Sunday, September 2, 2012

02/09/2012 เช้าวันหยุดกับลุงแมวน้ำ : ลุงแมวน้ำทำธุรกิจ






เช้าวันหยุดนี้ที่จริงลุงแมวน้ำมีเรื่องที่อยากจะเขียนอยู่สองสามเรื่อง แต่ติดอยู่ที่ว่าเรื่องที่อยากเขียนนั้นหนักๆทั้งนั้น ไม่ใช่เรื่องก้อนอิฐก้อนหินหรอก แต่ว่าเป็นเรื่องร้อนที่กำลังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กัน คิดไปคิดมา วันหยุดเป็นวันพักผ่อน ไม่อยากให้เครียดกัน เลยคิดว่าจะเก็บเอาไว้โพสต์ในวันทำงานดีกว่า ส่วนวันนี้คุยกันเรื่องเบาๆไม่เคร่งเครียด

คิดอยู่สักพักว่าจะเอาเรื่องอะไรดี ก็นึกได้ว่าเคยรับปากว่าจะอัปเดตเรื่อง ธุรกิจของลุงแมวน้ำ ให้ฟัง ที่ผ่านมาก็เพียงอัปเดตเล็กๆน้อยๆว่าไปซื้อนั่น ไปดูนี่ ฯลฯ แต่ยังไม่ได้เล่าให้ฟังอย่างเป็นเรื่องเป็นราวสักที ลุงแมวน้ำจึงคิดว่าจะนำมาเล่าในเช้าวันหยุดก็แล้วกัน แม้จะเป็นเรื่องธุรกิจแต่ลุงแมวน้ำก็อยากให้อ่านกันเพลินๆมากกว่า

ก็อยากจะเล่าตั้งแต่ต้นเลย เผื่อว่าใครสนใจจะนำไปดัดแปลง ถือว่าเป็น เอสเอ็มอีโรดแมป (SME road map) หรือว่า อีคอมเมิร์ซโรดแมป (e-commerce road map) ก็พอจะได้


ปรัชญาธุรกิจ


ดังที่ลุงแมวน้ำบอกว่าอยากลองทำธุรกิจดูบ้าง โดยอาศัยแนวทางธุรกิจแบบ ธุรกิจเพื่อสังคม หรือ social enterprise ซึ่งหลักการของธุรกิจแบบนี้อยู่ที่เป็นธุรกิจที่ตอบโจทย์ในการแก้ไขปัญหาสังคมในด้านใดด้านหนึ่ง ยกตัวอย่างเช่น หากในหมู่บ้านขาดน้ำสะอาดสำหรับบริโภค คนในหมู่บ้านมักเป็นโรคท้องเสียจากการบริโภคน้ำที่ไม่สะอาด การทำธุรกิจน้ำดื่มอนามัยขึ้นมาโดยไม่ค้ากำไรเกินควร อย่างนี้ก็ถือว่าเป็นธุรกิจเพื่อสังคม เพราะทำเพื่อช่วยแก้ปัญหาในสังคม และไม่ได้ทำเพื่อเอาเปรียบผู้บริโภคหรือค้ากำไรเกินควร เป็นต้น นี่ยกตัวอย่างแบบง่ายๆ

ลุงแมวน้ำก็ลองศึกษาดูว่าธุรกิจเพื่อสังคมในบ้านเราเป็นอย่างไรกันบ้าง มีใคร ทำอะไร ที่ไหน แลอย่างไร ก็ปรากฏว่าเรื่องธุรกิจเพื่อสังคมในบ้านเรายังเป็นเรื่องที่ค่อนข้างใหม่ หลายๆธุรกิจที่ทำมานานแล้วก็ไม่รู้ว่าตนเองเป็นธุรกิจเพื่อสังคมแน่หรือเปล่า เพราะว่าตอนที่บุกเบิกทำธุรกิจก็ยังไม่มีคำนี้

แต่ว่าภาพลักษณ์ของธุรกิจเพื่อสังคมในบ้านเรายังไม่ค่อยแจ่มชัดนัก นักลงทุนหนุ่มสาวที่เพิ่งริ่มต้นทำธุรกิจและตั้งใจทำธุรกิจเพื่อช่วยแก้ปัญหาสังคม อยากทำธุรกิจน้ำดี ก็ไปจับสินค้าขายยาก อย่างเช่นพยายามเอาสินค้าชุมชนมาขายเพื่อให้ชุมชนมีรายได้ แต่ทำไปทำมาก็แบบ ขายข้าวสาร ขายหอม กระเทียม ขายข้าวแต๋น กล้วยอบ ฯลฯ ซึ่งเป็นสินค้าที่มีคนทำตลาดแข่งกันมาก ทำแล้วก็ขายไม่ได้เท่าที่ควรเพราะว่าการแข่งขันสูง หรือไม่ก็ไปทำตลาดกับสินค้าที่ไม่เป็นที่นิยม ก็ทำตลาดยากอีก

ประกอบกับภาพลักษณ์ของธุรกิจเพื่อสังคมในเชิงลบก็มีอยู่บ้างเหมือนกัน บางคนก็มองธุรกิจเพื่อสังคมในแง่ร้ายว่าพวกนี้เป็นพวกมือถือสากปากถือศีลบ้าง คนดีจอมปลอมบ้าง คือมองในแง่ร้ายว่าใช้ภาพธุรกิจเพื่อสังคมมาใช้หากินเพื่อเพิ่มยอดขายแต่ที่จริงก็ไม่ได้คิดจะทำอะไรเพื่อสังคมหรอก ฯลฯ

ลุงแมวน้ำก็มาวิเคราะห์ดูว่า ที่คนมองธุรกิจเพื่อสังคมในแง่ลบกันก็ดูจะมีประเด็นอยู่เหมือนกัน เพราะว่าต่อไปเราจะมีกฎหมายที่สนับสนุนธุรกิจเพื่อสังคม นัยก็คือรัฐต้องการส่งเสริมให้มีคนทำดีกันมากขึ้น ดังนั้นพวกที่แอบแฝงมาหาประโยชน์ก็คงมี ดังที่เราจะเห็นจากกรณีซีเอสอาร์ (CSR, corporate social responsibility) หรือว่าความรับผิดชอบต่อสังคม ตอนนี้สิ่งที่เห็นก็คือใครๆก็พยายามทำซีเอสอาร์เพราะเป็นกระแสสังคม ประกอบกับลดภาษีได้ด้วยอีกทางหนึ่ง เพื่อให้ได้ภาพว่าตนเป็นคนดี ดังนั้นเราจึงเห็นกันว่า ขายเหล้าก็แจกทุนการศึกษา ทำร้ายสิ่งแวดล้อมโดยโค่นป่าไปทั้งผืนแล้วทำซีเอสอาร์ปลูกต้นไม้หย่อมหนึ่ง ฯลฯ แล้วก็บอกว่าฉันเป็นคนดีนะ อือม์ ขวางโลกอีกแล้ว ไม่พูดต่อดีกว่า ^__^

สรุปแล้วไม่ว่าธุรกิจเพื่อสังคม หรือว่าซีเอสอาร์ หากมีกฎหมายสนับสนุน ก็จะเป็นเหมือนการสร้างกฎกติกา หรือว่าข้อกำหนดในเชิงรูปแบบขึ้นมา เปรียบเทียบได้กับการสร้างกฎเกณฑ์ขึ้นมาว่าธุรกิจเพื่อสังคมต้องแต่งตัวแบบนี้ ต้องแต่งกายสุภาพ ต้องพูดจาสุภาพ เรียบร้อย ต้องมีมารยาทที่ดีต่อผู้อื่น เจอกันต้องยกมือไว้สวัสดี ฯลฯ ใครทำได้ตามเกณฑ์เหล่านี้ก็จัดว่าเป็นธุรกิจเพื่อสังคม ส่วนที่ว่าในใจนั้นจะคิดอย่างไร จะแอบด่าอยู่ในใจหรือเปล่า หรือคนคนนั้นนิสัยส่วนตัวเป็นอย่างไร ตัวจริงอาจหยาบคาย ใจร้าย ไร้ธรรมาภิบาล โกหก ฯลฯ ก็ได้ หากให้มีเปลือกนอกที่ได้ตามเกณฑ์ก็เป็นอันว่าผ่าน

ลุงแมวน้ำคิดอยู่นาน ในที่สุดก็ตัดสินใจว่าไม่เอาดีกว่า ลุงแมวน้ำขอไม่แต่งตัว ใส่สูท ผูกไท แต่หัวใจสีอะไรก็ไม่รู้ แล้วได้ชื่อว่าเป็นธุรกิจเพื่อสังคม ขอเป็นพ่อค้าธรรมดา ขายของทั่วไปดีกว่า แล้วขายแนวคิดทุนนิยมทางเลือก ทุนนิยมที่เอื้ออาทรกัน เฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุขกัน รวมทั้งช่วยรักษาทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ไม่กระตุ้นการบริโภคจนล้นเกิน ฯลฯ เปรียบเหมือนแต่งตัวปอนๆ แต่มีสติรู้ว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ ขอแค่นั้นก็พอดีกว่า

เอาละ เมื่อกำหนดปรัชญาในการทำธุรกิจได้แล้ว ขั้นต่อมาก็ต้องวาง วิสัยทัศน์และพันธกิจ หรือ vision & mission ของตัวธุรกิจขึ้นมาก่อน แน่ะ เริ่มใช้วิชาการแล้ว ตามที่หลักสูตร sme มักอบรมกันก็ต้องกำหนดวิสัยทัศน์และพันธกิจกันเสียก่อน

เรื่อง vision & mission ลุงแมวน้ำก็ไม่ได้คิดอะไรมากหรอก คือมีแค่ปรัชญาในการทำธุรกิจ แล้วก็มองรูปแบบในการทำธุรกิจ คิดไว้แค่นี้เอง ไม่ได้ตั้งเป้าว่าจะไปให้ถึงไหน เพราะลุงเองก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะทำได้ถึงไหน ข้อนี้ก็ถือว่าผิดหลักวิชาการ ตามหลักก็ต้องวางวิสัยทัศน์และพันธกิจเอาไว้ เพื่อจะได้เอาไปตั้งเป้าหมายและคลี่คลายเป็นแผนในการดำเนินธุรกิจ ในระยะ สั้น กลาง และยาวต่อไป แต่ลุงแมวน้ำทำแบบ อือม์ จะว่ายังไงดีล่ะ ทำไปคิดไปน่ะ มีแต่เรื่องสั้นๆ กลางๆ คือเรื่องระยะสั้นเป็นส่วนใหญ่ เรื่องระยะกลางก็คิดไว้นิดหน่อย ส่วนเรื่องระยะยาวๆไม่ได้คิด เพราะคิดไม่ออก อีกอย่าง ลุงแมวน้ำไม่ได้ทำเอารวย ดังนั้นบางอย่างก็ขี้เกียจทำน่ะ ข้ามๆไปบ้าง ^__^ ข้อนี้เป็นตัวอย่างที่ไม่ดีนะคร้าบ โปรดอย่าลอกเลียนแบบ


ลงทุนอะไรดี


เอาละ ทีนี้ลุงแมวน้ำก็มาคิดเรื่องโมเดลธุรกิจ ว่าตัวแบบในการทำธุรกิจจะทำอะไรและอย่างไร ลุงแมวน้ำไม่ต้องการตั้งโรงงานผลิตสินค้า เพราะเป็นเรื่องใหญ่ ต้องมีทีม มีความพร้อมหลายๆอย่าง ต้องใช้ทุนสูง ดังนั้นตัดออกไป ลุงแมวน้ำมีขีดความสามารถทำได้เพียงธุรกิจเล็กๆ อยากได้เพื่อนร่วมอุดมการณ์ ขายความคิดกันไป ร่วมเดินทางกันไป ต่อยอดความคิดกันไป มีความสุขกันไป อย่างนั้นมากกว่า ดังนั้นเมื่อไม่ได้เป็นผู้ผลิตก็ต้องเป็นผู้ขาย รูปแบบธุรกิจของลุงแมวน้ำจึงเลือกที่จะทำจึงเป็นคนกลางขายสินค้า หรือทำธุรกิจซื้อมาขายไปนั่นเอง ตอนแรกขอขายปลีกไปก่อน ขายปลีกก็เหนื่อยหน่อย แต่ด้านการลงทุนต่ำกว่า อีกทั้งแบกรับความเสี่ยงต่ำกว่า ในเบื้องต้นลุงแมวน้ำยังไม่มีความชำนาญก็เลือกเอาหนทางที่ความเสี่ยงต่ำเอาไว้ก่อน

การซื้อมาขายไปก็ต้องมีหน้าร้าน สมัยนี้ขายสินค้าก็ต้องไปอยู่ในห้าง หรือตามแหล่งการค้า จึงจะมีคนเดินผ่านเยอะ ซึ่งร้านในห้างเหล่านี้ค่าเช่าสถานที่แพงๆทั้งนั้น หากไปตั้งโด่อยู่ในซอยหรือในตรอก หากไม่มีคนผ่านก็อาจขายสินค้าไม่ได้ ประกอบกับลุงแมวน้ำไม่อยากเฝ้าหน้าร้านขายของทั้งวัน ลุงแมวน้ำอยากใช้เวลาในชีวิตทำอย่างอื่นบ้าง ครั้นจะจ้างคนอื่นขายก็เกรงจะหาคนไม่ได้ เพราะว่าสมัยนี้พนักงานหายากมาก ลุงแมวน้ำเลยคิดว่าทำ อีคอมเมิร์ซ (e-commerce) หรือการค้าออนไลน์นี่แหละเหมาะที่สุด มีหน้าร้านออนไลน์ เปิดอยู่ตลอด 24 ชั่วโมง คนซื้อเข้ามาชมได้ตลอดเวลา ไม่ต้องเฝ้า ลุงจะไปหกคะเมน ตีลังกา แสดงละครสัตว์ หรือนอนบนโขดหินก็ได้ แถมยังไม่มีข้อจำกัดเรื่องลูกค้า ตลาดหรือว่ากลุ่มเป้าหมายมีขนาดใหญ่กว่าร้านค้าจริงในห้างมาก ลุงแมวน้ำสามารถหาลูกค้าได้จากทุกชาติในโลกด้วยร้านค้าออนไลน์

หลักในการทำธุรกิจก็คล้ายหลักการลงทุน นั่นคือ ต้องมีการกระจายความเสี่ยง ซึ่งการกระจายความเสี่ยงมีทั้งในแนวตั้งและแนวนอน ยกตัวอย่างการลงทุนก่อน ในด้านการลงุทน การกระจายความเสี่ยงในแนวตั้งก็คือการลงทุนในหลายๆ asset class หรือในหลายระดับชั้นของสินทรัพย์ เช่น ลงทุนในพันธบัตร ในหุ้น ในอสังหาริมทรัพย์ เพราะแต่ละระดับชั้นของสินทรัพย์เหล่านี้มีความเสี่ยงไม่เท่ากัน ก็ต้องเลือกกระจายการลงทุนออกไป

ในด้านการกระจายความเสี่ยงในแนวราบก็เช่น หากเราลงทุนในสินทรัพย์ที่เป็นหุ้น ก็ต้องลงทุนในหุ้นหลายๆตัว กระจายกันออกไป อย่ากระจุกในหุ้นตัวเดียว เป็นต้น

ในการกระจายความเสี่ยงเมื่อทำธุรกิจก็เช่นกัน การกระจายความเสี่ยงในแนวตั้งของลุงแมวน้ำก็คือการค้าขายอีคอมเมิร์ซนี้ไม่ใช่การลงทุนหลัก หรือ core investment ของลุงแมวน้ำ ลุงแมวน้ำยังมีการลงทุนอื่นๆอีก เช่น ลงทุนในพันธบัตร หุ้น สินค้าโภคภัณฑ์ ในเงินฝาก ฯลฯ การทุ่มเงินหมดหน้าตักไปลงทุนการค้าเป็นความคิดที่ผิด หลักการก็คือต้องกำหนดจำนวนเงินลงทุนธุรกิจที่เราพอจะรับความเสี่ยงได้ คิดเสียว่ากรณีเลวร้ายสุดคือหากเจ๊งไม่เป็นท่าเราก็ยังต้องอยู่ได้ต่อไป ชีวิตยังต้องเดินต่อไปได้ นี่คือการกระจายความเสี่ยงในแนวตั้งสำหรับธุรกิจ หลายคนไม่ได้คิดแบบนั้น แต่กลับเอาบ้านไปจำนองเพื่อไปลงทุนทำธุรกิจ ลุงแมวน้ำไม่ค่อยเห็นด้วยกับแนวคิดแบบนี้ แต่ธนาคารมักชวนให้ทำแบบนี้ คือเอาบ้าน เอาที่ดิน เอารถ ไปค้ำประกันสินเชื่อธุรกิจ ที่จริงแล้วบ้านเป็นหลักที่เราพักพิง เป็นที่พักยามที่เราบาดเจ็บ เหนื่อยล้า และท้อถอย ยามที่เราแทบไม่เหลืออะไรแล้วนั่นแหละจึงจะรู้ว่าบ้านนั้นสำคัญมากเพียงใด หากเราบาดเจ๊บ บอบช้ำ และเหน็ดเหนื่อย แถมยังไม่มีที่ซุกหัวนอนเพราะโดนยึด ถึงตอนนั้นจะรู้ว่ามันเจ็บปวดเพียงใด ดังนั้นลุงไม่แนะนำให้จำนองบ้านไปทำธุรกิจ ไม่มีเงินก็อย่าเพิ่งทำ มีเงินแล้วค่อยทำ จะดีกว่า

มีเงินน้อยก็ทำธุรกิจแต่พอตัว เหตุที่ลุงแมวน้ำเลือกทำอีคอมเมิร์ซและเป็นธุรกิจซื้อมาขายไปก็เพราะว่าการขายสินค้าแบบอีคอมเมิร์ซนั้นลงทุนต่ำมาก มีเงินหลักพันก็ลงทุนได้ ซึ่งแม้แต่คิดจะถอยรถเข็นขายกาแฟสักคันหนึ่งยังต้องใช้เงินมากกว่านี้เลย ลุงแมวน้ำจึงอยากจะทำอีคอมเมิร์ซ และเริ่มต้นด้วยทุนน้อยๆ เพื่อเป็นตัวแบบให้หลายๆคนที่อยากมีรายได้เสริม หรืออยากเริ่มทำธุรกิจ ได้ศึกษา ก็คือลุงแมวน้ำขอเป็นเรียลลิตีโชว์ให้พวกเราดูนั่นเอง แต่ไม่ต้องถึงกับมาติดกล้องถ่ายไว้ที่โขดหินของลุงแมวน้ำหรอกนะ ลุงเขิลลลลลลล แค่รายงานเป็นระยะ ใครสนใจก็ คุยกัน สอบถามกัน ว่าลุงทำอะไรไปถึงไหนแล้วก็พอ

มาว่ากันเรื่องการกระจายความเสี่ยงกันต่อ การกระจายความเสี่ยงแนวราบของลุงแมวน้ำคือการขายสินค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งขายสินค้าหลายกลุ่มนั่นเอง

ยังไม่จบ แล้วคุยต่อในสัปดาห์หน้าครับ ^__^

2 comments:

เด็กน้อยออกเดินทาง said...

อ่านแล้วอยากทำอีคอมเมิร์ชบ้างครับ แต่กลัวจะไปแย่งลูกค้าของคุณลุงแมวน้ำ :)

ลุงแมวน้ำ said...

ไม่แย่งหรอกครับ ตลาดออกเยอะแยะมากมาย คุณเด็กน้อยไม่ทำก็มีคนอื่นทำอยู่ดี

อีกอย่าง ลุงแมวน้ำไม่กลัวเจ๊งคร้าบ ทำขำๆ (แต่เอาเงินจริงๆ)คือไม่เครียดกับมันน่ะ มาเถอะครับ สนใจก็ลงมือเลย ^__^