Friday, May 30, 2014

30/05/2014 ส่องหุ้นเหล็กและวัสดุก่อสร้างต้อนรับรัฐบาลใหม่



ดังที่ลุงแมวน้ำได้คุยให้ฟังมาแล้วว่า หลังจากที่มีการเปลี่ยนแปลงด้านโครงสร้างอำนาจ ตอนนี้ คสช เป็นรัฏฐาธิปัตย์ มีอำนาจทั้งด้านบริหารและนิติบัญญัติ ต่อไปก็จะมีรัฐบาลใหม่ที่มีอำนาจเต็มมาบริหารประเทศ ซึ่งคาดว่านโยบายด้านการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนของ คสช และรัฐบาลใหม่ น่าจะต่อเนื่องกัน

ขณะนี้ยังไม่มีรัฐบาล คสช ใช้อำนาจบริหารไปพลางก่อน เท่าที่ติดตามข่าวดู ก็มีการเร่งรัดงบประมาณที่ค้างท่ออยู่ พร้อมกับร่างงบประมาณ 2558 เพื่อให้ทันใช้ ทางด้านการลงทุน คสช จะกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการลงทุนภาครัฐเท่าที่ไม่สร้างหนี้ผูกพันกับรัฐบาลหน้า ดังนั้น เรื่องการลงทุนในช่วง คสช ก็คงทำได้เพียงระดับที่จำกัด ส่วนเมื่อมีรัฐบาลใหม่เข้ามา ก็ค่อยมาดูกันอีกทีหนึ่ง

ตอนนี้มีข่าวสะพัดว่า คสช จะพิจารณาปัดฝุ่นอภิมหาโครงการลงทุน 2.2 ล้านล้านบาท และโครงการป้องกันน้ำท่วม 3.5 แสนล้านบาทของรัฐบาลเก่า ทำให้หุ้นในกลุ่มรับเหมาก่อสร้างและวัสดุก่อสร้างวิ่งกันฝุ่นตลบ ซึ่งในความเห็นของลุงแมวน้ำ ไม่น่าเป็นไปได้ เพราะว่าโครงการ 2.2 ล้านล้านบาทและน้ำ 3.5 แสนล้านบาทนั้น พูดง่ายๆคือเป็นงบลงทุนที่รวมโครงการร้อยพ่อพันแม่เอาไว้มามัดห่อเข้าด้วยกัน โครงการที่ศึกษามาอย่างดีแล้ว ผ่านการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมและผลกระทบต่อชุมชน และพร้อมลงทุน มีเพียงส่วนน้อย ส่วนที่เหลือนั้นยังติดอยู่ในขั้นตอนต่างๆ แตกต่างกันไป ตั้งแต่ขั้นศึกษาความเป็นไปได้ ขั้นสิ่งแวดล้อมและผลกระทบชุมชน ขั้นประชาพิจารณ์ ฯลฯ

ดังนั้นลุงแมวน้ำอยากฝากเตือน อย่าคาดหวังสูงเรื่องปัดฝุ่นโครงการ 2.2 ล้านล้านกับโครงการน้ำ 3.5 แสนล้าน หวังเพียงแค่ว่ามีโครงการก่อสร้างภาครัฐมากระตุ้นเศรษฐกิจเท่าที่ศึกษามาดีแล้วและพอเป็นไปได้เท่านั้น อย่างเช่น โครงการรถไฟฟ้า โครงการรถไฟรางคู่ ฯลฯ หวังน้อยเอาไว้ก่อน

เมื่อวานลุงแมวน้ำอัปเดตหุ้นในกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง ให้ดูตัวอย่างกันไปบ้างแล้ว วันนี้เราจะมาอัปเดตหุ้นในกลุ่มเหล็กและวัสดุก่อสร้างบางตัวกัน ส่วนกลุ่มอื่นคงต้องขอยกยอดวันต่อไป

วัสดุก่อสร้างที่สำคัญสำหรับโครงการก่อสร้างที่เป็นงานโยธาก็คือปูนซีเมนต์และเหล็ก การอัปเดตสถานการณ์ในวันนี้ลุงแมวน้ำเน้นด้านเทคนิคเป็นสำคัญ มีค่า P/E ให้ดูประกอบ แต่ปัจจัยพื้นฐานอื่นๆลุงทำไม่ทัน >.<


หุ้นกลุ่มวัสดุก่อสร้าง - ปูนซีเมนต์

เรามาดูหุ้นปูนกันก่อน ภาพรวมของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์นั้นด้านอุปทาน (supply) มีสูง ผู้เล่นก็มีหลายราย ด้านราคาปูนซีเมนต์ในตลาด ไตรมาส 1Q2014 ปรับตัวขึ้นมาจากไตรมาส 1Q2013 ประมาณ 7-8% แล้ว และลำพังปริมาณการใช้ปูนซีเมนต์ในโครงการลงทุนภาครัฐในช่วงนี้อาจไม่มากนัก เพราะว่าในภาคอสังหาริมทรัพย์ดูยังไม่กระเตื้องเท่าไร ดังนั้นการลงทุนในหุ้นปูนควรระมัดระวังไว้บ้าง อย่าเก็งกำไรสวยหรูเกินไป


SCC ปูนใหญ่ มาร์เก็ตแค็ปใหญ่สุดในกลุ่มวัสดุก่อสร้าง ปูนใหญ่มีรายได้จากหลายธุรกิจ ทั้งปูนซีเมนต์ กระดาษ ปิโตรเคมี ฯลฯ ตอนนี้เป็นแนวโน้มขาลง อีกทั้งเป็นหุ่นฝรั่ง หากต่างชาติยังขายอยู่ หุ้นปูนใหญ่ก็ขึ้นไม่ไหว 


SCCC ปูนกลาง เป็นแนวโน้มขาขึ้น แต่ค่าพีอีสูงพอควร ก็เริ่มจะแพงแล้ว ซื้ออนาคตกันไปเยอะแล้ว


SCP ทำคอนกรีตอัดแรง ราคาทะลุสามเหลี่ยมชายธงขึ้นข้างบนแล้ว รอทดสอบแนวต้านใหญ่ที่ 9.3 บาทอีกด่านหนึ่ง


CCP ทำคอนกรีต เทคนิคสวย ทะลุสามเหลี่ยมชายธง ผ่านแนวต้านสำคัญ และน่าจะอยู่ในคลื่นสามแล้ว


หุ้นหลุ่มเหล็ก

จากนั้นเรามาดูหุ้นในกลุ่มเหล็กกัน หุ้นกลุ่มเหล็กนี้มีเยอะทีเดียว มีผู้เล่นในหลายขั้นของสายผลิตภัณฑ์ แต่ส่วนใหญ่เป็นเหล็กกลางน้ำ (คือนำเหล็กมาหลอมหรือแปรรูป) กับเหล็กปลายน้ำ (คือซื้อมาขายไป) แต่หากมองในแง่ตัวผลิตภัณฑ์ จะแบ่งง่ายๆได้เป็นเหล็กทรงกลมกับเหล็กทรงแบน เหล็กทรงกลม ได้แก่ เหล็กเส้น เหล็กข้ออ้อย เหล็กทรงกลมมักใช้ในงานโครงสร้าง ส่วนเหล็กทรงแบนเป็นเหล็กที่ใช้ในขั้นตกแต่ง เก็บงาน ดังนั้น ในกระบวนการงานก่อสร้าง เหล็กทรงกลมจะใช้ก่อนในงานช่วงแรก ส่วนเหล็กทรงแบนจะใช้ในงานขั้นหลัง

หลายปีมานี้ธุรกิจเหล็กในระดับโลกไม่ค่อยดี เพราะว่าเศรษฐกิจของจีนไม่ได้เติบโตพรวดพราดเหมือนเมื่อก่อน ดังนั้นอุปสงค์ของเหล็กจึงลดลง จีนเองก็ผลิตเหล็กออกมามากมาย เมื่อความต้องการน้อยลง ก็ต้องขายตัดราคากันเพื่อแย่งชิงออร์เดอร์ ดังนั้นราคาเหล็กในหลายปีมานี้จึงขึ้นไม่ไหวเพราะจีนถล่มราคาขาย

ส่วนเหล็กที่ผลิตได้ภายในประเทศไทยนั้น ส่วนใหญ่ก็ขายในประเทศ เพราะส่งไปขายต่างประเทศก็แข่งกับจีนไม่ไหว แต่อย่างไรก็ตาม เหล็กในอุตสาหกรรมก่อสร้างเป็นสินค้าควบคุมราคา การตั้งราคาจึงมีกรอบจำกัด ทั้งนี้ ภาคอสังหาริมทรัพย์พวกบ้าน คอนโด ก็ยังไม่ฟื้น ดังนั้น อย่าคาดหวังสูงกับหุ้นในกลุ่มเหล็กเช่นกัน ราคาเหล็กเส้นไตรมาสนี้ 1Q2014 ปรับตัวลดลงนิดหน่อยเมื่อเทียบกับไตรมาส 1Q2013 สะท้อนว่าแนวโน้มราคายังไม่ดีขึ้น

ที่เล่ามานี้เป็นภาพกว้างของของธุรกิจเหล็ก คราวนี้มาดูราคาหุ้นเหล็กบางตัวกัน


TMT เป็นธุรกิจค้าเหล็ก (ซื้อมาขายไป) ราคายังไม่มีทิศทาง แนวต้านขั้นต้น 10.6 บาท

TSTH ผลิตเหล็กทรงกลม ผลประกอบการขาดทุนติดกันหลายปี เพิ่งมามีกำไรจิ๊ดเดียวในไตรมาส 1Q2014 ดังนั้นค่า P/E จึงส฿งลิ่ว ทางเทคนิคอยู่ในแนวโน้มขาขึ้น

CHOW ผู้ผลิตเหล็กทรงกลม มีรายได้จากธุรกิจโรงไฟฟ้าด้วย และอยู่ในตลาด MAI ด้านเทคนิคน่าจะอยู่ในคลื่น 3 

BSBM ผลิตเหล็กทรงกลม เป็นบริษัทในเครือ SSI ค่า P/E 16.06 เท่า ด้านเทคนิค ราคาเพิ่งตัดทะลุสามเหลี่ยมชายธง แนวต้านสำคัญคือ 1.21 บาท 

MILL ผู้ผลิตเหล็กทรงกลมและเหล็กตัวซี ปี 2556 ขาดทุน และก่อนหน้านั้นก็กำไรน้อยมาก เมื่อผลประกอบการขาดทุนจึงไม่มีค่าพีอี ทางเทคนิคอยู่ในแนวโน้มขาขึ้น

SSI ผู้ผลิตเหล็กทรงแบน ผลประกอบการ 3 ปีก่อนหน้าขาดทุนติดกัน ปี 2554 ไปซื้อโรงเหล็กที่อังกฤษ ใช้เงินไปหลาย เพื่อหวังลดต้นทุนการผลิต แต่ก็มาโดนเหล็กจีนตีตลาด ไม่มีค่าพีอี ราคายังไม่มีทิศทาง 


หุ้นวัสดุก่อสร้างอื่นๆ - ยางมะตอย ท่อเหล็ก ท่อร้อยสายไฟ

นอกจากปูนและเหล็กแล้ว ยังมีวัสดุก่อสร้างที่คาดว่าน่าจะได้ประโยชน์จากการลงทุนของภาครัฐ นั่นก็คือ หุ้นต่อไปนี้


TASCO ผลิตและจำหน่ายยางมะตอย ราคาแกว่งในกรอบ ทิศทางยังไม่ชัด แนวต้าน 54.75 บาท


ARROW ผู้ผลิตท่อร้อยสายไฟและข้อต่อ เป็นหุ้นในตลาด MAI ราคานิ่งแล้วกระชากแรงเมื่อไม่กี่วันมานี้ ราคาทะลุแนวต้านและยืนได้ แต่แนวโน้มยังไม่ชัดเนื่องจากราคาพิ่งขึ้นไม่กี่วันมานี้เอง

PAP ผลิตและจำหน่ายท่อเหล็ก ราคาเพิ่งทะลุชายธงขึ้นมา แนวต้านอีกด่านหนึ่งคือ 4.8 บาท

วันนี้อัปเดตหุ้นกันหลายหุ้นเลยทีเดียว แต่ลุงไม่ได้เชียร์ซื้อนะคร้าบ ที่เล่ามามีทั้งหุ้นดีและไม่ดี รวมทั้งยังมีเรื่องภาวะอุปสงค์อุปทานที่ต้องประเมินด้วย ดังนั้นอย่าคาดหวังสูง



แนวคิดในการเลือกหุ้นทางเทคนิค เลือกหุ้นที่เพิ่งเข้าคลื่น 3

แต่สมมติว่าถ้าจะลงทุน ในทางเทคนิคก็ควรเลือกหุ้นที่รูปแบบทางเทคนิคชัดเจน นั่นคือ หาจุดจบของคลื่น C ใหญ่ให้พบ จากนั้นรอให้ราคาเข้าคลื่น 3 ค่อยเข้าลงทุน และหากปัจจัยพื้นฐานดี พีอีต่ำ ศักยภาพสูง มีบรรษัทภิบาลสูง ก็ยิ่งวิเศษ ^_^

ตัวอย่างหุ้นที่เพิ่งเข้าคลื่น 3 ก็ดังข้างล่างนี้ หา C ใหญ่เจอแล้ว ตอนนี้น่าจะเป็นคลื่น 3


ตัวอย่างหุ้นที่เพิ่งเข้าคลื่น 3

ตัวอย่างหุ้นที่เพิ่งเข้าคลื่น 3

แต่ลุงว่าตอนนี้หุ้นแกว่งแรงไปหน่อยนะ รอดูไปก่อนดีกว่า ให้ฝุ่นหายตลบค่อยมาดูอีกทีก็ยังไม่สาย

Thursday, May 29, 2014

29/05/2014 ที่ปรึกษายี้ กับอัปเดตหุ้นรับเหมารับรัฐบาลใหม่



เมื่อวานเราคุยกันในเรื่อง สามเหลี่ยมชายธง ดุลยภาพหลังตกใจ อันเป็นเรื่องรูปแบบทางเทคนิคหลังเหตุการณ์วิกฤต สำหรับวันนี้ เราจะมาดูหุ้นบางกลุ่มที่คาดว่าจะได้รับผลดีหลังจากมีรัฐบาลใหม่ เราจะลองมาดูกราฟราคาเพื่ออัปเดตสถานการณ์กันว่าเป็นอย่างไรบ้าง

แม้ว่าตอนนี้เราจะยังไม่มีรัฐบาลใหม่ แต่ลุงแมวน้ำคาดว่าคงใกล้มากแล้วล่ะ อีกทั้งช่วงนี้ คสช ก็ได้ประกาศแต่งตั้งผู้ที่มีความรอบรู้และประสบการณ์หลายคนมาเป็นที่ปรึกษาของ คสช เพื่อให้ คสช ทำงานแก้ไขปัญหาต่างๆของประเทศได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งเมื่อเปิดเผยรายชื่อ หลายคนถึงกับร้องยี้เพราะไม่ถูกใจ เสียงคัดค้าน เสียงไม่พอใจ มีพอสมควรทีเดียว หลายคนก็มีความเห็นว่าที่ปรึกษาบางคนเป็นผู้ที่เคยร่วมงานกับรัฐบาลเก่า คืออยู่ในกลุ่มสายอำนาจเก่า ตั้งเข้ามาได้ยังไง คนนั้นก็ด่างพร้อยอย่างนั้น คนนี้ก็ด่างพร้อยอย่างนี้ เป็นต้น

ลุงแมวน้ำก็ขอออกความเห็นบ้างละกัน จริงอยู่ หลายชื่ออาจไม่ถูกใจประชาชน แต่ว่าลุงสังเกตว่า คสช ทำงานเรียบร้อย รวดเร็ว มีการแยกน้ำหนักของเรื่องราว เร็ว ช้า หนัก เบา อันบ่งบอกถึงว่ามีการเตรียมงานกันมาอย่างดี ดังนั้น ลุงแมวน้ำจึงยังมองในแง่ดีว่าการตั้งที่ปรึกษานี้น่าจะกลั่นกรองมาดีแล้ว ไม่ใช่รีบร้อนตั้งจนผิดพลาด อีกอย่างหนึ่งก็คือ ยังไม่เห็นผลงานกันเลย โบราณว่าอย่าเพิ่งติเรือทั้งโกลน

ประเด็นที่ว่าบางคนมีประวัติด่างพร้อย ลุงว่าไม่มีใครบริสุทธิ์ผุดผ่องหรอก เพียงแต่ต้องดูว่าด่างพร้อยในแง่ไหน หากไม่กระทบกับภาระหน้าที่สำคัญ ลุงว่าหากพิจารณาดีแล้วก็น่าลองให้โอกาสดูได้

หลายคนมองว่าที่ปรึกษาบางคนเป็นสายอำนาจเก่า ประเด็นนี้สามก๊กยังมีเขียนเอาไว้เลย การเอาชนะศัตรูที่ดีที่สุดก็คือแปรศัตรูให้กลายเป็นมิตร ตัวอย่างในสามก๊กก็คือการที่ขงเบ้งจับกุมเบ้งเฮ็กเจ็ดครั้งและปล่อยไปทั้งเจ็ดครั้ง อันเป็นกลยุทธ์จับเพื่อปล่อย ปล่อยเพื่อจับ

เบ้งเฮ็กเป็นเจ้าเมืองม่าน ยุยงให้เจ้าเมืองตามชายแดนด้านใต้ของเสฉวน (เสฉวนเป็นที่ตั้งแคว้นจ๊กก๊กที่ขงเบ้งอยู่) เป็นกบฏต่อจ๊กก๊ก ขงเบ้งก็พยายามปราบปราม โดยในกรณีนี้ขงเบ้งใช้กองทัพปราบปรามเบ้งเฮ็กถึงหกครั้ง เมื่อจับตัวเบ้งเฮ็กได้ ขงเบ้งก็ปล่อยตัวไปทั้งหกครั้ง จนในการรบครั้งที่เจ็ด เบ้งเฮ็กก็แพ้และถูกจับได้อีก แต่คราวนี้ได้สำนึก เพราะหากผู้ชนะเป็นคนอื่นที่ไม่ใช่ขงเบ้ง เบ้งเฮ็กคงตายไปหลายรอบแล้ว ดังนั้นจึงกลับใจสวามิภักดิ์ ซึ่งขงเบ้งก็ให้เป็นเจ้าเมืองม่านต่อไปตามเดิม นับจากนั้นมา ชายแดนด้านใต้ก็สงบสันติ กลยุทธ์นี้ขงเบ้งจับตัวแล้วปล่อย แต่ปล่อยตัวเพื่อจับกุมหัวใจ

สำหรับลุงแมวน้ำคงขอรอดูผลงานกันก่อน หากไม่ไหวค่อยร้องยี้ในภายหลัง

ตอนนี้ คสช เปรียบเหมือนเป็นนักมวยขึ้นเวที กำลังชกกับคู่ต่อสู้อยู่ หากเคยดูมวยกันคงรู้ดีว่าแฟนมวยนั้นเวลาเชียร์มวยมักชอบสอนกลยุทธ์ ร้อยคนเชียร์ก็สอนร้อยอย่าง แต่ผู้ชมก็คงเข้าใจดีว่านักชกก็มีกลยุทธ์การต่อสู้ของตนเอง เวลาชกก็ต้องดำเนินไปตามนั้น ดังนั้นกับเส้นทางการปฏิรูปนี้ก็เช่นกัน เราเชียร์บ้าง ขัดข้องใจบ้าง แต่ก็คงเข้าใจดีว่าก็ต้องปล่อยให้ คสช ทำงานตามแผนที่ได้วางเอาไว้ไปก่อน หากโลไปเลมา เดี๋ยวก็เป๋จนได้ แล้วจะเสียการใหญ่

เอาล่ะ ทีนี้เรามาคุยกันเรื่องหุ้นบ้าง วันก่อนลุงแมวน้ำบอกว่าหุ้นที่ได้รับอานิสงส์จากการมีรัฐบาลใหม่ นั่นก็คือหุ้นที่เกี่ยวกับการซ่อม สร้าง ต่างๆ วันนี้เราจะลองมาอัปเดตกันว่ากราฟราคาหุ้นในกลุ่มผู้รับเหมาบางตัวว่ามีรูปแบบทางเทคนิคอย่างไรบ้าง

เราจะเริ่มกันที่ผู้รับเหมารายใหญ่ก่อน จากนั้นจะไปดูผู้รับเหมาขนาดรองลงมา จากนั้นจะไปดูวัสดุก่อสร้างพวกอิฐ ปิน ปูน ทราย ดูกราฟพร้อมคำอธิบายไปได้เลยคร้าบ


STEC หนึ่งในสามผู้รับเหมารายใหญ่ ราคาค่อยๆขึ้นมาตั้งแต่ปลายเดือนมกราคม 2014 นักลงทุนเริ่มคาดหวังอนาคตและสะสมกันมาตั้งแต่ต้นปีแล้ว ทางเทคนิคเป็นแนวโน้มขาขึ้นอยู่

CNT ผู้รับเหมารายรอง สองสามวันนี้เล่นแรงมาก ในทางเทคนิคติดแนวต้านสำคัญ ยังไม่แน่ว่าจะผ่านได้หรือไม่

UNIQ ผู้รับเหมารายรอง เก็งว่าได้อานิสงส์จากการรับงานรถไฟฟ้า สองสามวันนี้เล่นแรงมาก กราฟก่อตัวเป็นสามเหลี่ยมชายธงมาตั้งแต่ต้นปี เพิ่งตัดทะลุได้ แต่สัญญาณแท่งเทียนไม่สวย อาจทะลุแล้วไปต่อไม่ไหว 

NWR ถนัดพวกงานสร้างทาง ถนน สองวันนี้เล่นแรง ยังไม่ผ่านแนวต้านสำคัญ อีกทั้งสัญญาณแท่งเทียนไม่สวย


SEAFCO ผลิตเสาเข็มเจาะ และรับเหมางานก่อสร้างฐานราก ระยะนี้เล่นแรงมาก ที่ผ่านมาเกิดสามเหลี่ยมชายธงเล็กๆและทะลุขึ้น แต่แท่งเทียนล่าสุดคือดาวตก (shooting star) อันบ่งชี้การกลับทิศเป็นขาลง ซึ่งต้องรอดูอีกสองสามวันเพื่อยืนยันสัญญาณ


ลุงแมวน้ำยกตัวอย่างมานี้ เพื่อศึกษา ไม่ได้เชียร์หุ้นตัวใดนะคร้าบ จะเห็นว่า หุ้นรับเหมารายใหญ่นั้นมีการซื้ออนาคตกันมาตั้งแต่ต้นปีแล้ว ส่วนผู้รับเหมารองนั้นราคาเพิ่งขึ้น แต่ราคาแกว่งแรงมาก หากเร็วและแรงขนาดนี้ สัญญาณซื้อขายอะไรก็เอาไม่อยู่ ต้องวัดดวงอย่างเดียวเลย >.<


วันนี้ดูกลุ่มผู้รับเหมาไปก่อน พรุ่งนี้ เรามาดูกลุ่มวัสดุ (อิฐหินปูนทราย ฯลฯ) สินเชื่อ และการบริโภคกันคร้าบ

Wednesday, May 28, 2014

28/05/2014 สามเหลี่ยมชายธง ดุลยภาพหลังตกใจ



วันนี้ลุงแมวน้ำจะคุยเรื่องรูปแบบทางเทคนิคหลังเหตุการณ์วิกฤตกัน

ดุลยภาพในธรรมชาติหรือว่าสมดุลธรรมชาติ เป็นสัจธรรมอย่างหนึ่ง นั่นคือ ทุกสิ่งต้องพยายามปรับตัวให้เข้าสภาวะสมดุล ยกตัวอย่างง่ายๆเช่นการขี่จักรยาน เราต้องเลี้ยงตัวไปมาเพื่อรักษาสมดุลของรถจักรยานไม่ให้ล้มและเพื่อให้วิ่งต่อไปข้างหน้าได้ หรืออย่างเช่นการกินอาหาร หากมื้อนี้เรากินมากเกินไป ร่างกายจะบอกเราว่าอิ่มมากแล้ว และมื้อถัดไปเราจะรู้สึกแน่นท้องและกินได้น้อยลง นี่ก็คือการที่ร่างกายปรับสมดุลของการกิน ฯลฯ

นี่เป็นตัวอย่างง่ายๆของสมดุลที่เกิดขึ้นในธรรมชาติ และปรากฏการณ์ในตลาดหุ้นก็ทำนองเดียวกัน เมื่อมีเหตุการณ์ที่น่าแตกตื่นตกใจเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นข่าวดีหรือข่าวร้าย สมมติว่าเป็นข่าวร้ายละกัน เมื่อเกิดข่าวร้ายขึ้นอย่างฉับพลันกระทันหัน ตลาดจะตอบสนองด้วยการปรับตัวลงแรง แต่หลังจากนั้นก็จะมีการรีบาวด์ แต่ลองสังเกตกันดูไหมว่าหลังจากเหตุการณ์ตกใจ ตลาดมักเด้งขึ้นเด้งลงสักพักหนึ่ง เพราะยังไม่มีใครรู้ว่าจะเป็นยังไงต่อไปกันแน่ จนเมื่อสถานการณ์กระจ่างแล้วนั่นแหละ ราคาก็จะค่อยๆเข้าที่เข้าทาง จากนั้นเหตุปัจจัยใหม่ๆหลังจากนั้นก็จะรับหน้าที่ขับเคลื่อนตลาดต่อไป

รูปแบบหลังจากเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้ตลาดตกใจมักเป็นรูปแบบการเด้งขึ้นเด้งลงเพื่อให้ราคาเข้าสู่ดุลยภาพ หรือว่าไปสู่ราคาที่เหมาะสม ซึ่งหากสังเกตดูดีๆจะพบว่ารูปแบบนี้ก็คือรูปแบบสามเหลี่ยมชายธงนั่นเอง โดยหลังเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้ตลาดตกใจมักเกิดรูปแบบสามเหลี่ยชายธงตามมา จากนั้นราคาจะค่อยๆลู่เข้าสู่ปลายชายธงอันเป็นความหมายว่าราคาเข้าสู่ดุลยภาพแล้ว และหลังจากนั้นปัจจัยใหม่ๆที่ตามมาก็จะรับช่วงต่อ ผลักดันให้ราคาค่อยทะลุปลายชายธงออกไป จะทะลุขึ้นหรือลงก็ต้องดูว่าปัจจัยใหม่ที่มารับช่วงต่อนั้นเป็นปัจจัยบวกหรือลบ 

เราลองมาดูตัวอย่างเหตุการณ์ที่ทำให้ตลาดตกใจในอดีตพร้อมรูปแบบทางเทคนิคกัน

เหตุการณ์ 911 หรือการก่อการร้ายครั้งสำคัญในสหรัฐอเมริกาเมื่อ 11 กันยายน 2001 (2544) ตลาดหุ้นไทยตกใจประมาณเดือนกว่า เกิดเป็นสามเหลี่ยมชายธงแล้วทะลุขึ้น

ตลาดหุ้นอเมริกาหลังเหตุการณ์ 911 ใช้เวลาประมาณ 2 เดือนจึงจะเข้าที่ เกิดเป็นสามเหลี่ยมชายธงแล้วทะลุขึ้น

เหตุการณ์รัฐประหารในประเทศไทย 19 กันยายน 2549 ตลาดตกใจเพียงช่วงสั้นไม่กี่สัปดาห์ จากนั้นก็เข้าที่เข้าทาง เกิดรูปแบบสามเหลี่ยมชายธงขนาดเล็ก จากนั้นทะลุขึ้น


ปลายปี 2006 (2549) หลังจากที่ตลาดหายตกใจจากเหตุการณ์รัฐประหารแล้ว ในปลายปีนั้นเอง ก็มีเหตุปัจจัยใหม่เข้ามา ตลาดก็ต้องตกใจอีกรอบ ด้วยเหตุการณ์ อุ๋ยร้อยจุด นั่นคือ การควบคุมเงินทุนไหลเข้าระยะสั้นด้วยการกันสำรอง 30% ตลาดหุ้นลงปรับตัวลงไปต่ำสุดในวันเดียวถึง -19.5% เหตุการณ์ครั้งนี้ร้ายแรงกว่าการทำรัฐประหารมาก เพราะว่าตลาดตกใจอยู่หลายเดือนกว่าจะเข้าสู่ดุลยภาพ ทำให้เกิดรูปแบบสามเหลี่ยมชายธงขนาดใหญ่ จากนั้นจึงทะลุปลายชายธงขึ้นไป


ในปี 2013 ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตกใจกลัวว่าอเมริกาจะลดหรือเลิกการอัดฉีดเศรษฐกิจหรือที่เรียกว่าคิวอี (QE) หลังจากที่ช็อคครั้งแรกในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม 2013 ตลาดพยายามปรับตัวให้เข้าสู่ดุลยภาพซึ่งกินเวลาหลายเดือน แต่เนื่องจากข่าวลือเรื่องการลดคิวอีตามมาหลอนไม่เลิกรา ประกอบกับในช่วงปลายปีประเทศไทยเกิดความไม่สงบทางการเมือง ดังนั้นตลาดจึงก่อรูปแบบสามเหลี่ยมชายธงถึงสองรูป แต่ละรูปกินเวลานานหลายเดือน อีกทั้งยังเป็นแบบตัดปลายชายธงลงข้างล่างอีกด้วย



เหตุการณ์รัฐประการ 22 พฤษภาคม 2014 ตลาดกำลังเดินเข้าสู่ดุลยภาพ อีกไม่นานก็จะเข้าสู่ปลายชายธง จากนั้นก็รอดูว่าทะลุชายธงขึ้นหรือลง


จะเห็นว่าหลังเกิดเหตุตกใจหรือเหตุการณ์ช็อกตลาด ตลาดมักปรับตัวเข้าสู่ดุลยภาพด้วยรูปแบบสามเหลี่ยมชายธง ส่วนใหญ่มักกินเวลานานแค่ไม่กี่สัปดาห์หรือไม่กี่เดือน หลังจากนั้นปัจจัยใหม่จะมารับช่วงขับเคลื่อนตลาดต่อไป ซึ่งปัจจัยใหม่นี้เองจะเป็นตัวที่ทำให้ราคาตัดทะลุชายธงขึ้นหรือลง

สำหรับในตอนนี้ ประเทศไทยเพิ่งเกิดการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2014 หากดูจากกราฟจะเห็นว่าลำพังปัจจัยรัฐประหารเกิดผลต่อตลาดเพียงเล็กน้อย เป็นเพียงส่วนหนึ่งของสามเหลี่ยมชายธงที่ก่อตัวมาตั้งแต่เดือนเมษายนแล้ว และขณะนี้ตลาดกำลังลู่เข้าสู่ปลายชายธงเพื่อหาจุดที่เกิดดุลยภาพ และหลังจากนั้นก็จะเกิดปัจจัยใหม่มารับช่วงให้ตลาดตัดทะลุชายธงขึ้นหรือลงต่อไป ซึ่งหากพิจารณาจากทรงของชายธง ลุงแมวน้ำคาดว่าการตัดทะลุปลายชายธงน่าจะเกิดในราวปลายเดือนมิถุนายน อาจก่อนหรือหลังจากนั้นเล็กน้อย 

นี่เองที่ลุงแมวน้ำบอกว่าไม่ใช่เวลาซื้อ เนื่องจากราคากำลังลู่เข้าปลายชายธง โอกาสทำกำไรมีเพียงการเทรดสั้นๆเท่านั้น จะเทรดทันหรือเปล่าก็ไม่รู้ ดังนั้นลุงแมวน้ำจึงว่ารอไปก่อนดีกว่า

Monday, May 26, 2014

26/05/2014 มุมมองหลังรัฐประหาร การเมืองมั่นคง เศรษฐกิจรุดหน้า





สัปดาห์ที่แล้วมีเรื่องราวต่างๆเกิดขึ้นมากมาย เหตุการณ์ดำเนินไปอย่างรวดเร็วมาก เริ่มตั้งแต่วันที่ 20/05/2014 เวลา 3:00 น. ผู้บัญชาการทหารบกประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร ต่อมาวันที่ 22/05/2014 เวลา 16:30 น. ผู้บัญชาการทหารบกก็ทำการรัฐประหารยึดอำนาจการปกครอง และตั้งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช ขึ้น

ภายในเวลาไม่กี่วัน คสช ออกประกาศและคำสั่งต่างๆมามากมาย เหตุการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เช่น ยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 2550 วุฒิสภาสิ้นสุดลง มีการโยกย้ายข้าราชการระดับสูง สั่งการให้ปลัดกระทรวงปฎิบัติหน้าที่แทนรัฐมนตรี เร่งรัดการเบิกจ่ายที่คั่งค้าง ร่างงบประมาณปี 2558 เตรียมวงเงิน 92,000 ล้านบาทเพื่อจ่ายชาวนาที่รัฐยังค้างเงินจำนำข้าวอยู่ โดยเริ่มจ่ายได้ตั้งแต่วันจันทร์ 26/05/2014 เป็นต้นไป และคาดว่าอีกไม่นานนี้ เราจะได้สภาปฏิรูปเพื่อดำเนินการปฏิรูปประเทศไทยให้ครอบคลุมด้านต่างๆ รวมทั้งมีนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีที่มือสะอาด มีความสามารถ และต่อจากนั้นเราจะมีสภาร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อร่างรัฐนูญฉบับใหม่ และมีการเลือกตั้งในที่สุด ฯลฯ

การเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว รัดกุม และเป็นระบบและเป็นขั้นตอน สะท้อนให้เห็นถึงการวางแผนที่ดี รวมทั้งได้รับคำแนะนำจากนักวิชาการที่มีประสบการณ์ ไม่เช่นนั้นคงไม่สามารถทำได้ถึงขนาดนี้

จากเหตุการณ์ และพฤติการณ์ที่ผ่านมา ประกอบกับการดำเนินงานของ คสช ลุงแมวน้ำเห็นว่าการเมืองจะมั่นคงขึ้น เพราะรัฐประหารครั้งนี้สามารถตอบโจทย์แก้เงื่อนตายทางการเมืองและเศรษฐกิจได้ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป เงินจำนาข้าวประมาณ 92,000 ล้านบาทจะทยอยสู่มือชาวนาจนครบภายในไม่เกิน 1 เดือน แปลว่าเงินเก้าหมื่นกว่าล้านจะเริ่มไหลเข้ามาในระบบเศรษฐกิจ ชาวนาจะนำเงินไปใช้หนี้ ลงทุนเพาะปลูกในฤดูกาลถัดไป จ่ายค่าเล่าเรียนให้ลูก ฯลฯ เงินก้อนใหญ่นี้จะเข้ามาหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจและเอสเอ็มอีจะเริ่มฟื้นตัวได้ คราวนี้ผู้ประกอบการรายย่อยเห็นทางรอดแล้ว อดทนกันอีกนิดเดียว ^_^

หลังจากนั้น เมื่อมีรัฐบาลใหม่ และเมื่อมีงบประมาณปี 2558 การขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ การลงทุนต่างๆจะเริ่มขึ้น รัฐต้องใช้เครื่องมือทางการคลัง นั่นคือ การลงทุนภาครัฐเพื่อกระตุ้นวงจรเศรษฐกิจให้ขับเคลื่อน น่าจะเป็นพวก โครงการรถไฟรางคู่ การซ่อมสร้างทาง โครงการป้องกันอุทกภัยบางโครงการที่ศึกษามาดีแล้วสามารถดำเนินการได้ เช่น ถนนเลียบเจ้าพระยา ฯลฯ

ลุงแมวน้ำฉายภาพต่างๆให้เห็นเพื่อบอกว่าจากนี้ต่อไป การเมืองจะมั่นคง และเศรษฐกิจจะรุดหน้า ในภาคธุรกิจและการลงทุน นักลงทุนต่างชาติให้ความสำคัญกับเรื่องคอร์รัปชั่นมากกว่าเรืองที่มาของรัฐบาล ไม่เชื่อก็ลองดูว่า ที่สหรัฐอเมริกา อียู ออสเตรเลีย ประณามไทยเรื่องการรัฐประหาร แล้วต่อไปนักลงทุนชาติเหล่านี้จะหนีเมืองไทยหรือจะเข้ามาลงทุนในเมืองไทย

เมื่อพื้นฐานทางเศรษฐกิจเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น ตลาดหุ้นก็ย่อมจะสดใสไปด้วย คราวนี้เรามาดูทางเทคนิคกันบ้าง ว่าในเชิงการวิเคราะห์ทางเทคนิค เราเห็นสัญญาณอะไรบ้าง


ตลาดหุ้นไทยหลังการประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักรในวันที่ 20/05/2014 จะเห็นว่าในวันที่ 20 เมื่อเปิดตลาดมา ตลาดร่วงแรง แต่แล้วดีดกลับ ก่อให้เกิดเป็นรูปแบบดาวโดจิที่แปลว่าลังเลใจ และเกิดช่องขาลง (gap) เล็กๆ จากนั้นดัชนีก็ขึ้นมาปิดช่องได้

ตลาดหุ้นไทยหลังการประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักรในวันที่ 20 พฤษภาคม เวลาตีสาม จะเห็นว่าในวันที่ 20 นั้นเองเมื่อเปิดตลาดมาในตอนเช้าสิบโมง ตลาดร่วงแรง แต่แล้วดีดกลับ ก่อให้เกิดเป็นรูปแบบดาวโดจิที่แปลว่าลังเลใจ (ลังเลที่จะลงต่อ) และเกิดช่องขาลง (gap) เล็กๆ จากนั้นในวันที่ 21 และ 22 ดัชนีก็ดีดกลับขึ้นมาปิดช่องได้ เป็นอันว่าช่องขาลงถูกหักล้างไป


ดัชนี เซ็ต วันแรกหลังจากที่มีรัฐประการ ดัชนีร่วงแรงตอนเปิดตลาด จากนั้นก็ดีดกลับ สุดท้ายกลายเป็นแท่งเทียนขาวใหญ่และเกิดช่องขาลงเล็กๆ

ดูภาพต่อมา หลังจากนั้น ในตอนเย็นวันที่ 22 พฤษภาคม หลังจากที่ตลาดปิดไปแล้ว เกิดการรัฐประหารขึ้น ในคืนนั้นนักลงทุนสื่อสารกันจ้าละหวั่นในเครือข่ายทางสังคม บางคนก็เตรียมขายหุ้นในราคาเปิด (ato) ในวันถัดไป เพราะเชื่อว่าตลาดหุ้นจะลงหนัก บางคนก็มองไปถึงว่า -100 จุด หรือ -200 จุดไปโน่นเลย >.<

แท่งเทียนแท่งล่าสุดในภาพคือวันที่ 23 พฤษภาคม 2557 วันแรกที่ตลาดรับรู้การรัฐประหาร เปิดมาตลาดหุ้นก็ลงลึก จากนั้นก็ดีดกลับขึ้นมา จนปิดตลาดที่ประมาณ -10 จุด รูปแบบแท่งเทียนของวันที่ 23/05/2014 เปิดแท่งเทียนขาวใหญ่อันแสดงว่าอารมณ์ตลาดต้องการซื้อ ขณะเดียวกันก็เกิดช่องขาลงเล็กๆอีกแล้ว รอดูอีกสองสามวันจะร้ว่าช่องนี้ถูกปิดได้หรือไม่

มาดูค่าเงินประกอบบ้าง ดูภาพต่อไปนี้


ค่าเงินบาทในช่วงที่มีการประกาศกฎอัยการศึก และการรัฐประหาร จะเห็นว่าเงินบาทอ่อนค่าแต่ดีดกลับได้ อีกทั้งกรอบการแกว่งยังอยู่ในช่วงแคบ ลุงแมวน้ำไม่แน่ใจว่า ธปท แทรกแซงค่าเงินในช่วงที่ว่านี้หรือเปล่า แต่จากกราฟที่เห็นก็ต้องบอกค่าเงินบาทเสถียรพอควรทีเดียว

เงินบาทในช่วงสัปดาห์ที่แล้ว ทั้งเจอกฎอัยการศึกและรัฐประหารสองเหตุการ แต่ยังแกว่งในกรอบแคบ สะท้อนถึงเสถียรภาพของเงินบาท

สรุปว่าลุงแมวน้ำวิเคราะห์อารมณ์ตลาดในช่วงสองสามวันที่ผ่านมา เห็นว่าตลาดพยายามจะขึ้น เมื่อนักลงทุนบางส่วนตกใจก็มีแรงรับเข้ามาตลอด สองสามวันมานี้แม้ว่าฝรั่งขายหนัก แต่ว่าตลาดก็สามารถดีดกลับได้ สะท้อนอารมณ์ตลาดได้ดี ในภาวะนี้ไม่ต้องให้น้ำหนักกับแรงขายของต่างชาติมากนัก ขายได้ก็กลับมาซื้อใหม่ได้ ไม่ต้องกลัว

ประกอบกับปัจจัยทางเศรษฐกิจที่มั่นคงและสดใสขึ้น ดังนั้นลุงมองภาพรวมของตลาดในช่วงต่อไปในแง่ดีมากกว่าแง่ร้ายคร้าบ จะให้ราบรื่นสถาพรในทันทีก็คงไม่ใช่ แรงเสียดทานทางการเมืองยังมีอยู่ ช่วงต้นจะแรง แต่ต่อไปน่าจะค่อยๆดีขึ้น

แต่ แต่ และแต่ ดังที่ลุงบอกว่าตอนนี้ยังไม่ใช่เวลาซื้อ เพราะว่าตลาดหุ้นที่ขึ้นมาจนถึงทุกวันนี้ จนค่า p/e ratio สูงแล้ว ก็เพราะว่าความหวังนี่เอง เมื่อก่อนหน้านี้ เราทยอยซื้อหุ้นเพราะความหวัง เราหวังว่าเหตุการณ์จะคลี่คลาย และเศรษฐกิจไทยจะไปต่อได้ ตอนนี้ก็ได้เห็นแล้วไง ^_^ 

ตอนนี้ดัชนีสมหวังแล้วพอสมควร และดัชนีก็มาไกลมากแล้ว ดังนั้น อารมณ์ดีใจอาจทำให้ตลาดมีเฮ ไปต่อได้อีกสักหน่อย แต่ลุงแมวน้ำคิดว่าคลื่น 1 ใกล้จบแล้วล่ะ

หลังคลื่น 1 ก็เป็นคลื่น 2 อันเป็นคลื่นขาลง จากนั้นก็เป็นคลื่น 3 ที่ขึ้นโลด ช่วงคลื่น 2 ก็ต้องทนๆกันไปก่อน เป็นการถอยเพื่อกระโดดไปข้างหน้า ไม่ต้องกลัว

แต่ แต่อีกแล้ว ลุงแมวน้ำเห็นว่า คลื่น 2 นี้เมื่อเกิดขึ้นก็พิจารณาลดพอร์ตบ้างก็ดีนะคร้าบ ทีนี้จะลดอย่างไรก็ตามหลักการณ์ในสายของตน สายเทคนิคก็ลดตามสัญญาณ์ทางเทคนิค เป็นต้น


Wednesday, May 21, 2014

21/05/2014 มองไปข้างหน้า พรุ่งนี้ต้องดีกว่าเดิม



ประชาชนถ่ายรูปกับทหารในวันที่ 20 พฤษภาคม 2557 หลังจากที่มีการประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร



เมื่อวาน (20/05/2014) เวลาประมาณ 03.00 น. ผู้บัญชาการทหารบกประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร ซึ่งเป็นการประกาศใช้กฎอัยการศึกที่อเมซิ่งไทยแลนด์อยู่พอสมควร เพราะหลังจากที่ประกาศกฎอัยการศึก ประชาชนจำนววนมากก็ออกไปแสดงความชื่นชมยินดี ให้กำลังใจทหาร ส่งน้ำส่งขนมให้ทหาร รวมทั้งถ่ายรูปกับทหารที่ยืนปฏิบัติหน้าที่ตามจุดต่างๆในท้องถนน

เรามาย้อนดูอดีตกันสักหน่อย เมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง วันที่ 19 กันยายน 2549 เวลา 23 น. ทหารทำการรัฐประหาร หลังจากนั้น วันที่ 21 กันยายน เมื่อตลาดหุ้นเปิด ลองมาดูกันว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง


การรัฐประหาร 19 กันยายน 2006 ประชาชนออกมาแสดงความยินดี เด็กๆมาถ่ายรูปคู่กับทหาร บรรยากาศในภาพนี้ราวกับเป็นงานวันเด็ก

หลังจากที่มีการรัฐประหาร วันที่ 21 กันยายน เมื่อตลาดหุ้นเปิด ดัชนีเซ็ตปรับตัวลงไปลึกที่สุดคือ -30 จุด แต่หลังจากนั้นก็รีบาวด์ และวันนั้นปิดที่ -10 จุด (-1.4%) ลองสังเกตดัชนีในเดือนตุลาคมด้วย

ดัชนีเซ็ต (SET index) ของตลาดหุ้นไทย หลังจากที่มีการรัฐประหาร วันที่ 21 กันยายน เมื่อตลาดหุ้นเปิด ดัชนีเซ็ตปรับตัวลงไปลึกที่สุดคือ -30 จุด แต่หลังจากนั้นก็รีบาวด์ และวันนั้นปิดที่ -10 จุด (-1.4%) ลุงแมวน้ำไม่มีข้อมูลการซื้อขายของต่างชาติในวันนั้น แต่ว่าตลอดทั้งเดือนกันยายน 2549 ต่างชาติซื้อสุทธิในตลาดหุ้นราว 11,000 ล้านบาท


ครั้งนั้นก็มีข้อกังวลกันว่าต่างชาติจะไม่ยอมรับการทำรัฐประหาร แต่ว่าในเดือนต่อมาคือเดือนตุลาคม ตลาดหุ้นไทยก็วิ่งทะลุ 730 จุด สูงกว่าก่อนมีรัฐประหารเสียอีก พร้อมกับต่างชาติซื้อสุทธิอีก 18,000 ล้านบาทในเดือนตุลาคมนั้นเอง

คราวนี้ลองมาดูตลาดหุ้นไทยในตอนนี้กันบ้าง ดูภาพต่อไปนี้


ประชาชนถ่ายรูปกับทหารในวันที่ 20 พฤษภาคม 2557 หลังจากที่มีการประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร

วันที่ 20 พฤษภาคม 2557 ผู้บัญชาการทหารบกประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักรในเวลาประมาณ 3:00 น. ต่อมาในวันเดียนวกันนั้น ตลาดหุ้นปรับตัวลง -15 จุด (-1.13%) ต่างชาติขายสุทธิราว 8,000 ล้านบาท


หลังจากที่ประกาศใช้กฎอัยการศึก ตลาดหุ้นเมื่อวานปรับตัวลง -15 จุด (-1.13%) รูปแบบทางเทคนิค เกิดเป็นช่องขาลง (falling window gap) เล็กๆ แต่รูปแบบแท่งเทียนเป็นดาวโดจิ (doji star) อันแสดงถึงความลังเลที่จะลงต่อ ดังนั้นรูปแบบทางเทคนิคไม่เสียหายมากนัก 

ต่างชาติจะหนีจากตลาดหุ้นเพราะไม่ยอมรับเรื่องการประกาศกฎอัยการศึกหรือไม่ คำตอบคือคงมีแรงขายจากต่างชาติบ้างในระยะสั้น แต่หลังจากนั้นความมั่นใจของต่างชาติจะกลับมาอีกเมื่อเรามีรัฐบาลที่มีภาพลักษณ์ดีและมือสะอาด

หากยังกังวลเรื่องต่างชาติหนี เราลองมาดูภาพต่อไปนี้กัน 


ยอดซื้อขายสะสมของต่างชาติตั้งแต่มกราคม 2013 เป็นต้นมา ทั้งในตลาดพันธบัตรและตลาดหุ้น จากกราฟ จะเห็นว่าแรงขายในตลาดหุ้นมีตลอดมาตั้งแต่ต้นปี 2013 แต่ก็มีแรงซื้อในตลาดพันธบัตรมาตลอดเช่นกัน สรุปแล้วต่างชาติไม่ได้ทิ้งตลาดทุนไทยไปไหน เพียงแต่ย้ายเงินจากตลาดหุ้นมาอยู่ในตลาดพันธบัตรเท่านั้น


ภาพนี้เป็นยอดซื้อขายสะสมของต่างชาติ คิดสะสมมาตั้งแต่ต้นปี 2013 เป็นต้นมาถึงเมื่อวาน 20/05/2013 เส้นสีแดงแสดงยอดซื้ขายสะสมของตลาดหุ้น ปรากฏว่าตั้งแต่ต้นปี 2013 เป็นต้นมา ต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นไปแล้ว 210,000 ล้านบาท (สองแสนหนึ่งหมื่นล้านบาท)

แต่ลองดูเส้นสีน้ำเงิน เป็นยอดซื้อขายสะสมในตลาดพันธบัตร ปรากฏว่าตั้งแต่ต้นปี 2013 จนถึงเมื่อวาน ต่างชาติซื้อสุทธิในตลาดพันธบัตร 440,000 ล้านบาท (สี่แสนสี่หมื่นล้านบาท) 

ดังนั้นหากจะบอกว่าต่างชาติทิ้งตลาดทุนไทยไปก็คงไม่ใช่ เพียงแค่หนีจากตลาดหุ้นเท่านั้นเอง และตั้งแต่ต้นปี 2014 เป็นต้นมา แรงขายเริ่มหยุดแล้ว สังเกตได้จากเส้นกราฟสีแดงทีเริ่มนิ่ง เป็นสัญญาณว่าหลังจากนั้นตลาดจะเริ่มกลับตัวและแรงซื้อจากต่างชาติจะเริ่มกลับเข้ามา


อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย อายุ 10 และ 30 ปี เส้นอัตราผลตอบแทนเป็นแนวโน้มขาลง คือมีแรงซื้อเข้ามาในตลาดพันธบัตร

จากประสบการณ์ในอดีต ต่างชาติไม่เคยทิ้งตลาดหุ้นไทย เพียงแค่ไปๆมาๆเท่านั้น การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของเราเป็นกิจการภายในประเทศ และยังไม่ถึงขั้นเกิดมิคสัญญี ดังนั้นต่างชาติไม่ควรเข้ามาแทรกแซง เราเองไม่ควรกังวลว่าต่างชาติจะทิ้งตลาดทุนไทยไปด้วย ต่างชาติคำนึงแต่ผลประโยชน์ หากรัฐบาลใหม่มีการบริหารงานที่เข้มแข็ง การลงทุนของประเทศจะเพิ่มมากขึ้น ในภาคเศรษฐกิจจริง ต่างชาติก็มีโอกาสเข้ามาทำธุรกิจ เข้ามาประมูลงานอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม ไม่ต้องเสียเบี้ยบ้ายรายทาง แล้วทำไมต่างชาติจะไม่เข้ามา

ไม่ต้องกลัวนะคร้าบ เพราะว่าวันพรุ่งนี้ต้องดีกว่าเดิม 

แต่อย่าลืม ตอนนี้ยังไม่ใช่เวลาซื้อ ^_^

Monday, May 19, 2014

19/05/2014 ไม่ใช่เวลาซื้อ


วันนี้ลุงแมวน้ำขอแทรกบทความเรื่องหุ้นและกองทุนในอุตสาหกรรมดูแลสุขภาพ ด้วยเรื่องของตลาดหุ้นไทยสักหน่อย

ตอนนี้การเมืองของไทยกำลังเข้าสู่ภาวะเข้าด้ายเข้าเข็ม เปรียบเหมือนหนังก็อยู่ในช่วงไคลแมกซ์ใกล้จบเรื่องเต็มทีแล้ว แต่หลายคนอาจกำลังงงอยู่ว่าแล้วจะจบลงแบบไหน และจบลงได้อย่างไร

ในความเห็นของลุงแมวน้ำ อีกไม่นานเราก็ได้นายกรัฐมนตรีที่มีอำนาจเต็มคนใหม่แล้วล่ะ แต่หลังจากที่มีนายกฯคนใหม่แล้วเหตุการณ์คงยังไม่ราบรื่นในทันที แรงเสียดทานต่างๆในช่วงต้นน่าจะยังมีมากอยู่ ความวุ่นวายคงยังมีต่อเนื่องไปจนถึงเดือนหน้า มิถุนายน หลังจากนั้นสถานการณ์จะค่อยๆเข้าที่เข้าทางไปทีละน้อย

และก็ดังที่ลุงแมวน้ำเคยบอกเอาไว้ สำหรับภาคเศรษฐกิจจริง โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายเล็ก รายย่อย รายจิ๋ว ตอนนี้มีอยู่ไม่น้อยทีเดียวที่ธุรกิจฝืดเคือง ยอดขายตกต่ำ บางรายก็ขาดสภาพคล่องมากน้อยแตกต่างกันไป สำหรับเอสเอ็มอีนั้นต้องรักษาสภาพคล่องเอาไว้ให้ได้นานที่สุดเพื่อรอให้เศรษฐกิจกระเตื้องขึ้น แม้ว่าจะมีรัฐบาลใหม่ แต่การกอบกู้ภาวะเศรษฐกิจก็ต้องใช้เวลา ดังนั้น สำหรับผู้ประกอบการที่เริ่มขาดสภาพคล่อง รายจ่ายอะไรลดได้ก็ต้องลด อะไรที่เจรจาได้ก็ต้องเจรจา ที่สำคัญคือในยามยากต้องซื้อใจกัน ต้องรักษาคำพูด ต้องถือคติว่าคำพูดของเรามีค่าดุจเซ็นสัญญา เช่น ขอลดเงินเดือนลูกน้องชั่วคราว เมื่อภาวการณ์ดีขึ้น อะไรที่เคยพูดเอาไว้อย่าลืมเสีย ต้องทำตามนั้น เจรจาอะไรเอาไว้กับเจ้าหนี้การค้าต่างๆก็เช่นกัน 

และที่สำคัญคือ อย่าพึ่งเงินกู้นอกระบบ เพราะเท่ากับดื่มยาพิษดับกระหาย สุดท้ายก็ตายเหมือนกัน อันตรายมาก และนอกจากนี้ อย่าเอาเงินทำธุรกิจมาเทรดหุ้นหรือฟิวเจอร์ส เพราะคาดหวังว่าเมื่อมีรัฐบาลใหม่ หุ้นจะต้องขึ้นกระฉูด การกระทำเช่นนี้ก็พอกับการเอาเงินทำธุรกิจไปเข้าบ่อนหรือไปแทงม้านั่นแหละ โอกาสพลาดสูงมาก

เราลองมาดูตลาดหุ้นในช่วงต่อไปในการคาดการณ์ของลุงแมวน้ำกัน ดูที่ภาพต่อไปนี้กันก่อน


ดัชนีเซ็ตในระดับคลื่นใหญ่ (สีน้ำเงิน) และคลื่นรอง (สีม่วง) คลื่นใหญ่น่าจะอยู่ในคลื่น 3 ส่วนคลื่นรองน่าจะอยู่ในคลื่น 5


ดัชนีเซ็ตน่าจะอยู่ในคลื่นเล็ก 1 ซึ่งใกล้จบเต็มทีแล้ว อีกไม่นานก็จะจบและเข้าสู่คลื่นเล็ก 2 อันเป็นคลื่นขาลง



สองภาพนี้คือภาพดัชนีเซ็ตในสองกรอบเวลา คือในระดับคลื่นใหญ่ (ภาพบน) กับในระดับคลื่นเล็ก (ภาพถัดมา)

ดูในระดับคลื่นใหญ่กันก่อน ดูภาพบน ลุงแมวน้ำนับคลื่นและประเมินว่าในเราอยู่ในคลื่นใหญ่ 3 (ตัวเลขสีน้ำเงิน) และอยู่ในคลื่นรองคือคลื่น 5 (ตัวเลขสีม่วง)

ทีนี้ดูภาพถัดมา เป็นกรอบเวลาซูมจากภาพแรกมาดู คลื่นเล็ก 1 ในคลื่นรอง 5 (สีม่วง) นี้ดำเนินมาตั้งแต่ต้นปีแล้ว คือตั้งแต่ต้นเดือนมกราคม 2014 ถึงตอนนี้ก็เป็นขาขึ้นเป็นเดือนที่ 5 แล้วซึ่งนานแล้ว ดังนั้นดัชนีเซ็ตพร้อมปรับตัวได้ตลอดเวลา เพื่อทำคลื่นเล็ก 1-2 ตามทฤษฎีคลื่น ซึ่งคาดว่าคลื่นเล็ก 2 หรือว่าคลื่นขาลงนี้น่าจะเกิดในปลายเดือนพฤษภาคมนี้หรือต้นเดือนมิถุนายน หลังจากที่ตลาดลงจนจบคลื่นเล็ก 2 แล้วก็จะเข้าสู่คลื่นเล็ก 3 อันเป็นคลื่นขาขึ้นต่อไป

หากจะถามว่าหากการเมืองเรียบร้อย ทำไมหุ้นยังลง ก็ต้องตอบว่า ดังที่ลุงบอกว่าสถานการณ์การเมืองยังไม่เรียบร้อยไง หรืออาจจะมองว่าเป็น sell on fact ก็ได้ ดังนั้นน่าจะปรับตัวลงไปช่วงหนึ่งก่อน จากนั้นค่อยไปต่อ

ดังนั้นตอนนี้จึงยังไม่ใช่เวลาซื้อ หากช่วงนี้ตลาดขึ้นเพื่อรับนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ลุงแมวน้ำคาดการณ์ว่าคงไม่เกิน 1450 จุด จากนั้นก็ต้องทำคลื่นขาลงสลับบ้าง ดังนั้นการเข้าซื้อในตอนนี้จึงเสี่ยงเพราะมีกำไรให้เก็บเกี่ยวได้ไม่มากนักในรอบนี้ เตรียมวางกลยุทธ์รับมือคลื่นเล็กขาลงไว้ดีกว่า

และหากมองข้ามข็อตไป ในคลื่นขาขึ้นลูกถัดไป มีอะไรน่าสนใจให้ลงทุนได้บ้าง

ลุงแมวน้ำลองคาดการณ์ดูเล่นๆ สมมติว่าเราได้รัฐบาลใหม่มา สิ่งที่รัฐบาลต้องรีบทำ (รีบแต่เห็นผลไม่เร็ว) นั่นคือการกอบกู้เศรษฐกิจที่ติดหล่มมานานหลายเดือน สิ่งที่รัฐบาลจะทำได้ก็คือการใช้นโยบายการคลังเป็นเครื่องมือ รีบเร่งทำงบปี 58 เร่งรัดการจ่ายเงิน และใช้นโยบายการคลังแบบขาดดุลเพื่อใช้เงินกระตุ้นเศรษฐกิจ

การกระตุ้นจากภาครัฐก็น่าจะเป็นการใช้จ่ายในโครงการลงทุน โครงการซ่อมสร้างต่างๆ เช่น รถไฟฟ้า การสร้างและปรับปรุงถนนหนทาง ทำฝาย ฯลฯ ซึ่งโครงการซ่อมสร้างต่างๆนี้ผู้ที่จะได้อานิสงส์ก็ได้แก่กลุ่มรับเหมาก่อสร้างและวัสดุก่อสร้างนั่นเอง

สำหรับผู้รับเหมาก่อสร้างรายใหญ่นั้น ก็ได้แก่หุ้น ITD, STEC, CK กลุ่มนี้ลุงขอผ่านไปก่อนละกัน เนื่องจากเคยพูดถึงไปแล้ว อีกอย่างก็คือ กลุ่มนี้ลุงไม่ค่อยปลื้มนักเนื่องจากอิงการเมืองสูง อีกประการ การรับเหมาก่อสร้างเป็นธุรกิจที่ซับซ้อน ผลประกอบการค่อนข้างหวือหวา ราคาก็แกว่งแรง ตัวธุรกิจเองผลกำไรก็ผันผวนอยู่แล้ว ยังต้องบวกปัจจัยการเมืองเข้าไปอีก ถือแล้วใจคอตุ๊มๆต่อมๆ >.<

สำหรับวัสดุก่อสร้างก็ได้แก่พวกอิฐหินปูนทรายเหล็ก หุ้นรับเหมาก่อสร้างและวัสดุก่อสร้างหลายๆหุ้นก็อาจไม่ได้อานิสงส์จากการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ลองมาดูหุ้นบางตัวเป็นตัวอย่างละกัน


ผลิตเสาเข็มเจาะและรับเหมางานฐานราก

ผลิตปูนซีเมนต์และมีธุรกิจอื่นอีกหลายอย่าง

ผลิตเหล็กทรงกลมและขายให้โรงงานแปรรูปเหล็กนำไปแปรรูปเป็นเหล็กเส้น เหล็กข้ออ้อยอีกทอดหนึ่ง อยู่ในตลาด mai


หุ้นตัวบน เป็นหุ้นที่ผลิตเสาเข็มเจาะ บริษัทนี้มีเทคโนโลยีผลิตเข็มเจาะได้ถึงขนาดเสาเข็มสำหรับโครงการรถไฟฟ้า ดังนั้น งานตึก ตอม่อ คอสะพาน ไปจนถึงรถไฟฟ้า ล้วนแต่ต้องอาศัยเสาเข็มเจาะทั้งสิ้น ลักษณะธุรกิจเป็นการผลิตเสาเข็มและรับเหมางานด้านฐานราก รับงานช่วงมาจากผู้รับเหมาใหญ่อีกทีหนึ่ง ดังนั้นตัวธุรกิจเองไม่ต้องเผชิญคลื่นลมการเมือง ธรรมาภิบาลใช้ได้ อีกทั้งค่า P/E ยังต่ำ ในทางเทคนิคก็น่าจะอยู่ในคลื่น 1-2

หุ้นตัวกลาง ผลิตปูนซีเมนต์และธุรกิจอื่นอีกหลายอย่าง ค่า P/E ไม่สูงนัก อีกทั้งเป็นหุ้นฝรั่ง หากฝรั่งมาก็ต้องตัวนี้ ธรรมาภิบาลใช้ได้ ราคาปูนซีเมนต์ของไตรมาส 1 ปี 2014 นี้ขยับขึ้นจากไตรมาส 1 ปี 2013 ประมาณ 7-8% สะท้อนให้เห็นว่าน่าจะเป็นขาขึ้นของธุรกิจปูนซีเมนต์ แต่อย่างไรก็ตาม ธุรกิจปูนซีเมนต์นี้มีอุปทาน (supply) สูง ด้านราคาอาจไปไม่ได้ไกลมากนัก คือขึ้นได้จำกัด ในทางเทคนิค ตอนนี้ยังดูไม่ดี ราคาหุ้นร่วงหลุดกรอบ SEC ลงมาแล้ว

หุ้นตัวล่าง ผลิตเหล็กกลมสำหรับขายให้โรงงานแปรรูปเหล็กอีกทีหนึ่ง โดยโรงงานแปรรูปเหล็กจะนำไปแปรรูปเป็นเหล็กข้ออ้อย เหล็กเส้น

ธุรกิจเหล็กเป็นธุรกิจขาลง ราคาลงแล้วลงอีกมาหลายปี ก็มียกเว้นหุ้นตัวนี้แหละที่เป็นหุ้นเหล็กที่กำไรได้ดี งบปี 2013 ใช้ได้เลย ทางเทคนิคอยู่ในขาขึ้น น่าจะเป็นคลื่น 3 หุ้นตัวนี้อยู่ในตลาด mai ด้วย P/E ของตลาด mai ตอนนี้ กว่า 40 เท่าเข้าไปแล้ว ดังนั้น p/e ของหุ้นตัวนี้จึงจัดว่าต่ำกว่าตลาดมาก แต่ก็มีข้อควรระวังในเรื่องภาพรวมของธุรกิจเหล็กที่ดูไม่ดี หุ้นนี้ลุงไม่มีข้อมูลเรื่องธรรมาภิบาล เพราะเป็นหุ้นที่เข้าตลาดไม่กี่ปีมานี้เอง

นี่ก็เป็นตัวอย่างหุ้นต้อนรับรัฐบาลใหม่ เน้นธีม (theme) ซ่อมสร้าง แต่นี่แค่ยกตัวอย่าง ดูๆเล็งๆเอาไว้ก็พอ เพราะตอนนี้ไม่ใช่เวลาซื้อนะคร้าบ

Monday, May 12, 2014

12/05/2014 การลงทุนหุ้นและกองทุนรวมในอุตสาหกรรมดูแลสุขภาพ (healthcare industry) (2)





หุ้นในซับเซ็กเตอร์เทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnology subsector)


“โอ๊ย ลุง เล่าต่อเร็วๆ มัวแต่ดูดน้ำปั่นอยู่นั่นแหละ” ลิงบ่น

“ก็ลุงร้อนนี่นา” ลุงแมวน้ำพูด “เอาล่ะ มาคุยกันต่อ เมื่อกี้ถึงไหนล่ะ”

“ที่ว่าหุ้นกลุ่มไบโอเทคโนโลยี (biotechnology) เป็นดาวเด่นในอุตสาหกรรมดูแลสุขภาพไง มันดียังไง” ลิงทบทวนความเดิม

“อ้อ” ลุงแมวน้ำนึกได้ “ที่จริงลุงควรจะพูดเรื่องอุตสาหกรรมดูแลสุขภาพเสียก่อน แล้วค่อยไปลงรายละเอียดในซับเซ็กเตอร์ไบโอเทค คือเล่าจากใหญ่ไปเล็ก แต่ว่าคิดว่าเล่าเรื่องไบโอเทคก่อนดีกว่า จะทำให้เราเข้าใจภาพของอุตสาหกรรมดูแลสุขภาพนี้ได้ดีขึ้น

“หุ้นในกลุ่มนี้หรือว่าซับเซ็กเตอร์นี้ลุงขอเล่าแบบง่ายๆก็แล้วกันนะ จะได้ไม่ปวดหัวกัน หุ้นกลุ่มนี้ขอให้นึกถึงยาไว้ก่อน ที่จริงยังมีที่ไม่ใส่ยาด้วยแต่อย่าเพิ่งไปนึกถึง ขอให้นึกถึงภาพยาที่ผลิตด้วยกระบวนการทางเทคโนโลยีชีวภาพ

“สมมติว่ากรณีโรคมะเร็งก็แล้วกัน หากเป็นมะเร็ง การรักษาสมัยก่อนก็ผ่าตัดวิธีเดียวเลย ส่วนใหญ่ก็ต้องตัดอวัยวะ แล้วยังอาจไม่หายขาดอีก ดังนั้นผู้ที่ต้องเสียอวัยวะจากการผ่าตัดมะเร็งไป คุณภาพชีวิตก็ไม่เหมือนเดิม อีกทั้งมะเร็งยังอาจลุกลามได้อีกในภายหลัง

“ต่อมาก็มีการพัฒนายารักษามะเร็งขึ้นมา ซึ่งเป็นการฉายรังสี ก็มีผลข้างเคียงอีก เพราะการฉายรังสีก็เหมือนกับการเอาไฟไปเผาเซลล์มะเร็ง แต่ทีนี้การเผาเจาะจงไม่ได้ขนาดนั้น ดังนั้นเซลล์ดีๆก็จะได้รับรังสีหรือถูกเผาไปด้วย ดังนั้นการฉายรังสีก็มีผลข้างเคียงสูงกับเนื้อเยื่อและอวัยวะที่อยู่ใกล้เคียง การฉายรังสีต้องควบคุมปริมาณ ฉายมากเกินไปผู้ป่วยอาจเป็นอันตราย ฉายน้อยก็ไม่ได้ผล

“ต่อมาก็มียาทางเคมี ที่เรียกว่าเคมีบำบัดนั่นไง ยาพวกนี้ก็เจาะจงทำลายแต่เซลล์มะเร็งไม่ได้ ต้องทำลายแบบเหมา คือเซลล์ดีก็โดนไปด้วย ดังนั้นจึงจะเห็นว่าผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัดนั้นมีอาการข้างเคียงอยู่มาก เช่น อาการแพ้ ผอม น้ำหนักลด ผมร่วง และอาการอื่นๆอีก รวมแล้วก็คือสุขภาพทรุดโทรมลง ใช้ยาแรงมากก็เกรงผู้ป่วยได้รับอันตราย ใช้ไม่แรงก็รักษามะะเร็งไม่ได้ ดังนั้นการใช้เคมีบำบัดก็ลำบากอยู่

“ต่อมามีการพัฒนายาด้วยเทคโนโลยีชีวภาพ คือใช้สารทางชีวภาพเอามาทำเป็นยา อย่างเช่นยารักษามะเร็ง ก็เป็นยาที่ผลิตมาจากแอนติบอดีหรือภูมิคุ้มกันของร่างกายอันเป็นโปรตีนชนิดหนึ่ง ยาพวกนี้จะมีคุณสมบัติแบบเดียวกับกลไกภูมิคุ้มกัน นั่นคือ มีความเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง ไม่ทำลายเซลล์ดีๆ  โดยทฤษฎีแล้วการรักษามะเร็งด้วยยาไบโอเทคพวกนี้จะได้ผลดี ทำร้ายเซลล์ดีน้อยมาก ทำให้ผู้ป่วยหายขาดและมีคุณภาพชีวิตที่ดี

“โห ดีจัง” ลิงอุทาน

“แต่ก็นั่นแหละ กระบวนการให้ได้มาซึ่งยาพวกนี้ต้องใช้เทคโนโลยีชีวภาพขั้นสูง เพราะต้องหาแอนติบอดีที่มีความเจาะจงในการทำลายเซลล์มะเร็งชนิดนั้นๆที่เราศึกษา จากนั้น เมื่อได้แล้ว ก็ต้องสังเคราะห์โปรตีนนั้นออกมาให้ได้ในปริมาณสูง ทดลองในหลอดทดลอง จากนั้นทดลองในสัตว์ มีการศึกษาประสิทธิผลและพิษในระยะยาว แล้วจึงต้องผ่านกระบวนการพิจารณาทางจริยธรรมก่อนที่จะทดสอบในคนได้ ซึ่ง อย ต้องควบคุม และเมื่อทดสอบในคนแล้วก็ต้องให้ อย อนุมัติ จึงจะใช้เป็นยาได้

“ลำพังแค่การหาแอนติบอดีที่ฆ่าเซลล์มะเร็งได้แบบเจาะจงนี้ก็หน้ามืดแล้ว ต้องทุ่มทุนด้านวิจัยและพัฒนาหรือที่เรียกว่า R&D อย่างมหาศาล ไหนจะขั้นตอนต่อๆมาอีก นอกจากนี้ยังต้องไปจดสิทธิบัตรและบริหารสิทธิบัตรอีก พอเป็นยาก็ต้องทำการตลาดอีก ดังนั้น กว่าจะได้ยาแบบไบโอเทคมาสักชนิดหนึ่ง ใช้ต้องเวลาหลายปี และเงินทุน ทรัพยากรมนุษย์ และเครื่องมืออุปกรณ์มหาศาล ธุรกิจไบโอเทคนี้จึงเป็นธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูง ไม่เปรี้ยงก็แป้ก”

“ยังไงกันลุง ไม่เปรี้ยงก็แป้ก” ลิงจ๋อสงสัย

“กว่าที่จะได้ยามาแต่ละชนิดยากเย็นแสนเข็ญ บางทีสิบปีจึงจะพัฒนายาได้สำเร็จสักตัวหนึ่ง และขั้นการทดสอบในคนหรือที่เรียกว่าการวิจัยทางคลินิกนั้น อาจจะเกิดอะไรขึ้นบ้างก็ไม่รู้ เคยมีเหมือนกัน ที่ FDA หรือ อย. ของสหรัฐอเมริการะงับการทดลองยานั้นๆไปเลย เพราะการวิจัยทางคลินิกมีปัญหา ดังนั้น อาจต้องทำงานกินแกลบสักห้าปีหรือสิบปีเพื่อจะได้ยาสักตัวหนึ่ง แต่ยานั้นหากไม่ผ่าน อย ก็กลับไปกินแกลบต่อ แต่หากผ่าน อย และวางจำหน่ายได้ ยังต้องมีด่านการบริหารสิทธิบัตรและการทำการตลาดยาอีก ดังนั้น ยาพวกนี้หากสำเร็จจะแพงมาก เพราะต้องให้คุ้มกับการลงทุนที่ผ่านมาหลายๆปี แต่หากไม่ประสบความสำเร็จ บริษัทก็อาจต้องล้มไปเลย และพวกนี้พูดกันเป็นเงินระดับล้านดอลลาร์ ไม่ใช่หลักหมื่นหลักแสน พูดง่ายๆว่าหากสำเร็จก็เกินคุ้ม แต่โอกาสสำเร็จมีน้อย” ลุงแมวน้ำอธิบาย

“ถ้าความเสี่ยงมันสูงขนาดนั้น แล้วยังมีใครอยากทำเหรอ” ลิงจ๋อสงสัยอีก “เอาเงินไปทำอย่างอื่นไม่ดีกว่าหรือ”

“ก็อย่างที่บอก หากมาถูกทางก็มีผลกำไรมหาศาล และองค์ความรู้เดิมจะช่วยให้การพัฒนายาในซีรีส์ต่อไปง่ายขึ้นด้วย นายจ๋อถามว่าแล้วแบบนี้ใครจะอยากทำ ลุงแมวน้ำจะบอกว่า สิงคโปร์นี่แหละ อยากทำ สิงคโปร์มีวิสัยทัศน์จะสร้างความเป็นเลิศทางด้านอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพนี้  ก็พยายามดำเนินการมาหลายปีแล้ว มีการสร้างโครงสร้างพื้นฐานไว้รองรับ ทำตัวเป็นฮับด้านวิจัยและพัฒนาไบโอเทคในภูมิภาคนี้  ให้บริษัทใหญ่ๆในโลกมาตั้งฐานการวิจัยและพัฒนาในสิงคโปร์ ขนเอาทุน บุคลากร และเทคโนโลยีเข้ามา ขณะที่ไทยเราไม่ได้คิดไกลแบบนั้น”

“สิงคโปร์เนี่ยนะ” ลิงจ๋อถาม

“ใช่แล้ว อุตสาหกรรมไบโอเทคของสิงคโปร์ตอนนี้มีมูลค่ามากกว่า 5% ของจีดีพีสิงคโปร์แล้ว นอกจากจะดึงต่างชาติมาตั้งฐานแล้ว สิงคโปร์ยังสร้างองค์ความรู้ของตนเอง ลงทุนซื้อตัวนักวิชาการเก่งๆระดับโลกให้มาทำงานด้วย มาสอนหนังสือ มาทำวิจัย ด้วยเงื่อนไขที่ดีมาก ก็มีคนสนใจนั่นแหละ ใครรับข้อเสนอก็เชิญมาเลย โอนสัญชาติเป็นสิงคโปร์ด้วย” ลุงแมวน้ำตอบ “เสียดายนะที่เขาไม่ลงทุนซื้อตัวแมวน้ำละครสัตว์”

“ฮุฮุฮุ ลุงก็นอนกลิ้งอยู่แถวนี้แหละ ดีแล้ว อยู่เป็นเพื่อนผม” ลิงหัวเราะ

“เอ้า มาเข้าเรื่องไบโอเทคกันต่อ ดังนั้น หุ้นกลุ่มไบโอเทคจึงผันผวนสูง ค่าเบตาสูงทีเดียว ลองดูตัวอย่างหุ้นสักตัวก็ได้ ดูนี่” ลุงแมวน้ำพูดแล้วก็ดึงกระดาษแผ่นหนึ่งออกมาจากหูกระต่าย


กราฟราคาหุ้น CLDX ในรอบยี่สิบกว่าปี

เซลล์เด็กซ์ เป็นบริษัทที่กลุ่มไบโอเทคโนโลยี ผลิตยารักษาโรคมะเร็งและโรคแปลกๆที่รักษายากอีกหลายชนิดด้วยยาที่ผลิตจากภูมิคุ้มกัน (immunotherapeutics) มียาที่กำลังอยู่ในระหว่างการวิจัยและพัฒนามากมายหลายตัว แต่ยังไม่สำเร็จจนถึงขั้นวางตลาดได้ เฉพาะในปี 2013 ค่าใช้จ่ายด้านวิจัยและพัฒนาสูงถึง 67.4 ล้านดอลลาร์ สรอ แต่มีรายได้เข้ามาเพียง 4 ล้านดอลลาร์ และขาดทุนสุทธิ 81 ล้านดอลลาร์ ระหว่างที่ยายังไม่สำเร็จก็ต้องทนขาดทุนแบบนี้
CLDX มีมาร์เก็ตแค็ปประมาณ 1,100 ล้านดอลลาร์


“นี่ไง กราฟของบริษัทเซลล์เดกซ์ (Celldex Therapeutics, CLDX) ดูให้เห็นด้วยตา เทรดกันมาตั้งแต่สิบกว่ายันร้อยกว่า แล้วกลับลงมาต่ำสิบ ตอนนี้ก็ราคาสิบกว่าดอลลาร์ ช่วงหลังผลประกอบการขาดทุนต่อเนื่องมาหลายปีเพราะยายังอยู่ในขั้นวิจัย เข้าข่ายกินแกลบดังที่ลุงบอก”

“โห ลุง แล้วไหงลุงบอกว่ากลุ่มดูแลสุขภาพดี น่าสนใจ” ลิงจ๋อโวย

“นายจ๋ออย่าเพิ่งสับสน ลุงยกตัวอย่างหุ้นนี้ขึ้นมา เพราะกำลังจะบอกว่า หุ้นในซับเซ็กเตอร์ไบโอเทคนั้นแม้เป็นดาวเด่น แต่ก็มีความเสี่ยงสูงแฝงอยู่ ดังที่เล่ามา แต่ถ้าเข้าใจเลือกหุ้นก็พอมีหุ้นดีๆที่ปลอดภัยในซับเซ็กเตอร์ไบโอเทคให้เลือก และอีกอย่างคือ หุ้นในอุตสาหกรรมดูแลสุขภาพนั้นยังมีซับเซ็กเตอร์อื่นๆอีก เรายังไม่ได้พูดกันถึงกลุ่มอื่นเลยว่าน่าสนใจยังไง เรายังคุยกันเรื่องหุ้นและกองทุนในอุตสาหกรรมดูแลสุขภาพไม่หมดเลย เพิ่งคุยกับแค่ซับเซ็กเตอร์ไบโอเทคเท่านั้นเอง ลองดูอีกสักหุ้นก็ได้ ดูนี่”



ราคาหุ้นบริษัทกิลเลียด ไซเอนซ์ จากปี 2000-2013 เวลา 13 ปีราคาหุ้นขึ้นไปราว 40 เท่า บริษัทนี้ผลิตยาไบโอเทคหลายชนิด ถึงขั้นวางจำหน่ายได้แล้ว มีทั้งยารักษาโรคเอดส์ ยารักษาโรคตับ และอื่นๆ
GILD มีมาร์เก็ตแค็ปประมาณ 122,000 ล้านดอลลาร์ (หนึ่งแสนสองหมื่นสองพันล้าน) ปี 2013 มีรายได้ 11,200 ล้านดอลลาร์ มีค่าใช้จ่ายด้านค่าวิจัยและพัฒนาถึง 2,100 ล้านดอลลาร์ และมีกำไรสุทธิประมาณ 3,000 ล้านดอลลาร์ 


“นี่แหละ ไม่เปรี้ยงก็แป้ก รายนี้เปรี้ยงเลย” ลุงแมวน้ำพูด

“และอีกอย่างหนึ่งก็คือ หุ้นไบโอเทคโนโลยีนั้น หากเป็นบริษัทระดับพันล้านดอลลาร์ ก็ยังถือว่าเป็นบริษัทเล็ก และมีสายป่านสั้น ความอยู่รอดทางธุรกิจจึงยังเป็นปัญหา แต่บริษัทเล็กพวกนี้มักมีของดีอยู่ คือมีผลงานวิจัยหรือว่าสิทธิบัตรดีๆอยู่ในมือ พูดง่ายๆก็คือเทคโนโลยีเด่นแต่ว่าสายป่านอาจสั้นไปสักนิด บริษัทเหล่านี้จึงมักเป็นเป้าหมายในการเทคโอเวอร์ของบริษัทใหญ่ๆ ทีนี้หุ้นในซับเซ็กเตอร์นี้ก็สนุกสนานกันละ ยกตัวอย่างเซลล์เด็กซ์นี่ไง ขาดทุนหลายปีติดต่อกัน แต่หุ้นยังวิ่งแรง เพราะว่ายิ่งขาดทุนยิ่งแปลว่ามีโอกาสถูกเทคโอเวอร์สูง เก็งกำไรกันสนุกไปเลย”

“อ้อ ยังงี้นี่เอง” ลิงจ๋อได้คิด “ยังงั้นเล่าต่อเลยลุง”

“เดี๋ยว คอแห้งอีกแล้ว เดี๋ยวหาน้ำปั่นสักแก้วก่อน” ลุงแมวน้ำตอบ

Saturday, May 10, 2014

10/05/2014 การลงทุนหุ้นและกองทุนรวมในอุตสาหกรรมดูแลสุขภาพ (healthcare industry) (1)





เช้าวันเสาร์ ลิงจ๋อห้อยโหนต้นไม้มาหยุดอยู่ที่หน้าโขดหินของลุงแมวน้ำ พลางชะเง้อมองหาลุงแมวน้ำที่โขดหิน โดยไม่ได้สังเกตว่าลุงกำลังปลูกต้นไม้อยู่ในสวนใกล้ๆโขดหินนั่นเอง

“ลุงแมวน้ำ ลุงแมวน้ำ วู้ ตื่นหรือยัง มัวแต่หลับอุตุ” ลิงจ๋อตะโกนเรียก

“ลุงอยู่ในสวน” ลุงแมวน้ำตะโกนตอบ “ตื่นตั้งนานแล้ว”

ลิงจ๋อเดินเข้ามาหาลุงในสวน

“มาหลบอยู่ที่นี่เอง นึกว่ายังไม่ตื่น” ลิงทักทาย

“มาแต่เช้าเชียว อากาศร้อนๆ มีน้ำปั่นมาฝากลุงไหม” ลุงแมวน้ำถาม

“ลุงทวงของฝากแต่เช้าเลย ผมยังไม่ได้ไปไหน ไม่มีของฝากหรอก” ลิงตอบ

“อ้าว ไม่มีของฝากแล้วมาทำไม” ลุงแมวน้ำถาม

“โห ลุงตอบได้จี๊ดมาก” ลิงจ๋อหัวเราะ “มีเรื่องมาปรึกษาลุงหน่อยน่ะ อากาศร้อน นอนไม่ค่อยหลับ เลยมาหาลุงแต่เช้า”

“จะปรึกษาเรื่องอะไรล่ะ” ลุงแมวน้ำถาม “ของฝากก็ไม่มี”

“คือผมสนใจหุ้นกลุ่มโรงพยาบาลน่ะ เห็นเขาว่าปลอดภัยดี ช่วงนี้ขึ้นแรงไม่แคร์ตลาดเสียด้วย” ลิงจ๋อพูด “กับอีกทีก็ดูๆกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศในกลุ่มเฮลท์แคร์ เท่าที่อ่านความเห็นจากกระทู้ต่างๆ ก็เห็นว่าผลตอบแทนดี และกระจายความเสี่ยงจากตลาดหุ้นไทยได้อีกด้วย”

“แล้วนายจ๋อมีความคิดเห็นยังไงบ้างล่ะ” ลุงแมวน้ำถามกลับ

“เอ้อ” ลิงอึ้งไป “เมื่อช่วงก่อนเท่าที่อ่านจากกระทู้ต่างๆ ก็เห็นพูดกันว่าดี แต่มีสัปดาห์นี้ก็มีบ่นว่าติดดอยกับตรึมเหมือนกัน ผมก็เลยไม่ค่อยแน่ใจไง เลยมาถามลุง”

“แล้วลุงจะรู้ไหมเนี่ย” ลุงแมวน้ำตอบ “นายจ๋อก็พยายามหาข้อมูล ติดตามอ่านมาตั้งเยอะ แล้วทำไมยังหาคำตอบให้ตัวเองไม่ได้”

“ก็ลุงแมวน้ำมีความรู้รอบพุงเยอะไม่ใช่หรือ ผมก็มาถามลุงเพื่อให้มั่นใจมากขึ้นไง” ลิงจ๋อตอบ พลางหยิกหมับเข้าที่พุงของลุงแมวน้ำ

“โอ๊ย เดี๋ยวความรู้หลุดหมด” ลุงแมวน้ำบอกนายจ๋อ “ก่อนอื่นก็ต้องชมนายจ๋อ ว่าเดี๋ยวนี้พัฒนาขึ้น พยายามหาศึกษาข้อมูล พยายามอ่านมากขึ้น แต่ลุงอยากให้นายจ๋อระวังการรับรู้ข้อมูล คือต้องรู้จักแยกแยะข้อมูลด้วย”

“ยังไงหรือลุง ยังไม่เข้าใจ” ลิงจ๋อถาม

“ก็เมื่อเราค้นหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ต ข้อมูลที่ได้มีมากมาย นายจ๋อต้องเลือกพิจารณาและแยกแยะ ยกตัวอย่างที่นายจ๋ออยากลงทุนแล้วไปอ่านกระทู้ต่างๆ คนที่ซื้อแล้วราคาขึ้นก็เข้ามาเขียนเชียร์ว่าดี แต่คนที่ซื้อแล้วราคาร่วงก็เข้ามาเขียนบ่น เป็นเรื่องธรรมดาอยู่แล้ว หากอ่านกระทู้พวกนี้นายจ๋อจะหวั่นไหวไปกับอารมณ์ในกระทู้มากกว่าที่จะได้รับรู้ข้อมูล”

“แล้วผมต้องทำยังไงละลุง” ลิงถามอีก

“นายจ๋อก็ต้องเลือกรับรู้ข้อมูล พยายามอ่านในสิ่งที่ให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับตัวธุรกิจ ต้องพยายามแยกแยะข้อมูลและการแสดงออกทางอารมณ์จากกัน มันก็อธิบายยากอยู่เหมือนกัน แต่กรณีของนายจ๋อก็ถือว่าเป็นอุทาหรณ์ คือยิ่งอ่านเยอะยิ่งหวั่นไหว ยิ่งลังเล แบบนี้ก็ไม่ถูกทางแล้วล่ะ แทนที่จะอ่านแล้วได้คำตอบ”

ลิงจ๋อหยิบธนบัตรใบละยี่สิบบาทออกมา แล้วเอาคลิปหนีบธนบัตรไว้กับครีบของลุงแมวน้ำ พลางพนมมือ

“เอาล่ะ ลุงเริ่มบ่น แสดงว่าเครื่องร้อนแล้ว ติดกัณฑ์เทศน์แล้วลุงเริ่มเทศน์ได้เลยคร้าบ”

“สงสัยจะเพี้ยน” ลุงแมวน้ำหัวเราะ “เอ้า มาเข้าเรื่องกลุ่มสุขภาพกัน”

ลุงแมวน้ำหยุดคิดนิดหนึ่งแล้วเริ่มพูด

“ก่อนอื่น ลุงถามก่อนว่า นายจ๋อเข้าใจความหมายของกลุ่มเฮลท์แคร์นี้ว่ายังไง มันคือธุรกิจอะไร” ลุงแมวน้ำถาม

“หมายถึงโรงพยาบาลไงลุง” ลิงจ๋อรีบตอบ “ถูกต้องนะคร้าบ”

“ก็ไม่เชิง” ลุงแมวน้ำตอบ “อย่างนั้นเราต้องมาตั้งต้นกันก่อนว่ากลุ่มเฮลท์แคร์นี้คืออะไร นายจ๋อจะได้เข้าใจภาพของธุรกิจในกลุ่มนี้ คงจะเป็นวิชาการหน่อย ทนฟังเอาหน่อยละกัน

“คำว่ากลุ่มเฮลท์แคร์นี้ เป็นคำที่เราเรียกกันทั่วไป ภาษาอังกฤษเขียนได้สองแบบ คือ healthcare กับ health care คือเขียนติดกันกับไม่ติดกัน ลุงถนัดเขียนติดกันมากกว่า

“ในการจัดจำแนกหมวดหมู่ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยนั้น เราจำแนกเรื่องการดูแลสุขภาพนี้อยู่ในหมวดใหญ่คือเป็นอุตสาหกรรมบริการ (service industry) และหมวดย่อยคือเป็นเซ็กเตอร์บริการสุขภาพ (healthcare service sector) คือเราจัดเรื่องการดูแลสุขภาพเป็นหมวดย่อยในหมวดใหญ่บริการ

“แต่ในเรื่องการจำแนกหมวดหมู่นั้นมีการจำแนกกันหลายระบบ ที่ตลาดหลักทรัพย์ไทยจำแนกมาแบบนี้ก็เป็นเพียงแบบหนึ่งเท่านั้น ฝรั่งมีการจำแนกกลุ่มดูแลสุขภาพนี้มากมายหลายแบบ ยกตัวอย่างเช่น ตลาดหุ้นนิวยอร์ก ใช้การจำแนกโดยเกณฑ์ของดัชนีเอสแอนด์พีดาวโจนส์ ก็จำแนกอีกวิธีหนึ่ง โดยกำหนดให้เรื่องการดูแลสุขภาพนั้น จัดอยู่ในอุตสาหกรรมดูแลสุขภาพ (healthcare industry) คือยกให้เป็นหมวดใหญ่ไปเลย และยังมีหมวดย่อยอีก เป็นระดับเซ็กเตอร์ (sector) และระดับซับเซ็กเตอร์ (subsector) อีก 5 ซับเซ็กเตอร์”


(คลิกที่ภาพเพื่อดูภาพขนาดขยาย)

อุตสาหกรรมดูแลสุขภาพในตลาดหุ้นนิวยอร์กนั้น แบ่งย่อยออกเป็น 5 ซับเซ็กเตอร์ ดังนี้ 
(1) ธุรกิจผู้ให้บริการดูแลสุขภาพ (healthcare privoders) คือธุรกิจโรงพยาบาล คลินิก สถานพักฟื้น สถานดูแล ศูนย์วัยเกษียณ รวมไปถึงคลินิกทันตกรรมและตรวจสายตาประกอบแว่น 
(2) ธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องมือแพทย์ (medical equipment) ได้แก่เครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆทางการแพทย์ เช่น เครื่องฉายเอกซ์เรย์ เครื่องสแกนเอ็มอาร์ไอ รวมไปจนถึงอุปกรณ์ที่ฝังในร่างกาย เช่น เครื่องกระตุ้นหัวใจ ฯลฯ 
(3) ธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายวัสดุการแพทย์ (medical supplies) ได้แก่วัสดุสิ้นเปลืองทางการแพทย์ต่างๆ ที่ใช้แล้วต้องทิ้งไป เช่น พลาสเตอร์ ผ้าพันแผล เข็มและหลอดฉีดยา คอนแทกเลนส์ ฯลฯ 
(4) ธุรกิจเทคโนโลยีชีวภาพ (biotechnology) เป็นธุรกิจที่วิจัย พัฒนา และผลิต สารทางชีวภาพเพื่อการตรวจหรือรักษาโรค เช่น การตรวจยีนหาความผิดปกติของทารก ชุดตรวจเอดส์ ยาปฏิชีวนะ สเต็มเซลล์ ฯลฯ ธุรกิจเทคโนโลยีชีวภาพนี้คาบเกี่ยวกับธุรกิจยาด้วย 
(5) ธุรกิจยา (pharmaceuticals) เป็นธุรกิจที่ผลิตและจัดจำหน่ายยาทั่วไป (ส่วนใหญ่เป็นยาที่สังเคราะห์ทางเคมี) เช่น แอสไพริน ยาบรรเทาหวัด ยาคุมกำเนิด ฯลฯ ซึ่งไม่รวมไวตามินและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร (หมายเหตุ คำว่ายานี้ ในการจำแนกของเอสแอนด์พีดาวโจนส์ ไม่รวมยาที่ได้จากเทคโนโลยชีวภาพ แต่คำว่ายาในการจำแนกของค่ายอื่นๆอาจหมายความรวมไปถึงยาจากเทคโนโลยีชีวภาพด้วย)



“แล้วมันสำคัญยังไงเนี่ยลุง” ลิงจ๋อสงสัย

“สำคัญสิ เพราะว่าหากนายจ๋อจะลงทุนในกองทุนสุขภาพของต่างประเทศ นายจ๋อต้องเข้าใจเสียก่อนว่าคำว่า healthcare ในตลาดหุ้นไทยกับในตลาดหุ้นต่างประเทศนั้นมีความหมายและขอบเขตที่แตกต่างกัน ในตลาดหุ้นไทยตอนนี้ คำว่า healthcare ทำให้นายจ๋อนึกถึงแต่โรงพยาบาล แต่กับกองทุนต่างประเทศ คำว่า healthcare ครอบคลุมธุรกิจที่มากมายหลายหลาก ไม่ได้มีเพียงแค่โรงพยาบาล นายจ๋อจะลงทุนอะไร อย่างน้อยก็ต้องเข้าใจพื้นฐานของธุรกิจนั้นๆบ้างพอสมควร” ลุงแมวน้ำตอบ

“อ้อ ครับ ครับ” ลิงจ๋อเริ่มเข้าใจ “เชิญลุงแมวน้ำเทศน์ต่อ แล้วความหมายของ healthcare industry นั้นหมายถึงอะไรบ้างล่ะลุง”

“อุตสาหกรรมดูแลสุขภาพนั้นครอบคลุมธุรกิจมากมายหลายอย่าง โรงพยาบาลก็ใช่ นอกจากนี้ยังธุรกิจอื่นๆอีก เช่น ผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายยา, ผู้ผลิตเครื่องมือ อุปกรณ์ และวัสดุทางการแพทย์, ผู้ผลิตสารตรวจวิเคราะห์, การดูแลนอกโรงพยาบาล การพักฟื้น การฟื้นฟู, การประกันสุขภาพ, ตลอดไปจนถึงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และที่สำคัญที่ขาดไม่ได้ คือ ธุรกิจด้านไบโอเทคโนโลยี (biotechnology) ที่ถือว่าเป็นดาวเด่นของอุตสาหกรรมดูแลสุขภาพนี้” ลุงแมวน้ำพูด

“เดี๋ยว ลุง พัฒนาอสังหาริมทรัพย์นี่เกี่ยวอะไรด้วย” ลิงจ๋อรีบถาม




ชุมชนผู้สุงอายุ เป็นโครงการอสังหาริมทรัพย์และบริการเพื่อผู้สูงอายุแบบครบวงจร เป็นธุรกิจหนึ่งในอุตสาหกรรมดูแลสุขภาพในตลาดหุ้นที่พัฒนาแล้ว



“เกี่ยวสิ ในต่างประเทศมีธุรกิจการดูแลผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุในระยะยาวแบบครบวงจร ธุรกิจพวกนี้เรียกว่าธุรกิจ long term care facilities ยกตัวอย่างเช่น การดูแลผู้สูงอายุนั้น ไม่ได้หมายความเพียงแค่จัดผู้ดูแลประจำตัวเพื่อคอยพยุงหรือพาไปไหนมาไหน  แต่ธุรกิจการดูแลผู้สูงอายุในปัจจุบันมีการจัดทำเป็นชุมชนผู้สูงอายุเลยทีเดียว มีที่พักที่ออกแบบพิเศษสำหรับผู้สูงอายุ เช่น มีแต่พื้นราบ เครื่องใช้ไม้สอยต่างๆมีขนาดใหญ่ เห็นชัด ถนัดตา และใช้งานได้โดยไม่ต้องออกแรงมาก นอกที่พักก็ยังมีแหล่งพักผ่อนหย่อนใจของผู้สูงอายุ มีการจัดภูมิทัศน์และทางเดินให้เหมาะสม มีร้านค้า สินค้าและบริการต่างๆให้เลือกซื้อหา มีศูนย์พยาบาลอยู่ใกล้ๆ เรียกหาได้สะดวก มีการจัดกิจกรรมต่างๆเพื่อกระตุ้นร่างกายและสมองของผู้สูงอายุ เป็นต้น ชุมชนผู้สูงอายุแบบครบวงจรนี้ก็คือการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์อย่างหนึ่งนั่นเอง ซึ่งในบ้านเราก็เริ่มมีบ้างแล้ว อย่างเช่น สวางคนิวาศ ของสภากาชาดไทย แต่ไม่ได้เป็นหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ส่วนของอเมริกาหรือในหลายๆประเทศนั้นมีธุรกิจแนวนี้เป็นหุ้นในตลาดด้วย” ลุงแมวน้ำอธิบาย

“โห นึกไม่ถึงเลยนะเนี่ย” ลิงอุทาน “แล้วที่ลุงว่าดาวเด่นของอุตสาหกรรมนี้คือธุรกิจด้านไบโอเทคโลยี มันยังไงกันลุง”

“ดาวเด่นก็คือ หุ้นในกลุ่มธุรกิจไบโอเทคโนโลยี (biotechnology) หรือเรียกสั้นๆว่าไบโอเทค (biotech) นั้นเป็นหุ้นที่กำลังได้รับความนิยมและร้อนแรงในตลาดหุ้นอเมริกาน่ะสิ ที่จริง biotechnology นี้ในภาษาไทยก็มีคำให้ใช้ด้วยเหมือนกัน เรียกว่าเทคโนโลยีชีวภาพ”

“จะเรียกไบโอเทคโนโลยีหรือเทคโนโลยีชีวภาพ ผมก็ไม่เข้าใจอยู่ดี อธิบายหน่อยสิลุง” ลิงจ๋อเร่ง “ที่ว่าเด่นนั้นเด่นยังไง กำไรดีมากไหม”

“รอก่อนนะ ลุงคอแห้ง ขอดูดน้ำปั่นก่อนแล้วค่อยเล่าต่อ” ลุงแมวน้ำตอบ


Wednesday, May 7, 2014

07/05/2014 แผ่นดินไหวและ Sell in May and go away (2)



แผ่นดินไหวที่เชียงรายเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2557 ระดับ 6


เมื่อวานตลาดหุ้นไทย ดัชนีเซ็ตปรับตัวลงประมาณ -17 น่าจะเป็นจากข่าวระเบิดที่หาดใหญ่ แต่ใจเย็นๆนะคร้าบ วันนี้เรามาดูเรื่องแผ่นดินไหวกันก่อน

แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นที่เชียงรายเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคมนั้นไม่ธรรมดา แต่ว่าเป็นแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่สุดในประเทศไทยนับจากอดีตมาเลยทีเดียว นี่นับเฉพาะแผ่นดินไหวที่เกิดในประเทศไทยเท่านั้น อย่างแผ่นไหวที่ทำให้เกิดสึนามีเมื่อหลายปีก่อนนั้นไม่ได้เกิดในประเทศไทย พวกเหล่านั้นไม่ได้นับเข้ามา

แผ่นดินไหวครั้งนี้มีระดับความรุนแรง (magnitude) ที่ 6.0 ตอนนี้มีสื่อรายงานระดับความรุนแรงไว้หลายค่า 6.0 บ้าง 6.3 บ้าง ฯลฯ แต่ลุงถือตามที่ปรากฏในฐานข้อมูลของศูนย์แผ่นดินไหว USGS ของอเมริกา

แผ่นดินไหวในประเทศไทยครั้งใหญ่ ในอดีต ตั้งแต่ที่เรามีเครื่องมือตรวจวัดทางวิทยาศาสตร์มา ก็ประมาณว่าในรอบ 100 ปีที่ผ่านมา ที่ระดับ 5 หรือมากกว่านั้นมีเพียงไม่กี่ครั้งเอง เราลองมาดูกัน

ปี 1983 (พ.ศ. 2526) เดือนเมษายน เกิดแผ่นดินไหวหลายครั้งในจังหวัดกาญจนบุรี แถวอำเภอศรีสวัสดิ์ แต่ที่รุนแรงเกินระดับ 5 คือเมื่อวันที่ 15 เมษายน ระดับ 5.3 และหลังจากนั้นก็เกิดแผ่นดินไหวระดับ 5.2 และ 5.6 ตามมาอีกในวันที่ 22 หรืออีกเจ็ดวันต่อมา

ปี 1994 (พ.ศ. 2537) วันที่ 11 กันยายน เกิดแผ่นดินไหวแถวอำเภอแม่สรวย เชียงราย วัดได้ระดับ 5.2

ปี 2006 (พ.ศ. 2549) วันที่ 7 ตุลาคม เกิดแผ่นดินไหวนอกชายฝั่งจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในอ่าวไทย ระดับ 5

ปี 2014 (พ.ศ. 2557) วันที่ 5 พฤษภาคม เกิดแผ่นดินไหวระดับ 6.0 แถวอำเภอแม่ลาว เชียงราย และหลังจากนั้นมาอาฟเตอร์ช็อกตามมาอีก จนถึงวันนี้ เกือบ 300 ครั้งแล้ว แต่ที่เป็นอาฟเตอร์ช็อกระดับใหญ่ เท่าที่มีรายงานในตอนนี้คือระดับ 5.0 เกิดแถวอำเภอแม่สรวย เกิดเมื่อวันที่ 6

ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าแผ่นดินไหวในประเทศไทยครั้งนี้เป็นครั้งใหญ่ที่สุดในรอบร้อยปีทีเดียว

แผ่นดินไหวนั้นเกิดจากการเลื่อนตัวของแผ่นเปลือกโลกสองแผ่น ซึ่งแนวที่เปลือกโลกสองแผ่นขบกันและมีพลังพร้อมที่จะเลื่อนจนเกิดแผ่นดินไหว เราเรียกว่าเป็นแนวรอยเลื่อนที่มีพลัง (รอยเลื่อนที่นิ่ง ไม่มีแรงเลื่อน เราเรียกว่าเป็นรอยเลื่อนที่ไม่มีพลัง)

ทีนี้ในประเทศไทยนั้นมีแนวรอยเลื่อนที่มีพลังถึง 14 แนว ลองมาดูในภาพนี้กันคร้าบ เป็นแผนที่รอยเลื่อนมีพลังที่จัดทำขึ้นโดยกรมทรัพยากรธรณี


รอยเลื่อนมีพลัง 14 แห่งในประเทศไทย ที่อาจเกิดแผ่นดินไหว 
(คลิกที่รูปภาพเพื่อดูขนาดขยายได้คร้าบ)



แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นเมื่อสองวันก่อนเกิดจากรอยเลื่อนพะเยา แต่รอยเลื่อนที่มีการสะสมพลังอยู่มาก และอาจเกิดแผ่นดินไหวระดับรุนแรงมากได้นั้นเป็นรอยเลื่อนในแนวขอบตะวันตกของประเทศ คือไล่มาตั้งแต่รอยเลื่อนแม่จัน เชียงราย ไปจนถึงรอยเลื่อนคลองมะรุ่ยในภาคใต้

ตอนนี้ที่นักธรณีวิทยาสนใจกันก็คือรอยเลื่อนแม่จัน กับรอยเลื่อนคลองมะรุ่ย เพราะในอดีตเคยเกิดแผ่นดินไหวใหญ่มาก่อน และนิ่งเงียบสะสมพลังไว้นานแล้ว ไม่รู้ว่าเมื่อไรที่จะแสดงพลังออกมา สำหรับรอยเลื่อนแม่จันนั้น ตามพงศาวดารระบุว่าเมื่อประมาณพันกว่าปีมาแล้ว โยนกนครเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่จนล่มทั้งเมืองนั้นก็เป็นแผ่นดินไหวใหญ่ที่เกิดจากรอยเลื่อนแม่จันนั่นเอง

เรื่องการพยากรณ์แผ่นดินไหวนั้น แม้ในปัจจุบัน ความรู้เท่าและเครื่องมือที่มนุษย์เรามีอยู่ก็ยังไม่สามารถพยากรณ์แผ่นดินไหวอย่างแม่นยำได้ ดังนั้น จึงเป็นคำตอบที่ว่า ทำไมเมื่อเกิดหายนภัยแผ่นดินไหวแต่ละครั้ง เราจึงป้องกันอะไรไม่ได้ ก็เพราะไม่รู้ล่วงหน้าอย่างแม่นยำนั่นเอง


วัดร่องขุ่นหลังแผ่นดินไหว ความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นไม่ใช่เพียงแค่ภายนอกดังที่เห็น แต่เป็นระดับโครงสร้างด้วย ขณะที่ลุงแมวน้ำจิ้มบทความนี้ยังประเมินความเสียหายไม่ได้เนื่องจากยังมีอาฟเตอร์ช็อกตามมาอยู่ และอาฟเตอร์ช็อกนี้ทำให้เกิดความเสียหายเพิ่มเติมขึ้นเรื่อยๆ


ลุงแมวน้ำเห็นภาพความเสียหายของเมืองเชียงราย โดยเฉพาะที่วัดร่องขุ่นแล้วก็อดใจหายไม่ได้ วัดร่องขุ่นนี้ลุงเคยไปมาแล้วหลายครั้ง ครั้งแรกตั้งแต่เมื่อสิบกว่าปีก่อน ตอนนั้นยังไม่เสร็จ ยังก่อสร้างและยังวาดภาพฝาผนังกันอยู่เลย หลังจากนั้นก็ได้แวะไปอีกหลายครั้ง ได้เห็นพัฒนาการมาเป็นลำดับ ถือเป็นงานสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมชิ้นเอกระดับฝากไว้ในแผ่นดินทีเดียว และที่น่าทึ่งคือ สร้างด้วยศรัทธาและกำลังของสามัญชนคนธรรมดาคนหนึ่ง ด้วยทุนทรัพย์ที่รวมกันแล้วถึง 1,100 ล้านบาท วัดนี้มีชื่อไม่เป็นทางการอีกชื่อหนึ่ง เป็นชื่อที่คนทั่วไปเรียกกัน คือวัดเฉลิมชัย

แล้วเรื่องแผ่นดินไหวนี้เกี่ยวอะไรกับ Sell in May and go away อันที่จริงก็ไม่ค่อยเกี่ยวกันเท่าไรหรอก เกี่ยวกันนิดเดียวเอง คือยังงี้

ดังที่ลุงแมวน้ำบอกว่าแม้ในปัจจุบันเราก็ยังพยากรณ์แผ่นดินไหวไม่ได้ และจำได้ไหมที่ลุงแมวน้ำเคยบอกเอาไว้ว่า ในช่วงเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม อาจมีสิ่งบอกเหตุเกิดขึ้น ซึ่งอาจเป็นภัยธรรมชาติครั้งใหญ่

นั่นแหละ ลุงชักห่วงอยู่เหมือนกัน ว่าเดือนมิถุนายนอาจมีภัยธรรมชาติอะไรตามมาอีกที่อาจใหญ่กว่านี้ คือในด้านภัยธรรมชาติก็น่าห่วง แต่ในด้านการเมืองรวมถึงเศรษฐกิจ น่าจะเป็นไปในทางที่ดีขึ้น เพราะเป็นสิ่งบอกเหตุถึงความเสื่อมของสิ่งไม่ดีไม่งามหลายอย่าง เราน่าจะได้รัฐบาลที่มือสะอาดและมีความสามารถพอสมควรมาบริหารประเทศต่อไปได้ เดือนมิถุนายนมาดูกันอีกทีหนึ่งคร้าบ

Tuesday, May 6, 2014

06/05/2014 แผ่นดินไหวและ Sell in May and go away (1)

แผ่นดินไหวระดับ 6 ที่เชียงราย เมื่อ 5 พฤษภาคม 2014 เวลา 18:08 น. ตามเวลาท้องถิ่น จุดศูนย์กลางลึกลงไปใต้ดิน 7.4 กม.

วันนี้ลุงแมวน้ำมีเรื่องคุยสองเรื่องเลย นั่นคือเรื่องแผ่นดินไหวและตลาดหุ้น เอ... มันเกี่ยวข้องกันไหมเนี่ย จะว่าเกี่ยวก็เกี่ยวละน่า แผ่นดินไหวที่เชียงรายครั้งนี้รุนแรงมากเป็นประวัติการณ์ จะไม่พูดถึงคงไม่ได้ ลองอ่านดูไปก่อน

ตอนนี้ประโยคยอดฮิตที่คุยกันในตลาดหุ้นคงหนีไม่พ้น Sell in May and go away นั่นคือ เดือนพฤษภาขายแล้วเผ่น

ประโยคนี้นักลงทุนไทยไม่ได้คิดขึ้นมาหรอก ต้นตำรับน่าจะเป็นภาษาอังกฤษ โดยฝรั่งพูดกันก่อน จากการสังเกตที่ว่าเดือนพฤษภาคมมักเป็นเดือนที่ตลาดหุ้นลง ก็จึงมีการพูดกันว่าพอถึงเดือนพฤษภาคมก็ให้ขายแล้วเผ่นไปตั้งหลักก่อน พ้นเดือนนี้แล้วค่อยกลับเข้าตลาดมาลงทุนกันใหม่ ซึ่งนักลงทุนไทยก็เอามาพูดกันขำๆด้วย หรือบางคนก็อาจเอามาใช้ คือขายแล้วเผ่นจริงๆ เพราะว่าทิศทางของตลาดหุ้นอเมริกากับของไทยช่วงนี้สอดคล้องกัน ฝรั่งลงไทยก็ลง

นักลงทุนไทยหลายคนก็ถือเอาคตินี้มาใช้บ้าง เพราะคิดว่าตลาดหุ้นทั้งของไทยและอเมริกาก็มี P/E ratio ที่ไม่ถูกแล้ว พูดง่ายๆคือหุ้นเริ่มแพงแล้วนั่นอง ก็เริ่มกังวลกันต่างๆนานา มันจะแพงเกินไปแล้วไหม ขึ้นมานานแล้วเดี๋ยวจะร่วงแรงไหม การเมืองยังวุ่นวายอยู่ทำไมหุ้นยังขึ้นได้ จะขายก่อนดีไหม บลา บลา บลา ฯลฯ

กาลามสูตรบอกว่าอย่าเพิ่งเชื่อสิ่งที่บอกต่อกันมา ก็คือ อย่าเชื่อพวก "เขาเล่าว่า..." นั่นเอง เราควรใช้ดุลพินิจของเราเองตัดสินใจ ไม่ใช่ตัดสินใจเพราะเขาเล่าว่า เงินของเรา ไปเชื่อเขาอยู่เรื่อยก็กระไรอยู่ >.<

เอาละ แล้วทีนี้จะพิจารณาอย่างไรจึงจะตัดสินใจได้ล่ะ

ลุงขอยกกรณีนี้เป็นกรณีศึกษาละกัน ในความเห็นของลุงแมวน้ำ เรามาพิจารณากันทีละประเด็นก่อนก่อน

มองประเด็นปัจจัยพื้นฐาน P/E ratio ค่อนข้างแพงแล้วจริงไหม ตอนนี้ p/e ratio ของดัชนี S&P 500 ของตลาดหุ้นอเมริกาอยู่ที่ 17.2 เท่าแล้ว ส่วนของ SET index อยู่ที่ 16.1 เท่า ถือว่าแพงพอควร แต่ยังไม่ถึงกับแพงมาก

มองประเด็นปัจจัยทางเทคนิค ดูภาพชุดนี้กัน


ดัชนี S&P 500 (GSPC), Dow Jones Industrial (DJI), และ SET index (SET) 


ภาพนี้เป็นภาพดัชนี S&P 500 (GSPC), Dow Jones Industrial (DJI), และ SET index (SET) มาดูภาพบนของชุดกันก่อน

ภาพแรกของชุดนี้เป็นดัชนี S&P 500 ตอนนี้รูปแบบทางเทคนิคก่อตัวเป็นขาลง แม้ว่าสัปดาห์ที่แล้วตลาดอเมริกาจะขึ้นมาบ้าง แต่เส้นแนวโน้มขาลงยังไม่ถูกทำลายไป

ภาพที่สอง ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ DJI รูปแบบทางเทคนิคกำลังทดสอบ triple top หรือยอดตองอยู่ ยังไม่ผ่าน

ภาพที่สาม ดัชนี SET รูปแบบทางเทคนิคเกิดยอดคลื่นที่ดัชนีประมาณ 1430 จุดและเป็นแนวต้านตามระดับฟิโบนาชชี 78.6% อันเป็นแนวต้านสำคัญ และยังไม่ผ่าน

ดังนั้นพูดง่ายๆว่าทั้งสามดัชนีกำลังทดสอบแนวต้านสำคัญอยู่ และตอนนี้ยังไม่ผ่าน

แล้วจะมีโอกาสผ่านแนวต้านที่ว่าได้ไหม

คำตอบทางเทคนิคก็คือ ยังไม่แน่ โอกาสที่จะทดสอบแล้วผ่านด่านแนวต้านสำคัญนี้ได้ก็พอมี และหากผ่านได้ ก็แปลว่าตลาดหุ้นเดินหน้าไปต่อ ถ้าหากผ่านไม่ได้ก็ต้องปรับตัวลง แต่อย่างไรก็ตาม แนวโน้มใหญ่ของทั้งสองตลาดนี้ยังเป็นขาขึ้น ดังนั้นแม้ตลาดจะลงก็คาดว่าน่าจะเป็นเพียงชั่วคราว

ถ้ายังงั้นขายไปตั้งหลักก่อนดีไหม

นี่แหละคำถามสำคัญที่ทุคนอยากรู้ แต่คงไม่มีใครตอบแทนใครได้หรอก ทุกคนต้องมีคำตอบสำหรับตนเอง เพื่อว่าจะได้ไม่ต้องมาโทษใครในภายหลัง

หากแนวสายปัจจัยพื้นฐาน การตัดสินใจขายก็ต่อเมื่อราคาแพงเกินปัจจัยพื้นฐานไปมาก หรือว่าปัจจัยพื้นฐานเปลี่ยนไป ก็ต้องมีจุดตัดสินใจว่าเท่าไรจึงจะถือว่าแพงเกินไป

สำหรับสายปัจจัยเทคนิค ก็มีมุมมองหลายแบบ เช่น ถึงแนวต้านสำคัญก็ขายไว้ก่อน ผ่านแนวต้านได้ค่อยกลับไปซื้อใหม่ แพงขึ้นก็ไม่ว่า แต่ขอให้ผ่านได้ก่อนเถอะ แบบนี้ก็มี

สำหรับลุงแมวน้ำ ใช้สัญญาณซื้อขายกำกับ ดังนั้นต้องรอให้ราคาลงมาถึงระดับหนึ่งก่อน ถ้าราคาหลุดต่ำกว่าจุดนี้ก็ขาย ซึ่งแนวนี้จะตรงข้ามกับสายปัจจัยพื้นฐาน (ถ้าหุ้นพื้นฐานดี ยิ่งถูกยิ่งน่าซื้อ) ตอนนี้ยังไม่เกิดสัญญาณขาย ดังนั้นลุงแมวน้ำจึงยังไม่ทำอะไร

และหากตลาดเกิดทดสอบด่านไม่ผ่านและปรับตัวลง ลุงแมวน้ำกมีสมมติฐานว่า กรณีที่ตลาดยังเป็นแนวโน้มใหญ่ขาขึ้นอยู่ ตลาดหุ้นไทยน่าจะปรับตัวลงไม่ลึก แนวรับสำคัญคือ 1300 จุด (P/E ratio = 14.7) และ 1270 (P/E ratio = 14.3) คงไม่น่าลงลึกไปกว่านี้

ผู้ที่ใช้แนวคิดแบบผสมสองสำนัก คือทั้งสายปัจจัยพื้นฐาน และสายปัจจัยเทคนิคประกอบกัน ต้องระวังให้ดี หากเป็นมือใหม่แล้วผสมสองสำนักค่อนข้างอันตราย หลักคิดของตนต้องแจ่มชัด เข้าใจทั้งหลักการและวิธีการใช้เครื่องมือวิเคราะห์ ไม่อย่างนั้นความรู้จะตีกันอยู่ในหัวนั่นเอง เพราะปัจจัยพื้นฐานบอกถูกน่าซื้อ แต่สัญญาณทางเทคนิค อินดิเคเตอร์บอกว่าราคาร่วงถึงจุดที่ให้ขาย โอ... แล้วจะซื้อขายถูกไหมเนี่ย >.<

ทางที่ดี หากเป็นมือใหม่ ศึกษาของสายใดสายหนึ่งไปก่อน ความรู้จะได้ไม่ตีกัน

วันนี้ลุงแมวน้ำคุยได้แค่เรื่องตลาด ยังไปไม่ถึงเรื่องแผ่นดินไหวเลย เอาไว้คุยกันต่อพรุ่งนี้คร้าบ