Friday, January 6, 2012

05/01/2012 จัดอันดับพันธบัตรและสินค้าโภคภัณฑ์


ตลาดหุ้นวันที่ 5 นี้ตอนเช้า (เวลาบ้านเรา) ทางย่านเอเชียแปซิฟิกมีทั้งบวกและลบเพราะว่ายังไม่รู้ทิศทางตลาดยุโรปว่าจะเป็นอย่างไร พอตอนบ่ายตลาดยุโรปเปิดและดัชนีตลาดหุ้นฝั่งยุโรปอยู่ในแดนลบ ตลาดหุ้นย่านเอเชียที่ยังไม่ปิดก็อ่อนตัวตามลงมาด้วย ส่วนกลางคืนเมื่อตลาดสหรัฐอเมริกาเปิดก็อยู่ในแดนลบตามบรรยากาศของยุโรปไปด้วย ต่อเมื่อยุโรปปิดตลาดไปแล้ว ดัชนีตลาดหุ้นของ สรอ ก็ค่อยๆกระเตื้องขึ้นมา โดยดัชนี DAX ของเยอรมนีปิดแดงไป -0.25% แต่ CAC 40 ของฝรั่งเศสลดลงไป -1.5% ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ (DJI) ปิดลบแบบน่ารักคือ -0.02% ส่วนดัชนี S&P 500 ซึ่งเป็นดัชนีอีกตัวหนึ่งของตลาดหุ้น สรอ ปิดเขียว +0.3% ดังภาพความเคลื่อนไหวระหว่างวันของดัชนีตลาดหุ้นที่สำคัญข้างล่างนี้

ทางด้านตลาดหุ้นไทย หุ้นกลุ่มพลังงานขึ้นตามราคาน้ำมันดิบแต่หุ้นกลุ่มธนาคารถูกเทขายเพราะข่าวการออก พรก โอนหนี้ของกองทุนฟื้นฟูไปให้ธนาคารแห่งประเทศไทยดูแล ซึ่งนักลงทุนและนักวิเคราะห์มองกันว่า ธปท. คงต้องหารายได้เพิ่มโดยเก็บเงินจากธนาคารพาณิชย์เพิ่ม และจะกระทบผลประกอบการของธนาคาร จึงพากันขายหุ้นในกลุ่มธนาคารออกมา สุดท้ายเมื่อปิดตลาดที่ระดับดัชนี 1036.8 จุด (+0.06%) หุ้นธนาคารบางตัวราคาลดลงจนเกิดสัญญาณขาย เช่น KTB ฯลฯ


มาดูสรุปตลาดในรอบปีกันต่อ วันนี้มาดูตลาดพันธบัตรกับตลาดสินค้าโภคภัณฑ์กัน

ตลาดพันธบัตรนั้นมีความสัมพันธ์กับตลาดหุ้นและตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ของประเทศนั้นๆ ประเทศใดที่ตลาดหุ้นมีความเสี่ยง เงินลงทุนก็จะหนีจากตลาดหุ้นมาเข้าในตลาดพันธบัตร แต่หากประเทศนั้นมีความเสี่ยงทั้งตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตร เงินลงทุนก็จะหนีออกนอกประเทศไป ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือประเทศในกลุ่มยุโรปบางประเทศ เช่น กรีซ ที่ประสบวิกฤติเศรษฐกิจจากปัญหาหนี้สาธารณะ จนเป็นส่วนหนึ่งของแรงฉุดสหภาพยุโรปให้ซวนเซไป ตลาดหุ้นของกรีซร่วงหนักอีกทั้งอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลก็ปรับขึ้นรวดเร็วสูงลิ่ว เพราะหากอัตราดอกเบี้ยไม่สูงก็ไม่มีใครกล้าเสี่ยงเข้าไปลงทุน อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีของกรีซในรอบปีที่แล้วจึงปรับสูงขึ้นถึง 207% โดยประมาณ ส่วนประเทศที่อัตราดอกเบี้ยที่ปรับสูงขึ้นลดหลั่นลงมา ได้แก่ โปรตุเกต อิตาลี ฮังการี เปรู ฯลฯ จะเห็นว่าล้วนแต่เป็นประเทศที่มีปัญหาเศรษฐกิจทั้งนั้น ดังตารางต่อไปนี้ การดูอย่างง่ายๆก็คือดูที่คอลัมน์ current (อัตราดอกเบี้ยปัจจุบัน) ประเทศใดมีอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรสูงกว่า 6% ก็มองได้ว่าน่าจะมีปัญหาเศรษฐกิจ และยิ่งอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว (yearly % change มีค่ามาก) ยิ่งบ่งบอกถึงความจำเป็นต้องการใช้เงิน




ส่วนประเทศที่อัตราดอกเบี้ยปรับลดลงก็เป็นเพราะพันธบัตรของชาตินั้นเป็นที่ต้องการ เนื่องจากซื้อไว้แล้วอุ่นใจนั่นเอง พันธบัตรใดเป็นที่ต้องการมากก็ดูจากด้านล่างของตารางขึ้นมา ที่จริงปัจจัยการขึ้นลงของอัตราดอกเบี้ยยังเกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้อด้วย แต่ลุงแมวน้ำขอข้ามไปไม่พูดถึงเพราะไม่อยากให้ซับซ้อนเกินไป


จากตลาดพันธบัตรก็มาที่ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ สินค้าโภคภัณฑ์ที่ราคาปรับขึ้นแรงที่สุดในรอบปี 2554 ก็คือสินค้าพลังงาน น้ำมันให้ความอบอุ่น (heating oil, คือน้ำมันเตากับดีเซลเป็นส่วนใหญ่) ปรับเพิ่ม +25.8% รองลงมาคือน้ำมันดิบเบรนต์ +25.5% ถัดมาอีกเป็นน้ำมันเติมรถยนต์ (gasoline) ส่วนน้ำมันดิบ WTI ของสหรัฐอเมริกานั้นทั้งปีปรับเพิ่มขึ้นเพียง 8.05% เท่านั้น

ถัดจากกลุ่มน้ำมันแล้วก็เป็นข้าวโพด ตามด้วยทองคำ สังเกตว่าโลหะเงินนั้นปีที่แล้วขึ้นแรงมาก แต่สรุปแล้วทั้งปีไปไหนไม่ไกลนักเพราะว่าขึ้นแรงลงแรงนั่นเอง ดังนั้นโลหะเงินจึงอันตรายทีเดียว

สินค้าเกษตรเป็นกลุ่มที่มีความหลากหลาย ที่ขึ้นก็มี ที่ลงก็มี ดูเผินๆเหมือนไปคนละทิศละทาง แต่ที่จริงไม่ถึงขนาดนั้น สินค้าเกษตรในช่วงครึ่งปีแรกส่วนใหญ่เป็นขาขึ้น มาลงในช่วงครึ่งปีหลังและแต่ละตัวลงแรงไม่เท่ากัน เมื่อดูสรุปรายปีจึงดูเหมือนกับว่าไปกันคนละทาง ซึ่งก็คล้ายๆกับทองคำและโลหะเงินที่ขึ้นแรงในครึ่งปีแรกและลงแรงในครึ่งปีหลัง


No comments: