Wednesday, May 28, 2014

28/05/2014 สามเหลี่ยมชายธง ดุลยภาพหลังตกใจ



วันนี้ลุงแมวน้ำจะคุยเรื่องรูปแบบทางเทคนิคหลังเหตุการณ์วิกฤตกัน

ดุลยภาพในธรรมชาติหรือว่าสมดุลธรรมชาติ เป็นสัจธรรมอย่างหนึ่ง นั่นคือ ทุกสิ่งต้องพยายามปรับตัวให้เข้าสภาวะสมดุล ยกตัวอย่างง่ายๆเช่นการขี่จักรยาน เราต้องเลี้ยงตัวไปมาเพื่อรักษาสมดุลของรถจักรยานไม่ให้ล้มและเพื่อให้วิ่งต่อไปข้างหน้าได้ หรืออย่างเช่นการกินอาหาร หากมื้อนี้เรากินมากเกินไป ร่างกายจะบอกเราว่าอิ่มมากแล้ว และมื้อถัดไปเราจะรู้สึกแน่นท้องและกินได้น้อยลง นี่ก็คือการที่ร่างกายปรับสมดุลของการกิน ฯลฯ

นี่เป็นตัวอย่างง่ายๆของสมดุลที่เกิดขึ้นในธรรมชาติ และปรากฏการณ์ในตลาดหุ้นก็ทำนองเดียวกัน เมื่อมีเหตุการณ์ที่น่าแตกตื่นตกใจเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นข่าวดีหรือข่าวร้าย สมมติว่าเป็นข่าวร้ายละกัน เมื่อเกิดข่าวร้ายขึ้นอย่างฉับพลันกระทันหัน ตลาดจะตอบสนองด้วยการปรับตัวลงแรง แต่หลังจากนั้นก็จะมีการรีบาวด์ แต่ลองสังเกตกันดูไหมว่าหลังจากเหตุการณ์ตกใจ ตลาดมักเด้งขึ้นเด้งลงสักพักหนึ่ง เพราะยังไม่มีใครรู้ว่าจะเป็นยังไงต่อไปกันแน่ จนเมื่อสถานการณ์กระจ่างแล้วนั่นแหละ ราคาก็จะค่อยๆเข้าที่เข้าทาง จากนั้นเหตุปัจจัยใหม่ๆหลังจากนั้นก็จะรับหน้าที่ขับเคลื่อนตลาดต่อไป

รูปแบบหลังจากเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้ตลาดตกใจมักเป็นรูปแบบการเด้งขึ้นเด้งลงเพื่อให้ราคาเข้าสู่ดุลยภาพ หรือว่าไปสู่ราคาที่เหมาะสม ซึ่งหากสังเกตดูดีๆจะพบว่ารูปแบบนี้ก็คือรูปแบบสามเหลี่ยมชายธงนั่นเอง โดยหลังเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้ตลาดตกใจมักเกิดรูปแบบสามเหลี่ยชายธงตามมา จากนั้นราคาจะค่อยๆลู่เข้าสู่ปลายชายธงอันเป็นความหมายว่าราคาเข้าสู่ดุลยภาพแล้ว และหลังจากนั้นปัจจัยใหม่ๆที่ตามมาก็จะรับช่วงต่อ ผลักดันให้ราคาค่อยทะลุปลายชายธงออกไป จะทะลุขึ้นหรือลงก็ต้องดูว่าปัจจัยใหม่ที่มารับช่วงต่อนั้นเป็นปัจจัยบวกหรือลบ 

เราลองมาดูตัวอย่างเหตุการณ์ที่ทำให้ตลาดตกใจในอดีตพร้อมรูปแบบทางเทคนิคกัน

เหตุการณ์ 911 หรือการก่อการร้ายครั้งสำคัญในสหรัฐอเมริกาเมื่อ 11 กันยายน 2001 (2544) ตลาดหุ้นไทยตกใจประมาณเดือนกว่า เกิดเป็นสามเหลี่ยมชายธงแล้วทะลุขึ้น

ตลาดหุ้นอเมริกาหลังเหตุการณ์ 911 ใช้เวลาประมาณ 2 เดือนจึงจะเข้าที่ เกิดเป็นสามเหลี่ยมชายธงแล้วทะลุขึ้น

เหตุการณ์รัฐประหารในประเทศไทย 19 กันยายน 2549 ตลาดตกใจเพียงช่วงสั้นไม่กี่สัปดาห์ จากนั้นก็เข้าที่เข้าทาง เกิดรูปแบบสามเหลี่ยมชายธงขนาดเล็ก จากนั้นทะลุขึ้น


ปลายปี 2006 (2549) หลังจากที่ตลาดหายตกใจจากเหตุการณ์รัฐประหารแล้ว ในปลายปีนั้นเอง ก็มีเหตุปัจจัยใหม่เข้ามา ตลาดก็ต้องตกใจอีกรอบ ด้วยเหตุการณ์ อุ๋ยร้อยจุด นั่นคือ การควบคุมเงินทุนไหลเข้าระยะสั้นด้วยการกันสำรอง 30% ตลาดหุ้นลงปรับตัวลงไปต่ำสุดในวันเดียวถึง -19.5% เหตุการณ์ครั้งนี้ร้ายแรงกว่าการทำรัฐประหารมาก เพราะว่าตลาดตกใจอยู่หลายเดือนกว่าจะเข้าสู่ดุลยภาพ ทำให้เกิดรูปแบบสามเหลี่ยมชายธงขนาดใหญ่ จากนั้นจึงทะลุปลายชายธงขึ้นไป


ในปี 2013 ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตกใจกลัวว่าอเมริกาจะลดหรือเลิกการอัดฉีดเศรษฐกิจหรือที่เรียกว่าคิวอี (QE) หลังจากที่ช็อคครั้งแรกในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม 2013 ตลาดพยายามปรับตัวให้เข้าสู่ดุลยภาพซึ่งกินเวลาหลายเดือน แต่เนื่องจากข่าวลือเรื่องการลดคิวอีตามมาหลอนไม่เลิกรา ประกอบกับในช่วงปลายปีประเทศไทยเกิดความไม่สงบทางการเมือง ดังนั้นตลาดจึงก่อรูปแบบสามเหลี่ยมชายธงถึงสองรูป แต่ละรูปกินเวลานานหลายเดือน อีกทั้งยังเป็นแบบตัดปลายชายธงลงข้างล่างอีกด้วย



เหตุการณ์รัฐประการ 22 พฤษภาคม 2014 ตลาดกำลังเดินเข้าสู่ดุลยภาพ อีกไม่นานก็จะเข้าสู่ปลายชายธง จากนั้นก็รอดูว่าทะลุชายธงขึ้นหรือลง


จะเห็นว่าหลังเกิดเหตุตกใจหรือเหตุการณ์ช็อกตลาด ตลาดมักปรับตัวเข้าสู่ดุลยภาพด้วยรูปแบบสามเหลี่ยมชายธง ส่วนใหญ่มักกินเวลานานแค่ไม่กี่สัปดาห์หรือไม่กี่เดือน หลังจากนั้นปัจจัยใหม่จะมารับช่วงขับเคลื่อนตลาดต่อไป ซึ่งปัจจัยใหม่นี้เองจะเป็นตัวที่ทำให้ราคาตัดทะลุชายธงขึ้นหรือลง

สำหรับในตอนนี้ ประเทศไทยเพิ่งเกิดการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2014 หากดูจากกราฟจะเห็นว่าลำพังปัจจัยรัฐประหารเกิดผลต่อตลาดเพียงเล็กน้อย เป็นเพียงส่วนหนึ่งของสามเหลี่ยมชายธงที่ก่อตัวมาตั้งแต่เดือนเมษายนแล้ว และขณะนี้ตลาดกำลังลู่เข้าสู่ปลายชายธงเพื่อหาจุดที่เกิดดุลยภาพ และหลังจากนั้นก็จะเกิดปัจจัยใหม่มารับช่วงให้ตลาดตัดทะลุชายธงขึ้นหรือลงต่อไป ซึ่งหากพิจารณาจากทรงของชายธง ลุงแมวน้ำคาดว่าการตัดทะลุปลายชายธงน่าจะเกิดในราวปลายเดือนมิถุนายน อาจก่อนหรือหลังจากนั้นเล็กน้อย 

นี่เองที่ลุงแมวน้ำบอกว่าไม่ใช่เวลาซื้อ เนื่องจากราคากำลังลู่เข้าปลายชายธง โอกาสทำกำไรมีเพียงการเทรดสั้นๆเท่านั้น จะเทรดทันหรือเปล่าก็ไม่รู้ ดังนั้นลุงแมวน้ำจึงว่ารอไปก่อนดีกว่า

2 comments:

Unknown said...

ขอบคุณมากครับผม ^/\^

Unknown said...

ขอบคุณครับ