Friday, July 31, 2015

มองแนวโน้มเศรษฐกิจไทย (4)

“Toward a New Frontier” Series บทความชุด “ทะยานสู่พรมแดนใหม่”







ในตอนนี้เราจะมาดูดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจที่สำคัญด้านการใช้จ่ายกันต่อจากตอนที่แล้ว


ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน


ตอนที่แล้วเราได้ศึกษาเกี่ยวกับดัชนีราคาผู้บริโภคอันเป็นตัวชี้วัดด้านราคาสินค้าและบริการ ยังมีตัวชี้วัดด้านการจับจ่ายใช้สอยที่สำคัญอีกตัวชี้วัดหนึ่ง นั่นคือ ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน (private consumption index) ซึ่งเป็นตัวชี้วัดด้านกำลังการจับจ่ายใช้สอยของบุคคล เรามักใช้ดูประกอบกับดัชนีราคาผู้บริโภค สองดัชนีนี้ให้ภาพการบริโภคที่ไม่เหมือนกัน ดัชนีราคาผู้บริโภคบ่งบอกว่าราคาสินค้าถูกหรือแพง ส่วนดัชนีการอุปโภคบริโภคบอกว่าผู้บริโภคซื้อมากน้อยเท่าไร บางทีสินค้าราคาถูกแต่ผู้บริโภคก็ยังไม่จับจ่าย หรือสินค้าราคาแพงแต่ผู้บริโภคก็ยังจับจ่ายอย่างไม่ยั้ง เหล่านี้จะทำให้เกิดภาพเศรษฐกิจที่แตกต่างกันออกไป

ดัชนีราคาผู้บริโภคนั้นคำนวนจากการจับจ่ายใช้สอยทั้ง สินค้าสิ้นเปลือง (หรือเรียกว่าสินค้าไม่คงทน เช่น เชื้อเพลิง กระแสไฟฟ้า สินค้าปลีก ฯลฯ) สินค้ากึ่งคงทน (เช่น เครื่องนุ่งห่ม ฯลฯ) สินค้าคงทน (เช่น รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ ฯลฯ) การใช้จ่ายภาคบริการ (เช่น การกินอาหารในห้องอาหารหรือภัตตาคาร ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ฯลฯ) และ การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ก็นำเอาข้อมูลการใช้จ่ายใน 5 หมวดเหล่านี้มาคำนวณเป็นดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน


ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนบ่งบอกภาพรวมของการจับจ่ายใช้สอยของภาคประชาชน ส่วนดัชนีการใช้จ่ายสินค้าคงทนเน้นที่การใช้จ่ายสินค้าที่อายุใช้งานยาวนานและราคาสูง


เรามาดูกราฟดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน (เส้นสีฟ้า) กัน จากกราฟเส้นสีฟ้าจะเห็นว่าการอุปโภคบริโภคในปี 2556 นั้นปรับตัวลงอย่างรวดเร็ว บ่งบอกถึงการจับจ่ายใช้สอยที่หดตัวลง จากนั้นก็ดีขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงต้นปี 2557 พอกลางปี 2557 เป็นต้นมาดัชนีก็รุดตัวเป็นแนวโน้มขาลงมาโดยตลอด มีเดือน พ.ค. 2558 นี่เองที่เด้งขึ้นมาแบบพรวดพราด

เส้นสีฟ้านี้เราอาจจะรู้สึกว่าดูแนวโน้มยาก นั่นเป็นเพราะเป็นดัชนีที่เฉลี่ยจากการอุปโภคบริโภคหลายสิ่งหลายอย่าง โดยเฉพาะพวกสินค้าไม่คงทนหรือของกินของใช้ทั่วไปในชีวิตประจำวันนั้นบางทีอยากจะประหยัดก็ทำได้ยาก เหตุปัจจัยหลายอย่างผสมกันจนผันผวน ทำให้ดูแนวโน้มได้ยาก

ในการพิจารณาเศรษฐกิจนั้นโดยทั่วไป การดูที่การบริโภคสินค้าคงทนอาจเห็นภาพได้ชัดกว่า เนื่องจากหากเศรษฐกิจไม่ดี แม้ว่าผู้บริโภคจะยังซื้อของกินของใช้ทั่วไปแต่มักจะไปชะลอการซื้อของที่อายุใช้งานยาวนานและราคาสูง ซึ่งดัชนีสินค้าคงทนนั้นคำนวณจากการซื้อรถยนต์และรถมอเตอร์ไซค์ ซึ่งก็คือของที่มีอายุการใช้งานยาวนานและราคาสูงนั่นเอง

ดังนั้น เมื่อดูเส้นสีเหลืองหรือดัชนีสินค้าคงทน จะเห็นว่าเป็นขาลงหรือหมายถึงเศรษฐกิจน่าจะไม่ค่อยดีมาตั้งแต่ปี 2556 แล้วเพราะการบริโภคสินค้าคงทนลดลงมาโดยตลอด แต่เราจะสรุปฟันธงเศรษฐกิจจากกราฟเดียวไม่ได้ เพราะผลจากโครงการรถคันแรกที่ดึงกำลังซื้อไปล่วงหน้าก็สะท้อนอยู่ในเส้นนี้ด้วย ดังนั้นจำต้องพิจารณาดัชนีอื่นๆประกอบด้วย


ดัชนีราคาอสังหาริมทรัพย์ ตัวชี้วัดเศรษฐกิจที่สำคัญ


ดัชนีอีกชุดหนึ่งที่นิยมใช้พิจารณาภาวะเศรษฐกิจ นั่นคือ ดัชนีราคาอสังหาริมทรัพย์ ลองดูกราฟต่อไปนี้


ดัชนีราคาอาคารชุดปรับตัวขึ้นได้เร็วและผันผวนสูงเนื่องจากคอนโดมิเนียมมีสภาพเก็งกำไรมากกว่าบ้านเดี่ยว


ดัชนีราคาอสังหาริมทรัพย์นั้นมีดัชนีย่อยหลายดัชนี แต่วันนี้ลุงแมวน้ำนำมาให้ดูกันเพียง 2 ดัชนี นั่นคือ ดัชนีราคาอาคารชุด กับ ดัชนีราคาบ้านเดี่ยวพร้อมที่ดิน โดยปกติแล้วหากเศรษฐกิจเติบโต ราคาอสังหาริมทรัพย์จะค่อยๆขยับตัวสูงขึ้น หากเศรษฐกิจโตดีราคาอสังหาก็ขึ้นเร็วหน่อย หากเศรษฐกิจฝืดเคืองราคาอสังหาก็ทรงตัว หรือหากแย่มากก็อาจหดตัวได้

เมื่อพิจารณาจากกราฟ จะเห็นว่าราคาอาคารชุด (ราคาคอนโดมิเนียม เส้นสีเหลือง) ราคาขยับขึ้นเร็วกว่าราคาบ้านเดี่ยวพร้อมที่ดิน (เส้นสีฟ้า) อีกทั้งเส้นสีเหลืองยังผันผวนกว่า นั่นเป็นเพราะธรรมชาติของคอนโดมิเนียมมีความเป็นสินค้าเก็งกำไรมากกว่า ราคาจึงขึ้นเร็วกว่าและแกว่งตัวมากกว่า (โดยทั่วไปรูปแบบกราฟราคาคอนโดมิเนียมของไทยนั้นจะมีรูปทรงคล้ายขั้นบันได คือขึ้นแล้วพัก พักแล้วขึ้นต่อ จากนั้นพักอีก เนื่องจากการเก็งกำไรสูงทำให้เกิดภาวะโอเวอร์ซัพพลายเป็นระยะๆ ซึ่งต้องอาศัยเวลาดูดซับ) การพิจารณาแนวโน้มเศรษฐกิจจากดัชนีราคาอาคารชุดจึงอาจตีความยากสักหน่อย

แต่หากลองดูเส้นสีฟ้า ดัชนีราคาบ้านเดี่ยวพร้อมที่ดิน ปกติบ้านเดี่ยวพร้อมที่ดินไม่ใช่สินค้าเก็งกำไร ผู้ที่ซื้อมักต้องการอยู่อาศัยอย่างแท้จริง ดังนั้นราคาไม่แกว่งมาก ลุงแมวน้ำว่าการดูแนวโน้มเศรษฐกิจจากดัชนีราคาบ้านเดี่ยวพร้อมที่ดินจะทำให้เห็นภาพเศรษฐกิจได้ชัดเจนกว่า

จากกราฟ จะเห็นว่าทั้งดัชนีราคาคอนโดกับดัชนีราคาบ้านเดี่ยวตั้งแต่ต้นปี 2558 เป็นต้นมา บ่งชี้ไปในทิศทางเดียวกัน นั่นคือ ทั้งราคาคอนโดและบ้านเดี่ยวทรงตัว สะท้อนภาพเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยสดใสนัก ดีที่ยังไม่ใช่แนวโน้มหดตัว แต่ก็ประมาทไม่ได้ ระยะต่อไปจะเป็นอย่างไรก็ยังไม่รู้ 


พิจารณาภาพรวมเศรษฐกิจด้วยดัชนีผสม


จากดัชนีที่ลุงแมวน้ำคุยมาให้ฟังทั้ง 3 ตอน หากเราลองรวมดัชนีสำคัญมาพล็อตอยู่ในกราฟเดียวกัน เราจะได้ภาพสะท้อนเศรษฐกิจที่น่าสนใจ ลองมาดูกราฟนี้กัน


ภาพของเศรษฐกิจไทยที่สะท้อนจากดัชนี 4 ดัชนีทั้งภาคธุรกิจการลงทุน และภาคการบริโภค


กราฟนี้เป็นการรวมเอาดัชนีด้านธุรกิจ การค้า การลงทุน มารวมกับดัชนีด้านการบริโภคที่สำคัญ ลุงแมวน้ำเลือกมา 4 ดัชนี คือ ดัชนีพ้องเศรษฐกิจ ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจ ดัชนีค่าใช้จ่ายสินค้าคงทน และดัชนีราคาบ้านเดี่ยวพร้อมที่ดิน จะเห็นว่าทั้งสี่ดัชนีนี้ไม่ทรงก็ลง สะท้อนภาพเศรษฐกิจไทยที่น่าเป็นห่วง โดยเฉพาะดัชนีสินค้าคงทนกับดัชนีบ้านเดี่ยวนั้นหากอยู่ในสภาวะทรงตัวหรือทรุดตัวแล้วการจะให้กลับเป็นขาขึ้นนั้นเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลานาน แปลความว่าเศรษฐกิจไทยยังต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวอีกนานพอควรทีเดียว 


หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ชี้ภาพเศรษฐกิจทางอ้อม


การพิจารณาภาพทางเศรษฐกิจนอกจากดูที่การลงทุนหรือการบริโภคแล้ว เรายังอาจดูจากภาคการเงินก็ได้ นั่นคือ ปริมาณหนี้เสีย บางทีก็ดูปริมาณเช็คเด้ง แล้วแต่สะดวก เนื่องจากหากเศรษฐกิจไม่ดีการชำระหนี้ย่อมฝืดเคืองไปด้วย ปริมาณการผิดนัดชำระหนี้ย่อมมากขึ้น

ปกติการจัดชั้นหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้นั้น คือหนี้ที่ขาดชำระเกินกว่า 3 เดือน เราก็ดูเอาจากรายงานการจัดชั้นหนี้ หาก NPL เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องย่อมสะท้อนภาพเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยดี ดังในภาพนี้


ปริมาณหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว ควรพิจารณาหนี้ชั้น SML ประกอบด้วยเพื่อให้เห็นภาพได้ชัดเจนยิ่งขึ้น


ข้อมูล NPL ออกเป็นรายไตรมาส ก็ไม่ค่อยฉับไวต่อสถานการณ์เมื่อเปรียบเทียบกับตัวชี้วัดที่รายงานเป็นรายเดือน นอกจากนี้ การพิจารณายอด NPL นั้นที่จริงควรพิจารณาชั้นหนี้ขาดชำระ 1-3 เดือนด้วย (ที่เรียกว่าชั้น SML) ว่าหนี้ชั้น SML  มีมากเท่าไรด้วยเนื่องจากพวกนี้คือกลุ่มที่รอเป็น NPL หาก NPL ก็มาก และ SML ก็รออยู่มาก ยิ่งบ่งบอกภาพเศรษฐกิจที่น่าหนักใจ


เอาละคร้าบ เล่ามาครบหมดแล้ว ทีนี้พวกเราก็พอจะติดตามภาพเศรษฐกิจกันได้ด้วยตนเองแล้ว

No comments: