Tuesday, July 7, 2015

มองกลุ่มธนาคาร อาจยังลงไม่สุดและจะฟื้นตัวได้ช้า


ดัชนีเซ็ตเทียบกับดัชนีกลุ่มธนาคารและพลังงาน



ช่วงนี้ตลาดหุ้นไทยไหลจนดัชนีเซ็ตหลุด 1500 จุดลงมาแล้ว สาเหตุมาจากสองสามกลุ่มหลัก คือธนาคาร พลังงาน แถมด้วยกลุ่มปิโตรเคมี  โดยกลุ่มธนาคารเป็นพระเอกในการฉุดดัชนี

ราคาหุ้นในกลุ่มพลังงานนั้นปรับตัวลงตามราคาน้ำมันดิบตลาดโลก เมื่อราคาน้ำมันดิบลดลงหุ้นพลังงานก็ลงด้วย ส่วนราคาหุ้นในกลุ่มธนาคารนั้นปรับตัวลงตามสภาพเศรษฐกิจ

เป็นที่ทราบกันดีกว่าผลประกอบการของธนาคารพาณิชย์นั้นอ่อนไหวกับสภาพเศรษฐกิจ คือเป็นกระจกที่สะท้อนภาพเเศรษฐกิจ หากเศรษฐกิจดี สินเชื่อก็ขยายตัวดี หนี้เสียก็น้อย ธนาคารก็มีผลประกอบการดี

ในทางตรงกันข้าม หากเศรษฐกิจไม่ดี สินเชื่อก็ปล่อยยาก หนี้เสียก็เพิ่มสูงขึ้น ผลประกอบการของธนาคารก็แย่

เรามาดูกราฟดัชนีรายเซ็กเตอร์กัน จะเห็นว่าในรอบปีที่ผ่านมา ดัชนีเซ็ตปรับตัวลงประมาณ -1.5% ดัชนีกลุ่มพลังงานปรับตัวลง -4% ส่วนดัชนีกลุ่มธนาคารนั้นปรับตัวลงถึง -27.8% โดยราคาหุ้นในกลุ่มธนาคารนั้นมีแนวโน้มเป็นขาลงตั้งแต่ปีที่แล้ว คือลงมาตลอด เพิ่งมาเด้งขึ้นในช่วงต้นปีนี้เหมือนกับจะกลับทิศเป็นขาขึ้น แต่แล้วก็กลับไหลลงแรงอีก ไหลลงแรงตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์มาจนถึงตอนนี้ แม้แต่ต่างชาติซึ่งถือหุ้นไทยไม่มากแล้วก็ยังขายหุ้นกลุ่มธนาคารหนักในระยะที่ผ่านมา หุ้นกลุ่มธนาคารมีผลต่อดัชนีมากเสียด้วย ดังนั้นจึงฉุดดัชนีเซ็ตลงมา


สาเหตุกลุ่มธนาคารปรับตัวลง


สาเหตุที่หุ้นกลุ่มธนาคารลงแรงเป็นเพราะ

1. ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ทั้งหน่วยงานภาครัฐและสถาบันการเงินต่างก็พากันปรับลดเป้าจีดีพี ปรับลดเป้าการส่งออก หลายต่อหลายครั้ง ซึ่งเหล่านี้้ล้วนแต่เป็นผลจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจที่ในปีที่แล้วเรายังเห็นภาพไม่ชัดนัก แต่มาเห็นภาพได้ชัดขึ้นในปีนี้

2. ปริมาณสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือที่เรียกว่าเอ็นพีแอล (NPL, non performing loan) นั้นเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2014 และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มต่อไปในปี 2015 นี้ การที่ปริมาณเอ็นพีแอลของธนาคารพาณิชย์เพิ่มสูงขึ้น ยิ่งมากเท่าไรก็ยิ่งเป็นภาระแก่ธนาคาร เนื่องจาก หากเป็นหนี้ชำระปกติหรือขาดส่งไม่เกิน 3 เดือน (ที่ขาดส่งหนึ่งถึงสามเดือนเรียกว่า SML, special mentioned loan) พวกนี้ยังไม่เป็นเอ็นพีแอล จะตั้งสำรองไม่เกิน 2% ของสินเชื่อ แต่หากถูกจัดชั้นป็นเอ็นพีแอลเมื่อใด ภาระการตั้งสำรองจะกลายเป็น 100% ซึ่งจะเห็นว่าพอเป็น NPL ปุ๊บภาระการตั้งสำรองจะเพิ่มอีกมาก และนี่เองที่ไปฉุดกำไรของธนาคาร


ปริมาณ SML (หนี้ขาดส่งไม่เกิน 3 เดือน), NPL (หนี้ขาดส่งเกิน 3 เดือน) เพิ่มอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ 1Q2014 และคาดว่าปี 2015 นี้ SML บางส่วนจะกลายเป็น NPL ทำให้ NPL เพิ่มอย่างต่อเนื่อง


สำหรับปี 2015 นี้ การขยายตัวของสินเชื่อธนาคารน่าจะลดลงตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ซ้ำเติมด้วยภาระการตั้งสำรองเอ็นพีแอล ก็มองกันว่าผลประกอบการคงไม่น่าประทับใจ ดังนั้นจึงมีแรงขายหุ้นในกลุ่มธนาคาร บางคนไหวตัวเร็วก็ขายตั้งแต่ปีที่แล้ว บางคนเพิ่งมาคิดได้ในช่วงปีนี้ก็รีบขายกันออกมา สภาพการจึงเป็นดังที่เห็นกันอยู่

หุ้นกลุ่มธนาคารจะลงไปถึงไหน 


สำหรับธนาคารใหญ่ คือ BBL, KBANK, SCB, KTB สินเชื่อ NPL กับภาระการตั้งสำรองคงเพิ่มขึ้นต่อไปในไตรมาส 2, 3, 4 ปัจจัยฉุดยังอยู่ต่อไปอีกพักใหญ่ ยังไม่ลดง่ายๆ ดังนั้นหุ้นกลุ่มธนาคารอาจลงต่อได้อีกนิดนึง ลองมาดูกรณีศึกษา KBANK ดังในภาพกัน



ในทางเทคนิค แนวรับสำคัญตามระดับฟิโบนาชชีมีหลายระดับ คือ 170, 145 และ 120 บาท แนวรับไหนน่าจะเป็นไปได้มากที่สุด

สำหรับ 120 บาท ลุงแมวน้ำว่าต่ำเว่อไป เศรษฐกิจต้องเสียหายหนักราคาจึงจะลงไประดับนั้น ในทางปัจจัยพื้นฐานดูแล้วคงลงไปถึงนั่นได้ยาก

ที่ 145 บาท ราคานี้ หากพิจารณาจาก trailing P/E ratio (ค่าพีอีปัจจุบัน) ก็ราวๆ 7.4 เท่า ส่วนค่า P/BV ราคาต่อมูลค่าทางบัญชี 1.3 เท่า ถือว่าต่ำแล้ว ราคานี้มองแล้วเป็นไปได้มากกว่า

ดังนั้นลุงแมวน้ำมองว่ากลุ่มธนาคารยังฉุดตลาดได้อีกหน่อย

ส่วนธนาคารขนาดรอง พวก TISCO, TCAP ฯลฯ ลองดูกราฟ TISCO ธนาคารขนาดรองตั้งสำรองไปมากแล้วเนื่องจากเอ็นพีแอลโผล่ก่อนธนาคารใหญ่ อะไรที่ควรตั้งก็ตั้งไปเยอะแล้ว ดังนั้นภาระการตั้งในอนาคตมีอีกไม่มาก รูปแบบของราคาจึงไม่ลงหนักเหมือนธนาคารใหญ่


ไม่ต้องรีบร้อน พวกนี้ตอนฟื้นตัวจะค่อยๆฟื้น ใจเย็นๆค่อยๆรอเก็บได้คร้าบ

No comments: