Tuesday, August 17, 2010

16/08/2010 * ราคาทองคำสัมพันธ์กับค่าเงินดอลลาร์ สรอ หรือไม่

วันนี้ดัชนี SET ปิดที่ 860.55 จุด ลดลง 1.61 จุด

สำหรับหุ้นในกลุ่ม SET50 วันนี้มีสัญญาณขาย KTB ขณะนี้ถือหุ้นอยู่รวมทั้งหมด 43 ตัว

กลุ่มฟิวเจอร์ส วันนี้มีสัญญาณขายฟิวเจอร์สของ KTB และทองไทย (GF) เกิดสัญญาณซื้อ แต่ลุงแมวน้ำประเมินว่าขณะนี้น่าจะเป็นคลื่น A แล้ว จึงปิดสัญญาขายเท่านั้น ไม่ได้เปิดสัญญาซื้อ GF ซึ่งใช้กลยุทธ์เดียวกับ GC นั่นเอง

ด้านดัชนีตลาดต่างประเทศ วันนี้ตลาดปรับตัวกระจายกันไป ขึ้นนิดลงหน่อย ยกเว้นตลาดจีนที่ปรับตัวขึ้นแรง

เมื่อวันก่อนเราลุงแมวน้ำได้คุยถึงเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างราคาสินค้า 2 ชนิด (หากไม่ใช่หุ้น ฟิวเจอร์ส หรือสินค้าก็อาจเป็นดัชนีก็ได้) และการวิเคราะห์ว่าสินค้าสองชนิดนั้นมีความสัมพันธ์กันจริงหรือไม่ รวมทั้งเป็นแบบไหน (แบบตามกันหรือว่าแบบสวนกัน) โดยใช้วิธีการทางสถิติด้วยการใช้สัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ (correlation coefficient) รวมทั้งได้ดูตัวอย่างราคายางพารากับราคาน้ำมันและค่าเงินดอลลาร์ สรอ กันไปแล้ว

เรามักได้ยินอยู่เสมอว่าทองคำนั้นเป็นสินทรัพย์มั่นคง เป็นสินทรัพย์ที่ใช้ต่อสู้กับเงินเฟ้อ หากเราถือเงินบาทหรือเงินดอลลาร์เอาไว้ เช่น มีเงินอยู่ 100 บาทหรือว่า 100 ดอลลาร์ สรอ ต่อไปธนบัตรใบเดิมที่เราเก็บเอาไว้นั้นจะมีมูลค่าน้อยลงกว่าเดิมเนื่องจากเงินเฟ้อทำให้เงินที่เราถืออยู่นั้นด้อยค่าลงไป เงิน 100 บาทในปัจจุบันซื้อข้าวหน้าปลาแซลมอนได้ 1 จาน แต่เมื่อเงินเฟ้อ ต่อไปอาจซื้อได้เพียงครึ่งจาน ด้งนี้เป็นต้น ส่วนทองคำนั้นว่ากันว่าจะไม่ด้อยค่าไปเพราะภาวะเงินเฟ้อ ดังนั้นหากอยู่ในภาวะที่อัตราเงินเฟ้อค่อนข้างสูง เมื่อเราอ่านหนังสือพิมพ์หรือหาข้อมูลความรู้จากสื่อต่างๆเราจึงมักได้รับคำแนะนำว่าหากเงินเฟ้อให้ซื้อทองเก็บเอาไว้ หรือถ้าหากว่าเงินไม่เฟ้อก็ยังซื้อเก็บเอาไว้ได้ อีกหน่อยราคาก็ขึ้น เป็นต้น

สำหรับนักลงทุนผู้มีหัวในการมองหาช่องทางการลงทุนก็เอาข้อความข้างบนนี้ไปคิดต่อยอด บางคนก็จับแนวโน้มค่าเงินแล้วเอาไปเก็งกำไรในทองคำ ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเห็นว่าค่าเงินดอลลาร์ สรอ อ่อนตัวก็ไปซื้อฟิวเจอร์สทองคำเอาไว้ เพราะมีสูตรสำเร็จอยู่ในใจว่าเมื่อเงินอ่อนทองจะแข็ง ดอลลาร์ สรอ อ่อนตัว ราคาทองคำก็ขึ้น วันนี้เราจะลองมาใช้หลักสถิติวิเคราะห์กันดูว่าทองคำกับค่าเงินสัมพันธ์กันจริงหรือไม่

จากข้อมูลราคาทองคำ (ใช้ราคากองทุนทองคำ GLD เป็นตัวแทน) กับค่าเงินดอลลาร์ สรอ (ใช้ราคา DX เป็นตัวแทน) โดยใช้ข้อมูลตั้งแต่ต้นปี 2007 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน วิเคราะห์ด้วยสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ ได้ผลดังนี้

r = -0.1056

นั่นหมายความว่าจากข้อมูลในรอบ 3 ปีครึ่งที่ผ่านมา พบว่าทองคำกับค่าเงินดอลลาร์ สรอ แทบไม่มีความสัมพันธ์กันเลย (เนื่องจากค่า r ใกล้ 0) ซึ่งผลการวิเคราะห์นี้ฝืนความรู้สึกเป็นอย่างมาก เพราะไม่เป็นไปตามที่เราเคยเชื่อกัน ทีนี้ลองมาดูกราฟราคากันบ้าง



เมื่อดูจากภาพจะเห็นได้ค่อนข้างดีกว่า นั่นคือ กราฟค่อนไปทางแนวนอนนี้ ความว่าเมื่อราคาทองคำขึ้น ค่าของเงินดอลลาร์ สรอ ยังไม่ค่อยไปไหน ลักษณะเช่นนี้ตีความอย่างง่ายๆก็คือมีการเก็งกำไรในทองคำกันค่อนข้างมากนั่นเอง

ที่เห็นภาพบนนี้คือภาพรวมในรอบ 3 ปีครึ่ง ทีนี้เรามาลองดูในกรอบเวลาที่แคบลงบ้าง โดยเราลองมาดูความสัมพันธ์ระหว่างราคาทองคำกับค่าเงินในปี 2007 ดังรูปต่อไปนี้



ค่า r ใกล้ -1 มาก แสดงว่ามีความสัมพันธ์กันสูงในแบบสวนทางกัน นั่นคือ ในปี 2007 นั้น หากค่าเงินแข็ง ทองจะอ่อน หากค่าเงินอ่อน ทองจะแข็ง ซึ่งสอดคล้องกับสามัญสำนึกของเรา

คราวนี้มาดูความสัมพันธ์ระหว่างราคาทองคำกับค่าเงินในปี 2009 เพียงปีเดียวกันดูบ้าง ดังนี้



ค่า r = -0.73 ตีความได้ว่าราคาทองคำกับค่าเงินก็ยังสวนทางกันอยู่ แต่ไม่สวนกันแรงเหมือนกับในปี 2007

คราวนี้มาดูความสัมพันธ์ในปี 2010 กันบ้าง ดังภาพต่อไปนี้



r = 0.8257

เมื่อลุงแมวน้ำเห็นภาพนี้ทีแรกก็ไม่อยากเชื่อสายตาเช่นกัน เพราะว่าค้านกับสามัญสำนึกมาก แต่ผลก็เป็นเช่นนี้จริงๆ ค่า r ใกล้ 1 ตีความได้ว่าเป็นความสัมพันธ์แบบตามกัน กล่าวคือ เมื่อค่าเงินแข็ง ราคาทองคำจะขึ้น และเมื่อค่าเงินอ่อน ราคาทองคำจะลง ซึ่งเมื่อลองนำเอาข้อมูลค่าเงินกับราคาทองคำมาไล่เรียงกันดูจริงๆก็จะพบว่าในช่วงปีนี้แนวโน้มเป็นไปแบบนี้จริงๆ

ลุงแมวน้ำนำภาพมาให้ดู 4 ภาพ เป็นชาร์ตผลการวิเคราะห์จากข้อมูล 3 ปีครึ่งซึ่งตีความได้ว่าราคาทองคำกับค่าเงินดอลลาร์ สรอ ไม่มีความสัมพันธ์กัน กับชาร์ตผลการวิเคราะห์รายปี ซึ่งมีทั้งสัมพันธ์แบบตามกันและแบบสวนทางกัน ถ้าเช่นนั้นควรเลือกเชื่อชาร์ตใดหรือควรเชื่อผลวิเคราะห์ตามภาพใด?

ที่จริงทั้งชาร์ตทั้ง 4 ภาพและผลการวิเคราะห์ที่แตกต่างนั้นสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ทั้งสิ้น ขึ้นกับวิีธีการนำไปใช้ จากภาพชุดนี้ทำให้เราตระหนักว่าโลกนี้ไม่มีอะไรแน่นอน แม้แต่ระดับของความสัมพันธ์ของสินค้าคู่เดียวกันก็เปลี่ยนแปลงไปได้ตามกาลเวลา

การมองภาพในกรอบเวลาที่กว้าง เช่น 3 ปี หรืออาจมากกว่านั้น เป็นการให้แนวโน้มในภาพใหญ่ เหมาะกับการลงทุนระยะที่ยาวหน่อย ส่วนการมองในกรอบเวลาที่แคบลง เช่น 1 ปี หรืออาจสั้นกว่าหนึ่งปี เป็นการมองในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงสั้น เหมาะกับการติดตามเพื่อปรับกลยุทธ์การลงทุนในระยะสั้น ยกตัวอย่างเช่นในปี 2010 นี้ หากนักลงทุนซื้อทองเมื่อเงินดอลลาร์แข็งก็คงเจ็บตัว (ในระยะสั้น) เพราะเมื่อค่าเงินอ่อน ราคาทองคำก็อ่อนตามไปด้วย หาโอกาสทำกำไรได้ยาก กลยุทธ์ในปีนี้ก็อาจต้องปรับตัวมาเป็นเมื่อค่าเงินอ่อนก็ซื้อทองเอาไว้ เป็นต้น นี่เป็นเพียงการยกตัวอย่าง มิใช่การแนะนำกลยุทธ์การลงทุนจริงๆ

ในวันต่อไปเราจะมาดูความสัมพันธ์ระหว่างสินค้าอื่นๆกัน เช่น ราคาน้ำตาลกับราคาหุ้นโรงงานน้ำตาลสัมพันธ์กันหรือไม่ ราคายางพารากับราคาหุ้นของผู้แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ยางพาราสัมพันธ์กันหรือไม่ และอื่นๆ

No comments: