Wednesday, June 20, 2012

19/02/2012 * ผลของ operation twist ต่อเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา (1)


การลงทุนและค่าเงิน 20/06/2012 (รายงานวันเทรดที่ 19/06/2012)



วันที่ 19/06/2012 ตลาดหุ้นย่านเอเชียแปซิฟิกจับทิศทางไม่ได้เพราะมีทั้งปิดเขียวและปิดแดง ที่ปิดลงลง เช่น ญี่ปุ่น -0.8% จีน -0.7% ที่ปิดเขียวก็มีอินเดีย +0.9% สิงคโปร์ +0.6% และไทย

ตลาดหุ้นไทย SET index ปิดที่ 1173.09 จุด (+0.8%) มาแรงเอาในช่วงบ่าย แต่ต่างชาติขายสุทธิอีก 1037 ล้านบาท

ตลาดฝั่งยุโรปวันนี้ไม่สับสน เปิดตลาดเขียวอ่อนๆ เหมือนกับลังเลว่าจะไปทางไหนดี ลังลอยู่จนตลาดสหรัฐอเมริกาเปิดนั่นแหละจึงได้เริ่มวิ่ง ดัชนีเอเธนส์ คอมโพสิต ของกรีซยังขึ้นต่อ +3.8% ดัชนี DAX ของเยอรมนีปิด +1.8%

ตลาดหุ้นฝั่งอเมริกาวันนี้บราซิลกับสหรัฐอเมริกาเขียวสวย เทรดกันกระดานเขียวตั้งแต่ต้นจนปิดตลาด ด้านบราซิลดัชนีโบเวสปา (Bovespa Index) +1.9% ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ (DJI) ของสหรัฐอเมริกา +0.8% โดยมาอ่อนแรงท้ายตลาด

ทางด้านค่าเงิน วันที่ 19/06/2012 เงินดอลลาร์ สรอ อ่อนตัวต่อเนื่องตลอดทั้งวัน ดัชนีดอลลาร์ สรอ ปรับตัวในกรอบ 81.2 จุดถึง 82.0 จุด เงินสกุลยุโรปแข็งค่า เงินยูโรกับฟรังก์สวิส +0.9% เงินโครน +0.7% เงินโครนา +0.7%

ทางด้านเงินเอเชียแปซิฟิกส่วนใหญ่แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย ดอลลาร์ออสเตรเลีย +0.6% เงินเยน +0.2% บาท +0.1% ดอลลาร์สิงคโปร์ +0.3%

ทางด้านตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ กลุ่มน้ำมันดิบ wti +1.0% ส่วนน้ำมันดิบเบรนต์ -0.2% น้ำมันดิบ wti ขึ้นเพราะตลาดหุ้น สรอ ขึ้น เป็นปัจจัยภายในของสหรัฐอเมริกา ส่วนน้ำมันดิบเบรนต์สะท้อนภาวะตลาดโลกได้ดีกว่า ด้านทองคำ -0.4% ทองแดงทรง +1.1 โลหะเงิน -1.0% สินค้าเกษตรวันนี้ปรับตัวขึ้นแรงต่อจากเมื่อวาน ดัชนีสินค้าเกษตร 77.28 จุด (+4.0%)

เช้านี้ (20/06/2012) ดัชนีดอลลาร์ สรอ (USD index) อยู่ที่ 81.4 จุด เงินยูโร 1.268 ดอลลาร์ สรอ/ยูโร เงินเยน 78.85 เยน/ดอลลาร์ สรอ เงินบาท 31.44 บาท/ดอลลาร์ สรอ

น้ำมันดิบ wti 83.9 ดอลลาร์ สรอ/บาเรล น้ำมันดิบเบรนต์ 95.7 ดอลลาร์ สรอ/บาเรล ทองคำ 1620 ดอลลาร์ สรอ/ทรอยออนซ์



ผลของ operation twist ต่อเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา (1)



วันก่อนลุงแมวน้ำเกริ่นเอาไว้ว่าจะมาคุยเรื่องการปรับพอร์ตตราสารหนี้ของธนาคารกลางของสหรัฐอเมริกาหรือที่เรียกว่ามาตรการโอเปเรชันทวิสต์ (operation twist) ที่กำลังจะสิ้นสุดลงในสิ้นเดือนมิถุนายน 2012 นี้ วันนี้เราลองมาดูกันว่าผลจากมาตรการปรับพอร์ตตราสารหนี้นี้เกิดผลกับเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาอย่างไรบ้าง ก็ดังที่เคยบอกว่าลุงแมวน้ำไม่ใช่นักเศรษฐศาสตร์ ดังนั้นก็คุยกันแบบแมวน้ำๆละกัน

อ้อ ที่จริงลุงแมวน้ำยังมีบทความค้างอยู่อีกเรื่องหนึ่ง มีแต่ตอน 1 ยังไม่มีตอน 2 แต่ขอคุยเรื่อง operation twist นี้ก่อนละกัน อยากคุยน่ะ ^__^

มาทบทวนกันสักเล็กน้อยก่อนว่ามาตรการ โอเปอเรชันทวิสต์ นี้คืออะไร ลุงแมวน้ำแนะนำให้ไปอ่านบทความเรื่อง Operation Twist เมื่อเฟดปรับพอร์ตตราสารหนี้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ นี้เสียก่อน จะได้เข้าใจบทความในวันนี้ได้ละเอียดยิ่งขึ้น แต่จะขอสรุปให้ฟังคราวๆว่าในช่วงต้นปี 2010 นั้น ขณะนั้นมาตรการ การผ่อนคลายเชิงปริมาณรอบแรก (quantitative easing 1, QE1) สิ้นสุดลง และต่อมาธนาคารกลางของสหรัฐอเมริกาก็ยังไม่ได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอะไรอีก จนมาในราวปลายปี คือเดือนพฤศจิกายน 2010 เฟดก็ได้ประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาอีก นั่นคือการผ่อนคลายเชิงปริมาณรอบสอง (QE2) หลังจากใช้ไปจนถึงราวกลางปี 2010 มาตรการนี้ก็สิ้นสุดลงอีก แต่สถานการณ์ด้านเศรษฐกิจยังไม่น่าพอใจ ชาวอเมริกันก็เรียกร้องการกระตุ้นเศรษฐกิจอีก

เนื่องจากการอัดฉีดเงินแบบมาตรการ QE มีต้นทุนสูง และภาครัฐเองมีข้อจำกัดเรื่องการก่อหนี้สาธารณะ เฟดจึงหลีกเลี่ยงที่จะใช้มาตรการอัดฉีดเงินแบบ QE อีก แต่จะไม่ใช้มาตรการอะไรเลยก็คงไม่ได้ ธนาคารกลางของสหรัฐอเมริกาจึงใช้เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบลดต้นทุน นั่นคือ การปรับพอร์ตตราสารหนี้แทน โดยซื้อพันธบัตรอายุยาวเข้ามาในพอร์ตมากขึ้นและขายพันธบัตรอายุสั้น (อายุ 3 ปีหรือต่ำกว่านั้น) ออกมาในตลาดตราสารหนี้ เพื่อผลทางเศรษฐกิจก็คือการกดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านให้ต่ำลง (หากงงควรอ่านบทความเรื่อง Operation Twist เมื่อเฟดปรับพอร์ตตราสารหนี้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ก่อน) ซึ่งเฟดมองว่าเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบต้นทุนต่ำ แต่จะได้ผลมากน้อยเพียงใดในตอนที่ออกมาตรการนั้นก็ยังไม่มีใครพิสูจน์ได้

มาถึงขณะนี้ก็กำลังจะสิ้นสุดโครงการอยู่แล้ว ตอนนี้คงพอเห็นผลแล้วละว่ากระตุ้นเศรษฐกิจได้มากน้อยเพียงใด เรามาดูกันไปทีละขั้น แล้วตอนท้ายลุงแมวน้ำจะสรุปให้ฟังอีกครั้งหนึ่ง

วัตถุประสงค์ในขั้นต้นของมาตรการปรับพอร์ตตราสารหนี้ของเฟดนี้ก็เพื่อปรับเส้นอัตราผลตอบแทนให้แบนราบลง (to flatten yield curve) เราลองมาดูกันว่าตั้งแต่กันยายน 2011 จนถึงมิถุนายน 2012 นั้นเส้นอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรอเมริกันหรือว่า US bond yield curve แบนลงจริงหรือไม่ ลองดูภาพต่อไปนี้


ภาพเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐอเมริกา ณ วันที่ 01/07/2011 กับ 18/06/2012



จากภาพ เส้นสีน้ำเงินเป็นเส้นอัตราผลตอบแทน ณ วันที่ 01/07/2011 ซึ่งเป็นเวลาก่อนหน้าที่เฟดจะใช้มาตรการ operation twist (ประกาศใช้เมื่อ 21/09/2011) รูปร่างของเส้นมีความชันอยู่พอสมควร นั่นคือ พันธบัตรอายุมากให้ผลตอบแทนสูงพอควร

ต่อมาดูที่เส้นสีเขียว เส้นสีเขียวนี้คือเส้นอัตราผลตอบแทน ณ วันที่ 18/06/2012 ซึ่งก็คือในปัจจุบันนี่เอง จะเห็นว่าอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรอายุยาวๆลดต่ำลง ส่วนอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรอายุสั้นๆก็เพิ่มขึ้นนิดหน่อย ดังนั้นโดยรวมแล้วเส้นอัตราผลตอบแทนในปัจจุบันแบนลงกว่าเมื่อก่อนหน้าใช้มาตรการนี้จริงๆ

แต่แม้ว่าเส้นอัตราผลตอบแทนจะเป็นไปตามทฤษฎีจริง แต่เรื่องที่เฟดและคนอเมริกันสนใจคงเป็นเรื่องการแก้ไขปัญหาปากท้อง ไม่ใช่เรื่องทฤษฎี ดังนั้นคงต้องมาดูกันว่ามาตรการนี้มีผลทางเศรษฐกิจมากน้อยเพียงใด

วัตถุประสงค์ของมาตรการ operation twist นี้คือกดอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรอายุยาวให้ต่ำลง ซึ่งอัตราดอกเบี้ยของพันธบัตรอายุยาว อย่างเช่น อายุ 30 ปี ฯลฯ เหล่านี้เป็นตัวกำหนดอัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อบ้านอีกทีหนึ่ง ดังนั้นเฟดหวังผลให้มาตรการนี้ไปกดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านให้ลดต่ำลงนั่นเอง

เหตุที่อัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านมีความสำคัญก็เพราะภาคอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐอเมริกานั้นเป็นภาคเศรษฐกิจขนาดใหญ่ มีสัดส่วนในจีดีพีสูง อีกทั้งเกี่ยวข้องการการจ้างงานจำนวนมาก และที่เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาติดหล่มจนทุกวันนี้ก็เนื่องจากฟองสบู่ของภาคอสังหาริมทรัพย์แตกนั่นเอง ดังนั้นเฟดมองว่าการขับเคลื่อนภาคอสังหาริมทรัพย์ด้วยการกดอัตราดอกเบี้ยจะช่วยให้ภาคอสังหาฯค่อยๆฟื้นตัว มีการลงทุนและมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น ซึ่งเมื่อภาคอสังหาฯดีขึ้น ภาคเศรษฐกิจอื่นๆก็จะได้รับอานิสงส์และดีขึ้นไปด้วย นี่คือมุมมองที่เฟดใช้มาตร operation twist นี้เพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบประหยัดต้นทุน (หมายถึงต้นทุนของเฟดเอง)

ทีนี้ลองมาดูกันว่ามาตรการโอเปเรชันทวิสต์นี้ได้ผลตามที่คาดหวังเอาไว้หรือไม่ ลองดูภาพต่อไปนี้กัน


ผลของมาตรการ operation twist จากตัวชี้วัดที่สำคัญบางตัว



ภาพบนนี้ครอบคลุมช่วงเวลาตั้งแต่ 03/2010 จนถึง 06/2012 แบ่งเวลาในภาพออกเป็นสามช่วง (ภาพที่เห็นนี้ไม่เต็มภาพ ส่วนขวามองไม่เห็น ต้องคลิกที่ตัวภาพเพื่อให้เห็นได้ทั้งหมด)

  • ช่วงแรก เป็นช่วงหลังจาก QE1 ที่ยังไม่มีมาตรการอะไรต่อ
  • ช่วงที่สอง เป็นช่วงที่ใช้ QE2
  • ช่วงที่สาม เป็นช่วงที่ใช้ operation twist

การที่เราจะประเมินผลของมาตรการนี้คงอาศัยความรู้สึกไม่ได้ แต่ต้องอาศัยตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจบางตัวเป็นเครื่องบ่งชี้ ซึ่งลุงแมวน้ำเลือกมาดูกัน 5 ดัชนี นั่นคือ

  • เส้นสีม่วง 30 Year USTreasury Rate อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอเมริกันอายุ 30 ปี
  • เส้นสีเขียว 30 Year US Mortgage Rate อัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบ้าน 30 ปี
  • เส้นนี้ฟ้า เป็นตัวชี้วัดที่เรียกว่า US Housing Starts คือ อัตราการก่อสร้างบ้านใหม่ ค่านี้มีหน่วยเป็นยูนิตต่อปี อัตราการก่อสร้างบ้านใหม่นี้หมายถึงว่าบ้านที่เริ่มมีการก่อสร้างแล้ว หากขออนุญาตก่อสร้างแล้วแต่ยังไม่ได้เริ่มก่อสร้างก็ยังไม่นับ ตัวนี้ชีวัดผลของ operation twist ได้ หากมาตรการได้ผลจริงค่า US housing starts จะต้องดีขึ้น
  • เส้นสีส้ม คือ US Unemployment Rate หรือ อัตราการว่างงานของคนอเมริกัน ดัชนีนี้ใช้เสริมเพื่อวัดผลของมาตรการปรับพอร์ตตราสารหนี้ได้ โดยหากภาคอสังหาฯฟื้นตัว ก็จะมีการจ้างงานเพิ่ม
  • เส้นสีแดง เป็นดัชนี S&P 500 ใช้เป็นตัวแทนของ ตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกา หากผลตอบแทนพันธบัตรอายุยาวต่ำทำให้ในระบบมีสภาพคล่องเพิ่มขึ้น ประชาชนอาจมีแรงจูงใจในการออมน้อยลง หันมาลงทุนในตลาดทุนกันมากขึ้น

ลุงแมวน้ำขอเก็บไว้คุยต่อวันถัดไป ตอนนี้สายแล้ว เขียนให้จบไม่ทันคร้าบ



ดัชนีตลาดหุ้นสำคัญในโลก เมื่อ 19/06/2012




อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราสกุลสำคัญ เมื่อ 19/06/2012

No comments: