Wednesday, November 17, 2010

16/11/2010 * CSI300, EEM, DBA, กลยุทธ์การลงทุน LTF, RMF ในตลาดขาลง (3)

วันนี้ดัชนี SET ปิดที่ 1,000.73 จุด ลดลง 28.41 จุด

สำหรับหุ้นในกลุ่ม SET50 วันนี้มีสัญญาณขาย CPALL, KBANK, KTB, PTT, RATCH, SCCC, TCAP, TPIPL รวม 7 ตัว ขณะนี้ถือหุ้นอยู่รวมทั้งหมด 24 ตัว

กลุ่มฟิวเจอร์ส วันนี้มีสัญญาณขายข้าวโพด (C) ข้าวสาลี (W) และ KTB

กองทุนอีทีเอฟ EEM (ใช้ดูแทน MSCI Emerging Markets Index) และกองทุนสินค้าเกษตร DBA (Deutsch Bank Agriculture Fund) เกิดสัญญาณขาย

ด้านดัชนีตลาดต่างประเทศ วันนี้ดัชนีโบเวสปา (IBOVESPA) ของบราซิล ดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิต (SSECI) ของจีน ดัชนี CSI 300 ของจีน ดัชนีเซนเซกซ์ (SENSEX, BSESN) ของอินเดีย และดัชนีคอสปี (KOSPI) ของเกาหลีใต้ล้วนเกิดสัญญาณขาย

วันนี้ตลาดลงหนัก สีแดงกระจายไปทั่วโลก โดยเฉพาะตลาดในแถบเอเชียที่ลงหนัก ทั้งจีน อินเดีย ที่ลงไป 2-4% ดัชนี SET ของไทยลงไป 2.8% จากนั้นตกบ่าย (เวลาประเทศไทย) ตลาดยุโรปเปิดก็แดงกระจาย ดัชนีลดลง 1-3% หลังจากนั้นเมื่อตลาดอเมริกาเปิดก็แดงกระจายอีก ทั้งแคนาดา สหรัฐอเมริกา ไล่ลงมาจนถึงบราซิล อาร์เจนตินา ลงไป 1-4%

สาเหตุของการตกของหุ้นทั่วโลกคงติดตามได้ทางข่าวทีวีและหนังสือพิมพ์ แต่ลุงแมวน้ำขอสรุปให้ฟังคร่าวๆก็คือสาเหตุเกิดจาก

  1. จีนประกาศกฎเกณฑ์ด้านสินเชื่อที่เพิ่มความเข้มงวดมากยิ่งขึ้น รวมทั้งประกาศว่าจะควขคุมราคาสินค้าไม่ให้มีการกักตุนและเก็งกำไร (ยังไม่ได้บอกมาตรการ) พร้อมทั้งมีข่าวลือว่าจะเพิ่มอัตราดอกเบี้ย เพื่อต้องการควบคุมภาวะเงินเฟ้อ
  2. ด้านยุโรปก็ตึงเครียดกับปัญหาหนี้ของไอร์แลนด์ซึ่งอาจฉุดภาวะเศรษฐกิจของนานาประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปไปด้วย

สรุปแล้วก็คือปัญหาด้านอารมณ์กลัวและกังวลเป็นเหตุ ทำให้ดอลลาร์ก็แข็งค่าขึ้น ตลาดหุ้นและตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวลดลง ทองคำและน้ำมันดิบก็ปรับตัวลดลง

ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ของจีน ทั้ง Shanghai composit index และ CSI 300 เกิดสัญญาณขาย มาดูกราฟกัน



ดัชนี MSCI Emerging Markets ก็เกิดสัญญาณขาย กราฟเป็นดังนี้



กองทุนอีทีเอฟด้านสินค้าเกษตร DBA ก็เกิดสัญญาณขาย



สัญญาณขายเหล่านี้จะเป็นสัญญาณหลอก (false signal) หรือเป็นการกลับทิศของแนวโน้มตอนนี้ยังบอกไม่ได้ คงต้องติดตามดูกันไปอีกสักระยะหนึ่ง



กลยุทธ์การลงทุน LTF, RMF ในตลาดขาลง (3)

กองทุน LTF ที่ใช้อนุพันธ์มีอะไรบ้าง

กองทุนรวมหุ้นระยะยาวหรือ LTF ในประเทศไทยมีอยู่นับสิบกองทุน แต่ที่ใช้อนุพันธ์ (ฟิวเจอร์ส) มาช่วยลดความผันผวนนั้น เท่าที่ลุงแมวน้ำทราบ ปัจจุบันมีอยู่เพียง 3 กองทุน นั่นคือ
  1. 1Smart-LTF (กองทุนเปิดวรรณเอเอ็มสมาร์ทหุ้นระยะยาว) ของ บลจ. วรรณ (1 A.M.)
  2. SCBLTS (กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ หุ้นระยะยาวสมาร์ท) ของ บลจ. ไทยพาณิชย์ (SCBAM)
  3. KSDLTF (กองทุนเปิดเค สตราทีจิค ดีเฟ็นซีฟหุ้นระยะยาวปันผล) ของ บลจ. กสิกรไทย จำกัด (Kasikorn Asset)
ทั้งสามกองทุนนี้มีการนำอนุพันธ์มาใช้ในสัดส่วนที่แตกต่างกันออกไปตามแต่นโยบายของแต่ละกองทุน แต่ถึงแม้ว่าจะใช้อนุพันธ์ในสัดส่วนที่เท่ากันก็ไม่ได้หมายความว่าผลตอบแทนของแต่ละกองทุนจะเท่ากัน ทั้งนี้ เนื่องจากว่าส่วนผสมของพอร์ตในกองทุน LTF นั้นไม่เหมือนกันนั่นเอง

ทางด้านความสะดวกคล่องตัวในการสับกองทุนนั้น 1Smart-LTF ให้สับกองทุนได้เพียงไตรมาสละ 1 ครั้งเมื่อสิ้นไตรมาสเท่านั้น ส่วน SCBLTS, KSDLTF ไม่มีข้อจำกัดเช่นนี้ สามารถสับกองทุนได้ทุกวันทำการ ซึ่งในการลงทุนจริงของนักลงทุนที่อิงกับปัจจัยทางเทคนิค เมื่อถึงเวลาที่จะต้องสับกองทุนก็ต้องสับในเวลานั้น จะไปรอจนถึงสิ้นไตรมาสไม่ได้ ดังนั้นในการทดสอบกลยุทธ์ที่จะกล่าวต่อไป ลุงแมวน้ำจึงเลือก SCBLTS, KSDLTF มาใช้ในการทดสอบ

การทดสอบกลยุทธ์สับกองทุน LTF ตามสภาวะตลาดและผลการทดสอบ

ในการทดสอบว่ากลุยุทธ์สับกองทุน โดยเมื่อตลาดหุ้นเป็นขาขึ้นก็ลงทุนในกองทุน LTF ปกติ และเมื่อตลาดเป็นขาลงก็สับเปลี่ยนไปลงทุนในกองทุน LTF ที่ใช้ฟิวเจอร์ส ก่อนอื่นลุงแมวน้ำต้องกำหนดช่วงเวลาเสียก่อน ว่าเมื่อไรเป็นขาลง และเมื่อไรเป็นขาขึ้น ลองมาดูกราฟกัน



ลุงแมวน้ำกำหนดช่วงตลาดขาลง-ขาขึ้น เพื่อใช้ในการทดสอบ ดังนี้

  • ช่วงขาลงคือ 26 ส.ค. 2551 ถึง 27 ก.พ. 2552 รวมเวลาประมาณ 6 เดือน (ที่แรเงาสีแดง)
  • ช่วงขาขึ้นคือ 28 ก.พ. 2552 ถึง 7 ก.ย. 2552 รวมเวลาประมาณ 6 เดือน (ที่แรเงาสีเขียว)

โดยตลอดช่วงดังกล่าว ดัชนี SET อยู่ี่ที่ประมาณ 668 จุด จากนั้นไหลลงมาอยู่ที่ 431 จุด จากนั้นก็กลับขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 682 จุดอีก คิดคร่าวๆก็คือดัชนี SET ตั้งแต่ 26 ส.ค. 2551 ถึง 7 ก.ย. 2552 ไหลลงและกลับขึ้นมาอยู่ที่เดิมนั่นเอง เท่ากับเสมอตัว

การเปรียบเทียบผลตอบแทนการลงทุนของลุงแมวน้ำมี 4 กรณี คือ

  1. ถือกองทุน LTF ปกติไปโดยตลอด ทั้งขาลงและขาขึ้น
  2. ถือกองทุน LTF ที่ใช้อนุพันธ์ไปโดยตลอด ทั้งขาลงและขาขึ้น
  3. ถือกองทุน LTF ที่ใช้อนุพันธ์ ในตลาดขาลง และถือกองทุน LTF ปกติในตลาดขาขึ้น (แยกย่อยได้อีก 2 กรณี)

สำหรับการสับกองทุนใน ในวันที่ 26 ส.ค. 2551 ลุงแมวน้ำมองว่าตลาดเป็นขาลงแล้ว (เหตุใดจึงมองเช่นนั้นเอาไว้คุยกันอีกทีในภายหลัง ตอนนี้ว่ากันตามนี้ไปก่อน) จึงเข้าไปลงทุนในกองทุน LTF ที่ใช้ฟิวเจอร์ส จนถึงวันที่ 28 ก.พ. 2552 ลุงแมวน้ำเห็นว่าตลาดขาลงจบและเป็นขาขึ้นแล้ว (ขอให้เชื่อตามนี้ไปก่อนเ่ช่นกัน) จึงสับกองทุนเข้าไลงทุนในกองทุน LTF ปกติ

ผลตอบแทนการลงทุนเป็นดังนี้



  1. ดัชนี SET ในช่วงดังกล่าวให้ผลตอบแทน 2.04% (หมายถึงปรับตัวสูงขึ้น 2.04%)
  2. ถือกองทุน LTF ปกติไปโดยตลอด ทั้งขาลงและขาขึ้น SCBLT2 ให้ผลตอบแทน 4.23% ส่วน KEQLTF ให้ผลตอบแทน 0.54%
  3. ถือกองทุน LTF ที่ใช้อนุพันธ์ไปโดยตลอด ทั้งขาลงและขาขึ้น SCBLTS ขาดทุน 2.05% ส่วน KSDLTF ขาดทุน 7.39%
  4. มีการสับกองทุนในช่วงขาลงและขาขึ้น คู่กองทุน SCBLT2 และ SCBLTS ให้ผลตอบแทน 33.13%
  5. มีการสับกองทุนในช่วงขาลงและขาขึ้น คู่กองทุน KEQLT และ SCBLTS ให้ผลตอบแทน 20.76%

จะเห็นว่ากลยุทธ์การสับกองทุน LTF ให้ผลดูน่าพอใจ แม้ว่าต่างค่ายผลงานจะแตกต่างกันบ้าง แต่ก็ดีกว่าผลตอบแทนตามดัชนี SET อยู่ไม่น้อย

แต่ว่านี่คือข้อมูลจากการทดสอบที่ลุงแมวน้ำเลือกกำหนดช่วงเอง หากเป็นการลงทุนในชีวิตจริง กลยุทธ์สับกองทุน LTF ยังให้ผลตอบแทนน่าพอใจเช่นนี้หรือเปล่าเป็นเรื่องที่น่าคิด

(โปรดติดตามต่อในวันถัดไป)



No comments: