Monday, August 22, 2011

19/08/2011 * การลงทุนในคลื่นเศรษฐกิจ C (2)


วันนี้ดัชนี SET ปิดที่ 1,069.20 จุด ลดลง 19.89 จุด ต่างชาติขายสุทธิ 6,388 ล้านบาท

หุ้นในกลุ่ม SET50 วันนี้มีสัญญาณขาย GLOW, SCCC และมีสัญญาณซื้อ LH ขณะนี้โปรแกรมถือหุ้นอยู่รวมทั้งสิ้น 23 ตัว

กลุ่มฟิวเจอร์ส วันนี้มีสัญญาณซื้อโลหะถั่วเหลือง (S) เนื่องจากลุงแมวน้ำปรับมุมมองสินค้าเกษตรเป็นแนวโน้มขาลงแล้ว สัญญาณซื้อครั้งนี้จึงไม่ได้เปิดสัญญาซ์้อ เพียงผิดสัญญาณขายไปเท่านั้น

ตลาดต่างประเทศ วันนี้ตลาดย่านเอเชีย ยุโรป และอเมริกาปิดแดงเกือบทั้งหมด ดัชนีร่วงลงมามากบ้างน้อยบ้าง ตั้งแต่ประมาณ -1% ถึง -6% ที่ลงแรงเป็นตลาดในทวีปเอเชีย ได้แก่ เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย และไต้หวัน ฯลฯ

ระยะหลังนี้ตลาดหุ้นผันผวน ลุงแมวน้ำจึงปรับปรุงรายงานใหม่ เพิ่มตัวชี้วัดเข้าไปอีกตัวหนึ่ง นั่นคือ Volatility index (vi) หรือดัชนีที่ใช้ชีวัดความผันผวนของราคา ค่า vi นี้ดูได้จากรายงาน ในคอมลัมน์ที่อยู่ติดกับคอลัมน์ CODE ค่า vi นี้ลุงแมวน้ำดัดแปลงจากค่า average true range (ATR) ซึ่งใช้วัดความผันผวนของราคา วิธีดูก็คือ หากค่า vi นี้ต่ำกว่าหรือเท่ากับ 1.5% ก็ถือว่าราคาไม่ผันผวน หากค่า vi มากกว่า 1.5 จนถึง 1.9 ถือว่าเริ่มผันผวนบ้างแล้ว ควรระวัง

หาก vi มากกว่าหรือเท่ากับ 2.0 แสดงว่าตลาดผันผวนค่อนข้างมาก ยิ่งค่ามากขึ้นเท่าไร ความผันผวนก็ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น และตลาดยิ่งผันผวนโอกาสที่จะเกิดสัญญาณหลอกหรือเข้าผิดทางก็ยิ่งมีสูง ดังนั้นสรุปว่าหากค่า vi มากกว่า 2 ก็ควรระวังไว้ให้มาก

ขณะนี้ตลาดหุ้นในยุโรป สหรัฐอเมริกา รวมทั้งตลาดสำคัญในเอเชีย เช่น หั่งเส็ง สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ล้วนแต่กลับทิศเป็นแนวโน้มขาลงไปแล้ว ส่วนดัชนีตลาดของประเทศไทยยังปรับตัวลงไม่มากนัก สัญญาณกลับทิศยังไม่ชัด แต่ลุงแมวน้ำประเมินว่าสุดท้ายก็หนีแนวโน้มรวมไม่พ้น

ในสัปดาห์นี้ ตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกาและยุโรปน่าจะปรับตัวลงต่อ ดังนั้นเป็นไปได้ว่าในสัปดาห์นี้ตลาดหุ้นไทยอาจปรับตัวลงแรงและกลับทิศเป็นแนวโนมขาลงในที่สุด



การลงทุนในคลื่นเศรษฐกิจ C (2)


ลุงแมวน้ำมองภาพเศรษฐกิจว่าอยู่ในคลื่นใหญ่ C อันเป็นมุมมองด้านเทคนิค ทีนี้ลองมาดูในมุมมองด้านปัจจัยพื้นฐานหรือการพิจารณาจากสภาพเศรษฐกิจจริงดูบ้างว่าพอจะมีเหตุผลใดมาสนับสนุนแนวคิดดังกล่าวหรือไม่ โดยปกติแล้วลุงแมวน้ำนำปัจจัยพื้นฐานมาพิจารณาประกอบบ้างเพื่อดูความสอดคล้องกัน หากสอดคล้องกันมากก็เป็นน้ำหนักที่สนับสนุนการประเมินจากปัจจัยทางเทคนิค


มุมมองด้านปัจจัยพื้นฐาน

ในรอบหลายเดือนที่ผ่านมา ตั้งแต่ราวเดือนพฤษภาคมเป็นต้นมา สื่อมวลชนให้ความสนใจกับปัญหาเศรษฐกิจในยุโรปมากขึ้น สังเกตได้จากข่าวสารเกี่ยวกับเศรษฐกิจในยุโรปถูกนำเสนออย่างต่อเนื่องเป็นประจำ โดยเน้นที่ปัญหาหนี้สาธารณะในกลุ่มประเทศ PIIGS (โปรตุเกส ไอร์แลนด์ อิตาลี กรีซ และสเปน) ต่อมาก็มาจับประเด็นที่ประเทศกรีซว่าจะสามารถขอรับเงินกู้งวดใหม่จากธนาคารกลางของยุโรปกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เพื่อบรรเทาปัญหาการเงินเฉพาะหน้าได้หรือไม่ ตลาดหุ้นทั่วโลกก็เริ่มผันผวนตั้งแต่นั้นมา และเริ่มจับตากันเป็นรายวันว่าปัญหาการเงินเฉพาะหน้าของกรีซจะแก้ไขลุล่วงไปได้หรือไม่

เมื่อปัญหาของกรีซผ่านไป สื่อมวลชนก็มาจับตาปัญหาหนี้สาธารณะของอิตาลีและสเปนเป็นรายถัดไป นำเสนอข่าวรายวันอย่างต่อเนื่อง ตลาดหุ้นในยุโรปผันผวนมากยิ่งขึ้น

ต่อมาสื่อมวลชนก็มาจับตาการผ่านกฎหมายเพื่อขยายเพดานหนี้ของสหรัฐอเมริกาเพื่อไม่ให้ผิดนัดชำระหนี้พันธบัตรรัฐบาล อันเป็นปัญหาเฉพาะหน้าของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ช่วงนี้ตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกาผันผวนมากขึ้น เพราะแม้จะใกล้เส้นตายของการชำระหนี้แล้วฝ่ายการเมืองก็ยังตกลงกันไม่ได้เสียที จนท้ายที่สุดสหรัฐอเมริกาก็สามารถขยายเพดานหนี้ได้ชนิดที่เรียกว่าในนาทีสุดท้าย แต่ปัญหาก็ยังไม่หมดไป เพราะหลังจากนั้นบริษัทจัดอันดับเครดิตเอสแอนด์พีได้ลดอันดับเครดิตของพันธบัตรรัฐบาลอเมริกันลงหนึ่งขั้น จาก AAA เป็น AA+ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ตลาดหุ้นของสหรัฐอเมริกาจึงผันผวนต่อไปแทนที่จะสงบลง

ที่ลุงแมวน้ำเล่ามานี้ก็เพื่อจะชี้ให้เห็นว่าความผันผวนของตลาดหุ้นในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาเป็นผลทางจิตวิทยาต่อข่าวรายวันเสียมากกว่า ยิ่งข่าวรายวันมีความหวือหวามากตลาดหุ้นก็ยิ่งผันผวนสูง เมื่อตลาดหุ้นผันผวนสูง ข่าวรายวันก็ยิ่งมีสีสัน กระทบกันเป็นงูกินหางเช่นนี้ไปเรื่อยๆ แต่ในการพิจารณาของลุงแมวน้ำนั้นไม่ได้ใช้มุมมองจากข่าวรายวันแต่เป็นการมองเศรษฐกิจในภาพใหญ่มากกว่า

ปัจจัยร่วมของปัญหาเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกาและยุโรปส่วนหนึ่งมีชนวนมาจากบริษัทลีห์แมนบราเทอร์ส (Lehman Brothers) อันเป็นสถาบันการเงินใหญ่เป็นอันดับสี่ของสหรัฐอเมริกา ทำธุรกิจประเภทธนาคารเพื่อการลงทุน (investment bank) ซึ่งออกผลิตภัณฑ์การเงินที่ซับซ้อนและมีความเสี่ยงสูงอย่างที่ไม่มีใครประเมินได้ถูก โดยรัฐบาลของประเทศต่างๆได้ลงทุนเอาไว้เป็นจำนวนไม่น้อย เมื่อสหรัฐอเมริกาเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ผลิตภัณฑ์การเงินนี้ก็ด้อยค่า ส่งผลกระทบต่อระบบธนาคารทั้งในสหรัฐอเมริกาและยุโรปถึงขั้นบางแห่งอาจล้มละลายและอาจลามเป็นโดมิโนได้ ทำให้รัฐบาลของแต่ละประเทศทั้งสหรัฐอเมริกาและยุโรปต้องใช้เงินเข้าไปอุ้มสถาบันการเงินในประเทศของตน ก่อให้เกิดเป็นวิกฤตเศรษฐกิจและปัญหาหนี้สาธารณะที่เพิ่มพูนขึ้น

ลุงแมวน้ำมองว่าปัญหาเศรษฐกิจในยุโรปมีความซับซ้อนและเป็นปัญหาเฉพาะหน้ามากกว่า เนื่องจากประเทศต่างๆในสหภาพยุโรปที่ใช้เงินยูโรร่วมกันมีอยู่ถึง 17 ประเทศ แต่ละประเทศมีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจแตกต่างกันแต่กลับใช้เงินตราร่วมกัน ทำให้ปัญหามีความซับซ้อนและยากที่จะแก้ไข แต่ละประเทศหากไม่ใช่มีหนี้สาธารณะสูงก็มีอัตราการว่างงานสูง ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ดีทั้งสองประการ ประเทศกรีซมีหนี้สาธารณะสูงถึง 140% ของจีดีพี มีอัตราว่างงานราว 20% ในขณะที่อิตาลีมีหนี้สาธารณะสูงถึง 120% ของจีดีพี มีอัตราการว่างงานประมาณ 8% ส่วนสเปนนั้นมีหนี้สาธารณะประมาณ 60% ของจีดีพี มีอัตราการว่างงาน 21% โปรตุเกสมีหนี้สาธารณะ 92% ของจีดีพีและมีอัตราการว่างงาน 12.4%

จากตัวเลขคร่าวๆดังกล่าวคงพอจะเห็นได้ว่าเศรษฐกิจของยุโรปหลายๆประเทศนั้นมีอาการหนักอยู่ไม่น้อย การแก้ปัญหาหนี้สาธารณะทำได้โดยใช้มาตรการรัดเข็มขัด รัฐบาลต้องตัดลดค่าใช้จ่ายเพื่อไม่ให้งบประมาณขาดดุล แต่ผลข้างเคียงก็คือการลดค่าใช้จ่ายภาครัฐทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวและมีอัตราการว่างงานสูงขึ้น เปรียบเสมือนการกินยาแก้ปวดแล้วยามีผลข้างเคียงคือกัดกระเพาะ แม้หายปวดแต่อาจเกิดแผลในกระเพาะอาหารแทนได้

นอกจากนี้ ผลจากการตัดลดงบประมาณลงทำให้ประชาชนโดยเฉพาะผู้ที่มีด้อยฐานะทางเศรษฐกิจได้รับผลกระทบสูง ทำให้ประชาชนต่อต้านรัฐบาล ก่อให้เกิดความรุนแรงขึ้นในสังคมอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ดังจะเห็นได้จากการประท้วงในอังกฤษ (อังกฤษไม่ได้อยู่ในกลุ่มยูโรโซนแต่ก็มีปัญหาทางเศรษฐกิจเช่นกัน) กรีซ อิตาลี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการว่างงานในกลุ่มเยาวชนนั้นน่าเป็นห่วงเรื่องปัญหาสังคม นอกจากนี้ การที่ประเทศบางประเทศต้องเข้าไปอุ้มประเทศอื่นจนบั่นทอนเศรษฐกิจของตนเอง ลุงแมวน้ำมองว่าต่อไปความขัดแย้งในสังคมประเด็นที่ว่า ‘ทำไมเราต้องไปช่วยเขาด้วย’ จะลุกลามหนัก ตอนนี้ก็พอเริ่มเห็นบ้างแล้วในกรณีความรุนแรงในประเทศนอร์เวย์ซึ่งก็มีที่มาจากความคิดเช่นนี้เหมือนกัน ความคิดเช่นนี้ทำให้รัฐบาลแต่ละประเทศต้องระวังตัวและการเกื้อกูลกันในกลุ่มยูโรโซนจะยากยิ่งขึ้น การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจก็จะยากยิ่งขึ้น

และนอกจากนี้จากตัวเลขการประเมินล่าสุดพบว่าจีดีพีของยุโรปแทบไม่ขยายตัวเลย โดยเฉพาะจีดีพีของเยอรมนีซึ่งถือว่าเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจในกลุ่มยูโรโซนแทบไม่ขยายตัว ตอนนี้ประเด็นข่าวส่วนใหญ่มุ่งไปในเรื่องปัญหาหนี้สาธารณะ แต่แท้ที่จริงแล้วหากเศรษฐกิจไม่ขยายตัวหรือหดตัว วิกฤตที่จะตามมาก็คือวิกฤตหนี้ภาคเอกชน กล่าวคือ ในที่สุดภาคธุรกิจก็อาจมีบางส่วนที่ผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ (corporate bond default) โดยหุ้นกู้ภาคเอกชนของยุโรปที่จะครบกำหนดไถ่ถอนภายในปี 2012 และ 2013 นี้มีรวมกันถึง 1,800 ,000 ล้านดอลลาร์ สรอ ($1,800 billion) ทีเดียว นี่ยังไม่นับรวมหุ้นกู้ที่ครบกำหนดไถ่ถอนภายในปี 2011 นี้เข้าไป และยังไม่รวมหนี้ภาครัฐ (หมายถึงพันธบัตรรัฐบาล) ในกลุ่มยุโรปที่อาจมีการผิดนัดชำระหนี้ได้อีกด้วย



ปริมาณหนี้หุ้นกู้เอกชนของประเทศในกลุ่ม PIIGS ที่จะครบกำหนดไถ่ถอนในปีต่างๆ




ปริมาณหนี้พันธบัตรรัฐบาลของประเทศในกลุ่ม PIIGS ที่จะครบกำหนดไถ่ถอนในปีต่างๆ



มาดูทางด้านสหรัฐอเมริกากันบ้าง สหรัฐอเมริกาขณะนี้มีสัดส่วนหนี้สาธารณะประมาณ 100% ของจีดีพี อัตราการว่างงานประมาณ 9.1% การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่ผ่านมาไม่เกิดผลนัก ผลจากมาตรการ QE1 กับ QE2 เห็นผลน้อย ที่ผ่านมารัฐบาลอเมริกันมีการตัดลงค่าใช้จ่ายในงบประมาณลงมาบ้าง และต่อไปก็จะต้องตัดลงอีก ขณะนี้โรงเรียนชนบทในบางรัฐจัดการเรียนเพียงสัปดาห์ละ 4 วันเพราะโรงเรียนต้องตัดค่าใช้จ่ายลง รวมทั้งยังไม่เห็นแนวทางการแก้ปัญหาเศรษฐกิจในขั้นต่อไปที่น่าจะได้ผล

หากเป็นเช่นนี้ต่อไปในที่สุดก็จะกระทบธุรกิจภาคเอกชนมากขึ้น จนในที่สุดอาจมีหุ้นกู้ภาคเอกชนที่ผิดนัดชำระหนี้ได้ โดยสหรัฐอเมริกาเพียงประเทศเดียวมีหุ้นกู้ภาคเอกชนที่จะครบกำหนดไถ่ถอนภายในปี 2012 กับ 2013 อยู่มากถึง 1,280,000 ล้านดอลลาร์ สรอ ($1.28 billion) นี่ยังไม่รวมหุ้นกู้ที่ครบกำหนดภายในปี 2011 นี้

ส่วนประเด็นที่พันธบัตรรัฐบาลอเมริกันถูกลดอันดับเครดิตนั้นลุงแมวน้ำมองว่าเป็นเรื่องรอง อาจไม่ใช่เรื่องสำคัญนักหากมีเรื่องอื่นเร่งด่วนกว่า ที่มองเช่นนี้เพราะหลังจากที่ถูกลดอันดับ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรยังลดลงเรื่อยๆ จนในที่สุดอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอเมริกาอายุ 10 ปีทำลายสถิติต่ำที่สุดในรอบ 50 ปี (อัตราผลตอบยิ่งแทนต่ำหมายความว่าความต้องการพันธบัตรยิ่งสูง) แสดงว่าพันธบัตรรัฐบาลอเมริกันยังเป็นที่ต้องการอยู่และน่าจะปลอดภัยกว่าเมื่อเทียบกับพันธบัตรรัฐบาลของอีกหลายๆประเทศ และยิ่งไปกว่านั้น ในยามที่นักลงทุนต้องการหลีกเลี่ยงสินทรัพย์เสี่ยงเช่น หุ้น สินค้าโภคภัณฑ์ ฯลฯ เช่นในยามนี้ ถึงอย่างไรก็ต้องเข้ามาลงทุนในตราสารหนี้ เพราะไม่ว่าจะเป็นระดับ AAA หรือ AA+ ต่างก็ถือว่ามีความเสี่ยงต่ำกว่าหุ้นและสินค้าโภคภัณฑ์


ผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีของรัฐบาลอเมริกัน ต่ำที่สุดในรอบ 50 ปี


ผลของการผิดนัดชำระหนี้ ไม่ว่าจะเป็นพันธบัตรรัฐบาลหรือหุ้นกู้ของเอกชนจะกระทบต่อระบบธนาคาร อาจทำให้ธนาคารบางแห่งถึงกับล้ม และอาจล้มตามกันเป็นโดมิโนในขั้นต่อไปได้

มาดูทางด้านทวีปเอเชียและประเทศไทยกันบ้าง เศรษฐกิจประเทศไทยนั้นพึงพาการส่งออกถึงประมาณ 70% ของรายได้ โดยคู่ค้าที่สำคัญของไทยคือประเทศต่างๆในเอเชียด้วยกัน ไทยส่งออกในทวีปเอเชียประมาณ 63% ของยอดการส่งออกทั้งหมด ในขณะที่ส่งออกไปสหรัฐอเมริกาประมาณ 12% และยุโรป 14% (ตัวเลขคร่าวๆ)



แม้ว่าการส่งออกของไทยไปยุโรปและสหรัฐอเมริกาจะมีรวมกันไม่มากเท่ากับส่งออกในเอเชียด้วยกัน แต่หากดูในรายละเอียดจะพบว่าประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ในเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย อินโดนีเซีย ล้วนแต่มีคู่ค้าส่งออกหลักคือสหรัฐอเมริกาและยุโรปทั้งสิ้น ดังนั้นหากเศรษฐกิจทางฝั่งตะวันตกถดถอยก็ย่อมส่งผลกระทบต่อเอเชียและไทยอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ และนอกจากนี้ หากเกิดวิกฤตหนี้ในยุโรปและสหรัฐอเมริกา ไม่ว่าจะเป็นหนี้ภาครัฐหรือเอกชน ก็ย่อมส่งผลต่อระบบธนาคารและระบบการเงินในเอเชียด้วย ส่วนจะกระทบมากหรือน้อยเพียงใดยังยากที่จะประเมินได้

จากเหตุผลด้านปัจจัยทางเศรษฐกิจที่ลุงแมวน้ำกล่าวมามีส่วนสนับสนุนให้แนวคิดเชิงปัจจัยเทคนิคที่ว่ายุโรปและสหรัฐอเมริกากำลังอยู่ในคลื่นเศรษฐกิจ C มีน้ำหนักมากขึ้น และน่าจะมีผลฉุดเศรษฐกิจในเอเชียและไทยด้วย

หากเศรษฐกิจยุโรปและสหรัฐอเมริกาเป็นคลื่น C เศรษฐกิจไทยและเอเชียจะเป็นคลื่นอะไร และนักลงทุนควรทำอย่างไร ติดตามได้ในตอนต่อไป





1 comment:

เด็กน้อยออกเดินทาง said...

ผมคิดว่าไทยอยู่ในคลื่น 2 ครับ จบคลื่น 1 ไปแล้วที่ 1148 จุด