วันนี้ดัชนี SET ปิดที่ 1,089.09 จุด ลดลง 4.42 จุด ตลาดหุ้นไทยในช่วงเช้าพยายามจะขึ้น แต่ในช่วงบ่ายเมื่อตลาดยุโรปเปิดทำให้สถานการณ์ไปต่อไม่ไหว ต่างชาติขายสุทธิ 668 ล้านบาท
หุ้นในกลุ่ม SET50 วันนี้ไม่มีสัญญาณซื้อขาย ขณะนี้โปรแกรมถือหุ้นอยู่รวมทั้งสิ้น 24 ตัว
กลุ่มฟิวเจอร์ส วันนี้มีสัญญาณซื้อโลหะเงิน (SI)
ตลาดต่างประเทศ วันนี้ตลาดย่านเอเชียมีทั้งปิดแดงเป็นส่วนใหญ่ ช่วงเช้าแดงไม่มาก แต่ช่วงบ่ายหลังจากที่ตลาดยุโรปเปิดและดัชนีตลาดหุ้นในยุโรปร่วงหนัก ดัชนีตลาดหุ้นในย่านเอเชียก็พลอยลดลงมาด้วย ด้านยุโรปปิดแดงอย่างหนัก อิตาลี เยรมนี สวีเดน ติดลบมากถึงประมาณ -6% ต่อมาตลาดฝั่งทวีปอเมริกาเปิดก็ร่วงเช่นกัน ปิดลบไปประมาณ -2% ถึง -4%
การร่วงของตลาดหุ้นในยุโรปมาจากปัญหาเรื่องที่กังวลเดิมๆ นั่นคือ ปัญหาหนี้สาธารณะของหลายประเทศในยุโรป หัวข้อเดิมแต่มีข่าวใหม่ๆเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจมาหลอกหลอนนักลงทุนชาวยุโรปอยู่เป็นระยะ เมื่อมีข่าวดีหุ้นก็ขึ้นไปสองสามวัน จากนั้นก็กลับมากังวลเรื่องเดิมและหุ้นก็ตกลงมาอีก
ส่วนทางด้านสหรัฐอเมริกานั้น วันนี้มีรายงานทางเศรษฐกิจหลายเรื่อง เรื่องอัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้น ยอดขายบ้านลดลง อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น การประเมินอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจต่ำลงกว่าเดิม ฯลฯ ประกอบกับสถานการณ์ตลาดหุ้นในยุโรป ทำให้ดัชนีตลาดหุ้นทางฝั่งทวีีปอเมริกา โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาพลอยตกลงมารุนแรงไปด้วย ดัชนีดาวโจนส์ (DJI) ปิดลบไป -320 จุด (-3.68%)
วันนี้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น น้ำมันดิบร่วงลงมาแรงถึง -7% ทองคำทำสถิติใหม่อีก
ลุงแมวน้ำตั้งข้อสังเกตอีกวันหนึ่ง นั่นคือ วันนี้ดัชนีในกลุ่มเอเชียแดงแต่ไม่มากนัก มีตลาดหุ้นไทยกับสิงคโปร์ที่เขียว ดูอาการคล้ายกันคือพยายามจะไต่ขึ้นไป แต่ดัชนี SETI ดูมีแรงมากกว่า แม้วันนี้ตลาดหุ้นไทยจะปิดแดงแต่ก็ลดลงไม่มาก ยอดขายสุทธิของต่างชาติไม่มากนัก รวมทั้งต่างชาติซื้อสุทธิฟิวเจอร์ส S50 พันกว่าสัญญาอีก
การลงทุนในคลื่นเศรษฐกิจ C (1)
อันที่จริงลุงแมวน้ำยังเล่านิทานเรื่องเปรอน (เปรอง) ยังไม่จบ แต่เห็นว่าช่วงนี้ตลาดหุ้นผันผวนมาก นักลงทุนบางคนอาจขาดทุนจนรู้สึกเคว้ง ลุงแมวน้ำจึงพยายามรีบเขียนบทความเรื่องนี้ เผื่อจะเป็นประโยชน์แก่เพื่อนนักลงทุนในยามนี้บ้าง ที่จริงเกริ่นเอาไว้ตั้งแต่หลายวันมาแล้วแต่ก็ยังไม่มีโอกาสได้เขียนสักทีจนวันนี้
ตลอดระยะเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา โลกเศรษฐกิจอยู่ในความอึมครึมเนื่องจากวิตกกังวลต่อปัญหาเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาและยุโรปที่นับวันดูเหมือนว่าจะยิ่งหนักหนาขึ้นเรื่อยๆเนื่องจากแก้เท่าไรก็ยังไม่ดีขึ้น
คงยังจำกันได้เมื่อราวๆปี 2007 ถึง 2008 ที่เป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤตทางเศรษฐกิจที่เรียกว่าวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์อันเกิดจากภาคการเงินของสหรัฐอเมริกา จากนั้นก็ลามไปทั่วโลก ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลงอย่างแรง โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้วในกลุ่มยุโรปและสหรัฐอเมริกา
หลังจากที่รัฐบาลของทุกประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา พยายามแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจนี้ เศรษฐกิจก็ดูเหมือนจะค่อยๆดีขึ้น จนคาดว่าอีกไม่นานโลกจะพ้นจากยุคเศรษฐกิจถดถอยไปได้ ผลทางจิตวิทยานี้ทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกค่อยๆปรับตัวดีขึ้น
แต่ต่อมาความเป็นจริงกลับปรากฏว่าสถานการณ์ทางเศรษฐกิจต่างๆไม่ได้ดีขึ้นอย่างที่คิด สะท้อนได้จากตัวเลขทางเศรษฐกิจทางๆที่ทยอยออกมาในแต่ละไตรมาส ความกังวลก็กลับมาสู่นักลงทุนอีก ด้วยเกรงกันว่าเศรษฐกิจโลกจะถดถอยอีกครั้งหนึ่งหรือที่เรียกว่า double dip recession อันหมายถึงการถดถอยซ้อนกันสองครั้ง หลังจากที่ถดถอยมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อคราววิกฤตแฮมเบอร์เกอร์
เศรษฐกิจโลกเข้าสู่คลื่น C
ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจกันก่อนว่าคลื่นเศรษฐกิจ C นี้หมายความว่าอะไร ทฤษฎีคลื่นของอีเลียต (Elliott wave) ได้อธิบายพฤติกรรมของตลาดหุ้น โดยแบ่งออกเป็นคลื่นขาขึ้น 5 ลูก เรียกว่าคลื่น 1 2 3 4 5 และคลื่นขาลง 3 ลูก เรียกชื่อว่า A B C ดังภาพต่อไปนี้
ลุงแมวน้ำคงไม่ปูพื้นฐานมาก เนื่องจากเรื่องคลื่นอีเลียตสามารถหาอ่านได้ทั่วไป แต่จะชี้ให้เห็นเพียงบางประเด็นเท่านั้น ทฤษฎีคลื่นนี้อธิบายทางจิตวิทยาเอาไว้ว่าเมื่อถึงคลื่น 5 หลังจากที่คลื่น 5 จบแล้วและเป็นขาลงในคลื่น A นักลงทุนทั่วไปยังมองโลกในแง่ดีเหมือนกับตอนที่อยู่คลื่น 3 แล้วย่อลงมาคลื่น 4 (เพราะจากคลื่น 4 นั้นเข้าสู่คลื่น 5 ซึงยอดคลื่น 5 นั้นสูงกว่าคลื่น 3 เสียอีก)
และนี่เอง ที่นักลงทุนทั่วไปพยายามช้อนซื้อหุ้นหรือลงทุนเพิ่มในคลื่น A เนื่องจากคิดว่าตลาดหุ้นหรือเศรษฐกิจจะไปต่อได้ (เหมือนในช่วงคลื่น 3-4-5) ดังนั้นคลื่น A จึงขับเคลื่อนเข้าสู่คลื่น B
แต่เมื่อไปได้ระยะหนึ่ง ในที่สุดสภาพความเป็นจริงก็ปรากฏชัดว่าไปต่อไม่ไหวแล้ว ดังนั้นนักลงทุนจึงพยายามกลับตัวและเทขายหุ้นอย่างรวดเร็ว ใครขายก่อนก็รอดได้ก่อน ผลก็คือทำให้คลื่น B จบลงและตลาดหุ้นเข้าสู่คลื่น C ซึ่งคลื่น C นี้ปกติจะลงเร็วและแรงเนื่องจากในคลื่นนี้นักลงทุนส่วนใหญ่พยายามหนีออกจากตลาดหุ้นแล้ว นอกจากนี้คลื่น C ยังเป็นคลื่นที่นักลงทุนรายย่อยถูกสลัดหลุดออกไปจากตลาดเป็นจำนวนมากเนื่องจากได้รับบาดเจ็บจากคลื่น A มาแล้วครั้งหนึ่ง เมื่อมาบาดเจ็บซ้ำก็อาจถึงกับต้องออกจากตลาดไป
ทฤษฎีคลื่นของอีเลียตนี้็พอจะนำมาปรับใช้กับสภาพเศรษฐกิจจริงได้ด้วย เพราะตลาดหุ้นกับสภาพเศรษฐกิจจริงมีความเชื่อมโยงกัน ที่ว่า double dip recession นั้นในทางเทคนิคก็คือการเกิดคลื่น A กับคลื่น C นั่นเอง
ลองมาดูดัชนีดาวโจนส์ ดังภาพต่อไปนี้
รูปแบบของดัชนีก็พอเข้าเค้าว่าขณะนี้เราอยู่ในคลื่น C ส่วนดัชนี DAX ของเยอรมนีก็มีรูปแบบคล้ายๆกัน ดังนั้นลุงแมวน้ำจึงตั้งสมมติฐานเอาไว้ว่าขณะนี้สหรัฐอเมริกาและยุโรป น่าจะอยู่ในคลื่น C แล้ว และยังเป็นต้นคลื่นอยู่ รวมทั้งคลื่นนี้ยังเป็นระดับคลื่นใหญ่อีกด้วย ซึ่งน่าจะกินเวลานานนับปี
ปกติในคลื่นใหญ่จะมีคลื่นย่อย คลื่น A-B-C จะมีชุดคลื่นย่อยอยู่ภายใน เรียกง่ายๆว่า 5-3-5 ซึ่งหมายความว่าคลื่น A มีห้าคลื่นย่อย คลื่น B มีสามคลื่นย่อย และคลื่น C มีห้าคลื่นย่อย ดังภาพต่อไปนี้
ลองมาเทียบกับดัชนีดาวโจนส์ในขณะนี้ดู แปลว่าเรายังมีเส้นทางอีกยาวไกลที่นักลงทุนจะต้องฟันฝ่าไปให้ได้ จนกว่าจะจบคลื่น C นี้
(โปรดอ่านต่อนต่อไปในวันถัดไป)
No comments:
Post a Comment