กำไรต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) ของหุ้นในซับเซ็กเตอร์โรงพยาบาล ยา และวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ ดีกว่าซับเซ็กเตอร์ไบโอเทคเสียอีก อีกทั้งความผันผวนน้อยกว่า |
หลังจากที่ลุงแมวน้ำดูดน้ำปั่นจนชื่นใจแล้วจึงคุยต่อ
“เมื่อกี้เราคุยกันถึงไหนแล้วล่ะ” ลุงแมวน้ำถาม
“ลุงดูดน้ำปั่นทีไรเป็นลืมเรื่องที่เราคุยกันทุกที” ลิงบ่น “ลุงบอกว่าในอุตสาหกรรมดูแลสุขภาพยังมีซับเซ็กเตอร์อื่นที่ให้ผลตอบแทนดีและเสียวไส้น้อยกว่าซับเซ็กเตอร์ไบโอเทคโนโลยีไง”
“อ้อ ใช่ ลุงเล่าค้างไว้ตรงนั้นเอง” ลุงแมวน้ำพูดพลางดึงกระดาษแผ่นหนึ่งออกมาจากหูกระต่าย จากนั้นคลี่ออกแล้วพูดต่อ “เอ้า นายจ๋อ มาดูนี่
หุ้นโรงพยาบาล หุ้นยา และหุ้นวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์
“ตารางนี้เป็นข้อมูลทางปัจจัยพื้นฐานของซับเซ็กเตอร์ต่างๆในอุตสาหกรรมดูแลสุขภาพ ข้อมูลนี้ลุงเอามาจาก Yahoo Industry Center ซึ่งทางยาฮูก็มีการจัดแบ่งซับเซ็กเตอร์ในอุตสาหกรรมดูแลสุขภาพแตกต่างไปจากที่ลุงแมวน้ำเคยยกตัวอย่างมาให้ดู แต่ก็ไม่เป็นไร แม้จะแบ่งซับเซ็กเตอร์ไม่เหมือนกัน แต่ก็มีความคล้ายคลึงกันอยู่ สามารถใช้ดูเป็นแนวทางได้
“ตารางนี้แสดงซับเซ็กเตอร์พร้อมกับขนาดมาร์เก็ตแคป ค่าพีอีเฉลี่ยของซับเซ็กเตอร์ รวมทั้งยังแสดงค่า ROE, dividend yield, และค่า net profit margin เฉลี่ยของซับเซ็กเตอร์อีกด้วย”
“แล้วดูยังไงล่ะลุง” ลิงถาม “มีแต่ตัวเลขเต็มไปหมด ผมดูไม่ค่อยเข้าใจ”
“เมื่อนายจ๋อซื้อหุ้น เรื่องที่นายจ๋อให้ความสำคัญที่สุดในการเลือกหุ้นคืออะไรล่ะ” ลุงแมวน้ำถาม
“ก็ผลกำไรน่ะสิลุง ถามได้” ลิงตอบ
“ใช่แล้ว สิ่งที่นักลงทุนสนใจมากที่สุดก็คือเงินที่ลงทุนไปนั้นให้ผลตอบแทนได้มากน้อยเพียงใด” ลุงแมวน้ำตอบ “ในเชิงการเทรด ก็หมายถึงการที่เราซื้อหุ้นในราคาถูกแล้วขายได้ในราคาแพงๆ แต่ในเชิงการทำธุรกิจ ก็หมายถึงว่าธุรกิจนั้นเอาเงินลงทุนของผู้ถือหุ้นไปดำเนินธุรกิจแล้วธุรกิจนั้นมีกำไรเมื่อเทียบกับเงินลงทุนแล้วเป็นอย่างไร”
“ก็ยังงงอยู่เลยลุง” ลิงทำหน้างงๆ
“ไม่เป็นไร ในชั้นนี้ลุงสรุปง่ายๆก็แล้วกันว่า เมื่อนักลงทุนพิจารณาหุ้นด้วยปัจจัยพื้นฐาน ตัวเลขทางการเงินค่าหนึ่งที่นักลงทุนให้ความสนใจก็คือค่า ROE (return on equity) ซึ่งค่านี้แสดงกำไรสุทธิของกิจการหารด้วยส่วนของผู้ถือหุ้น ค่านี้ถือกันว่ายิ่งสูงก็ยิ่งดี โดยทั่วไปนักลงทุนมักหาหุ้นที่มีค่า ROE เกินกว่า 15% เพราะนั่นแปลว่าเงินลงทุนของเราให้ผลตอบแทนที่ดี” ลุงแมวน้ำพูด
“ลุงพูดสั้นๆ ง่ายๆ แบบนี้แต่แรกก็หมดเรื่อง” ลิงจ๋อยิ้มออกมาได้ พลางก้มหน้าดูในตาราง “ไหน ลุง แล้วกลุ่มไหนมีค่า ROE สูงๆบ้างล่ะ”
“นายจ๋อดูที่ซับเซ็กเตอร์ไบโอเทคโนโลยีก่อน เห็นไหมว่า ROE ของซับเซ็กเตอร์นี้เฉลี่ยแล้วมีค่า 4.7% ในทางปัจจัยพื้นฐานถือว่าผลตอบแทนต่อเงินลงทุนยังไม่สูงนัก ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่าหุ้นในกลุ่มนี้แตกต่างกันมากนั่นเอง บางบริษัทก็ขาดทุนหนัก บางบริษัทก็กำไรมาก เฉลี่ยแล้วจึงได้ตัวเลขที่ดูไม่น่าประทับใจนัก” ลุงแมวน้ำอธิบาย “ทีนี้ลองดู 3 บรรทัดบนสุดของตารางนี้ เห็นไหมว่าค่า ROE เป็นอย่างไร”
“ว้าว” ลิงอุทาน “ซับเซ็กเตอร์โรงพยาบาล ค่า ROE สูงดีจัง ตั้ง 78.9%”
“สามบรรทัดแรกของตารางคือ 3 ซับเซ็กเตอร์ที่มีค่า ROE สูง คือให้ผลตอบแทนต่อเงินลงทุนสูง จะเห็นว่าโรงพยาบาลให้ผลตอบแทนดีมาก คือ 78.9% รองลงมาคือซับเซ็กเตอร์ผู้ผลิตยารายใหญ่ มีค่า ROE 24.9% และตามด้วยซับเซ็กเตอร์ผู้ผลิตวัสดุทางการแพทย์ พวกที่ใช้แล้วทิ้งไป เช่น ชุดตรวจเบาหวาน ชุดตรวจการตั้งครรภ์ สายยาง เข็ม หลอดฉีดยา ฯลฯ ให้ค่า ROE 14.5% สามกลุ่มนี้ก็น่าลงทุนเช่นกัน” ลุงแมวน้ำพูด “หากดูจากตัวเลข สามกลุ่มที่ลุงว่านี้ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยต่อเงินลงทุนดีกว่ากลุ่มไบโอเทคอีก และราคาก็ผันผวนน้อยกว่า ผู้ที่ไม่ชอบความหวือหวาก็คงชอบ เพราะไม่ค่อยเสียวไส้ แต่หากชอบความตื่นเต้นผจญภัยก็ต้องไปกลุ่มไบโอเทค”
“เดี๋ยวก่อน ลุง นี่เป็นข้อมูลของตลาดหุ้นอเมริกานี่” ลิงจ๋อทักท้วง “แล้วผมจะเอามาใช้ประโยชน์อะไรได้ล่ะ”
“ได้สิ อย่าลืมว่านี่คือเมกะเทรนด์หรือเป็นกระแสโลก ตลาดหุ้นอื่นๆก็ยังสามารถยึดแนวทางนี้ได้ นั่นคือ หุ้นในกลุ่ม โรงพยาบาล ยา วัสดุอุปกรณ์ เครื่องมือแพทย์ มีแนวโน้มให้ผลตอบแทนที่ดี” ลุงแมวน้ำตอบ “และนอกจากนี้ เรายังสามารถใช้เป็นแนวทางในการเลือกหุ้นและกองทุนรวมได้อีกด้วย”
“งั้นเหรอครับ ถ้ายังงั้นขยายความต่อเลยลุง” ลิงจ๋อพูด “พูดถึงกำไรแล้วผมหายง่วงเลย”
“เดี๋ยวก่อน ลุงคอแห้ง...” ลุงแมวน้ำพูด แต่ยังไม่ทันจบประโยค
“โอ๊ย ไม่ต้องหยุดดูดน้ำปั่นแล้ว ลุงเล่าต่อก่อน กำลังอยากรู้” ลิงจ๋อดุ “ทำไมคอแห้งบ่อยจริง”
“อ้อ อ้อ อ้อ ยังไม่ดูดน้ำปั่นก็ได้ เฮ้อ...” ลุงแมวน้ำจ๋อย “ก็นี่แหละ ในตลาดหุ้นบ้านเราไม่มีหุ้นไบโอเทค มีแต่หุ้นโรงพยาบาล แต่จากข้อมูลนี้ลุงก็กำลังจะบอกว่าหุ้นโรงพยาบาลนี้ก็เป็นกลุ่มที่ให้ผลตอบแทนดีไง ก็เลือกลงทุนได้ และนอกจากนี้ ตอนนี้เรายังมีหุ้นผู้ผลิตยา วิตามิน และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารแล้วด้วย ก็เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจเช่นกัน นอกจากนี้ เรายังมีกองทุนรวมในธีมสุขภาพที่ไปลงทุนในต่างประเทศด้วย 3 กองทุน เราก็ใช้หลักนี้ในการพิจารณาเลือกลงทุนได้”
“อ้อ ถ้ายังงั้นในบ้านเราก็มีหุ้นและกองทุนในอุตสาหกรรมดูแลสุขภาพให้เลือกพอสมควรเลยสินะ ถ้ายังงั้นมีหุ้นและกองทุนอะไรที่น่าลงทุนบ้างละลุง” ลิงจ๋อถาม
“ถามกันตรงๆแบบนี้เลยรึ” ลุงแมวน้ำหัวเราะ “ตอบตรงๆไม่ได้หรอก แต่เอาเป็นว่าลุงจะเล่าภาพกว้างของอุตสาหกรรมนี้ในเมืองไทยให้ฟังก็แล้วกัน”
“คร้าบ เชิญเลยลุง” ลิงจ๋อตอบ
“พูดถึงกลุ่มยา วิตามิน ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารก่อนก็แล้วกัน เพราะมีหุ้นเพียงไม่กี่ตัว กลุ่มนี้เท่าที่ลุงนึกออกก็มีเพียง 2 หุ้น
“หุ้น MEGA ผลิตยา ไวตามิน ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร หุ้นนี้ทาง MSCI เลือกเข้าไปคำนวณดัชนี MSCI Small Cap Index ด้วย ตลาดหลักทรัพย์จัดให้ MEGA อยู่ในกลุ่มพาณิชย์ ดังนั้นบางคนจึงอาจนึกไม่ถึงว่าในอีกมุมหนึ่งก็เป็นหุ้นในอุตสาหกรรมเฮลท์แคร์
“กับอีกหุ้นหนึ่งคือ หุ้น APCO นี่ผลิตพวกผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร จัดอยู่ในกลุ่ม MAI ก็อยู่ในข่ายเฮลท์แคร์เช่นกัน”
“แล้วหุ้นโรงพยาบาลล่ะลุง บ้านเรามีหุ้นโรงพยาบาลอยู่ไม่น้อย แล้วจะเลือกยังไง” ลิงถาม
“ใช่แล้ว ตลาดหลักทรัพย์บ้านเรามีหุ้นโรงพยาบาลอยู่ไม่น้อย โดยจัดอยู่ในกลุ่มการแพทย์ นอกจากนี้ยังมีโรงพยาบาลที่อยู่ในกลุ่ม MAI ด้วย ปัจจุบันมีโรงพยาบาลในตลาดหลักทรัพย์ 16 แห่ง และที่ชวนให้งุนงงก็คือ หุ้นโรงพยาบาลเหล่านี้ถือหุ้นไขว้กันไปไขว้กันมาอีกด้วย กลายเป็นหุ้นในลักษณะเครือข่ายหรือพันธมิตรกัน” ลุงแมวน้ำพูด
“มีเครือข่ายไหนบ้างละครับ” ลิงจ๋อถาม
“ตอนนี้คนในวงการโรงพยาบาลก็พูดกันเล่นๆว่า โรงพยาบาลเอกชนมีอยู่แค่ 2 เครือข่าย คือ กลุ่มดุสิต กับกลุ่มนันดุสิต (non-dusit) คือหากจะมองกว้างๆก็มีแค่สองเครือข่ายแค่นี้แหละ คือ BGH และโรงพยาบาลที่ BGH ไปเทคโอเวอร์มาหรือไปถือหุ้นบางส่วน พวกนี้คือเครือดุสิต กับโรงพยาบาลอื่นๆที่กลุ่มดุสิตไม่ได้ถือหุ้น หรือถืออยู่น้อย ไม่ได้มีส่วนควบคุมการบริหาร ก็เรียกว่าเป็น non-dusit
“แต่ถ้าหากจะมองเป็นก๊กใหญ่ๆ ตอนนี้ก็น่าจะเป็น 3 ก๊ก คือ เครือโรงพยาบาลกรุงเทพ (BGH) อันประกอบด้วยโรงพยาบาลรามคำแหง (RAM) บำรุงราษฎร์ (BH) และโรงพยาบาลอื่นๆทั้งที่อยู่ในและนอกตลาดหลักทรัพย์อีกนับสิบโรงพยาบาล
“กับอีกกลุ่มคือ เครือโรงพยาบาลวิภาวดี (VIBHA) ประกอบด้วย โรงพยาบาลเชียงใหม่ราม (CMR) ศิขรินทร์ (SKR) วิภาราม แพทย์ปัญญา สินแพทย์ คือมีทั้งโรงพยาบาลทั้งในและนอกตลาดหลักทรัพย์เช่นกัน
“อีกกลุ่มคือ เครือบางกอกเชน (BCH) คือกลุ่มโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ การุญเวช และ WMC (World medical center)
“ข้อมูลเหล่านี้ไม่นิ่งนะนายจ๋อ กลุ่ม ก๊ก สัดส่วน เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ เพราะตอนนี้กลุ่มโรงพยาบาลไทยเทคโอเวอร์กันสนั่น หุ้นโรงพยาบาลเดิมทีเป็นหุ้นกลุ่มที่ทนต่อสภาพเศรษฐกิจ (defensive stock) โตไม่เร็วแต่ก็ไม่ลงแรง แต่ตอนนี้หุ้นโรงพยาบาลต้องนิยามกันใหม่แล้วว่าเป็นหุ้นเติบโตเร็ว (growth stock) โรงพยาบาลใหญ่ มีโรงพยาบาลในเครือมาก พวกนี้บริหารแพทย์ บริหารต้นทุนได้ดี กำไรมาจากการลดต้นทุนด้วย พวกนี้ก็ราคาหุ้นขึ้นดีเพราะว่ากำไรเติบโตดี
“ส่วนพวกโรงพยาบาลเล็ก หรือโรงพยาบาลเดี่ยว ไม่มีเครือข่าย แม้ว่าผลประกอบการไม่ค่อยดี เนื่องจากต้นทุนสูง บริหารบุคลากรและบริหารต้นทุนให้ต่ำได้ยาก แต่ราคาหุ้นก็วิ่งดีเหมือนกัน เนื่องจากคาดหมายกันว่าสักวันหนึ่งอาจถูกเทคโอเวอร์ วันนี้ลุงพูดเฉพาะในภาพใหญ่ก่อน ลงรายละเอียดในตอนนี้ไม่ไหวเพราะว่าเยอะเหลือเกิน”
“ไม่เป็นไรครับลุง ผมฟังแล้วยังงงอยู่เหมือนกัน ลุงแมวน้ำพูดถึงกองทุนรวมด้วยดีกว่า” ลิงจ๋อซักต่อ
กองทุนรวมสุขภาพ (กองทุนรวมเฮลท์แคร์)
“กองทุนรวมโดยทั่วไปที่ลงทุนในหุ้นไทยมักมีหุ้นกลุ่มโรงพยาบาลอยู่ด้วย แต่ กองทุนรวมที่ลงทุนในอุตสาหกรรมเฮลท์แคร์โดยตรง ตอนนี้มีเพียง 2 กองทุน และเป็นกองทุนประเภท FIF (foreign investment fund) คือไปลงทุนในต่างประเทศทั้งสองกองทุนเลย นั่นคือ กองทุนเปิดบัวหลวงโกลบอลเฮลธ์แคร์ (BCARE) ของค่ายบัวหลวง กับ กองทุนเปิดภัทร โกลบอล เฮลธ์แคร์ (PHATRA GHC) และ กองทุนเปิดกรุงศรีโกลบอลเฮลธ์แคร์อิควิตี้ปันผล (KF-HEALTHD)”
“รายละเอียดเป็นยังไงบ้างละลุง สามกองทุนนี้ต่างกันยังไง” ลิงจ๋อถาม
“โอย ลุงคอแห้ง ไม่ไหวแล้ว ขอดูดน้ำปั่นก่อนค่อยเล่าต่อ” ลุงแมวน้ำพูด
No comments:
Post a Comment