Wednesday, July 22, 2015

มองแนวโน้มเศรษฐกิจไทย (2)

“Toward a New Frontier” Series บทความชุด “ทะยานสู่พรมแดนใหม่”





วันนี้เรามาคุยกันต่อ การวิเคราะห์แนวโน้มของเศรษฐกิจเราก็ต้องวิเคราะห์จากตัวชี้วัด (indicator) ต่างๆ ซึ่งก็คล้ายๆกับการวิเคราะห์ทางเทคนิคนั่นเองที่ประกอบด้วยเครื่องมือวิเคราะห์และตัวชี้วัดมากมายหลายอย่างให้เลือกใช้ ก็สุดแท้แต่มุมมองของนักลงทุนที่จะเลือกใช้ตัวชี้วัดอะไร และขึ้นอยู่กับการตีความผลของตัวชี้วัดด้วย เช่น บางคนใช้ MACD บางคนใช้ RSI-14 บางคนใช้ MA หรือบางคนก็ใช้หลายอย่างร่วมกัน เป็นต้น การใช้ก็ต้องมีวิธีการตีความด้วยจึงจะอ่านออกมาเป็นเรื่องราวได้

ฉันใดก็ฉันนั้น ตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจก็มีมากมายหลายตัวชี้ การนำมาใช้ก็ขึ้นกับความรู้ความเข้าใจและความถนัดด้วย ในที่นี้เราจะมีดูตัวชี้วัดที่สำคัญกันหลายตัว เพื่อให้สะท้อนให้เห็นมุมทางเศรษฐกิจหลายๆมุม


ดูเศรษฐกิจ ให้ดูการค้าการลงทุน


กลุ่มแรกที่เราจะมาดูกันก็เป็นตัวชี้วัดที่เกี่ยวกับธุรกิจ การค้า การลงทุน เพราะกิจกรรมเหล่านี้เป็นกิจกรรมที่ก่อให้เกิดรายได้ เมื่อมีรายได้หรือมีเงินเข้ากระเป๋าก็มีกำลังไปจับจ่ายใช้สอย หรือเรียกว่าเป็นกิจกรรมต้นน้ำทางเศรษฐกิจก็ได้

ตัวชี้วัดในกลุ่มธุรกิจ การค้า การลงทุน ที่ลุงแมวน้ำอยากนำมาคุย ได้แก่ สถิติการส่งออก อัตราการใช้กำลังการผลิต (capacity utilization rate) ดัชนีเศรษฐกิจ (economic index) ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ (business sentiment index) ที่จริงเราก็ได้ดูกันไปบ้างแล้ว นั่นคือ สถิติการส่งออก และอัตราการใช้กำลังการผลิต วันนี้เราจะมาคุยเกี่ยวกับตัวชี้วัดอื่นกันต่อ

จากตอนที่แล้วเราจะเห็นว่าการส่งออกของเราหดตัวลงต่อเนื่อง 3 ปี รวมทั้งอัตราการใช้กำลังการผลิตก็ลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นทิศทางที่สอดคล้องกัน


อัตราการใช้กำลังการผลิต


ทีนี้วิธีการตีความอย่างง่ายก็ใช้จินตนาการช่วยนิดหน่อย ลองดูอัตราการใช้กำลังการผลิต ปัจจุบันอยู่ที่ 56.6% แปลความง่ายๆว่ามีเครื่องจักร 100 เครื่องแต่ใช้งานเพียง 56.6 เครื่อง หรือใช้กำลังการผลิตประมาณครึ่งเดียวของที่มีอยู่ หากเป็นแบบนี้ สถานการณ์ที่เกิดกับพนักงานในโรงงานผลิตก็คือไม่มีค่าโอที รวมทั้งอาจมีการปรับลดพนักงานลงเพื่อให้เหมาะกับปริมาณงาน นอกจากนี้ยังอาจหมายถึงการปิดกิจการเพราะสู้ต้นทุนไม่ไหว ดังนั้นการใช้กำลังการผลิตที่ลดลงต่อเนื่องย่อมส่งผลถึงรายได้และการบริโภคของประชาชนในภาพรวมด้วย


ดัชนีเศรษฐกิจ ตัวชี้วัดเศรษฐกิจภาพกว้างในระยะสั้น


ต่อไปเราจะไปดูตัวชี้วัดทางธุรกิจ การค้า การลงทุนกันอีกตัวชี้วัดหนึ่ง นั่นคือ ดัชนีเศรษฐกิจ (economic index) 

ที่จริงดัชนีเศรษฐกิจนี้ให้ภาพเศรษฐกิจในมุมกว้าง คือเป็นภาพในระดับที่ใหญ่กว่ามูลค่าการส่งออกหรืออัตราการใช้กำลังการผลิต ที่จริงควรจะคุยเรื่องนี้กันก่อน แต่ไหนๆก็ไหนๆ แล้วไปแล้ว >.<

ดัชนีเศรษฐกิจนี้แบ่งเป็น 2 ดัชนีย่อย นั่นคือ เป็นตัวชี้วัดความคาดหวังกับอนาคตข้างหน้าตัวหนึ่ง เรียกว่า ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจ (leading economic index) กับ ตัวที่บ่งชี้สถานการณ์ปัจจุบันอีกตัวหนึ่ง เรียกว่าดัชนีพ้องเศรษฐกิจ (coincident economic index) ใช้มองภาพเศรษฐกิจในระยะสั้นประมาณ 3 เดือน

ดัชนีพ้องเศรษฐกิจนั้นใช้ชี้วัดสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน โดยคำนวณจากข้อมูลการนำเข้า ผลผลิตทางอุตสาหกรรม ภาษีมูลค่าเพิ่ม การซื้อรถยนต์ ฯลฯ ส่วนดัชนีชี้นำเศรษฐกิจคำนวณจากข้อมูลที่ยังไม่เกิดผลในปัจจุบันแต่จะเกิดผลในอนาคตอันสั้นข้างหน้า ยกตัวอย่างเช่น การคำนวณจากเงินทุนจดทะเบียนของบริษัทตั้งใหม่ พื้นที่ที่ได้รับอนุญาตก่อสร้าง เป็นต้น บริษัทที่ตั้งใหม่หรือพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตก่อสร้าง ยังไม่เกิดผลทางเศรษฐกิจในวันนี้ แต่ก็ย่อมจะมีการลงทุนต่างๆตามมา

ทีนี้เรามาดูกราฟดัชนีเศรษฐกิจกัน ดังกราฟต่อไปนี้ เส้นสีส้มคือดัชนีชี้นำเศรษฐกิจ ส่วนเส้นสีน้ำเงินคือดัชนีพ้องเศรษฐกิจ


ดัชนีเศรษฐกิจ บ่งชี้สถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันไปพร้อมกับคาดการณ์ล่วงหน้าไปอีกสามเดือน


จะเห็นว่าตั้งแต่ปี 2013 จนถึงต้นปี 2014 เส้นสีส้มหรือดัชนีชี้นำเศรษฐกิจทรงตัว หรือจะเรียกว่าไซด์เวย์ก็ได้ ยังจำได้ไหมว่าช่วงนั้นเป็นช่วงที่มีการชุมนุมประท้วงกันอย่างต่อเนื่อง ช่วงนั้นความคาดหวังทางเศรษฐกิจหากมองจากดัชนีชี้นำเศรษฐกิจก็ตีความได้ว่าช่วงนั้นยังไม่เห็นความหวังอะไร ก็อยู่แบบประคองตัวไปเรื่อยๆ แต่พอเดือนมิถุนายน 2014 กราฟสีส้มพุ่งทะยานต่อเนื่องไปจนถึงปลายปี ตีความได้ว่า เมื่อเดือนพฤษภาคม 2014 เกิดการรัฐประหาร ลุงตู่ยึดอำนาจการปกครอง ช่วงนั้นเศรษฐกิจดูมีความหวังมากขึ้นเรื่อยๆ

แต่พอย่างเข้าปี 2015 เส้นสีส้มก็ทรงตัวเป็นไซด์เวย์ แปลว่าไม่ได้คาดหวังดีๆอีก แค่ประคองตัวไปเท่านั้น

ทีนี้มาดูเส้นสีฟ้า เส้นสีส้มคือความหวัง เส้นสีฟ้าคือความเป็นจริงของปัจจุบัน ปรากฏว่าดัชนีพ้องเศรษฐกิจเป็นทิศทางขาลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2013 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งสอดคล้องกับตัวเลขส่งออกที่หดตัวต่อเนื่อง แปลว่าความหวังไม่สัมฤทธิ์ผล ความจริงเป็นอีกแบบหนึ่ง นั่นคือ เศรษฐกิจแย่ลงเรื่อยๆ


ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ บอกขวัญและกำลังใจ


จากนั้นก็มาดูตัวชี้วัดกันอีกชุดหนึ่ง นั่นคือ ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ (Business sentiment index) ดัชนีนี้แบ่งเป็นสองดัชนีย่อยเช่นกัน คือเป็นความเชื่อมั่นในปัจจุบัน กับความเชื่อมั่นกับสถานการณ์ในอีกสามเดือนข้างหน้า ตัวชี้วัดนี้ใช้บ่งชี้ภาพใหญ่ของธุรกิจ การค้า การลงทุน เช่นเดียวกับดัชนีเศรษฐกิจ แต่ว่าต่างกันตรงที่มา ดัชนีเศรษฐกิจนั้นคำนวณจากข้อมูล ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจนี้เป็นการไปสอบถามความคิดเห็นของผู้ประกอบการอันเป็นเรื่องของทัศนคติหรือความเชื่อมั่นล้วนๆ 

มาดูกราฟดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจกัน วิธีดูก็คล้ายๆกับดัชนีเศรษฐกิจแต่ดัชนีความเชื่อมั่นนี้จะสะท้อนถึงขวัญและกำลังใจของผู้ประกอบการมากกว่า ถ้าแนวโน้มขาขึ้นก็ดี ถ้าขาลงก็ไม่ดี ถ้าทรงตัวก็แปลว่ามึนๆไม่รู้จะไปทางไหน นอกจากนี้ ตัวเลข 50 ยังเป็นเกณฑ์สำคัญ เกิน 50 ถือว่าดี ต่ำกว่า 50 ถือว่าไม่ดี


ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ (BSI) ประเมินจากทัศนคติของนักธุรกิจผู้ประกอบการ ประกอบด้วยความเชื่อมั่นในปัจจุบันกับความเชื่อมั่นในอีกสามเดือนข้างหน้า


จากกราฟ ดูเส้นสีส้ม ความเชื่อมั่นในสามเดือนข้างหน้า จะเห็นว่าตั้งแต่ปี 2013 หรือ พ.ศ. 2556 เป็นต้นมา เส้นกราฟเป็นแนวโน้มขาลงต่อเนื่อง ตีความว่าความเชื่อมั่นทางธุรกิจลดลงตลอด ขวัญและกำลังใจของผู้ประกอบการ นักธุรกิจ หดหายไปเรื่อยๆตลอดการชุมนุมประท้วง จนมาถึงเดือนมิถุนายน 2014 ความเชื่อมั่นก็พุ่งทะยานเพราะเกิดการรัฐประหาร

แต่ความเชื่อมั่นพุ่งทะยานได้เพียง 3-4 เดือน จากนั้นก็เริ่มมึนๆคิดอะไรไม่ออกอีก และจากปีใหม่ 2015 หรือ 2558 ปีนี้เป็นต้นมา ความเชื่อมั่นของนักธุรกิจผู้ประกอบการดูเหมือนจะหดหายไป แต่อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้แม้จะขึ้นบ้าง มึนบ้าง ลงบ้าง แต่ยังเกินกว่า 50 ก็ยังพอทน

ทีนี้มาดูเส้นสีน้ำเงิน ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจในปัจจุบัน ลีลาก็คล้ายเส้นสีส้ม คือ ปี 2556 เป็นขาลงทั้งปี มาปี 2557 ค่อยๆดีขึ้นหลังรัฐประหาร แต่ในช่วงชุมนุมและหลังรัฐประหาร เส้นสีน้ำเงินต่ำกว่า 50 มาโดยตลอด แปลว่าแม้จะดีขึ้นแต่ยังจัดว่าลำบากอยู่ พอมาต้นปี 2558 ดัชนีความเชื่อมั่นผันผวนหนัก มีทั้งเกิน 50 และต่ำกว่า 50 แสดงว่าช่วงนี้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจการเมืองผันผวนสูง กระทบความเชื่อมั่นมากทีเดียว แต่ถ้าพิจารณาเส้นสีส้มประกอบด้วยก็อาจตีความได้ว่าความเชื่อมั่นในปัจจุบันไม่ค่อยดี และยังมองว่ามีแนวโน้มที่สถานการณ์จะแย่ลงไปอีก

และยิ่งถ้าเราพิจารณาดัชนีเศรษฐกิจ (economic index ชุดนี้เป็นข้อมูล ไม่ใช่ทัศนคติ) ประกอบด้วย ก็น่าจะตีความว่าสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในตอนนี้ไม่ค่อยดีและแนวโน้มในอนาคตคงแย่ลง นี่แหละที่น่าเป็นห่วงอยู่เหมือนกัน


ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม


และแถมท้ายด้วยดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (Thailand industries sentiment index) ที่จริงเดิมทีลุงแมวน้ำไม่คิดจะนำมาคุย เพราะมีดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจดูก็น่าจะพอแล้ว ดูเยอะเดี๋ยวงง แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจนำมาเป็นของแถม เพราะว่าดัชนีชุดนี้ออกช้อมูลเดือนล่าสุดมิุนายนแล้ว ซึ่งข้อมูลทันสมัยอัปเดตดี จึงเอามาแถม


ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (TISI)


ดัชนีนี้เป็นความเชื่อมั่นในภาคอุตสาหกรรม กราฟนี้มีข้อมูลถึงมิถุนายน 2558 ด้วย เพิ่งออกสดๆร้อนๆ ที่อยากให้ดูก็คือทิศทางความเชื่อมั่นในภาคอุตสาหกรรมของไทยลดลงโดยตลอดตั้งแต่ปลายปี 2557 ทั้งสองเส้นเลย เส้นความบอกทิศทางชัดเจนกว่าดัชนีเศรษฐกิจเสียอีก นั่นคือปัจจุบันก็มีทิศทางแย่ลง ความคาดหหวังก็มองแย่ลง ประเด็นนี้น่าเป็นห่วง

วันนี้คุยกันได้แค่ดัชนีในภาคธุรกิจ การค้า การลงทุน ยังไม่จบนะคร้าบ คราวหน้ามาดูตัวชี้วัดที่มองจากด้านการอุปโภคบริโภค หรือด้านการจับจ่ายใช้สอยนั่นเอง

No comments: