สำหรับหุ้นในกลุ่ม SET50 วันนี้ไม่มีสัญญาณซื้อขาย ขณะนี้ถือหุ้นอยู่รวมทั้งหมด 31 ตัว
กลุ่มฟิวเจอร์ส วันนี้มีสัญญาณซื้อดัชนีดอลลาร์ สรอ (US dollar index, DX) ลุงแมวน้ำจึงเปิดสัญญาซื้อไป
ด้านดัชนีตลาดต่างประเทศ วันนี้ดัชนีไทเอกซ์ (Taiex) ของไต้หวันเกิดสัญญาณขาย
การที่ DX ขึ้นไปจนเกิดสัญญาณซื้อไม่ใช่เรื่องเล่นๆ เพราะหากค่าเงินดอลลาร์กลับทิศกลายเป็นแนวโน้มขาขึ้นแล้วละก็นั่นหมายความว่าคงเกิดผลกระทบมากทีเดียว ค่าของเงินสกุลอื่นๆจะอ่อนตัวลง ตลาดหุ้นและสินค้าโภคภัณฑ์อาจวาย ทองคำกับน้ำมันดิบอาจจบคลื่นขาขึ้นและเข้าสู่คลื่นขาลง A-B-C ฯลฯ ดังนั้นควรติดตามการเปลี่ยนแปลงของ DX ไปอีกระยะหนึ่ง
จากกราฟราคาทองคำ (GC) ในภาพบน ลองมาดูกันว่ามีสัญญาณแนวโน้มกลับทิศ (trend reversal signal) อะไรที่เกิดขึ้นแล้วบ้าง
- มีคอนเวอร์เจนซ์ระหว่างราคากับ rsi
- fibonacci ได้ระดับ 205% แต่ยังไม่มีความสอดคล้องของระดับ fibonacci หลายๆชุด
- คลื่นย่อยนับได้ครบ 5 คลื่น
- เกิดแท่งเทียนดำใหญ่
กลยุทธ์การลงทุน LTF, RMF ในตลาดขาลง (2)
เมื่อวานเราคุยกันค้างเอาไว้เรื่องกองทุน LTF ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนตลาดทุนของไทยโดยใช้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีมาจูงใจผู้มีเงินได้ให้หันมาลงทุนกันในตลาดทุน วันนี้เราจะมาคุยกันต่อ
กองทุน LTF ในตลาดขาลง
มาดูภาพนี้กันก่อน ภาพนี้เป็นกราฟของดัชนี SET ในช่วงสองปีก่อน ส่วนที่แรเงาสีชมพูเป็นช่วงวันที่ 26 สิงหาคม 2552 ถึง 27 กุมภาพันธ์ 2552 อันเป็นระยะเวลาที่ตลาดหุ้นอยู่ในคลื่นขาลง
ลุงแมวน้ำลองนำมูลค่าหน่วยลงทุน (NAV) ของกองทุนรวมหุ้นระยะยาว 2 กองทุนมาแสดงให้ดูว่าเมื่อตลาดอยู่ในคลื่นขาลง ราคาหุ้นตก ค่า nav ของกองทุนเป็นอย่างไรบ้าง กองทุนที่ลุงแมวน้ำยกมานี้กองทุน SCBLT2 (กองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นระยะยาว พลัส, SCB STOCK PLUS LONG TERM EQUITY FUND) ค่ายไทยพาณิชย์ (SCBAM) ส่วนกองทุน KEQLTF (กองทุนเปิดเค หุ้นระยะยาว, K Equity LTF) เป็นของค่ายกสิกรไทย (K-AM) ลุงแมวน้ำเลือกสองกองทุนนี้มาแสดงเนื่องจากเป็นกองทุน LTF ที่ไม่มีการจ่ายปันผล (หากใช้กองทุนที่มีการจ่ายปันผล ค่า NAV ที่เปลี่ยนแปลงลดลงอาจเกิดจากการจ่ายเงินปันผลก็ได้)
จะเห็นว่าในช่วงดังกล่าวเมื่อตลาดหุ้นปรับตัวลดลงราว 35% มูลค่าของหน่วยลงทุน LTF ก็ลดลงตามไปด้วยในระดับที่ใกล้เคียงกับดัชนีเนื่องจากกองทุน LTF เน้นลงทุนในหุ้นเป็นส่วนใหญ่ ถ้ามองจากผลขาดทุนคงเห็นว่าเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยง หากช่วงที่ต้องการขายคืนหน่วยลงทุนเป็นช่วงที่ตลาดเป็นขาลง ภาษีที่ประหยัดได้ไม่น่าคุ้มค่ากับเงินลงทุนที่หดหายไป และนี่เองเป็นอุปสรรคข้อหนึ่งที่ทำให้ผู้มีเงินได้ส่วนหนึ่งที่คุ้นเคยกับตลาดหุ้นดีพอควรไม่กล้าลงทุนในกองทุน LTF แม้ว่าจะช่วยประหยัดภาษีได้ก็ตาม
ต่อมาในวงการกองทุน LTF จึงมีการออกกองทุน LTF ที่ใช้ฟิวเจอร์สของ SET50 เข้ามาช่วยลดความผันผวนของราคาหุ้น ดังที่ลุงแมวน้ำได้คุยไปแล้วเมื่อวาน ว่ากองทุน LTF ประเภทนี้จะซื้อหุ้นและเปิดสัญญาขาย S50 ไปด้วย แต่ก็ครอบคลุมความเสี่ยงส่วนใหญ่เท่านั้น ไม่ได้ปิดความเสี่ยงทั้งหมด ดังนั้นเมื่อหุ้นตก NAV ชองกองทุน LTF ประเภทใช้ฟิวเจอร์สช่วยนี้ก็ลดลงบ้างแต่ไม่รุนแรงเท่ากองทุน LTF ที่ไม่ใช้ฟิวเจอร์ส ตารางต่อไปนี้เป็น NAV ของกองทุน SCBLTS (กองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นระยะยาวสมาร์ท, SCB SMART LONG TERM EQUITY FUND, ของ บลจ.ไทยพาณิชย์) กับ KSDLTF (กองทุนเปิดเค สตราทีจิค ดีเฟ็นซีฟหุ้นระยะยาวปันผล, K Strategic Defensive LTF ของบลจ.กสิกรไทย) ซึ่งใช้ฟิวเจอร์สลดความผันผวน จะเห็นว่าผลขาดทุนลดลง
กองทุนผสมฟิวเจอร์สนี้หากถือไปตลอด เมื่อตลาดเป็นขาขึ้นก็จะได้กำไรไม่มาก เมื่อตลาดเป็นขาลงก็จะขาดทุนน้อยลง ซึ่งผู้ลงทุนบางคนอาจเข้าใจผิดว่ากองทุนนี้เสมอตัวอยู่ตลอด ไม่ได้ไม่เสีย ซึ่งในความเป็นจริงไม่ใช่เช่นนั้น
กลยุทธ์ LTF สับหน่วยลงทุนเมื่อแนวโน้มเปลี่ยน
ในมุมมองของนักลงทุนสายที่ใช้การวิเคราะห์ทางเทคนิคนั้นเมื่อหุ้นลงไปถึง ณ ระดับราคาหนึ่งก็จะถึงจุดที่ต้องขายหุ้นออกไป ไม่ควรถือเอาไว้ ซึ่งจุดขายหุ้นหรือที่เรียกว่าจุดหยุดยั้งความเสียหาย (stop loss) นั้นมีวิธีคำนวณต่างๆนานา เช่น ใช้หลักราคาหลุดแนวรับ ใช้หลักราคาตัดเส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ ฯลฯ นักลงทุนสายเทคนิคเมื่อต้องการลงทุนใน LTF ก็คงอยากใช้หลักการเดียวกัน แต่มีข้อจำกัดสำหรับกองทุนประเภทนี้คือผู้ลงทุนจะขายตามใจไม่ได้ เพราะมีเงื่อนไขข้อกำหนดในการขายคืนค่อนข้างยุ่งยาก มิฉะนั้นจะต้องถูกเรียกสิทธิประโยชน์ทางภาษีคืนวุ่นวาย
ทางเลือกประการหนึ่งของนักลงทุนใน LTF ที่ยังไม่สามารถขายคืนหน่วยลงทุนได้ในยามที่ตลาดเกิดกลายเป็นขาลงพอดี นั่นก็คือ การสับกองทุน หลักการก็คือ
- ในยามตลาดขาขึ้น ลงทุนในกองทุน LTF ปกติ
- ในยามตลาดขาลง สับเปลี่ยนไปลงทุนในกองทุน LTF ที่ใช้ฟิวเจอร์ส และเมื่อยามตลาดกลับมาเป็นขาขึ้นจึงค่อยกลับไปลงทุนในกองทุน LTF ปกติ
ลองมาดูตัวอย่างกัน ลุงแมวน้ำทดลองทำข้อมูลของตลาดทั้งที่อยู่ในช่วงขาลง (26 ส.ค. 2551 ถึง 27 ก.พ. 2552) และตลาดในช่วงขาขึ้่น (27 ก.พ. 2552 ถึง 7 ก.ย. 2552) และลองเปรียบเทียบผลการลงทุน ทั้งในกองทุน LTF ปกติ กองทุน LTF แบบใช้ฟิวเจอร์ส และการลงทุนแบบสับกองทุนเมื่อตลาดเปลี่ยนแนวโน้ม ดังตารางต่อไปนี้ วันนี้ดูตารางกันไปก่อน แล้วลุงแมวน้ำจะอธิบายเพิ่มเติมในวันถัดไป
(โปรดติดตามอ่านในวันถัดไป)
3 comments:
ลุงแมวนำ้ลงผิดป่าวคับรายงานว่าสัญญาณขาดอลล่าร์ ผมว่าน่าจะเขียวนะครับ. บอล
ต้องขอบคุณคุณบอลที่ทักท้วงครับ ลุงแมวน้ำเขียนกลับขาวเป็นดำไปเลยจริงๆ เกิดสัญญาณซื้อถูกต้องแล้ว
ไม่ได้คุยกันนานคุณบอลคงสบายดี
สวัสดีครับ ลุงแมวน้ำ
บอลสบายดีนะครับ ยังมาเยี่ยมชม บล็อกแห่งนี้ เกือบทุกวัน
เรื่อง การลงทุนฟิวเจอร์ อ่านเพลินเลยครับ แต่ยาว จัง มีตั้งสองตอน แหนะ
ลุงแมวน้ำ น่าจะสบายดีเช่นกันนะครับ
นับถือ นับถือ
จริงๆอยากทราบเรื่อง risk & reward ratio แล้วก็ Down dawn เอผมเขียนถูกหรือเปล่า ผมเคยเห็นเค้า คุยกันใน ชมรม แต่ผมเอง ยัง ไม่ได้ศึกษา พวกนี้ ก็ดันไปลงสนามจริงแล้ว
Post a Comment