วันนี้ดัชนี SET ปิดที่ 1,029.59 จุด เพิ่มขึ้น 3.31 จุด
หุ้นในกลุ่ม SET50 วันนี้มีสัญญาณซื้อ DELTA ขณะนี้โปรแกรมถือหุ้นอยู่รวมทั้งสิ้น 13 ตัว
กลุ่มฟิวเจอร์ส วันนี้มีสัญญาณซื้อขายฝ้าย (CT) และมีสัญญาณซื้อ LH ขณะนี้สินค้าเกษตรกลายเป็นแนวโน้มขาลงไปแล้วทั้งกลุ่ม
ตลาดต่างประเทศ วันนี้ตลาดหุ้นย่านเอเชียแปซิฟิก มีทั้งปิดบวกและปิดลบคละกัน ส่วนตลาดยุโรปนั้นปิดลบเป็นส่วนใหญ่จากเรื่องกังวลเดิมคือปัญหาหนี้สาธารณะของกรีซและของประเทศอื่นๆในกลุ่มยูโรโซน ทางด้านสหรัฐอเมริกาเองนั้นในช่วงต้นตลาดและกลางตลาดมีการแกว่งตัวขึ้นลงตามปกติ แต่ในช่วงท้ายเวลาทำการของตลาดสหรัฐอเมริกา ธนาคารกลางของวหรัฐหรือเฟดก็ได้ประกาศใช้มาตรการ operation twist เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งผลให้ตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกาปรับตัวลงอย่างรวดเร็ว จนในที่สุดดัชนีดาวโจนส์ (DJIA) ปิดตลาดโดยปรับตัวลดลงถึง 283 จุดหรือ -2.5%
Operation Twist เมื่อเฟดปรับพอร์ตตราสารหนี้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
วันนี้ในช่วงท้ายตลาดของสหรัฐอเมริกา ธนาคารกลางของสหรัฐอเมริกา หรือ เฟด (FED) ได้ประกาศใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เรียกว่า operation twist โดยไม่ได้ใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงินรอบสาม (QE3) เราลองมาดูกันว่า operation twist คืออะไร
ก่อนอื่นมาทบทวนเรื่องมาตรการผ่อนคลายทางการเงิน (quantitative easing, QE) หรือที่เรียกกันว่ามาตรการ QE กันก่อน มาตรการที่เรียกชื่อไพเราะว่ามาตรการผ่อนคลายทางการเงินนั้นเป็นมาตรการที่ธนาคารกลางของประเทศสหรัฐอเมริกาประกาศใช้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ โดยเนื้อหาสาระหลักของมาตรการ QE นี้ก็คือพิมพ์เงินเพิ่มแล้วใส่เข้าไปในระบบเศรษฐกิจโดยผ่านช่องทางระบบธนาคาร วิธีการของเฟดก็คือพิมพ์เงินเพิ่ม (อาจไม่ใช่การพิมพ์ธนบัตรเพิ่มจริงๆเพราะปัจจุบันใช้ธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ได้ แต่นัยก็คือเพิ่มปริมาณเงินเข้าไปในระบบเสมือนกับการพิมพ์เงินเพิ่ม) แล้วนำเงินไปซื้อตราสารหนี้ที่ธนาคารพาณิชย์ต่างๆถือครองอยู่ ผลก็คือธนาคารพาณิชย์จะมีเงินสดอยู่ในมือมากขึ้นอันเกิดจากการขายตราสารหนี้ให้แก่เฟด เฟดมีสมมติฐานว่าเมื่อธนาคารมีสภาพคล่องหรือว่ามีเงินสดมากขึ้นก็ย่อมจะปล่อยสินเชื่อแก่ประชาชนได้มากขึ้น เมื่อประชาชนขอสินเชื่อได้ก็จะมีเงินสดในครัวเรือนเอาไว้จับจ่ายใช้สอยมากขึ้น เมื่อประชาชนมีเงินจับจ่าย เศรษฐกิจก็จะหมุนเวียนและในที่สุดจะพ้นจากสภาพเศรษฐกิจติดหล่มดังที่เป็นอยู่นี้ได้
มาตรการพิมพ์เงินเพิ่มใส่เข้าไปในระบบเศรษฐกิจหรือมาตรการ QE นี้ส่งผลทำให้รัฐต้องขาดดุลงบประมาณ (เนื่องจากต้องทุ่มเงินไปซื้อพันธบัตร) และเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น (เนื่องจากการพิมพ์เงินตราเพิ่มทำให้เงินตราด้อยค่าลง ผลก็คือเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น) ซึ่งเฟดคิดว่าต้องแลกกัน ได้อย่างก็ต้องเสียอย่าง หากจะกระตุ้นเศรษฐกิจก็ต้องยอมขาดดุลงบประมาณและยอมให้เงินเฟ้อ แต่ผลที่ได้ไม่เป็นไปตามคาด เงินเฟ้อเกิดขึ้นจริงแต่การกระตุ้นเศรษฐกิจนั้นไม่ได้ผลเนื่องจากสภาพคล่องที่ธนาคารพาพาณิชย์มีเพิ่มขึ้นนั้นธนาคารเก็บเอาไว้เป็นส่วนใหญ่ การปล่อยสินเชื่อทำอย่างระมัดระวังมากเพราะเกรงหนี้เสีย ทำให้ปล่อยสินเชื่อได้น้อย ผลก็คือประชาชนยังไม่มีเงินสดไว้จับจ่าย ดังนั้นมาตรการ QE ทั้งรอบแรก (QE1) และรอบสอง (QE2) ก็ยังไม่สามารถเพิ่มอัตราการจ้างงาน รวมทั้งไม่สามารถฉุดเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาที่ติดหล่มอยู่ให้ฟื้นขึ้นมาได้
หลังจากที่สิ้นสุดมาตรการ QE2 เศรษฐกิจยังไม่ดีขึ้น เฟดลังเลที่จะใช้มาตรการพิมพ์เงินเพิ่มรอบสามหรือว่า QE3 เพราะเกรงว่าจะไม่คุ้มค่าเหมือนเดิม นอกจากนี้ รัฐบาลสหรัฐอเมริกาจำเป็นต้องรัดเข็มขัดแล้วเนื่องจากปัญหาหนี้สาธารณะสูง จึงไม่สามารถทุ่มเงินเพื่อทำมาตรการ QE3 ได้อีก ดังนั้นเครื่องมือกระตุ้นเศรษฐกิจที่เฟดพอจะใช้ได้ภายใต้ภาวะที่ต้องรัดเข็มขัดก็คือการใช้มาตรการที่เรียกว่า operation twist นั่นเอง
มาตรการ operation twist นั้นเป็นชื่อเรียกให้ฟังไพเราะ แต่ความหมายที่แท้จริงแล้วก็คือการปรับพอร์ตตราสารหนี้ของเฟดนั่นเอง
ธนาคารกลางของสหรัฐอเมริกานั้นก็มีพอร์ตตราสารหนี้อยู่ พอร์ตของเฟดมีไว้เพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ภายในพอร์ตประกอบด้วยตราสารหนี้ของรัฐอายุต่างๆ เช่น สามเดือน หกเดือน หนึ่งปี สามปี ห้าปี สิบปี สิบห้าปี และสามสิบปี ฯลฯ ตราสารหนี้แต่ละรุ่นอายุก็ให้ผลตอบแทนแตกต่างกัน สมมติเช่น ตราสารหนี้อายุหกเดือนให้ผลตอบแทน 0.01% ตราสารหนี้อายุสิบปีให้ผลตอบแทน 1.9% ตราสารหนี้อายุสามสิบปีให้ผลตอบแทน 2.9% เป็นต้น
จะเห็นว่าตราสารหนี้อายุยาวให้ผลตอบแทนกว่าตราสารหนี้อายุสั้น หากเปรียบตราสารหนี้เป็นหุ้นตัวหนึ่ง ตราสารหนี้อายุยาวสามสิบปีก็เปรียบได้กับหุ้นที่ราคาไม่แพงและจ่ายปันผลงาม ใครๆก็อยากซื้อเก็บไว้กินปันผล แต่ผลข้างเคียงที่ตามมาก็คือเงินลงทุนหรือว่าเงินต้นต้องนอนนิ่งอยู่นานนับสิบปีโดยไม่สามารถเอาไปใช้จ่ายได้ หากประชาชนถือตราสารหนี้อายุยาวกันมากๆ ในแง่ส่วนบุคคล เจ้าของเงินลงทุนก็จะรู้สึกว่าเงินนอนนิ่งปลอดภัย ไม่หายไปไหน อุ่นใจดี ในแต่เชิงเศรษฐกิจแล้วถือว่าเงินเหล่านี้เป็นเงินจม ไม่ก่อให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจเพราะไม่มีการนำไปใช้จ่าย
แนวคิดของเฟดก็คือเฟดต้องการกว้านซื้อตราสารหนี้อายุยาวมาเก็บไว้ให้มากขึ้นเพื่อกดอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้อายุยาวให้ต่ำลง หากเปรียบเทียบกับหุ้นจะเข้าใจได้ง่ายกว่า สมมติว่าพันธบัตรอายุสามสิบปีเปรียบได้กับหุ้นชื่อ A ราคา 100 บาท และจ่ายปันผลรวมกันทั้งหมดตลอดสามสิบปีเป็นเงินรวมแล้ว 30 บาท กับตราสารหนี้อีกชนิดหนึ่งอายุสามปี เปรียบได้กับหุ้นชื่อ B ราคา 100 บาทและจ่ายปันผลรวมกันตลอดสามปีเป็นเงิน 2 บาท
ลุงแมวน้ำก็มองออกว่าลงทุนหุ้น A 100 บาทเป็นเวลาสามสิบปีแล้วได้ผลตอบแทน 30 บาท แต่หากมีใครที่อยากได้หุ้นตัวนี้ มากว้านซื้อในราคาสูง เช่น ยอมซื้อในราคาหุ้นละ 110 บาท หากลุงแมวน้ำยังต้องการได้หุ้น A ตัวนี้ก็ต้องยอมซื้อในราคาตลาด คือ 110 บาทเช่นกัน หรืออาจสูงกว่านั้นอีก
ลุงแมวน้ำมาคิดดูอีกที หากลงทุน 100 บาทแล้วได้ผลตอบแทน 30 บาทก็น่าสนใจ แต่หากจะให้ลงทุน 110 บาทแล้วได้ผลตอบแทน 30 บาทในเวลาอันยาวนานถึงสามสิบปี คิดไปคิดมาอาจจะไม่คุ้มเสียแล้ว อย่ากระนั้นเลย ลุงแมวน้ำไม่ซื้อหุ้นตัวนี้ดีกว่า เพราะไม่จูงใจแล้ว
ในขณะเดียวกัน หากมีใครที่ไม่อยากถือหุ้น B ยอมขายตัดราคา ไม่ขาย 100 บาทแล้ว แต่ขายในราคา 98 บาท หากหุ้น B มีราคา 100 บาทแล้วจ่ายผลตอบแทนตลอดสามปีเป็นเงิน 2 บาทอาจไม่น่าสนใจ แต่หากราคา 98 บาทแล้วจ่าย 2 บาทก็น่าสนใจมากขึ้น
ฉันใดก็ฉันนั้น การที่เฟดทุ่มซื้อพันธบัตรอายุยาวมาไว้ในพอร์ตจะทำให้ราคาซื้อขายตราสารหนี้อายุยาวในตลาดสูงขึ้น ผลตอบแทนก็จะไม่ดีเหมือนเดิม ประชาชนก็ไม่อยากได้เอาไว้ และในขณะเดียวกันเฟดระบายตราสารหนี้อายุสั้นออกมา ทำให้ราคาตราสารหนี้อายุสั้นในตลาดลดต่ำลง ดังนั้นเสมือนกับว่าตราสารหนี้อายุสั้นให้ผลตอบแทนมากขึ้น ทำให้ประชาชนเกิดความต้องการตราสารประเภทอายุสั้นมากขึ้น นอกจากนี้ อัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อที่อยู่อาศัยยังขึ้นกับอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลอายุยาวอีกด้วย ดังนั้น ผลรวมของการปรับพอร์ตตราสารหนี้ของเฟดที่คาดหวังเอาไว้ก็คือ ลดแรงจูงใจที่จะลงทุนในตราสารหนี้อายุยาวของประชาชน เพิ่มแรงจูงใจในการลงทุนในตราสารหนี้อายุสั้นๆ และกดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านให้ลดต่ำลง หากเป็นไปได้ตามนี้ เงินลงทุนจะไม่นอนนิ่งอยู่นาน แต่ต้องหมุนเวียนเปลี่ยนมือไปตามอายุตราสารหนี้ อีกทั้งลดแรงจูงใจในการออมระยะยาว หันมาจับจ่ายมากขึ้น หรืออาจนำไปลงทุนทางอื่นเพื่อให้มีผลตอบแทนมากขึ้น เช่น อาจนำไปลงทุนในหุ้น หรือลงทุนซื้ออสังหาริมทรัพย์มาปล่อยเช่า หรืออย่างน้อยก็ทำให้เกิดการรีไฟแนนซ์สินเชื่อที่อยู่อาศัย ฯลฯ เท่ากับเป็นการกระตุ้นให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น ราคาอสังหาริมทรัพย์ฟื้นตัว เศรษฐกิจก็จะฟื้นได้ แต่ผลเสียก็มี เช่น ในผู้สูงอายุที่ต้องการเลี้ยงชีพจากดอกผล ไม่ต้องการให้เงินต้นมีความเสี่ยงจากการลงทุนประเภทอื่น หากพันธบัตรให้ผลตอบแทนต่ำคนเหล่านี้จะลำบากขึ้น เป็นต้น
มาตรการ operation twist นี้หากพูดด้วยภาษาวิชาการก็จะสรุปได้สั้นๆคือการปรับพอร์ตตราสารหนี้ของเฟดเพื่อทำให้เส้นอัตราผลตอบแทนแบนราบลง (to flatten yield curve) นั่นเอง แสดงได้ด้วยภาพต่อไปนี้ (ตัวเลขอัตราผลตอบแทนในภาพเพียงเปรียบเทียบให้เห็นความแตกต่างได้ชัด ไม่ใช่อัตราผลตอบแทนตลาดในขณะนี้)
หากเส้นอัตราผลตอบแทน (yield curve) ชัน (เส้นประ) หมายถึงตราสารหนี้อายุยาวให้ผลตอบแทนดีกว่าตราสารหนี้ระยะสั้นมาก ประชาชนจะอยากออมและลงทุนในตราสารหนี้อายุยาว
หากเส้นอัตราผลตอบแทนไม่ชัน คือแบนหรือเกือบแบน (เส้นทึบ) ตราสารหนี้อายุยาวให้ผลตอบแทนดีกว่าตราสารหนี้อายุสั้นไม่มากนัก ทำให้ไม่จูงใจให้ลงทุน ลงทุนในตราสารหนี้อายุสั้นดีกว่า
เมื่อเฟดประกาศมาตรการนี้ ตลาดหุ้นน่าจะขึ้น ตามทฤษฎีควรจะเป็นแบบนั้น แต่ผลก็คือหลังจากเฟดประกาศตลาดหุ้นก็ลงแรง คงผิดคาดเฟด ขณะเดียวกัน yield curve แบนราบลงนิดหน่อยในทันทีทั้งๆที่เฟดแค่ประกาศ ยังไม่ทันได้ลงมือปฏิบัติ ดังภาพต่อไปนี้ เส้นเขียวคือเส้นอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้รัฐบาลของวันนี้ เปรียบเทียบกับเส้นสีส้มที่เป็นเส้นอัตราผลตอบแทนของเมื่อวาน
ที่เป็นเช่นนี้คงเป็นเพราะนักลงทุนขาดความมั่นใจในมาตรการของเฟด รวมทั้งนักลงทุนส่วนหนึ่งคงขายหุ้นเพื่อไปซื้อพันธบัตรระยะยาวไว้ก่อน เพื่อรอให้เฟดมากว้านซื้ออีกต่อหนึ่งนั่นเอง
เฟดเตรียมใช้วงเงิน 400,000 ล้านดอลลาร์ สรอ ในมาตรการนี้ โดยซื้อตราสารหนี้รัฐบาลที่มีอายุคงเหลือ 6 ถึง 30 ปีเป็นเงิน 400,000 ล้านดอลลาร์ สรอ และขายตราสารหนี้ที่มีอายุคงเหลือไม่เกิน 3 ปีเป็นจำนวนเงินเท่าๆกัน และจะทยอยซื้อขายให้เสร็จสิ้นภายในมิถุนายน ปี 2012 ผลต่อตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ในวันนี้เป็นเพียงผลทางจิตวิทยา คือผลจากอารมณ์และความเชื่อมั่นเท่านั้น การที่จะเห็นผลในเชิงเศรษฐกิจจริงนั้นยังต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง
No comments:
Post a Comment