Wednesday, June 27, 2012

27/06/2012 * ลงทุนอะไรดีในคลื่นเศรษฐกิจ C (2)



เมื่อวานและเมื่อคืนตลาดหุ้นทั่วโลกทรงตัว ส่วนใหญ่ปิดแบบบวกนิดลบหน่อย สินค้าโภคภัณฑ์ขึ้นต่อไปเล็กน้อย น้ำมันดิบ สินค้าเกษตรขึ้น ส่วนทองคำอ่อนตัว ทางด้านค่าเงินหรืออัตราแลกเปลี่ยน เงินดอลลาร์ สรอ แข็งค่าเล็กน้อย เงินตราสกุลยุโรปอ่อนตัวเล็กน้อย ส่วนเงินตราสกุลเอเชียแปซิฟิกแข็งค่าเล็กน้อย

สำหรับตลาดบ้านเรา SET index ปิดที่ 1151.09 (+0.3%) ต่างชาติขายสุทธิ 923 ล้านบาท ขณะเดียวกันเงินบาทอ่อนค่าเล็กน้อย -0.1%

วันนี้ลุงแมวน้ำขอสรุปตลาดเพียงคร่าวๆ จะขอสะสางบทความที่เขียนค้างเอาไว้ให้จบ จะได้สบายใจ นั่นคือเรื่อง ลงทุนอะไรดีในคลื่นเศรษฐกิจ C โปรดตามอ่านภาคแรกเสียก่อน จะได้ไม่งง ลงทุนอะไรดีในคลื่นเศรษฐกิจ C (1)

ขอทบทวนรูปภาพกันก่อน คราวที่แล้วเราดูภาพนี้กัน


กราฟเปรียบเทียบราคาสินทรัพย์ประเภทต่างๆในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ



ภาพนี้เป็นกราฟของอะไรหลายๆอย่างรวมกัน เรามาดูกรอบเวลากันก่อน ในภาพนี้กินเวลาตั้งแต่คลื่น A คลื่น B และคลื่น C ตามสมมติฐานที่ลุงแมวน้ำเคยนับคลื่นใหญ่เอาไว้ ที่จริงคลื่น A นั้นเริ่มตั้งแต่ปี 2007 แต่ว่าลุงแมวน้ำทำกราฟไปไม่ถึง ตัดตอนมาเริ่มที่ปี 2008 เลย

สินทรัพย์ที่เอามาเปรียบเทียบกันมี 4 อย่าง ก็คือ หุ้น ซึ่งลุงแมวน้ำใช้ดัชนี S&P 500 ของสหรัฐอเมริกาเป็นตัวแทนของสินทรัพย์ประเภทหุ้น ที่เห็นเป็นเส้นสีน้ำเงินใช้สัญลักษณ์ GSPC

นอกจากนี้ตัวแทนของหุ้นอีกตัวหนึ่งคือดัชนี DAX ของเยอรมนี เห็นเป็นเส้นสีเขียวอ่อนที่ล้อไปกับเส้นสีน้ำเงิน

สินทรัพย์อื่นก็มี คือ กลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ ทองคำ (ใช้สัญลักษณ์ GLD เส้นสีเขียวเข้ม) น้ำมันดิบ (ใช้สัญลักษณ์ DBO เส้นสีน้ำตาล) และ สินค้าเกษตร (ใช้สัญลักษณ์ DBA เส้นสีฟ้า)

และมีพิเศษอีกหนึ่งเส้น คือเส้นสีแดง EDV เส้นนั้นคือ กองทุนพันธบัตร กองทุนนี้ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลอเมริกันที่อายุประมาณ 20-30 ปีเป็นหลัก (คือดูเรชันสูง)

เรื่องกรอบเวลา จากในรูป โซนที่สีพื้นเป็นสีชมพูคือช่วงที่เป็นคลื่น A ส่วนโซนที่พื้นเป็นสีเขียวอ่อนคือช่วงที่เป็นคลื่น B ตามสมมติฐานของลุงแมวน้ำ และส่วนสุดท้าย โซนที่พื้นสีขาว คือช่วงที่ลุงแมวน้ำคาดว่าเป็นคลื่นเศรษฐกิจ C

ลุงแมวน้ำมองว่าคลื่น A กับ C นั้นมีลักษณะคล้ายกัน คือเป็นคลื่นขาลง เพียงแต่คลื่น C ยาวและอาจรุนแรงกว่า ดังนั้นลุงแมวน้ำจึงมีสมมติฐานว่ารูปแบบทางเศรษฐกิจอะไรที่เกิดขึ้นในคลื่น A ก็น่าจะเกิดขึ้นในคลื่น C เช่นเดียวกัน

ลุงแมวน้ำสรุปจากความในตอนที่แล้ว ตามภาพบน มีความเห็นว่าในคลื่น A นั้น หุ้น สินค้าโภคภัณฑ์ (ทองคำ น้ำมันดิบ สินค้าเกษตร) ปรับตัวลงหมด ยกเว้นเพียงอย่างเดียวคือพันธบัตรอเมริกันอายุยาวที่ราคาปรับตัวขึ้น (หมายถึงอัตราผลตอบแทนลดลง) เหตุการณ์น่าจะเป็นไปตามนี้ตลอดช่วงระยะเวลาของคลื่น A แต่แล้วก็มีเหตุการณ์แทรกซ้อนเข้ามา นั่นคือ การใช้มาตรการ QE1 ของเฟด ซึ่งทำให้ค่าเงินดอลลาร์ สรอ อ่อนตัวลง ราคาพันธบัตรอ่อนตัวลง และทองคำกลับขึ้นแทน

ดังนั้นลุงแมวน้ำจึงอนุมานเอาว่า ในสถานการณ์เศรษฐกิจคลื่น C หากไม่มีปัจจัยพิเศษมารบกวน เช่นการอัดฉีดเงินอย่างมโหฬารของเฟด พันธบัตรอเมริกันอายุยาวน่าจะเป็นที่พึ่งได้

ทีนี้มาดูกันต่อไปอีก อาจมีบางคนสงสัยว่าแล้วตลาดหุ้นเอเชีย และพันธบัตรเอเชียล่ะ หลายๆคนบอกว่าหากสหรัฐอเมริกากับยุโรปแย่ เงินจะไหลเข้ามาในเอเชีย นั่นคือโอกาสดีของตลาดหุ้นเอเชีย เราลองมาดูภาพต่อไปนี้กัน


กราฟเปรียบเทียบราคาสินทรัพย์ประเภทหุ้นและพันธบัตรเอเชียในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ



จากภาพ เส้นสีดำคือดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกา ดัชนี S&P 500 ส่วนสีแดงคือดัชนีเซ็ตของตลาดหุ้นไทย สีน้ำเงินคือดัชนีสเตรทส์ไทมส์ (Straits Times Index) ของตลาดหุ้นสิงคโปร์

สีส้มคือมูลค่าหน่วยลงทุนของกองทุนพันธบัตรตลาดเกิดใหม่ของอะเบอร์ดีน AEOB ซึ่งลุงแมวน้ำใช้เป็นตัวแทนของพันธบัตรเอเชีย และสุดท้ายสีเขียวคือ SPC หรือหุ้นสหพัฒนพิบูลนั่นเอง ลุงแมวน้ำใช้เป็นตัวแทนของ defensive stock

จากภาพ จะเห็นว่าในคลื่น A นั้นสินทรัพย์อะไรก็ลงหมด ส่วน SPC ก็ลง แต่แล้วก็ขึ้นได้ ดังนั้นลุงแมวน้ำจึงมีความเห็นแบบประวัติศาสตร์ย่อยซ้ำรอยเดิม นั่นคือ ในคลื่นเศรษฐกิจ C นั้นสินทรัพย์ประเภทหุ้นหรือพันธบัตรเอเชียนน่าจะไหลลงตามตลาดยุโรปและ สรอ จึงไม่น่าลงทุน ส่วนหุ้นดีเฟนซีฟนั้นลุงแมวน้ำคิดว่าก็ยังไม่แน่ว่าจะปลอดภัย เพราะว่าคลื่น C นั้นรุนแรงและยาวนานกว่าคลื่น A แม้หุ้นดีเฟนซีฟก็อาจทานไม่ไหวในท้ายที่สุด และอีกประการ หุ้นประเภทนี้สภาพคล่องน้อย หากเดือดร้อนต้องการเงินสดบางทีก็ขายไม่ได้ หรือขายได้แต่ขาดทุนมากเพราะหุ้นไม่มีสภาพคล่อง ต้องถูกกดราคา ก็ต้องระวังเอาไว้บ้าง

คำถามต่อมาก็คือ หากจะลงทุนในอัตราแลกเปลี่ยนล่ะ ก็ลองดูภาพต่อไปนี้


กราฟเปรียบเทียบราคาสินทรัพย์ประเภทหุ้นและอัตราแลกเปลี่ยนในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ 




จากภาพ เส้นสีคำคือดัชนี S&P500 ของ สรอ เช่นเคย ส่วนสีแดงคือ SET Index ของตลาดหุ้นไทย เอาไว้ดูเปรียบเทียบ

เส้นสีน้ำตาลคือดัชนีดอลลาร์สหรัฐอเมริกา (USD index)
เส้นสีส้มคือค่าเงินเยนของญี่ปุ่น (Japanese Yen, JY)
เส้นสีน้ำเงินคือค่าเงินยูโร (Eurocurrency, EC)
เส้นสีเขียวคือค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลีย (Australian dollar, AD)

จากภาพ จะเห็นว่าดอลลาร์ออสเตรเลียที่ว่าแข็งมากก็่อ่อนค่าลงในช่วงคลื่น A ลงไปพร้อมกับตลาดหุ้น มีแต่เงินดอลลาร์ สรอ หรือ USD index เท่านั้นที่แข็งค่า แต่อย่างไรก็ตาม ผลจากการแทรกแซงของ QE1 ทำให้ usd index อ่อนค่าในเวลาต่อมา แต่ที่เห็นเด่นชัดที่สุดก็คือเงินเยนของญี่ปุ่น ซึ่งมีแนวโน้มขาขึ้นมาโดยตลอด

ดังนั้นความเห็นของลุงแมวน้ำก็คือ ในคลื่น C เงินเยนน่าจะแกร่งที่สุด ผันผวนน้อยกว่าทองคำด้วย น่าจะพอฝากเนื้อฝากตัวได้ และหากไม่มีมาตรการแทรกแซงค่าเงินใดๆ เงินดอลลาร์ สรอ น่าจะเป็นที่พึ่งได้ แต่หากมีมาตรการ เช่น QE3 ก็ต้องมาดูกันอีกที

ด้านสินค้าเกษตรนั้นไม่แน่นอน ขึ้นกับภูมิอากาศและฤดูกาล หากมีปัจจัยคุกคามเกิดขึ้นสินค้าเกษตรจึงจะขึ้นได้ ไม่เช่นนั้นแล้วราคาก็คงเป็นขาลงตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ 

ทั้งหมดนี้ลุงแมวน้ำคาดการณ์โดยประเมินจากเหตุการณ์ในคลื่น A การคาดการณ์ก็คือยังไม่แน่ ใครจะไปรู้อนาคตล่ะ ดังนั้นต้องเตรียมรับความกับความเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ

ทางเลือกในการลงทุนที่ลุงแมวน้ำอยากแนะนำก็คือ ในคลื่นเศรษฐกิจ C การอยู่เฉยๆ ฝากเงินในกองทุนตลาดเงิน ได้ดอกเบี้ยนิดหน่อย แต่ก็สบายใจดี ถือเป็นทางเลือกในการลงทุน (หรือจะเรียกว่าพักการลงทุนก็ได้) ที่ดีที่สุด ขาลงไม่ต้องลงทุนก็ได้ เอาไว้ลงทุนตอนขาขึ้นก็ไม่สาย






No comments: