ่มเติมกองทุน ETF 2 กองทุน และเพิ่มเติมดัชนีของตลาดหลักทรัพย์อีกหลายประเทศ

ขอสรุปรายการต่างๆที่ปรากฏในรายงานที่จะนำเสนอตั้งแต่วันที่ 5 มีนาคม 2553 เป็นต้นไป เป็นดังภาพต่อไปนี้



ทบทวนรายละเอียดของผลิตภัณฑ์ต่างๆในรายงาน ดังต่อไปนี้

ดัชนี SET และฟิวเจอร์ส


ประกอบด้วย
SET ดัชนีเซ็ต ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ของประเทศไทย
SET50 ดัชนี SET50 ของไทย
S50 ฟิวเจอร์สที่อิงอัชนี SET50 ตลาด TFEX ของไทย

ฟิวเจอร์สของหุ้น


สำหรับ single stock futures ที่เลือกเข้ามาในรายงานนั้นคัดเลือกเฉพาะฟิวเจอร์สที่มีปริมาณในการเทรดและมี OI มากพอสมควรเท่านั้น ได้แก่ฟิวเจอร์สของ ITD, KTB, LH, PTTEP, QH, TTA ฟิวเจอร์สทียังมีสภาพคล่องต่ำอยู่ไม่ได้นำมาแสดงเอาไว้

กองทุน ETF


ETF หรือ Exchange Traded Fund หมายถึงกองทุนเปิดของดัชนี (คือมีสินค้าอ้างอิงเป็นดัชนี) ที่จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ สามารถซื้อขายได้เสมือนหุ้นตัวหนึ่ง ETF ที่ปรากฏในรายงานมี 2 กองทุน คือ

ENGY คือ MTRACK ENERGY ETF FUND เป็นกองทุนที่อิงดัชนีกลุ่มพลังงานในตลาด SET
TDEX คือ THAIDEX SET50 EXCHANGE TRADED FUND เป็นกองทุนที่อิงดัชนี SET50
TFTSE คือ THAIDEX FTSE SET LARGE CAP ETF เป็นกองทุนที่อิงดัชนี FTSE SET Index Large Cap ซึ่งประกอบด้วยหุ้น 32 ตัว

ฟิวเจอรส์ของสินค้าเกษตร โลหะ ดัชนี และเงินตรา


ฟิวเจอร์สที่นำเสนอในรายงานมีอยู่หลากหลาย ทั้งจากผลิตภัณฑ์ต่างๆและจากตลาดต่างๆ สรุปได้ดังนี้
RSS ยางพาราตลาด AFET ของประเทศไทย ราคาปิดมีหน่วยเป็นบาท
IR ยางพาราตลาด TOCOM ของประเทศญี่ปุ่น ราคาปิดมีหน่วยเป็นเยน
WBR5 ข้าวตลาด AFET ของประเทศไทย ราคาปิดมีหน่วยเป็นบาท

GC ทองคำตลาด COMEX ของประเทศสหรัฐอเมริกา ราคาปิดมีหน่่วยเป็นดอลลาร์ สรอ
GF ทองคำตลาด TFEX ของประเทศไทย ราคาปิดมีหน่วยเป็นบาท
CL น้ำมันดิบตลาด NYMEX ของประเทศสหรัฐอเมริกา ราคาปิดมีหน่่วยเป็นดอลลาร์ สรอ

C ข้าวโพด ตลาด CBOT ของประเทศสหรัฐอเมริกา ราคาปิดมีหน่่วยเป็นเซ็นต์ สรอ
CC โกโก้ ตลาด NYBOT ของประเทศสหรัฐอเมริกา ราคาปิดมีหน่่วยเป็นดอลลาร์ สรอ
CT ฝ้าย ตลาด NYBOT ของประเทศสหรัฐอเมริกา ราคาปิดมีหน่่วยเป็นเซ็นต์ สรอ
KC กาแฟ ตลาด NYBOT ของประเทศสหรัฐอเมริกา ราคาปิดมีหน่่วยเป็นเซ็นต์ สรอ
S ถั่วเหลือง ตลาด CBOT ของประเทศสหรัฐอเมริกา ราคาปิดมีหน่่วยเป็นเซ็นต์ สรอ
SB น้ำตาลทราย ตลาด NYBOT ของประเทศสหรัฐอเมริกา ราคาปิดมีหน่่วยเป็นเซ็นต์ สรอ
W ข้าวสาลี ตลาด CBOT ของประเทศสหรัฐอเมริกา ราคาปิดมีหน่่วยเป็นเซ็นต์ สรอ

DJ ดัชนีดาวโจนส์ตลาด CBOT ของประเทศสหรัฐอเมริกา ราคาปิดมีหน่่วยเป็นจุด
DX ดัชนีดอลลาร์ สรอ ตลาด NYBOT ของประเทศสหรัฐอเมริกา ราคาปิดมีหน่่วยเป็นจุด

ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ของต่างประเทศ


ประกอบด้วยดัชนีของตลาดหลักทรัพย์เกือบทุกภูมิภาคในโลก
AORD (All Ordinaries) ดัชนีอลลออร์ดิแนรีของออสเตรเลีย
IBOVESPA (BOVESPA Index) ดัชนีโบเวสปาหรืออีโบเวสปา (อ่านได้ทั้งสองอย่าง) ของประเทศบราซิล
DJIA (Dow Jones Industrial Index) ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ของประเทศสหรัฐอเมริกา ใช้ตัวย่อ DJIA หรือ DJI
DAXI ดัชนีแดกซ์ (DAX Index) ของเยอรมนี
FTSE100 ดัชนีฟุตซี (FTSE Index) ของอังกฤษ
HSKI ดัชนีหั่งเส็ง (Hang Seng Index) ของฮ่องกง
NIX ดัชนีนิกเกอิ 225 (Nikkei 225) หรือที่เรียกกันสั้นๆว่านิกเกอิ ของประเทศญี่ปุ่น
SSECI ดัชนีเซี่ยงไฮ้หรือดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิต (Shanghai Stock Exchange Composite Index) ของสาธารณรัฐประชาชนจีน
STI ดัชนีสเตรทส์ไทมส์ (Strait Times Index) ของสิงคโปร์
BSESN ดัชนีเซนเซกซ์ (BSE SENSEX) ของอินเดีย
KS11 ดัชนีคอสปี (KOSPI) ของเกาหลีใต้
TWII ดัชนีไทเอกซ์ (TAIEX) ของไต้หวัน

กองทุนอีทีเอฟ (ETF - Exchange traded Fund)

วันนี้ลุงแมวน้ำมีการปรับปรุงรายงานที่นำเสนอโดยมีการเพิ่มเติมกองทุนอีทีเอฟเข้ามา 5 กองทุน ดังนี้



  1. IWRD.L (ISHARES MSCI WORLD) เป็นกองทุนอีทีเอฟที่จดทะเบียนซื้อขายในตลาดลอนดอน ประเทศอังกฤษ กองทุนนี้อิงกับดัชนี MSCI World Index ดังนั้นจึงสามารถใช้กราฟของกองทุนนี้ดูแทนดัชนี MSCI World Index ได้ กองทุนของไทยที่อิงกับดัชนี MSCI World Index เช่น กองทุนเปิดทหารไทย World Equity Index เป็นต้น
  2. EEM (iShares MSCI Emerging Markets Index) เป็นกองทุนอีทีเอฟที่จดทะเบียนซื้อขายในตลาดนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา กองทุนนี้อิงกับดัชนี MSCI Emerging Markets Index ดังนั้นจึงสามารถใช้กราฟของกองทุนนี้ดูแทนดัชนี MSCI Emerging Markets Index ได้ กองทุนของไทยที่อิงกับดัชนี MSCI Emerging Markets Index เช่นกองทุนเปิดทหารไทย Emerging Markets Equity Index เป็นต้น
  3. DBA (PowerShares DB Agriculture) เป็นกองทุนอีทีเอฟที่จดทะเบียนซื้อขายในตลาดนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา กองทุนนี้อิงกับดัชนีราคาสินค้าเกษตรของดอยทช์แบงค์ (DBIQ Diversified Agriculture Index Excess Return (DBLCIX)) ส่วนกองทุนรวมสินค้าเกษตรของไทย ได้แก่ K-Agri อิงกับดัชนีอีกตัวหนึ่ง นั่นคือ Deutsche Bank Agriculture USD Index (DBAI) แต่อย่างไรก็ดี หากต้องการภาพแบบคร่าวๆดัชนีสองตัวนี้ถือว่าพอใช้แทนกันได้
  4. DBO (PowerShares DB Oil) เป็นกองทุนอีทีเอฟที่จดทะเบียนซื้อขายในตลาดนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา กองทุนนี้อิงกับดัชนีราคาน้ำมันดิบ WTI ของดอยทช์แบงค์ (Deutsche Bank Liquid Commodity Index - Optimum Yield Crude Oil Excess Return) ดังนั้นจึงสามารถใช้กราฟของกองทุนนี้ดูแทนดัชนี Deutsche Bank Liquid Commodity Index - Optimum Yield Crude Oil Excess Return ได้ กองทุนของไทยที่อิงกับดัชนีนี้ เช่น กองทุน K-Oil ของกสิกรไทย กองทุน TMB-Oil ของทหารไทย เป็นต้น
  5. GLD (SPDR Gold Shares) เป็นกองทุนอีทีเอฟที่จดทะเบียนซื้อขายในตลาดนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา กองทุนนี้อิงกับราคาทองคำแท่งของตลาดลอนดอน (London Gold AM Fixing) ดังนั้นจึงสามารถใช้กราฟของกองทุนนี้ดูแทนราคาทองคำตลาดโลกได้ กองทุนของไทยที่อิงกับ London Gold AM Fixing เช่น กองทุน TMB-Gold ของทหารไทย เป็นต้น