Thursday, May 19, 2011

18/05/2011 * การลงทุนในหุ้น อนุพันธ์ หรือกองทุนที่มีราคาผันผวน (2)

หลังจากที่ตลาดหุ้นไทยหลุดมาหลายวัน วันนี้ดัชนี SET ปิดที่ 1,075.91 จุด ลดลง 9.05 จุด

หุ้นในกลุ่ม SET50 วันนี้มีสัญญาณซื้อ AOT และมีวัญญาณขาย CPN, LH ขณะนี้โปรแกรมถือหุ้นอยู่รวมทั้งสิ้น 29 ตัว

กลุ่มฟิวเจอร์ส วันนี้ฟิวเจอร์สของข้าวสาลี (W) เกิดสัญญาณซื้อ ฟิวเจอร์สของหุ้นไทย ITD, LH เกิดสัญญาณขาย

ด้านตลาดต่างประเทศ วันนี้ตลาดหุ้นส่วนใหญ่ปิดเขียว ที่ลงค่อนข้างแรงมีตลาดหุ้นเวียดนามกับตุรกี ทางด้านสัญญาณทางเทคนิคในระดับภูมิภาคยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง




การลงทุนในหุ้น อนุพันธ์ หรือกองทุนที่มีราคาผันผวน (2)



เมื่อตอนที่แล้วเราดูกราฟราคาน้ำมันดิบ (CL) กันไปแล้วว่ามีผันผวนเพียงใด ผลของการแกว่งตัวแรงทำให้เกิดสัญญาณหลอกได้ง่ายขึ้น ทำให้ผลการเทรดขาดทุนหนัก แต่ก่อนที่จะคุยกันต่อไป ลุงแมวน้ำขอย้อนไปดูตารางที่แสดงถึงความผันผวนของสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ ตารางนี้เราเคยดูกันไปแล้วแต่ลุงแมวน้ำนำมาแสดงเอาไว้อีกครั้งหนึ่ง





จากตารางนี้เราจะเห็นว่าราคาน้ำมันดิบกับน้ำตาลทรายเบอร์ 11 (sugar #11, SB) นั้นต่างก็มีความผันผวนสูง แต่หากเหลือบไปดูพอร์ตจำลองของลุงแมวน้ำที่เสนอเป็นประจำทุกวันจะเห็นว่าพอร์ตจำลองนั้นได้กำไรจากการเทรดน้ำตาลมากทีเดียว เทรดน้ำมันดิบขาดทุนไปเกือบ 50,000 ดอลลาร์ ในขณะที่เทรดน้ำตาลกำไรเกือบ 30,000 ดอลลาร์ ถ้าเช่นนั้นความแตกต่างของสินค้าที่มีความผันผวนสูงสองตัวนี้อยู่ที่ไหน

คำตอบก็คือรูปแบบการเคลื่อนไหวของราคานั่นเอง ลองมาดูกราฟราคาน้ำตาล SB กันก่อน




จะเห็นว่าแม้น้ำตาล SB จัดว่าเป็นสินค้าที่มีความผันผวนสูง ราคาขึ้นแรงลงแรง แต่ว่าการขึ้นแรงหรือว่าลงแรงนั้นเกิดในช่วงที่เป็นขาขึ้นอย่างแรง (คือ bullish trend มีกำลังแรง) หรือว่าเป็นขาลงอย่างแรง (คือ bearish trend มีกำลังแรง) ผลก็คือราคาน้ำตาลมีช่วงที่ขึ้นแบบม้วนเดียวหรือลงแบบม้วนเดียว แทบไม่เกิดสัญญาณหลอกในระหว่างทางเลย ดังนั้นการขึ้นแรงลงแรงแบบนี้จึงทำให้เกิดกำไร

แต่ขณะเดียวกันลองมาดูราคาน้ำมันดิบ ดังนี้




จะเห็นว่ากราฟราคาน้ำมันดิบไม่สวยเท่ากับน้ำตาล ช่วงที่เกิดแนวโน้มแรงๆจนราคาวิ่งแบบม้วนเดียวมีอยู่เพียงช่วงเดียวคือขาลงแรง (ที่แรเงาในภาพ) ส่วนอื่นนั้นเป็นการแกว่งแบบขึ้นๆลงๆ ทำให้เกิดสัญญาณหลอกบ่อยครั้ง เมื่อเทรดไปเรื่อยๆผลขาดทุนสะสมจึงมาก

แต่หากจะถามว่าสินค้าตัวใดที่มีความผันผวนแบบม้วนเดียวยาวๆเหมือนกับน้ำตาล คำตอบก็คือตอบไม่ได้ เนื่องจากรูปแบบของน้ำตาลนี้เป็นเรื่องที่ไม่มีใครอาจคาดการณ์ล่วงหน้าได้ ต่อไปราคาน้ำตาลอาจแกว่งขึ้นๆลงๆแบบน้ำมันดิบจนต้องคืนกำไรไปก็ได้ ไม่มีใครรู้แน่

เมื่อเข้าใจธรรมชาติของสินค้าที่มีความผันผวนแล้วก็มาดูเทคนิคในการเทรดกัน เทคนิคที่ลุงแมวน้ำใช้ในการเทรดสินค้าจำพวกนี้ก็คือ

เทคนิคที่ 1 หลีกเลี่ยง

หลีกเลี่ยง เปลี่ยนไปเทรดอย่างอื่นแทน พูดแล้วก็เหมือนกำปั้นทุบดิน แต่ก็เป็นความจริง สินค้าตัวใดที่ประวัติแรงดี มีกำไรสูง ไม่ได้เป็นเครื่องรับประกันว่าต่อไปจะเป็นเช่นนั้น แต่สินค้าตัวใดที่ประวัติเก่าไม่ค่อยดี ให้ระวังเอาไว้ว่าอนาคตก็จะซ้ำรอยเดิม นี่คือแนวคิดของลุงแมวน้ำซึ่งถือหลักปลอดภัยเอาไว้ก่อน ผลิตภัณฑ์ในโลกการลงทุนมีให้เลือกเทรดมากมาย สินค้าหรือผลิตภัณฑ์ใดประวัติไม่ดีควรหลีกเลี่ยง อย่าไปทนเทรด ยกตัวอย่างเช่นน้ำมันดิบ CL ที่เห็นรายงานในพอร์ตจำลองขาดทุนหนักเป็นเวลานานก็เพราะว่าพอร์ตจำลองนั้นดำเนินไปเรื่อยๆเพื่อให้นักลงทุนเอาไว้ศึกษา แต่หากจะให้เทรดจริงๆลุงแมวน้ำเลือกเทรดอย่างอื่นดีกว่า ไม่จะเป็นต้องไปเสี่ยงกับสินค้าที่ประวัติไม่สวย


เทคนิคที่ 2 ใช้ระบบสัญญาณซื้อขายที่ช้าลง

ใช้ระบบสัญญาณที่ช้าลง แนวคิดนี้ก็คือการพยายามลดสัญญาณหลอกให้เหลือน้อยลงนั่นเอง การใช้ระบบสัญญาณที่มีความไวน้อยลงจะทำให้เกิดสัญญาณซื้อขายช้าลง เมื่อสัญญาณซื้อขายเกิดช้าลง โอกาสเกิดสัญญาณหลอกก็น้อยลงตามไปด้วย ยกตัวอย่างเช่นแทนที่จะใช้ระบบ PnT 1 ที่ใช้เส้นซิกแซก 1% ก็เปลี่ยนมาใช้ PnT 3 หรือใช้เส้นซิกแซก 3% แทนนั่นเอง ลองดูผลเปรียบเทียบกัน ภาพต่อไปนี้เป็นการเทรดข้าวสาลี (W)




แท่งเขียวแท่งแดงคือการเกิดสัญญาณซื้อและขายในระบบ PnT 1 ส่วนริบบอน (แถบด้านล่าง) สีน้ำเงินกับสีแดงแทนการเกิดสัญญาณซื้อและขายในระบบ PnT 3

จากภาพ จะเห็นว่าทั้งสองระบบให้ผลกำไรพอๆกัน คือ 45 จุด แต่ที่แตกต่างกันก็คือระบบ PnT 1 ซื้อขายหลายครั้ง ส่วนระบบ PnT 3 นั้นขายเพียงครั้งเดียว ดังนั้นเสียค่าคอมมิชชั่นน้อยกว่า กำไรจากระบบ PnT 3 จึงมากกว่า

แต่อย่างไรก็ตาม มีข้อเสียเกี่ยวกับระบบสัญญาณช้าที่ต้องทราบเอาไว้ 2 ข้อ คือ ข้อแรก ระบบที่มีความไวน้อยกว่า สัญญาณซื้อขายจะเกิดช้ากว่า คือสัญญาณซื้อก็เกิดช้ากว่า สัญญาณขายก็เกิดช้ากว่า ผลของการใช้ระบบสัญญาณช้าอาจทำให้ขาดทุนหนักได้ดังภาพต่อไปนี้




ส่วนที่แรเงาสีชมพูนั้น ระบบ PnT 1 เกิดสัญญาณซื้อและขายหลายครั้ง แต่ระบบ PnT 3 เกิดสัญญาณซื้อเพียงครั้งเดียวแล้วถือยาวไปขายเอาปลายเดือนมีนาคม ผลก็คือระบบ PnT 3 ให้ผลขาดทุนถึง -43 จุด

ข้อเสียข้อต่อมาของระบบสัญญาณช้าคือเสียสุขภาพจิต กล่าวคือ เนื่องจากระบบสัญญาณช้านั้นสัญญาณขายอยู่ลึก ขณะที่ยังไม่ถึงสัญญาณขายนั้นเป็นช่วงที่ทำใจได้ยากเพราะเราจะเห็นว่าพอร์ตของเรานั้นขาดทุน คืนกำไร หรือว่า draw down (แล้วแต่จะเรียก) ไปมาก ทำให้เสียสุขภาพจิต ผู้ที่ไม่เคยชินหรือไม่มีการฝึกฝนให้เทรดด้วยระบบสัญญาณช้ามาก่อน เมื่อใช้ระบบสัญญาณช้าแล้วพอร์ตเกิดการ draw down อาจเครียดมาก ทำให้เสียสุขภาพจิต

ข้อเสียของระบบที่ช้าจึงเป็นที่มาของเทคนิคข้อที่ 3 นั่นคือ


เทคนิคที่ 3 เข้าตั้งแต่คลื่นต้น

เทคนิคที่ 2 และ 3 นี้ต้องใช้ร่วมกันเสมอ คลื่นต้น คือ คลื่น 1 คลื่น 2 หรือว่าต้นคลื่น 3 เพราะหากใช้ระบบสัญญาณที่ช้าแต่ไปเข้าคลื่นหลัง เข้ากลางคลื่น หรือเข้าปลายคลื่น ผลขาดทุนจะหนักยิ่งกว่าใช้ PnT 1 เสียอีก ดังนั้นการเทรดด้วยระบบสัญญาณที่ช้าจำเป็นต้องเข้าตั้งแต่คลื่นต้นเสมอเพื่อให้สะสมกำไรได้มากพอในคลื่น 3 และรับมือการคืนกำไรในคลื่นหลังจากนั้น

ดังนั้นหากผู้ที่จะเทรดสินค้าผันผวนต้องมีความสุขุม อดทน หนักแน่น รู้จักรอเวลา และต้องนับคลื่นเป็น เพื่อจับจังหวะเข้าเทรดตอนคลื่นต้นได้

ลองดูตัวอย่า CL ที่เทรดด้วยเทคนิค 2 และ 3 ร่วมกัน เข้าเทรดประมาณเดือนเมษายน 2009 หลังจากที่จบขาลงยาวและมีสัญญาณกลับทิศเป็นขาขึ้นแล้ว ผลเป็นดังนี้





ช่วงที่แรเงาสีน้ำเงินนั้นเปรียบเทียบการเทรด 3 ระบบ คือ PnT 0.2 คือใช้เส้นซิกแซก 0.2% ซึ่งก็คือระบบซื้อขายไวนั่นเอง กับอีกสองระบบคือ PnT 1 และ PnT 3

จะเห็นว่าระบบที่ไวไม่เป็นผลดี เพราะแทนที่ความไวของระบบจะเท่าทันความผันผวนแต่ปรากฏว่าก็ยังไม่ทันอยู่ดี ทำให้ยิ่งเกิดสัญญาณหลอกมากครั้ง ขาดทุนถึง 18,790 ดอลลาร์ (ยังไม่รวมค่าคอมมิชชัน) เกิดการเทรดไป 39 ครั้ง หากรวมค่าคอมมิชชันเข้าไปด้วยจะยิ่งขาดทุนมากกว่านี้

ทั้งสามระบบคิดผลกำไรขาดทุนเป็นจำนวนเงินออกมาแล้วแม้จะใช้ระบบ PnT 3 ก็ยังขาดทุนแต่ว่าขาดทุนน้อยกว่า คือขาดทุน 1,800 ดอลลาร์ (ซื้อขาย 12 ครั้ง) ส่วนระบบ PnT 1 ขาดทุน 12,640 ดอลลาร์ (ซื้อขาย 26 ครั้ง ยังไม่รวมค่าคอมมิชชัน)


การเทรดกองทุนรวม

การเทรดกองทุนรวมต่างๆ โดยเฉพาะกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศหรือ FIF (foreign investment fund) นั้น ไม่เหมาะที่จะเทรดด้วยด้วยระบบสัญญาณ PnT 1 เนื่องจากกองทุนรวมมีข้อจำกัดหลายประการ คือ
  1. รายงานค่า NAV ล่าช้า โดยเฉพาะกองทุนรวม FIF กว่าจะรู้ค่า NAV ก็อาจจะหลายวันให้หลัง ทำให้คำนวณสัญญาณ ณ สิ้นวันทำการนั้นๆไม่ได้
  2. การชำระเงินอาจนาน กองทุนรวม FIF มักจ่ายเงินแก่ผู้ถือหน่วยช้า เช่น T+5 หรือบางกองทุนก็เเป็น T+7 ซึ่งกว่าจะได้เงินเข้ามาบางทีเกิดสัญญาณรอบใหม่ไปแล้ว ทำให้มีปัญหาเรื่องกระแสเงินสดที่จะเข้าซื้อขายตามสัญญาณ
  3. ผู้ลงทุนในกองทุนมักเป็นผู้ที่ต้องการลงทุนในช่วงเวลาที่ค่อนข้างนาน ระบบ PnT 1 เกิดสัญญาณซื้อขายค่อนข้างเร็ว ทำให้ฝืนกับนิสัยการลงทุนของผู้ลงทุนเอง
  4. กองทุนรวม FIF บางกองค่าคอมมิชชั่น (หรืออาจเรียกว่าค่า front end, back end) แพง คือแพงกว่าค่าคอมมิชชันซื้อขายหุ้นทั่วไป การซื้อขายบ่อยทำให้ขาดทุนได้

ด้วยเหตุนี้การเทรดกองทุนรวมต่างๆโดยเฉพาะ FIF จึงมักไม่เหมาะที่จะเทรดด้วยระบบ PnT 1 ควรใช้แนวคิดระบบที่ช้าลงและเข้าคลื่นต้นเหมือนกับการเทรดสินค้าผันผวนจึงจะเหมาะสมกว่า

สำหรับระบบที่ช้าลงนั้นก็มีได้หลายแบบ PnT 3 นั้นเป็นเพียงตัวอย่างที่ลุงแมวน้ำนำเสนอและคำนวณให้ดู แต่ในความเป็นจริงแล้วหากมีความรู้เกี่ยวกับระบบสัญญาณและการเขียนโปรแกรมเรายังสามารถออกแบบระบบหรือดัดแปลงระบบได้อีกหลายแนวทางให้ได้ระบบที่ช้าลงและข้ามสัญญาณหลอกไปได้ แม้แต่ PnT 5 (ใช้เส้น 5% zigzag) ซึ่งช่วงการ draw down ลึกมาก หากใช้ด้วยความเข้าใจและมีประสบการณ์ก็สามารถใช้กับการเทรดกองทุนรวมได้ แต่หากใช้อย่างไม่เข้าใจจะเสียสุขภาพจิตมาก





No comments: