Tuesday, November 16, 2010

15/11/2010 * GC, กลยุทธ์การลงทุน LTF, RMF ในตลาดขาลง (2)

วันนี้ดัชนี SET ปิดที่ 1,029.14 จุด เพิ่มขึ้น 10.28 จุด

สำหรับหุ้นในกลุ่ม SET50 วันนี้ไม่มีสัญญาณซื้อขาย ขณะนี้ถือหุ้นอยู่รวมทั้งหมด 31 ตัว

กลุ่มฟิวเจอร์ส วันนี้มีสัญญาณซื้อดัชนีดอลลาร์ สรอ (US dollar index, DX) ลุงแมวน้ำจึงเปิดสัญญาซื้อไป

ด้านดัชนีตลาดต่างประเทศ วันนี้ดัชนีไทเอกซ์ (Taiex) ของไต้หวันเกิดสัญญาณขาย

การที่ DX ขึ้นไปจนเกิดสัญญาณซื้อไม่ใช่เรื่องเล่นๆ เพราะหากค่าเงินดอลลาร์กลับทิศกลายเป็นแนวโน้มขาขึ้นแล้วละก็นั่นหมายความว่าคงเกิดผลกระทบมากทีเดียว ค่าของเงินสกุลอื่นๆจะอ่อนตัวลง ตลาดหุ้นและสินค้าโภคภัณฑ์อาจวาย ทองคำกับน้ำมันดิบอาจจบคลื่นขาขึ้นและเข้าสู่คลื่นขาลง A-B-C ฯลฯ ดังนั้นควรติดตามการเปลี่ยนแปลงของ DX ไปอีกระยะหนึ่ง



จากกราฟราคาทองคำ (GC) ในภาพบน ลองมาดูกันว่ามีสัญญาณแนวโน้มกลับทิศ (trend reversal signal) อะไรที่เกิดขึ้นแล้วบ้าง

  1. มีคอนเวอร์เจนซ์ระหว่างราคากับ rsi
  2. fibonacci ได้ระดับ 205% แต่ยังไม่มีความสอดคล้องของระดับ fibonacci หลายๆชุด
  3. คลื่นย่อยนับได้ครบ 5 คลื่น
  4. เกิดแท่งเทียนดำใหญ่
สัญญาณกลับทิศยังไม่ชัดเจนนัก แต่ก็ยังไม่ควรประมาท ในระยะสั้นๆที่ผ่านมา ทองคำแกว่งตัวแรง เรียกว่ามี volatility สูงขึ้น วันก่อนประธานธนาคารโลกแสดงความเห็นว่าระบบการเงินของสหรัฐอเมริกาควรกลับไปผูกกับมาตรฐานทองคำ ทองคำก็ขึ้นแรง พอ DX แข็งค่าขึ้น ทองคำก็ลงแรง ใครที่โดดเข้ามาเทรดทองคำในช่วงนี้คงใจหายใจคว่ำไม่น้อย volatility ที่สูงขึ้นนี้เป็นอาการที่มักเกิดขึ้นในปลายลูกคลื่น



กลยุทธ์การลงทุน LTF, RMF ในตลาดขาลง (2)


เมื่อวานเราคุยกันค้างเอาไว้เรื่องกองทุน LTF ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนตลาดทุนของไทยโดยใช้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีมาจูงใจผู้มีเงินได้ให้หันมาลงทุนกันในตลาดทุน วันนี้เราจะมาคุยกันต่อ

กองทุน LTF ในตลาดขาลง

มาดูภาพนี้กันก่อน ภาพนี้เป็นกราฟของดัชนี SET ในช่วงสองปีก่อน ส่วนที่แรเงาสีชมพูเป็นช่วงวันที่ 26 สิงหาคม 2552 ถึง 27 กุมภาพันธ์ 2552 อันเป็นระยะเวลาที่ตลาดหุ้นอยู่ในคลื่นขาลง



ลุงแมวน้ำลองนำมูลค่าหน่วยลงทุน (NAV) ของกองทุนรวมหุ้นระยะยาว 2 กองทุนมาแสดงให้ดูว่าเมื่อตลาดอยู่ในคลื่นขาลง ราคาหุ้นตก ค่า nav ของกองทุนเป็นอย่างไรบ้าง กองทุนที่ลุงแมวน้ำยกมานี้กองทุน SCBLT2 (กองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นระยะยาว พลัส, SCB STOCK PLUS LONG TERM EQUITY FUND) ค่ายไทยพาณิชย์ (SCBAM) ส่วนกองทุน KEQLTF (กองทุนเปิดเค หุ้นระยะยาว, K Equity LTF) เป็นของค่ายกสิกรไทย (K-AM) ลุงแมวน้ำเลือกสองกองทุนนี้มาแสดงเนื่องจากเป็นกองทุน LTF ที่ไม่มีการจ่ายปันผล (หากใช้กองทุนที่มีการจ่ายปันผล ค่า NAV ที่เปลี่ยนแปลงลดลงอาจเกิดจากการจ่ายเงินปันผลก็ได้)



จะเห็นว่าในช่วงดังกล่าวเมื่อตลาดหุ้นปรับตัวลดลงราว 35% มูลค่าของหน่วยลงทุน LTF ก็ลดลงตามไปด้วยในระดับที่ใกล้เคียงกับดัชนีเนื่องจากกองทุน LTF เน้นลงทุนในหุ้นเป็นส่วนใหญ่ ถ้ามองจากผลขาดทุนคงเห็นว่าเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยง หากช่วงที่ต้องการขายคืนหน่วยลงทุนเป็นช่วงที่ตลาดเป็นขาลง ภาษีที่ประหยัดได้ไม่น่าคุ้มค่ากับเงินลงทุนที่หดหายไป และนี่เองเป็นอุปสรรคข้อหนึ่งที่ทำให้ผู้มีเงินได้ส่วนหนึ่งที่คุ้นเคยกับตลาดหุ้นดีพอควรไม่กล้าลงทุนในกองทุน LTF แม้ว่าจะช่วยประหยัดภาษีได้ก็ตาม

ต่อมาในวงการกองทุน LTF จึงมีการออกกองทุน LTF ที่ใช้ฟิวเจอร์สของ SET50 เข้ามาช่วยลดความผันผวนของราคาหุ้น ดังที่ลุงแมวน้ำได้คุยไปแล้วเมื่อวาน ว่ากองทุน LTF ประเภทนี้จะซื้อหุ้นและเปิดสัญญาขาย S50 ไปด้วย แต่ก็ครอบคลุมความเสี่ยงส่วนใหญ่เท่านั้น ไม่ได้ปิดความเสี่ยงทั้งหมด ดังนั้นเมื่อหุ้นตก NAV ชองกองทุน LTF ประเภทใช้ฟิวเจอร์สช่วยนี้ก็ลดลงบ้างแต่ไม่รุนแรงเท่ากองทุน LTF ที่ไม่ใช้ฟิวเจอร์ส ตารางต่อไปนี้เป็น NAV ของกองทุน SCBLTS (กองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นระยะยาวสมาร์ท, SCB SMART LONG TERM EQUITY FUND, ของ บลจ.ไทยพาณิชย์) กับ KSDLTF (กองทุนเปิดเค สตราทีจิค ดีเฟ็นซีฟหุ้นระยะยาวปันผล, K Strategic Defensive LTF ของบลจ.กสิกรไทย) ซึ่งใช้ฟิวเจอร์สลดความผันผวน จะเห็นว่าผลขาดทุนลดลง



กองทุนผสมฟิวเจอร์สนี้หากถือไปตลอด เมื่อตลาดเป็นขาขึ้นก็จะได้กำไรไม่มาก เมื่อตลาดเป็นขาลงก็จะขาดทุนน้อยลง ซึ่งผู้ลงทุนบางคนอาจเข้าใจผิดว่ากองทุนนี้เสมอตัวอยู่ตลอด ไม่ได้ไม่เสีย ซึ่งในความเป็นจริงไม่ใช่เช่นนั้น

กลยุทธ์ LTF สับหน่วยลงทุนเมื่อแนวโน้มเปลี่ยน

ในมุมมองของนักลงทุนสายที่ใช้การวิเคราะห์ทางเทคนิคนั้นเมื่อหุ้นลงไปถึง ณ ระดับราคาหนึ่งก็จะถึงจุดที่ต้องขายหุ้นออกไป ไม่ควรถือเอาไว้ ซึ่งจุดขายหุ้นหรือที่เรียกว่าจุดหยุดยั้งความเสียหาย (stop loss) นั้นมีวิธีคำนวณต่างๆนานา เช่น ใช้หลักราคาหลุดแนวรับ ใช้หลักราคาตัดเส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ ฯลฯ นักลงทุนสายเทคนิคเมื่อต้องการลงทุนใน LTF ก็คงอยากใช้หลักการเดียวกัน แต่มีข้อจำกัดสำหรับกองทุนประเภทนี้คือผู้ลงทุนจะขายตามใจไม่ได้ เพราะมีเงื่อนไขข้อกำหนดในการขายคืนค่อนข้างยุ่งยาก มิฉะนั้นจะต้องถูกเรียกสิทธิประโยชน์ทางภาษีคืนวุ่นวาย

ทางเลือกประการหนึ่งของนักลงทุนใน LTF ที่ยังไม่สามารถขายคืนหน่วยลงทุนได้ในยามที่ตลาดเกิดกลายเป็นขาลงพอดี นั่นก็คือ การสับกองทุน หลักการก็คือ

  1. ในยามตลาดขาขึ้น ลงทุนในกองทุน LTF ปกติ
  2. ในยามตลาดขาลง สับเปลี่ยนไปลงทุนในกองทุน LTF ที่ใช้ฟิวเจอร์ส และเมื่อยามตลาดกลับมาเป็นขาขึ้นจึงค่อยกลับไปลงทุนในกองทุน LTF ปกติ

ลองมาดูตัวอย่างกัน ลุงแมวน้ำทดลองทำข้อมูลของตลาดทั้งที่อยู่ในช่วงขาลง (26 ส.ค. 2551 ถึง 27 ก.พ. 2552) และตลาดในช่วงขาขึ้่น (27 ก.พ. 2552 ถึง 7 ก.ย. 2552) และลองเปรียบเทียบผลการลงทุน ทั้งในกองทุน LTF ปกติ กองทุน LTF แบบใช้ฟิวเจอร์ส และการลงทุนแบบสับกองทุนเมื่อตลาดเปลี่ยนแนวโน้ม ดังตารางต่อไปนี้ วันนี้ดูตารางกันไปก่อน แล้วลุงแมวน้ำจะอธิบายเพิ่มเติมในวันถัดไป


(โปรดติดตามอ่านในวันถัดไป)


3 comments:

Anonymous said...

ลุงแมวนำ้ลงผิดป่าวคับรายงานว่าสัญญาณขาดอลล่าร์ ผมว่าน่าจะเขียวนะครับ. บอล

ลุงแมวน้ำ said...

ต้องขอบคุณคุณบอลที่ทักท้วงครับ ลุงแมวน้ำเขียนกลับขาวเป็นดำไปเลยจริงๆ เกิดสัญญาณซื้อถูกต้องแล้ว

ไม่ได้คุยกันนานคุณบอลคงสบายดี

Anonymous said...

สวัสดีครับ ลุงแมวน้ำ

บอลสบายดีนะครับ ยังมาเยี่ยมชม บล็อกแห่งนี้ เกือบทุกวัน
เรื่อง การลงทุนฟิวเจอร์ อ่านเพลินเลยครับ แต่ยาว จัง มีตั้งสองตอน แหนะ

ลุงแมวน้ำ น่าจะสบายดีเช่นกันนะครับ

นับถือ นับถือ
จริงๆอยากทราบเรื่อง risk & reward ratio แล้วก็ Down dawn เอผมเขียนถูกหรือเปล่า ผมเคยเห็นเค้า คุยกันใน ชมรม แต่ผมเอง ยัง ไม่ได้ศึกษา พวกนี้ ก็ดันไปลงสนามจริงแล้ว