Wednesday, August 11, 2010

10/08/2010 * CC, ยางพารา สินค้าเกษตร น้ำมันดิบ และค่าเงินดอลลาร์ สัมพันธ์กันเพียงใด

วันนี้ดัชนี SET ปิดที่ 861.95 จุด ลดลง 13.23 จุด

สำหรับหุ้นในกลุ่ม SET50 วันนี้มีสัญญาณขาย HANA, TOP ขณะนี้ถือหุ้นอยู่รวมทั้งหมด 45 ตัว

กลุ่มฟิวเจอร์ส วันนี้มีสัญญาณซื้อข้าวไทย (WBR5) สัญญาณขายโกโก้ (CC)

ด้านดัชนีตลาดต่างประเทศ วันนี้ไม่มีสัญญาณซื้อขาย ทุกตลาดที่อยู่ในรายงานพร้อมใจกันลง เป็นตัวแดงทั้งหมด

ในช่วงที่ผ่านมาสินค้าเกษตรโกโก้ (CC) เกิดสัญญาณซื้อขายค่อนข้างถี่ แต่ละครั้งล้วนแต่เป็นสัญญาณหลอก (flase signal) ที่หลอกให้เสียเงินทั้งสิ้น วันนี้ลุงแมวน้ำจึงขอนำเอากราฟราคา CC มาให้ดูกันเนื่องจากกรณี CC เป็นกรณีที่น่าสนใจศึกษามาก



จากภาพ จะเห็นว่าจั้งแต่เดือนมีนาคม 2010 เป็นต้นมา ระบบของลุงแมวน้ำเกิดสัญญาณซื้อขายที่เป็นสัญญาณหลอกติดกันถึง 9 ครั้ง ส่วนระบบ PnT 1.10 ก็เกิดสัญญาณหลอกติดต่อกันถึง 7 ครั้ง เจอสัญญาณหลอก 3 ครั้งก็แย่แล้ว นี่โดนเข้าไป 7 ครั้ง 9 ครั้ง เมื่อดูจากกราฟจะเห็นว่าตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นมาราคาโกโก้แกว่งตัวออกข้างในแบบไร้ทิศทางซึ่งมีกรอบการแกว่งตัวขึ้นลงค่อนข้างกว้าง เมื่อเกิดการออกข้างในลักษณะกรอบกว้างเช่นนี้ย่อมต้องเสียเงินมาก แบบนี้เป็นใครก็ต้องหมดตัวเนื่องจากระบบตามแนวโน้มใช้ไม่ได้กับตลาดในภาวะไร้ทิศทาง หากไร้ทิศทางและแกว่งตัวในกรอบแคบหรือแกว่งตัวเป็นสามเหลี่ยมชายธงก็เสียเงินในตอนต้นมากหน่อย และต่อมาเมื่อหลุดจากปลายธงก็จะกลับเข้าสู่แนวโน้มได้ แต่การแกว่งของ CC นี้แกว่งแบบเป็นจังหวะคลื่นซึ่งก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเมื่อไรจะพ้นจากสภาวะไร้ทิศทางนี้ได้

เมื่อเราพบกับสินค้าเช่นนี้ ในตอนแรกคงไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดสัญญาณหลอกติดต่อกันกี่ครั้งเนื่องจากไม่มีใครรู้อนาคต กว่าจะรู้ตัวก็คืนกำไรแถมทุนไปโขแล้ว ดังนั้นแต่ละคนต้องมีจุดตัดสินใจว่าหากเกิดสัญญาณหลอกติดกันกี่ครั้งก็หยุดเทรดต้องมาทบทวนกลยุทธ์แล้ว สินค้ามีให้เลือกเทรดตั้งหลายอย่างไม่จำเป็นต้องมาทนกับตัวที่เราแพ้ทาง การศึกษารูปแบบทางเทคนิคเดิมๆของสินค้าตัวนั้นๆก็พอช่วยได้บ้าง

แต่เหรียญมีสองด้าน เมื่อมีเสียก็ต้องมีดีบ้าง รูปแบบของ CC เช่นนี้นักเก็งกำไรในตลาดไร้ทิศทางคงจะชอบเนื่องจากแกว่งเป็นคาบไปเรื่อยๆ หากจับจังหวะการแกว่งได้ก็ได้เงินใช้เป็นรอบๆเลยทีเดียว แต่ลุงแมวน้ำไม่แนะนำ เนื่องจากระบบที่ใช้เทรดต้องเป็นระบบที่ใช้กับตลาดไร้ทิศทาง ซึ่งเป็นคนละระบบกับระบบตามแนวโน้ม ผู้ที่มินิสัยถือยาวชอบเทรดตามแนวโน้มมักปรับตัวกับระบบไร้ทิศทางไม่ค่อยได้เนื่องจากต้องเทรดค่อนข้างไว อีกประการการจับคาบการแกว่งก็ไม่ใช่เรื่องง่าย

เมื่อดูกรณีศึกษา CC ไปแล้ว คราวนี้เรามาดูเรื่องที่ลุงแมวน้ำคุยค้างเอาไว้ตั้งแต่เมื่อวานกันต่อ

จากการใช้การทดสอบทางสถิติแบบง่ายๆด้วยสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ หรือถ้าจะเรียกให้เต็มก็คือสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของเพียร์สัน (Pearson's correlation coefficient) เืพื่อทดสอบความสัมพันธ์ระหว่างข้อมูล 2 ชุดว่ามีความสัมพันธ์กันหรือไม่ ซึ่งเมื่อวานเราได้คุยกันไปแล้วว่าราคายางพารากับราคาน้ำมันดิบสัมพันธ์กันบ้าง แต่ไม่แนบแน่น ตามกันบ้าง ไม่ตามกันบ้าง

วันนี้ลุงแมวน้ำมีผลทดสอบที่จะมานำเสนออีก จากการวิเคราะห์สัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์จากข้อมูลตั้งแต่ต้นปี 2007 จนถึงปัจจุบัน รวมแล้วเป็นข้อมูลมากกว่า 800 วันทำการ ได้ความสัมพันธ์ระหว่างสินค้าดังนี้

  • ความสัมพันธ์ระหว่างยางพารากับสินค้าเกษตรอื่นๆ ลุงแมวน้ำพิจารณาจากดัชนีสินค้าเกษตรของดอยทช์แบงก์ (Deutsch Bank Agriculture USD Index) ซึ่งรวมสินค้าเกษตรหลัก ได้แก่ ข้าวโพด ข้าวสาลี ถั่วเหลือง น้ำตาล โกโก้ ฝ้าย และกาแฟ ได้ค่า r = 0.4409 (ยังห่า่งจาก 1 อีกไกล แสดงว่ามีความสัมพันธ์ตามกันอยู่บ้างแต่ไม่มากนัก)
  • ความสัมพันธ์ระหว่างดัชนีสินค้าเกษตรของดอยทช์แบงก์และราคาน้ำมันดิบ r = 0.8784 (ค่าเข้าใกล้ 1 แสดงว่ามีความสัมพันธ์กันสูง ตีความได้ว่าเมื่อราคาน้ำมันดิบขึ้น ราคาสินค้าเกษตรในกลุ่มนี้ก็จะขึ้นตามไปด้วย)
  • ราคายางพารากับค่าเงินดอลลาร์ คำนวณจากราคายางพารากับดัชนีดอลลาร์ สรอ r = -0.4869 (ค่าอยู่ระหว่าง 0 กับ -1 แสดงว่ามีความสัมพันธ์แบบสวนทางกัน กล่าวคือ เมื่อดอลลาร์แข็ง ราคายางพาราจะตก แต่เนื่องจากค่านี้ยังห่างจาก -1 อีกไกล แสดงว่าบางครั้งยางพาราก็ราคาตก บางครั้งก็ราคาไม่ตก และเมื่อเงินดอลลาร์อ่อนค่า ราคายางพาราก็ขึ้นบ้าง นิ่งๆบ้าง)
  • ดัชนีสินค้าเกษตรของดอยทช์แบงก์และเงินดอลลาร์ สรอ r = -0.7609 (ค่าใกล้ -1 หมายความว่าความสัมพันธ์แบบสวนทางนี้ค่อนข้างเสมอต้นเสมอปลาย เมื่อเงินดอลลาร์อ่อน ราคาสินค้าเกษตรหลักจะสูงขึ้น และเมื่อเงินดอลาร์แข็งค่า ราคาสินค้าเกษตรหลักจะลดลง)

คราวนี้ลองมาดูภาพกัน

ยางพารากับสินค้าเกษตรอื่นๆ ลุงแมวน้ำพิจารณาจากดัชนีสินค้าเกษตรของดอยทช์แบงก์


ดัชนีสินค้าเกษตรของดอยทช์แบงก์และราคาน้ำมันดิบ


ราคายางพารากับดอลลาร์ สรอ


ดัชนีสินค้าเกษตรของดอยทช์แบงก์และดอลลาร์ สรอ


วิธีการนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์ก็อย่างเช่น คู่ใดที่มีความสัมพันธ์กันมากก็นำไปใช้พิจารณาเลือกลงทุนได้ เมื่อราคาน้ำมันดิบขึ้น กองทุนสินค้าเกษตรก็เป็นทางเลือกหนึ่งได้อีกทางหนึ่งในการลงทุน หรือหากราคาน้ำมันดิบร่วงก็อาจพิจารณาลดหรืองดการลงทุนในกองทุนสินค้าเกษตร

หรือคู่ใดมีความสัมพันธ์กันต่ำก็จะได้ทราบว่าสินค้าคู่นี้ราคาไม่ตามกันหรือไม่สวนกัน

สำหรับวันนี้ ลุงแมวน้ำมีคำถามที่ฝากเอาไปคิดเล่นสนุกๆ นั่นคือ

  • ราคาทองคำกับค่าเงินดอลลาร์สัมพันธ์กันเพียงใด
  • ราคาทองคำกับราคาน้ำมันสัมพันธ์กันเพียงใด
  • ดัชนี SET กับดัชนีดาวโจนส์สัมพันธ์กันเพียงใด
  • ราคาน้ำตาลตลาดโลกกับราคาหุ้นของโรงงาน้ำตาลในไทยสัมพันธ์กันเพียงใด

พรุ่งนี้มาดูคำตอบกัน

No comments: