หลังจากที่น้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 สมาชิกในคณะละครสัตว์ก็วุ่นวายต่อเนื่องกันมาอีกหลายเดือนทีเดียว สวนหลังโรงละครสัตว์ที่เคยสวยงามและลุงแมวน้ำแอบไปทำสวนครัวเล็กๆเอาไว้ก็ไม่มีใครดูแล แม้แต่ลุงแมวน้ำเองก็ไม่มีเวลาไปดูแลเท่าไร จนทำให้มีแขกที่ไม่ได้รับเชิญคืองูเหลือมสาวเข้ามานอนอ้วนพีอยู่เป็นเวลาหลายเดือน ดังที่ลุงแมวน้ำเคยเล่าให้ฟังไปแล้ว
หลังจากที่ปรึกษากันอยู่นาน ว่าจะปรับปรุงสวนตอนนี้ดีหรือไม่ ชาวคณะละครสัตว์ก็คิดเห็นกันไปคนละทาง บ้างก็บ้างก็ว่าปรับปรุงตอนนี้เลย สมาชิกในคณะจะได้ใช้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจหลังการแสดงและในวันหยุด บ้างก็บอกว่าอย่าเพิ่งปรับปรุง ให้ดูไปก่อนว่าปีนี้น้ำจะท่วมอีกหรือไม่ จะได้ไม่เสียแรงเปล่า บ้างก็ว่าอย่าปร้บปรุงเลย พวกนี้มาในแนวขี้เกียจคือไม่อยากออกแรงให้เหนื่อย และบ้างก็ว่ายังไงก็ได้ ขอตามเสียงส่วนใหญ่
หลังจากประเมินสถานการณ์กันแล้ว คาดว่าปีนี้ฝนน่าจะน้อยกว่าปีที่แล้ว ดังนั้นสมาชิกคณะละครสัตว์จึงตัดสินใจปรับปรุงสวนไปเลยในตอนปลายเดือนพฤษภาคม ด้วยคะแนนเสียงที่มากกว่าเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และหลังจากนั้นก็ช่วยกันปรับปรุงสวนกันคนละไม้ คนละมือ ตัวละครีบ ฯลฯ ลุงแมวน้ำเคยบอกว่าจะเอาภาพสวนที่ปรับปรุงแล้วมาให้ดู วันนี้เลยไปถ่ายมาให้ดูกัน ภาพนี้เป็นมุมหนึ่งในสวนหลังคณะละครสัตว์ ทำเป็นมุมไม้น้ำเล็กๆ ตามภาพด้านบน
ตอนที่ปรับปรุงสวนนั้นใครๆก็พากันบ่นลุงแมวน้ำ เนื่องจากลุงแมวน้ำปลูกต้นไม้ใส่กระถางขนาดต่างๆเอาไว้เต็มสวนไปหมด เวลาวางกระถางมากมายลงไปในสวนแล้วทำให้สวนดูรก ทุกตัวจึงพร้อมใจกันเนรเทศกระถางต้นไม้ของลุงแมวน้ำมารวมกันไว้ที่มุมสวนมุมหนึ่ง แล้วบอกให้ลุงแมวน้ำไปหาทางจัดการเอาเอง เนี่ย ลุงแมวน้ำยังหาทางจัดการกับไม้กระถางทั้งหลายนี้ไม่ได้เลย จะเอาไปวางในสวนอีกก็ไม่มีใครยอม ฮือ ใจร้ายกันจัง และช่วงนี้ลุงมีเวลาดูแลสวนน้อยลงไปอีกเพราะต้องศึกษาเรื่องการทำธุรกิจ ก็เลยหมกกระถางต่างๆเอาไว้ตรงนั้นก่อน แต่ก็พยายามรดน้ำ ใส่ปุ๋ยบ้าง แต่ต้นไม้ต่างๆก็โทรมลงทุกวันเพราะอยู่กันอย่างแออัด แสงแดดไม่พอ แล้วอยู่เบียดๆกันนี่เวลามีโรคหรือแมลงลงก็มีโอกาสโดนกันถ้วนหน้า
หลายวันก่อนลุงแมวน้ำเป็นหวัด จึงนึกถึงสมุนไพรแก้หวัดชนิดหนึ่งขึ้นมา ลุงแมวน้ำปลูกเอาไว้ต้นหนึ่ง นั่นคือต้น ฟ้าทะลายโจร ลุงแมวน้ำใช้ได้ผลดี ดังนั้นจึงคิดจะนำมาเขียนให้พวกเราอ่านกันในวันหยุด เพราะว่าช่วงนี้อากาศเปลี่ยนแปลง มีคนเป็นหวัดกันไม่น้อยทีเดียว แถมบางคนยังเป็นโรคหวัด 2009 อีกด้วย หลังจากนั้นก็ไปรื้อกองกระถางจนได้ต้นฟ้าทะลายโจรที่ปลูกเอาไว้มาเพื่อถ่ายรูป แต่เห็นฟ้าทะลายโจรแสนรักของลุงแมวน้ำแล้วก็ใจหาย เดิมนั้นต้นใหญ่ เขียวสวยเชียว แต่ตอนนี้มันแห้งตายไปเกือบหมด เหลือต้นอ่อนที่ยังรอดอยู่เพียงต้นเดียว :-(
ฟ้าทะลายโจรนี้ทำไมจึงชื่อฟ้าทะลายโจรลุงแมวน้ำก็ไม่ทราบเหมือนกัน ยังหาความเป็นมาไม่พบ คำนี้ต้องเขียนว่า ฟ้าทะลายโจร ไม่ใช่ ฟ้าทลายโจร เราลองมาทำความรู้จักกับพืชชนิดนี้กันก่อน
ฟ้าทะลายโจรนั้นเป็นพืชล้มลุก ต้นเตี้ย ตระกูลเดียวกับกะเพรา โหระพา และต้อยติ่ง มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า แอนโดรกราฟิส แพนิคัลลาตา (Andrographis paniculata) ต้นสูงประมาณ 30 ซม. ถึง 70 ซม. มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดียและศรีลังกา แต่พบได้ทั่วไปในเอเชียใต้และเอเชียอาคเนย์ อาทิ จีน อินเดีย ไทย มาลเซีย ฯลฯเป็นสมุนไพรที่ชาวอินเดียใช้เป็นยามานานแล้วตามแนวการแพทย์แบบอายุรเวท ใช้แก้ไข้ แก้อักเสบ แก้พิษงู ต่อมาก็ไปแพร่หลายในประเทศจีน โดยจีนมีชื่อเรียกพืชชนิดนี้หลายอย่าง แต่ชื่อที่นิยมและรู้จักกันดีก็คือชวนซินเหลียน (สำเนียงแมนดาริน หากเป็นสำเนียงแต้จิ๋วเรียกชวงซิมเน้ย)
สรรพคุณหลักของฟ้าทะลายโจรในประเทศจีนนั้นได้แก่ แก้ติดเชื้อ แก้อักเสบ แก้ไข้ แก้หวัด และเป็นยาเจริญอาหาร ทางการแพทย์จีนนั้นมีการศึกษาค้นคว้าวิจัยฟ้าทะลายโจรกันมาก และจัดฟ้าทะลายโจรเป็นยาสมุนไพรพื้นฐานชนิดหนึ่ง นอกจากมีในรูปของยาเม็ดสมุนไพรแล้วยังมีการผลิตในรูปสารสกัดและยาฉีดอีกด้วย
สำหรับในประเทศไทยนั้น แนวทางการแพทย์แผนไทยใช้ทะลายโจรแก้ไข้ แก้บิด (หมายถึงอาการปวดท้อง ทองเดิน) แก้ไข้ แก้หวัด แก้ฝี แก้งูสวัด แก้เริม ฯลฯ โดยสมุนไพรฟ้าทะลายโจรนี้ในประเทศไทยมีชื่อท้องถิ่นอยู่หลายชื่อ เช่น หญ้ากันงู (สงขลา) ฟ้าละลายโจร (กรุงเทพฯ) ฟ้าสาง (พนัสนิคม) เขยตายยายคลุม (โพธาราม) สามสิบดี (ร้อยเอ็ด) เมฆทะลาย (ยะลา) ฟ้าสะท้าน (พัทลุง) น้ำลายพังพอน ฯลฯ
สำหรับชื่อ เขยตายยายคลุม นั้นระวังอย่าสับสนกับชื่อสมุนไพร เขยตายแม่ยายชักปรก หรือ เขยตายแม่ยายปรก นั่นคนละต้นกัน แต่ก็น่าสังเกตว่าต้นเขยตายแม่ยายปรกนั้นตามตำราสมุนไพรไทยมีฤทธิ์แก้พิษ ส่วนต้นเขยตายยายคลุม (ฟ้าทะลายโจร) นั้นตามตำราสมุนไพรไทยและอินเดียก็ใช้แก้พิษเช่นกัน ชื่อและสรรพคุณที่คล้ายคลึงกันนี้อาจมีส่วนสัมพันธ์กันก็เป็นได้
เนื่องจากฟ้าทะลายโจรนั้นเป็นสมุนไพรที่ใช้ได้ผลดี ดังนั้นจึงมีการค้นคว้าวิจัยกันมากถึงสรรพคุณ สารออกฤทธิ์ และกลไกการออกฤทธิ์ ในเชิงวิทยาศาสตร์ รวมทั้งมีการวิจัยทางคลินิกสนับสนุน จึงทำให้เรามีความรู้เกี่ยวกับฟ้าทะลายโจรในเชิงวิทยาศาสตร์ค่อนข้างดีทีเดียว สรรพคุณของฟ้าทะลายโจรที่มีผลการวิจัยทางการแพทย์สนับสนุนได้แก่
- ฤทธิ์ลดการบีบตัวของลำไส้ ทำให้บรรเทาอาการปวดท้องและถ่ายท้อง
- ฤทธิ์ต้านแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคท้องเสียบางชนิด
- ฤทธิ์ลดอาการอักเสบโดยไปยับยั้งไซโตไคน์ (cytokine) อันเป็นสารที่ร่างกายสร้างขึ้นในกระบวนการอักเสบ
- ฤทธิ์สร้างภูมิต้านทาน มีงานวิจัยทางคลินิกรายงานว่าฟ้าทะลายโจรสามารถเพิ่มปริมาณ CD4 ในกรณีผู้ป่วยภูมิคุ้มกันบกพร่องได้ด้วย
- ฤทธิ์ลดไข้
- ฤทธิ์ป้องกันไข้หวัด
- ฤทธิ์บรรเทาอาหารเจ็บคอ บรรเทาอาการหวัด ลดการแบ่งตัวของเชื้อไวรัส
ใบฟ้าทะลายโจร มีสารเคมีประกอบอยู่หลายประเภท แต่ที่เป็นสาระสำคัญในการออกฤทธิ์ คือ สารกลุ่มแลกโทน (lactone) คือ สารแอนโดรกราโฟไลด์ (andrographolide), สารนีโอแอนโดรกราโฟไลด์ (neo-andrographolide), สาร 14-ดีออกซีแอนโดรกราโฟไลด์ (14-deoxy-andrographolide)
สรรพคุณสำคัญของฟ้าทะลายโจรที่ลุงแมวน้ำอยากพูดถึงก็คือสรรพคุณที่เกี่ยวกับไข้หวัด อันเป็นกลุ่มสรรพคุณที่ใกล้ตัวเรามากที่สุดเนื่องจากเรามีโอกาสเป็นหวัดกันบ่อยๆทั้งไข้หวัดธรรมดา (common cold) และไข้หวัดใหญ่ (influenza)
จากการทดลองทางคลินิก อันหมายถึงการทดลองใช้ยากับมนุษย์ พบว่าการกินฟ้าทะลายโจรอย่างต่อเนื่องจะทำให้ลดความเสี่ยงในการเป็นหวัดลงได้ นี่เป็นผลในเชิงป้องกัน รวมทั้งหากในกรณีที่เป็นหวัดแล้ว เมื่อเริ่มมีอาการหวัด (สังเกตได้จากอาการครั่นเนื้อครั่นตัว ปวดเมื่อย เจ็บคอเล็กน้อย) หากรีบกินฟ้าทะลายโจร อาการที่เป็นผลจากหวัด เช่น เป็นไข้ เจ็บคอ น้ำมูกไหล ปวดหัว อ่อนเพลีย เหล่านี้จะไม่รุนแรงนัก
สมุนไพรฟ้าทะลายโจรนี่ไม่ใช่สมุนไพรธรรมดา เนื่องจากมีงานวิจัยสนับสนุนทั้งด้านเภสัชวิทยาและด้านคลินิกอยู่มากทั้งในและต่างประเทศ ตอนนี้ยาฟ้าทะลายโจรถูกจัดอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ สามารถใช้รักษาโรคได้ทัดเทียมยาฝรั่ง ซึ่งลุงแมวน้ำเห็นว่าดีกว่ายาฝรั่งเสียอีก ถือได้ว่าเป็นสมุนไพรล้ำค่าของไทยชนิดหนึ่ง
จากประสบการณ์ของลุงแมวน้ำเอง เมื่อก่อนตอนที่เป็นหวัด ลุงแมวน้ำจะมีอาการเริ่มต้นคือครั่นเนื้อครั่นตัว ปวดเมื่อย ปวดหัว และเจ็บคอเล็กน้อย หากไม่ทำอะไร ปล่อยให้อาการดำเนินไปเรื่อยๆ สักสามวันต่อมาอาการก็จะแย่ลง มีไข้ ปวดหัว อ่อนเพลีย และเจ็บคอมาก แต่ในระยะสองสามปีมานี้ เมื่อไรที่ลุงแมวน้ำเริ่มมีอาการหวัดดังกล่าว ลุงแมวน้ำก็จะกินยาฟ้าทะลายโจร (ปริมาณใช้ตามที่ระบุในฉลากข้างขวด) ร่วมกับวิตามันซีวันละ 2000 มิลลิกรัม กินไปเรื่อยๆ อาการก็จะหยุดอยู่แค่นั้นแหละ คือแค่ครั่นเนื้อครั่นตัวนิดหน่อย และเจ็บคอเล็กน้อย หลังจากนั้นอาการต่างๆก็จะหายไป กินต่อเนื่องสัก 7 วันก็หยุดกินได้
จากประสบการณ์ของลุงแมวน้ำ ฟ้าทะลายโจรนี่บรรเทาหวัดได้ดีกว่ายาพาราเซตามอล เพราะยาพาราเซตามอลทำได้แค่เพียงลดไข้เท่านั้น แต่ฟ้าทะลายโจรสามารถป้องกันและบรรเทาอาการหวัดได้ ข้อเสียของฟ้าทะลายโจรมีอยู่เพียงอย่างเดียวคือแพง เพราะฟ้าทะลายโจรแคปซูลราคาประมาณเม็ดละ 1 บาท ถึง 1.50 บาท วันหนึ่งกินตั้ง 12 เม็ด ค่ายาวันหนึ่งตกประมาณ 12-18 บาท ราคาขึ้นอยู่กับยี่ห้อ มีผู้ผลิตมากมายหลายรายแต่ส่วนใหญ่ราคาก็มักจะประมาณที่ว่านี้ แต่ถ้ากินพาราเซตามอล ค่ายาวันหนึ่งเพียง 3-8 บาท เท่านั้น ดังนั้นจุดอ่อนที่ยาสมุนไพรของไทยไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร ไม่ว่าจะเป็นฟ้าทะลายโจร ขมิ้นชัน และยาอื่นๆที่อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ส่วนหนึ่งก็เพราะเรื่องราคานั่นเอง
แต่ลุงแมวน้ำไปเจอยาเม็ดฟ้าทะลายโจรที่เป็นยาราคาประหยัดอยู่ยี่ห้อหนึ่ง เป็นยาเม็ดฟ้าทะลายโจรตราใบห่อ ใส่กล่องกระดาษ หน้าตาไม่สวย กล่องหนึ่งมี 80 เม็ด ราคา 20 บาท คิดแล้วราคาเม็ดละ 25 สตางค์หรือหนึ่งสลึงเท่านั้น ลุงแมวน้ำใช้แล้วก็ได้ผลดี บรรเทาอาการหวัดได้ดีทีเดียว และที่ดียิ่งกว่านั้นก็คือไม่เป็นพิษต่อตับด้วย
จากภาพ ด้านซ้ายมือเป็นฟ้าทะลายโจรแคปซูล ตราอภัยภูเบศร์ ยี่ห้อนี้ใช้สมุนไพรจากแหล่งแบบเกษตรอินทรีย์ ส่วนด้านขวาเป็นตราใบห่อ
บางคนคงอยากถามว่าลุงแมวน้ำเล่าเรื่องปลูกฟ้าทะลายโจร แต่แล้วก็มาซื้อกิน ทำไมไม่เด็ดใบจากต้นที่ปลูกมากิน คำตอบก็คือมันขมมากกกกกกก ขมสุดๆ ขมกว่ามะระไม่รู้กี่เท่า (แต่ยังไม่ได้ลองเทียบกับบอระเพ็ด) ทนกินไม่ไหวหรอก ลุงก็ปลูกไปยังงั้นแหละ แต่เมื่อไรที่ต้องการใช้ก็ไปซื้อยาเม็ดมากิน
วันนี้คุยวิชาการเยอะหน่อย ก็เพราะรู้ว่าบางคนไม่เชื่อมั่นในยาสมุนไพร คิดว่าถึงอย่างไรก็สู้ยาแผนปัจจุบันไม่ได้ ก็เลยอยากสร้างความมั่นใจให้
ข้อควรระวังก็มีอยู่บ้าง สตรีมีครรภ์หรืออยู่ในระยะให้นมไม่ควรกิน รวมทั้งหากกินแล้วมีอาการท้องเดิน ใจสั่น วิงเวียน ให้รีบหยุดยา หากกินฟ้าทะลายโจรติดต่อกัน 3 แล้วยังไม่เห็นผล ก็ควรหยุดยาเช่นกัน
ช่วงนี้เป็นหน้าฝน มักเป็นหวัดกัน ลองหายาฟ้าทะลายโจรมาตรียมไว้บ้างก็คงไม่เลว
No comments:
Post a Comment