เมื่อค่ำวาน หลังจากที่แสดงละครสัตว์รอบค่ำเสร็จ ลิงจ๋อก็ห้อยโหนกิ่งไม้ฝ่าความมืดมายังโขดหินของลุงแมวน้ำ อากาศยามกลางคืนหลังฝนตกชุ่มฉ่ำ เย็นสบาย น่านอนยิ่งนัก ลุงแมวน้ำอ่านหนังสือแล้วก็เผลอหลับไป มารู้สึกตัวอีกทีเมื่อรู้สึกว่ามีอะไรมาแยงที่จมูกจนจั๊กกระจี้
“ลุง ลุง ตื่นเถอะ นอนขี้เซาแบบนี้ใครมาอุ้มไปขายยังไม่รู้ตัวเลย” เสียงเรียกลุงแมวน้ำ
ลุงแมวน้ำลืมตา พบว่าเป็นลิงจ๋อนั่นเอง นายจ๋อกำลังเอาหางแยงจมูกลุงแมวน้ำอยู่
“นายจ๋อมาหาลุงเสียดึกดื่น มีอะไรหรือ” ลุงแมวน้ำถาม “ฮัดเช้ย”
“อยากจะถามลุงเรื่องหุ้นหน่อยน่ะครับ” ลิงพูด “สงสัยเรื่องที่ลุงพูดเมื่อวันก่อน”
“สงสัยว่ายังไงล่ะ” ลุงแมวน้ำถาม พร้อมกับอ้าปากหาวและกลิ้งไปมาบนโขดหิน “ลุงยังง่วงอยู่เลย”
“ผมเห็นลุงง่วงทั้งวันเลย วันหนึ่งนอน 20 ชั่วโมงได้มั้ง ยังนอนไม่พออีกหรือไง” ลิงพูด
“22 ชั่วโมงต่างหาก ก็อากาศมันน่านอนนี่นา” ลุงแมวน้ำพูดแก้ แล้ววกมาเข้าเรื่อง “วันก่อนลุงว่ายังไง นายจ๋อจึงได้สงสัย”
“ก็ที่ลุงบอกว่าให้หาหุ้นดีๆ ค่าพีอี (p/e ratio) ยังไม่สูงน่ะสิ” ลิงพูด “ไหนลุงบอกว่าเป็นสายเทคนิคไง สายเทคนิคไม่สนใจปัจจัยพื้นฐานไม่ใช่หรือครับ”
“มันทั้งใช่และไม่ใช่” ลุงแมวน้ำอธิบาย “คือสำนักการวิเคราะห์ทางเทคนิคนี้ก็มีความหลากหลาย มีสายย่อยๆอยู่ข้างในที่มีความแตกต่างกันเล็กๆน้อยๆอีก เพราะแต่ละคนย่อมพัฒนาเทคนิคและวิธีการของตนเองได้ตามแต่ประสบการณ์ของแต่ละคน พูดง่ายๆก็คือความรู้ย่อมเจริญงอกงามได้”
“แล้วยังไง” ลิงงง “ผมยังไม่เข้าใจเลย”
“ต้องอธิบายกันยาวหน่อย” ลุงแมวน้ำพูด “ลุงหมายความว่า เราไม่ควรตีกรอบจำกัดการต่อยอดความรู้ของเราเอง สำหรับลุงแล้ว มีเครื่องมืออะไรที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ ลุงก็นำมาใช้
“ที่จริงแล้วการวิเคราะห์ทางเทคนิคก็ย่อมอิงปัจจัยพื้นฐาน และการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานก็ย่อมอิงความรู้ทางเทคนิค น้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า เราจะไปจำกัดตนเองไปทำไม หากนำมาบูรณาการให้เหมาะสมได้ก็มีประโยชน์ยิ่งกว่าการใช้แนวทางเดียวอย่างใดอย่างหนึ่งเสียอีก” ลุงแมวน้ำพูด
“แน่ะ ใช้ศัพท์ทันสมัยเสียด้วย บูรณาการ ฮิฮิ” ลิงหัวเราะ
“ลุงก็ต้องทันสมัยหน่อยสิ ไม่อยากเป็นแมวน้ำตกยุค” ลุงแมวน้ำหัวเราะบ้าง แล้วพูดต่อ “แต่ก็นั่นแหละ การบูรณาการนั้นมันเป็นขั้นที่ยากขึ้นไปอีก ดังนั้น เครื่องมือทางเทคนิคก็มีเยอะแยะ เครื่องมือทางปัจจัยพื้นฐานก็มีมากเช่นกัน ดังนั้นการที่จะเลือกเอาเครื่องมือทั้งสองสายมาใช้ร่วมกันนั้นเป็นขั้นพัฒนา ผู้ใช้ต้องมีพื้นฐานที่ดีมาก่อน ดังนั้นลุงจึงมักบอกเสมอว่า หากเพิ่งเริ่มต้นศึกษา จะเลือกศึกษาสำนักใดก็ศึกษาแนวทางเดียวไปก่อน เพื่อไม่ให้สับสนหรือว่าความรู้ตีกันเอง ต่อมาเมื่อมีประสบการณ์แล้ว ในขั้นต่อยอดก็ย่อมสามารถใช้เครื่องมือของทั้งสองสายร่วมกันตามความเหมาะสมได้ อย่างเช่น เรื่องที่ลุงบอกเมื่อวันก่อนว่าควรเลือกหุ้นดีๆ พีอีต่ำๆนั่นไง”
“ลุงแมวน้ำขยายความหน่อยสิ ว่าทำไมจึงบอกยังงั้น” ลิงจ๋อยังสงสัย
“ก็เพราะว่าตอนนี้เป็นคลื่น 5 ย่อยไง หากมองทางเทคนิค ลุงก็ว่าน่าจะปลายคลื่น 5 แล้วด้วยซ้ำ การเข้าลงทุนตอนนี้ถือว่าเสี่ยงสูง เนื่องจากคลื่น 5 พร้อมจะจบได้ทุกเมื่อ” ลุงแมวน้ำอธิบาย “แต่เมื่อลุงเอากราฟตลาดหุ้นอเมริกามาให้ดู ก็ดังที่นายจ๋อเห็นว่าตลาดหุ้นอเมริกาขึ้นต่อเนื่อง 2 ปีกว่า โดยยังไม่ยอมจบคลื่นเสียที ผลของคิวอีทำให้ตลาดหุ้นเบี่ยงเบนผิดเพี้ยนไป ดังนั้น ก็อาจเป็นไปได้ว่าตลาดหุ้นไทยยังค่อยๆขึ้นได้อีกนาน คือคลื่น 5 ต่อขยายไปได้อีกหลายเดือน และหากเป็นดังนั้น เราก็อาจเสียจังหวะการลงทุนไปช่วงใหญ่ เรื่องอนาคตแบบนี้ไม่มีใครรู้จริงหรอก ดังนั้นหากจะเข้าลงทุนต่อก็ต้องบริหารความเสี่ยง เลือกวิธีการที่ลดความเสี่ยงให้เหลือน้อยลง”
“คลื่น 5 ส่วนต่อขยาย ลุงพูดยังกะรถไฟฟ้า” ลิงจ๋อหัวเราะขำ “ทางสายเทคนิคที่ลุงแมวน้ำใช้อยู่ มีสัญญาณซื้อขายกำกับอยู่แล้ว หากผิดทางก็มีจุดตัดขาดทุนแน่นอน ลุงกำหนดจุดขายเอาไว้แล้วยังไม่ดีพออีกหรือครับ”
“การเลือกหุ้นที่มีพื้นฐานดีจะช่วยให้เรามั่นใจได้มากขึ้น และลดความเสี่ยงลงได้อีก” ลุงแมวน้ำตอบ
“เอ๊ะ ยังไง” ลิงยังไม่เข้าใจ
“สมมติว่านายจ๋อจะซื้อกล้วยสักหวีหนึ่ง นายจ๋อไม่ชอบกล้วยสุกงอม ดังนั้นนายจ๋อก็กำหนดเอาไว้ว่าเมื่อไรที่เปลือกล้วยเริ่มมีสีคล้ำ นายจ๋อต้องรีบกินให้หมด ไม่อย่างนั้นจะงอมและต้องทิ้งไป สีของเปลือกกล้วยคือจุดตัดขาดทุนของนายจ๋อ ลุงอุปมาแบบนี้พอนึกออกไหม” ลุงแมวน้ำอธิบาย
“พอพูดเรื่องกล้วยผมก็นึกออกเชียว” ลิงจ๋อแกว่งหาง “พอนึกออกแล้ว”
“ถ้าหากนายจ๋อซื้อกล้วยน้ำว้าเปลือกสีเหลืองจัด อายุการเก็บจะเหลือน้อย แล้วกล้วยก็จะงอม หากกินไม่ทันก็ต้องทิ้งไป แต่หากซื้อกล้วยเปลือกเขียวมา อายุการเก็บจะนานขึ้น นายจ๋อจะมีเวลาค่อยๆกิน ไม่ต้องทิ้งให้เสียของ ถูกไหม” ลุงแมวน้ำถามอีก
“ถูกต้องนะคร้าบ” ลิงตอบ
“นั่นแหละ การใช้ปัจจัยพื้นฐานเข้ามาช่วย เช่นค่า พีอี ก็เหมือนการที่เราได้กล้วยเขียวมานั่นเอง แม้จุดตัดขาดทุนคือกล้วยเริ่มสีคล้ำ แต่หากเราได้กล้วยเขียวมาก็ย่อมดีกว่าได้กล้วยเหลืองมา อุปมาอุปมัยอย่างนี้พอนึกออกหรือยัง ลุงอาจจะเปรียบเทียบได้ไม่ดีนัก แต่ความหมายก็คือยังงั้นนั่นแหละ” ลุงแมวน้ำพูด
“ครับ ผมพอเข้าใจแล้ว” ลิงจ๋อพูด พลางหยิบกระดาษออกมาแผ่นหนึ่งจากย่ามข้างๆตัว “หลังจากที่ลุงพูดเมื่อันก่อน ผมก็ลองไปเลือกหาหุ้นที่ค่าพีอีต่ำๆดู ได้หุ้นตัวนี้มา ปี 2013 รายได้เติบโตฟินเว่อ พีอีก็ต่ำเร้าใจ ตัวนี้ดีเลยใช่ไหมลุง”
ลุงแมวน้ำดูกราฟที่นายจ๋อยหยิบออกมา เห็นเป็นดังนี้
หุ้นบานานาแลนด์มีค่าพีอี ณ สิ้นปี 2012 เป็น 45.88 เท่า ผลจากรายได้ที่เติบโตสูงในปี 2013 ทำให้พีอี ณ สิ้นปี 2013 เหลือเพียง 7.81 เท่า ซึ่งต่ำลงมาก |
“หุ้นอะไรเนี่ย” ลุงแมวน้ำถาม
“หุ้นบานานาแลนด์ ทำกิจการสวนกล้วยครับ” ลิงตอบ “ลุงดูสิ รายได้ปี 2013 เทียบกับปี 2012 โตตั้ง 256% ค่าพีอีที่เดิมเป็นสี่สิบกว่าเท่า ก็ลดลงมาเหลือเพียง 7.8 เท่า ต่ำมากเลย ความหมายของลุงก็คือต้องเลือกหุ้นแบบนี้ใช่ไหม”
“รายได้โตฟินเว่อ ภาษาทันสมัยเสียด้วย” ลุงแมวน้ำหัวเราะ “นายจ๋อยกหุ้นนี้มาคุยกับลุง ดีมากทีเดียว นี่เป็นหุ้นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ”
“ผมก็ว่าดี” ลิงพูดอย่างภูมิใจ “เมื่อวานจึงลุยเข้าไปแล้ว เต็มพุงเลย”
“อ้าว ซื้อไปแล้วเหรอ” ลุงแมวน้ำอึ้งไป
“มีอะไรหรือลุง” ลิงเริ่มเสียงจ๋อย “อย่าบอกนะว่ามีปัญหา... ไหนว่าเป็นหุ้นที่น่าสนใจไง”
“ลุงบอกว่าเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจต่างหาก” ลุงแมวน้ำพูด “นี่แหละ ที่ลุงบอกว่าการเลือกใช้เครื่องมือหลายๆอย่างประกอบกัน ต้องรู้จักวิธีใช้และวิธีตีความด้วย ไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือทางเทคนิคผสมกับปัจจัยพื้นฐาน หรือแม้แต่การใช้เครื่องมือทางเทคนิคหลายๆอย่างร่วมกันก็ตาม หากไม่เข้าใจวิธีใช้งานและวิธีตีความก็ย่อมเป็นผลเสียได้
“เรื่องรายได้โต พีอีต่ำนั้นถือเป็นเรื่องดี แต่รายได้โต พีอีต่ำ ที่เป็นหลุมพรางสำหรับนักลงทุนก็มีอยู่เช่นกัน”
“อ้าว ไหงเป็นยังงั้น” ลิงจ๋อหน้าเสีย “นี่ลุงกำลังจะบอกว่าผมตกหลุมพรางแล้วชิมิ แต่ข้อมูลพวกนี้ผมเอามาจากเว็บไซต์ของตลาดหลักทรัพย์เชียวนะ”
“เอาล่ะ นายจ๋อ ใจเย็นๆ ฟังลุงอธิบายก่อน” ลุงแมวน้ำพูด “ ก่อนอื่นเรามาทวนกันก่อน ว่าค่าพีอี หรือ p/e ratio นั้น คำนวณมาจากอะไร มาจาก ราคาหุ้น หารด้วย กำไรสุทธิต่อหุ้น ถูกไหม”
“ครับ ลุง”
“กำไรสุทธิต่อหุ้นมาจากไหนล่ะ ก็คำนวณมาจากรายได้ ถูกไหม หากรายได้โต กำไรสุทธิก็ควรโตด้วย อันนี้พูดตามหลักทั่วๆไป” ลุงแมวน้ำพูดอีก
“ใช่แล้วลุง” ลิงตอบ
“ดังนั้น ถ้าราคาหุ้นนิ่งๆ ไม่ไปไหน แต่ว่ารายได้เติบโตดี กำไรสุทธิก็ย่อมสูงตาม เวลาเอามาคำนวณพีอี ก็ควรได้ค่าพีอีที่ต่ำลง ดูจูงใจให้ลงทุน ถูกไหม” ลุงแมวน้ำทวนอีก
“ก็ใช่อีกครับ” ลิงตอบ
“ลุงเอาข้อมูลของบริษัท PTT มาให้นายจ๋อดูเป็นตัวอย่าง นี่ลุงเอามาจากเว็บไซต์ตลาดหลักทรัพย์เช่นกัน นายจ๋อดูข้อมูลของบริษัท Banana Land จากที่นี่เช่นกัน ใช่ไหม” ลุงแมวน้ำพูดพลางพยิบเอากระดาษแผ่นหนึ่งออกมาจากหูกระต่าย แล้วชี้ให้ดูในกรอบไฮไลต์สีเหลืองกับสีฟ้า “นายจ๋อดูตัวเลขรายได้จากช่องนี้ และกำไรสุทธิต่อหุ้นจากช่องนี้ใช่ไหม ที่ว่าเติบโตฟินเว่อน่ะ”
ตัวอย่างผลประกอบการอย่างย่อที่แสดงไว้ในเว็บไซต์ของตลาดหลักทรัพย์ ไฮไลต์สีเหลืองคือรายได้รวมของกิจการ ส่วนไฮไลต์สีฟ้าคือกำไรสุทธิต่อหุ้น (eps) อนึ่ง รายได้รวมนั้นคำนวณจากรายได้ทุกอย่างของกิจการ |
“ใช่ครับลุง ตรงนี้แหละ”
“เอาล่ะ ลุงจะบอกว่า นี่แหละ กับดักนักลงทุน” ลุงแมวน้ำพูด “ข้อมูลเหล่านี้คือรายได้รวม รายได้รวมหมายความรวมไปถึงรายได้จากการดำเนินธุรกิจหลัก และรายได้พิเศษต่างๆ หรือที่เรียกว่ารายได้อื่นๆ เอามารวมกัน กำไรสุทธิต่อหุ้น (eps) ก็คำนวณจากฐานของรายได้รวม ดังนั้นโดยหลักการแล้วหากรายได้รวมโต ค่า eps ก็ควรโตตามด้วย”
“แล้วยังไงครับ”
“ทีนี้ประเด็นอยู่ที่รายได้พิเศษหรือที่เรียกว่ารายได้อื่นๆนี่แหละ รายได้อื่นๆนี้คือรายได้ที่ไม่ใช่ธุรกิจหลัก มักเป็นรายได้ที่เกิดขึ้นแล้วจบไป ไม่ใช่รายได้ต่อเนื่อง มักเป็นการขายสินทรัพย์ของกิจการ ยกตัวอย่างเช่น การขายตึกหรือการขายที่ดินของกิจการ กิจการบางรายมีที่ดินอยู่มาก เมื่อมีโอกาสก็ขายออกไปบ้าง รายได้จากการขายที่ดินก็ต้องนำมาคิดเป็นค่า eps ด้วย รายได้ในปีนั้นก็ดูโตอลังการดี แต่ก็เกิดขึ้นเฉพาะในปีนั้นเท่านั้น หากปีอื่นๆไม่ได้ขายสินทรัพย์อะไรอีก ปีต่อไปรายได้จะตกวูบเชียวล่ะ” ลุงแมวน้ำอธิบาย
“อูย” ลิงคราง “แล้วบานานาแลนด์ของผมล่ะ”
ลุงแมวน้ำหยิบกระดาษออกมาอีกแผ่นหนึ่ง
“เอ้า ดูนี่ ลุงมีภาพที่คล้ายๆกราฟของนายจ๋อ แต่ละเอียดกว่า” ลุงแมวน้ำพูด “ที่นายจ๋อบอกว่ารายได้ฟินเว่อนั่นเกิดจากการขายที่ดินของกิจการบานานาแลนด์ กราฟนี้ดูเหมือนของนายจ๋อหมด ยกเว้นมีเส้นสีฟ้า เส้นนั้นคือกราฟของรายได้ที่แท้จริงจากธุรกิจซื้อขายกล้วยโดยไม่รวมรายได้จากการขายที่ดิน ซึ่งหากพิจารณาเส้นสีฟ้าจะเห็นว่ารายได้จากธุรกิจหลักคือการสวนกล้วยไม่ได้เติบโตเลย ปี 2012 รายได้ตกเมื่อเทียบกับปี 2011 จากนั้นปี 2013 ค่อยกระเตื้องขึ้น แต่เมื่อเทียบกับปี 2011 ก็แค่ทรงตัว ไม่ได้เติบโต ดังนั้นหากมองความสามารถในการเติบโตของธุรกิจแล้วลุงว่าต้องระวังให้ดี เพราะกิจการไม่โตมาสองสามปีแล้ว”
“อูย อูย อูย” ลิงจ๋อคราง “โดนอีกแล้ว แล้วทำไมลุงไม่บอกผม”
“อ้าว ตอนนายจ๋อซื้อก็ตัดสินใจเองนี่ มาโทษอะไรลุงล่ะ” ลุงแมวน้ำพูด “นี่แหละ ลุงถึงได้บอกว่ามีเครื่องมือก็ต้องเข้าใจวิธีการใช้และตีความด้วย เรื่องกำไรเติบโตดีมากๆ หรือพีอีต่ำมากๆนั้น ต้องมาดูรายละเอียดว่าโตจากธุรกิจหลักหรือรายได้พิเศษอื่นๆ หากโตจากธุรกิจหลักจึงจะถือว่าน่าสนใจ”
“แล้วลุงยังมีอะไรจะเตือนผมอีกไหมเนี่ย” ลิงถอนหายใจเฮือก
“ก็มีนิดหน่อย นี่แหละ ที่เรียกว่ากับดักรายได้โต หรือกับดักพีอีต่ำ บางกิจการก็เกิดขึ้นโดยสุจริต หมายความว่ากิจการขายสินทรัพย์และลงบัญชีเป็นไปตามครรลองธุรกิจปกติ แต่ในบางบริษัทก็อาจเกิดจากเจตนาอำพรางได้ คือกิจการที่ธุรกิจย่ำแย่ หากต้องการให้ผลประกอบการดูดี จูงใจให้นักลงทุนเข้ามาลงทุน ก็อาจขายสินทรัพย์ออกมาในปีที่ธุรกิจแย่ๆเพื่ออำพรางผลขาดทุนจากธุรกิจหลัก ก็เป็นไปได้ เมื่อใครเข้ามาดูตัวเลขแบบฉาบฉวยก็เข้าใจผิดไป
“นอกจากนี้ จากนี้ต่อไป เราจะมีกองทุนอสังหาริมทรัพย์ที่เรียกว่ากองทุนรีต (REIT) รวมทั้งยังมีกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานอีก กิจการในตลาดหุ้นหลายๆบริษัทก็อาจขายทรัพย์สินให้แก่กองทุนรวมเหล่านี้ บริษัทเหล่านี้ก็จะมีรายได้พิเศษโตเว่ออันเกิดจากการขายสินทรัพย์ ทำให้ผลประกอบการดูดีมากๆ พีอีอาจลดฮวบฮาบเลย ก็ต้องระวังให้ดี หากจะดูต้องดูให้ถึงไส้ในคือรายการที่เป็นรายได้พิเศษด้วย เพราะรายการพวกนี้ไม่ใช่การดำเนินธุรกิจหลัก อย่าลืมเสียล่ะ” ลุงแมวน้ำสรุป
“ช้าไปแล้วละลุง ฮือ” ลิงจ๋อเศร้า หางตกห้อย “โดนอีกแล้ว”
No comments:
Post a Comment