Monday, September 26, 2011

23/09/2011 * ตลาดหุ้น ทองคำ น้ำมันดิบ สินค้าเกษตร จะลงไปลึกเพียงใด

วันนี้ดัชนี SET ปิดที่ 958.16 จุด ลดลง 32.43 จุด ปริมาณซื้อขาย 50,000 ล้านบาท ต่างชาติขายสุทธิ 3,154 ล้านบาท ตลาดลงพร้อมกับปริมาณซื้อขายที่เพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว กรณีนี้ปริมาณซื้อขายใช้เป็นเครื่องยืนยันแนวโน้มขาลงได้

หุ้นในกลุ่ม SET50 วันนี้มีสัญญาณขาย BEC, CPN, HMPRO, LH, SCCC ขณะนี้โปรแกรมถือหุ้นอยู่รวมทั้งสิ้น 6 ตัว

กลุ่มฟิวเจอร์ส วันนี้มีสัญญาณขาย LH ฟิวเจอร์สของโลหะเงิน (SV) ผันผวนหนักจนตลาดต้องหยุดซื้อขายชั่วคราว (ใช้ circuit breaker) เพื่อให้นักลงทุนตั้งหลักกันก่อน

ตลาดต่างประเทศ วันนี้ตลาดหุ้นผันผวนหนักต่อ ย่านเอเชียแปซิฟิกลงแรง ส่วนย่านยุโรปมีทั้งปิดบวกและปิดลบคละกัน ที่ผิดบวกเป็นบวกไม่มากแต่ที่ปิดลบลบหนัก ทางด้านฝั่งอเมริกาปิดบวกและลบคละกันแต่ขึ้นลงไม่รุนแรง



ตลาดหุ้น ทองคำ น้ำมันดิบ สินค้าเกษตร จะลงไปลึกเพียงใด


ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดหุ้นทั้งสามภูมิภาครวมแล้วผันผวนรุนแรง ในช่วงที่ผ่านมาสถาบันจัดอันดับต่างๆพากันลดอันดับเครดิตกันวุ่นวาย เริ่มด้วยมูดีส์ลดอันดับธนาคารใหญ่ของฝรั่งเศสสองแห่ง ต่อมามูดีส์ได้ลดอันดับธนาคารใหญ่ของสหรัฐอเมริกาสามแห่ง คือ ธนาคารแห่งอเมริกา (BOA) เวลส์ฟาร์โก และซีตี โดยเฉพาะ BOA ถูกลดอันดับถึงสองขั้น สาเหตุที่ลดอันดับธนาคารของสหรัฐอเมริกา มูดีส์ให้เหตุผลว่าเป็นเพราะมีแนวโน้มว่าต่อไปทางการสหรัฐอเมริกาจะไม่อุ้มธนาคารแต่จะปล่อยให้ล้มไปเพราะเชื่อว่าจะไม่เกิดผลกระทบแบบโดมิโน (คือล้มไปตามๆกัน) และธนาคารที่ถูกลดอันดับเครดิตนี้อาจไม่สามารถเอาตัวรอดได้ถ้ารัฐไม่ช่วย

นอกจากนี้ มูดีส์ยังลดอันดับเครดิตพันธบัตรของสโลวีเนีย รวมทั้งเอสแอนด์พีลดอันดับตราสารหนี้ของธนาคารในอิตาลีถึง 7 แห่ง

เรื่องแปลกแต่จริง ในช่วงที่ผ่านมา ตลาดหุ้นฝั่งยุโรปปรับตัวลงไปมาก จนถึงวันนี้ตลาดหุ้นเยอรมนีปรับตัวลงไปราว -31% จากจุดยอดคลื่นใหญ่ที่ผ่านมา ส่วนเอเชียนั้นปรับตัวลดลงจากยอดคลื่นใหญ่ในช่วง -16% ถึง -25% แล้วแต่ประเทศ ในขณะที่ดัชนีดาวโจนส์ของสหรัฐอเมริกาซึ่งใช้เป็นตัวแทนของตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกาปรับตัวลงเพียง -15.6% ดังนั้นหากมองจากกราฟดัชนีตลาดหุ้น การที่เรามักได้ยินว่าตลาดหุ้นย่านเอเชียแข็งแรงนั้นอาจไม่เป็นเช่นนั้น แต่น่าจะเป็นว่าตลาดลงตามกันทุกภูมิภาคมากกว่า


สินค้าโภคภัณฑ์จะลงไปเท่าใด

ก่อนจะคุยกันเรื่องตลาดหุ้นมาดูตลาดสินค้าโภคภัณฑ์กันก่อน ดังที่ลุงแมวน้ำปรับมุมมองตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ทั้งหมดเป็นแนวโน้มขาลงตั้งแต่เดือนที่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มพลังงาน โลหะมีค่า โลหะอุตสาหกรรม และสินค้าเกษตร วันนี้เราลองมาดูกันว่าสินค้าโภคภัณฑ์จะไปลงมากน้อยเพียงใด


น้ำมันดิบ

มาดูที่ราคาน้ำมันดิบ WTI กันก่อน ดังภาพต่อไปนี้


ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลงมาจากยอดคลื่นใหญ่ถึง -29.9% แล้ว ขณะนี้ยังจำแนกได้ยากว่าเราอยู่ในคลื่น C หรือคลื่น 5 กรณีที่กำลังอยู่ในคลื่น 5 ราคาน้ำมันดิบอาจปรับตัวลดลงไปถึง 65 ถึง 75 ดอลลาร์ สรอ/บาเรล จากนั้นขึ้นต่อเพื่อทำยอดคลื่น 5 แต่ก็ต้องระมัดระวังด้วยว่าคลื่น 5 นี้สามารถเป็นคลื่นล้มเหลว (failure wave หมายถึงคลื่นที่ยอดคลื่น 5 ต่ำกว่ายอดคลื่น 3) ได้

หากเป็นกรณีคลื่น C ราคาน้ำมันดิบอาจลงไปได้ถึง 35 ดอลลาร์ สรอ/บาเรล

ไม่ว่าจะเป็นคลื่น 5 หรือคลื่น C ก็ตาม ขณะนี้น่าจะกลับทิศแนวโน้มเป็นขาลงแล้ว ดังนั้นไม่ว่าจะคลื่นอะไรก็ยังคงต้องลงไปอีกช่วงหนึ่ง

ผลจากราคาน้ำมันที่ลดลงน่าจะมีผลต่อเศรษฐกิจจริงโดยทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลง ราคาสินค้าไม่ขยับขึ้น อัตราดอกเบี้ยทั้งเงินฝากและเงินกู้คงไม่ขึ้นไปกว่านี้ และราคาทองคำลดลง โดยทั่วไปเมื่อราคาน้ำมันดิบลดลง ราคาสินค้าเกษตรจะลดลงตามไปด้วย แต่ในปลายปีนี้เป็นต้นไป ไม่แน่ว่าราคาสินค้าเกษตรอาจสวนทางกับราคาน้ำมัน


ยางพารา

ราคายางพาราปรับตัวลงมาจากยอดคลื่นใหญ่เดิมถึง -32% แล้ว ดังภาพต่อไปนี้


จากภาพ ยังจำแนกคลื่นได้ยากว่าขณะนี้ยางพาราอยู่ในคลื่นใด ระหว่างคลื่น 4 หรือคลื่น A หากขณะนี้เป็นคลื่น 4 ราคายางพาราคงลงไปในช่วง 100 ถึง 120 บาท/กก แต่หากเป็นคลื่น A กว่าจะจบคลื่น C ราคายางพาราอาจลงไปได้ถึง 75 บาท/กก


สินค้าเกษตร

สินค้าเกษตรหมายถึงพืชผลการเกษตรที่เป็นอาหารการกิน ดัชนีสินค้าเกษตรขณะนี้ปรับตัวลดลงมาจากยอดคลื่นใหญ่เดิมถึง -17.8% แล้ว ดังภาพต่อไปนี้



ตอนนี้ลุงแมวน้ำถือว่าสินค้าเกษตรอยู่ในคลื่น 4 ไปก่อน แม้ว่าจะยังนับได้ไม่ชัดก็ตาม ปกติราคาสินค้าเกษตรจะเป็นไปในทิศทางเดียวกับราคาน้ำมันดิบ หากราคาพลังงานลดลง ราคาสินค้าเกษตรก็ลดลง แต่ในระยะเวลาต่อไปข้างหน้านี้อาจเป็นข้อยกเว้น เนื่องจากแม้ว่าราคาน้ำมันดิบจะลดลง แต่ผลผลิตสินค้าเกษตรอาจเสียหายมากจากความเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ ดังนั้นเป็นไปได้ที่เราอาจเข้าสู่ยุคน้ำมันไม่แพงแต่ข้าวยากหมากแพงได้

ลุงแมวน้ำประเมินว่าดัชนีสินค้าเกษตรอาจลงไปถึง 70 ถึง 75 จุด จากนั้นเข้าสู่คลื่น 5


ทองคำ

ทองคำแม้เป็นสินทรัพย์ต้านเงินเฟ้อ แต่ตัวมันเองก็ทำให้เกิดเงินเฟ้อได้หากมีราคาสูง ขณะนี้ทองคำมีดัชนีความผันผวน (volatility index, vi) ประมาณ 3.7% ซึงถือว่าสูง แต่ยังไม่มากมื่อเทียบกับราคาหุ้น แต่เรารู้สึกว่าทองคำผันผวนมากเนื่องจากทองคำมีราคาสูงนั่นเอง และหากเทียบกับความผันผวนของโลหะเงิน (vi = 7.3%) แล้วราคาทองคำยังผันผวนสู้โลหะเงินไม่ได้


ขณะนี้ทองคำมีสัญญาณกลับทิศแนวโน้มแล้วหลายประการ เช่น นับคลื่นย่อยได้ครบห้าลูก, เกิด bearish converence ระหว่างราคาทองคำกับ RSI, ราคาตัดทะลุกรอบ SEC ลงด้านล่าง, เกิดจุดยอดคลื่นที่ต่ำลง (lower peak), เกิดสัญญาณแท่งเทียนดำใหญ่ (big black candle), และได้ระดับ fibonacci อีกทั้งราคาลงมาจากยอดคลื่นใหญ่แล้ว -11.9% ดังนั้นแนวโน้มขาลงจึงมีน้ำหนักสูง

หากราคาทองคำเป็นแนวโน้มขาลงแล้ว คำถามที่สำคัญต่อมาคือขณะนี้ราคาทองคำอยู่ในคลื่นใหญ่ใด ลุงแมวน้ำอยากให้ดูในระดับคลื่นใหญ่เนื่องจากคลื่นใหญ่ส่งผลในระยะยาว 

หากจะพิจารณากันในระดับคลื่นใหญ่ คงต้องดูราคาทองคำกันตั้งแต่เมื่อหลายสิบปีก่อน คือก่อน ค.ศ. 1770 ก่อนหน้านั้นราคาทองคำอยู่ในช่วง 20 ถึง 30 ดอลลาร์ สรอ/ทรอยออนซ์ หลัง ค.ศ. 1970 เป็นต้นมาราคาทองคำจึงผันผวนมากขึ้นและค่อยๆขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังภาพต่อไปนี้



จากภาพบน เป็นไปได้ว่าขณะนี้ราคาทองคำจบคลื่นใหญ่ 5 ไปแล้ว ขณะนี้เราอยู่ในคลื่นใหญ่ A หากเป็นกรณีนี้ กว่าจะจบคลื่น C ราคาทองคำอาจลงไปได้ถึง 750 ดอลลาร์ สรอ/ทรอยออนซ์ ซึ่งคงกินเวลานานหลายปีหรือหลายสิบปี

กับอีกกรณีหนึ่ง หากนับคลื่นแบบต่อไปนี้


ถ้านับแบบนี้ ราคาทองคำในขณะนี้น่าจะอยู่ในคลื่น 4 ซึ่งโดยทั่วไปแล้วคลื่น 4 เป็นคลื่นที่ผันผวน และต่อไปราคาจะผันผวนยิ่งไปกว่านี้ แม้เทรดตามสัญญาณเทคนิคก็อาจขาดทุนได้ เนื่องจากเกิดสัญญาณหลอกบ่อยครั้ง อีกทั้งราคาผันผวนแรงจนนักลงทุนถอดใจ

หากเป็นกรณีคลื่น 4 ราคาเป้าหมายของทองคำ น่าจะจบคลื่น 4 แถวๆ 1070 ดอลลาร์ สรอ/ทรอยออนซ์ หรืออย่างแย่ก็ 870 ดอลลาร์ สรอ/ทรอยออนซ์

หากมองในด้านสภาพเศรษฐกิจ หากเงินดอลลาร์ สรอ แข็งค่า ตลาดหุ้นและตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวลงแรง นักลงทุนเสียหายและต้องการเงินสด เศรษฐกิจจริงหากเสียหายจากวิกฤติหนี้สาธารณะก็ทำให้กิจการต่างๆต้องการเงินสด ทำให้เกิดภาวะเงินตึง อีกทั้งน้ำมันดิบลด เงินเฟ้อลดลง ความต้องการทองคำน่าจะลดลงและหันไปหาดอลลาร์ สรอ มากกว่า



ตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกา

ดัชนีดาวโจนส์ขณะนี้ปรับตัวลดลงจากยอดคลื่น B ถึง -15.6% แล้ว ทำคลื่นย่อย 1-2 ไปแล้ว อีกไม่กี่วันนี้น่าจะเข้าสู่คลื่นย่อย 3 (สีน้ำตาล) ของคลื่น C ซึ่งน่าจะลงแรง ดังภาพต่อไปนี้



จากการวัดด้วยเทคเทคนิค fibonacci ตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกาอาจลงไปถึง 5,500 จุด (ดัชนีดาวโจนส์) ปกติคลื่น C มักลงเร็วและแรง แต่ปลายคลื่นลากหางยาว ดังนั้นขาลงแบบชันอาจกินเวลาไม่นาน เพียงปีหรือสองปี แต่หลังจากนั้นจะมีช่วงนิ่ง เปรียบเหมือนคนที่กลิ้งลงมาจากเขา เมื่อลงถึงเชิงเขาแล้วต้องสลบไปสักระยะหนึ่งจึงจะฟื้น เช่นเดียวกัน ตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกา รวมทั้งยุโรป ในช่วงต่อไปคงลงเร็วและแรง หลังจากนั้นอาจนิ่งไปนานนับปี รวมแล้วกว่าจะจบคลื่น 5 คงกินเวลาหลายปี


ตลาดหุ้นไทย

ลองดูกราฟ SETI ต่อไปนี้


จากภาพคงเห็นแล้วว่าคลื่นของตลาดหุ้นไทยไม่ค่อยปกตินัก คือไม่ใช่รูปแบบพื้นฐาน ยากแก่การนับ แต่ลุงแมวน้ำคิดว่าในระดับคลื่นใหญ่ ตลาดหุ้นไทยยังอยู่ในคลื่นขาขึ้น เป็นคลื่น 5 (สีดำ) แต่แม้ว่าเป็นคลื่นใหญ่ขาขึ้น แต่ว่าขณะนี้คงเป็นคลื่นย่อยขาลง ขณะนี้ลุงแมวน้ำยังนับคลื่นย่อยไม่ถูก แต่ดัชนี SET ลงจากยอด 3 (สีน้ำเงิน) มา -16.3% แล้ว SETI อาจลงไปลึกได้ถึง 670 ถึง 780 จุด


อัตราแลกเปลี่ยน

มาดูค่าเงินกันบ้าง ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ดอลลาร์ สรอ แข็งค่า เงินสกุลอื่นๆจึงอ่อนค่าไปหมด ยกเว้นเงินเยนที่ยังทรงตัวอยู่ แต่ในระยะต่อไป ดอลลาร์ สรอ จะแข็งค่าต่อไปอีก เงินสกุลอื่นๆน่าจะอ่อนค่าลง เงินบาทในที่สุดน่าจะอ่อนค่าและเกิน 31 บาท

ช่วงนี้ตลาดหุ้นคงผันผวนแต่เป็นทิศทางผันผวนลง ประกอบกับการประเมินว่าเศรษฐกิจจริงของยุโรปและสหรัฐอเมริกาคงเสียหายและกินเวลาอีกนานกว่าจะฟื้นตัวได้ ดังนั้นภาคเศรษฐกิจจริงของไทยคงกระทบกระเทือน ที่เริ่มเห็นแล้วก็คือกลุ่มอิเลกทรอนิกส์ เป็นต้น ต่อไปอัตราว่างงานของบ้านเราอาจสูงขึ้น นักลงทุนรายย่อยควรระมัดระวัง การดำเนินชีวิตในช่วงนี้ควรพยายามลดรายจ่าย พยายามอย่าก่อหนี้ทั้งระยะสั้นและระยะยาว เก็บเงินเอาไว้ดีกว่า เราไม่อาจรู้ได้ว่าวิกฤตนี้จะรุนแรงและยาวนานเพียงใด และจะส่งผลกระทบถึงเศรษฐกิจไทย รวมทั้งหน้าที่การงานของเรามากน้อยเพียงใดแม้ความเห็นนี้ในทางเศรษฐศาสตร์บอกว่าจะยิ่งทำให้เกิดผลเสีย เรียกว่าผลเสียของความมัธยัสถ์ (paradox of thrift) แต่ลุงแมวน้ำคิดว่าแต่ละคนคงต้องพึ่งตนเอง และการมัธยัสถ์อดออมก็เป็นส่วนหนึ่งของความสามารถในการพึ่งตนเอง ในโอกาสต่อไปลุงแมวน้ำอาจคุยเรื่อง paradox of thrift แต่ขอเล่าเรื่องเปรอนให้จบเสียก่อน

การลดรายจ่ายเท่ากับเป็นการเพิ่มรายได้ การอยู่เฉยๆก็เท่ากับการลงทุนที่เกิดผลกำไรได้เช่นกัน






No comments: