Sunday, April 8, 2012

เช้าวันหยุดกับลุงแมวน้ำ งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 40





เช้าวันหยุดนี้ลุงแมวน้ำทั้งไม่ชวนทำขนม ไม่ชวนปลูกต้นไม้ แต่คราวนี้จะชวนไปเที่ยวกัน

สถานที่ที่ลุงแมวน้ำจะชวนไปเที่ยวกันก็คือศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ใช่แล้ว ลุงแมวน้ำจะชวนไปงานสัปดาห์หนังสือเพื่อหาหนังสือมาอ่านกันนั่นเอง

งานสัปดาห์หนังสือซึ่งถือว่าเป็นงานขนาดใหญ่และจัดเป็นประจำในหนึ่งปีมีอยู่ 2 งาน นั่นคืองานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ (National Book Fair) และงานสัปดาห์หนังสือนานาชาติ (Bangkok International Book Fair) สองงานนี้จัดร่วมกัน อยู่ในพื้นที่งานเดียวกัน จัดในช่วงปลายเดือนมีนาคมต่อเนื่องไปถึงต้นเดือนเมษายนของทุกปี กับอีกงานหนึ่งก็คืองานมหกรรมหนังสือระดับชาติ (Book Expo Thailand) งานนี้จัดเป็นประจำทุกปีเช่นกันในช่วงปลายเดือนตุลาคม แม้ว่างานต้นปี (งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ) กับงานปลายปี (งานมหกรรมหนังสือระดับชาติ) จะใช้ชื่อที่แตกต่างกัน แต่ผู้จัดงานก็คือผู้จัดรายเดียวกัน นั่นคือ สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จัดจำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย และโดยมากผู้อ่านทั่วไปก็มักไม่ได้แยกแยะว่างานต้นปีกับงานปลายปีใช้ชื่องานคนละชื่อกัน ส่วนมากก็มากเรียกรวมๆกันว่างานสัปดาห์หนังสือ

งานสัปดาห์หนังสือนี้มีมานานแล้ว งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาตินี่ถ้าตามประวัติแล้วก็จัดกันมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2515 หรือเมื่อประมาณ 40 ปีก่อนนั่นเลยทีเดียว สถานที่จัดงานในยุคแรกๆว่ากันว่าครั้งแรกนั้นจัดกันที่โรงละครแห่งชาติตรงสนามหลวง หลังจากนั้นก็ย้ายสถานที่จัดงานมาเป็นที่สวนลุมพินีบ้าง โรงเรียนหอวังบ้าง ถนนลูกหลวง (ริมคลองผดุงกรุงเกษม ข้างกระทรวงศึกษาธิการ) บ้าง คุรุสภาบ้าง ท้องสนามหลวงบ้าง จนในที่สุดย้ายมาปักหลักที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ในปี พ.ศ. 2543 และจัดที่ศูนย์การประชุมนี้เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

ลุงแมวน้ำเป็นแมวน้ำรุ่นเก่า ก็แน่ล่ะสิ เรียกลุงก็ต้องรุ่นเก่าอยู่แล้ว เป็นแมวน้ำเจนเอ็กซ์ (Gen X) ที่เติบโตมากับหนังสือเล่มและหนังสือพิมพ์ ลุงแมวน้ำรักกลิ่นกระดาษและกลิ่นหมึกพิมพ์ หนังสือเล่มโต หนาเตอะ ทั้งเล่มมีแต่ตัวหนังสือไม่มีภาพเลยลุงแมวน้ำก็อ่านได้ แม้ในหนังสือไม่มีภาพแต่ลุงแมวน้ำก็สามารถเห็นเป็นภาพได้ในจินตนาการ ต่างจากหนุ่มสาวเจนวาย (Gen Y) หรือเด็กๆเจนแซ่ด (Gen Z) ในยุคนี้ที่ทั้งเจนวายและเจนแซ่ดต่างก็เติบโตขึ้นมากับหนังสือการ์ตูน จอคอมพิวเตอร์ และจอทีวีที่เต็มไปด้วยภาพเคลื่อนไหว ดังนั้นหนุ่มสาวหรือเด็กๆในยุคนี้จึงแตกต่างจากรุ่นเจนเอ็กซ์บ้างตรงที่เจนวายเจนแซ่ดมักขาดสมาธิ อ่านหนังสือนานๆหรืออ่านหนังสือที่มีแต่ตัวหนังสือล้วนไม่ค่อยได้เพราะเบื่อ ชอบอะไรที่เป็นภาพหรือภาพเคลื่อนไหวมากกว่า ซึ่งก็คงเป็นไปตามยุคสมัยนั่นเอง

ลุงแมวน้ำชอบเดินเที่ยวงานสัปดาห์หนังสือ สมัยที่จัดที่โรงละครแห่งชาติกับที่สวนลุมพินีลุงแมวน้ำก็ไม่ทันเหมือนกัน ลุงแมวน้ำมาเดินเที่ยวงานหนังสือตั้งแต่ยุค พ.ศ. 2525 ที่สมโภชกรุงรัตนโกสินทร์สองร้อยปี ตอนนั้นจัดงานกันที่หอประชุมใหญ่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดอยู่ได้สองปีก็ย้ายไปจัดที่โรงเรียนหอวังในปี 2527 และจัดเพียงปีเดียว หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2528 จึงย้ายมาจัดที่บริเวณถนนลูกหลวงหรือที่เรียกกันว่าริมคลองผดุงฯข้างกระทรวงศึกษาฯนั่นเอง และบริเวณคุรุสภาซึ่งเป็นพื้นที่ติดกัน สมัยก่อนโน้นเมื่อยี่สิบกว่าปีมาแล้ว ในยุคที่จัดอยู่ข้างคลองผดุงฯ พอถึงช่วงงานก็จะมีการปิดถนนและตั้งเต๊นท์เพื่อจัดงาน งานหนังสือสมัยนั้นไม่ใช่งานติดแอร์ งานต้นปีช่วงเดือนเมษายนอากาศค่อนข้างร้อนและคนแน่นมาก แต่ถึงจะร้อนก็ไม่ร้อนเท่ากับในสมัยนี้ เรียกว่าร้อนพอทนได้ นอกจากนี้น้ำในคลองผดุงก็ยังโชยกลิ่นตุๆมาเป็นระยะอีกด้วย และงานหนังสือในช่วงฤดูร้อนมักจัดในช่วงเดียวกับงานกาชาด พอเที่ยวงานหนังสือเสร็จหากหนังสือไม่มากนักก็จะเถลไถลเที่ยวงานกาชาดในตอนหั่วค่ำต่อไปเลย

งานหนังสือที่จัดกันที่ท้องสนามหลวงนั้นตามประวัติดูเหมือนจะมีอยู่สองครั้ง คือปลายปี 2535 กับปลายปี 2540 ลุงแมวน้ำมีประสบการณ์ตรงเฉพาะปี พ.ศ. 2540 เท่านั้น จำได้ว่าตอนเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2540 (งานหนังสือช่วงปลายปีในสมัยก่อนจัดกันในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน ไม่ใช่ปลายเดือนตุลาคมดังเช่นในปัจจุบัน) ตอนนั้นวิกฤตต้มยำกุ้งเริ่มออกฤทธิ์แล้ว  งานมหกรรมหนังสือระดับชาติในช่วงต้นปีก็ไม่ได้จัด ส่วนงานในช่วงปลายปีก็ไม่ได้จัดที่ริมคลองผดุงฯข้างกระทรวงตามปกติ ไม่ทราบว่าเพราะเหตุใด แต่ไปจัดกันที่กลางสนามหลวง ตอนนั้นท้องสนามหลวงเป็นเพียงลานโล่งๆแบบในปัจจุบัน แถมไม่มีค่อยหญ้าด้วยเพราะว่าหญ้าตายเป็นส่วนใหญ่ พื้นเป็นดินผสมลูกรัง การเดินชมงานและซื้อหนังสือปีนั้นหนักหนาสาหัสเอาการเพราะกลางสนามหลวงนั้นอากาศร้อนมาก อีกทั้งพื้นไม่มีหญ้า ดังนั้นคนจำนวนมากเดินไปเดินมาจึงทำให้งานมีฝุ่นตลบตลอดเวลาที่จัดงาน ลุงแมวน้ำไปงานสนามหลวงครั้งเดียวเข็ดเลย ดมฝุ่นจนปอดแดงไปหมด เนื้อตัวก็มอมแมมไปด้วยฝุ่น นี่ขนาดเป็นผู้ชมงาน ผู้ค้าที่คลุกฝุ่นอยู่ที่นั่นจนตลอดงานยิ่งน่าสงสาร น่าสงสารหนังสือด้วยเพราะว่าวางโชว์ได้เดี๋ยวเดียวฝุ่นก็จับหนาเสียแล้ว ลุงแมวน้ำตั้งใจว่าต่อไปหากจัดแบบนี้อีกก็จะไม่ไปดีกว่า ซึ่งก็โชคดีที่ดูเหมือนว่าครั้งต่อมาก็กลับมาที่ริมคลองผดุงฯตามเดิม

เมื่อก่อนตอนที่เที่ยวงานหนังสือตรงริมคลองผดุงฯลุงแมวน้ำก็ยังบ่นว่าอากาศร้อนอยู่ในใจเหมือนกัน แต่พอผ่านงานหนังสือที่จัดกันที่สนามหลวงมาลุงแมวน้ำกลับได้คิดว่างานที่ริมคลองผดุงนั้นกลับเย็นสบายน่าเดินมาก เป็นยังงั้นไป

ในยุคเดียวกันนั้น คือในช่วงปี พ.ศ. 2540 อาจจะก่อนหรือหลังจากนั้นไม่กี่ปี งานสัปดาห์หนังสือที่ริมคลองผดุงฯก็แออัดมากขึ้นจนต้องขยายบู๊ธเข้ามาในบริเวณคุรุสภาที่อยู่ข้างๆกันด้วย และพร้อมกันนั้นก็เริ่มติดแอร์หรือว่าติดเครื่องปรับอากาศในงาน คืองานที่ริมคลองผดุงฯนั่นแหละ แต่ว่าการตั้งเต๊นท์ทำอย่างมิดชิดขึ้นเพื่อไม่ให้อากาศร้อนจากภายนอกรั่วเข้ามาและติดเครื่องปรับอากาศอยู่ภายใน รวมทั้งบู๊ธส่วนที่อยู่ในบริเวณคุรุสภาก็ติดแอร์ด้วยเช่นกัน คราวนี้ละ เที่ยวงานสบายขึ้นอีกเยอะเลย แต่ได้ข่าวว่าค่าไฟฟ้าที่เกิดจากการติดเครื่องปรับอากาศนั้นแพงมากเพราะใช้ไฟฟ้าไปโข

หลังจากนั้น ในช่วงปลายปี พ.ศ. 2543 งานหนังสือย้ายมาจัดที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เป็นครั้งแรก และต่อมาก็จัดที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ตลอดมาจนถึงทุกวันนี้

นี่แหละคือความเป็นมาของงานสัปดาห์หนังสือในความทรงจำของลุงแมวน้ำ ลุงแมวน้ำยังมีภาพถ่ายงานสมัยที่จัดที่ริมคลองผดุงฯเลย ตอนนั้นเป็นยุคกล้องใส่ฟิล์ม แต่ยังหารูปเก่าๆในยุคนั้นไม่เจอ หากเจอแล้วจะเอามาโพสต์ให้ดูกัน

สำหรับปีนี้ วันนี้ (วันที่ 8 เมษายน) เป็นงานวันสุดท้ายแล้ว มีหนังสือลดราคามากมาย ปีนี้น่าจะมีบู๊ธมาออกงานมากขึ้นเพราะเห็นบู๊ธล้นออกมานอกตึก ตั้องมาตั้งเต๊นท์เพิ่มตรงทางเดินหน้าตึกใกล้สถานีรถไฟฟ้าอีกด้วย ลุงแมวน้ำซื้อหนังสือตามร้านหนังสือค่อนข้างน้อย หากเป็นหนังสือที่ไม่ได้รีบใช้งาน มีอะไรก็จะจดรายการเอาไว้แล้วรอมาซื้อในงานนี่แหละ มีส่วนลด ประหยัดดี ^_^ ประหยัดนะคร้าบ ไม่ได้งก

ลุงแมวน้ำไปเที่ยวงานปีนี้มาแล้ว โดนเหยียบครีบแทบแย่เหมือนกันเพราะว่าคนแน่น ใครที่จะไปชมงานโปรดระวังทรัพย์สินด้วย นักล้วงกระเป๋า นักกรีดกระเป๋า มาเที่ยวงานนี้ด้วยทุกครั้ง ของมีค่าใส่เป้เล็กๆแล้วห้อยไว้ที่ลำตัวด้านหน้า ตรงบริเวณหน้าอกจะค่อนข้างปลอดภัยเพราะว่าตำแหน่งนั้นล้วงยากหรือกรีดยากที่สุด

No comments: