Monday, November 15, 2010

12/11/2010 * RSS3, กลยุทธ์การลงทุน LTF, RMF ในตลาดขาลง (1)

วันนี้ดัชนี SET ปิดที่ 1,018.86 จุด ลดลง 11.00 จุด

สำหรับหุ้นในกลุ่ม SET50 วันนี้มีสัญญาณขาย BAY, BBL, ESSO, TCAP, TTW ขณะนี้ถือหุ้นอยู่รวมทั้งหมด 31 ตัว

กลุ่มฟิวเจอร์ส วันนี้มีสัญญาณขายน้ำตาลทราย (SB) ลุงแมวน้ำจึงปิดสัญญาซื้อและเปิดสัญญาขาย

ด้านดัชนีตลาดต่างประเทศ วันนี้ไม่มีสัญญาณซื้อขาย

วันนี้เรียกได้ว่าเป็นวันแดงเดือด ตลาดทั่วโลกปรับตัวลดลง ทั้งราคาหุ้นและสินค้าโภคภัณฑ์ ในระดับที่มากน้อยแตกต่างกัน ทางด้านตลาดหุ้นนั้น ตลาดจีนปรับตัวลงไปราว 5% ตลาดหลักอื่นๆปรับตัวลดลงประมาณ 1-2% ยกเว้นตลาดเยอรมนีที่ปิดบวกเล็กน้อยได้

ทางด้านสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวลงแรงเช่นกัน ทองคำกับน้ำมันดิบลดลงประมาณ 3% ส่วนสินค้าเกษตรราคาลดลงประมาณ 3-5% ยกเว้นน้ำตาลทราย (SB) ที่ลงไปอีกประมาณ 10% ต่อจากเมื่อวาน รวมแล้วสองวันราคาน้ำตาลทรายปรับตัวลดลงไปราว 20% ส่วนราคายางพารานั้นปรับตัวลงมากเช่นกัน 3.5% ยางพาราของไทย (RSS3) ลดลงจนถึงราคาฟลอร์ ผู้ที่ต้องการปิดสถานะซื้อ (cover long position) ไม่สามารถทำได้

มีข่าวลือไปทั่วโลกในระหว่างการประชุม G20 ในช่วงนี้ว่าประเทศทางแถบเอเชียจะใช้ยาแรงหรือหมายถึงมาตรการสกัดเงินทุนไหลเข้าที่เข้มข้นยิ่งขึ้นเนื่องจากเกรงผลกระทบจากมาตรการพิมพ์เงินเพิ่มอัดฉีดเข้าไปในระบบของสหรัฐอเมริกา (QE2) โดยเฉพาะในประเทศจีนมีข่าวว่าทางการจีนจะคุมเข้มเพื่อลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจลงบ้างด้วยการประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ย ส่งผลให้ตลาดหุ้นจีนและตลาดอื่นๆปรับตัวลงแรง รวมทั้งราคาสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆในตลาดโลกรวมทั้งยางพาราด้วย ทั้งนี้ น่าจะเป็นเนื่องจากจีนเป็นตลาดผู้บริโภคที่ใหญ่มาก หากจีนชะลอการบริโภค ดุลยภาพของอุปสงค์อุปทานก็จะเปลี่ยนไป

แต่อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้ยังเป็นข่าวลือ ยังไม่เห็นความชัดเจนอะไร แต่ก็สะท้อนว่าอารมณ์ตลาดอ่อนไหวมาก มีอะไรมากระทบก็ส่งผลต่อราคาอย่างมาก นี่เองที่ลุงแมวน้ำบอกว่าปัจจัยทางจิตวิทยานั้นมีความสำคัญยิ่ง และข้อมูลที่สะท้อนภาพได้ทั้งผลทางจิตวิทยาและผลทางปัจจัยพื้นฐานก็คือราคาที่เปลี่ยนแปลงไปนั่นเอง

ยางพารา (RSS) อาการดูไม่ดีเท่าไรนัก สัญญาณกลับทิศมาแล้ว 3 ประการ คือ คอนเวอร์เจนซ์ของราคากับ rsi, แท่งเทียนดำใหญ่ และเกิดช่องว่างราคา (gap) ที่เป็น falling window ซึ่งหากราคาดีดกลับมาปิดช่องว่างในวันต่อๆไปไม่ได้ น้ำหนักในการกลับทิศแนวโน้มจะมากยิ่งขึ้น

กลยุทธ์การลงทุน LTF, RMF ในตลาดขาลง (1)

ลุงแมวน้ำเคยคุยเรื่องกลยุทธ์ LTF ให้ฟังไปบ้างแล้ว มาวันนี้ลุงแมวน้ำจะคุยถึงกลยุทธ์สำหรับการลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว หรือที่เรียกย่อๆว่า LTF นี้ให้ละเอียดยิ่งขึ้น ทั้งนี้ เนื่องจากเห็นว่าตลาดหุ้นเป็นขาขึ้นมานานแล้ว หากนับคลื่นดูก็พบว่ามีโอกาสจบคลื่นและกลับทิศเป็นขาลงได้ทุกเมื่อ ยิ่งช่วงนี้เป็นช่วงปลายปีที่ผู้มีเงินได้ส่วนใหญ่นิยมซื้อกองทุน LTF กัน จึงอยากนำมาคุยให้ฟังอีกครั้งหนึ่ง ว่าหากลงทุนในกองทุน LTF ไปแล้วตลาดเกิดกลับกลายเป็นขาลงนานๆแล้วจะทำอย่างไร ที่จริงวันสองวันมานี้นักลงทุนที่เพิ่งซื้อหุ้นไปก็ชักเริ่มหนาวๆกันบ้างแล้วเนื่องจากตลาดหุ้นค่อนข้างผันผวน ดังนั้นอาจเรียว่ากลยุทธ์ LTF 2010 ให้เท่ๆก็พอได้

ส่วน RMF นั้นแม้จะเป็นกองทุนที่เอาไว้ลงทุนเพื่อการประหยัดภาษีเช่นกัน แต่กฎหมายเื้อื้อให้มีความยืดหยุ่นในการลงทุนมากกว่า โดยไม่ต้องลงทุนให้หุ้นด้วยสัดส่วนที่เช่นที่กฎหมายบังคับกับกองทุน LTF แต่อย่างไรก็ดี หากเลือกลงทุนในกองทุน RMF ที่มีสัดส่วนของหุ้นสูงๆ สภาพการลงทุนของกองทุน RMF นั้นก็ไม่แตกต่างจากกองทุน LTF ดังนั้นจึงสามารถใช้แนวทางการลงทุนเดียวกันได้

ในตอนต้นลุงแมวน้ำจะพูดถึงแต่ LTF ไปก่อน หลังจากนั้นในตอนท้ายของบทความชุดนี้ลุงแมวน้ำจะสรุปเกี่ยวกับเรื่อง RMF กองหุ้นในส่วนที่แตกต่างกับ LTF ให้อีกครั้งหนึ่ง

LTF คืออะไร ทำไมต้อง LTF

ก่อนอื่นคงต้องขอเท้าความกันอย่างคร่าวๆก่อน ว่ากองทุน LTF คืออะไร และทำไมต้องลงทุนในกองทุน LTF ตามกฎหมายไทยในปัจจุบัน คนโสดที่ไม่มีภาระ มีเงินไิด้หรือคิดง่ายๆว่ามีเงินเดือนเดือนละ 20,600 บาทหรือน้อยกว่านั้นจะไม่ต้องเสียภาษี เนื่องจากเมื่อหักลดหย่อนและหักค่าใช้จ่าย หักสมทบประกันสังคมแล้วเหลือเงินได้สุทธิไม่เกิน 150,000 บาทให้คำนวณภาษี จึงไม่ต้องเสียภาษี ตัวเลข 20,600 บาทต่อเดือนนี้เป็นเพียงตัวเลขคร่าวๆ แต่ละคนต้องไปคำนวณอีกทีหากต้องการตัวเลขที่ละเอียด

หากผู้มีเงินได้เกินกว่าเดือนละ 20,600 บาทก็มีเงินได้สุทธิที่จะต้องนำไปคิดภาษีและจ่ายภาษีแล้ว อัตราภาษีขั้นต้นคือ 10% ของเงินได้สุทธิ หากมีเงินได้สุทธิมากก็ยิ่งต้องเสียภาษีมากไปถึงระดับ 20%, 30% ฯลฯ

ทีนี้หลายคนก็เกิดเสียดาย ไม่อยากจ่ายภาษีมากๆ รัฐก็ส่งเสริมโดยตั้งเงื่อนไขว่าใครที่ลงทุนในกองทุนประเภทที่เรียกว่ากองทุนรวมหุ้นระยะยาว LTF (long term mutual fund) นี้จะนำไปหักลดหย่อนภาษีได้เพิ่มเติมอีก พูดง่ายๆก็คือหากลงทุนในกองทุน LTF แล้วจะทำให้เสียภาษีน้อยลงหรือว่าประหยัดภาษีไปได้แล้ว มิหนำซ้ำอานิสงส์ที่ลงทุนกับกองทุนนี้อาจช่วยให้ผู้ลงทุนได้กำไรจากผลกำไรของกองทุนที่เติบโตขึ้นมาอีกด้วย เรียกว่าอาจได้กำไรสองเด้ง ทั้งนี้เพราะว่ารัฐต้องการส่งเสริมและพัฒนาตลาดทุนไทย จึงสร้างเงื่อนไขนี้เพื่อจูงใจให้ผู้มีเงินได้หันมาลงทุนในตลาดทุนด้วยกองทุน LTF

ประหยัดภาษีด้วย LTF แต่เงินลงทุนหดหายเพราะหุ้นตก จะมีทางออกหรือไม่

ด้วยเงื่อนไขและข้อจำกัดที่กฎหมายตีกรอบเอาไว้ กองทุน LTF จะต้องลงทุนใหุ้นไทยไม่น้อยกว่า 65% เพื่อให้สมเจตนารมณ์ที่ต้องการให้นำเงินมาช่วยพัฒนาตลาดทุน หากไม่กำหนดเช่นนี้ กองทุนอาจนำเงินทุนไปลงทุนในตราสารหนี้หรือแม้แต่ลงทุนในตลาดต่างประเทศ ตลาดทุนไทยก็ไม่ได้เม็ดเงินนี้มาช่วยพัฒนาตามที่มุ่งหมายเอาไว้

ประเด็นสำคัญอีกข้อหนึ่งที่ผู้ลงทุนควรทราบเอาไว้ก็คือ การลงทุนในกองทุน LTF นี้มีเงื่อนไขด้านเวลาด้วย คือผู้ลงทุนต้องถือกองทุนเอาไว้อย่างน้อย 5 ปีปฏิทิน ไม่เช่นนั้นจะถือว่าผิดเงื่อนไข ซึ่งเวลา 5 ปีปฏิทินนั้นหากนับเป็นเวลาจริงแล้วอาจไม่ถึง 5 ปี และหากใช้เทคนิคนิดหน่อยเวลาก็จะยิ่งลดลง สมมติเช่น ลงทุนในเดือนธันวาคม ปี 2553 ก็จะสามารถขายได้ตั้งแต่เดือนมกราคม 2557 เป็นต้นไป ซึ่งหากคิดเป็นปีปฏิทินก็ 5 ปี หากคิดระยะเวลาจริงก็เพียง 3 ปีกับเศษอีกนิดหน่อยเท่านั้น

ปัญหาที่ผู้ลงทุนควรตระหนักก็คือ หากถือกองทุนเอาไว้นานถึง 3 ปีหรือนานกว่านั้น และกิดว่าเป็นช่วงที่ตลาดหุ้นเป็นขาลง แล้วจะทำอย่างไร อย่าเพิ่งคิดว่าไม่มีทางเป็นไปได้ อะไรก็เกิดขึ้นได้เสมอ ตลาดหุ้นไทยขึ้นไปสูงสุดในปี 2537 ที่ 1,800 กว่าจุด จนถึงบัดนี้ก็นานประมาณ 15 ปีแล้ว ตลาดก็ยังไม่สามารถกลับไปถึงจุดสูงสุดเดิมได้

แต่เดิมกองทุน LTF ไม่สามารถแก้ปัญหาเรื่องการขาดทุนเมื่อหุ้นตกได้ ทั้งนี้ เนื่องจากข้อกฎหมายกำหนดเอาไว้ว่าต้องเป็นกองทุนหุ้น จึงดิ้นไปทำอย่างอื่นไม่ได้ ดังนั้นเมื่อหุ้นตก NAV (มูลค่าหน่วยลงทุน) ก็จะหดหายไปด้วย แต่ตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา มีบางกองทุนใช้ฟิวเจอร์สเข้ามาช่วยลดความผันผวนของราคาหุ้น ทำให้กองทุนไม่ขาดทุนมากนักเมื่อหุ้นตก ต่างจากการถือหุ้นเอาไว้โดยไม่ใช้ฟิวเจอร์สช่วย

ดังที่ลุงแมวน้ำเคยคุยให้ฟังเอาไว้แล้วว่าฟิวเจอร์สนั้นสามารถใช้เก็งกำไรก็ได้ ใช้สำหรับลดความเสี่ยงก็ได้ ขึ้นอยู่กับเจตนาและวิธีการ ดังนั้นกองทุน LTF ในระยะหลังจึงมีบางกองทุนที่ผสมด้วยฟิวเจอร์สเพื่อช่วยลดความเสี่ยง โดยลุงแมวน้ำขอพูดอย่างง่ายๆเพื่อให้เห็นภาพ สมมติว่าซื้อหุ้นเอาไว้ที่ 700 จุด ในขณะเดียวกันก็เปิดสัญญาขายฟิวเจอร์สของ SET50 (S50) ไปด้วย ผลที่ควรจะเป็นก็คือ

เมื่อหุ้นขึ้น กองทุนก็จะได้กำไรจากหุ้น ในขณะเดียวกันก็จะขาดทุนจากฟิวเจอร์ส

เมื่อหุ้นตก กองทุนจะขาดทุนจากหุ้น (สมมติว่าถือเอาไว้ไม่ได้ขาย) และได้กำไรจากฟิวเจอร์ส

หากคำนวณสัดส่วนให้พอดีกัน เมื่อหุ้นขึ้นก็ไม่ได้เงินเพราะกำไรหุ้นหักล้างกับขาดทุนฟิวเจอร์ส กลายเป็นเสมอตัว เมื่อหุ้นตกก็ไม่ได้เงินเพราะว่าขาดทุนจากหุ้นแต่ได้กำไรจากฟิวเจอร์ส กลายเป็นเสมอตัวอีก

ถ้าเช่นนั้นแล้วกองทุน LTF ประเภทที่มีฟิวเจอร์สผสมนี้ดีตรงไหน หุ้นขึ้นก็ไม่มีกำไร หุ้นลงก็ไม่มีกำไร แล้วจะลงทุนไปทำไม

(โปรดอ่านต่อในวันต่อไป)


No comments: