Saturday, July 5, 2014

05/07/2014 การลงทุนหุ้นและกองทุนรวมในอุตสาหกรรมดูแลสุขภาพ (healthcare industry) (5)






กองทุนรวมสุขภาพที่ลงทุนในต่างประเทศ (กองทุนรวมเฮลท์แคร์ FIF) กองทุนรวม BCARE, PHATRA GHC และ KF-HEALTHD



“เอาละ ชื่นใจแล้ว ไหน เมื่อกี้ว่าไงนะ” ลุงแมวน้ำถามลิงหลังจากดูดน้ำปั่นจนชื่นใจ

“เฮ้อ ลุงแมวน้ำลืมอีกแล้ว” ลิงถอนหายใจ “เราพูดถึงกองทุนรวมเฮลท์แคร์ไง”

“อ้อ ใช่ เมื่อกี้เราพูดกันถึงเรื่องหุ้นที่อยู่ในอุตสาหกรรมดูแลสุขภาพในตลาดหุ้นไทย จากนั้นก็เลยมาพูดถึงเรื่องกองทุนรวมที่ลงทุนในอุตสาหกรรมดูแลสุขภาพ ซึ่งกองทุนรวมด้านเฮลท์แคร์ที่เปิดให้นักลงทุนไทยได้ลงทุนนั้น ปัจจุบันยังไม่มีกองทุนรวมเฮลท์แคร์ที่ลงทุนในตลาดหุ้นไทย เท่าที่มีอยู่ 3 กองทุนรวมก็เป็นกองทุนรวมประเภทที่ไปลงทุนในต่างประเทศ (foreign investment fund, FIF) ทั้งสามกองเลย นั่นคือ กองทุนเปิดบัวหลวงโกลบอลเฮลธ์แคร์ (BCARE) ของค่ายบัวหลวง กับกองทุนเปิดภัทร โกลบอล เฮลธ์แคร์ (PHATRA Global Health Care, PHATRA GHC) ของค่ายภัทร และกองทุนเปิดกรุงศรีโกลบอลเฮลธ์แคร์อิควิตี้ปันผล (KF-HEALTHD) ของค่ายกรุงศรีอยุธยา” ลุงแมวน้ำทบทวนความจำ

“แล้วลุงก็กำลังจะเล่าเรื่องกองทุนรวมเฮลท์แคร์ให้ผมฟัง” ลิงจ๋อเสริมให้อีก “ว่าแต่ว่าลงทุนในหุ้นเฮลท์แคร์ในตลาดหุ้นไทยดี หรือว่าลงทุนในกองทุนรวมเฮลท์แคร์ที่ลงทุนในต่างประเทศดีกว่าล่ะ”

“ก็มีข้อดีและข้อเสียแตกต่างกันออกไป

“ข้อเสียของการลงทุนในตลาดหุ้นไทย คือส่วนใหญ่ก็เป็นหุ้นโรงพยาบาล หุ้นในซับเซ็กเตอร์อื่นของอุตสาหกรรมเฮลท์แคร์ยังมีให้เลือกลงทุนน้อย ดังที่ลุงได้คุยไปแล้ว และหากมองในแง่การกระจายความเสี่ยงก็อาจมองได้ว่ากระจายความเสี่ยงในวงจำกัด หากเศรษฐกิจไทยเกิดเป็นอะไรไป หุ้นก็คงลงหมดทั้งกระดาน รวมทั้งหุ้นทั้งหมดในพอร์ตของเรา

“ส่วนข้อดีก็คือ หุ้นกลุ่มโรงพยาบาลของไทยอยู่ในยุคชุมชนเมืองขยายตัวพอดี หรือที่เรียกว่าเป็นยุคของ urbanization ดังนั้นโอกาสเติบโตยังมีอีกมาก หุ้นเฮลท์แคร์ของไทยโดยเฉพาะหุ้นโรงพยาบาลถือว่าเป็นหุ้นเติบโตสูงหรือ growth stock เชียว และอีกอย่างก็คือ หุ้นไทยซื้อขายกันเป็นเงินบาท ไม่มีความเสี่ยงในเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนนี้ในปัจจุบันผันผวนและคาดเดาได้ยากมาก”

“แล้วข้อดีข้อเสียของกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศล่ะลุง” ลิงถาม

“ข้อดีของกองทุนรวมเฮลท์แคร์ที่ลงทุนในต่างประเทศก็คือ มีการกระจายความเสี่ยงได้ดีกว่า ทั้งในแง่ประเทศที่ไปลงทุน กับในแง่ซับเซ็กเตอร์ที่ไปลงทุน คือกองทุนรวมเหล่านี้มักกระจายการลงทุนในหลายซับเซ็กเตอร์ของอุตสาหกรรมดูแลสุขภาพ รวมทั้งกระจายการลงทุนในหลายประเทศ แต่ส่วนใหญ่ก็ลงทุนเป็นหลักสหรัฐอเมริกาเป็นหลัก ราว 70% ของพอร์ต รองลงมาอันดับสองมักเป็นหุ้นในสวิตเซอร์แลนด์แต่สัดส่วนห่างกันมาก มักลงทุนไม่เกิน 10% ของพอร์ต รองลงมาอีกก็เป็นหุ้นในประเทศอังกฤษ เยอรมนี ฝรั่งเศส และญี่ปุ่น แคนาดา ออสเตรเลีย ที่พูดให้ฟังด้านน้ำหนักของพอร์ตคร่าวๆก็เพื่อให้เห็นว่า ที่จริงแล้วกองทุนรวมเฮลท์แคร์ในต่างประเทศ จะว่าไปก็ยังกระจุกตัวอยู่ในหุ้นในตลาดอเมริกาเป็นหลัก แต่ว่าหากมองในเรื่องขอบเขตของธุรกิจแล้ว หุ้นเหล่านี้ส่วนใหญ่ทำธุรกิจแบบนานาชาติ ก็ถือได้ว่ามีการกระจายการลงทุน

“ข้อเสียของกองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศคือความเสี่ยงในด้านอัตราแลกเปลี่ยน แม้ทั้งสามกองทุนนี้มีการใช้เครื่องมือทางการเงินเพื่อลดความเสี่ยงในอัตราแลกเปลี่ยน แต่ไม่ได้เต็มจำนวนและเป็นไปตามดุลพินิจของผู้จัดการกองทุน คือเป็นแบบไดนามิก ดังนั้นความเสี่ยงจึงยังมีอยู่ ส่วนจะมีมากน้อยเท่าไรก็บอกยาก ในบางช่วงเวลาอาจไม่ได้ป้องกันความเสี่ยงเลยก็ได้”

“ยังงั้นผมขอถามลุงเรื่องกองทุนรวมก่อนก็แล้วกัน กองทุนสามกองนี้ต่างกันอย่างไรบ้างละครับ กองไหนให้ผลตอบแทนดีกว่ากัน” ลิงจ๋อถาม

“ก่อนที่เราจะมาดูผลตอบแทน เรามาดูข้อมูลพื้นฐานของสามกองทุนนี้ก่อนดีกว่า เพื่อให้เข้าใจความแตกต่างได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ลุงจะพูดถึง BCARE กับ PHATRA GHC ก่อนเนื่องจากเป็นกองทุนรวมที่เห็นผลงานมาหลายปีแล้ว ส่วน KF-HEALTHD เป็นกองทุนรวมที่ใหม่มาก ยังไม่เห็นผลงาน” ลุงแมวน้ำพูดแล้วหยุดนิดหนึ่ง ก่อนจะพูดต่อไปว่า

มาดูกองทุนเปิดบัวหลวงโกลบอลเฮลธ์แคร์ (BCARE) ก่อนละกัน กองทุน BCARE นี้เป็นกองทุนลูก (feeder fund) ที่ไปลงทุนในกองทุนแม่ (master fund) ในต่างประเทศอีกทีหนึ่ง โดยกองทุนแม่นี้มีชื่อว่า Wellington Global Health Care Equity Portfolio Class A (WGHCEPAE) ลงทุนด้วยสกุลเงินดอลลาร์ สรอ การจัดพอร์ตการลงทุนว่าจะลงทุนในหุ้นอะไรบ้างนั้นกองทุนแม่นี้เป็นผู้บริหารจัดการ ส่วนกองทุนไทยนั้นเป็นผู้ไปลงทุนในกองทุนแม่อีกทอดหนึ่ง

“ตัวกองทุน BCARE ที่เป็นกองทุนลูกนั้นจัดว่าเป็นกองทุนที่มีความเสี่ยงระดับ 6 คือเป็นกองทุนที่ลงทุนในตราสารทุน พูดง่ายๆก็คือเป็นกองทุนหุ้น ไม่มีการจ่ายเงินปันผล หากผู้ลงทุนต้องการเงินก็ใช้วิธีการขายคืนหน่วยลงทุน มีการป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนโดยเป็นดุลพินิจของผู้จัดการกองทุนฝั่งไทย”

ลิงจ๋อนั่งฟังทำตาปริบๆ เมื่อเห็นลิงจ๋อยังไม่ถามอะไร ลุงแมวน้ำจึงพูดต่อ

“ส่วนกองทุนเปิดภัทร โกลบอล เฮลธ์แคร์ หรือ PHATRA GHC นั้นต่างกันออกไป ไม่ได้ลงทุนแบบกองทุนแม่-กองทุนลูก แต่กองทุน PHATRA GHC นั้นลงทุนในกองทุนรวมอีทีเอฟ (ETF, exchange traded fund) ในตลาดหุ้นอเมริกาหลายๆกองทุน โดยลงทุนเป็นสกุลเงินดอลลาร์ สรอ”

“ยังไงกันลุง เรื่องกองทุนแม่-กองทุนลูกของ BCARE นั้นยังพอเข้าใจ แต่ว่า PHATRA GHC ที่ลงทุนในอีทีเอฟนี้ไม่ค่อยเข้าใจ” ลิงจ๋องง

“ลุงอธิบายคำว่า ETF แบบง่ายๆก่อน อีทีเอฟเป็นกองทุนรวมที่มีลักษณะพิเศษคือซื้อขายได้ในกระดานหุ้น ทำตัวเหมือนเป็นหุ้นตัวหนึ่ง ซึ่งในตลาดหุ้นไทยก็มีอีทีเอฟให้เทรดได้ตั้งหลายตัว เช่น BCHAY, GOLD99, TDEX, ENGY EFOOD, CHINA เป็นต้น เหล่านี้เป็นอีทีเอฟทั้งสิ้น

“กองทุน PHATRA GHC นี้ก็นำเงินไปซื้อกองทุนอีทีเอฟทางด้านเฮลท์แคร์ในตลาดหุ้นอเมริกา ก็แค่นั้นเอง ไม่มีอะไรซับซ้อน กองทุนนี้ลงทุนในอีทีเอฟประมาณ 4-6 ตัว มีการจ่ายเงินปันผลแก่ผู้ถือหน่วยลงทุนด้วย กองทุนนี้มีความเสี่ยงระดับ 8 มีการป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนโดยเป็นดุลพินิจของผู้จัดการกองทุนฝั่งไทย”

“เดี๋ยวๆ ลุง กองทุน BCARE มีความเสี่ยงระดับ 6 ใช่ไหม แล้วทำไมกองนี้ระดับความเสี่ยงไม่เท่ากัน กองทุนไหนเสี่ยงกว่ากัน” ลิงจ๋อทัก

“ช่างสังเกตเหมือนกันนี่” ลุงแมวน้ำชม “ความเสี่ยงต่างระดับกันอย่างที่นายจ๋อทักนั่นแหละ เรื่องการจัดระดับความเสี่ยงนี้เป็นกฎของตลาด ตัวเลขมากคือความเสี่ยงสูงยิ่งขึ้น พวกที่ความเสี่ยงระดับ 6 พูดง่ายๆคือกองทุนที่ลงทุนในหุ้นล้วนๆ ส่วนกองทุนรวมที่ความเสี่ยงระดับ 8 เป็นความเสี่ยงระดับสูงสุด มักมีการลงทุนในสินทรัพย์อื่นที่มีความเสี่ยงสูงด้วย เช่น ลงทุนในทองคำ น้ำมันดิบ ลงทุนในหุ้นกู้อนุพันธ์หรือตราสารหนี้ที่มีสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝง (structured note) เป็นต้น แต่เท่าที่ลุงดูในรายงานประจำปียังไม่พบว่ามีสินทรัพย์เสี่ยงเหล่านี้นะ การลงทุนหลักยังเป็นอีทีเอฟอยู่”

“แล้วสองกองทุนนี้ยังมีความแตกต่างกันยังไงอีกลุง ฟังแล้วก็ยังนึกไม่ออกว่าจะเลือกอะไรดี”

“ที่ลุงเล่ามานั้นเป็นข้อมูลพื้นฐานของกองทุน ยังมีข้อมูลสำคัญอีกส่วนหนึ่งที่ลุงยังไม่ได้บอกเลย นั่นก็คือ การจัดพอร์ตลงทุนของทั้งสองกองทุนรวม ความแตกต่างสำคัญก็อยู่ที่การจัดพอร์ตนี่แหละ” ลุงแมวน้ำพูด

“ยังงั้นเล่าต่อเลยครับลุง”



แง้มดูพอร์ตกองทุนเปิดบัวหลวงโกลบอลเฮลธ์แคร์ (BCARE)

“เรามาเริ่มกันที่พอร์ตการลงทุนของ BCARE กันก่อน การจัดพอร์ตของ BCARE ขึ้นอยู่กับนโยบายในการลงทุนของกองทุน WGHCEPAE สำหรับ WGHCEPAE ที่ BCARE ลงทุนอยู่นั้นหากแบ่งการลงทุนตามซับเซ็กเตอร์ จะพบว่าลงทุนในซับเซ็กเตอร์ไบโอเทคโนโลยีสูงที่สุด คือเป็นสัดส่วน 38.9% ของพอร์ตการลงทุน รองลงมาเป็นกลุ่มผู้ให้บริการด้านสุขภาพ (ได้แก่ โรงพยาบาล คลินิก สถานพักฟื้น สถานฟื้นฟู และแผนประกันสุขภาพต่างๆ) โดยลงทุนเป็นสัดส่วน 25.9% ของพอร์ต และรองลงมาอีกเป็นซับเซ็กเตอร์ยาและเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์” ลุงแมวน้ำพูดพลางหยิบตารางสองแผ่นออกมาจากหูกระต่ายและคลี่แผ่นหนึ่งออกให้ลิงดู “เอ้า ดูตารางนี่ ตามนี้เลย”


พอร์ตการลงทุนของ WGHCEPAE กระจายในซับเซ็กเตอร์ต่างๆ ณ มีนาคม 2014


“สงสัยว่าพอร์ตนี้จะชอบความแรง” ลิงออกความเห็น “ลงในหุ้นไบโอเทคเยอะเขียว”

“เอาละ ทีนี้หากว่าเราอยากรู้ว่ากองทุนนี้ลงทุนในหุ้นอะไรบ้าง ก็ลองดูตารางนี้ ลุงแมวน้ำเอารายชื่อหุ้น 10 อันดับแรกในพอร์ต BCARE มาให้ดูกัน” ลุงแมวน้ำพูดพลางเอาตารางอีกแผ่นหนึ่งให้ลิงดู จากนั้นพูดต่อ “จะเห็นว่าหุ้นหลักอยู่ในกลุ่มไบโอเทคโนโลยีและยา อีกทั้งยังเป็นหุ้นในตลาดหุ้นอเมริกาเสีย 8 บริษัท อีกสองบริษัทอยู่ในเบลเยี่ยมและญี่ปุ่น จากตารางนี้ทำให้พอเห็นภาพการจัดน้ำหนักในการลงทุนและประเทศที่เข้าลงทุนได้”


พอร์ตการลงทุนของ WGHCEPAE แสดงหุ้น 10 อันดับแรกในพอร์ตและค่า P/E ณ มีนาคม 2014


“หุ้นพวกนี้ลุงรู้จักบ้างไหม” ลิงถาม “หุ้นตัวแรก P/E สูงปรี๊ด น่ากลัวเชียว”

“ก็พอรู้นิดหน่อย” ลุงแมวน้ำตอบ “อย่างเช่นหุ้นลำดับที่หนึ่งในตาราง คือ ฟอเรสต์แลบ (Forest Laboatories, FRX) นี่เป็นหุ้นดังในกลุ่มไบโอเทค และยิ่งไปกว่านั้น ฟอเรสต์แล็บเพิ่งถูกซื้อโดยบริษัทแอกตาวิส (Actavis, ACT) ที่เป็นหุ้นบริษัทยายักษ์ใหญ่อันดับต้นๆของโลก เพิ่งออกข่าวไปเมื่อไม่กี่วันมานี้เอง มูลค่าที่ซื้อคือ 25,000 ล้านดอลลาร์ สรอ หรือ 800,000 ล้านบาท”

“โห สดๆร้อนๆเลยนะลุง แปดแสนล้านบาท มูลค่ามหาศาลเลย” ลิงอ้าปากหวอ

“ใช่แล้ว ก็ดังที่ลุงบอก หุ้นในซับเซ็กเตอร์ไบโอเทคมีลุ้นให้เทคโอเวอร์กันอยู่เรื่อยๆ” ลุงแมวน้ำพูด “ราคาหุ้น FRX วิ่งหน้าตั้งมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว และข่าวการซื้อขายมาออกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ของปีนี้ วิ่งจาก 40 ดอลลาร์ต่อหุ้นมาถึง 99 ดอลลาร์ กองทุน BCARE ก็ได้อานิสงส์ไปด้วยนี่แหละ

“หุ้นบริษัทยายักษ์ใหญ่ อย่างเช่น เมิร์ก (MRK) แอกตาวิส (ACT) แกลกโซ (GSK) บริษัทเหล่านี้มามาร์เก็ตแคปหรือว่ามูลค่าตลาดสูงมาก เป็นระดับแสนล้านดอลลาร์ สรอ ทีเดียว และบริษัทยาเหล่านี้มักไปเทกโอเวอร์บริษัทยาไบโอเทคมาไว้ในครอบครอง คือไปเอาบริษัทไบโอเทคมาเป็นส่วนหนึ่งของบริษัท หากมองกันในเชิงโครงสร้างธุรกิจ การเทคโอเวอร์แบบนี้เป็นการเอื้อประโยชน์กันและกัน หรือเป็นการร่วมพลังกัน (synergy) เพราะบริษัทไบโอเทคมีความเสี่ยงในเชิงธุรกิจสูง ผู้ถือหุ้นก็ความเสี่ยงไปด้วย รวมทั้งการพัฒนาเทคโนโลยีก็อาจติดขัดด้วยเรื่องเงินทุน แต่หากไปอยู่ในชายคาของบริษัทยายักษ์ใหญ่ทำให้สามารถกระจายความเสี่ยงไปได้ การพัฒนาเทคโนโลยีก็ราบรื่นกว่า ไม่ค่อยติดขัดเรื่องเงินทุน ส่วนบริษัทยาที่มีเงินทุนพร้อมกว่าก็สามารถใช้ธุรกิจไบโอเทคโนโลยีเป็นตัวสร้างรายได้แก่บริษัท ดังนั้นบริษัทยายักษ์ใหญ่แม้โดยซับเซ็กเตอร์แล้วจะอยู่ในซับเซ็กเตอร์ยาทั่วไป แต่แท้ที่จริงแล้วมักมีธุรกิจด้านไบโอเทคอยู่ด้วย”


ราคาหุ้น Forest Laboratories อันเป็นหุ้นด้านไบโอเทคโนโลยีวิ่งแรงตั้งแต่ปลายปี 2013 ปัจจุบันหุ้น FRX ไม่มีแล้วเนื่องจากบริษัทยาแอกทาวิส (ACT) ซื้อไปแล้ว


“อ้อ ยังงี้นี่เอง” ลิงพูด พลางดูในตาราง “แล้วลุงยังมีข้อสังเกตอะไรอีกไหม”

“ก็ยังมีข้อสังเกตอีกนิดหน่อย อย่างเช่น หุ้นยูไนเต็ดเฮลท์ (UNH) เป็นธุรกิจประกันสุขภาพยักษ์ใหญ่ หุ้นนี้อยู่ในดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ (DJI) ด้วย และหุ้นแมกเคสซัน (MCK) ทำธุรกิจหลายอย่าง คือขายส่งยาและเครื่องมือแพทย์ นอกจากนี้ยังขายโซลูชันด้านซอฟต์แวร์บริหารโรงพยาบาลอีกด้วย ก็เป็นธุรกิจที่น่าสนใจ

“นอกจากนี้ ลุงอยากให้สังเกตสัดส่วนการลงทุนในหุ้นแต่ละตัวของพอร์ตนี้ จะเห็นว่าลงทุนในหุ้นบริษัทละนิดละหน่อย หุ้น 10 บริษัทที่มีสัดส่วนสูงสุดรวมกันแล้วก็ยังไม่ถึง 30% ของพอร์ตเลย คาดว่าทั้งพอร์ตคงมีหุ้นหลายสิบบริษัท โดยทางทฤษฎีแล้วการกระจายการลงทุนในหุ้นมากมายขนาดนี้ทำให้พอร์ตการลงทุนกระจายความเสี่ยงได้ดี แต่ก็จะหวังให้พอร์ตกำไรแรงๆคงไม่ได้ การเติบโตของผลตอบแทนเป็นไปตามการเติบโตของเซ็กเตอร์มากกว่า รวมทั้งความผันผวนของผลตอบแทนกองทุนก็ไม่น่าผันผวนมาก เนื่องจากเป็นไปตามความผันผวนของเซ็กเตอร์มากกว่าความผันผวนจากตัวหุ้นของบริษัทใดบริษัทหนึ่ง

 นอกจากนี้ก็ยังไม่มีอะไร ต่อไปเราไปแง้มดูพอร์ตลงทุนของ PHATRA GHC กันดีกว่า”

“ดีเลยลุง ยังงั้นดู PHATRA GHC กันต่อเลย” ลิงจ๋อพูด

“โอ๊ะ โอ๊ะ ไม่ได้สิ” ลุงแมวน้ำพูด

“คอแห้ง ขอดูดน้ำปั่นสักหน่อยก่อน” ลิงจ๋อและลุงแมวน้ำพูดขึ้นพร้อมๆกันราวกับนัดกันไว้


No comments: