Friday, August 5, 2011

04/08/2011 * อะไรจะเกิดหากเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาเข้าสู่คลื่น C

วันนี้ดัชนี SET ปิดที่ 1,1124.01 จุด ลดลง 9.45 จุด ต่างชาติยังซื้อสุทธิแม้ดัชนีจะปรับตัวลดลง

หุ้นในกลุ่ม SET50 วันนี้มีสัญญาณขาย EGCO, PTT, PTTEP ขณะนี้โปรแกรมถือหุ้นอยู่รวมทั้งสิ้น 42 ตัว

กลุ่มฟิวเจอร์ส วันนี้มีสัญญาณขายถั่วเหลือง (S) ดัชนีดอลลาร์ สรอ (usd index, DX) เกิดสัญญาณซื้อ เงินยูโร (EC) เกิดสัญญาณขาย ลุงแมวน้ำทบทวนรูปแบบทางเทคนิคประกอบกับสภาพตลาดและได้ปรับมุมมองใหม่ ลุงแมวน้ำมองว่าขณะนี้กลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์น่าจะเป็นขาลง และเงินดอลลาร์น่าจะเป็นขาขึ้น ดังนั้นจึงปิดสัญญาซื้อถั่วเหลืองและเปิดสัญญาขายตามไป (open short position) ส่วน DX ก็ปิดสัญญาขายและเปิดสัญญาซื้อไป (open long position)

กองทุนอีทีเอฟ DBA ที่ลงทุนในสินค้าเกษตรเกิดสัญญาณขาย

ตลาดต่างประเทศ วันนี้ตลาดหุ้นย่านเอเชียปรับตัวลดลงราว -1% (โดยประมาณ) บางตลาดก็เป็นบวกเล็กน้อย เช่น จีน แต่ตกกลางคืน (เวลาบ้านเรา) ตลาดหุ้นฝั่งยุโรปก็ร่วงแรง มีตั้งแต่ -3% ถึง -7% หลังจากนั้นเมื่อตลาดฝั่งอเมริกา (รวมแคนาดาและอเมริกาใต้) เปิดก็ร่วงแรงเช่นกัน มีตั้งแต่ -3% ถึง -6% ลักษณะนี้ถือว่าตลาดแตกตื่นแล้วทั้งๆที่ประเด็นที่กังวลก็คือเรื่องเดิมๆ

วันนี้ดัชนีดาวโจนส์ (Dow Jones Industrial Average, DJI) ร่วงลงราว 510 จุดหรือ -4.3% ดัชนี S&P500 ร่วงลงไปถึง -4.8% ดัชนีตลาดหุ้นที่ร่วงแรงมีมากจนนับไม่ไหว แต่กลุ่มที่ลงแรงที่สุดเป็นกลุ่มอเมริกาใต้ ที่ลงน้อยที่สุดคือเอเชีย (ที่จริงไม่ใช่เพราะเอเชียแข็งแกร่ง แต่เป็นเพราะตลาดเอเชียเปิดและปิดไปก่อน) ดัชนีตลาดหุ้นที่เกิดสัญญาณขายในวันนี้คือดัชนีหั่งเส็ง (HSI) ของฮ่องกง

ทางด้านค่าเงินแบบสปอต (spot price) เงินยูโร เงินดอลลาร์ออสเตรเลีย ดอลลาร์แคนาดา โครนาของสวีเดน และรูเบิลของรัสเซีย อ่อนค่าจนเกิดสัญญาณขาย



อะไรจะเกิดหากเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาเข้าสู่คลื่น C

คงจำได้ว่าเมื่อไม่กี่่วันที่ผ่านมานี้เองลุงมวน้ำได้แสดงความเห็นเอาไว้ว่าตลาดหุ้นของสหรัฐอเมริกาและยุโรปขณะนี้อาจกำลังอยู่ที่ต้นคลื่น C แล้ว ไม่ใช่ปลายคลื่น B พร้อมทั้งบอกว่าควรตามดูสัญญาณกลับทิศแนวโน้มไปอีกสักระยะหนึ่ง

มาดูกันว่าขณะนี้ดัชนีดาวโจนส์ (DJI) ที่เราถือว่าเป็นตัวแทนของตลาดหุ้นและเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาขณะนี้มีสัญญาณกลับทิศอะไรบ้างแล้ว ดังภาพต่อไปนี้


  • bearish convergence ระหว่างดัชนีกับ RSI
  • นับคลื่นย่อยได้ครบสามลูก
  • ดัชนีดิ่งลงและตัดทะลุกรอบ standard error channel (SEC)
  • แผนภาพแบบแท่งเทียนเกิดรูปแบบแท่งเทียนดำใหญ่ (big black candle)
  • ดัชนีต่ำจากยอดคลื่นถึงประมาณ 11% ซึ่งการปรับลดขนาดนี้มักไม่ใช่การย่อเพื่อไปต่อ (retracement) แต่น่าจะเป็นการกลับทิศแนวโน้มมากกว่า
  • ระดับ fibonacci ได้ 78.6%

ทีนี้มาดูด้านเศรษฐกิจของยุโรปกันบ้าง ลุงมวน้ำขอใช้ดัชนีแดกซ์ (DAX) ของเยอรมนีเป็นตัวแทนเศรษฐกิจของยุโรป พบว่ายุโรปน่าจะเข้าสู่คลื่น C แล้วดังภาพต่อไปนี้


สัญญาณกลับทิศที่เกิดขึ้นมีดังนี้
  • bearish convergence ระหว่างดัชนีกับ RSI
  • นับคลื่นย่อยได้ครบสามลูก
  • ดัชนีดิ่งลงและตัดทะลุกรอบ standard error channel (SEC)
  • แผนภาพแบบแท่งเทียนเกิดรูปแบบแท่งเทียนดำใหญ่ 3 แท่งติดกันหรือที่เรียกว่ากาดำสามตัว (three black crows)
  • ดัชนีต่ำจากยอดคลื่นถึงประมาณ 13% แล้ว ซึ่งการปรับลดขนาดนี้มักไม่ใช่การย่อเพื่อไปต่อ (retracement) แล้ว  แต่น่าจะเป็นการกลับทิศแนวโน้มมากกว่า
  • ระดับ fibonacci ได้ 78.6%

ทีนี้ลองมาดูกันว่าหากเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาและยุโรปเข้าสู่คลื่น C แล้ว อะไรจะเกิดขึ้นบ้าง

ลุงแมวน้ำประเมินว่าจะเกิดเหตุการณ์ต่อไปนี้
  • ตลาดหุ้นทั่วโลกเข้าสู่คลื่นขาลงใหญ่ ไม่ว่าประเทศใดจะอยู่ในคลื่นใดก็ตาม น่าจะลงตามกันไปหมด
  • เงินตึง ขาดสภาพคล่อง ทำให้เกิดอุปสงค์เงินดอลลาร์ขึ้น ค่าเงินดอลลาร์จะมีแนวโน้มเป็นขาขึ้น
  • สินค้าโภคภัณฑ์ รวมทั้งน้ำมันดิบและทองคำ จะมีแนวโน้มเป็นขาลง


ตัวอย่างจากอดีต


หลายคนอาจไม่เห็นด้วยว่าดอลลาร์จะแข็งค่าและราคาทองคำจะอ่อนตัวได้อย่างไร ประเด็นก็คือเมื่อขาดสภาพคล่องทางการเงิน ใครมีอะไรก็ต้องขายเพื่อเปลี่ยนเป็นเงินสด แม้แต่ทองคำซึ่งถือว่าเป็นแหล่งพักพิงก็ยังใช้ไม่สะดวกเท่ากับเงินสด ดังนั้นก่อนอื่นเราต้องดูก่อนว่าสภาพคล่องเป็นอย่างไร ซึ่งสภาพคล่องนั้นดูได้จากดัชนีสองค่า คือ ผลต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ย LIBOR 3 เดือนกับ Overnight Indexed Swap หรือที่เรียกกันว่า 3mo LIBOR OIS spread กับดัชนีอีกดัชนีหนึ่งก็คือส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ย LIBOR 3 เดือนกับตั๋วเงินคลัง 3 เดือนของสหรัฐอเมริกาหรือที่เรียกกันว่า TED spread ซึ่งดัชนีทั้งสองค่านี้แสดงอยู่ในเว็บบล็อกของลุงแมวน้ำแล้ว ทางด้านขวามือ

ลองมาดูวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ปี 2008 กัน

ลองดูภาพต่อไปนี้ซึ่งเป็นดัชนี 3mo LIBOR OIS spread จะเห็นว่าค่า spread ตั้งแต่กันยายน 2007 เป็นต้นมาเริ่มสูงขึ้น และต่อมามาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2008 และไปสูงสุดที่ราวเดือนตุลาคม 2008 จากนั้นค่อยๆลดลง



ลองดูค่าเงินดอลลาร์ดูบ้าง ดัชนีดอลลาร์ สรอ ในช่วงนั้นเป็นดังภาพต่อไปนี้



จะเห็นว่าค่าเงินดอลลาร์เริ่มแข็งอย่างรวดเร็วตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2008 ซึ่งเป็นเวลาเดียวกับที่ค่า spread เริ่มสูงขึ้นมาก อธิบายได้ว่าช่วงนั้นสภาพคล่องตึงตัวมาก


คราวนี้มาดูกันว่าเกิดอะไรกับตลาดหุ้นบ้าง ดังภาพดัชนีดาวโจนส์ต่อไปนี้


เส้นตั้งสีดำที่ทำเป็นเส้นอ้างอิงก็คือเดือนมกราคม 2008 นั่นเอง เราจะเห็นว่าตั้งแต่กันยายน 2007 ดัชนีดาวโจนส์ไหลลงมาตลอด อาจอธิบายได้ว่านักลงทุนส่วนหนึ่งจำต้องขายหุ้นเพราะต้องการใช้เงินสดเนื่องจากตอนนั้นสภาพคล่องเริ่มตึงตัว

ทีนี้ลองมาดูราคาทองคำในช่วงนั้นกันบ้าง ดังภาพต่อไปนี้ จะเห็นว่าราคาทองคำเริ่มร่วงตั้งแต่เดือนมีนาคม 2008 และต่ำที่สุดที่ราวๆเดือนตุลาคม 2008 คิดเป็นราคาก็ไหลจาก 1000 ดอลลาร์ไปถึง 700 ดอลลาร์ (โดยประมาณ) ซึ่งอาจอธิบายได้ว่าช่วงต้นนั้นนักลงทุนขาดสภาพคล่อง ขายหุ้นแล้วไม่พอ ต่อมายังต้องขายทองอีกด้วย (อันที่จริงไม่ใช่เพียงทองเท่านั้นที่ราคาตกลง แต่สินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆรวมทั้งสินค้าเกษตรก็ราคาตกลงด้วย) และหลังจากกันยายน 2008 เมื่อสภาพคล่องเริ่มดึขี้น เงินดอลลาร์ก็อ่อนตัวลงและราคาทองคำค่อยๆปรับตัวสูงขึ้น





เหตุการณ์ในปัจจุบัน


ตลาดหุ้นยุโรปและสหรัฐอเมริกาตกต่อเนื่องมานานหลายสัปดาห์ จนวันนี้ตลาดลงอย่างหนัก สังเกตค่า TED spread และ 3mo LIBOR OIS spread ที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว แม้ว่าระดับดัชนีทั้งสองในตอนนี้ยังไม่ถือว่าสูง แต่รูปแบบของดัชนีที่กระชากตัวขึ้นมาทำให้เริ่มเห็นเค้าลางของสภาวะเงินตึงตัว ช่วงนี้ควรหมั่นติดตามค่าทั้งสองนี้อย่างสม่ำเสมอ




นอกจากนี้ usd index ยังเกิดแท่งเทียนขาวใหญ่ (big white candle) ซึ่งเป็นสัญญาณกลับทิศแนวโน้มเป็นขาขึ้นประการหนึ่ง แม้มีเพียงประการเดียวในตอนนี้แต่ก็ควรติดตามดูต่อไป



จากเหตุการณ์ในอดีตที่ลุงแมวน้ำนำมาให้ดู คงพอเห็นภาพได้ว่าราคาทองคำในสภาพเศรษฐกิจไม่ดีนั้นอาจไม่ได้สูงขึ้นและสูงขึ้นเรื่อยๆเสมอไป คงตองสังเกตเรื่องสภาพคล่องด้วย ดังนั้นไม่ควรประมาทหรือมองทองคำในแง่ดีจนเกินไปนัก





No comments: