Monday, July 20, 2015

มองแนวโน้มเศรษฐกิจไทย (1)

“Toward a New Frontier” Series บทความชุด “ทะยานสู่พรมแดนใหม่”




วันนี้เราจะมาคุยกันในภาคเศรษฐกิจจริงกันเพื่อเป็นการเปลี่ยนบรรยากาศจากที่คุยกันแต่เรื่องตลาดทุนอยู่เป็นประจำ ที่จริงแล้วภาคเศรษฐกิจจริงเชื่อมโยงกับตลาดทุนอย่างแยกกันไม่ออก การพิจารณาภาคเศรษฐกิจจริงย่อมช่วยเสริมมุมมองในการวิเคราะห์ตลาดหุ้นได้


เศรษฐกิจไทยพึ่งพาเศรษฐกิจโลก


เศรษฐกิจไทยในปัจจุบันพึ่งพาการส่งออกในระดับที่สูง โดยมีสัดส่วน 77% ของจีดีพีทีเดียว นี่หมายความรวมถึงการส่งออกสินค้าและบริการ หากคิดเฉพาะการส่งออกสินค้าก็ประมาณ 60% ของจีดีพี ดังนั้นพูดง่ายๆก็คือเศรษฐกิจไทยขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจโลก หากเศรษฐกิจโลกไม่ค่อยดี ลูกค้าของเรา (คือประเทศคู่ค้าต่างๆ) กระเป๋าแฟบ ไทยก็พลอยแห้งเหี่ยวไปด้วย

เรามาดูการนำเข้าและส่งออกในงวด 5 เดือน (มกราคม ถึง พฤษภาคม) ของปี 2013, 2014 และ 2015 เปรียบเทียบกัน ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง ดังกราฟต่อไปนี้


การนำเข้าส่งออกของไทยงวด 5 เดือน (ม.ค. ถึง พ.ค.) เทียบกันระหว่างปี 2013, 2014, 2015 จะเห็นว่าทั้งการนำเข้าละการส่งออกของไทยหดตัวลงอย่างต่อเนื่อง

มาดูด้านการนำเข้าก่อน จะเห็นว่าในงวด 5 เดือนของสามปีที่ผ่านมานี้การนำเข้าของไทยลดลงตลอด โดยเฉพาะปี 2015 นี้การนำเข้าของไทยลดลง -9.2% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว สาเหตุที่ลดลงมากขนาดนี้ส่วนหนึ่งเกิดจากมูลค่าการนำเข้าผลิตภัณฑ์น้ำมันที่ลดลงเนื่องจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกลดลง ทำให้เราประหยัดการนำเข้าไปได้ แต่เมื่อจำแนกกลุ่มสินค้านำเข้าให้ลึกลงไปอีกก็จะพบว่าเรานำเข้าสินค้าทุน (หมายถึงสินค้าที่นำมาใช้ในการผลิต เช่น เครื่องจักร ฯลฯ) ก็ลดลงด้วยเช่นกัน

ทีนี้มาดูด้านการส่งออก จะเห็นว่าในงวด 5 เดือนของสามปีที่ผ่านมานั้นยอดส่งออกสินค้าของไทยก็ลดลงอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยเฉพาะงวดห้าเดือนปี 2015 นั้นลดลงจากปี 2014ถึง -4.2% หรือหากคิดเป็นจำนวนเงินก็คือรายได้ห้าเดือนลดลงกว่า 130,000 ล้านบาท

การส่งออกที่หดตัวนี่แหละที่มีผลต่อสภาพเศรษฐกิจไทยอย่างมีนัยสำคัญ เพราะการส่งออกสินค้าคือเส้นเลือดใหญ่ เพราะเป็นสัดส่วนราว 60% ของจีดีพีไทย ส่วนการลงทุนภาครัฐในแต่ละปีนั้นเป็นสัดส่วนประมาณ 5% ของจีดีพี การที่เราพยามเร่งการลงทุนภาครัฐก็เหมือนพยายามทะลวงเส้นเลือดเล็กโล่ง แต่ในขณะที่เส้นเลือดใหญ่ตีบตันอยู่ ก็ย่อมมีส่วนช่วยได้ไม่มากนัก ดังนั้นการแก้ที่ตรงจุดคือการทะลวงเส้นเลือดใหญ่ให้โล่งหรือการเพิ่มยอดส่งออกสินค้านั่นเอง แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย พูดง่ายแต่ทำยากมาก

ทีนี้เรามาสืบดูต่อไปว่ายอดส่งออกนั้นหายไปไหน เราก็ต้องมาดูกันก่อนว่าคู่ค้ารายใหญ่ของไทยเป็นใครบ้าง ตอนนี้คู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของไทยคือจีน รองลงมาคือ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ยุโรป คิดอย่างง่ายๆเพื่อให้เห็นภาพก็คือ รายได้ของไทย 100 บาทมาจากการส่งออกสินค้า 60 บาท และยอดส่งออกนี้คู่ค้าหลักสี่รายที่ว่าก็ซื้อไปเกือบๆ 30 บาทแล้ว โดยเป็นรายได้จากจีน 8.5 บาท ส่วนรายได้จากอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น ประมาณรายละ 6.5 บาท ที่เหลือเป็นป็นรายได้จากคู่ค้ารายย่อยอื่นๆ


ส่องคู่ค้าหลักของไทย จีนซื้อน้อยลง


ยอดส่งออกของไทย (งวด 5 เดือนแรกของปี) ไปยังคู่ค้าหลัก 4 ราย จีน ยุโรป ญี่ปุ่น นำเข้าลดลงมาก มีเพียงสหรัฐอเมริกาที่นำเข้าเพิ่มขึ้น

จากกราฟ ตอนนี้ลูกค้ารายใหญ่ จีน ยุโรป ญี่ปุ่น ซื้อสินค้าจากไทยน้อยลงมาก มีเพียงอเมริกาเท่านั้นที่ซื้อสินค้าจากไทยเพิ่มขึ้นแต่ก็ไม่ได้ช่วยกู้สถานการณ์เพราะยอดขายที่หายไปเยอะกว่าที่เพิ่มขึ้น

เอาละ ทีนี้เราจะลองไปเจาะรายละเอียดของลูกค้าบางรายเพื่อดูว่าทำไมความต้องการซื้อสินค้าจากเราเปลี่ยนแปลงไป เราลองมาดูที่ลูกค้าประเทศจีนกันก่อน ลองดูกราฟต่อไปนี้กัน


การนำเข้าส่งออกงวดห้าเดือนแรกของจีน จะเห็นว่าสามปีที่ผ่านมาจีนส่งออกทรงตัวแต่นำเข้าลดลงมาก ซึ่งกระทบต่อไทยไม่น้อย

กราฟนี้เป็นสรุปการนำเข้าและส่งออกของจีนในงวดห้าเดือน คือมกราคมถึงพฤษภาคม 3 ปีเปรียบเทียบกัน ประเทศจีนได้ชื่อว่าเป็นโรงงานผลิตสินค้าของโลก มีการผลิตและส่งออกสินค้ามากมาย เมื่อเราพิจารณายอดส่งออกงวดห้าเดือนของจีนเปรียบเทียบกัน 3 ปีจะเห็นว่ายอดส่งออกของจีนทรงตัว มีการเปลี่ยนแปลงน้อยมาก ภาพนี้ทำให้เราเห็นภาพเศรษฐกิจโลกได้ชัดเจนยิ่งขึ้น นั่นคือ ภาพรวมของเศรษฐกิจโลกยังฟื้นตัวได้ช้า กำลังซื้อจึงแค่ทรงตัว

ทีนี้มาดูด้านการนำเข้าของจีน จะเห็นว่าปีนี้จีนนำเข้าลดลงมาก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะราคาน้ำมันดิบตลาดโลกที่ลดลงทำให้จีนประหยัดการนำเข้าพลังงาน แต่ทางด้านยอดนำเข้าสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆก็ลดลงด้วยเช่นกัน และยอดส่งออกจากไทยไปจีนที่หดตัวลงก็สอดคล้องกับภาพนี้ นั่นคือ เป็นเพราะว่าจีนนำเข้าน้อยลงนั่นเอง


มองสหรัฐอเมริกา ซื้อจากเวียดนามมากกว่าไทย


จากนั้นเราจะไปดูที่สหรัฐอเมริกากัน สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศแห่งการบริโภค ประชากรราวสามร้อยล้านคนแต่กินเยอะใช้เยอะจริงๆ จีนกับอเมริกาสัมพันธ์กันในเชิงการค้าสูงมาก เพราะจีนเป็นซับพลายเออร์รายใหญ่ของอเมริกา และขณะเดียวกันอเมริกาก็เป็นลูกค้ารายใหญ่ของจีน เรามาดูโครงสร้างการนำเข้าของสหรัฐอเมริกาในงวดห้าเดือนแรกเปรียบเทียบกัน 3 ปี


โครงสร้างการนำเข้าของสหรัฐอเมริกาจากประเทศคู้ค้าหลักบางราย จะเห็นว่าแม้นำเข้าจากไทยเพิ่มขึ้นแต่กลับนำเข้าจากเกาหลีใต้ เวียดนาม มาเลเซียมากกว่า

ซับพลายเออร์หรือผู้ที่ขายสินค้าให้สหรัฐอเมริกา หากจะนับซับพลายเออร์รายใหญ่ของอเมริกา 15 รายแรกก็จะเป็นจีน ยุโรป แคนาดา เม็กซิโก ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไทย มาเลเซีย เวียดนาม ฯลฯ

ในงวดห้าเดือนของปี 2015 นี้เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า สหรัฐอเมริกานำเข้าสินค้าจากเอเชียเพิ่มขึ้นมาก และลดการนำเข้าจากยุโรป เม็กซิโก แคนาดาลง โดยนำเข้าจากจีน +6% ส่วนสินค้าจากญี่ปุ่นนั้นนำเข้าเพิ่มไม่มากนัก และที่น่าสังเกตคือยอดนำเข้าจากเกาหลีใต้ เวียดนาม มาเลเซีย เพิ่มขึ้นเด่นมาก สหรัฐนำเข้าจากไทยเพิ่มขึ้นเช่นกัน แต่คิดแล้วยังน้อยกว่าสามชาติเกาหลีใต้ เวียดนาม มาเลเซีย และหากจะพูดอีกนัยหนึ่งก็คือ ปัจจุบันสหรัฐอเมริกาถือว่าเวียดนาม มาเลเซีย เป็นคู่ค้ารายใหญ่กว่าไทยเสียอีก ดูจากยอดการนำเข้าที่สูงกว่าการนำเข้าจากไทย

ประมวลจากข้อมูลต่างๆที่ลุงแมวน้ำเล่ามา ก็คงปะติดปะต่อให้เห็นเป็นภาพว่าตอนนี้เศรษฐกิจโลกยังเปราะบางอยู่ การฟื้นตัวเป็นไปอย่างช้าๆ ยกเว้นสหรัฐอเมริกาที่ฟื้นตัวได้ดีหน่อย แต่โดยรวมแล้วการค้าโลกกระเตื้องอย่างเชื่องช้า

ประเทศไทยเป็นประเทศผู้ส่งออก รายได้หลักมาจากการส่งออกสินค้า ดังนั้นเศรษฐกิจโลกจึงมีผลกระทบต่อไทยมาก โดยเฉพาะจีนซึ่งเป็นลูกค้ารายใหญ่

จีนนั้นมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจภายในประเทศ เมื่อการค้าโลกไม่ค่อยดีก็พยายามปรับตัวเองให้พึ่งพาการส่งออกน้อยลง และหันไปพึ่งพาการบริโภคในประเทศมากขึ้น โดยสินค้าที่ส่งออกนั้นจีนก็มีการปรับโครงสร้าง โดยเน้นสินค้าที่เพิ่มมูลค่า คือหมายถึงการนำเข้าวัตถุดิบมาผลิตสินค้าที่ขายได้ราคาแพง ดังนั้น ตอนนี้จีนจึงอยู่ในช่วงของการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจภายใน รวมทั้งปรับโครงสร้างการนำเข้าส่งออกด้วย สินค้าของไทยคงตรงกับความต้องการของจีนน้อยลง ยอดขายของไทยไปจีนจึงตกไป และนอกจากนี้ ยอดขายของไทยที่ส่งไปยังคู่ค้าหลักอื่นๆก็ลดลง ทำให้น่าคิดว่าสาเหตุที่ยอดขายลดลงส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะสินค้าของไทยไม่ค่อยตรงกับความต้องการของลูกค้าเสียแล้วก็เป็นได้

และเมื่อเราไปดูโครงสร้างการนำเข้าของสหรัฐอเมริกา ที่นำเข้าจากเกาหลีใต้ เวียดนาม มาเลเซียเพิ่มขึ้น แล้วมาดูข้อเท็จจริงที่ว่าตอนนี้โรงงานผลิตสินค้าสำคัญของไทยปิดตัวไปหลายบริษัท เช่น รถยนต์รุ่นใหม่ๆก็มีการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่น ส่วนโรงงานจอแอลซีดี โรงงานมอตอร์ฮาร์ดดิสก์ ก็ปิดตัวไปเพราะสินค้าเหล่านี้หมดสมัย ก็ดูเหมือนจะช่วยตอกย้ำว่าสินค้าของไทยไม่ค่อยตรงกับความต้องการของลูกค้านัก หรือหมายความว่าเราเสียความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออกไปนั่นเอง

และหากเรานำข้อมูลอัตราการใช้กำลังการผลิต (capacity utilization rate) มาพิจารณาประกอบ ค่านี้เป็นการมองว่าหากมีเครื่องจักรผลิตสินค้าอยู่ 100 เครื่อง ตอนนี้เราใช้กำลังการผลิตอยู่กี่เครื่อง ก็ปรากฏว่าอัตราการใช้กำลังการผลิตของเราลดลงโดยตลอด ยกตัวอย่างจากภาพ ในตอนต้นปี 2013 เครื่องจักร 100 เครื่องเราใช้อยู่ 66 เครื่อง ที่เหลืออีก 44 เครื่องปล่อยว่างไว้ไม่ได้ใช้งาน มาในปัจจุบัน ตอนนี้ใช้งานเพียง 56.6 เครื่อง แปลว่ากำลังซื้อหายไป จึงจำต้องลดการผลิตลง ภาพนี้ก็มีส่วนบอกเราว่าเราอาจผลิตสินค้าไม่ตรงกับความต้องการของผู้ซื้อ (รวมทั้งอาจบอกว่าลูกค้ากระเป๋าแฟบจึงลดการซื้อลงก็ได้ด้วย ต้องดูตัวชี้วัดอื่นประกอบด้วย)


อัตราการใช้กำลังการผลิตของไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง

วันนี้เราดูกันเฉพาะภาพการนำเข้าส่งออก วันต่อไปเราจะมาดูตัวเลขเศรษฐกิจอื่นๆภายในประเทศกันคร้าบ

No comments: