Friday, September 30, 2011

30/09/2011 สรุปสถานการณ์สิ้นไตรมาส 3 , 2011

วันนี้ดัชนี SET ปิดที่ 931.60 จุด ลดลง 10.0 จุด

หุ้นในกลุ่ม SET50 วันนี้ไม่มีสัญญาณซื้อขาย ขณะนี้โปรแกรมถือหุ้นอยู่รวมทั้งสิ้น 2 ตัว

กลุ่มฟิวเจอร์ส วันนี้ไม่มีสัญญาณซื้อขาย ราคาสินค้าเกษตรปรับตัวลดลงแรง เมื่อวานน้ำตาล SB#11 ราคาลดลงราว 6% วันนี้ราคาข้าวโพด (C) ข้าวสาลี (W) ถั่วเหลือง (S) และราคาสินค้าเกษตรอื่นปรับตัวลงแรงตามมา ดัชนีสินค้าเกษตร (DJUBSAG) ปรับตัวลดลงถึง -4.5% ยกเว้นยางพาราที่ปรับตัวขึ้น

ตลาดต่างประเทศ วันนี้ตลาดหุ้นย่านเอเชียแปซิฟิกมีทั้งปิดบวกและปิดลบ ที่ปิดบวกก็บวกไม่มาก ส่วนตลาดยุโรปและสหรัฐอเมริกาปรับตัวลดลง ตลาดหุ้นที่ขึ้นแรงมีเพียงตลาดหุ้นฟิลิปปินส์ ส่วนตลาดที่ลงแรง ได้แก่ รัสเซีย ออสเตรีย เยอรมนี สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง ฯลฯ

ลุงแมวน้ำรับปรุงรายงานเล็กน้อย โดยตัดฟิวเจอร์สของหุ้นที่ไม่มีสภาพคล่องออกไป และเพิ่มฟิวเจอร์สของโลหะเงิน (SV) เข้ามา นอกจากนี้ ยังได้เพิ่มฟิวเจอร์สของน้ำมันดิบเบรนต์ (Brent crude oil, BZ) เข้ามาด้วย เนื่องจากตลาด TFEX ของไทยเรากำลังจะมีฟิวเจอร์สของน้ำมันดิบมาให้เทรดกันในเดือนตุลาคมนี้ โดยเป็นฟิวเจอร์สที่อิงกับราคาน้ำมันดิบเบรนต์



สรุปสถานการณ์สิ้นไตรมาส 3 , 2011


ปี 2554 หรือ 2011 นี้ได้ผ่านไปสามในสี่ของปีหรือว่า 3 ไตรมาสแล้ว สถานการณ์เศรษฐกิจและตลาดทุนของโลกในไตรมาสที่สามที่เต็มไปด้วยความสับสน โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในภูมิภาคยุโรปและประเทศสหรัฐอเมริกาดูเหมือนว่าจะลุกลามจนฉุดภูมิภาคอื่นๆไปด้วย

โลกในไตรมาสสามที่ผ่านมานี้จับความสนใจอยู่ที่ยุโรป โดยเฉพาะปัญหาหนี้สาธารณะในกลุ่มประเทศ PIIGS อันประกอบด้วยโปรตุเกส อิตาลี ไอร์แลนด์ กรีซ และสเปน แต่ที่กำลังเน้นมากเป็นพิเศษคือกรีซ รองลงมาคืออิตาลี เพราะปัญหาความเสี่ยงการผิดนัดชำระหนี้พันธบัตรรัฐบาลกรีซเป็นเสมือนกองไฟที่ลามใกล้เพื่อนบ้านเข้าไปทุกที แต่ประเทศอื่นใช่ว่าจะมีปัญหาเบาบางกว่า เพียงแต่ปัญหาของกรีซเฉพาะหน้ามากกว่า

หนี้พันธบัตรใกล้ถึงกำหนดนัดเข้ามาทุกที แต่รัฐบาลกรีซก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ลำพังการเงินภายในประเทศของกรีซเองก็ติดขัด ต้องพึ่งเงินกู้จากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารกลางของยุโรป (ECB) ซึ่งทั้งสองสถาบันนี้ร่วมกันปล่อยกู้แก่กรีซเป็นงวด โดยในแต่ละงวดจะมีการประเมินความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาของกรีซ เปรียบเสมือนต้องตรวจสอบความประพฤติของกรีซทุกสามเดือน เมื่อความประพฤติใช้ได้จึงจะให้เงินกู้งวดใหม่ หากยังใช้ไม่ได้ก็ต้องแก้ไขปรับปรุงก่อน เพราะทางฝ่ายเจ้าหนี้หากไม่เข้มงวดก็เกรงสูญเงินต้นไปเช่นกัน ดังนั้นเรื่องงวดเงินกู้ของกรีซจึงเป็นเรื่องที่เป็นข่าวให้ตลาดหุ้นทั่วโลกผันผวนได้ทุกสามเดือน

นอกจากเรื่องเงินกู้แก่กรีซแล้ว ประเด็นที่เล่นเป็นข่าวและสร้างความผันผวนแก่ตลาดหุ้นในระยะนี้ก็คือเรื่องกองทุนเพื่อเสถียรภาพทางการเงินแห่งยุโรป (EFSF) ที่ประเทศต่างๆในกลุ่มยูโรโซน 17 ประเทศลงขันเงินกันตั้งเป็นกองทุนขึ้นเพื่อค้ำจุนเสถียรภาพทางการเงินของกลุ่ม กองทุนนี้เดิมมีเงินลงขันอยู่สองแสนห้าหมื่นล้านยูโร (0.25 ล้านล้านยูโร) ต่อมาก็ไม่เพียงพอ จึงต้องเจรจากันภายในกลุ่มเพื่อเพิ่มวงเงินกองทุนเป็นสี่แสนสี่หมื่นล้านยูโร (0.44 ล้านยูโร) ซึ่งแต่ละประเทศต้องให้สภาของตนยินยอมก่อนจึงจะลงขันขยายกองทุนได้ โดยเยอรมนีเป็นประเทศที่ลงขันเพิ่มเป็นหลัก ซึ่งก่อนที่สภาเยอรมนีจะให้การรับรอง ตลาดหุ้นทั่วโลกก็ผันผวนอยู่ช่วงหนึ่ง

หลังจากที่สภาของเยอรมนีให้การรับรองเมื่อไม่กี่วันมานี้ ทำให้สามารถขยายขนาดกองทุนได้ ที่จริงแล้วกระบวนการยังไม่จบ ยังมีอีกหลายประเทศที่สภาของตนยังไม่รับรอง ยังต้องรอให้รับรองจนครบทั้งหมดเสียก่อน

และนอกจากนี้ กลุ่มยูโรโซนประเมินกันแล้วคิดว่าเงินกองทุนที่ขยายแล้วก็ยังไม่น่าเพียงพอ เพียงแค่ช่วยกรีซประเทศเดียวก็ยังยาก ดังนั้นจึงมีการหารือกันว่าอาจต้องขยายวงเงินกองทุนไปถึงขนาดสามล้านล้านยูโร (3 ล้านล้านยูโร) แต่เยอรมนีปฏิเสธที่จะลงขันเพิ่ม ดังนั้นข่าวดีจากเยอรมนีก็คือยอมลงขันเพิ่มในรอบสอง แต่ข่าวร้ายก็คือเยอรมนีจะไม่ลงขันเพิ่มในรอบสาม สรุปแล้วจึงไม่รู้ว่าเรื่อง EFSF นั้นเป็นข่าวดีหรือข่าวร้ายกันแน่ แต่อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นของสหรัฐอเมริกาและเยอรมนีปรับตัวลดลงในวันที่ 30 อันเป็นวันสิ้นไตรมาสสามถึง -2.5%

นอกจากนี้ ในช่วงไตรมาสสาม มีเงินลงทุนเคลื่อนย้ายออกจากยุโรปเนื่องจากไม่แน่ใจสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและค่าเงินยูโร ส่งผลให้เงินดอลลาร์ สรอ แข็งค่าอย่างต่อเนื่องและเงินยูโรอ่อนค่าลง กองทุนต่างๆในสหรัฐอเมริกาลดการลงทุนในยุโรปและย้ายเงินทุนบางส่วนกลับ การอ่อนค่าของยูโรทำให้ดอลลาร์ สรอ และฟรังก์สวิสแข็งค่า ซึ่งทางการสวิสพยายามแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยนอย่างเต็มที่

ทางด้านสหรัฐอเมริกา ในไตรมาสสาม มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ ภาค 2 (QE 2) สิ้นสุดลงโดยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศไม่ได้มากนัก อัตราการว่างงานยังไม่ลดลง สหรัฐอเมริกาเองก็มีปัญหาเรื่องหนี้สาธารณะ ประกอบกับก่อหนี้ไว้เต็มเพดานแล้ว ตราสารหนี้บางส่วนที่ใกล้ถึงกำหนดไถ่ถอนยังไม่สามารถหาเงินมารองรับการไถ่ถอนได้เนื่องจากก่อหนี้เพิ่มไม่ได้ ดังนั้นทางออกคือต้องผ่านกฎหมายขยายเพดานการก่อหนี้สาธารณะ ซึ่งประเด็นนี้เองเป็นจุดที่ทำให้เกิดความขัดแย้งของการเมืองภายในสหรัฐอเมริกาเอง ช่วงที่ร่างกฎหมายยังไม่ผ่าน ตลาดหุ้นของสหรัฐอเมริกาและทั่วโลกล้วนแต่หวั่นไหวไปด้วย แต่ในที่สุดรัฐสภาอเมริกันก็ผ่านร่างกฎหมายขยายเพดานหนี้สาธารณะได้ในนาทีสุดท้าย

หลังจากตลาดหุ้นหมดกังวลเรื่องการผ่านกฎหมายก็กลับมากังวลกับสภาพเศรษฐกิจต่อไป หลังจากมาตรการ QE 2 สิ้นสุดลง ธนาคารกลางของสหรัฐอเมริกาหรือเฟดได้ใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อมาด้วยการปรับพอร์ตตราสารหนี้ของเฟดเองเพื่อกดอัตราดอกเบี้ยระยะยาวให้ลดลง ที่เรียกว่ามาตรการ operation twist ที่ลุงแมวน้ำเคยเล่าให้ฟังแล้ว มาตรการนี้ไม่ได้มีการอัดฉีดเงินเข้ามาในระบบ เป็นเพียงการใช้กลไกอัตราดอกเบี้ยเท่านั้น นักเศรษฐศาสตร์มองว่าเป็นเสมือนยาอ่อน เคยใช้ยาแรงมาแล้วยังไม่ได้ผล หากใช้ยาอ่อนก็ย่อมคาดได้ว่าผลจะเป็นอย่างไร เมื่อนักลงทุนขาดความเชื่อมั่นในสภาพเศรษฐกิจ ตลาดหุ้นของสหรัฐอเมริกาจึงปรับตัวลดลง

ทางด้านเอเชีย หลายๆประเทศในเอเชียมีอุปสรรคในการพัฒนาเศรษฐกิจ ญี่ปุ่นที่กำลังฟื้นตัวได้ก็ประสบภัยสึนามิจนโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งหนึ่งเสียหายจนถึงกับมีกัมมันตภาพรังสีรั่วออกมา ผลจากสึนามิและปัญหาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทำให้สภาพเศรษฐกิจที่กำลังเริ่มดูดีกลับแย่ลง ประกอบกับปัญหาเงินเยนแข็งค่ามาก กระทบการส่งออก ทำให้ญี่ปุ่นเปรียบเสมือนคนที่เสียหลัก ส่วนจีนนั้นเศรษฐกิจโตเร็วเกินไปจนเงินเฟ้อในอัตราสูง ทางการจีนพยายามชะลอเศรษฐกิจของตนเพื่อแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อ ตลาดหุ้นจีนจึงได้รับผลกระทบ อินเดีย อินโดนีเซีย ก็ประสบปัญหาเงินเฟ้อในอัตราสูงเช่นกัน

ทางด้านอัตราแลกเปลี่ยนในเอเชีย ค่าเงินสกุลเอเชียแปซิฟิกโดยรวมอ่อนค่าลง แสดงให้เห็นว่ามีเงินทุนเคลื่อนย้ายออกจากเอเชีย ข้อมูลเฉพาะในเดือนสิงหาคมระบุว่ามีเงินทุนไหลออกจากไทย ไต้หวัน เกาหลี อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และอินเดีย รวมกันมากถึง 16,000 บ้าน ดอลลาร์ สรอ สำหรับไทยนั้นในช่วงเดือนสิงหาคมมีเงินทุนไหลออกประมาณ 1,400 ล้านดอลลาร์ สรอ และเดือนกันยายนมีเงินไหลออก 600 ล้าน ดอลลาร์ สรอ มียกเว้นเพียงสกุลเดียวคือเงินเยนที่มีแนวโน้มแข็งค่า จนทางการญี่ปุ่นต้องเตรียมทุนสำรองเป็นจำนวนมากเพื่อสู้ค่าเงินอย่างที่ไม่เคยทำมาก่อน

ในขณะที่เงินไหลออกจากเอเชียแปซิฟิกและยุโรป เงินดอลลาร์ สรอ จึงแข็งค่าขึ้น ประกอบกับตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ทำให้สินค้าโภคภัณฑ์รวมทั้งทองคำซึ่งเป็นทั้งสินทรัพย์มั่นคงและเป็นสินค้าเก็งกำไรในขณะเดียวกันก็ปรับตัวลดลงด้วย

ลองมาดูกราฟอัตราแลกเปลี่ยนของเงินตราสกุลสำคัญในโลกในระยะหลายเดือนที่ผ่านมา ดังภาพต่อไปนี้



จะเห็นว่ามีแต่เงินดอลลาร์ สรอ และเงินเยนที่มีแนวโน้มแข็งค่า เงินตราสกุลอื่นรวมทั้งทองอ่อนค่าลง

ลองมาดูสรุปอัตราแลกเปลี่ยนในรอบสัปดาห์ รอบเดือน และรอบปี ดังภาพต่อไปนี้


จากภาพ จะเห็นว่าในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาเงินแรนด์ของแอฟริกาใต้แข็งค่ามากที่สุด และเงินวอนเกาหลีอ่อนค่ามากที่สุด แต่หากเทียบในรอบปีที่ผ่านมา เงินเยนกับฟรังก์สวิสแข็งค่ามากที่สุด

จากอัตราแลกเปลี่ยน ลองมาดูด้านตลาดทุนกันบ้าง ในรอบไตรมาสที่ผ่านมา ตลาดหุ้นผันผวนในทิศทางขาลง ภาพต่อไปนี้เป็นการคำนวณว่าตลาดหุ้นแต่ละประเทศปรับตัวลดลงจากยอดคลื่นใหญ่ลงมาแล้วมากน้อยเพียงใด


จากภาพ จะเห็นว่าตลาดหุ้นในย่านเอเชียแปซิฟิกปรับตัวลงมามาก ตลาดหุ้นจีนและฮ่องกงปรับตัวลงมามากกว่าตลาดหุ้นเยอรมนีเสียอีก และหากสังเกตจากค่า P/E ratio หรือค่าอัตราส่วนราคาต่อกำไรต่อหุ้น จะเห็นว่าตลาดหุ้นหลายแห่งมีค่าพีอีต่ำ เช่น อังกฤษและเยอรมนีมีค่าพีอีประมาณ 9 เท่า ส่วนฮ่องกงและสิงคโปร์ขณะนี้มีพีอีประมาณ 7 ถึง 8 เท่า แต่ตลาดหุ้นเหล่านี้ก็ยังมีแนวโน้มไหลลงต่อ

ทางด้านตลาดหุ้นไทย แนวโน้มทางเทคนิคอยู่ในขาลง เดือนกันยายนที่ผ่านมาต่างชาติขายสุทธิรวม 16,506 ล้านบาท และหากนับจากต้นปี สามไตรมาสที่ผ่านมาต่างชาติขายสุทธิทั้งสิ้น 35,351 ล้านบาท




2 comments:

RodSogeorge said...

สวัสดีครับลุงแมวน้ำ เข้ามาทักทายครับ

ลุงแมวน้ำ said...

สวัสดีครับ ขอบคุณที่แวะมาทักทายกัน ^_^