Wednesday, January 14, 2015

หมู่เกาะกาลาปาโกส กับทฤษฎีวิวัฒนาการของดาร์วิน (4)


ลุงสิงโตทะเลกำลังอ้อนขอปลาจากพ่อค้าที่ตลาดปลาริมทะเลในหมู่เกาะกาลาปาโกส


โดดเดี่ยวผู้ไม่น่ารัก ยิ่งปกป้องยิ่งเสี่ยงสูญพันธุ์


“หมู่เกาะกาลาปาโกสนั้นแต่ละเกาะที่เป็นส่วนประกอบของหมู่เกาะมีสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน เรียกได้ว่าแต่ละเกาะเป็นถิ่นที่อยู่ที่เป็นเอกเทศ ปราศจากสิ่งมีชีวิตภายนอกเข้ามารบกวน แม้แต่นกฟินช์ที่อาศัยอยู่ในเกาะใกล้ๆกันแต่ก็มียังเป็นคนละชนิดพันธุ์ (ต่างสปีชีส์ species) กัน เป็นกรณีศึกษาของระบบนิเวศที่น่าสนใจ” ลุงแมวน้ำพูด “ในถิ่นที่อยู่ที่ปิด หมายถึงว่าตัดขาดจากโลกภายนอก เช่นในเกาะแห่งหนึ่งที่ไม่มีสิ่งมีชีวิตอื่นเข้ามาปะปน สิ่งมีชีวิตภายในเกาะจะสืบพันธุ์กันเอง (inbreeding) เฉพาะภายในเกาะ รุ่นแล้วรุ่นเล่า จนได้สิ่งมีที่ค่อนข้างเป็นสายเลือดแท้ เนื่องจากไม่มีสายเลือดอื่นจากภายนอกเข้ามาปะปน”

“สายเลือดแท้ดีหรือไม่ดีละฮะลุง” กระต่ายน้อยถาม

“โดยทั่วไปแล้วสายเลือดแท้มักขาดความผันแปรทางรูปลักษณ์ เมื่อประมาณ 30-40 ปีก่อน มีนักวิทยาศาสตร์เข้ามาศึกษานกฟินช์ในเกาะย่อยแห่งหนึ่งในหมู่เกาะกาลาปาโกสนี้ นักวิทยาศาสตร์คนนี้พบว่าเกาะย่อยนี้มีปริมาณน้ำฝนพอควรทุกปี ทำให้นกฟินช์บนเกาะนี้เป็นนกฟินช์พันธุ์จงอยปากขนาดกลาง เหมาะสำหรับกินเมล็ดพืชที่มีขนาดเล็ก

“แต่ต่อมาปรากฏว่าเกาะแห่งนี้มีฝนแล้งยาวนาน ฝนตกน้อยมาก ต้นไม้ตาย เมล็ดพืชก็กลายเป็นเมล็ดขนาดใหญ่ขึ้นและหนามากขึ้น เนื่องจากพืชในภาวะแล้งต้นไม้จะสร้างเมล็ดพืชให้มีเปลือกหนาขึ้นเพื่อให้ทนแล้งได้ดี

“เพียงสองปีที่อากาศแล้งต่อเนื่อง นกฟินช์จงอยปากขนาดกลางล้มตายลงเป็นจำนวนมาก เนื่องจากกินเมล็ดพืชที่ใหญ่ขึ้นและหนาขึ้นไม่ได้ หากแล้งต่อเนื่องไปเป็น 3-4 ปี นกฟินช์บนเกาะนี้อาจตายไปหมดก็เป็นได้ ทั้งนี้ก็เนื่องจากนกฟินช์บนเกาะนี้ตัดขาดจากโลกภายนอก รวมทั้งตัดขาดจากเกาะอื่นๆ และสืบพันธุ์กันเองภายในเกาะ ดังนั้นสายเลือดของนกฟินช์พันธุ์นี้จึงเป็นสายเลือดแท้ที่ขาดความผันแปรทางรูปลักษณ์ อาหารการกินหรือการดำรงชีวิตอื่นๆมีความเฉพาะหรือว่าเป็นเอกเทศ เมื่อสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงก็อาจก่อผลกระทบที่รุนแรงถึงขนาดทำให้สูญพันธุ์ได้เนื่องจากนกปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมไม่ได้เลย

“ทีนี้ลองมาดูนกฟินช์บนแผ่นดินใหญ่อเมริกาใต้กันบ้าง นกฟินช์ที่อาศัยอยู่บนแผ่นดินใหญ่นั้นเนื่องจากสภาพภูมิประเทศเชื่อมต่อกัน ดังนั้นถิ่นที่อยู่ของนกจึงไม่ได้เป็นเอกเทศ แต่ทว่านกบินไปมาหาสู่กันได้ ทำให้นกฟินช์แผ่นดินใหญ่ผสมพันธุ์ข้ามสายเลือดกัน คือเป็นนกสายเลือดผสม มีความผันแปรทางรูปลักษณ์สูง อีกทั้งสภาพแวดล้อมบนแผ่นดินใหญ่นั้นมีหลากหลาย ธรรมชาติได้คัดเลือกให้สายพันธุ์ที่สามารถกินอาหารได้หลายรูปแบบอยู่รอดต่อไปได้ ส่วนนกฟินช์ที่กินอาหารได้ไม่หลากหลายก็ถูกกำจัดออกไปเพราะอดอาหารตาย ทำให้นกฟินช์บนแผ่นดินใหญ่มีวิวัฒนาการให้มีความสามารถในการปรับตัว สามารถกินอาหารได้หลากหลาย เรียกได้ว่ามีความยืดหยุ่นสูงนั่นเอง”

“อ้อ ครับ” ลิงพูด “แต่ว่าลุงแมวน้ำกำลังจะบอกอะไรเนี่ย”

“เรื่องนี้ก็เป็นเช่นเดียวกับในธุรกิจ พวกเรารู้ไหมว่าในข้อตกลงของเออีซีนั้นระบุว่าเมื่อประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะต้องเปิดเสรีธุรกิจบริการ โดยแต่ละประเทศมีพันธกรณีที่จะให้ต่างชาติเข้ามาดำเนินธุรกิจบริการได้โดยถือหุ้นไม่น้อยกว่า 70% พูดง่ายๆก็คือต่างชาติสามารถถือหุ้นใหญ่ได้ 70%

“ทีนี้ประเทศต่างๆในอาเซียนส่วนใหญ่ต่างก็ยังซ่อนปมปกป้องธุรกิจท้องถิ่นของตนเองไว้ ไม่ยอมให้ต่างชาติเข้ามาดำเนินธุรกิจโดยถือหุ้นใหญ่ได้จริงๆ โดยลุงอุปมาให้ฟังว่าข้อตกลงเออีซีคือว่าแต่ละบ้านต้องเปิดประตูบ้านเอาไว้ให้เพื่อนบ้านไปมาหาสู่ได้สะดวก ซึ่งเราก็เปิดประตูบ้านเอาไว้ แต่ว่าห้องหับต่างๆล็อกประตูเอาไว้หมด นี่คือการเปิดเสรีแบบเลี่ยงบาลีนั่นเอง โดยเรายังมีข้อกฎหมายต่างๆที่ยังไม่ได้แก้ไข ทำให้การเปิดเสรียังทำไม่ได้จริงๆ ซึ่งเหตุการณ์แบบนี้ประเทศอื่นๆในอาเซียนต่างก็ทำคล้ายๆกัน เพราะวัตถุประสงค์ก็คือยังต้องการปกป้องธุรกิจภายในประเทศอยู่ ยกเว้นบางประเทศ เช่น สิงคโปร์ ที่เปิดเสรีธุรกิจบริการมานานแล้ว ดังนั้นโดยสภาพความจริงแล้วหลายๆประเทศในเออีซีรวมทั้งไทย มีการปกป้องธุรกิจท้องถิ่นในระดับที่สูง

“แต่ลุงอยากให้มองในอีกมุมหนึ่ง นั่นคือ กรณีนกฟินช์ที่ลุงได้เล่าให้ฟัง การปกป้องธุรกิจท้องถิ่นก็คือการที่ธุรกิจท้องถิ่นตัดขาดจากโลกภายนอก ค้าขายกันเอง เหมือนนกฟินช์ในเกาะย่อยที่มีสภาพแวดล้อมเอกเทศตัดขาดจากโลกภายนอก ตอนนี้มาตรฐานเออีซีคือเปิดเสรีธุรกิจบริการ ต่างชาติถือหุ้นได้ 70% แต่ในเวทีโลกหรือเวทีองค์การค้าโลก WTO ที่ไทยเป็นสมาชิกอยู่นั้น แนวโน้มของเวทีโลกเป็นการเปิดเสรี 100% เราฝืนกระแสโลกไม่ได้ วันใดที่เราเปิดเพราะจำยอมถูกบังคับและยื้อต่อไปไม่ได้ เราจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง ธุรกิจท้องถิ่นอาจจะตายหมด ทางที่ถูกคือต้องเอาธรรมชาติเป็นตัวอย่าง นั่นคือ ต้องค่อยๆเปิดเสรี ให้ธุรกิจไทยได้ปรับตัวและเรียนรู้ที่จะแข่งขัน ค่อยๆวิวัฒนาการ จึงจะมีโอกาสอยู่รอดมากกว่า


พันธุ์ทางโอกาสรอดสูงกว่า JV และ M&A คือทางรอด


“ลุงขอยกตัวอย่างธุรกิจโชวห่วยหรือร้านขายของชำ หลายปีมีนี้เราพูดกันมากว่าโชวห่วยกำลังมีภัยคุกคาม และกำลังจะสูญพันธุ์ เราจะหาทางปกป้องโชวห่วยอย่างไร เรื่องนี้ในประเทศฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และประเทศอื่นๆก็มีปัญหาเช่นกัน

“หากเราศึกษาจากธรรมชาติ เราจะพบว่ากฎธรรมชาตินั้นมีเกิดย่อมมีดับ โลกเราเคยมีช้างแมมมอธ แต่ปัจจุบันก็ไม่มี พืชและสัตว์จำนวนมากสูญพันธุ์ไปจากประเทศไทยและประเทศอื่นๆ ทั้งนี้เพราะสภาพแวดล้อมเปลี่ยนไปจนช้างแมมมอธปรับตัวไม่ได้ ธรรมชาติจึงตัดสินให้ช้างพันธุ์นี้ต้องสูญพันธุ์ไป

หรืออย่างเช่น สมัน เมื่อก่อนในกรุงเทพฯก็ยังมี แต่ในที่สุดก็หมดไปจากกรุงเทพฯและหมดไปจากโลก ดังนั้นเราต้องพิจารณาให้ดีว่าโชวห่วยนั้นเราสามารถฝืนความเปลี่ยนแปลงของโลกและยุคสมัยได้จริงหรือ มีความสามารถอยู่รอดในยุคสมัยนี้ได้จริงหรือ

“แต่หากเรามองอีกด้านหนึ่ง การไปมาหาสู่ การที่สายเลือดต่างๆผสมพันธุ์ข้ามกันไปมาทำให้เกิดลูกหลานพันธุ์ผสม เหล่านี้ทำให้ลูกหลานวิวัฒนาการและอยู่รอดในสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปได้ ทำไมเราไม่ส่งเสริมให้ธุรกิจไทยไปมาหาสู่กับธุรกิจต่างชาติบ้างละ ด้วยการลงทุนร่วมกันหรือที่เรียกว่า joint venture (JV) ก็ดี การควบรวมกิจการกัน (M&A) ก็ดี เหล่านี้ล้วนแต่สอดคล้องกับหลักธรรมชาติ ดูสิงคโปร์สิ เปิดเสรีธุรกิจการค้า มีการสงวนกิจการไว้น้อยมาก รายได้ต่อหัวประชากรของสิงคโปร์สูงกว่าไทยมากมาย”


อยู่ไม่ได้ก็อพยพ การย้ายถิ่นก็อาจเป็นทางรอด


“อีกตัวอย่างหนึ่งก็คือ เมื่อสภาพแวดล้อมเปลี่ยนไปมาก หากยังอยู่ในถิ่นที่อยู่เดิมแล้วไม่สามารถปรับตัวได้ การรอคอยจุดจบไม่ใช่ทางออก ธรรมชาติสอนให้สิ่งมีชีวิตมีการอพยพย้ายถิ่น ประเด็นนี้ไม่ใช่เรื่องของวิวัฒนาการ แต่ก็เป็นหาทางเอาตัวรอดได้ทางหนึ่ง

“ในทางธุรกิจ หากเราอยู่ในที่เดิมไม่ไหวเนื่องจากการแข่งขันสูงหรือสภาพแล้วล้อมเปลี่ยนไปจนทำธุรกิจแบบเดิมไม่ได้ เราก็อาจพิจารณาการย้ายถิ่น ซึ่งการย้ายถิ่นในทางธุรกิจนั้นตีความหลายหลายนัย เช่น การย้ายโรงงานไปตั้งในถิ่นอื่น เช่น ไปตั้งในต่างประเทศ หรือต่างจังหวัด หรืออาจหมายถึงการเปลี่ยนเป้าหมายลูกค้าเป็นลูกค้าถิ่นอื่นหรือ หรืออาจหมายถึงการเปลี่ยนตำแหน่งทางการตลาดของสินค้าหรือที่เรียกว่า repositioning ก็ได้”

“อือม์ น่าคิด” ลิงหัวเราะ “ยังไม่เห็นว่ามีอะไรที่เกี่ยวกับการลงทุนในตลาดหุ้นเลย

“มีสิ” ลุงแมวน้ำตอบ


นักลงทุนพันธุ์ทาง ยืดหยุ่นในทุกสถานการณ์


“ในด้านการลงทุน ปัจจุบันสภาพแวดล้อมในการลงทุนเปลี่ยนไปจากเดิมมาก ยกตัวอย่างเช่น นักลงทุนสายเทคนิค นักลงทุนเรียนจากตำราเทคนิคเดียวกันทั่วโลก ดังนั้นใครจะสร้างรูปแบบทางเทคนิคขึ้นมาเพื่อหลอกให้นักลงทุนรายอื่นมาติดกับก็ย่อมเป็นไปได้

“ขณะเดียวกัน การใช้ปัจจัยพื้นฐานนั้นก็บ่งบอกถึงพื้นฐานของกิจการในปัจจุบัน แต่ไม่ได้รับประกันอนาคต หากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินกระทันหันขึ้นมา เหมือนกับที่สภาพแวดล้อมเกิดภัยคุกคามกระทันหันขึ้นมา ยกตัวอย่างไฟไหม้โรงงาน เพิ่มทุนแบบพิสดาร การตกแต่งบัญชี ฯลฯ หรือกรณีการออกไปลงทุนในต่างประเทศที่ข้อมูลปัจจัยพื้นฐานน้อย หรือการลงทุนในดัชนี จะทำอย่างไร เป็นต้น


"ตำราหลายๆเล่มไม่ว่าจะเป็นสายปัจจัยพื้นฐานหรือสายเทคนิคก็ตาม ที่เป็นระดับคลาสสิกหรือถือว่าเป็นคัมภีร์ของนักลงทุนนั้นเป็นตำราที่เขียนขึ้นนานแล้ว ในยุคที่การซื้อขายหุ้นยังต้องเคาะกระดานหุ้นอยู่ ภาพถ่ายก็ได้กล้องในยุคฟิล์ม แต่ปัจจุบันสภาพแวดล้อมเปลี่ยนไปมากแล้ว ระดับความเร็วในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเร็วกว่าในยุคก่อนอย่างเทียบกันไม่ได้ ดังนั้นต้องเผื่อใจเอาไว้เสมอว่าความรู้ที่มีอยู่เดิมอาจไม่สามารถใช้ในยุคนี้ได้ ลุงไม่ได้บอกว่าใช้ไม่ได้ แต่อยากให้เผื่อใจ ระวังเอาไว้บ้างว่าอาจใช้ไม่ได้ เพราะจะทำให้เราไม่ประมาท

“ดังนั้น ด้วยหลักที่ว่าพันธุ์ผสมเอื้อต่อการอยู่รอดได้ดีกว่า นักลงทุนรายย่อยอย่างพวกเราหากศึกษาเรียนรู้ทั้งปัจจัยพื้นฐานและปัจจัยทางเทคนิคก็ย่อมช่วยในการปรับตัวและอยู่รอดในตลาดทุนได้ดีกว่า สภาพแวดล้อมใดที่ปัจจัยพื้นฐานหาได้น้อยก็ใช้เทคนิคมากหน่อย ดังที่ลุงเคยยกตัวอย่างเรื่องการคำนวณเป้าหมายราคาด้วยปัจจัยทางเทคนิคผสมปัจจัยพื้นฐานนั่นไง วิธีนั้นก็น่าสนใจและใช้ได้ผลดีทีเดียว

“ที่จริงก็ยังมีตัวอย่างอีกหลายกรณี แต่เอาหลักๆเท่านี้ก่อนละกัน ก็คงพอเห็นตัวอย่างกันแล้วว่าเราสามารถเอากฎธรรมชาติมาใช้กับการลงทุนได้อย่างไร ลุงแมวน้ำคอแห้งมากแล้ว” ลุงแมวน้ำสรุปเอาดื้อๆ


ผู้แข็งแรงอาจไม่รอด ผู้ที่พัฒนาและปรับตัวได้คือผู้อยู่รอด


“หากเราพิจารณากฎการวิวัฒนาการอันเป็นความลับของธรรมชาติซึ่งชาล์ส ดาร์วิน เป็นผู้ค้นพบและนำมาเปิดเผย เราจะพบว่าการคัดเลือกพันธุ์โดยยธรรมชาตินั้น ธรรมชาติไม่ได้คัดเลือกให้ผู้ที่แข็งแรงที่สุดให้อยู่รอด แต่ผู้ที่อยู่รอดได้คือผู้ที่มีวิวัฒนาการ นั่นคือ มีความยืดหยุ่น มีการปรับตัว ทำตัวให้สอดคล้องกับธรรมชาติ

“การอยู่รอดในการทำธุรกิจหรือการอยู่รอดในตลาดทุนก็เช่นกัน ผู้ที่อยู่รอดได้คือผู้ที่ปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เปลี่ยนไปได้ การยึดมั่นกับสิ่งเดิมๆ ความรู้เดิมๆ หรือความเคยชินเดิมๆ โดยไม่ยืดหยุ่นอาจอยู่ไม่รอด

“แต่อย่างไรก็ตาม หากเราสังเกตจากธรรมชาติ การวิวัฒนาการขอสิ่งมีชีวิตอย่างใหญ่หลวงนั้นกินเวลานานมาก อาจเป็นหลายร้อย หลายพัน หรือหลายหมื่นชั่วอายุของสิ่งมีชีวิต ยกตัวอย่างเช่น การที่ปลาวาฬซึ่งเดิมเป็นสัตว์บกมีวิวัฒนาการไปอาศัยอยู่ในน้ำนั้นกินเวลายาวนานนับล้านปี แต่หากพูดถึงการปรับตัวในช่วงสั้นคือชั่วรุ่นหรือสองสามชั่วรุ่นนั้น การปรับตัวจะเกิดได้เพียงนิดหน่อยเท่านั้น ยกตัวอย่างเช่นนกฟินช์ หากมองการปรับตัวที่เกิดในชั่วรุ่นเดียวก็อาจเป็นแค่การปรับตัวด้านอาหารการกินนิดๆหน่อยๆเท่านั้น ไม่ได้มากมายขนาดลงไปว่ายน้ำในทะเลได้

"ฉันใดก็ฉันนั้น การปรับตัวของธุรกิจหรือของนักลงทุนในชั่วรุ่นเดียว หรือสองสามชั่วรุ่น เราอาจปรับได้ในขอบเขตจำกัด หากสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไปมาก ก็อาจต้องสูญพันธุ์ไป เปรียบได้กับการปรับตัวของธุรกิจและนักลงทุนนั้น ยังควรมีจุดยืนที่รักษาความถูกต้อง ดีงาม รักษาคุณค่าที่ดีที่ยึดถือกันในยุคสมัยเอาไว้ ไม่ควรถึงกับว่าทำได้ทุกอย่างแม้แต่การทำในสิ่งผิดเพื่อการอยู่รอด บางครั้งการสูญพันธุ์ก็อาจมีคุณค่ามากกว่าการอยู่รอดก็ได้ ข้อนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของลุงที่อยากฝากเอาไว้ ลุงแมวน้ำปิดท้าย

No comments: