ช่วงนี้ลุงแมวน้ำกำลังเขียนบทความเกี่ยวกับมุมมองเศรษฐกิจและการลงทุนอยู่ ดังที่ลุงแมวน้ำเคยเล่าให้ฟังมาแล้ว เดิมทีว่าจะโพสต์ได้ตั้งแต่ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ก็มีเรื่องนั้นเรื่องนี้เข้ามาแทรกอยู่ตลอด จึงยังไม่ได้โพสต์สักที
ลุงแมวน้ำมาคิดดูใหม่ เดิมทีว่าจะเขียนเป็นบทความค่อนข้างยาว เนื่องจากมุมมองเศรษฐกิจและการลงทุนแบบมหภาคนั้นครอบคลุมเศรษฐกิจของหลายกลุ่ม หลายประเทศ อาจจะมีสัก 10-20 ตอน แต่เมื่อมาทบทวนดูแล้วลุงเห็นว่าเขียนเป็นซีรีส์ยาวแบบนี้อาจจะดูน่าเบื่อไปหน่อย จึงมาเปลี่ยนความคิดใหม่ว่า เอาเรื่องราวที่คิดจะเล่าเป็นซีรีส์ยาวมาแบ่งซอยเป็นหัวข้อ แล้วแบ่งเขียนหัวข้อละสองสามตอนจบดีกว่า แต่ละเรื่องเกี่ยวของกัน แต่ว่าก็อ่านจบในตัวเองได้ แบบนี้น่าจะคล่องตัวกว่า ^_^
สำหรับวันนี้ เนื่องจากช่วงนี้เป็นฤดูกาลประกาศผลประกอบการไตรมาสสอง ทำให้นึกขึ้นได้ว่ามีเรื่องอยากเล่าอยู่เรื่องหนึ่ง แต่ก็ยังหาโอกาสเล่าไม่ได้สักที เล่าในช่วงประกาศผลประกอบการที่แหละ กำลังดีเลย
ลุงแมวน้ำคิดชื่อเรื่องในวันนี้ไว้หลายชื่อ เช่น "กับดักนักเทคนิค", "อย่ามั่นใจในเทคนิคมากจนเกินไป" ฯลฯ คิดเอาไว้หลายชื่อ แต่สุดท้ายก็เลือกเอาชื่อเรื่อง "วิเคราะห์ทางเทคนิครู้ข่าวได้ก่อน"
ประเด็นก็คือ นักลงทุนมักชอบติดตามข่าวสารเกี่ยวกับตัวหุ้นอยู่เสมอ และก็มักเก็งกำไรหุ้นจากข่าวต่างๆ บางคนก็ได้ข่าวประเภทอินไซด์ ซึ่งเป็นอินไซด์ที่รู้กันทั้งประเทศหรือปิดกันให้แซ่ดนั่นแหละ แล้วก็คิดว่าเรื่องนี้ยังไม่มีใครรู้ อินไซด์จริงๆว่างั้นเถอะ สุดท้ายก็พลาดเพราะรู้กันทั้งประเทศแล้วจะมีกำไรที่ไหนเหลือให้เราล่ะ >.<
แต่ในบางครั้ง การเคลื่อนไหวของราคาหุ้นที่ผิดปกติ หากใช้การวิเคราะห์ทางเทคนิคก็อาจเตือนนักลงทุนได้ล่วงหน้าก่อนที่จะรู้ข่าวก็ได้ เราลองมาดูกัน ค่อยๆดูไปทีละภาพนะคร้าบ ภาพมาก่อน คำบรรยายตามหลัง อย่าแอบอ่านล่วงหน้า
สมมติว่าหุ้นนี้ชื่อ X ละกัน ไม่ต้องรู้ชื่อหุ้นนี้ดีกว่า เพราะจะทำให้ร้องอ๋อ
ตอนต้นปี 2012 หุ้น หุ้นนี้เริ่มมีรูปแบบทางเทคนิคที่น่าสนใจเพราะว่า อาจกำลังเข้าคลื่น 1 หรือเข้าคลื่น B ก็ได้ ยังไม่ชัดเจน
หากเข้าคลื่น B แปลว่าคลื่นที่ผ่านมาเป็น A ก็ยังไม่น่าสนใจนัก
แต่หากเข้าคลื่น 1 ก็จะน่าสนใจมาก เนื่องจากเป็นการเริ่มต้นขาขึ้นรอบใหม่ ซึ่งแปลว่ายังขึ้นได้อีกมาก
เรายังไม่รู้หรอก ต้องตามดูกันไปก่อน
เวลาผ่านไป รอดูไปเรื่อยๆจนปลายปี 2012 ภาพนี้แหละ เป็นรูปแบบที่นักเทคนิคค้นหากันว่าหุ้นตัวใดเกิดรูปแบบเช่นนี้บ้าง เพราะเป็นจังหวะที่น่าเข้าลงทุนมากที่สุด นั่นก็คือ หุ้นที่กำลังเข้าคลื่น 3 โอ พบแล้ว
จากภาพนี้ เราค่อยๆนับคลื่น ตามราคาไป จะเห็นว่าราคาแถวๆปลายปี 2011 น่าจะจบคลื่น C แล้ว และคลื่นทำคลื่น 1 แล้วตอนต้นปี 1012 ตรงที่เป็น 1 นั้นเดิมทีเราสงสัยว่าเป็น B หรือเป็น 1 แต่รูปแบบน่าจะเป็น 1 มากกว่า และปัจจุบันน่าจะอยู่ที่คลื่น 2 หรืออาจกำลังเข้าคลื่น 3 ก็ได้
แต่ช้าก่อน นักเทคนิคอย่าเพิ่งเข้าลงทุน ต้องรอให้ชัดก่อนว่าใช่คลื่น 3 หรือไม่
รอดูไปอีกหน่อย จนต้นปี 2013 ราคาผ่านยอดคลื่นเดิมไปได้ แสดงว่าตอนนี้น่าจะเข้าคลื่น 3 จริงๆแล้วล่ะ ถ้าอย่างนั้นลุยเลยยยยยยยย...
ต่อมา ราวกลางปี 2013 ราคาหุ้นเกิดร่วงลงมา และเกิดสัญญาณขาย นักเทคนิคผู้มั่นใจในรูปแบบทางเทคนิคย่อมคิดว่าเมื่อเป็นคลื่น 3 แล้วก็ต้องไปต่อแน่นอน นี่เป็นแค่คลื่นย่อยขาลงหรือการปรับฐาน (correction) เท่านั้น เย็นใจได้ คลื่น 3 ต้องแรงและได้กำไร !!!
ต่อมา ราคาหุ้นยังร่วงไม่หยุด ราคาไหลลงจนนับคลื่นไม่ถูก เพราะไม่เป็นไปตามตำราคลื่น 3 พอมีเด้งหน่อย ก็เกิดอาการดีใจเพราะคิดว่ายังเป็นคลื่น 3 น่าจะไปต่อเสียที
แต่ที่ไหนได้ พองบการเงินไตรมาส 2 ประกาศออกมา ผลประกอบการขาดทุนหนักแบบผิดคาด ราคายิ่งร่วงไหลลงมาไม่หยุด สุดท้าย ลงไปแถวๆ 15
กรณีศึกษานี้ลุงแมวน้ำอธิบายว่า นี่แหละ กรรม หรือว่าการกระทำ ก่อให้เกิดรูปแบบทางเทคนิค ราคาที่ไหลลงมาน่าจะเป็นเพราะว่ามีผู้ที่สามารถคาดการณ์ได้ว่าผลประกอบการณ์ของหุ้นนี้เป็นอย่างไร จึงทยอยขายออกมาอย่างต่อเนื่อง
เมื่อราคาไหลลงต่อเนื่อง รูปแบบทางเทคนิคก็เสียหาย หากนักเทคนิคยึดมั่นกับคำว่าคลื่น 3 โดยไม่ยอมหนี สุดท้ายก็ขาดทุนอ่วม
ส่วนนักลงทุนที่ใช้รูปแบบทางเทคนิค และมีความยืดหยุ่น ก็มองว่ารูปแบบทางเทคนิคนั้นมักมีข้อยกเว้นเสมอ ในกรณีนี้ก็อธิบายได้ง่ายๆว่าคลื่น 3 ไม่สำเร็จ ก็เป็นคลื่นล้มเหลว (failed wave 3) นั่นเอง เมื่อรูปแบบทางเทคนิคเสียหายไป ก็ต้องมาไล่นับคลื่นกันใหม่
เมื่อผลประกอบการออกมา สายปัจจัยพื้นฐานก็ต้องตีความงบว่าขาดทุนหนักขนาดนี้แสดงว่าพื้นฐานธุรกิจอาจเปลี่ยนไปแล้ว และอาจต้องตัดสินใจขายขาดทุน
ลองคิดดูเล่นๆ หากเป็นนักเทคนิคที่ใช้ระบบสัญญาณซื้อขาย กลุ่มนี้คงหนีได้เร็วกว่าเพื่อน ขาดทุนน้อยที่สุด เนื่องจากสัญญาณซื้อขายเหมือนกับเซฟทีคัท คือช่วยชีวิตเอาไว้ได้
กลุ่มถัดมาน่าจะเป็นนักเทคนิคที่มั่นใจจนเกินควร กว่าจะได้คิดก็อาจขาดทุนหนัก
กลุ่มสุดท้าย น่าจะเป็นนักลงทุนที่ตัดสินใจลงทุนหรือไม่ลงทุนจากงบการเงิน หรือสายปัจจัยพื้นฐานนั่นเอง น่าจะขาดทุนมากที่สุด (ที่จริงพูดยาก สายพื้นฐานก็อาจขาดทุนน้อยที่สุดก็ได้ เพราะงบการเงินไตรมาสก่อนหน้าก็มีลางบอกเหตุออกมาบ้าง ขึ้นกับดุลพินิจของนักลงทุน หากเห็นลางบอกเหตุแล้วหนีก็อาจจะหนีได้เร็วกว่าเพื่อนก็ได้ แต่หากไม่หนี มาหนีเอาไตรมาสนี้ก็คงหนักกว่าเพื่อน)
ลุงแมวน้ำอยากฝากเตือนนักลงทุน ทั้งสายเทคนิคและปัจจัยพื้นฐานว่า รูปแบบราคาที่ผิดปกติ มักบ่งบอกถึงสัญญาณอะไรบางอย่าง ซึ่งสัญญาณนี้เร็วกว่าข่าวสารที่นักลงทุนรายย่อยอ่านตามหนังสือพิมพ์เสียอีก ดังนั้น หากราคาปิดปกติมากๆ ก็เท่ากับหุ้นส่งสัญญาณอันตรายออกมาก อย่าละเลยสัญญาณนี้ อย่าติดยึดกับรูปแบบหรือตำราจนเกินไป อะไรก็เกิดขึ้นได้ในตลาดหุ้น รวมทั้งอย่าหวังเงินปันผลจนขาดทุนหนักจากราคาหุ้น เพราะอาจไม่คุ้มกัน
2 comments:
ขอบคุณครับคุณลุง แบบนี้ ก็ต้องลบเวฟนับใหม่ใช่มั๊ยครับ จากที่เราคิดว่า ก้นแรกเป็น C พอมันเฉลยออกมากลายเป็น A ส่วน Failedเวฟ3กลายเป็น B ไป
ในความเห็นของลุง หากหุ้นใดมีรูปแบบทางเทคนิคไม่ปกติ ก็ไม่พยายามนับ เพราะมันไม่ปกติ นับไปก็อาจไม่ใช่ก็ได้ คลื่นที่ผ่านไปแล้วก็ปล่อยไป พยายามหาจุดตั้งต้นเพื่อที่จะนับคลื่นในรอบใหม่ดีกว่า
ข้อสังเกตในการหาจุดตั้งต้นเพื่อนับคลื่นในรอบใหม่ก็คือ หุ้นนั้นควรอยู่ในอาการสลบไสลมานานพอสมควร กราฟจะลากหางยาว นิ่งๆ ไม่แกว่ง (ก็คือราคานิ่งไม่ไปไหนนานๆนั่นเอง) หากเห็นอาการสลบแบบนี้กินเวลานาน ก็ให้ถือว่าจบคลืน c ไปเลย เมื่อไรที่ราคาเริ่มวิ่งอีก ก็ถือเป็นคลื่นรอบใหม่ นับเป็นคลื่น 1 คร้าบ
Post a Comment