Friday, August 29, 2014

29/08/2014 เฟดลดคิวอี เตรียมขึ้นอัตราดอกเบี้ย ทำไมตลาดหุ้นจึงขึ้น (2)



คืนวันต่อมา ลิง ยีราฟ และกระต่าย มาหาลุงแมวน้ำที่โขดหินหลังจากจบการแสดงรอบค่ำอีก

“เอ้า ลุงแมวน้ำ วันนี้พวกเรามีของฝาก” ลิงพูดพลางส่งถุงใบใหญ่ให้ลุงแมวน้ำ

“ของฝากอะไรเนี่ย ถุงเบ้อเริ่มเลย” ลุงแมวน้ำแปลกใจ

“มีน้ำปั่น ขนม และกาแฟครับ” ลิงตอบ

“วันนี้เอามาฝากหลายอย่างเลยนะ” ลุงแมวน้ำปลื้ม

“วันนี้ถ้าลุงหิวก็กินขนม ถ้าคอแห้งก็ดูดน้ำปั่น และถ้าง่วงก็ดื่มกาแฟ เตรียมมาให้หมดเลย ลุงจะได้ไม่มีข้ออ้างอีกไง” ลิงพูด

“อ้อ อ้อ ไม่อ้างก็ไม่อ้าง” ลุงแมวน้ำพูด “ยังงั้นเรามาคุยกันต่อเลย”

“เมื่อวานลุงเล่าถึงไหน ลืมแล้วหรือยังฮะ” กระต่ายน้อยถาม

“เกือบลืมไปเหมือนกัน แต่ยังไม่ลืม” ลุงแมวน้ำหัวเราะ “เมื่อวานลุงเล่าถึงว่าป้าเจนกำลังลดคิวอี ใกล้จะเลิกแล้ว และยังเตรียมขึ้นอัตราดอกเบี้ยเฟดอีก ใครๆก็คาดกันว่าตลาดพันธบัตรจะวาย ตลาดหุ้นเกิดใหม่จะวาย เพราะนักเศรษฐศาสตร์และนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ยึดทฤษฎี The Great Rotation กับทฤษฎีเงิน dollar carry trade ไหลกลับคืนสหรัฐอเมริกา แต่กลับไม่เป็นไปตามคาด”

“ใช่แล้วฮะลุง” กระต่ายน้อยตอบ “ยังงั้นเล่าต่อกันเลยฮะ ทฤษฎีนอกกระแสของลุงแมวน้ำคืออะไร”

ลุงแมวน้ำหยิบกระดาษออกมาปึกหนึ่งจากหูกระต่าย และคลี่ออกมาให้ดูกันหนึ่งแผ่น


เงินยูโร (EUR), บาท (THB), เปโซของฟิลิปปินส์ (PHP), รูปีของอินเดีย (INR), รูเปียะของอินโดนีเซีย (IDR), วอนของเกาหลี (KRW), และริงกิตของมาเลเซีย (MYR) แสดงในเชิงเปรียบเทียบกัน โดยให้ต้นปี 2014 มีค่าเป็น 0 จะเห็นว่าเงินสกุลเอเชียมีแนวโน้มแข็งค่าในปี 2014 แสดงว่าเงินดอลลาร์ สรอ ไม่ได้ไหลออกจากประเทศในเอเชียมากมายนัก


“ดูนี่ นี่เป็นกราฟที่แสดงค่าเงินสกุลต่างๆหลายสกุล เทียบกับเงินดอลลาร์ สรอ” ลุงแมวน้ำพูด “ประกอบด้วยเงินยูโร (EUR), บาท (THB), เปโซของฟิลิปปินส์ (PHP), รูปีของอินเดีย (INR), รูเปียะของอินโดนีเซีย (IDR), วอนของเกาหลี (KRW), และริงกิตของมาเลเซีย (MYR) แสดงในเชิงเปรียบเทียบกัน โดยให้ต้นปี 2014 มีค่าเป็น 0 ให้หมด เราจะพบว่า ขณะนี้ค่าเงินทุกสกุลในเอเชียเป็นลบ แปลว่าเงินสกุลเกิดใหม่ในเอเชียแข็งค่าขึ้น มีเพียงเงินยูโรเท่านั้นที่ตอนนี้มีค่าเป็นบวก ซึ่งแปลว่าตอนนี้เงินยูโรอ่อนค่าเมื่อเทียบกับต้นปี นี่ก็เป็นหลักฐานอีกประการที่แย้งกับทฤษฎีเงินดอลลาร์ สรอ ที่มาเก็งกำไรในเอเชีย (dollar carry trade) ไหลกลับอเมริกา ก็อาจมีไหลกลับบ้างละนะ แต่ไม่ได้มากมายจนทำให้เงินสกุลเอเชียอ่อนค่า ทั้งๆที่เป็นช่วงที่ป้าเจนกำลังลดคิวอีอยู่”

“อือม์ จริงด้วย” ลิงจ๋อพูด เอาหางเกาหัวเกาคาง

“เอาละ ทีนี้ลุงจะอธิบายปรากฏการณ์ต่างๆด้วยทฤษฎีนอกกระแส ลองฟังกันดูละกันว่าทฤษฎีนี้อธิบายได้สอดคล้องกับสภาพความจริงในปัจจุบันได้มากน้อยเพียงใด พวกเราต้องใจเย็นๆ ค่อยๆฟัง เพราะว่าอาจซับซ้อนนิดหน่อย แต่ก่อนอื่นลุงต้องขอเท้าความสักหน่อยเพื่อปูพื้น



รู้จักกับทุนสำรองส่วนเกิน


“ลุงแมวน้ำต้องเท้าความถึงวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ซึ่งเกิดขึ้นในปี 2007 หลังจากนั้นมา ในปี 2008 ลุงเบนซึ่งเป็นประธานเฟดในยุคนั้นก็เริ่มการอัดฉีดสภาพคล่องเพื่อกู้เศรษฐกิจ ซึ่งก็คือ QE1 นั่นเอง

“ในระบบธนาคารทั่วโลก ธนาคารพาณิชย์จะต้องมีทุนสำรองจำนวนหนึ่งฝากไว้ที่ธนาคารกลางของประเทศ เงินก้อนนี้เรียกว่า required reserves เพื่อสำรองไว้ในยามเกิดเหตุไม่คาดหมายต่างๆ เงินทุนสำรองนี้เป็นกฎเกณฑ์ของธนาคารกลางที่ธนาคารพาณิชย์ต้องปฏิบัติ จะหลีกเลี่ยงไม่ได้

“ทีนี้เมื่อธนาคารพาณิชย์มีสภาพคล่องส่วนเกิน และต้องการจะดำรงเงินทุนสำรองให้มากกว่ากฎเกณฑ์ของธนาคารกลางก็ได้ ซึ่งเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ดีที่แสดงถึงความมั่นคงของธนาคารเอง ทุนสำรองที่เกินจากเกณฑ์ภาคบังคับและนำไปฝากอยู่ที่ธนาคารกลางนั้นเราเรียกว่า ทุนสำรองส่วนเกิน หรือ excess reserves ก็สรุปว่าทุนสำรองที่ธนาคารฝากไว้กับธนาคารกลางมีสองส่วน คือ required reserves กับ excess reserves

“ที่สหรัฐอเมริกาก็มีการฝากทุนสำรองแบบนี้ไว้ที่เฟดเช่นกัน ซึ่งปกติทุนสำรองที่ฝากไว้ที่เฟดนี้เป็นการฝากไว้เฉยๆ ไม่ได้รับดอกเบี้ย แต่ทีนี้ในปี 2008 ที่มีการอัดฉีด QE1 ปรากฏว่าลุงเบนใช้กฎเกณฑ์ใหม่ นั่นคือ มีการจ่ายดอกเบี้ยให้แก่เงินทุนสำรองส่วนเกินด้วย โดยให้อัตราดอกเบี้ยร้อยละหนึ่งสลึง หรือ 0.25% ซึ่งอัตราดอกเบี้ยนี้เรียกว่า IOER (interest rate on excess reserves) ส่วนทุนสำรองบังคับนั้นก็ยังเหมือนเดิม คือไม่ได้จ่ายดอกเบี้ย”

“จ่ายดอกเบี้ยเพื่ออะไรจ๊ะลุง” ยีราฟสาวถามบ้าง

“เรื่องมันยาวน่ะแม่ยีราฟ ยิ่งเล่ายาวก็ยิ่งงง เอาเป็นว่าลุงเบนให้เหตุผลว่าเป็นกลไกหนึ่งในการควบคุมปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งในตอนนั้นอย่าว่าแต่นักลงทุนทั่วไปเลย นักเศรษฐศาสตร์หลายคนก็ยังงงๆอยู่ว่าลุงเบนจะให้ดอกเบี้ยทำไม คำอธิบายของลุงเบนก็ไม่ค่อยกระจ่างในความคิดของหลายๆคน” ลุงแมวน้ำตอบ

“จ้ะ เอาเป็นว่าเป็นกลไกหนึ่งของเฟด” แม่ยีราฟคล้อยตามอย่างง่ายดาย คงก็ไม่อยากปวดขมองเช่นกัน

“หลังจากนั้นมา ในยุค QE1, QE2, Operation twist, และ QE3 ก็มีการจ่ายดอกเบี้ยแก่ทุนสำรองส่วนเกินมาโดยตลอด ทีนี้ธนาคารต่างๆก็ชอบละสิ ลองดูภาพนี้กัน” ลุงแมวน้ำพูดพลางคลี่กราฟให้ดูอีกแผ่นหนึ่ง


กราฟแสดงทุนสำรองส่วนเกิน (excess reserves) ที่ฝากอยู่ที่เฟด ซึ่งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบันมีสูงถึง 2.7 ล้านล้านดอลลาร์ สรอ


“เห็นไหม นี่เป็นกราฟแสดงจำนวนเงินทุนสำรองส่วนเกิน หรือ excess reserves ที่ผ่านมาจนปัจจุบัน ตอนนี้ป้าเจนรับมรดกทุนสำรองส่วนเกินนี้มาจากลุงเบน มีทุนสำรองส่วนเกินฝากอยู่ที่เฟดอยู่ถึง 2.7 ล้านล้านดอลลาร์ สรอ (2.7 trillion USD)”

“โห มันเท่าไรฮะลุง 2.7 ล้านล้านเนี่ย” กระต่ายน้อยถาม ดวงตากลมโตแดงมีแววสงสัย พร้อมกระดิกหางปุกปุย

“ก็เขียนเลข 2.7 แล้วตามด้วยเลขศูนย์อีก 11 ตัว” ลุงแมวน้ำตอบ “เงินจำนวนนี้คิดเป็น 16% ของจีดีพีสหรัฐอเมริกา หรือ 7.4 เท่าของจีดีพีไทย หรือ 33.6 เท่าของงบประมาณปี 2558 ของไทย เยอะไหมล่ะ”

“อู้ฮู ซื้อถั่วฝักยาวได้ทั้งโลกเลยมั้ง” ยีราฟสาวหัวเราะกิ๊ก

“เดี๋ยวนะลุง ผมขอถามหน่อย” ลิงพูด “เฟดอัดฉีดเงินด้วยโครงการคิวอีเข้าระบบเศรษฐกิจ แต่กลับรับเงินฝากตั้งมากมาย พวกนี้เป็นเงินคิวอีที่อัดเข้าไปหรือเปล่า”

“นายจ๋อช่างสังเกตทีเดียว” ลุงงแมวน้ำชม “เงินอัดฉีดคิวอีนั้นเฟดอัดฉีดเข้าไปในระบบเศรษฐกิจผ่านระบบธนาคาร ไม่ได้จ่ายเข้าไปในมือประชาชนโดยตรง เงินทุนสำรองส่วนเกินนี้เป็นเงินที่เฟดอัดฉีดด้วยการซื้อตราสารต่างๆจากธนาคารนั่นแหละ แล้วธนาคารก็เอาเงินที่ได้จากการขายตราสารให้เฟด เอามาฝากที่เฟด”

“อ้าว ถ้ายังงั้นไม่ใช่กระเป๋าซ้ายจ่ายกระเป๋าขวา อัฐยายซื้อขนมยายหรือลุง” ยีราฟถามบ้าง

“มันยิ่งกว่านั้นอีก นี่เป็นกระเป๋าซ้ายขวาที่ก้นกระเป๋าเชื่อมถึงกันอีกด้วย” ลุงแมวน้ำพูด

“แล้วลุงเบนทำยังงั้นไปทำไมละฮะ เงินตัวเองย้อนกลับมาฝากที่ตัวเอง แล้วยังไปให้ดอกเบี้ยเขาอีก ประหลาดจัง” กระต่ายน้อยยิ่งสงสัย “ผมงง”

“ก็นี่แหละ นักเศรษฐศาสตร์ยังงงเลย เพราะที่เราพูดกันว่าคิวอีคือการพิมพ์เงินเพิ่มนั้น นักเศรษฐศาสตร์เองยังเถียงกันไม่ลงตัวเลยว่าตกลงมันคือการพิมพ์เงินเพิ่มจริงหรือเปล่า เพราะว่าเงินอัดฉีดนั้นในความเป็นจริงแล้ววนเวียนอยู่ภายในตึกเฟดที่ลุงเบนทำงานอยู่เท่านั้นเอง ก็เอาเงินไปซื้อตราสารจากธนาคาร แล้วธนาคารก็เอาเงินนั้นมาฝากที่เฟดในรูปทุนสำรอง มันก็ยังอยู่ในตึกเฟดจริงไหมล่ะ

“ที่จริงแล้วเงินในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นมาไม่เท่าไร เราจึงเห็นได้ว่าอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐอเมริกาไม่ได้สูงนัก อัตราเงินเฟ้อเป็นตัวบ่งชี้ที่ดีเนื่องจากหากมีเงินไหลเข้าในระบบเศรษฐกิจมาก เงินจะเฟ้อมโหฬาร แต่นี่เงินเฟ้อน้อยมาก เพราะเงินอัดฉีดส่วนใหญ่ไม่ได้ไหลออกมาจากตึกที่ทำการเฟดเลย” ลุงแมวน้ำอธิบาย

“ยิ่งไม่เข้าใจ” ลิงบ่นบ้าง



ทฤษฎีนอกกระแส ทุนสำรองส่วนเกินไหลเข้าตลาด


“เอาะเถอน่า นี่เรากำลังประเมินกันว่าหลังจากที่ QE3 ยุติ ตลาดหุ้นจะเป็นอย่างไรโดยทฤษฎีนอกกระแส เราไม่ได้มาวิเคราะห์นโยบายของเฟด รู้ข้อเท็จจริงไว้เท่านี้ก่อนละกันว่าลุงเบนทำแบบนี้” ลุงแมวน้ำตัดบทเอาดื้อๆ จากนั้นพูดต่อ “เอาละ ทีนี้ก็มาถึงทฤษฎีนอกกระแสที่ลุงว่า คือมีนักเศรษฐศาสตร์บางคนวิเคราะห์ว่า เมื่อใดที่เลิกคิวอี และเศรษฐกิจฟื้นตัว และมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเฟด เงินทุนสำรองส่วนเกินก้อนมหึมานี้จะทะลักออกมา และไหลเข้าไปในระบบเศรษฐกิจ”

“ทำไมถึงต้องไหลออกมาละฮะลุง นอนกินดอกเบี้ยก็ดีแล้ว” กระต่ายน้อยถาม

ลุงแมวน้ำอธิบายว่า

“ก็ในเมื่อเศรษฐกิจฟื้นจริง กิจกรรมทางเศรษฐกิจจะเพิ่มมากขึ้น สภาพคล่องก็จะตึงตัวมากขึ้น การกู้ยืมจะเพิ่มมากขึ้น ถึงตอนนั้นอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมในตลาดการเงินจะเพิ่มขึ้นเองโดยธรรมชาติ ดูธนาคารพาณิชย์ของไทยเวลาตามล่าหาเงินฝากสิ แข่งกันให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝาก เอง โดยที่ ธปท ไม่ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเลย ดังนั้นอัตราดอกเบี้ยในท้องตลาดยามเศรษฐกิจดีจะค่อยๆปรับตัวขึ้นโดยธรรมชาติอยู่แล้ว

“เงินของธนาคารที่กองอยู่เป็นทุนสำรองส่วนเกินก็เช่นกัน ยามเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นก็จะนอนกินดอกเบี้ยจากลุงเบนและป้าเจนอยู่อย่างนั้น แต่ยามที่เศรษฐกิจฟื้นตัว อัตราดอกเบี้ยในตลาดจะค่อยๆขยับขึ้นเอง ถึงตอนนั้นธนาคารย่อมต้องถอนเงินก้อนนี้จากเฟดมาปล่อยกู้ เพราะให้ผลตอบแทนดีกว่า IOER ที่อัตราหนึ่งสลึงเป็นแน่

“ดังนั้น นักเศรษฐศาสตร์บางคนคาดการณ์เอาไว้ เป็นทฤษฎีนอกกระแส ลุงเรียกว่าเป็นทุนสำรองส่วนเกินไหลออก (excess reserves drain) ก็แล้วกัน คือเมื่อถึงเวลาหนึ่ง เงินทุนสำรองส่วนเกินจะไหลเข้ามาในระบบเศรษฐกิจจริง ซึ่งถ้ามากมายและควบคุมไม่ได้ มันจะกลายเป็นระเบิดเวลาที่ระเบิดระบบเศรษฐกิจให้เป็นฟองสบู่แตกอีกครั้งหนึ่ง ดังนั้นบางคนก็เรียกว่ามันเป็นระเบิดเวลาทุนสำรองส่วนเกิน (excess reserves time bomb)”

“แล้วทฤษฎีนี้มีโอกาสเกิดได้มากน้อยแค่ไหนจ๊ะลุง” ยีราฟสาวถาม

“เกรงว่ามันจะเกิดขึ้นไปแล้วน่ะสิ” ลุงแมวน้ำตอบ

“เอ๊ะ ยังไงกันลุง” ลิงถามบ้าง

ลุงแมวน้ำหยิบกราฟออกมาอีกแผ่นหนึ่ง


ตั้งแต่ต้นปี 2014 เป็นต้นมา ทุนสำรองส่วนเกินเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ และในเดือนเมษายนเป็นต้นมา ทุนสำรองส่วนเกินเริ่มลดลง ขณะเดียวกันปริมาณการปล่อยสินเชื่อของธนาคารเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แสดงว่าเงินทุนสำรองส่วนเกินน่าจะเริ่มไหลเข้ามาในภาคเศรษฐกิจจริงแล้ว



“เอ้า ลองดูภาพนี้กัน” ลุงแมวน้ำพูด “ในภาพนี้ เส้นสีแดงคือปริมาณทุนสำรองส่วนเกินที่อยู่กับเฟด ส่วนเส้นสีเขียวคือปริมาณสินเชื่อที่ธนาคารปล่อยกู้

“จะเห็นว่าในปี 2013 เส้นสีแดงหรือทุนสำรองส่วนเกินเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ดูลูกศรแสดงความชันของกราฟทุนสำรองในปี 2013 พอมาในปี 2014 ทุนสำรองส่วนเกินเพิ่มขึ้นแต่ว่าในอัตราที่ช้าลง จะเห็นว่าความชันของเส้นกราฟในปี 2014 ไม่ชันเท่าเดิม นั่นหมายความว่าในปี 2014 เป็นต้นมา ทุนสำรองส่วนเกินเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ ซึ่งสอดคล้องกับการที่ป้าเจนเริ่มลดวงเงิน QE3 แต่พอเดือนเมษายนเป็นต้นมา ทุนสำรองส่วนเกินกลับลดต่ำลง (เส้นกราฟกลับทิศ) แสดงว่าเริ่มมีเงินทุนสำรองส่วนเกินไหลออกจากเฟด

“แต่ที่นี้มาดูเส้นสีเขียว เส้นนี้แสดงปริมาณการปล่อยสินเชื่อของธนาคาร จะเห็นวั้งแต่ต้นปี 2014 เป็นต้นมา ธนาคารปล่อยสินเชื่อได้มากขึ้นเยอะเลย เพราะเส้นกราฟของปี 2014 ชันกว่าของปี 2013

“นี่คือเหตุผลหนึ่งที่แสดงว่าเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวจริงจัง ความต้องการสินเชื่อมีมากขึ้น ดังนั้นทุนสำรองส่วนเกินจึงไม่ง้อดอกเบี้ยหนึ่งสลึงของป้าเจน ไหลออกมาหากินในระบบเศรษฐกิจจริงดีกว่า และเริ่มมีทุนสำรองไหลออกมาบ้างแล้ว”


Tuesday, August 26, 2014

26/08/2014 เฟดลดคิวอี เตรียมขึ้นอัตราดอกเบี้ย ทำไมตลาดหุ้นจึงขึ้น (1)






ค่ำวันหนึ่ง หลังจากการแสดงละครสัตว์รอบค่ำจบลง ยีราฟสาวคุยกับลุงแมวน้ำขณะที่อยู่ที่หลังเวที

“ลุงแมวน้ำจ๊ะ ค่ำนี้ง่วงหรือยัง” ยีราฟถาม

“ยังไม่ง่วง ทำไมแม่ยีราฟถามแบบนี้ล่ะ” ลุงแมวน้ำสงสัย

“ก็ได้ยินว่าลุงแมวน้ำนอนวันละ 22 ชั่วโมง คริ คริ” ยีราฟแซวพลางอ้าปากหัวเราะ จนน้ำลายเกือบหยดโดนลุงแมวน้ำ

“คืออากาศน่านอนน่ะ ลุงชอบพักผ่อนเสียด้วย แต่ถ้าแม่ยีราฟมีอะไรที่อยากจะคุยลุงก็ยินดี ยังไม่ง่วงหรอก” ลุงแมวน้ำตอบ

“อยากจะคุยกับลุงเรื่องลงทุนน่ะ ฉันอยากซื้อหุ้นเพิ่ม แต่นายจ๋อห้ามเอาไว้ เลยคิดว่าจะปรึกษาลุงแมวน้ำ” ยีราฟพูด

“ถ้าอย่างนั้นไปคุยกันที่โขดหินของลุงดีกว่า ลมพัดเย็นสบาย บอกให้นายจ๋อไปนั่งคุยกันด้วยสิ” ลุงแมวน้ำพูด

จากนั้นลุงแมวน้ำก็เดินกระดึบๆกลับไปยังโขดหินที่อยู่ไม่ไกลจากโรงละครสัตว์นั้นเอง เพียงครู่เดียว ยีราฟสาวก็มาพร้อมกับลิงและกระต่าย




เมื่อลด QE 3 ตลาดหุ้นเกิดใหม่กลับขึ้นแรง



“กระต่ายน้อยมากับเขาด้วย นี่หนีออกมาจากหมวกหรือ” ลุงแมวน้ำทักทาย

“ไม่ได้หนีฮะลุงแมวน้ำ ผมกลับดึกได้ ผมโตแล้วนะ” กระต่ายน้อยพูด

“พูดว่าไม่ได้หนี แต่เห็นนักมายากลวิ่งไล่จับนายลงหมวกอยู่บ่อยๆ” ลิงแซว ทำให้พวกเราหัวเราะกันครื้นเครง

“เอ้า แม่ยีราฟ มีอะไรก็ว่ามา” ลุงแมวน้ำวกเข้าเรื่อง

“ก็ฉันอยากซื้อหุ้นเพิ่มน่ะ เพราะเห็นว่าตลาดหุ้นขึ้นเอา ขึ้นเอา แต่นายจ๋อห้ามไว้” ยีราฟพูด

“ฉันหวังดีนะเนี่ย” ลิงจ๋อพูด

“โอ๊ย หวังดีอะไร คราวก่อนก็ทำฉันติดหุ้น มาคราวนี้ก็ทำฉันตกรถอีก” ยีราฟสาวใช้ศัพท์แสงในวงการหุ้นเสียด้วย

“แล้วนายจ๋อห้ามแม่ยีราฟด้วยเหตุผลอะไรล่ะ” ลุงแมวน้ำถาม

“ถามได้ ไม่อยากเชื่อว่าลุงแมวน้ำไม่ได้ติดตามข่าวสาร” นายจ๋อพูด “ก็ใครๆเขาก็เตือนกันว่าเมื่อเฟดลดคิวอี 3 จนถึงปิดโครงการ หลังจากนั้นก็คงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเฟด ให้ระวังตลาดหุ้นร่วงถล่มทลายเพราะแรงขาย เพราะเงินจะไหลออกจากตลาดหุ้นเพราะการขึ้นอัตราดอกเบี้ย ผมน่ะชิงขายหุ้นออกไปแล้ว รอบนี้ถึงอย่างไรก็ไม่ติดดอย”

“ผมก็ได้ยินเหมือนกันฮะ” กระต่ายน้อยพูดเสียงใส

“ใช่จะลุง ฉันดูทีวี ฟังวิเคราะห์ข่าวเศรษฐกิจ ก็ได้ยินแบบนี้เหมือนกัน ให้ระวังเงินไหลออกจากตลาดหุ้นเอเชียกลับไปอเมริกา” ยีราฟพูด “แต่ฉันก็เห็นว่าตลาดหุ้นไทยยังขึ้นอยู่ก็เลยอยากซื้อหุ้น”

“เราไม่รู้ว่าเฟดจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยเมื่อไร เดี๋ยวแม่ยีราฟได้ไปอยู่บนยอดดอยหรอก” ลิงเตือนอีก “ฉันอุตส่าห์เตือนด้วยความหวังดี”

“ลุงก็มีเรื่องที่สงสัยอยากจะถามนายจ๋อกับแม่ยีราฟเหมือนกัน” ลุงแมวน้ำพูด

“ว่ามาเลยลุง ผมยินดีตอบให้ลุงหายข้องใจ” ลิงจ๋อพูดอย่างวางมาด จนกระต่ายน้อยอดหัวเราะไม่ได้

“ที่ว่าเฟดจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยเมื่อไรนั้น แม้เราจะไม่รู้ว่าวันที่เท่าไรแน่ แต่ที่จริงก็พอจะรู้จังหวะเวลาคร่าวๆกันอยู่ไม่ใช่หรือ ว่าน่าจะเป็นปีหน้า แม้บางคนก็ว่าต้นปี บางคนก็ว่ากลางปี บางคนก็ว่าอาจเป็นปลายปีก็ตาม แต่ส่วนใหญ่ก็เล็งๆเอาไว้ว่าถึงอย่างไรก็คงเป็นปีหน้า 2015”

“มันก็ใช่ครับ” ลิงตอบ

“ขนาดนายจ๋อ แม่ยีราฟ แม้แต่กระต่ายน้อยก็ยังรู้ข่าวนี้ และนายจ๋อยังระวังตัวแจ ไม่กล้าซื้อหุ้น ที่มีอยู่ก็ขายออกไป แล้วคนอื่นเขาจะไม่รู้จักระวังตัวเหมือนกันหรือ แต่ทำไมตลาดหุ้นยังขึ้นได้” ลุงแมวน้ำถาม

“ก็ตลาดหุ้นไทยมีเหตุการณ์พิเศษมั้ง การเมืองวุ่นวายอยู่ตั้งนาน พอเหตุการณ์คลี่คลายตลาดหุ้นเลยขึ้น แต่อีกหน่อยก็น่าจะลง” ลิงให้ความเห็น

“ถ้ายังงั้นเราลองมาดูภาพนี้กัน” ลุงแมวน้ำพูดพลางหยิบกราฟหลายแผ่นออกมาจากหูกระต่าย “ลองดูแผ่นแรกนี้ก่อน”


เปรียบเทียบตลาดหุ้นย่านเอเชีย 4 ตลาด คือ ฟิลิปปินส์ (PCOMP) อินเดีย (SENSEX) อินโดนีเซีย (JCI) และไต้หวัน (TWSE) ในช่วงตื่นข่าวลือลด QE3 (ช่วงพฤษภาคมถึงสิ้นปี 2013) และช่วงที่ลด QE3 จริงๆ (ช่วงมกราคม 2014 เป็นต้นมา)



ลิง ยีราฟ และกระต่ายน้อยชะโงกดูกราฟ ลุงแมวน้ำก็อธิบายต่อ

“ภาพนี้เป็นกราฟของตลาดหุ้น 4 ตลาดในเอเชีย นั่นคือ ตลาดหุ้นฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย อินเดีย และไต้หวัน” ลุงแมวน้ำพูด “อยากให้สังเกตที่ลุงระบายสีเอาไว้ 2 โซน โซนแรกระบายด้วยสีน้ำตาลอ่อน เป็นเวลาในช่วงพฤษภาคม 2013 จนถึงสิ้นปี 2013 และโซนที่สองเป็นสีฟ้าอ่อน เป็นช่วงเวลาตั้งแต่ต้นปี 2014 จนถึงสิ้นเดือนมิถุนายน 2014”

“แล้วไงฮะลุง” กระต่ายน้อยรีบถาม

“จำได้ไหมว่าปี 2013 หรือปีที่แล้ว ตั้งแต่ต้นปีมา ก็มีข่าวกระเส็นกระสายออกมาว่าเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาค่อยๆดีขึ้น ดังนั้นการอัดฉีดเงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจด้วยมาตรการ QE3 คงใกล้ได้เวลาที่จะต้องเลิกแล้ว แต่ว่าเมื่อตอนต้นปี 2013 ลุงเบนยังไม่ได้แสดงอาการอย่างไรออกมา ดังนั้นเรื่องการเลิกคิวอี 3 จึงเป็นเพียงเรื่องที่นักเศรษฐศาสตร์และนักลงทุนคาดการณ์กันเอาเอง บางคนก็คาดว่าจะเลิกปี 2015 บ้าง 2016 บ้าง คาดกันไปต่างๆนานา ใครจะถามลุงเบน ลุงเบนก็แทงกั๊กอยู่เสมอ ไม่มีความชัดเจน

“จากนั้นพอมาถึงราวเดือนพฤษภาคม 2013 ก็เริ่มมีข่าวลือว่าเฟดอาจจะเลิกคิวอี 3 เร็วกว่าที่คาดเนื่องจากตัวเลขทางเศรษฐกิจดีขึ้น แม้ลุงเบนจะยังแทงกั๊กอยู่ แต่ดูเหมือนว่าตลาดจะเริ่มหวั่นไหว ดังนั้น ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2013 เป็นต้นมา ตลาดหุ้นทั่วโลกก็ร่วงระนาว โดยเฉพาะทางเอเชีย เนื่องจากคาดการณ์กันว่าหากมีการเลิกคิวอี 3 เงินดอลลาร์ สรอ ที่หลั่งไหลมาเก็งกำไรในตลาดหุ้นเอเชียจะถูกถอนกลับไป ดังนั้นนักลงทุนต่างก็ชิงขายหุ้นในตลาดเอเชีย ขอปลอดภัยเอาไว้ก่อนว่างั้นเถอะ ดังนั้นตลาดหุ้นเอเชียจึงร่วงแรง และถ้าดูจากกราฟนี้จะเห็นว่าตลาดหุ้นฟิลิปปินส์ (PCOMP) และอินโดนีเซีย (JCI) ร่วงยาวตั้งแต่พฤษภาคมยันปลายปี ส่วนตลาดหุ้นไต้หวัน (TWSE) และอินเดีย (SENSEX) ร่วงจนถึงประมาณเดือนสิงหาคมจากนั้นก็ค่อยๆกลับเป็นขาขึ้น

“แต่สังเกตดูว่าเมื่อเฟดเริ่มลดวงเงินคิวอี 3 ลงจริงๆในเดือนมกราคม 2014 เป็นต้นมา ปรากฏว่าทั้งสี่ตลาดในกราฟกลับเป็นขาขึ้น” ลุงแมวน้ำพูด

“เอ้อ จริงด้วยสิ” ลิงจ๋อยกหางขึ้นเกาหัวอย่างงงๆ “ผมไม่ทันสังเกตแบบนี้”

ลุงแมวน้ำหยิบกราฟอีกแผ่นหนึ่งออกมากาง


ตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกาและตลาดหุ้นไทยในช่วงก่อนลด QE3 และในช่วงที่กำลังลด QE3 จะเห็นว่าตลาดหุ้น สรอ อยู่ในขาขึ้นต่อเนื่องยาวนาน ไม่มีการปรับตัวลงครั้งใหญ่เลย ส่วนตลาดหุ้นไทยแม้มีปัจจัยการเมืองภายในประเทศ แต่แนวโน้มใหญ่ก็ยังสอดคล้องกับทิศทางของตลาดเพื่อนบ้าน


“ภาพนี้เป็นกราฟของตลาดหุ้นอเมริกาและตลาดหุ้นไทย” ลุงแมวน้ำพูด “ ดูตลาดหุ้นอเมริกาสิ ลงนิด ลงหน่อย แล้วก็ขึ้นต่อ ไม่มีการลงแรงๆเลย

“และพอมาดูตลาดหุ้นไทย น่าแปลกที่ว่าแม้ว่าไทยจะมีความไม่สงบทางการเมือง แต่การลงของตลาดคล้ายคลึงกับตลาดหุ้นอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ หรือเพื่อนร่วมกลุ่มทิป (TIP ไทย อินโดนีเซีย ฟิลลิปปินส์) นั่นคือ พฤษภาคม 2013 ลงตลอดจนถึงปลายปี จากนั้นพอต้นปี 2014 เมื่อเฟดเริ่มลดคิวอี 3 ตลาดหุ้นไทยก็กลับเป็นขาขึ้น”

“จริงด้วยฮะ” กระต่ายน้อยพูดขึ้นบ้าง “น่าแปลกมาก”

“งงแฮะ กลุ่ม TIP คล้ายกันจริงๆด้วย ขนาดว่าไทยมีปัจจัยภายในที่พิเศษออกไปนะเนี่ย” ลิงจ๋อเอาหางเกาหัวแกรกกราก

“กราฟสองแผ่นนี้รวม 6 ตลาด กลับเป็นขาขึ้นหมดเมื่อเฟดลดคิวอี 3 ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้กลัวกันแทบแย่ว่าเมื่อใดที่ลดคิวอี 3 ตลาดจะต้องร่วง โดยเฉพาะตลาดเอเชีย แปลกไหมล่ะ” ลุงแมวน้ำตั้งคำถาม

“นั่นสิ ฉันก็เห็นอยู่เหมือนกันว่าตลาดหุ้นขึ้นต่อเนื่อง แล้วลุงแมวน้ำจะอธิบายว่ายังไงล่ะ” ยีราฟถาม




ทฤษฎี The Great Rotation เมื่อเงินทุนย้าย ตลาดเกิดใหม่วาย


“ในขั้นตอนการเลิก QE3 นักเศรษฐศาสตร์และนักวิเคราะห์เศรษฐกิจส่วนใหญ่คาดการณ์ตลาดหุ้นของสหรัฐอเมริกาด้วยทฤษฎีกระแสหลักอยู่ 2 ทฤษฎี นั่นคือ

ทฤษฎีแรก การย้ายเงินจากตลาดพันธบัตรมาเข้าตลาดหุ้น ที่เรียกว่า The Great Rotation ทฤษฎีนี้มองว่าการอัดฉีด QE3 คือการที่เฟดเอาเงินอัดฉีดเข้าระบบเศรษฐกิจด้วยการซื้อพันธบัตร พูดง่ายๆก็คือเฟดตั้งโต๊ะรับซื้อพันธบัตร ตลาดพันธบัตรจึงคึกคักเป็นขาขึ้น ดังนั้นเมื่อเลิก QE3 พันธบัตรก็ควรจะราคาร่วง เพราะเฟดไม่ได้ตั้งโต๊ะซื้อเป็นล่ำเป็นสันอีกต่อไป ใครที่มีพันธบัตรต่างก็ต้องรีบขายออกมาก่อนที่ราคาจะร่วงลงไปมาก และเงินส่วนหนึ่งจะเข้ามาในตลาดหุ้น ทำให้ตลาดหุ้นขึ้น นี่หมายถึงตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกานะ

ทฤษฎีที่ 2 การย้ายเงินจากตลาดหุ้นเกิดใหม่กลับไปยังตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกา กล่าวคือเมื่อเลิก QE3 สภาพคล่องในตลาดอเมริกาจะลดลงเพราะไม่มีการพิมพ์เงินเพิ่มเพื่ออัดฉีดเข้ามาในระบบเศรษฐกิจอีก ดังนั้นเงินที่ออกมาเก็งกำไรในตลาดเกิดใหม่น่าจะไหลกลับ ทำให้ตลาดหุ้นเกิดใหม่ต่างๆร่วง

“จากทั้งสองทฤษฎีนี้เอามาประกอบกัน ทำให้คาดการณ์กันว่า เมื่อเลิก QE3 ตลาดพันธบัตรของอเมริกาจะร่วง ตลาดหุ้นเกิดใหม่ก็จะร่วง ส่วนตลาดหุ้นอเมริกาจะขึ้นเพราะมีเงินลงทุนไหลเข้ามา ซึ่งนักลงทุนคงไม่รอให้เลิกคิวอี 3 แล้วค่อยโยกย้ายเงินหรอก นักลงทุนส่วนใหญ่ก็ชิงลงมือก่อนกันทั้งนั้น”

“แต่กลับกลายเป็นว่าเมื่อลดคิวอีจริงๆ ทั้งตลาดหุ้นอเมริกาและเอเชียที่เป็นตลาดหุ้นเกิดใหม่กลับขึ้น” ลิงพูดเสริม

“ก็นั่นน่ะสิ” ลุงแมวน้ำตอบ

“แล้วตลาดพันธบัตรล่ะลุง ร่วงจริงดังที่คาดการณ์กันหรือเปล่า” ยีราฟถาม

ลุงแมวน้ำหยิบกระดาษอีกแผ่นหนึ่งออกมาจากหูกระต่าย



อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี (10 year government bond yield) ของสหรัฐอเมริกาและประเทศอื่นๆ จะเห็นว่าขณะที่อเมริกาลดเงินอัดฉีดคิวอี 3 (QE 3 tapering) โดยลดการซื้อตราสารหนี้ ปรากฏว่ากลับมีเงินไหลเข้าไปในตลาดพันธบัตรทั้งของสหรัฐอเมริกาและตลาดอื่นๆ (อัตราผลตอบแทนพันธบัตรลดลงแสดงว่ามีแรงซื้อ แปลว่ามีเงินไหลเข้าตลาดพันธบัตร) 


อัตราผลตอบแทนพันธบัตรัฐรัฐบาลอเมริกัน อายุ 10 ปี และ 30 ปี และอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบ้าน 15 ปี (15 yr US fixed mortgage rate) ช่วงที่มีข่าวลือลดคิวอี 3 (โซนสีน้ำตาลอ่อนในภาพ) มีแรงขายในตลาดพันธบัตร ทำให้อัตราผลตอบแทน (bond yield) และอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านปรับตัวเพิ่ม แต่ช่วงที่มีการลดคิวอี 3 จริงๆ (โซนสีฟ้า) กลับมีแรงซื้อเข้ามาในตลาดพันธบัตร ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรลดลง และอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านก็ลดลงด้วย



ภาพแสดงกระแสเงินทุนไหลเข้าและออกจากตลาดพันธบัตรและตลาดหุ้นของสหรัฐอเมริกา กราฟแท่งชี้ขึ้นด้านบนคือเงินทุนสุทธิเข้าไปในตลาดหุ้นมากกว่าตลาดพันธบัตร ส่วนกราฟแท่งที่หัวทิ่มลง หรือติดลบ แสดงว่าเงินทุนสุทธิเข้าไปในตลาดพันธบัตรมากกว่าตลาดหุ้น จากกราฟนี้จะเห็นว่าช่วง the great rotation (โซนสีฟ้า) คือเงินทุนออกจาตลาดพันธบัตรเข้าไปในตลาดหุ้นเกิดขึ้นเพียงในช่วงที่มีข่าวลือลดคิวอีเท่านั้น พอเริ่มลดคิวอี 3 จริง เงินทุนกลับไหลเข้าไปในตลาดพันธบัตรอีก


“ก็ผิดคาดเช่นกัน ลองดูภาพนี้ ภาพนี้เป็นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีของประเทศต่างๆหลายประเทศ ปรากฏว่าตั้งแต่ลดคิวอี 3 ในตอนต้นปี 2014 เป็นต้นมา อัตราผลตอบแทน (bond yield) ของพันธบัตรกลับลดลง ซึ่งแปลว่ามีแรงซื้อเข้ามาในตลาดพันธบัตร ไม่ใช่เพียงแต่ในตลาดพันธบัตรของสหรัฐอเมริกาเท่านั้น แต่ในตลาดพันธบัตรประเทศอื่นๆก็มีแรงซื้อเข้ามาด้วยด้วย มีเพียงฟิลิปปินส์เท่านั้นที่มีแรงขายออกมา (อัตราผลตอบแทนเพิ่มขึ้น)” ลุงแมวน้ำตอบ

“แล้วจะอธิบายปรากฏการณ์นี้ยังไงล่ะลุง แปลว่าที่คาดการณ์เอาไว้กลายเป็นตรงกันข้าม” ลิงพูด “ที่เป็นไปตามคาดก็คือเรื่องตลาดหุ้นอเมริกาขึ้นเพียงเรื่องเดียว ส่วนเรื่องตลาดพันธบัตรอเมริกาลง และตลาดหุ้นเกิดใหม่ลงก็ไม่ได้เป็นตามคาด จากนี้ตลาดหุ้นไทยจะเป็นยังไงต่อไปครับ

“ด้วยหลักฐานข้อเท็จจริง ผลก็เป็นตรงกันข้ามกับทฤษฎีกระแสหลักที่มักพูดกัน” ลุงแมวน้ำสรุป “ส่วนคำอธิบายนั้น คงใช้ทฤษฎีกระแสหลักอธิบายไม่ได้ แต่ที่จริงยังมีทฤษฎีกระแสรองหรือว่าทฤษฎีนอกกระแสอยู่ทฤษฎีหนึ่ง ที่ไม่ค่อยมีคนพูดถึงกัน แต่กลับสามารถอธิบายได้อย่างสอดคล้อง ซึ่งการคาดการณ์ของทฤษฎีนอกกระแสนี้บอกว่า เมื่อใดที่เลิกคิวอี 3 เงินจะทะลักออกมาจากอเมริกามากมายยิ่งกว่าเดิมเสียอีก ทำให้ตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรของสหรัฐอเมริกาขึ้นต่อ รวมทั้งเงินยังน่าจะไหลออกไปเก็งกำไรในตลาดเกิดใหม่ทำให้ตลาดหุ้นเกิดใหม่ขึ้นต่อไปอีกด้วย” ลุงแมวน้ำพูด

“เหรอ ทฤษฎีอะไรน่ะลุง” ลิงรีบถาม

“ลุงแมวน้ำง่วงเสียแล้ว ขอพักผ่อนก่อนนะ วันหลังค่อยคุยต่อก็แล้วกัน” ลุงแมวน้ำพูด

“โอ๊ย ทำไมมาหยุดเล่าเอาตอนนี้” ลิงโวย

Wednesday, August 20, 2014

20/08/2014 กับดักนักลงทุน รายได้ฟินเว่อ พีอีต่ำสุดใจ





เมื่อค่ำวาน หลังจากที่แสดงละครสัตว์รอบค่ำเสร็จ ลิงจ๋อก็ห้อยโหนกิ่งไม้ฝ่าความมืดมายังโขดหินของลุงแมวน้ำ อากาศยามกลางคืนหลังฝนตกชุ่มฉ่ำ เย็นสบาย น่านอนยิ่งนัก ลุงแมวน้ำอ่านหนังสือแล้วก็เผลอหลับไป มารู้สึกตัวอีกทีเมื่อรู้สึกว่ามีอะไรมาแยงที่จมูกจนจั๊กกระจี้

“ลุง ลุง ตื่นเถอะ นอนขี้เซาแบบนี้ใครมาอุ้มไปขายยังไม่รู้ตัวเลย” เสียงเรียกลุงแมวน้ำ

ลุงแมวน้ำลืมตา พบว่าเป็นลิงจ๋อนั่นเอง นายจ๋อกำลังเอาหางแยงจมูกลุงแมวน้ำอยู่

“นายจ๋อมาหาลุงเสียดึกดื่น มีอะไรหรือ” ลุงแมวน้ำถาม “ฮัดเช้ย”

“อยากจะถามลุงเรื่องหุ้นหน่อยน่ะครับ” ลิงพูด “สงสัยเรื่องที่ลุงพูดเมื่อวันก่อน”

“สงสัยว่ายังไงล่ะ” ลุงแมวน้ำถาม พร้อมกับอ้าปากหาวและกลิ้งไปมาบนโขดหิน “ลุงยังง่วงอยู่เลย”

“ผมเห็นลุงง่วงทั้งวันเลย วันหนึ่งนอน  20 ชั่วโมงได้มั้ง ยังนอนไม่พออีกหรือไง” ลิงพูด

“22 ชั่วโมงต่างหาก ก็อากาศมันน่านอนนี่นา” ลุงแมวน้ำพูดแก้ แล้ววกมาเข้าเรื่อง “วันก่อนลุงว่ายังไง นายจ๋อจึงได้สงสัย”

“ก็ที่ลุงบอกว่าให้หาหุ้นดีๆ ค่าพีอี (p/e ratio) ยังไม่สูงน่ะสิ” ลิงพูด “ไหนลุงบอกว่าเป็นสายเทคนิคไง สายเทคนิคไม่สนใจปัจจัยพื้นฐานไม่ใช่หรือครับ”

“มันทั้งใช่และไม่ใช่” ลุงแมวน้ำอธิบาย “คือสำนักการวิเคราะห์ทางเทคนิคนี้ก็มีความหลากหลาย มีสายย่อยๆอยู่ข้างในที่มีความแตกต่างกันเล็กๆน้อยๆอีก เพราะแต่ละคนย่อมพัฒนาเทคนิคและวิธีการของตนเองได้ตามแต่ประสบการณ์ของแต่ละคน พูดง่ายๆก็คือความรู้ย่อมเจริญงอกงามได้”

“แล้วยังไง” ลิงงง “ผมยังไม่เข้าใจเลย”

“ต้องอธิบายกันยาวหน่อย” ลุงแมวน้ำพูด “ลุงหมายความว่า เราไม่ควรตีกรอบจำกัดการต่อยอดความรู้ของเราเอง สำหรับลุงแล้ว มีเครื่องมืออะไรที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ ลุงก็นำมาใช้

“ที่จริงแล้วการวิเคราะห์ทางเทคนิคก็ย่อมอิงปัจจัยพื้นฐาน และการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานก็ย่อมอิงความรู้ทางเทคนิค น้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า เราจะไปจำกัดตนเองไปทำไม หากนำมาบูรณาการให้เหมาะสมได้ก็มีประโยชน์ยิ่งกว่าการใช้แนวทางเดียวอย่างใดอย่างหนึ่งเสียอีก” ลุงแมวน้ำพูด

“แน่ะ ใช้ศัพท์ทันสมัยเสียด้วย บูรณาการ ฮิฮิ” ลิงหัวเราะ

“ลุงก็ต้องทันสมัยหน่อยสิ ไม่อยากเป็นแมวน้ำตกยุค” ลุงแมวน้ำหัวเราะบ้าง แล้วพูดต่อ “แต่ก็นั่นแหละ การบูรณาการนั้นมันเป็นขั้นที่ยากขึ้นไปอีก ดังนั้น เครื่องมือทางเทคนิคก็มีเยอะแยะ เครื่องมือทางปัจจัยพื้นฐานก็มีมากเช่นกัน ดังนั้นการที่จะเลือกเอาเครื่องมือทั้งสองสายมาใช้ร่วมกันนั้นเป็นขั้นพัฒนา ผู้ใช้ต้องมีพื้นฐานที่ดีมาก่อน ดังนั้นลุงจึงมักบอกเสมอว่า หากเพิ่งเริ่มต้นศึกษา จะเลือกศึกษาสำนักใดก็ศึกษาแนวทางเดียวไปก่อน เพื่อไม่ให้สับสนหรือว่าความรู้ตีกันเอง ต่อมาเมื่อมีประสบการณ์แล้ว ในขั้นต่อยอดก็ย่อมสามารถใช้เครื่องมือของทั้งสองสายร่วมกันตามความเหมาะสมได้ อย่างเช่น เรื่องที่ลุงบอกเมื่อวันก่อนว่าควรเลือกหุ้นดีๆ พีอีต่ำๆนั่นไง”

“ลุงแมวน้ำขยายความหน่อยสิ ว่าทำไมจึงบอกยังงั้น” ลิงจ๋อยังสงสัย

“ก็เพราะว่าตอนนี้เป็นคลื่น 5 ย่อยไง หากมองทางเทคนิค ลุงก็ว่าน่าจะปลายคลื่น 5 แล้วด้วยซ้ำ การเข้าลงทุนตอนนี้ถือว่าเสี่ยงสูง เนื่องจากคลื่น 5 พร้อมจะจบได้ทุกเมื่อ” ลุงแมวน้ำอธิบาย “แต่เมื่อลุงเอากราฟตลาดหุ้นอเมริกามาให้ดู ก็ดังที่นายจ๋อเห็นว่าตลาดหุ้นอเมริกาขึ้นต่อเนื่อง 2 ปีกว่า โดยยังไม่ยอมจบคลื่นเสียที ผลของคิวอีทำให้ตลาดหุ้นเบี่ยงเบนผิดเพี้ยนไป ดังนั้น ก็อาจเป็นไปได้ว่าตลาดหุ้นไทยยังค่อยๆขึ้นได้อีกนาน คือคลื่น 5 ต่อขยายไปได้อีกหลายเดือน และหากเป็นดังนั้น เราก็อาจเสียจังหวะการลงทุนไปช่วงใหญ่ เรื่องอนาคตแบบนี้ไม่มีใครรู้จริงหรอก ดังนั้นหากจะเข้าลงทุนต่อก็ต้องบริหารความเสี่ยง เลือกวิธีการที่ลดความเสี่ยงให้เหลือน้อยลง”

“คลื่น 5 ส่วนต่อขยาย ลุงพูดยังกะรถไฟฟ้า” ลิงจ๋อหัวเราะขำ “ทางสายเทคนิคที่ลุงแมวน้ำใช้อยู่ มีสัญญาณซื้อขายกำกับอยู่แล้ว หากผิดทางก็มีจุดตัดขาดทุนแน่นอน ลุงกำหนดจุดขายเอาไว้แล้วยังไม่ดีพออีกหรือครับ”

“การเลือกหุ้นที่มีพื้นฐานดีจะช่วยให้เรามั่นใจได้มากขึ้น และลดความเสี่ยงลงได้อีก” ลุงแมวน้ำตอบ

“เอ๊ะ ยังไง” ลิงยังไม่เข้าใจ

“สมมติว่านายจ๋อจะซื้อกล้วยสักหวีหนึ่ง นายจ๋อไม่ชอบกล้วยสุกงอม ดังนั้นนายจ๋อก็กำหนดเอาไว้ว่าเมื่อไรที่เปลือกล้วยเริ่มมีสีคล้ำ นายจ๋อต้องรีบกินให้หมด ไม่อย่างนั้นจะงอมและต้องทิ้งไป สีของเปลือกกล้วยคือจุดตัดขาดทุนของนายจ๋อ ลุงอุปมาแบบนี้พอนึกออกไหม” ลุงแมวน้ำอธิบาย

“พอพูดเรื่องกล้วยผมก็นึกออกเชียว” ลิงจ๋อแกว่งหาง “พอนึกออกแล้ว”

“ถ้าหากนายจ๋อซื้อกล้วยน้ำว้าเปลือกสีเหลืองจัด อายุการเก็บจะเหลือน้อย แล้วกล้วยก็จะงอม หากกินไม่ทันก็ต้องทิ้งไป แต่หากซื้อกล้วยเปลือกเขียวมา อายุการเก็บจะนานขึ้น นายจ๋อจะมีเวลาค่อยๆกิน ไม่ต้องทิ้งให้เสียของ ถูกไหม” ลุงแมวน้ำถามอีก

“ถูกต้องนะคร้าบ” ลิงตอบ

“นั่นแหละ การใช้ปัจจัยพื้นฐานเข้ามาช่วย เช่นค่า พีอี ก็เหมือนการที่เราได้กล้วยเขียวมานั่นเอง แม้จุดตัดขาดทุนคือกล้วยเริ่มสีคล้ำ แต่หากเราได้กล้วยเขียวมาก็ย่อมดีกว่าได้กล้วยเหลืองมา อุปมาอุปมัยอย่างนี้พอนึกออกหรือยัง ลุงอาจจะเปรียบเทียบได้ไม่ดีนัก แต่ความหมายก็คือยังงั้นนั่นแหละ” ลุงแมวน้ำพูด

“ครับ ผมพอเข้าใจแล้ว” ลิงจ๋อพูด พลางหยิบกระดาษออกมาแผ่นหนึ่งจากย่ามข้างๆตัว “หลังจากที่ลุงพูดเมื่อันก่อน ผมก็ลองไปเลือกหาหุ้นที่ค่าพีอีต่ำๆดู ได้หุ้นตัวนี้มา ปี 2013 รายได้เติบโตฟินเว่อ พีอีก็ต่ำเร้าใจ ตัวนี้ดีเลยใช่ไหมลุง”

ลุงแมวน้ำดูกราฟที่นายจ๋อยหยิบออกมา เห็นเป็นดังนี้


รายได้ของบานานาแลนด์ปี 2013 เติบโตแบบก้าวกระโดดเมื่อเทียบกับปี 2012 โดยปี 2012 และ 2013 มีรายได้ 6.7 ล้านบาท และ 23.9 ล้านบาท ตามลำดับ คิดเป็นอัตราเติบโตของรายได้ 256% และอัตราเติบโตของกำไรสุทธิต่อหุ้น (eps) 332% ตามลำดับ


หุ้นบานานาแลนด์มีค่าพีอี ณ สิ้นปี 2012 เป็น 45.88 เท่า ผลจากรายได้ที่เติบโตสูงในปี 2013 ทำให้พีอี ณ สิ้นปี 2013 เหลือเพียง 7.81 เท่า ซึ่งต่ำลงมาก

“หุ้นอะไรเนี่ย” ลุงแมวน้ำถาม

“หุ้นบานานาแลนด์ ทำกิจการสวนกล้วยครับ” ลิงตอบ “ลุงดูสิ รายได้ปี 2013 เทียบกับปี 2012 โตตั้ง 256% ค่าพีอีที่เดิมเป็นสี่สิบกว่าเท่า ก็ลดลงมาเหลือเพียง 7.8 เท่า ต่ำมากเลย ความหมายของลุงก็คือต้องเลือกหุ้นแบบนี้ใช่ไหม”

“รายได้โตฟินเว่อ ภาษาทันสมัยเสียด้วย” ลุงแมวน้ำหัวเราะ “นายจ๋อยกหุ้นนี้มาคุยกับลุง ดีมากทีเดียว นี่เป็นหุ้นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ”

“ผมก็ว่าดี” ลิงพูดอย่างภูมิใจ “เมื่อวานจึงลุยเข้าไปแล้ว เต็มพุงเลย”

“อ้าว ซื้อไปแล้วเหรอ” ลุงแมวน้ำอึ้งไป

“มีอะไรหรือลุง” ลิงเริ่มเสียงจ๋อย “อย่าบอกนะว่ามีปัญหา... ไหนว่าเป็นหุ้นที่น่าสนใจไง”

“ลุงบอกว่าเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจต่างหาก” ลุงแมวน้ำพูด “นี่แหละ ที่ลุงบอกว่าการเลือกใช้เครื่องมือหลายๆอย่างประกอบกัน ต้องรู้จักวิธีใช้และวิธีตีความด้วย ไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือทางเทคนิคผสมกับปัจจัยพื้นฐาน หรือแม้แต่การใช้เครื่องมือทางเทคนิคหลายๆอย่างร่วมกันก็ตาม หากไม่เข้าใจวิธีใช้งานและวิธีตีความก็ย่อมเป็นผลเสียได้

“เรื่องรายได้โต พีอีต่ำนั้นถือเป็นเรื่องดี แต่รายได้โต พีอีต่ำ ที่เป็นหลุมพรางสำหรับนักลงทุนก็มีอยู่เช่นกัน”

“อ้าว ไหงเป็นยังงั้น” ลิงจ๋อหน้าเสีย “นี่ลุงกำลังจะบอกว่าผมตกหลุมพรางแล้วชิมิ แต่ข้อมูลพวกนี้ผมเอามาจากเว็บไซต์ของตลาดหลักทรัพย์เชียวนะ”

“เอาล่ะ นายจ๋อ ใจเย็นๆ ฟังลุงอธิบายก่อน” ลุงแมวน้ำพูด “ ก่อนอื่นเรามาทวนกันก่อน ว่าค่าพีอี หรือ p/e ratio นั้น คำนวณมาจากอะไร มาจาก ราคาหุ้น หารด้วย กำไรสุทธิต่อหุ้น ถูกไหม”

“ครับ ลุง”

“กำไรสุทธิต่อหุ้นมาจากไหนล่ะ ก็คำนวณมาจากรายได้ ถูกไหม หากรายได้โต กำไรสุทธิก็ควรโตด้วย อันนี้พูดตามหลักทั่วๆไป” ลุงแมวน้ำพูดอีก

“ใช่แล้วลุง” ลิงตอบ

“ดังนั้น ถ้าราคาหุ้นนิ่งๆ ไม่ไปไหน แต่ว่ารายได้เติบโตดี กำไรสุทธิก็ย่อมสูงตาม เวลาเอามาคำนวณพีอี ก็ควรได้ค่าพีอีที่ต่ำลง ดูจูงใจให้ลงทุน ถูกไหม” ลุงแมวน้ำทวนอีก

“ก็ใช่อีกครับ” ลิงตอบ

“ลุงเอาข้อมูลของบริษัท PTT มาให้นายจ๋อดูเป็นตัวอย่าง นี่ลุงเอามาจากเว็บไซต์ตลาดหลักทรัพย์เช่นกัน นายจ๋อดูข้อมูลของบริษัท Banana Land จากที่นี่เช่นกัน ใช่ไหม” ลุงแมวน้ำพูดพลางพยิบเอากระดาษแผ่นหนึ่งออกมาจากหูกระต่าย แล้วชี้ให้ดูในกรอบไฮไลต์สีเหลืองกับสีฟ้า “นายจ๋อดูตัวเลขรายได้จากช่องนี้ และกำไรสุทธิต่อหุ้นจากช่องนี้ใช่ไหม ที่ว่าเติบโตฟินเว่อน่ะ”


ตัวอย่างผลประกอบการอย่างย่อที่แสดงไว้ในเว็บไซต์ของตลาดหลักทรัพย์ ไฮไลต์สีเหลืองคือรายได้รวมของกิจการ ส่วนไฮไลต์สีฟ้าคือกำไรสุทธิต่อหุ้น (eps) อนึ่ง รายได้รวมนั้นคำนวณจากรายได้ทุกอย่างของกิจการ


ตัวอย่างงบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จของกิจการที่แสดงไว้ในเว็บไซต์ของตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งมีรายละเอียดมากขึ้น แยกแยะรายได้ตามที่มาให้ดูด้วย ว่ารายได้จากการดำเนินธุรกิจหลักเป็นเท่าไร (ดูที่ยอดขายสุทธิ สีฟ้า) และรายได้พิเศษเป็นเท่าไร (ดูที่รายได้อื่น สีชมพู)


“ใช่ครับลุง ตรงนี้แหละ”

“เอาล่ะ ลุงจะบอกว่า นี่แหละ กับดักนักลงทุน” ลุงแมวน้ำพูด “ข้อมูลเหล่านี้คือรายได้รวม รายได้รวมหมายความรวมไปถึงรายได้จากการดำเนินธุรกิจหลัก และรายได้พิเศษต่างๆ หรือที่เรียกว่ารายได้อื่นๆ เอามารวมกัน กำไรสุทธิต่อหุ้น (eps) ก็คำนวณจากฐานของรายได้รวม ดังนั้นโดยหลักการแล้วหากรายได้รวมโต ค่า eps ก็ควรโตตามด้วย”

“แล้วยังไงครับ”

“ทีนี้ประเด็นอยู่ที่รายได้พิเศษหรือที่เรียกว่ารายได้อื่นๆนี่แหละ รายได้อื่นๆนี้คือรายได้ที่ไม่ใช่ธุรกิจหลัก มักเป็นรายได้ที่เกิดขึ้นแล้วจบไป ไม่ใช่รายได้ต่อเนื่อง มักเป็นการขายสินทรัพย์ของกิจการ ยกตัวอย่างเช่น การขายตึกหรือการขายที่ดินของกิจการ  กิจการบางรายมีที่ดินอยู่มาก เมื่อมีโอกาสก็ขายออกไปบ้าง รายได้จากการขายที่ดินก็ต้องนำมาคิดเป็นค่า eps ด้วย รายได้ในปีนั้นก็ดูโตอลังการดี แต่ก็เกิดขึ้นเฉพาะในปีนั้นเท่านั้น หากปีอื่นๆไม่ได้ขายสินทรัพย์อะไรอีก ปีต่อไปรายได้จะตกวูบเชียวล่ะ” ลุงแมวน้ำอธิบาย

“อูย” ลิงคราง “แล้วบานานาแลนด์ของผมล่ะ”

ลุงแมวน้ำหยิบกระดาษออกมาอีกแผ่นหนึ่ง



รายได้ของบานานาแลนด์เมื่อแยกแยะออกมา จะพบว่ารายได้ที่ดูเติบโตดีมากในปี 2013 นั้นเกิดจากรายได้อื่น (รายได้จากการขายที่ดิน) หากพิจารณารายได้ของธุรกิจหลัก (เส้นกราฟสีฟ้า) จะพบว่าธุรกิจหลักคือทำสวนกล้วยนั้นทรงตัว ไม่ได้เติบโต


“เอ้า ดูนี่ ลุงมีภาพที่คล้ายๆกราฟของนายจ๋อ แต่ละเอียดกว่า” ลุงแมวน้ำพูด “ที่นายจ๋อบอกว่ารายได้ฟินเว่อนั่นเกิดจากการขายที่ดินของกิจการบานานาแลนด์ กราฟนี้ดูเหมือนของนายจ๋อหมด ยกเว้นมีเส้นสีฟ้า เส้นนั้นคือกราฟของรายได้ที่แท้จริงจากธุรกิจซื้อขายกล้วยโดยไม่รวมรายได้จากการขายที่ดิน ซึ่งหากพิจารณาเส้นสีฟ้าจะเห็นว่ารายได้จากธุรกิจหลักคือการสวนกล้วยไม่ได้เติบโตเลย ปี 2012 รายได้ตกเมื่อเทียบกับปี 2011 จากนั้นปี 2013 ค่อยกระเตื้องขึ้น แต่เมื่อเทียบกับปี 2011 ก็แค่ทรงตัว ไม่ได้เติบโต ดังนั้นหากมองความสามารถในการเติบโตของธุรกิจแล้วลุงว่าต้องระวังให้ดี เพราะกิจการไม่โตมาสองสามปีแล้ว”

“อูย อูย อูย” ลิงจ๋อคราง “โดนอีกแล้ว แล้วทำไมลุงไม่บอกผม”

“อ้าว ตอนนายจ๋อซื้อก็ตัดสินใจเองนี่ มาโทษอะไรลุงล่ะ” ลุงแมวน้ำพูด “นี่แหละ ลุงถึงได้บอกว่ามีเครื่องมือก็ต้องเข้าใจวิธีการใช้และตีความด้วย เรื่องกำไรเติบโตดีมากๆ หรือพีอีต่ำมากๆนั้น ต้องมาดูรายละเอียดว่าโตจากธุรกิจหลักหรือรายได้พิเศษอื่นๆ หากโตจากธุรกิจหลักจึงจะถือว่าน่าสนใจ”

“แล้วลุงยังมีอะไรจะเตือนผมอีกไหมเนี่ย” ลิงถอนหายใจเฮือก

“ก็มีนิดหน่อย นี่แหละ ที่เรียกว่ากับดักรายได้โต หรือกับดักพีอีต่ำ บางกิจการก็เกิดขึ้นโดยสุจริต หมายความว่ากิจการขายสินทรัพย์และลงบัญชีเป็นไปตามครรลองธุรกิจปกติ แต่ในบางบริษัทก็อาจเกิดจากเจตนาอำพรางได้ คือกิจการที่ธุรกิจย่ำแย่ หากต้องการให้ผลประกอบการดูดี จูงใจให้นักลงทุนเข้ามาลงทุน ก็อาจขายสินทรัพย์ออกมาในปีที่ธุรกิจแย่ๆเพื่ออำพรางผลขาดทุนจากธุรกิจหลัก ก็เป็นไปได้ เมื่อใครเข้ามาดูตัวเลขแบบฉาบฉวยก็เข้าใจผิดไป

“นอกจากนี้ จากนี้ต่อไป เราจะมีกองทุนอสังหาริมทรัพย์ที่เรียกว่ากองทุนรีต (REIT) รวมทั้งยังมีกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานอีก กิจการในตลาดหุ้นหลายๆบริษัทก็อาจขายทรัพย์สินให้แก่กองทุนรวมเหล่านี้ บริษัทเหล่านี้ก็จะมีรายได้พิเศษโตเว่ออันเกิดจากการขายสินทรัพย์ ทำให้ผลประกอบการดูดีมากๆ พีอีอาจลดฮวบฮาบเลย ก็ต้องระวังให้ดี หากจะดูต้องดูให้ถึงไส้ในคือรายการที่เป็นรายได้พิเศษด้วย เพราะรายการพวกนี้ไม่ใช่การดำเนินธุรกิจหลัก อย่าลืมเสียล่ะ” ลุงแมวน้ำสรุป 

“ช้าไปแล้วละลุง ฮือ” ลิงจ๋อเศร้า หางตกห้อย “โดนอีกแล้ว”

Monday, August 18, 2014

18/08/2014 รถไฟสาย 2100 ยังไม่จอด



ช่วงนี้ตลาดหุ้นค่อนข้างน่าเสียวไส้ ลุงแมวน้ำเคยบอกว่าแพงแล้ว น่าจะต้องลงไปก่อน ลุงพูดตั้งแต่ที่ดัชนีเซ็ตประมาณ 1460 จุด และยังบอกอีกว่าอาจลงได้สัก 100 จุด จนบัดนี้ตลาดก็ยังไม่ได้ทำคลื่นขาลงแบบลึกๆเลย ดัชนีเซ็ตตอนนี้ 1545 จุดแล้ว

ลุงแมวน้ำจึงต้องมาทบทวนมุมมองใหม่ เราต้องปรับตัวไปตามตลาด แนวโน้มว่าอย่างไรเราก็ว่าไปตามแนวโน้ม หากคาดการณ์แล้วไม่เป็นไปตามนั้นก็ต้องทบทวนและปรับปรุง 

เราลองมาดูตลาดหุ้นอเมริกากันก่อน สมมติฐานของลุงก็คือ ตลาดหุ้นไปตามกันทุกภูมิภาค ตลาดอเมริกายังเป็นตลาดพี่ใหญ่อยู่ ตลาดหุ้นอเมริกาขึ้น ตลาดหุ้นเอเชียและไทยก็ไปต่อได้ อเมริกาลงหนัก เอเชียและไทยก็มักลงตาม

เรามาดูกราฟกัน ภาพมาก่อน คำบรรยายตามหลังนะคร้าบ


ดัชนี S&P 500 ของสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ปี 2012 เป็นต้นมา รวมสองปีกว่าแล้ว ตลาดยังไม่เคยลงหนักๆเลย การปรับตัวลงแต่ละรอบไม่เกิน -10%


ภาพนี้เป็นดัชนี S&P 500 ของตลาดหุ้นอเมริกา จากกรอบเวลาในกราฟ ตั้งแต่ปี 2009 มีเพียง 2 ปีเท่านั้นที่ตลาดปรับตัวลงลึกหน่อย คือปี 2010 ลงไป -15.6% และปี 2011 ลงไป -17% ส่วนปี 2012-2014 คือจนถึงปัจจุบัน ตลาดไม่ได้ลงหนัก อยู่ในระดับน้อยกว่า -10% ทุกครั้ง ไม่น่าเชื่อก็ต้องเชื่อที่สองสามปีไม่เคยทำคลื่นขาลงใหญ่ๆเลย มีแต่คลื่นขาลงเล็กๆ นี่แหละอิทธิฤทธิ์ของ QE ของลุงเบน


ตลาดหุ้นอเมริกาปรับตัวลงครั้งล่าสุด เพียง -2% เท่านั้น

สำหรับตอนนี้ ตลาดหุ้นอเมริกาเพิ่งปรับตัวลงไปเพียง -2% จากนั้นก็รีบาวด์ขึ้นมา ดูรูปการณ์คาดว่าไม่ลงแล้ว น่าจะขึ้นต่อ ซึ่งผิดคาดลุงแมวน้ำ แต่เอาละ ไปไหนก็ไปด้วย ^_^


นอกจากนี้ ตลาดหุ้นไทยและตลาดหุ้นอื่นๆในย่านเอเชีย โดยเฉพาะอินเดีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เป็นแนวโน้มขาขึ้นมาตั้งแต่ต้นปี โดยไม่เกิดการปรับฐานแรงๆเลยเช่นเดียวกับตลาดหุ้นอเมริกา ลองมาดูกราฟกัน


ตลาดหุ้นอินเดีย

ตลาดหุ้นอินเดีย ตั้งแต่ต้นปี ปรับตัวลงลึกสุดก็แค่ -4.2%


ตลาดหุ้นฟิลิปปินส์

ตลาดหุ้นฟิลิปปินส์ ตั้งแต่ต้นปี ปรับตัวลงลึกสุดก็แค่ -2.7%



ตลาดหุ้นอินโดนีเซีย


ตลาดหุ้นอินโดนีเซีย ตั้งแต่ต้นปี ปรับตัวลงลึกสุดก็แค่ -2.7%



ตลาดหุ้นไทย


ตลาดหุ้นไทย ตั้งแต่ต้นปี ปรับตัวลงลึกสุดก็แค่ -3.4% สำหรับรอบล่าสุดที่เพิ่งเกิดขึ้น เพียง -2.8% และดูท่าว่าจะไม่ลงแล้ว

สังเกตว่าตลาดอเมริกาและตลาดเพื่อนบ้านในกลุ่ม TIPS รวมอินเดียเข้าไปด้วย มีแนวโน้มตลาดสอดคล้องกัน

นอกจากนี้ ทิศทางของค่าเงินบาทยังเป็นแนวโน้มแข็งค่ามาตั้งแต่ต้นปีเช่นกัน ตามรูปต่อไปนี้


ค่าเงินบาทเป็นแนวโน้มแข็งค่ามาตั้งแต่ต้นปี 2014

จากกราฟ จะเห็นได้ว่าปัจจุบันแนวโน้มเงินบาทก็ยังเป็นแนวโน้มแข็งค่าอยู่ 


การซื้อขายในตลาดหุ้นไทย ตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นมา ต่างชาติซื้อสุทธิเพียง 14,000 ล้านบาท ยังเข้ามาซื้อไม่มาก

และนอกจากนี้ หากพิจารณาปริมาณเงินที่ต่างชาติเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทย ตั้งแต่มิถุนายนเป็นต้นมา ต่างชาติมีสัดส่วนในการซื้อขาย (participation) เพียง 18%-19% ซึ่งหากในช่วงตลาดคึกคัก ต่างชาติจะมีสัดส่วนซื้อขายราว 25%-35% 

จากเหตุผลต่างๆประกอบกัน ลุงแมวน้ำเห็นว่าทิศทางของตลาดหุ้นเอเชียในกลุ่ม TIPS และรวมถึงตลาดหุ้นไทย ยังไปต่อได้ แม้จะดูฝืนความรู้สึกก็ตาม เหมือนกับว่าตลาดถูกลากไป การวัดฟิโบนาชชีเป้าหมายก็ทะลุไปหลายเป้าแล้วก็ไม่ลงเสียที เมื่อไม่ลงก็ต้องตามแนวโน้มไป 

ลุงแมวน้ำคาดว่าตลาดยังไม่ลงง่ายๆ เพราะอเมริกาไม่ยอมลง เพื่อนบ้านไม่ยอมลง เพื่อนบ้านก็แพง เราก็แพง อเมริกาก็แพง เมื่อแพงต่อแพงก็ไม่ได้เปรียบเสียเปรียบกันเท่าไร และอีกประการ ต่อไปเงินต่างชาติคงทยอยกลับเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น 

แม้ลุงแมวน้ำทบทวนและปรับมุมมองว่าตลาดหุ้นยังไปต่อ แต่ก็ถือว่าเป็นคลื่น 5 ย่อยซึ่งมีความเสี่ยงสูง ตลาดอาจจบคลื่น 5 ย่อยได้ทุกเมื่อ ดังนั้นนักลงทุนควรลงทุนอย่างระมัดระวัง สังเกตเงินบาทเอาไว้เสมอ หากเงินบาทอ่อนค่าต่อเนื่อง นั่นคือสัญญาณเงินไหลออก ซึ่งเมื่อจบคลื่นย่อย 5 จะเป็นคลื่นย่อย a-b-c ขาลง ซึ่งขาลงที่อาจจะเกิดขึ้นนี้ลุงแมวน้ำคาดว่าไม่น่าลงลึก สัก 100-150 จุด คือดัชนีเซ็ตไม่น่าหลุดจาก 1400 จุด

นี่คือมุมมองระยะสั้น ส่วนระยะยาวลุงแมวน้ำยังเกาะรถไฟสาย 2100 เช่นเดิม ดังนั้นเราจะมองข้ามช็อตไปก็ได้ คือจะลงก็คงปรับตัวลงไม่มาก ก็อย่าไปกลัวมาก มองหาหุ้นดีๆ P/E ยังไม่สูง เน้นหุ้นซ่อม สร้าง บริโภคภายใน ชุมชนเมืองเติบใหญ่ ก็พอลงทุนได้คร้าบ

ภาคบริการทางการเงินควรมีติดพอร์ตเอาไว้ กลุ่มรับเหมาก่อสร้างดูตัวรองดีกว่าตัวใหญ่ 

จีนน่าจะฟื้นตัวแล้ว หุ้นเรือมาแล้วทั้งเรือเทกองและเรือตู้ ส่วนหุ้นแนวโภคภัณฑ์ พลังงาน ถ่านหิน สินค้าเกษตร ปิโตรเคมี ตอนนี้ยังไม่ค่อยเห็นแวว ควรดูให้ดีอีกสักระยะหนึ่ง หุ้นพลังงานทางเลือกควรพิจารณาให้ถ่องแท้ เพราะมีเยอะมาก

หุ้นที่ P/E หลายสิบเท่าหรือร้อยกว่าเท่า ดูดีๆนะคร้าบ และหุ้นที่เจ้าของมีธรรมาภิบาลสีเทาๆ ควรหลีกเลี่ยงไว้ดีกว่า ไม่อย่างนั้นอาจเจอเพื่อนรักหักเหลี่ยมโหดได้

ลุงแมวน้ำก็เพิ่งปรับพอร์ตไปบางส่วน ตัวที่ p/e สูงแล้วก็ขายไป เลือกหุ้นที่ยังไม่แพงแต่ดูมีอนาคตเข้าพอร์ต หุ้นราคาไม่แพงแต่หากพิจารณาแล้วอนาคตไม่แจ่มใสก็ไม่ควรเลือกนะคร้าบ

Thursday, July 31, 2014

31/07/2014 วิเคราะห์ทางเทคนิครู้ข่าวได้ก่อน



ช่วงนี้ลุงแมวน้ำกำลังเขียนบทความเกี่ยวกับมุมมองเศรษฐกิจและการลงทุนอยู่ ดังที่ลุงแมวน้ำเคยเล่าให้ฟังมาแล้ว เดิมทีว่าจะโพสต์ได้ตั้งแต่ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ก็มีเรื่องนั้นเรื่องนี้เข้ามาแทรกอยู่ตลอด จึงยังไม่ได้โพสต์สักที

ลุงแมวน้ำมาคิดดูใหม่ เดิมทีว่าจะเขียนเป็นบทความค่อนข้างยาว เนื่องจากมุมมองเศรษฐกิจและการลงทุนแบบมหภาคนั้นครอบคลุมเศรษฐกิจของหลายกลุ่ม หลายประเทศ อาจจะมีสัก 10-20 ตอน แต่เมื่อมาทบทวนดูแล้วลุงเห็นว่าเขียนเป็นซีรีส์ยาวแบบนี้อาจจะดูน่าเบื่อไปหน่อย จึงมาเปลี่ยนความคิดใหม่ว่า เอาเรื่องราวที่คิดจะเล่าเป็นซีรีส์ยาวมาแบ่งซอยเป็นหัวข้อ แล้วแบ่งเขียนหัวข้อละสองสามตอนจบดีกว่า แต่ละเรื่องเกี่ยวของกัน แต่ว่าก็อ่านจบในตัวเองได้ แบบนี้น่าจะคล่องตัวกว่า ^_^

สำหรับวันนี้ เนื่องจากช่วงนี้เป็นฤดูกาลประกาศผลประกอบการไตรมาสสอง ทำให้นึกขึ้นได้ว่ามีเรื่องอยากเล่าอยู่เรื่องหนึ่ง แต่ก็ยังหาโอกาสเล่าไม่ได้สักที เล่าในช่วงประกาศผลประกอบการที่แหละ กำลังดีเลย

ลุงแมวน้ำคิดชื่อเรื่องในวันนี้ไว้หลายชื่อ เช่น "กับดักนักเทคนิค", "อย่ามั่นใจในเทคนิคมากจนเกินไป" ฯลฯ คิดเอาไว้หลายชื่อ แต่สุดท้ายก็เลือกเอาชื่อเรื่อง "วิเคราะห์ทางเทคนิครู้ข่าวได้ก่อน"

ประเด็นก็คือ นักลงทุนมักชอบติดตามข่าวสารเกี่ยวกับตัวหุ้นอยู่เสมอ และก็มักเก็งกำไรหุ้นจากข่าวต่างๆ บางคนก็ได้ข่าวประเภทอินไซด์ ซึ่งเป็นอินไซด์ที่รู้กันทั้งประเทศหรือปิดกันให้แซ่ดนั่นแหละ แล้วก็คิดว่าเรื่องนี้ยังไม่มีใครรู้ อินไซด์จริงๆว่างั้นเถอะ สุดท้ายก็พลาดเพราะรู้กันทั้งประเทศแล้วจะมีกำไรที่ไหนเหลือให้เราล่ะ >.<

แต่ในบางครั้ง การเคลื่อนไหวของราคาหุ้นที่ผิดปกติ หากใช้การวิเคราะห์ทางเทคนิคก็อาจเตือนนักลงทุนได้ล่วงหน้าก่อนที่จะรู้ข่าวก็ได้ เราลองมาดูกัน ค่อยๆดูไปทีละภาพนะคร้าบ ภาพมาก่อน คำบรรยายตามหลัง อย่าแอบอ่านล่วงหน้า

สมมติว่าหุ้นนี้ชื่อ X ละกัน ไม่ต้องรู้ชื่อหุ้นนี้ดีกว่า เพราะจะทำให้ร้องอ๋อ





ตอนต้นปี 2012 หุ้น หุ้นนี้เริ่มมีรูปแบบทางเทคนิคที่น่าสนใจเพราะว่า อาจกำลังเข้าคลื่น 1 หรือเข้าคลื่น B ก็ได้ ยังไม่ชัดเจน

หากเข้าคลื่น B แปลว่าคลื่นที่ผ่านมาเป็น A ก็ยังไม่น่าสนใจนัก

แต่หากเข้าคลื่น 1 ก็จะน่าสนใจมาก เนื่องจากเป็นการเริ่มต้นขาขึ้นรอบใหม่ ซึ่งแปลว่ายังขึ้นได้อีกมาก

เรายังไม่รู้หรอก ต้องตามดูกันไปก่อน






เวลาผ่านไป รอดูไปเรื่อยๆจนปลายปี 2012  ภาพนี้แหละ เป็นรูปแบบที่นักเทคนิคค้นหากันว่าหุ้นตัวใดเกิดรูปแบบเช่นนี้บ้าง เพราะเป็นจังหวะที่น่าเข้าลงทุนมากที่สุด นั่นก็คือ หุ้นที่กำลังเข้าคลื่น 3 โอ พบแล้ว

จากภาพนี้ เราค่อยๆนับคลื่น ตามราคาไป จะเห็นว่าราคาแถวๆปลายปี 2011 น่าจะจบคลื่น C แล้ว และคลื่นทำคลื่น 1 แล้วตอนต้นปี 1012 ตรงที่เป็น 1 นั้นเดิมทีเราสงสัยว่าเป็น B หรือเป็น 1 แต่รูปแบบน่าจะเป็น 1 มากกว่า และปัจจุบันน่าจะอยู่ที่คลื่น 2 หรืออาจกำลังเข้าคลื่น 3 ก็ได้

แต่ช้าก่อน นักเทคนิคอย่าเพิ่งเข้าลงทุน ต้องรอให้ชัดก่อนว่าใช่คลื่น 3 หรือไม่






รอดูไปอีกหน่อย จนต้นปี  2013 ราคาผ่านยอดคลื่นเดิมไปได้ แสดงว่าตอนนี้น่าจะเข้าคลื่น 3 จริงๆแล้วล่ะ ถ้าอย่างนั้นลุยเลยยยยยยยย...






ต่อมา ราวกลางปี 2013 ราคาหุ้นเกิดร่วงลงมา และเกิดสัญญาณขาย นักเทคนิคผู้มั่นใจในรูปแบบทางเทคนิคย่อมคิดว่าเมื่อเป็นคลื่น 3 แล้วก็ต้องไปต่อแน่นอน นี่เป็นแค่คลื่นย่อยขาลงหรือการปรับฐาน (correction) เท่านั้น เย็นใจได้ คลื่น 3 ต้องแรงและได้กำไร !!!






ต่อมา ราคาหุ้นยังร่วงไม่หยุด ราคาไหลลงจนนับคลื่นไม่ถูก เพราะไม่เป็นไปตามตำราคลื่น 3 พอมีเด้งหน่อย ก็เกิดอาการดีใจเพราะคิดว่ายังเป็นคลื่น 3 น่าจะไปต่อเสียที

แต่ที่ไหนได้ พองบการเงินไตรมาส 2 ประกาศออกมา ผลประกอบการขาดทุนหนักแบบผิดคาด ราคายิ่งร่วงไหลลงมาไม่หยุด สุดท้าย ลงไปแถวๆ 15



กรณีศึกษานี้ลุงแมวน้ำอธิบายว่า นี่แหละ กรรม หรือว่าการกระทำ ก่อให้เกิดรูปแบบทางเทคนิค ราคาที่ไหลลงมาน่าจะเป็นเพราะว่ามีผู้ที่สามารถคาดการณ์ได้ว่าผลประกอบการณ์ของหุ้นนี้เป็นอย่างไร จึงทยอยขายออกมาอย่างต่อเนื่อง

เมื่อราคาไหลลงต่อเนื่อง รูปแบบทางเทคนิคก็เสียหาย หากนักเทคนิคยึดมั่นกับคำว่าคลื่น 3 โดยไม่ยอมหนี สุดท้ายก็ขาดทุนอ่วม

ส่วนนักลงทุนที่ใช้รูปแบบทางเทคนิค และมีความยืดหยุ่น ก็มองว่ารูปแบบทางเทคนิคนั้นมักมีข้อยกเว้นเสมอ ในกรณีนี้ก็อธิบายได้ง่ายๆว่าคลื่น 3 ไม่สำเร็จ ก็เป็นคลื่นล้มเหลว (failed wave 3) นั่นเอง เมื่อรูปแบบทางเทคนิคเสียหายไป ก็ต้องมาไล่นับคลื่นกันใหม่

เมื่อผลประกอบการออกมา สายปัจจัยพื้นฐานก็ต้องตีความงบว่าขาดทุนหนักขนาดนี้แสดงว่าพื้นฐานธุรกิจอาจเปลี่ยนไปแล้ว และอาจต้องตัดสินใจขายขาดทุน

ลองคิดดูเล่นๆ หากเป็นนักเทคนิคที่ใช้ระบบสัญญาณซื้อขาย กลุ่มนี้คงหนีได้เร็วกว่าเพื่อน ขาดทุนน้อยที่สุด เนื่องจากสัญญาณซื้อขายเหมือนกับเซฟทีคัท คือช่วยชีวิตเอาไว้ได้

กลุ่มถัดมาน่าจะเป็นนักเทคนิคที่มั่นใจจนเกินควร กว่าจะได้คิดก็อาจขาดทุนหนัก

กลุ่มสุดท้าย น่าจะเป็นนักลงทุนที่ตัดสินใจลงทุนหรือไม่ลงทุนจากงบการเงิน หรือสายปัจจัยพื้นฐานนั่นเอง น่าจะขาดทุนมากที่สุด (ที่จริงพูดยาก สายพื้นฐานก็อาจขาดทุนน้อยที่สุดก็ได้ เพราะงบการเงินไตรมาสก่อนหน้าก็มีลางบอกเหตุออกมาบ้าง ขึ้นกับดุลพินิจของนักลงทุน หากเห็นลางบอกเหตุแล้วหนีก็อาจจะหนีได้เร็วกว่าเพื่อนก็ได้ แต่หากไม่หนี มาหนีเอาไตรมาสนี้ก็คงหนักกว่าเพื่อน)

ลุงแมวน้ำอยากฝากเตือนนักลงทุน ทั้งสายเทคนิคและปัจจัยพื้นฐานว่า รูปแบบราคาที่ผิดปกติ มักบ่งบอกถึงสัญญาณอะไรบางอย่าง ซึ่งสัญญาณนี้เร็วกว่าข่าวสารที่นักลงทุนรายย่อยอ่านตามหนังสือพิมพ์เสียอีก ดังนั้น หากราคาปิดปกติมากๆ ก็เท่ากับหุ้นส่งสัญญาณอันตรายออกมาก อย่าละเลยสัญญาณนี้ อย่าติดยึดกับรูปแบบหรือตำราจนเกินไป อะไรก็เกิดขึ้นได้ในตลาดหุ้น รวมทั้งอย่าหวังเงินปันผลจนขาดทุนหนักจากราคาหุ้น เพราะอาจไม่คุ้มกัน

Tuesday, July 29, 2014

29/07/2014 จีนมีเฮ อัปเดต BDI, สินค้าเกษตร ยางพารา BANPU, ADVANC, DTAC, TRUE, THCOM


ดัชนี CSI 300 ของตลาดหุ้นจีนปรับตัวขึ้นมา 8.4% ในเวลา 2 สัปดาห์
รูปแบบทางเทคนิคกลับตัวเป็นขาขึ้น เป็นไปได้ที่ตลาดหุ้นจีนจะจบคลื่น C ไปแล้ว
และกำลังเข้าสู่คลื่นเศรษฐกิจขาขึ้นรอบใหม่


วันนี้ลุงแมวน้ำมีเรื่องอัปเดตเยอะทีเดียว แบ่งเป็นสองเรื่องใหญ่ นั่นคือ เศรษฐกิจของจีนที่เกี่ยวข้องกับหุ้นไทย และหุ้นในกลุ่มโทรคมนาคม เรามาดูเรื่องตลาดหุ้นจีนกันก่อน

ดูกราฟในภาพบนสุดของบทความ กราฟนั้นเป็นดัชนี CSI 300 ของตลาดหุ้นจีน หลายปีที่ผ่านมา จีนประสบปัญหาทางเศรษฐกิจหลายด้านทีเดียว ทั้งด้านฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ ปัญหาธนาคารเงาและหนี้เน่าในภาคการเงินซึ่งส่งผลกระทบอย่างแรงต่อภาคการเงินและเศรษฐกิจของจีน จนถึงวันนี้ ปัญหาธนาคารเงาและหนี้เน่าดูเหมือนจะค่อยๆคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น แต่ก็ยังไม่มีใครไว้วางใจเนื่องจากไม่รู้ว่าภาคธนาคารจีนซุกขยะอะไรเอาไว้ใต้พรมบ้าง ส่วนทางด้านราคาบ้านนั้นไหลลงอย่างต่อเนื่อง สะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจจีนยังชะลอตัว ประกอบกับนโยบายของรัฐบาลจีนที่ต้องการชะลอการเจริญเติบโตของจีนให้อยู่ในระดับประมาณปีละ 7.5% จากที่เมื่อก่อนหน้านี้จีนเร่งการเจริญเติบโตในระดับปีละกว่า 10%

สถานการณ์ต่างๆเหล่านี้ทำให้เศรษฐกิจจีนชะลอตัว ตลาดหุ้นจีนเป็นขาลง และเนื่องจากจีนเป็นประเทศผู้บริโภคขนาดใหญ่ การชะลอตัวของเศรษฐกิจย่อมหมายถึงการบริโภคที่ชะลอตัวลง ดังนั้น ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆจึงชะลอตัว การขนส่งโดยเฉพาะการเดินเรือขนส่งวัตถุดิบก็ชะลอตัวลงไปด้วย

แต่ว่าตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เศรษฐกิจจีนดูเหมือนจะเริ่มตั้งหลักได้แล้ว ดัชนี PMI อันเป็นดัชนีภาคการผลิตปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ค่า GDP เริ่มนิ่งแถวๆระดับ 7.5% ต่อปี ปัญหาเรื่องหุ้นกู้ของภาคเอกชนที่อาจมีปัญหาต้องดีฟอลต์ คือต้องชักดาบ ก็ไม่เกิด ภาครัฐสามารถควบคุมสถานการณ์ได้

ในรอบสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นจีนปรับตัวขึ้นแรง ประมาณ 8.4% ถือว่าเป็นตัวบ่งชี้สำคัญที่แสดงว่าตลาดหุ้นจีนรวมทั้งเศรษฐกิจจีนน่าจะกำลังกลับทิศเป็นขาขึ้นแล้ว ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริงก็ถือว่ามีเฮ เพราะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนมีส่วนช่วยต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกอย่างมาก

เรามาดูกันว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนนั้นใครจะได้อานิสงส์กันบ้าง ดูกันเลยคร้าบ ภาพมาก่อน คำบรรยายตามหลัง


ราคาสินค้าเกษตรปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วนับตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคม
สอดคล้องกับการดีดตัวของตลาดหุ้นจีน

สินค้าเกษตร จีนเป็นผู้บริโภคสินค้าเกษตรรายใหญ่ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนทำให้เกิดแรงเก็งกำไรในสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ รวมทั้งสินค้าเกษตร



ราคายางพาราตลาด AFET เริ่มตั้งหลักได้ อีกไม่นานน่าจะค่อยๆปรับตัวขึ้น

จีนและอินเดียเป็นผู้บริโภคยางพารารายใหญ่ แม้ว่าในปีนี้จะมีปริมาณยางพาราเข้ามาในตลาดโลกเพิ่มมากขึ้น เนื่องมาจากจีน เวียดนาม พม่า ไทย เพิ่มพื้นที่ปลูกยางพาราในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่ในทางเทคนิคราคายางน่าจะกลับมาเป็นขาขึ้นได้



ราคา BANPU สังเกตว่าสอดคล้องไปกับทิศทางตลาดหุ้นจีน
น่าจะมีเฮด้วยเช่นเดียวกับดัชนีจีน

ราคาถ่านหิน โดยเฉพาะ BANPU สัมพันธ์กับเศรษฐกิจจีน สังเกตว่าราคาหุ้นปรับตัวขึ้นในจังหวะเดียวกับที่ตลาดหุ้นจีนเด้งในช่วงกลางเดือนที่ผ่านมา



ดัชนีค่าระวางเรือเทกอง ไหลลงมาตลอดตั้งแต่ต้นปี 2014
สาเหตุหนึ่งมาจากปริมาณการบริโภคสินค้าโภคภัณฑ์ลดลง และอีกสาเหตุหนึ่งคือฤดูฝน
แต่ตอนนี้เริ่มนิ่งแล้ว คาดว่าน่าจะกลับทิศเป็นขาขึ้นได้

ดัชนีค่าระวางเรือเทกอง ไหลลงมาตั้งแต่ต้นปี ตอนนี้เริ่มนิ่งแล้ว คาดว่าดัชนีค่าระวางเรือน่าจะปรับตัวขึ้นได้จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ประกอบกับช่วงปลายฤดูฝนดัชนีจะค่อยๆดีขึ้นอยู่แล้วอันเป็นปัจจัยตามฤดูกาล หุ้นที่ได้อานิสงส์จากดัชนีค่าระวางเรือก็คือหุ้นสายการเดินเรือเทกองนั่นเอง

นอกจากนี้ ขณะนี้ดัชนีค่าระวางเรือตู้ (เรือคอนเทนเนอร์) ก็ค่อยๆดีขึ้น สะท้อนภาพการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจด้วยเช่นกัน ดังนั้นหุ้นเรือคอนเทนเนอร์ก็ได้รับอานิสงส์ด้วย ตอนนี้ปรับตัวขึ้นมาบ้างแล้ว (ไม่ได้นำภาพมาแสดงให้ดู)


ทีนี้ก็มาถึงกลุ่มกลุ่มสื่อสารโทรคมนาคมกันบ้าง หมู่นี้แมวน้ำอัปเดตหุ้นในกลุ่มนี้มาเป็นระยะ เนื่องจากสถานการณ์ยังไม่นิ่ง มีการชะลอประมูลคลื่นรอบใหม่ไปอีก 1 ปี ทีนี้ก็อลเวงกันพอสมควร เรื่องจากสัมปทานคลื่นที่แต่ละค่ายถืออยู่หมดอายุไม่พร้อมกัน ทำให้ต้องมาประเมินกันว่าใครได้เปรียบ ใครเสียเปรียบ และมากน้อยเพียงใด ซึ่งเป็นเรื่องที่ประเมินได้ค่อนข้างยาก

เรามาอัปเดตหุ้นแต่ละตัวกันเลย


ราคาหุ้น ADVANC

ADVANC ราคาไหลลงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมีสัมปทานคลื่นสองช่วงคลื่นที่กำลังจะหมดลง ตอนนี้ยังประเมินกันไม่ถูกว่าจะได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์เป็นมูลค่าเท่าใด ทางกองทุนเทมาเสกของสิงคโปร์ที่ถือหุ้นอยู่เป็นจำนวนมากก็ประกาศลดการลงทุนในหุ้นนี้ลง ฝุ่นก็ยิ่งตลบเข้าไปใหญ่ ราคาจึงไหลลงอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับรูปแบบทางเทคนิคที่เกิดแกปใหญ่แล้วปิดไม่ได้ ซึ่งอาจเป็นแกปที่แสดงถึงขาลงยาว หรือคลื่น C นั่นเอง

ราคาแถวๆ 200-205 บาทเป็นแนวรับใหญ่ชั้นหนึ่ง แถวๆนี้ค่า P/E ratio กับอัตราเงินปันผลก็สวยงามไม่น้อยเลยทีเดียว หลายคนเริ่มอยากเก็บแถวๆราคานี้ ถือไว้สัก 10 ปี กินปันผลสบายใจ ราคาชะลอตัวอยู่แถวแนวรับใหญ่ก็เพราะนักลงทุนเริ่มสนใจเงินปันผลกับค่า P/E ที่จูงใจนั่นเอง



ราคาหุ้น DTAC

ส่วนราคาหุ้น DTAC สภาพการณ์ต่างออกไป เมื่อวานยังเกิด big black candle คือราคายังไหลลงไม่หยุด


ราคาหุ้น THCOM

ราคาหุ้นดาวเทียมไทยคม หุ้นนี้มีแนวโน้มฟื้นตัวหลังจากที่ขาดทุนต่อเนื่องมาหลายปี คือน่าจะเป็นหุ้นเทิร์นอะราวด์ได้เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงระบบทีวีเป็นดิจิทัล ทำให้รายได้ของ THCOM เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีโครงการส่งดาวเทียมดวงใหม่ขึ้นไปอันจะทำให้รายได้มากขึ้น แต่ตอนนี้รูปแบบราคาไหลลงอย่างรวดเร็วจนหลุดแนวของช่อง SEC (standard error channel) สถานการณ์ไม่น่าไว้วางใจ เพราะไม่รู้ว่าเกิดปัญหาอะไรขึ้น ราคาที่ไหลลงนี้ไม่ใช่ไม่มีเหตุผล แต่อาจเป็นเหตุผลที่นักลงทุนรายย่อยยังไม่รู้ก็ได้



ราคาหุ้น TRUE

ราคาหุ้น TRUE ในทางเทคนิคเป็นขาขึ้นแล้ว ช่วงนี้ราคาคงยังอยู่ในทิศทางขาขึ้น จนกว่าการเพิ่มทุนในปลายเดือนสิงหาคมจะแล้วเสร็จ หลังจากนั้นคงต้องมาดูกันอีกที

สำหรับหุ้นสื่อสารโทรคมมานาคมนั้น ตอนนี้สถานการณ์เรียกได้ว่าฝุ่นตลบ ภาครัฐอาจกำลังเปลี่ยนกฎกติกา ยังไม่มีใครรู้ว่าผู้ให้บริการทั้งสามค่ายคิดอ่านอย่างไร วางกลยุทธ์อย่างไร จะลงทุนเพิ่มอย่างไร ขณะเดียวกันน่าจะมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้นทั้งของ TRUE และ เครือ INTUCH, ADVANC, THCOM ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป 

ทั้งเครือ ADVANC, DTAC, TRUE กำลังเกิดการเปลี่ยนแปลง ธุรกิจนี้เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงเร็ว การลงทุนเพิ่มเป็นเรื่องที่จำเป็น เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน ดังนั้นประเด็นสำคัญของธุรกิจนี้ก็คือการลงทุนและความสามารถในการแข่งขัน อย่ามองแต่เฉพาะเพียงเงินปันผลหรือค่าพีอีที่ดึงดูดใจ เพราะแม้ปีนี้เงินปันผลจะงาม แต่ค่ายใดหากชะลอการลงทุน หรือต้องการปล่อยมือจากธุรกิจในประเทศไทย ก็อาจทำให้เสียความสามารถในการแข่งขันได้ ธุรกิจจะเปลี่ยนไปทันที และปีต่อไปก็อาจไม่ได้เห็นผลกำไรหรือเงินปันผลอีก ดังนั้น ลุงแมวน้ำคิดว่าตอนนี้ฝุ่นตลบ รอดูก่อนดีกว่า ให้สถานการณ์ชัดเจน ให้รู้แผนการของแต่ละค่ายก่อนว่าจะเอาอย่างไร จะลงทุนต่ออย่างไร จะเพิ่มความสามารถในการแข่งขันอย่างไร เมื่อเห็นชัดแล้วจึงค่อยตัดสินใจเข้าลงทุนดีกว่าคร้าบ

Sunday, July 27, 2014

27/07/2014 เช้าวันหยุดกับลุงแมวน้ำ บางกะเจ้า อนุรักษ์ พัฒนา เหลื่อมล้ำ และขัดแย้ง (4)



เมื่อกฎหมายผังเมืองสมุทรปราการ พ.ศ. 2556 ประกาศใช้ บางกะเจ้าก็กลายเป็นข่าวใหญ่



ในตอนที่แล้วลุงแมวน้ำพาขี่จักรยานชมเรือกสวนและตลาดน้ำในบางกะเจ้ากันไปแล้ว ในตอนนี้ลุงแมวน้ำจะพาไปชมสวนศรีนครเขื่อนขันธ์อันเป็นสวนสาธารณะที่สงบ ร่มรื่น อีกทั้งยังเป็นแหล่งดูนกและผีเสื้ออีกด้วย


ชมสวนศรีนครเขื่อนขันธ์


สวนศรีนครเขื่อนขันธ์หรือเรียกสั้นๆว่าสวนศรีฯนี้เป็นสวนสาธารณะที่มีพื้นที่ประมาณ 200 ไร่ โดยชื่อสวนศรีนครเขื่อนขันธ์นี้มีที่มาจาก นครเขื่อนขันธ์ อันเป็นชื่อโบราณของพระประแดงนั่นเอง

เมืองนครเขื่อนขันธ์นี้เป็นเมืองที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 2 โดยเป็นเมืองหน้าด่านปากแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อป้องกันการรุกรานทางทะเลของข้าศึก ชนพื้นเมืองเดิมของนครเขื่อนขันธ์เป็นชาวรามัญหรือมอญที่โยกย้ายมาจากปทุมธานี ต่อมาจึงกลายมาเป็นอำเภอพระประแดงในปัจจุบัน

สวนศรีฯนี้ได้มาจากการซื้อพื้นที่สวนผลไม้เก่ามาพัฒนา ในการพัฒนาเพื่อปรับปรุงเป็นสวนสาธารณะก็ยังคงอนุรักษ์รูปแบบของร่องสวนเดิมเอาไว้ด้วย ดังนั้นสวนศรีฯนี้จึงมีลักษณะเด่นคือยังมีเค้าของเรือกสวนอยู่

นอกจากนี้ แถบนี้ยังมีนกและผีเสื้อหลายชนิด ดังนั้นสวนสาธารณะแห่งนี้จึงเป็นแหล่งศึกษาธรรมชาติใกล้กรุงเทพฯอีกด้วย

เรามาชมภายในสวนศรีฯกัน ภาพมาก่อน คำบรรยายตามหลังนะคร้าบ




ทางเข้าสวนศรีนครเขื่อนขันธ์





แผนที่ภายในสวนสาธารณะ





สวนศรีฯนี้บรรยากาศดีมาก ท้องฟ้าสดใส อากาศสดชื่น ลมพัดเย็นสบาย อากาศที่นี่สดชื่นกว่าอากาศที่สวนลุมอย่างรู้สึกได้







เนื่องจากสวนสาธารณะนี้พัฒนามาจากสวนผลไม้เก่า ดังนั้นจึงยังคงมีเค้าของเรือกสวนอยู่ อย่างเช่นร่องสวนเดิม นับเป็นสวนสาธารณะที่มีภูมิทัศน์แปลกตาทีเดียว





บึงน้ำใหญ่กลางสวนศรีฯ เชื่อมต่อกับแนวร่องสวนเดิม และมีถนนกับสะพานเชื่อมโดยรอบ น่าขี่จักรยานมาก





ศาลาพักผ่อน บรรยากาศดีมาก วิวสวย ลมพัดเย็นสบาย นั่งแล้วอยากหลับสักงีบ ไม่อยากเดินต่อเลย >.<






หอชมวิว สูง 7 เมตร ใช้ชมวิวโดยรอบ รวมทั้งใช้เป็นจุดชมนก แถวนี้มีนกและผีเสื้อเยอะทีเดียว


สวนศรีนครเขื่อนขันธ์นี้เป็นจุดสุดท้ายสำหรับการท่องเที่ยวในวันหยุดของเรา หลังจากที่ลุงขี่จักรยานชมสวนเสร็จแล้วลุงก็นำจักรยานไปคืน และกลับไปที่ท่าเรือเพื่อข้ามฝั่งไปยังคลองเตย

แต่ยังก่อน เรื่องราวของบางกะเจ้ายังไม่ได้หมดลงแต่เพียงเท่านี้ กฎหมายผังเมืองสมุทรปราการฉบับใหม่ ปี 2556 ที่ประกาศใช้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2557 ที่ผ่านมา ทำให้บางกะเจ้ากลายเป็นประเด็นร้อนของคนในพื้นที่และนักอนุรักษ์ขึ้นมาทันที และถือเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจของความขัดแย้งบนเส้นทางการอนุรักษ์และพัฒนา เรามาดูรายละเอียดกัน



ผังเมืองสมุทรปราการ 2556 ทำบางกะเจ้าร้อน


ผังเมืองสมุทรปราการ แสดงในส่วนพื้นที่กระเพาะหมูบางกะเจ้า 6 ตำบล ซึ่งกำหนดประเภทการใช้สอยไว้เป็นที่ดินประเภทอนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม (ก.1 สีขาวมีกรอบและเส้นทแยงสีเขียว) และประเภทชนบทและเกษตรกรรม (ก.3 สีเขียว) และ



ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจกันก่อนว่าในผังเมืองจังหวัดสมุทรปราการฉบับก่อนๆ คือตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537, 2544 ก็ได้กำหนดให้พื้นที่ 6 ตำบลในอำเภอพระประแดงในส่วนกระเพาะหมู ที่เรียกรวมๆกันว่าเป็นพื้นที่บางกะเจ้านั้นเป็นพื้นที่เกษตรกรรม เพราะโดยเจตนาแต่ดั้งเดิมนั้นพื้นที่บางกะเจ้าถูกวางบทบาทและหน้าที่่ให้เป็นพื้นที่สีเขียวเพื่อเป็นปอดของกรุงเทพฯและพื้นที่ใกล้เคียง แต่ในเชิงกฎหมายหรือในเชิงวิชาการ พื้นที่่ในบางกะเจ้านั้นแบ่งย่อยเป็น 2 โซน คือ

ที่ดินประเภท ก.1 ที่ดินประเภทอนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม สัญลักษณ์ในแผนที่ผังเมืองจะเป็นสีขาวมีเส้นทแยงสีเขียว หรือที่เรียกสั้นๆว่าพื้นที่ขาวทแยงเขียว

ที่ดินประเภท ก.3 ที่ดินชนบทและเกษตรกรรม สัญลักษณ์ในแผนที่ผังเมืองจะเป็นพื้นที่สีเขียว

ลุงแมวน้ำจะไม่ลงรายละเอียดให้ลึกนัก เอาแต่เพียงคร่าวๆว่าสองโซนนี้มีการควบคุมการใช้สอยที่ดินใกล้เคียงกัน เพียงแต่ว่าโซน ก.1 จะมีการควบคุมที่เข้มงวดกว่า มีข้อห้ามมากกว่าบ้าง ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นที่ดินประเภทอนุรักษ์ ดังนั้นจึงเข้มงวดกว่า ก.3 บ้าง


ผังเมืองของบางกะเจ้า ปี 2556 ความแตกต่างอยู่ที่พื้นที่ ก.3 การใช้ประโยชน์ในกิจกรรมรอง จาก 5% เป็น 15%


ทีนี้ในกฎหมายผังเมืองนั้นกำหนดการใช้ที่ดินเอาไว้เป็นหลายประเภท ซึ่งแสดงด้วยสีต่างๆในแผนที่ผังเมือง ยกตัวอย่างเช่น ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัย (สีเหลือง ส้ม และน้ำตาล) ที่ดินประเภทพาณิชยกรรม (สีแดง) ที่ดินประเภทอุตสาหกรรม (สีม่วง) ที่ดินอนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม (สีขาวทแยงเขียว) กับที่ดินเชนบทและเกษตรกรรม (สีเขียว) เป็นต้น

เมื่อมองในภาพกว้างก็จะเห็นว่าบางกะเจ้านั้นถูกกำหนดให้เป็นโซนเกษตรกรรม พื้นที่ส่วนใหญ่ต้องใช้ทำการเกษตร และส่วนน้อยเอาไว้ปลูกสร้างบ้านเรือน โดยไม่สามารถทำหมู่บ้านจัดสรร คอนโดมิเนียม หรือโรงงานอุตสาหกรรมได้

ทีนี้ประเด็นก็อยู่ตรงที่ผังเมืองสมุทรปราการใหม่ ฉบับปี 2556 ที่ประกาศเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2557 นั้นมีการผ่อนคลายข้อกำหนดการใช้พื้นที่สีเขียว ก.3 ซึ่งจากเดิมอนุญาตให้ใช้พื้นที่ทำกิจกรรมรอง (กิจกรรมหลักคือการเกษตร ส่วนกิจกรรมรองคือการใช้สอยอื่นๆ เช่น ปลูกสร้างบ้านเรือน ฯลฯ) ได้ 5% ของพื้นที่สีเขียวทั้งหมด ก็ได้ผ่อนคลายขยายมาเป็นใช้ทำกิจกรรมรองได้ 15% ของพื้นที่สีเขียวทั้งหมด

จากคำชี้แจงของกรมโยธาธิการและผังเมือง ได้ชี้แจงว่าการผ่อนคลายข้อกำหนดนี้ก็เพื่อให้คนในพื้นที่มีพื้นที่ใช้สอยปลูกบ้านพักอาศัยได้มากขึ้น ทั้งนี้ เนื่องจากชุมชนบางกะเจ้ามีการเติบโตขึ้น เด็กๆเมื่อหลายปีก่อน ปัจจุบันเติบโตเป็นหนุ่มสาวและมีครอบครัว คนรุ่นใหม่เหล่านี้ต้องการพื้นที่เพื่อสร้างบ้านเรือนเพิ่มขึ้น

ปัญหาอยู่ที่ว่าผังเมืองใหม่ที่เพิ่งประกาศใช้นี้คนในชุมชนไม่รู้เรื่อง ไม่ได้ผ่านการประชาพิจารณ์จากคนในชุมชน ทางภาครัฐก็บอกว่าจัดไปแล้วแต่ไม่มีชาวบ้านมาร่วมประชาพิจารณ์ ทางฝ่ายชาวบ้านก็บอกว่าจัดเมื่อไร ไม่รู้เรื่องมาก่อนเลย แอบจัดหรือเปล่า ฯลฯ

นี่เองที่ทำให้เกิดเป็นประเด็นร้อน นักอนุรักษ์ก็เริ่มออกมาช่วย สื่อมวลชนก็เริ่มให้ความสนใจและเสนอเป็นข่าวในทำนองว่าชาวบางกะเจ้ากังวลว่าผังเมืองใหม่จะซ่อนเงื่อนงำเพื่อเอื้อประโยชน์นายทุน เนื่องจากกฎหมายไม่อนุญาตให้ทำหมู่บ้านจัดสรร ก็ทำโครงการละ 9 แปลงก็ได้ รวมทั้งการทำโรงแรมขนาดเล็กก็น่าจะทำได้ด้วย รวมทั้งพื้นที่กิจกรรมรองส่วนทีเพิ่มมานั้น ใครจะเป็นผู้ได้รับการจัดสรรให้ใช้ประโยชน์ เพราะหากใครได้ส่วนนี้เท่ากับได้ลาภก้อนใหญ่


ที่ดินว่างเปล่าในบางกะเจ้าเริ่มมีการปรับปรุงสภาพที่ดิน


ประกอบกับมีบริษัทอสังหาฯรายใหญ่ให้ข่าวว่ามีที่ดินที่บางกะเจ้าหลายร้อยไร่ พร้อมทำโครงการบ้านหรูระดับไฮเอนด์ นอกจากนี้ ที่ดินว่าเปล่าขนาดใหญ่ในบางกะเจ้าเริ่มมีการปรับพื้นที่เพื่อเตรียมการก่อสร้าง เหล่านี้ล้วนเป็นสัญญาณที่ทำให้ชาวบางกะเจ้ากังวล รวมทั้งนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม รวมทั้งคนกรุงเทพฯที่หวงแหนปอดสีเขียว ต่างก็เริ่มกังวลด้วยเช่นกัน ว่าในที่สุดปอดของกรุงเทพฯจะค่อยๆถูกกลืนกินไปหรือว่ากลายเป็นมะเร็งไปเสียเนื่องจากถูกพัฒนา



ความหลื่อมล้ำและขัดแย้งบนเส้นทางการพัฒนา



ปัญหาการรุกรานจากความเจริญที่เกิดขึ้นในพื้นที่บางกะเจ้านั้นไม่ใช่ปัญหาใหม่ แต่เป็นปัญหาคลาสสิกที่เกิดขึ้นมาในทุกพื้นที่และทุกยุคสมัย ที่ใดที่ความเจริญไปถึง กระบวนการชุมชนเมือง (urbanization) ย่อมต้องดำเนินไป และความขัดแย้งระหว่างการอนุรักษ์กับการพัฒนาย่อมตามมา

หากพวกเราอ่านจากข่าว จะพบว่าผู้ที่ห่วงว่าพื้นที่สีเขียวของบางกะเจ้านี้จะถูกทำลายไปหรือพูดง่ายๆว่ากลุ่มที่มีความคิดในเชิงอนุรักษ์บางกะเจ้ามีอยู่สองกลุ่มหลัก คือ กลุ่มคนนอกพื้นที่ กับกลุ่มชาวบ้านในพื้นที่ที่เป็นรุ่นบุกเบิก สองกลุ่มนี้อยากให้บางกะเจ้ารักษาวิถีแบบดั้งเดิมเอาไว้ ไม่ต้องการให้เปลี่ยนแปลง


เสียงของผู้ที่ต้องการอนุรักษ์บางกะเจ้าเอาไว้เป็นปอดสีเขียวของกรุงเทพฯ


ปัญหาหรือว่าข้อขัดแย้งนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ ลุงแมวน้ำเห็นมาตลอดชีวิต และในทุกภูมิภาค ยกตัวอย่างเช่นทางภาคเหนือซึ่งมีชาวเขาอยู่หลายเผ่า อาศัยอยู่ตามดอยต่างๆ วิถีชีวิตของชาวเขาเมื่อสักสามสิบปีก่อน ก็เป็นไปแบบบ้านบนดอย บ่มีแสงสี บ่มีทีวี บ่มีน้ำประปา บ่มีเป๊ปซี่โคล่า เหมือนในเพลงบ้านบนดอยนั่นแหละ พอคนเมืองหรือว่าคนพื้นราบขึ้นไปเห็นก็ร้องว้าว เพราะว่าชอบใจกับวิถีชีวิตที่สงบ สมถะ และร่มเย็น แตกต่างจากชีวิตอันเร่งรีบของพวกตนอย่างมาก

หลายปีผ่านไป เมืองข้างล่างเติบโต นักท่องเที่ยวที่ขึ้นมาเที่ยวบนดอยก็เริ่มบ่นว่าบนดอยนี้เปลี่ยนไป ทำไมมีเสาอากาศก้างปลา จานรับสัญญาณดาวเทียม รกรุงรังไปหมด ทำไมมีรถกระบะ มอเตอร์ไซค์บนดอยเยอะแยะ ทำไมไม่อนุรักษ์เอาไว้นะ ทำไมไปหลงไหลแสงสีเสียได้  น่าเสียดายจัง

พ่อเฒ่าแม่แก่บนดอยก็บ่นเช่นกันว่าลูกหลานไม่เอาอย่างวิถีชีวิตของตน

แต่หากไปถามเด็กๆชาวเขา เด็กเหล่านี้มีความฝันอยากไปเรียนในเมือง อยากใส่กางเกงยีนส์ อยากมีรถเครื่อง (มอเตอร์ไซค์) อยากมีโทรศัพท์มือถือ อยากมีห้องนอนสวยๆ มีเครื่องเสียงดีๆ ไม่มีใครอยากนั่งทอผ้า ปักสะดึง อยู่หน้ากระต๊อบไม้อย่างในอดีตแล้ว

เช่นเดียวกันกับที่บางกะเจ้า หากเข้าไปสังเกตการณ์ให้ละเอียด คนใชุมชนที่ต้องการวิถีอนุรักษ์นั้นส่วนใหญ่เป็นคนบางกะเจ้าในยุคบุกเบิก คือพวกในวัยเจนเอ็กซ์หรือก่อนหน้านั้น ส่วนพวกเจนวายหรือเจนมี คือเป็นคนรุ่นลูกหลาน มีความคิดแตกต่างออกไป ในขณะที่คนนอกพื้นที่ต้องการให้บางกะเจ้าเป็นปอด แต่คนหนุ่มสาวในพื้นที่อยากมีรถเก๋ง อยากมีคอนโดในเมือง อยากทำงานในเมือง อยากเดินสยามสแควร์ซื้อของสวยๆงามๆ ฯลฯ แต่การกำหนดให้บางกะเจ้าซึ่งอยู่ติด กทม เป็นพื้นที่ ก.1 กับ ก.3 ทำให้ราคาที่ดินถูกกดเอาไว้ การใช้ประโยชน์จากที่ดินหรือหาประโยชน์จากที่ดินแตกต่างจากที่ดินในกรุงเทพฯมาก การอนุรักษ์พื้นที่ปอดเอาไว้โดยที่คนกรุงเทพฯไม่ได้ตอบแทนหรือชดเชยอะไรแก่คนเหล่านี้เลย นี่เป็นความเหลื่อมล้ำประการหนึ่ง


เสียงบางส่วนที่ต้องการการพัฒนา


อีกประการ คนในพื้นที่ที่เป็นรุ่นลูกหลาน ส่วนใหญ่พอเติบโตก็แยกบ้านไปมีครอบครัว พื้นที่สวนใหญ่ของพ่อแม่ก็ต้องถูกแบ่งให้แก่ลูกหลานหลายคน กลายเป็นพื้นที่ที่เล็กลง นอกจากนี้ คนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่ก็ไม่เอาอาชีพทำสวนแล้ว ได้สวนมาก็อยากขายหรือทำประโยชน์อย่างอื่นจากที่ดินมากกว่า

เมื่อประมาณ 20 ปีก่อน โครงการสวนกลางมหานครอนุรักษ์บางกะเจ้าไว้เป็นพื้นที่สีเขียวดำเนินการทั้งอนุรักษ์และพัฒนาท้องถิ่นควบคู่กันไป ถือได้ว่าเป็นส่วนผสมระหว่างการอนุรักษ์และพัฒนาที่ค่อนข้างสมดุล แต่มาในยุคปัจจุบัน เมื่อโลกเปลี่ยนไป ความเจริญของเมืองรอบข้างเปลี่ยนแปลงไป ดุลยภาพที่มีอยู่แต่เดิมก็เริ่มเสียไป ซึ่งไม่ใช่ความผิดของใคร เราจำเป็นต้องหาดุลยภาพใหม่ที่เป็นส่วนผสมของการอนุรักษ์และการพัฒนาที่เหมาะสมกับสภาพในปัจจุบัน

ปัญหาทำนองนี้เกิดขึ้นมาตลอดนั่นแหละ บนเส้นทางของกระบวนการเติบโตของชุมชนเมือง ในต่างประเทศ การอนุรักษ์พื้นที่ใดมักต้องให้ผลประโยชน์ชดเชย รวมทั้งต้องมีการบริหารจัดการพื้นที่อนุรักษ์นั้น ยกตัวอย่างเช่น หากการอนุรักษ์ชุมชนแบบดั้งเดิม ก็ต้องกำหนดพื้นที่เอาไว้ไม่มากเกินไปนัก และให้คนในพื้นที่ได้ผลประโยชน์จากการท่องเที่ยวอย่างเต็มที่ ซึ่งส่วนใหญ่พื้นที่อนุรักษ์ทำนองนี้มักเป็นการอนุรักษ์แบบการจัดแสดงมากกว่า เช่น บ้านเรือนภายนอกต้องเป็นแบบเก่าดั้งเดิม แต่ข้างในจะแอบตกแต่งหรูๆก็ได้ แต่อย่าให้นักท่องเที่ยวเห็น เป็นต้น ก็เหมือนกะเหรี่ยงคอยาว เดี๋ยวนี้มีแค่คนรุ่นเก่ามาโชว์นักท่องเที่ยวสองสามคนเท่านั้น สาวๆสมัยนี้ไม่มีใครยอมใส่ห่วงให้คอยาวแล้ว เป็นต้น

ดังนั้นเรื่องการอนุรักษ์บางกะเจ้า ลุงแมวน้ำคิดว่าต้องมองด้วยใจที่เป็นธรรม คิดถึงใจเขาใจเรา หากต้องการอนุรักษ์ปอดเอาไว้ ภาครัฐควรมีแผนบริหารจัดการที่ให้คนในชุมชนได้ประโยชน์และพัฒนาได้ตามที่พวกเขาต้องการด้วย เช่น ซื้อที่ดินเอาไว้เองเพื่อทำปอด ที่ดินบางส่วนก็ทำเป็นหมู่บ้านอนุรักษ์ รองรับนักท่องเที่ยว แต่พื้นที่อื่นก็อาจต้องปล่อยให้พัฒนาตามกระแสการพัฒนาไป จะได้ลดความเหลื่อมล้ำได้ ไม่ใช่ภาครัฐเองช่วยสร้างความเหลื่อมล้ำ หากการพัฒนาไปเพิ่มความเหลื่อมล้ำ ความขัดแย้งย่อมต้องตามมา และบานปลายไม่สิ้นสุด