Sunday, April 24, 2011

22/04/2011 * ตลาดหุ้นผันผวนมากขึ้นและเทรดยากกว่าเมื่อก่อนจริงหรือไม่ (1)

วันนี้ตลาดยุโรป อเมริกา และเอเชียอีกหลายชาติหยุดทำการเนื่องในวัน Good Friday

วันนี้ดัชนี SET ปิดที่ 1,105.29 จุด ลดลง 4.63 จุด

หุ้นในกลุ่ม SET50 วันนี้มีสัญญาณขาย BLA, TUF และมีสัญญาณซื้อ EGCO ขณะนี้โปรแกรมถือหุ้นอยู่รวมทั้งสิ้น 44 ตัว

กลุ่มฟิวเจอร์ส วันนี้ไม่มีสัญญาณซื้อขาย แต่ลุงแมวน้ำสังเกตพบว่าอนุพันธ์ของ SET50 กลับมามีเบสิส (basis) เป็นลบหลังจากที่ไม่ได้เห็นปรากฏการณ์เช่นนี้มานานแล้ว



เบสิสก็คือราคาของ SET50 ลบด้วยราคาอนุพันธ์นั่นเอง ปกติที่เราเห็นกันเบสิสมักเป็นบวก อันหมายความว่าราคาฟิวเจอร์สต่ำกว่าดัชนี SET50 หรือราคาฟิวเจอร์สไล่หลังราคาสปอต แต่ในวันนี้แม้เป็นวันที่ตลาดแดงแต่เบสิสก็เป็นลบ (หมายถถึงราคาฟิวเจอร์สนำหน้าราคาสปอตไปแล้ว) อันหมายถึงว่านักลงทุนในอนุพันธ์มองว่าตลาดเป็นขาขึ้นอย่างแรงจึงไล่ราคาอนุพันธ์กัน แต่มีข้อสังเกตคือ OI ของอนุพันธ์ไม่ได้เพิ่มมากนัก แสดงว่าไม่ค่อยมีเงินใหม่เข้ามาในอนุพันธ์


ด้านตลาดต่างประเทศ ตลาดหุ้นทั่วโลกส่วนใหญ่ปิดทำการ ดังนั้นจึงค่อยเห้นความเคลื่อนไหวอะไรมากนัก


ตลาดหุ้นผันผวนมากขึ้นและเทรดยากกว่าเมื่อก่อนจริงหรือไม่ (1)


เมื่อวันก่อน ขณะที่ลุงแมวน้ำกำลังทำสวนครัวอยู่ที่หลังคณะละครสัตว์ ก็เห็นลิงชิมแปนซีโหนเถาวัลย์ผ่านลุงแมวน้ำไป เจ้าลิงตัวนี้คือลิงชิมแปนซีเจ้าปัญญาตัวเดิมที่ลุงแมวน้ำเคยเล่าให้ฟังไปแล้วในเรื่องฟิวเจอร์สและเรื่อง dollar cost averaging (DCA) นั่นเอง

“เป็นไงบ้างนายลิงจ๋อ” ลุงแมวน้ำทักทาย

ลิงชิมแปนซีหยุดโหนเถาวัลย์และกระโดดลงมายืนข้างแปลงสวนครัวของลุงแมวน้ำ

“ก็สบายดีลุง” ลิงตอบ พลางเอื้อมมือไปปลิดกล้วยจากต้นกล้วยที่ลุงแมวน้ำปลูกเอาไว้มากิน หน้าตาของเจ้าลิงไม่ได้บ่งบอกว่าสบายเลยแม้แต่น้อย

“แต่ดูสีหน้าแล้วลุงว่าไม่เป็นยังงั้นเลย” ลุงแมวน้ำพูด “แล้วข่วงนี้หุ้นเป็นไงบ้าง ได้กำไรไหม”

ลิงชิมแปนซีถอนหายใจเฮือก “ก็พอได้กำไรอยู่”

“สงสัยจะโดนหุ้นเล่นมากกว่ามั้ง” ลุงแมวน้ำดักคอ

“จะว่ายังงั้นก็ได้” ลิงถอนหายใจอีกปู้ดหนึ่งพร้อมกับพูดอึกอัก “ว่าแต่ทำไมลุงรู้ล่ะ”

“สีหน้าเบื่อโลกขนาดนี้ลุงก็เดาได้ว่าขาดทุนหุ้นมาอีกแล้ว” ลุงแมวน้ำพูด “ก็เห็นเป็นแบบนี้ทุกที ได้กำไรก็คุยฟุ้ง พอขาดกลับอุบเงียบ แล้วปกติลุงเห็นนายได้กำไรทีละร้อยแต่ขาดทุนทีละพัน”

ลิงรีบเอานิ้วชี้แตะริมฝีปาก

“อย่าพูดดังสิลุง ขาดทุนแล้วมันเสียหน้า ใครจะบอกกันล่ะ เขาก็คุยอวดแต่ตอนได้ที่กำไรกันทั้งนั้น”

“หุ้นขึ้นมาตั้งแต่ปีที่แล้ว นึกว่านายจ๋อกำไรบาน ซื้อกล้วยกินสบายใจไปแล้วเสียอีก” ลุงแมวน้ำพูดอีก

ลิงจ๋อส่ายหางพลางถอนใจ “หุ้นขึ้นแต่ผมไม่ได้กำไรเลย ทีก่อนซื้อละดูดี พอซื้อแล้วถือได้วันสองวันหุ้นก็ร่วง ต้องรีบขายทิ้งไปก่อน เป็นแบบนี้ทุกที ตลาดหุ้นสมัยนี้ผันผวนกว่าเมื่อก่อนมาก ขนาดเข้าเร็วออกเร็วแล้วนะ ไม่กล้าถือนานยังขาดทุนเลย เล่นยากจริงๆ”

ลิงชิมแปนซีเป็นดาราที่อยู่ในคณะละครสัตว์มานานหลายปีแล้ว แม้จะเป็นลิงเจ้าปัญญาแต่มีนิสัยชอบซื้อขายหุ้นบ่อยๆ ไม่ยอมถือนานๆ อาจเป็นเพราะนิสัยยุกยิกอยู่ไม่สุขก็เป็นได้จึงทำให้ชอบซื้อขายบ่อยๆ

หลังจากที่คุยกับลิงชิมแปนซีแล้วทำให้ลุงแมวน้ำอดคิดไม่ได้เหมือนกันว่าในช่วงหลายปีหลังๆนี้ตลาดหุ้นดูเหมือนจะผันผวนมากขึ้น วันหนึ่งขึ้น วันหนึ่งลง อีกทั้งการขึ้นลงก็แรงดูน่ากลัว ต่างจากเมื่อก่อน เมื่อตลาดผันผวนมากขึ้น การเทรดให้ได้กำไรก็ย่อมน่าจะยากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเทรดด้วยระบบสัญญาณซื้อขายทางเทคนิด หากตลาดยิ่งผันผวนโอกาสเกิดสัญญาณหลอกก็ยิ่งสูงขึ้น

แต่เมื่อมาคิดอีกที นี่ก็เป็นเพียงความรู้สึก ในทางจิตวิทยานั้นเราทราบกันแล้วว่าบางครั้งความทรงจำหรือประสบการณ์ในอดีตก็หลอกเราได้ ดังนั้นหากจะให้รู้แน่จริงๆก็ต้องหาทางพิสูจน์เพื่อให้ได้ข้อมูลมายืนยัน ดังนั้นเมื่อว่างจากการแสดงลุงแมวน้ำจึงพยายามใช้วิธีการทางสถิติเพื่อหาคำตอบนี้

ก่อนอื่นก็ต้องมากำหนดกันก่อนว่าคำว่า ผันผวน นั้นเอาอะไรมาวัดและจะวัดอย่างไร ในที่นี้ลุงแมวน้ำคิดจะใช้ราคาปิดของดัชนีเซ็ต (SETI) มาเป็นตัววัด กล่าวคือ วัดจากเปอร์เซ็นต์การเปลี่ยนแปลงของราคาปิดของดัชนีในวันนี้เมื่อเทียบกับวันก่อน ซึ่งเป็นข้อมูลที่ทำความเข้าใจได้ง่าย ยกตัวอย่างเช่น เมื่อวานดัชนีปิดที่ 1000 จุด วันนี้ปิดที่ 1010 จุด เราก็บอกว่าวันนี้ดัชนีเปลี่ยนแปลงไป +1.0% (บวกหนึ่งเปอร์เซ็นต์) หรือหากเมื่อวานดัชนีปิดที่ 1000 จุด และวันนี้ปิดที่ 980 จุด เราก็บอกว่าวันนี้ดัชนีเปลี่ยนแปลงไป -2.0% (ลบสองเปอร์เซ็นต์) หากหุ้นผันผวนอย่างที่ลิงชิมแปนซีว่ามาจริง เปอร์เซ็นต์การเปลี่ยนแปลงของ SETI ในยุคนี้จะต้องมากกว่าเมื่อหลายปีก่อน

ลุงแมวน้ำนำข้อมูลย้อนหลังของดัชนีเซ็ตมาวิเคราะห์ดูเปอร์เซ็นต์การเปลี่ยนแปลงว่าเป็นอย่างไร วิธีการของลุงแมวน้ำก็คือเอาการเปลี่ยนแปลงของ SETI ที่ว่าปิดบวกเท่าไร ปิดลบเท่าไร นี้มาจัดกลุ่ม เช่น วันที่ดัชนีปิดแล้วเปลี่ยนแปลง +0.01% ถึง +1.0% ก็แยกเป็นกลุ่มหนึ่ง วันที่ราคาปิดเปลี่ยนแปลง +1.01 ถึง +2.00% ก็นับแยกเอาไว้อีกกลุ่มหนึ่ง ดัชนีวันที่ปิดเป็นลบก็ทำเช่นเดียวกัน จากนั้นเอามาแยกเป็นกลุ่มย่อยกลุ่มละ 5 ปีอีกที เช่น กลุ่มย่อยในช่วง ค.ศ. 1976-1980 กลุ่มย่อยในช่วง ค.ศ. 1981-1985 กลุ่มย่อยในช่วง 1986-1990 เป็นต้น

หากอ่านแล้วรู้สึกงงก็ไม่เป็นไร ลองมาดูตารางที่ลุงแมวน้ำแยกแยะจัดกลุ่มข้อมูลเสร็จเรียบร้อยแล้วดีกว่า ดังนี้



วิธีดูตารางนี้ก็อย่างเช่น ในช่วงปี 1976-1980 (รอบห้าปี) นั้นมีจำนวนวันที่ดัชนีปิดบวกในช่วงตั้งแต่ 0.01% ถึง 1.00% อยู่ 443 วัน (หรือ 443 ครั้ง ความหมายเดียวกัน)

ในช่วงปี 2006-2010 (รอบห้าปีอีกรอบหนึ่ง) นั้นมีจำนวนวันที่ดัชนีปิดลบในช่วงตั้งแต่ -1.01% ถึง 0. 00% อยู่ 358 วัน

ในช่วงปี 1996-2000 นั้นมีจำนวนวันที่ดัชนีปิดบวกในช่วง 3.01% ถึง 4.00% อยู่ 47 วัน

เป็นต้น

ผลการแจกแจงที่ลุงแมวน้ำทำมาดูแล้วทำให้เราได้ทราบอะไรบ้าง ลองดูกันไปก่อน แล้วเรามาคุยกันต่อในวันต่อไป

(โปรดติดตามอ่านในวันต่อไป)





No comments: