เมื่อกฎหมายผังเมืองสมุทรปราการ พ.ศ. 2556 ประกาศใช้ บางกะเจ้าก็กลายเป็นข่าวใหญ่ |
ในตอนที่แล้วลุงแมวน้ำพาขี่จักรยานชมเรือกสวนและตลาดน้ำในบางกะเจ้ากันไปแล้ว ในตอนนี้ลุงแมวน้ำจะพาไปชมสวนศรีนครเขื่อนขันธ์อันเป็นสวนสาธารณะที่สงบ ร่มรื่น อีกทั้งยังเป็นแหล่งดูนกและผีเสื้ออีกด้วย
ชมสวนศรีนครเขื่อนขันธ์
สวนศรีนครเขื่อนขันธ์หรือเรียกสั้นๆว่าสวนศรีฯนี้เป็นสวนสาธารณะที่มีพื้นที่ประมาณ 200 ไร่ โดยชื่อสวนศรีนครเขื่อนขันธ์นี้มีที่มาจาก นครเขื่อนขันธ์ อันเป็นชื่อโบราณของพระประแดงนั่นเอง
เมืองนครเขื่อนขันธ์นี้เป็นเมืองที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 2 โดยเป็นเมืองหน้าด่านปากแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อป้องกันการรุกรานทางทะเลของข้าศึก ชนพื้นเมืองเดิมของนครเขื่อนขันธ์เป็นชาวรามัญหรือมอญที่โยกย้ายมาจากปทุมธานี ต่อมาจึงกลายมาเป็นอำเภอพระประแดงในปัจจุบัน
สวนศรีฯนี้ได้มาจากการซื้อพื้นที่สวนผลไม้เก่ามาพัฒนา ในการพัฒนาเพื่อปรับปรุงเป็นสวนสาธารณะก็ยังคงอนุรักษ์รูปแบบของร่องสวนเดิมเอาไว้ด้วย ดังนั้นสวนศรีฯนี้จึงมีลักษณะเด่นคือยังมีเค้าของเรือกสวนอยู่
นอกจากนี้ แถบนี้ยังมีนกและผีเสื้อหลายชนิด ดังนั้นสวนสาธารณะแห่งนี้จึงเป็นแหล่งศึกษาธรรมชาติใกล้กรุงเทพฯอีกด้วย
เรามาชมภายในสวนศรีฯกัน ภาพมาก่อน คำบรรยายตามหลังนะคร้าบ
ทางเข้าสวนศรีนครเขื่อนขันธ์
แผนที่ภายในสวนสาธารณะ
สวนศรีฯนี้บรรยากาศดีมาก ท้องฟ้าสดใส อากาศสดชื่น ลมพัดเย็นสบาย อากาศที่นี่สดชื่นกว่าอากาศที่สวนลุมอย่างรู้สึกได้
เนื่องจากสวนสาธารณะนี้พัฒนามาจากสวนผลไม้เก่า ดังนั้นจึงยังคงมีเค้าของเรือกสวนอยู่ อย่างเช่นร่องสวนเดิม นับเป็นสวนสาธารณะที่มีภูมิทัศน์แปลกตาทีเดียว
บึงน้ำใหญ่กลางสวนศรีฯ เชื่อมต่อกับแนวร่องสวนเดิม และมีถนนกับสะพานเชื่อมโดยรอบ น่าขี่จักรยานมาก
ศาลาพักผ่อน บรรยากาศดีมาก วิวสวย ลมพัดเย็นสบาย นั่งแล้วอยากหลับสักงีบ ไม่อยากเดินต่อเลย >.<
หอชมวิว สูง 7 เมตร ใช้ชมวิวโดยรอบ รวมทั้งใช้เป็นจุดชมนก แถวนี้มีนกและผีเสื้อเยอะทีเดียว
สวนศรีนครเขื่อนขันธ์นี้เป็นจุดสุดท้ายสำหรับการท่องเที่ยวในวันหยุดของเรา หลังจากที่ลุงขี่จักรยานชมสวนเสร็จแล้วลุงก็นำจักรยานไปคืน และกลับไปที่ท่าเรือเพื่อข้ามฝั่งไปยังคลองเตย
แต่ยังก่อน เรื่องราวของบางกะเจ้ายังไม่ได้หมดลงแต่เพียงเท่านี้ กฎหมายผังเมืองสมุทรปราการฉบับใหม่ ปี 2556 ที่ประกาศใช้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2557 ที่ผ่านมา ทำให้บางกะเจ้ากลายเป็นประเด็นร้อนของคนในพื้นที่และนักอนุรักษ์ขึ้นมาทันที และถือเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจของความขัดแย้งบนเส้นทางการอนุรักษ์และพัฒนา เรามาดูรายละเอียดกัน
ผังเมืองสมุทรปราการ 2556 ทำบางกะเจ้าร้อน
ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจกันก่อนว่าในผังเมืองจังหวัดสมุทรปราการฉบับก่อนๆ คือตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537, 2544 ก็ได้กำหนดให้พื้นที่ 6 ตำบลในอำเภอพระประแดงในส่วนกระเพาะหมู ที่เรียกรวมๆกันว่าเป็นพื้นที่บางกะเจ้านั้นเป็นพื้นที่เกษตรกรรม เพราะโดยเจตนาแต่ดั้งเดิมนั้นพื้นที่บางกะเจ้าถูกวางบทบาทและหน้าที่่ให้เป็นพื้นที่สีเขียวเพื่อเป็นปอดของกรุงเทพฯและพื้นที่ใกล้เคียง แต่ในเชิงกฎหมายหรือในเชิงวิชาการ พื้นที่่ในบางกะเจ้านั้นแบ่งย่อยเป็น 2 โซน คือ
ที่ดินประเภท ก.1 ที่ดินประเภทอนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม สัญลักษณ์ในแผนที่ผังเมืองจะเป็นสีขาวมีเส้นทแยงสีเขียว หรือที่เรียกสั้นๆว่าพื้นที่ขาวทแยงเขียว
ที่ดินประเภท ก.3 ที่ดินชนบทและเกษตรกรรม สัญลักษณ์ในแผนที่ผังเมืองจะเป็นพื้นที่สีเขียว
ลุงแมวน้ำจะไม่ลงรายละเอียดให้ลึกนัก เอาแต่เพียงคร่าวๆว่าสองโซนนี้มีการควบคุมการใช้สอยที่ดินใกล้เคียงกัน เพียงแต่ว่าโซน ก.1 จะมีการควบคุมที่เข้มงวดกว่า มีข้อห้ามมากกว่าบ้าง ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นที่ดินประเภทอนุรักษ์ ดังนั้นจึงเข้มงวดกว่า ก.3 บ้าง
ผังเมืองของบางกะเจ้า ปี 2556 ความแตกต่างอยู่ที่พื้นที่ ก.3 การใช้ประโยชน์ในกิจกรรมรอง จาก 5% เป็น 15% |
ทีนี้ในกฎหมายผังเมืองนั้นกำหนดการใช้ที่ดินเอาไว้เป็นหลายประเภท ซึ่งแสดงด้วยสีต่างๆในแผนที่ผังเมือง ยกตัวอย่างเช่น ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัย (สีเหลือง ส้ม และน้ำตาล) ที่ดินประเภทพาณิชยกรรม (สีแดง) ที่ดินประเภทอุตสาหกรรม (สีม่วง) ที่ดินอนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม (สีขาวทแยงเขียว) กับที่ดินเชนบทและเกษตรกรรม (สีเขียว) เป็นต้น
เมื่อมองในภาพกว้างก็จะเห็นว่าบางกะเจ้านั้นถูกกำหนดให้เป็นโซนเกษตรกรรม พื้นที่ส่วนใหญ่ต้องใช้ทำการเกษตร และส่วนน้อยเอาไว้ปลูกสร้างบ้านเรือน โดยไม่สามารถทำหมู่บ้านจัดสรร คอนโดมิเนียม หรือโรงงานอุตสาหกรรมได้
ทีนี้ประเด็นก็อยู่ตรงที่ผังเมืองสมุทรปราการใหม่ ฉบับปี 2556 ที่ประกาศเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2557 นั้นมีการผ่อนคลายข้อกำหนดการใช้พื้นที่สีเขียว ก.3 ซึ่งจากเดิมอนุญาตให้ใช้พื้นที่ทำกิจกรรมรอง (กิจกรรมหลักคือการเกษตร ส่วนกิจกรรมรองคือการใช้สอยอื่นๆ เช่น ปลูกสร้างบ้านเรือน ฯลฯ) ได้ 5% ของพื้นที่สีเขียวทั้งหมด ก็ได้ผ่อนคลายขยายมาเป็นใช้ทำกิจกรรมรองได้ 15% ของพื้นที่สีเขียวทั้งหมด
จากคำชี้แจงของกรมโยธาธิการและผังเมือง ได้ชี้แจงว่าการผ่อนคลายข้อกำหนดนี้ก็เพื่อให้คนในพื้นที่มีพื้นที่ใช้สอยปลูกบ้านพักอาศัยได้มากขึ้น ทั้งนี้ เนื่องจากชุมชนบางกะเจ้ามีการเติบโตขึ้น เด็กๆเมื่อหลายปีก่อน ปัจจุบันเติบโตเป็นหนุ่มสาวและมีครอบครัว คนรุ่นใหม่เหล่านี้ต้องการพื้นที่เพื่อสร้างบ้านเรือนเพิ่มขึ้น
ปัญหาอยู่ที่ว่าผังเมืองใหม่ที่เพิ่งประกาศใช้นี้คนในชุมชนไม่รู้เรื่อง ไม่ได้ผ่านการประชาพิจารณ์จากคนในชุมชน ทางภาครัฐก็บอกว่าจัดไปแล้วแต่ไม่มีชาวบ้านมาร่วมประชาพิจารณ์ ทางฝ่ายชาวบ้านก็บอกว่าจัดเมื่อไร ไม่รู้เรื่องมาก่อนเลย แอบจัดหรือเปล่า ฯลฯ
นี่เองที่ทำให้เกิดเป็นประเด็นร้อน นักอนุรักษ์ก็เริ่มออกมาช่วย สื่อมวลชนก็เริ่มให้ความสนใจและเสนอเป็นข่าวในทำนองว่าชาวบางกะเจ้ากังวลว่าผังเมืองใหม่จะซ่อนเงื่อนงำเพื่อเอื้อประโยชน์นายทุน เนื่องจากกฎหมายไม่อนุญาตให้ทำหมู่บ้านจัดสรร ก็ทำโครงการละ 9 แปลงก็ได้ รวมทั้งการทำโรงแรมขนาดเล็กก็น่าจะทำได้ด้วย รวมทั้งพื้นที่กิจกรรมรองส่วนทีเพิ่มมานั้น ใครจะเป็นผู้ได้รับการจัดสรรให้ใช้ประโยชน์ เพราะหากใครได้ส่วนนี้เท่ากับได้ลาภก้อนใหญ่
ที่ดินว่างเปล่าในบางกะเจ้าเริ่มมีการปรับปรุงสภาพที่ดิน |
ประกอบกับมีบริษัทอสังหาฯรายใหญ่ให้ข่าวว่ามีที่ดินที่บางกะเจ้าหลายร้อยไร่ พร้อมทำโครงการบ้านหรูระดับไฮเอนด์ นอกจากนี้ ที่ดินว่าเปล่าขนาดใหญ่ในบางกะเจ้าเริ่มมีการปรับพื้นที่เพื่อเตรียมการก่อสร้าง เหล่านี้ล้วนเป็นสัญญาณที่ทำให้ชาวบางกะเจ้ากังวล รวมทั้งนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม รวมทั้งคนกรุงเทพฯที่หวงแหนปอดสีเขียว ต่างก็เริ่มกังวลด้วยเช่นกัน ว่าในที่สุดปอดของกรุงเทพฯจะค่อยๆถูกกลืนกินไปหรือว่ากลายเป็นมะเร็งไปเสียเนื่องจากถูกพัฒนา
ความหลื่อมล้ำและขัดแย้งบนเส้นทางการพัฒนา
ปัญหาการรุกรานจากความเจริญที่เกิดขึ้นในพื้นที่บางกะเจ้านั้นไม่ใช่ปัญหาใหม่ แต่เป็นปัญหาคลาสสิกที่เกิดขึ้นมาในทุกพื้นที่และทุกยุคสมัย ที่ใดที่ความเจริญไปถึง กระบวนการชุมชนเมือง (urbanization) ย่อมต้องดำเนินไป และความขัดแย้งระหว่างการอนุรักษ์กับการพัฒนาย่อมตามมา
หากพวกเราอ่านจากข่าว จะพบว่าผู้ที่ห่วงว่าพื้นที่สีเขียวของบางกะเจ้านี้จะถูกทำลายไปหรือพูดง่ายๆว่ากลุ่มที่มีความคิดในเชิงอนุรักษ์บางกะเจ้ามีอยู่สองกลุ่มหลัก คือ กลุ่มคนนอกพื้นที่ กับกลุ่มชาวบ้านในพื้นที่ที่เป็นรุ่นบุกเบิก สองกลุ่มนี้อยากให้บางกะเจ้ารักษาวิถีแบบดั้งเดิมเอาไว้ ไม่ต้องการให้เปลี่ยนแปลง
เสียงของผู้ที่ต้องการอนุรักษ์บางกะเจ้าเอาไว้เป็นปอดสีเขียวของกรุงเทพฯ |
ปัญหาหรือว่าข้อขัดแย้งนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ ลุงแมวน้ำเห็นมาตลอดชีวิต และในทุกภูมิภาค ยกตัวอย่างเช่นทางภาคเหนือซึ่งมีชาวเขาอยู่หลายเผ่า อาศัยอยู่ตามดอยต่างๆ วิถีชีวิตของชาวเขาเมื่อสักสามสิบปีก่อน ก็เป็นไปแบบบ้านบนดอย บ่มีแสงสี บ่มีทีวี บ่มีน้ำประปา บ่มีเป๊ปซี่โคล่า เหมือนในเพลงบ้านบนดอยนั่นแหละ พอคนเมืองหรือว่าคนพื้นราบขึ้นไปเห็นก็ร้องว้าว เพราะว่าชอบใจกับวิถีชีวิตที่สงบ สมถะ และร่มเย็น แตกต่างจากชีวิตอันเร่งรีบของพวกตนอย่างมาก
หลายปีผ่านไป เมืองข้างล่างเติบโต นักท่องเที่ยวที่ขึ้นมาเที่ยวบนดอยก็เริ่มบ่นว่าบนดอยนี้เปลี่ยนไป ทำไมมีเสาอากาศก้างปลา จานรับสัญญาณดาวเทียม รกรุงรังไปหมด ทำไมมีรถกระบะ มอเตอร์ไซค์บนดอยเยอะแยะ ทำไมไม่อนุรักษ์เอาไว้นะ ทำไมไปหลงไหลแสงสีเสียได้ น่าเสียดายจัง
พ่อเฒ่าแม่แก่บนดอยก็บ่นเช่นกันว่าลูกหลานไม่เอาอย่างวิถีชีวิตของตน
แต่หากไปถามเด็กๆชาวเขา เด็กเหล่านี้มีความฝันอยากไปเรียนในเมือง อยากใส่กางเกงยีนส์ อยากมีรถเครื่อง (มอเตอร์ไซค์) อยากมีโทรศัพท์มือถือ อยากมีห้องนอนสวยๆ มีเครื่องเสียงดีๆ ไม่มีใครอยากนั่งทอผ้า ปักสะดึง อยู่หน้ากระต๊อบไม้อย่างในอดีตแล้ว
เช่นเดียวกันกับที่บางกะเจ้า หากเข้าไปสังเกตการณ์ให้ละเอียด คนใชุมชนที่ต้องการวิถีอนุรักษ์นั้นส่วนใหญ่เป็นคนบางกะเจ้าในยุคบุกเบิก คือพวกในวัยเจนเอ็กซ์หรือก่อนหน้านั้น ส่วนพวกเจนวายหรือเจนมี คือเป็นคนรุ่นลูกหลาน มีความคิดแตกต่างออกไป ในขณะที่คนนอกพื้นที่ต้องการให้บางกะเจ้าเป็นปอด แต่คนหนุ่มสาวในพื้นที่อยากมีรถเก๋ง อยากมีคอนโดในเมือง อยากทำงานในเมือง อยากเดินสยามสแควร์ซื้อของสวยๆงามๆ ฯลฯ แต่การกำหนดให้บางกะเจ้าซึ่งอยู่ติด กทม เป็นพื้นที่ ก.1 กับ ก.3 ทำให้ราคาที่ดินถูกกดเอาไว้ การใช้ประโยชน์จากที่ดินหรือหาประโยชน์จากที่ดินแตกต่างจากที่ดินในกรุงเทพฯมาก การอนุรักษ์พื้นที่ปอดเอาไว้โดยที่คนกรุงเทพฯไม่ได้ตอบแทนหรือชดเชยอะไรแก่คนเหล่านี้เลย นี่เป็นความเหลื่อมล้ำประการหนึ่ง
เสียงบางส่วนที่ต้องการการพัฒนา |
อีกประการ คนในพื้นที่ที่เป็นรุ่นลูกหลาน ส่วนใหญ่พอเติบโตก็แยกบ้านไปมีครอบครัว พื้นที่สวนใหญ่ของพ่อแม่ก็ต้องถูกแบ่งให้แก่ลูกหลานหลายคน กลายเป็นพื้นที่ที่เล็กลง นอกจากนี้ คนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่ก็ไม่เอาอาชีพทำสวนแล้ว ได้สวนมาก็อยากขายหรือทำประโยชน์อย่างอื่นจากที่ดินมากกว่า
เมื่อประมาณ 20 ปีก่อน โครงการสวนกลางมหานครอนุรักษ์บางกะเจ้าไว้เป็นพื้นที่สีเขียวดำเนินการทั้งอนุรักษ์และพัฒนาท้องถิ่นควบคู่กันไป ถือได้ว่าเป็นส่วนผสมระหว่างการอนุรักษ์และพัฒนาที่ค่อนข้างสมดุล แต่มาในยุคปัจจุบัน เมื่อโลกเปลี่ยนไป ความเจริญของเมืองรอบข้างเปลี่ยนแปลงไป ดุลยภาพที่มีอยู่แต่เดิมก็เริ่มเสียไป ซึ่งไม่ใช่ความผิดของใคร เราจำเป็นต้องหาดุลยภาพใหม่ที่เป็นส่วนผสมของการอนุรักษ์และการพัฒนาที่เหมาะสมกับสภาพในปัจจุบัน
ปัญหาทำนองนี้เกิดขึ้นมาตลอดนั่นแหละ บนเส้นทางของกระบวนการเติบโตของชุมชนเมือง ในต่างประเทศ การอนุรักษ์พื้นที่ใดมักต้องให้ผลประโยชน์ชดเชย รวมทั้งต้องมีการบริหารจัดการพื้นที่อนุรักษ์นั้น ยกตัวอย่างเช่น หากการอนุรักษ์ชุมชนแบบดั้งเดิม ก็ต้องกำหนดพื้นที่เอาไว้ไม่มากเกินไปนัก และให้คนในพื้นที่ได้ผลประโยชน์จากการท่องเที่ยวอย่างเต็มที่ ซึ่งส่วนใหญ่พื้นที่อนุรักษ์ทำนองนี้มักเป็นการอนุรักษ์แบบการจัดแสดงมากกว่า เช่น บ้านเรือนภายนอกต้องเป็นแบบเก่าดั้งเดิม แต่ข้างในจะแอบตกแต่งหรูๆก็ได้ แต่อย่าให้นักท่องเที่ยวเห็น เป็นต้น ก็เหมือนกะเหรี่ยงคอยาว เดี๋ยวนี้มีแค่คนรุ่นเก่ามาโชว์นักท่องเที่ยวสองสามคนเท่านั้น สาวๆสมัยนี้ไม่มีใครยอมใส่ห่วงให้คอยาวแล้ว เป็นต้น
ดังนั้นเรื่องการอนุรักษ์บางกะเจ้า ลุงแมวน้ำคิดว่าต้องมองด้วยใจที่เป็นธรรม คิดถึงใจเขาใจเรา หากต้องการอนุรักษ์ปอดเอาไว้ ภาครัฐควรมีแผนบริหารจัดการที่ให้คนในชุมชนได้ประโยชน์และพัฒนาได้ตามที่พวกเขาต้องการด้วย เช่น ซื้อที่ดินเอาไว้เองเพื่อทำปอด ที่ดินบางส่วนก็ทำเป็นหมู่บ้านอนุรักษ์ รองรับนักท่องเที่ยว แต่พื้นที่อื่นก็อาจต้องปล่อยให้พัฒนาตามกระแสการพัฒนาไป จะได้ลดความเหลื่อมล้ำได้ ไม่ใช่ภาครัฐเองช่วยสร้างความเหลื่อมล้ำ หากการพัฒนาไปเพิ่มความเหลื่อมล้ำ ความขัดแย้งย่อมต้องตามมา และบานปลายไม่สิ้นสุด
No comments:
Post a Comment