Tuesday, April 27, 2010

26/04/2010 * กลยุทธ์ LTF, RMF

วันนี้ดัชนี SET ปิดที่ 764.34 จุด เพิ่มขึ้น 9.76 จุด

สำหรับหุ้นในกลุ่ม SET50 วันนี้ไม่มีสัญญาณซื้อขาย ขณะนี้ถือหุ้นอยู่ทั้งหมด 16 ตัว

สำหรับกลุ่มฟิวเจอร์ส วันนี้ไม่มีสัญญาณซื้อขาย

สำหรับกลุ่มดัชนีตลาด ต่างประเทศ วันนี้ไม่มีสัญญาณซื้อขาย

ดังที่เราเคยคุยกันไปแล้วว่าลุงแมวน้ำคาดว่าดัชนี SET น่าจะจบคลื่น 3 (สีน้ำตาล) และหมายถึงการจบคลื่น B (สีน้ำเงิน) ไปแล้ว ตอนนี้เราน่าจะกำลังอยู่ในคลื่น C ถ้าลุงแมวน้ำประเมินถูก ดัชนีคงลงไปอีกลึก แต่ถ้าลุงแมวน้ำประเมินผิด ขณะนี้เราก็น่าจะอยู่ในคลื่น 4 (สีน้ำตาล) และต่อไปก็จะเข้าสู่คลื่น 5 (สีน้ำตาล) อันเป็นคลื่นลูกสุดท้ายของคลื่นขาขึ้น

ถ้าจะพูดแบบกำปั้นทุบดินก็คือตลาดถึงอย่างไรก็มีวันลง ไม่ช้าก็เร็วเท่านั้น แต่พูดไปก็ไม่มีประโยชน์ถ้าไม่ได้เตรียมการอะไรเอาไว้บ้าง

ที่ลุงแมวน้ำจะคุยในวันนี้ก็คือ คนในวัยทำงานที่มีการวางแผนการออมมักซื้อกองทุน LTF และ RMF ติดไว้บ้างเพื่อผลประโยชน์ด้านภาษี กองทุน LTF ก็คือกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (long term equity fund) ส่วนกองทุน RMF ก็คือกองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ (retirement mutual fund) ผู้ที่ซื้อกองทุนทั้งสองแบบสามารถนำไปหักลดหย่อนภาษีได้ ทำให้เสียภาษีน้อยลง อีกทั้งยังได้ผลตอบแทนจากกองทุนด้วย เรียกว่าได้ผลประโยชน์สองเด้ง

แต่เหรียญไม่ได้มีเพียงด้านเดียว เช่นเดียวกับกองทุนทั้งสองแบบนี้ก็ไม่ได้มีแต่ข้อดี เราจะมาดูข้อด้อยกัน

ข้อด้อยของกองทุน LTF ก็คือเป็นกองทุนที่เน้นการลงทุนในตราสารหุ้น คือกองทุนต้องจัดพอร์ตการลงทุนให้มีมีการลงทุนในหุ้นไม่น้อยกว่า 65% อีกทั้งต้องถือให้ครบ 5 ปีจึงจะขายคืนได้ ไม่อย่างนั้นจะต้องคืนสิทธิประโยชน์ด้านภาษีที่เราได้รับมาแล้วไป ลองคิดดูว่าหุ้นมีขึ้นมีลง หากต้องถือไว้ไม่น้อยกว่า 5 ปี จังหวะที่เราจะขายคืนเป็นช่วงตลาดขาลง เงินต้นอาจหดหายไปเท่าไรก็ไม่รู้ได้ สิทธิประโยชน์ด้านภาษีอาจไม่คุ้มกับเงินต้นที่หดไป นี่คือความเสี่ยง

ข้อด้อยของ RMF ก็คล้ายกัน คือต้องถือกองทุนจนอายุ 55 ปีและต้องถือมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปีจึงจะขายคืนได้ นี่คือความเสี่ยงในเรื่องเงื่อนเวลาอันจำกัด แต่ว่ากองทุน RMF มีอิสระในการจัดพอร์ตการลงทุนมากกว่า ไม่จำเป็นลงทุนในหุ้นอย่างน้อย 65% เช่น LTF จะลงทุนในตราหนี้หรือตราสารการเงินอื่นๆก็ได้

ปัญหาก็คือผู้ที่ถือ LTF และ RMF ซึ่งลงทุนในหุ้นค่อนข้างมาก หากถึงตลาดขาลงจะทำอย่างไร เพราะในคลื่นขาลงใหญ่ๆบางทีก็กินเวลาหลายปี ไม่ใช่หลายเดือน บางครั้งเราก็ทนดูทุนที่หดหายลงไปทุกวันเป็นเวลานานๆไม่ไหว หรือรอให้ทุนที่หดหายไปกลับฟื้นคืนมาไม่ได้เพราะว่ามีความจำเป็นต้องใช้เงินแล้ว ฯลฯ ถ้าเช่นนั้นผู้ที่ซื้อ LTF, RMF จะมีทางออกอย่างไรบ้าง

กองทุน LTF, RMF นั้นมีหลายกองทุนมาก ดำเนินการโดยหลายบริษัทจัดการกองทุน ซึ่งแต่ละแห่งจะมีเงื่อนไขต่างๆกัน คำแนะนำก็คือ

1. เลือกลงทุนกับบริษัทจัดการกองทุนที่ยืดหยุ่นเรื่องเวลาได้มาก เช่น สามารถสลับสับเปลี่ยนกองทุนได้ทุกวัน (ไม่ใช่ขายคืน แต่ว่าสับเปลี่ยนกองทุน)

2. ผู้ที่ถือกองทุน RMF ที่ลงทุนในหุ้นมากๆ ในตลาดขาขึ้นก็ถือกองทุนเอาไว้ แต่ในตลาดขาลงให้เปลี่ยนเป็นกองทุนที่ลงทุนในตราสารหนี้ พันธบัตร ฯลฯ ผลตอบแทนจะน้อยแต่ว่าความเสี่ยงต่ำกว่า

3. ผู้ที่ถือ LTF ในตลาดขาลง อาจเปลี่ยนไปถือกองทุน LTF ที่มีการป้องกันความเสี่ยงเอาไว้ กองทุน LTF ที่ป้องกันความเสี่ยงได้นี้คือกองทุนที่ลงทุนในหุ้นผสมกับฟิวเจอร์ส สมมติเช่น ซื้อหุ้นเอาไว้และชอร์ตฟิวเจอร์สเอาไว้ด้วย เมื่อหุ้นขึ้นกองทุนก็กำไรหุ้นแต่ขาดทุนฟิวเจอร์ส เมื่อขาลงก็ขาดทุนหุ้นแต่ไ้กำไรฟิวเจอร์ส รวมแล้วเท่าทุน แต่ผลตอบแทนของผู้ถือหน่วยจะไปได้มาจากเงินปันผลของหุ้นทั้งหลายที่กองทุนถือเอาไว้ กับผลตอบแทนคงที่อื่นๆ รวมๆแล้วผลตอบแทนของกองทุนฉลาดแบบนี้ก็ประมาณ 1-2% ต่อปี ตอนตลาดขาลงก็พักเงินไว้ในกองทุน LTF ฉลาดแบบนี้ กำไรน้อยแต่ทุนไม่หาย แล้วตอนตลาดขาขึ้นก็กลับไปถือกองทุน LTF ที่เน้นหุ้นอย่างเดิม แต่วิธีนี้ ต้องใช้ร่วมกับวิธีที่ 1 ด้วย คือต้องถือหน่วยลงทุนกับบริษัทจัดการที่มีความยืดหยุ่น ยอมให้สับเปลี่ยนได้ตลอดเวลา ไม่เช่นนั้นจะใช้กลยุทธ์นี้ไม่ได้


No comments: