หุ้นในซับเซ็กเตอร์เทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnology subsector)
“โอ๊ย ลุง เล่าต่อเร็วๆ มัวแต่ดูดน้ำปั่นอยู่นั่นแหละ” ลิงบ่น
“ก็ลุงร้อนนี่นา” ลุงแมวน้ำพูด “เอาล่ะ มาคุยกันต่อ เมื่อกี้ถึงไหนล่ะ”
“ที่ว่าหุ้นกลุ่มไบโอเทคโนโลยี (biotechnology) เป็นดาวเด่นในอุตสาหกรรมดูแลสุขภาพไง มันดียังไง” ลิงทบทวนความเดิม
“อ้อ” ลุงแมวน้ำนึกได้ “ที่จริงลุงควรจะพูดเรื่องอุตสาหกรรมดูแลสุขภาพเสียก่อน แล้วค่อยไปลงรายละเอียดในซับเซ็กเตอร์ไบโอเทค คือเล่าจากใหญ่ไปเล็ก แต่ว่าคิดว่าเล่าเรื่องไบโอเทคก่อนดีกว่า จะทำให้เราเข้าใจภาพของอุตสาหกรรมดูแลสุขภาพนี้ได้ดีขึ้น
“หุ้นในกลุ่มนี้หรือว่าซับเซ็กเตอร์นี้ลุงขอเล่าแบบง่ายๆก็แล้วกันนะ จะได้ไม่ปวดหัวกัน หุ้นกลุ่มนี้ขอให้นึกถึงยาไว้ก่อน ที่จริงยังมีที่ไม่ใส่ยาด้วยแต่อย่าเพิ่งไปนึกถึง ขอให้นึกถึงภาพยาที่ผลิตด้วยกระบวนการทางเทคโนโลยีชีวภาพ
“สมมติว่ากรณีโรคมะเร็งก็แล้วกัน หากเป็นมะเร็ง การรักษาสมัยก่อนก็ผ่าตัดวิธีเดียวเลย ส่วนใหญ่ก็ต้องตัดอวัยวะ แล้วยังอาจไม่หายขาดอีก ดังนั้นผู้ที่ต้องเสียอวัยวะจากการผ่าตัดมะเร็งไป คุณภาพชีวิตก็ไม่เหมือนเดิม อีกทั้งมะเร็งยังอาจลุกลามได้อีกในภายหลัง
“ต่อมาก็มีการพัฒนายารักษามะเร็งขึ้นมา ซึ่งเป็นการฉายรังสี ก็มีผลข้างเคียงอีก เพราะการฉายรังสีก็เหมือนกับการเอาไฟไปเผาเซลล์มะเร็ง แต่ทีนี้การเผาเจาะจงไม่ได้ขนาดนั้น ดังนั้นเซลล์ดีๆก็จะได้รับรังสีหรือถูกเผาไปด้วย ดังนั้นการฉายรังสีก็มีผลข้างเคียงสูงกับเนื้อเยื่อและอวัยวะที่อยู่ใกล้เคียง การฉายรังสีต้องควบคุมปริมาณ ฉายมากเกินไปผู้ป่วยอาจเป็นอันตราย ฉายน้อยก็ไม่ได้ผล
“ต่อมาก็มียาทางเคมี ที่เรียกว่าเคมีบำบัดนั่นไง ยาพวกนี้ก็เจาะจงทำลายแต่เซลล์มะเร็งไม่ได้ ต้องทำลายแบบเหมา คือเซลล์ดีก็โดนไปด้วย ดังนั้นจึงจะเห็นว่าผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัดนั้นมีอาการข้างเคียงอยู่มาก เช่น อาการแพ้ ผอม น้ำหนักลด ผมร่วง และอาการอื่นๆอีก รวมแล้วก็คือสุขภาพทรุดโทรมลง ใช้ยาแรงมากก็เกรงผู้ป่วยได้รับอันตราย ใช้ไม่แรงก็รักษามะะเร็งไม่ได้ ดังนั้นการใช้เคมีบำบัดก็ลำบากอยู่
“ต่อมามีการพัฒนายาด้วยเทคโนโลยีชีวภาพ คือใช้สารทางชีวภาพเอามาทำเป็นยา อย่างเช่นยารักษามะเร็ง ก็เป็นยาที่ผลิตมาจากแอนติบอดีหรือภูมิคุ้มกันของร่างกายอันเป็นโปรตีนชนิดหนึ่ง ยาพวกนี้จะมีคุณสมบัติแบบเดียวกับกลไกภูมิคุ้มกัน นั่นคือ มีความเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง ไม่ทำลายเซลล์ดีๆ โดยทฤษฎีแล้วการรักษามะเร็งด้วยยาไบโอเทคพวกนี้จะได้ผลดี ทำร้ายเซลล์ดีน้อยมาก ทำให้ผู้ป่วยหายขาดและมีคุณภาพชีวิตที่ดี
“โห ดีจัง” ลิงอุทาน
“แต่ก็นั่นแหละ กระบวนการให้ได้มาซึ่งยาพวกนี้ต้องใช้เทคโนโลยีชีวภาพขั้นสูง เพราะต้องหาแอนติบอดีที่มีความเจาะจงในการทำลายเซลล์มะเร็งชนิดนั้นๆที่เราศึกษา จากนั้น เมื่อได้แล้ว ก็ต้องสังเคราะห์โปรตีนนั้นออกมาให้ได้ในปริมาณสูง ทดลองในหลอดทดลอง จากนั้นทดลองในสัตว์ มีการศึกษาประสิทธิผลและพิษในระยะยาว แล้วจึงต้องผ่านกระบวนการพิจารณาทางจริยธรรมก่อนที่จะทดสอบในคนได้ ซึ่ง อย ต้องควบคุม และเมื่อทดสอบในคนแล้วก็ต้องให้ อย อนุมัติ จึงจะใช้เป็นยาได้
“ลำพังแค่การหาแอนติบอดีที่ฆ่าเซลล์มะเร็งได้แบบเจาะจงนี้ก็หน้ามืดแล้ว ต้องทุ่มทุนด้านวิจัยและพัฒนาหรือที่เรียกว่า R&D อย่างมหาศาล ไหนจะขั้นตอนต่อๆมาอีก นอกจากนี้ยังต้องไปจดสิทธิบัตรและบริหารสิทธิบัตรอีก พอเป็นยาก็ต้องทำการตลาดอีก ดังนั้น กว่าจะได้ยาแบบไบโอเทคมาสักชนิดหนึ่ง ใช้ต้องเวลาหลายปี และเงินทุน ทรัพยากรมนุษย์ และเครื่องมืออุปกรณ์มหาศาล ธุรกิจไบโอเทคนี้จึงเป็นธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูง ไม่เปรี้ยงก็แป้ก”
“ยังไงกันลุง ไม่เปรี้ยงก็แป้ก” ลิงจ๋อสงสัย
“กว่าที่จะได้ยามาแต่ละชนิดยากเย็นแสนเข็ญ บางทีสิบปีจึงจะพัฒนายาได้สำเร็จสักตัวหนึ่ง และขั้นการทดสอบในคนหรือที่เรียกว่าการวิจัยทางคลินิกนั้น อาจจะเกิดอะไรขึ้นบ้างก็ไม่รู้ เคยมีเหมือนกัน ที่ FDA หรือ อย. ของสหรัฐอเมริการะงับการทดลองยานั้นๆไปเลย เพราะการวิจัยทางคลินิกมีปัญหา ดังนั้น อาจต้องทำงานกินแกลบสักห้าปีหรือสิบปีเพื่อจะได้ยาสักตัวหนึ่ง แต่ยานั้นหากไม่ผ่าน อย ก็กลับไปกินแกลบต่อ แต่หากผ่าน อย และวางจำหน่ายได้ ยังต้องมีด่านการบริหารสิทธิบัตรและการทำการตลาดยาอีก ดังนั้น ยาพวกนี้หากสำเร็จจะแพงมาก เพราะต้องให้คุ้มกับการลงทุนที่ผ่านมาหลายๆปี แต่หากไม่ประสบความสำเร็จ บริษัทก็อาจต้องล้มไปเลย และพวกนี้พูดกันเป็นเงินระดับล้านดอลลาร์ ไม่ใช่หลักหมื่นหลักแสน พูดง่ายๆว่าหากสำเร็จก็เกินคุ้ม แต่โอกาสสำเร็จมีน้อย” ลุงแมวน้ำอธิบาย
“ถ้าความเสี่ยงมันสูงขนาดนั้น แล้วยังมีใครอยากทำเหรอ” ลิงจ๋อสงสัยอีก “เอาเงินไปทำอย่างอื่นไม่ดีกว่าหรือ”
“ก็อย่างที่บอก หากมาถูกทางก็มีผลกำไรมหาศาล และองค์ความรู้เดิมจะช่วยให้การพัฒนายาในซีรีส์ต่อไปง่ายขึ้นด้วย นายจ๋อถามว่าแล้วแบบนี้ใครจะอยากทำ ลุงแมวน้ำจะบอกว่า สิงคโปร์นี่แหละ อยากทำ สิงคโปร์มีวิสัยทัศน์จะสร้างความเป็นเลิศทางด้านอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพนี้ ก็พยายามดำเนินการมาหลายปีแล้ว มีการสร้างโครงสร้างพื้นฐานไว้รองรับ ทำตัวเป็นฮับด้านวิจัยและพัฒนาไบโอเทคในภูมิภาคนี้ ให้บริษัทใหญ่ๆในโลกมาตั้งฐานการวิจัยและพัฒนาในสิงคโปร์ ขนเอาทุน บุคลากร และเทคโนโลยีเข้ามา ขณะที่ไทยเราไม่ได้คิดไกลแบบนั้น”
“สิงคโปร์เนี่ยนะ” ลิงจ๋อถาม
“ใช่แล้ว อุตสาหกรรมไบโอเทคของสิงคโปร์ตอนนี้มีมูลค่ามากกว่า 5% ของจีดีพีสิงคโปร์แล้ว นอกจากจะดึงต่างชาติมาตั้งฐานแล้ว สิงคโปร์ยังสร้างองค์ความรู้ของตนเอง ลงทุนซื้อตัวนักวิชาการเก่งๆระดับโลกให้มาทำงานด้วย มาสอนหนังสือ มาทำวิจัย ด้วยเงื่อนไขที่ดีมาก ก็มีคนสนใจนั่นแหละ ใครรับข้อเสนอก็เชิญมาเลย โอนสัญชาติเป็นสิงคโปร์ด้วย” ลุงแมวน้ำตอบ “เสียดายนะที่เขาไม่ลงทุนซื้อตัวแมวน้ำละครสัตว์”
“ฮุฮุฮุ ลุงก็นอนกลิ้งอยู่แถวนี้แหละ ดีแล้ว อยู่เป็นเพื่อนผม” ลิงหัวเราะ
“เอ้า มาเข้าเรื่องไบโอเทคกันต่อ ดังนั้น หุ้นกลุ่มไบโอเทคจึงผันผวนสูง ค่าเบตาสูงทีเดียว ลองดูตัวอย่างหุ้นสักตัวก็ได้ ดูนี่” ลุงแมวน้ำพูดแล้วก็ดึงกระดาษแผ่นหนึ่งออกมาจากหูกระต่าย
กราฟราคาหุ้น CLDX ในรอบยี่สิบกว่าปี |
“นี่ไง กราฟของบริษัทเซลล์เดกซ์ (Celldex Therapeutics, CLDX) ดูให้เห็นด้วยตา เทรดกันมาตั้งแต่สิบกว่ายันร้อยกว่า แล้วกลับลงมาต่ำสิบ ตอนนี้ก็ราคาสิบกว่าดอลลาร์ ช่วงหลังผลประกอบการขาดทุนต่อเนื่องมาหลายปีเพราะยายังอยู่ในขั้นวิจัย เข้าข่ายกินแกลบดังที่ลุงบอก”
“โห ลุง แล้วไหงลุงบอกว่ากลุ่มดูแลสุขภาพดี น่าสนใจ” ลิงจ๋อโวย
“นายจ๋ออย่าเพิ่งสับสน ลุงยกตัวอย่างหุ้นนี้ขึ้นมา เพราะกำลังจะบอกว่า หุ้นในซับเซ็กเตอร์ไบโอเทคนั้นแม้เป็นดาวเด่น แต่ก็มีความเสี่ยงสูงแฝงอยู่ ดังที่เล่ามา แต่ถ้าเข้าใจเลือกหุ้นก็พอมีหุ้นดีๆที่ปลอดภัยในซับเซ็กเตอร์ไบโอเทคให้เลือก และอีกอย่างคือ หุ้นในอุตสาหกรรมดูแลสุขภาพนั้นยังมีซับเซ็กเตอร์อื่นๆอีก เรายังไม่ได้พูดกันถึงกลุ่มอื่นเลยว่าน่าสนใจยังไง เรายังคุยกันเรื่องหุ้นและกองทุนในอุตสาหกรรมดูแลสุขภาพไม่หมดเลย เพิ่งคุยกับแค่ซับเซ็กเตอร์ไบโอเทคเท่านั้นเอง ลองดูอีกสักหุ้นก็ได้ ดูนี่”
“นี่แหละ ไม่เปรี้ยงก็แป้ก รายนี้เปรี้ยงเลย” ลุงแมวน้ำพูด
“และอีกอย่างหนึ่งก็คือ หุ้นไบโอเทคโนโลยีนั้น หากเป็นบริษัทระดับพันล้านดอลลาร์ ก็ยังถือว่าเป็นบริษัทเล็ก และมีสายป่านสั้น ความอยู่รอดทางธุรกิจจึงยังเป็นปัญหา แต่บริษัทเล็กพวกนี้มักมีของดีอยู่ คือมีผลงานวิจัยหรือว่าสิทธิบัตรดีๆอยู่ในมือ พูดง่ายๆก็คือเทคโนโลยีเด่นแต่ว่าสายป่านอาจสั้นไปสักนิด บริษัทเหล่านี้จึงมักเป็นเป้าหมายในการเทคโอเวอร์ของบริษัทใหญ่ๆ ทีนี้หุ้นในซับเซ็กเตอร์นี้ก็สนุกสนานกันละ ยกตัวอย่างเซลล์เด็กซ์นี่ไง ขาดทุนหลายปีติดต่อกัน แต่หุ้นยังวิ่งแรง เพราะว่ายิ่งขาดทุนยิ่งแปลว่ามีโอกาสถูกเทคโอเวอร์สูง เก็งกำไรกันสนุกไปเลย”
“อ้อ ยังงี้นี่เอง” ลิงจ๋อได้คิด “ยังงั้นเล่าต่อเลยลุง”
“เดี๋ยว คอแห้งอีกแล้ว เดี๋ยวหาน้ำปั่นสักแก้วก่อน” ลุงแมวน้ำตอบ
No comments:
Post a Comment