การลงทุนและค่าเงิน 19/07/2012 (รายงานวันเทรดที่ 18/07/2012)
ช่วงนี้ลุงแมวน้ำอัปเดตกะพร่องกะแพร่งไปบ้างหวังว่าคงให้อภัย งานล้นครีบไปหมด ทำไม่ค่อยทัน เมื่อวานแว่บได้เดินเล่นที่เจเจมอลล์มา คนเงียบจัง ลองถามคนขายดูบอกว่าเป็นแบบนี้มาหลายเดือนแล้ว ส่วนตลาดต้นไม้คนเยอะ ดูต้นไม้ดอกไม้แล้วชื่นใจดี แต่ก็คิดว่าน้อยลงกว่าเมื่อหลายเดือนก่อน แต่เรื่องตลาดต้นไม้จตุจักรนี่ที่คนน้อยเป็นเพราะสภาวะเศรษฐกิจหรือเพราะช่วงนั้นฝนตกอยู่ก็ไม่แน่ใจเหมือนกัน แต่เรื่องในวงการธุรกิจสามารถบ่งชี้ภาวะเศรษฐกิจได้ดี โดยเฉพาะเรื่องการดึงหนี้การค้าอันหมายถึงการชำระหนี้การค้าให้ช้าลง ถ้ามีมากขึ้นก็เป็นตัวชี้วัดได้ดี อย่างยุโรปตอนนี้ก็ลดคำสั่งซื้อและชะลอการชำระหนี้การค้ากัน ผู้ส่งออกไทยโดนกันมาหลายเดือนแล้ว ลุงแมวน้ำจะทำธุรกิจตอนนี้ก็เสียวอยู่ กลัวเจ๊งน่ะสิ แต่ถ้าถามว่าลุงจะชะลอโครงการไปก่อนไหมก็คงตอบว่าไม่หรอก โจทย์ยากก็ท้าทายดีเหมือนกัน ^__^
มาดูภาวะการลงทุนของเมื่อวันที่ 18/07/2012 กัน ตลาดหุ้นย่านเอเชียแปซิฟิกปิดบวกและลบคละกัน แต่ออกไปทางปิดลบมากกว่า ส่วนตลาดหุ้นไทยปิดที่ 1220.14 จุด (-0.33%)
ทางด้านตลาดหุ้นยุโรปส่วนใหญ่ปิดบวก ดัชนีแดกซ์ 6684.42 จุด (+1.6%) ตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกาก็ปิดบวก 12908.70 จุด (+0.8%) ราคาน้ำมันดิบปรับตัวขึ้น น้ำมันดิบเบรนต์ 105.3 ดอลลาร สรอ/บาเรล (+1.3) ราคาทองคำ 1576.7 ดอลลาร์ สรอ/ทรอยออนซ์ (-0.8%) จะเห็นว่าดัชนีและราคาที่ลุงแมวน้ำพูดมาใกล้ราคาเป้าหมายเต็มทีแล้ว บางอย่างก็ถึงไปแล้ว
สำหรับสินค้าเกษตรปรับตัวขึ้นต่อ แต่ราคายางไม่ไปไหน ปรับตัวลงด้วยซ้ำทั้งๆที่มีข่าวรัฐบาลให้องค์การสวนยาง (อสย) รับซื้อยางแผ่นดิบในราคา 100 บาท/กก และยางพาราแผ่นดิบรมควันชั้น 3 ที่ 104 บาท/กก และมีเงื่อนไขว่าให้เฉพาะสมาชิกองค์การสวนยาง ไม่ใช่เกษตรกรทั่วไป แม้จะไม่ใช่การรับจำนำหรือการประกันราคาแต่ก็ถือว่ารัฐเริ่มเข้ามาบิดเบือนกลไกราคา นักลงทุนควรระมัดระวังเนื่องจากรัฐเข้ามาแทรกแซงตลาด หากแทรกแซงได้ผลยางพาราเริ่มไม่น่าลงทุนแล้ว หากเป็นแบบนี้ใช้การวิเคราะห์ทางเทคนิคก็ไม่ได้ ปัจจัยพื้นฐานก็ไม่ได้อีก เพราะราคาไม่ได้เคลื่อนไหวตามธรรมชาติ ก็เหมือนราคาข้าวในตลาด AFET นั่นแหละ ไม่มีใครเทรดกันเลย ลุงแมวน้ำเองขอติดตามสักระยะหนึ่ง หากเรื่องการรับซื้อราคาสูงนี้มีผลต่อกลไกราคาลุงแมวน้ำก็คงต้องหยุดเทรด น่าเสียดายตลาด AFET เหมือนกัน ที่จริงเป็นหนทางช่วยเกษตรกรได้ทางหนึ่งในการประกันความเสี่ยงแต่ก็ไปได้ไม่ถึงไหน
วันนี้ลุงแมวน้ำเอาภาพมาฝากภาพหนึ่ง นั่นคือภาพเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย หรือ Thai Government Bond Yield Curve ดัชนีตัวหนึ่งที่บ่งชี้ตลาดหุ้นได้ดีซึ่งลุงแมวน้ำใช้อยู่ก็คืออัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลนี่เอง ในช่วงที่อัตราผลตอบแทนหรือ bond yield ลดต่ำลงอย่างต่อเนื่องทั้งๆที่ตลาดหุ้นยังขึ้นได้ ก็ให้ระวังเอาไว้ว่าอีกไม่นานตลาดหุ้นจะลง
ลองมาดูภาพต่อไปนี้กัน
เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย
ภาพไม่ค่อยชัด ต้องเพ่งเอาหน่อย ^_^ภาพนี้เป็นอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรไทยในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา เส้นที่เห็นมี 5 เส้น แต่ละเส้นเป็นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่มีอายุต่างกัน จะเห็นว่าเส้นสีส้มเป็นอายุ 6 เดือน ที่จริงเรียกตั๋วเงินคลัง เป็นตราสารตลาดเงิน แต่ก็เรียกรวมว่าพันธบัตรเพื่อให้เรียกง่ายๆ
เส้นสีส้มหรือพันธบัตรอายุ 6 เดือนนั้นผลตอบแทนค่อนข้างคงที่ ส่วนเส้นอื่นๆในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมาค่อยๆปรับตัวลง โดยเฉพาะในเดือนกรกฎาคมหรือเดือนปัจจุบันนี้เป็นเดือนที่อัตราผลตอบแทนลดลงฮวบฮาบ ทั้งๆที่เดือนมิถุนายนกับกรกฎาคมเป็นเดือนที่ตลาดหุ้นไทยขึ้น โดยเฉพาะวันที่ 18/07/2012 นี้ Thai gov 10 year bond yield ลดลงถึง -7.12 จุดเบสิส (bp) ในวันเดียว แสดงว่ามีเงินไหลออกจากตลาดหุ้นไปเข้าตลาดตราสารหนี้อย่างต่อเนื่อง แม้ว่าเงินที่ออกจากตลาดหุ้นไม่ได้เข้าไปในตลาดตราสารหนี้ทั้งหมด แต่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรก็ยังพอบ่งชี้ตลาดหุ้นได้
นี่แหละเป็นสัญญาณที่ผิดปกติ ตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกาขณะนี้ก็มีลักษณะเช่นเดียวกันนี้ โดย โดยตลาดหุ้นขึ้นแต่ bond yield curve ปรับตัวลง อย่างเช่นในวันที่ 18/07/2012 นี้ ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ (DJI) ขึ้นไป +103 จุด แต่ US 10 year bond yield ลดลง 2 จุดเบสิส
หากเหตุการณ์แบบนี้เกิดยาวเป็นช่วงระยะเวลาหนึ่งก็ถือว่าเป็นสัญญาณบ่งชี้ทิศทางตลาดหุ้นได้ประการหนึ่ง ลองติดตามสังเกตกันดูต่อไปครับ ^_^
3 comments:
ลุงแมวน้ำคะ
ทำไมราคาน้ำมันที่ขึ้นมาไม่มีผลทำให้ราคายางสูงขึ้นตามมั่งคะ
และการรัฐเข้าแทรกแืซงราคาอย่างนี้ จนทนแรงเสียดทานจากตลาดโลกอย่าง tocom, shfe ไหวหรือคะ ดูแล้ว ศก.ไม่ไปไหนเลย
ขอบคุณค่ะ
GoonG
ราคายางพาราตามราคาน้ำมันดิบครับ แต่บางช่วงก็ตามกระชั้นชิด บางช่วงก็ตามแบบห่างๆ เพราะยางพาราก็มีปัจจัยภายในของยางพาราเอง เช่น เรื่อง ฤดูกาล อุปสงค์อุปทานของยางพารา ฯลฯ ช่วงนี้ราคายางพาราตามราคาน้ำมันแบบห่างๆ เลยอาจดูเหมือนไม่เคลื่อนไหวตามกัน แต่ให้ลองสังเกตดูต่อไปครับ เมื่อไรที่น้ำมันดิบลงแรง ราคายางพาราจะลงแรงด้วย
เรื่องการแทรกแซงราคา ครั้งนี้รัฐไม่ได้แทรกแซงอย่ารุนแรงดังเช่นการใช้มาตรการรับจำนำ แต่เป็นการใช้หน่วยงานของรัฐชี้นำราคา ที่หนูถามว่าราคาแทรกแซงจะทนแรงเสียดทานจากราคาตลาดโลกไหวไหม ก็คงเป็นตามที่หนูคิดเอาไว้นั่นแหละ คือทนไม่ไหวหรอก ดูกลไกการรับจำนำข้าวเปลือกเป็นตัวอย่าง ท้ายที่สุดอาจต้องยอมขายขาดทุนในตลาดโลกเนื่องจากข้าวมีอายุการเก็บ และผู้รับผลขาดทุนก็คือคนไทยทุกคน เพราะผลขาดทุนกลายเป็นหนี้สาธารณะไป
อีกประการ เรื่องการรับซื้อยางพาราในราคาสูงนี้ผู้ที่ขายได้คือเกษตรกรที่เป็นสมาชิก อสย ซึ่งเกษตรกรสวนยางพาราที่เป็นสมาชิก อสย มีเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ใครที่ไม่ได้ขายกับ อสย ก็ต้องไปขายกับพ่อค้าคนกลาง เท่าที่ทราบตอนนี้มีความวุ่นวายกันอยู่ครับ ฝุ่นยังตลบอยู่
ขอบคุณค่ะลุงแมวน้ำ
น่าสงสารทั้งเกษตรกร และคนไทยที่ต้องรับผลจากวงจรแบบนี้นะคะ
Post a Comment