Monday, January 17, 2011

14/01/2011 * มองเศรษฐกิจและการลงทุนปี 2011 (2)

วันนี้ดัชนี SET ปิดที่ 1032.26 จุด ลดลง 2.82 จุด

สำหรับหุ้นในกลุ่ม SET50 วันนี้มีสัญญาณซื้อ CPN ขณะนี้ถือหุ้นอยู่รวมทั้งหมด 24 ตัว

กลุ่มฟิวเจอร์ส วันนี้ไม่มีสัญญาณซื้อขาย

ด้านเงินตรา วันนี้เงินยูโร (EURO) เกิดสัญญาณซื้อ

ด้านตลาดต่างประเทศ ไม่มีสัญญาณซื้อขาย ตลาดจีน (CSI 300) กับอินเดีย (Sensex) ลงแรงต่อ ส่วนเวียตนาม (VN Index) และฟิลิปปินส์ (PSEI) วันนี้ขึ้นแรงหลังจากที่ลงแรงมาหลายวัน

ลุงแมวน้ำนำของเล่นใหม่มานำเสนอ นั่นคือกราฟแสดงความเปลี่ยนแปลงของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ประเทศต่างเท่าที่จะรวบรวมได้ ว่าเมื่อวานกับวันนี้มีการปรับตัวขึ้นลงไปร้อยละเท่าไร ลองดูกราฟด้านล่างก็จะเข้าใจได้ ลองนำเสนอดูสักระยะหนึ่ง


มองเศรษฐกิจและการลงทุนปี 2011 (2)


เมื่อวานเราคุยกันไปแล้วว่าจีดีพี (GDP) นั้นสะท้อนภาพเศรษฐกิจได้เพียงส่วนเดียว ยังมีแง่มุมอีกหลายมุมทางเศรษฐกิจและสังคมที่จีดีพีไม่สามารถบอกเราได้ อย่างเช่นการกระจายรายได้หรือความเหลื่อมล้ำ คุณภาพชีวิตของคนในชาติ ฯลฯ อุปมาดั่งเราประเมินสุขภาพด้วยการชั่งน้ำหนักจากตาชั่งนั่นเอง น้ำหนักมากเราก็บอกว่าสุขภาพดีเอาไว้ก่อน ทั้งๆที่จริงแล้วผู้ที่น้ำหนักมากอาจแฝงโรคภัยเอาไว้ เช่น โรคอ้วน โรคไต โรคเบาหวาน ฯลฯ เอาไว้ก็ได้ เป็นต้น

เราลองมาพิจารณาถึงความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจกันดู ข้อมูลจากตารางต่อไปนี้เป็นข้อมูลจากงานวิจัยเกี่ยวกับเศรษฐกิจของไทย




ในด้านการกระจายรายได้ สมมติว่าประเทศไทยมีประชากรเพียง 100 คน มีระดับฐานะตั้งแต่จนถึงรวย ลำดับที่น้อยๆหมายถึงคนจน ส่วนลำดับที่มากๆหมายถึงคนรวย จากตารางด้านบน หากประเทศไทยมีรายได้ 100 บาท รายได้นั้นจะตกอยู่กับคนลำดับที่ 81-100 (หรืออีกนัยหนึ่งคนรวยที่สุด 20 คนแรกนั่นเอง) ถึง 55 บาท คิดแล้วคนรวยสุด 20 คนนี้มีรายได้ต่อหัวคนละ 2.75 บาท

ในขณะเดียวกัน รายได้จะตกอยู่กับคนลำดับที่ 1-20 (หรืออีกนัยหนึ่งคนจนที่สุด 20 คนแรกนั่นเอง) เพียง 4.30 บาทหรือคิดเป็นรายได้ต่อหัวของคนจนที่สุดหัวละ 0.22 บาท หรือ 22 สตางค์

สถิติของบัญชีเงินฝากระบุว่า ในบัญชีเงินฝาก 1,000 บัญชี มีอยู่เพียง 12 บัญชีที่มีเงินฝากเกิน 1 ล้านบาท และทั้ง 12 บัญชีนี้มีเงินรวมกันคิดเป็น 71% ของยอดเงินฝากทั้งหมด แปลว่าอีก 988 บัญชีมียอดเงินฝากรวมกันเพียง 29% ของยอดเงินฝากทั้งหมด

ทั้งหมดนี้คือความเป็นจริงของระบบทุนนิยมที่เราดำรงชีวิตอยู่ในทุกวันนี้ เป็นระบบทุนนิยมที่ผู้ที่แข็งแรงจะครองความได้เปรียบทางเศรษฐกิจสูงมาก

ตลาดหลักทรัพย์นั้นเป็นเรื่องของกลุ่มคนมีความได้เปรียบเชิงเศรษฐกิจ เพราะบริษัทที่จะจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไม่ว่าของประเทศใดก็ตามต้องเป็นบริษัทขนาดใหญ่ ดังนั้นดัชนีตลาดหลักทรัพย์จึงเป็นเรื่องที่คล้ายๆกับจีดีพี นั่นคือ เป็นตัวชี้วัดความมั่งคั่งหรือเสื่อมถอยของกลุ่มทุนในประเทศนั้นๆมากกว่าที่จะชี้วัดความมั่งคั่งของประชาชนในประเทศโดยรวม ดังนั้นการมองเศรษฐกิจผ่านดัชนีตลาดหลักทรัพย์ของประเทศต่างๆนั้นก็คงเป็นเพียงการมองระบบเศรษฐกิจของประเทศนั้นแต่เพียงบางด้านหรือบางส่วนเท่านั้น หากตลาดหลักทรัพย์ฟู่ฟ่าดีก็อาจไม่ได้หมายความว่าคนยากจนจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่ในทางตรงกันข้าม หากตลาดหลักทรัพย์ย่ำแย่ก็อาจหมายถึงว่าอาจแย่กันทั้งหมด เนื่องจากหากบริษัทใหญ่ๆเมื่อประสบปัญหาทางเศรษฐกิจก็ต้องปลดคนงาน ผลกระทบก็จะเป็นลูกโซ่ไป

เหตุที่ลุงแมวน้ำหยิบเรื่องความเหลื่อมล้ำและการกระจายรายได้ขึ้นมาเกริ่นทั้งๆที่ไม่เกี่ยวกับมุมมองทางเศรษฐกิจนักก็เพราะอยากฝากข้อคิดแก่เพื่อนๆนักลงทุนเอาไว้ว่าการลงทุนในตลาดทุนที่เราทำกันอยู่นี้เป็นเรื่องของผู้ที่ได้เปรียบทางเศรษฐกิจ พวกเราเองก็ถือว่าเป็นกลุ่มที่มีเปรียบทางเศรษฐกิจเหนือกว่าคนอื่นๆอีกเป็นจำนวนมาก ระบบทุนนิยมทำให้คนเราลืมการแบ่งปัน ทุนนิยมที่ทำให้เราต้องถือคติมือใครยาวสาวได้สาวเอา แต่ที่จริงแล้วทุนนิยมจะมีน้ำใจหรือจะแล้งน้ำใจ จะแบ่งปันหรือจะไม่แบ่งปัน มันอยู่ที่ตัวเราด้วยส่วนหนึ่ง แม้ตัวระบบอาจเื้อื้อให้เรามีแนวโน้มไปในทางไม่ค่อยยอมแบ่งปันก็จริง แต่ท้ายที่สุดแล้วก็อยู่ที่เราจะเลือกวิถีทางเดินของตนเอง ลุงแมวน้ำอยากให้ทุกท่านเทรดด้วยจิตใจที่ชื่นบานตลอดปี 2554 และตลอดไป นั่นคือมีทั้งการให้และการรับ รู้จักพอและการแบ่งปัน หรืออีกนัยหนึ่งคือเป็นทุนนิยมที่มีหัวใจนั่นเอง

(โปรดอ่านตอนต่อไปในวันถัดไป)




No comments: