เช้าวันนี้นายจ๋อ ลิงเจ้าปัญญาประจำคณะละครสัตว์ ผู้รักการลงทุนระยะสั้นเป็นชีวิตจิตใจ ชอบซื้อหุ้นแบบโดดเข้าโดดออกเพื่อหากำไรเป็นค่ากล้วยหอม ลิงจ๋อมาหาลุงแมวน้ำ ขณะนั้นลุงแมวน้ำกำลังจัดของอยู่บนโขดหิน ในมือนายจ๋อมีกล้วยหอมอยู่หวีหนึ่ง
“นั่นลุงแมวน้ำทำอะไรน่ะ” ลิงถาม
“จัดของน่ะสิ” ลุงแมวน้ำตอบ “ก็เห็นๆอยู่”
“เห็นน่ะเห็นอยู่” ลิงยังไม่หายสงสัย “แต่อยากรู้เหตุผลว่าจัดทำไม”
“นี่สินค้าทั้งนั้น” ลุงแมวน้ำพูดพลางใช้ครีบทำงานไปด้วย “ซื้อมาแล้วกองระเกะระกะไปหมด จนลุงไม่มีที่นอนผึ่งแดดแล้ว เพิ่งจะมีโอกาสจัดนี่แหละ อ้อ เอาไว้สะดวกเวลาหนีน้ำท่วมด้วย”
“แหม ปีนี้เอาอยู่หรอก” ลิงจ๋อยังอารมณ์ดีกับชีวิต
“อยู่ไม่อยู่ลุงก็เตรียมเอาไว้ก่อน กันไว้ย่อมดีกว่าแก้ เสียดายย่อมดีกว่าเสียใจ” ลุงแมวน้ำพูด
“เอ๊ะ คุ้นๆ ประโยคหลังนี่ไม่เกี่ยวกับเรื่องจัดของใช่ไหม” ลิงถาม
“แล้วแต่นายจ๋อจะคิดสิ” ลุงแมวน้ำตอบ “ว่าแต่มาหาลุงนี่มีอะไรเหรอ เอาปลามาฝากลุงใช่ไหม”
“แหม มีแต่กล้วยหอมน่ะ กินแทนปลาไปก่อนละกันนะ” ลิงจ๋อยื่นกล้วยให้ “ว่าจะมาถามอะไรลุงหน่อย”
ลุงแมวน้ำรับกล้วยมาวางไว้บนโขดหิน ให้ก็เอา กล้วยหอมก็อร่อยดี “แล้วจะถามอะไรล่ะ”
“ก็อยากรู้ว่าเมื่อสหรัฐอเมริกาออก QE3 แล้วจะเป็นอย่างไรต่อไป” ลิงถามเข้าประเด็น “หุ้นจะขึ้นใช่ไหม ใครๆก็พูดกันยังงั้น”
“ฟังเขาเล่าว่าแล้วเชื่อตามนั้นได้ไง ต้องใช้กาลามสูตร ต้องรู้ที่มาที่ไปก่อนสิ แล้วพิจารณาลงทุนด้วยความรู้ ไม่ใช่ลงทุนด้วยความไม่รู้ เพราะนั่นอันตรายมาก”
ลิงจ๋อหยิบธนบัตรยี่สิบบาทออกมาพร้อมทั้งกิ๊บหนีบผ้าอันหนึ่ง จากนั้นหนีบเงินด้วยกิ๊บไว้ที่ครีบลุงแมวน้ำ
“นั่นทำอะไรน่ะ” ลุงแมวน้ำสงสัย
“ติดกัณฑ์เทศน์ไง สาธุ” ลิงจ๋อพนมมือ “เอ้า เริ่มเทศน์ได้”
“เอาละ ไม่บ่นก็ได้” ลุงแมวน้ำหัวเราะ “คุยเรื่องคิวอีกันเลยละกัน”
“คำว่าคิวอีนั้นก็คือการอัดฉีดเงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจนั่นเอง แต่เรียกให้สวยๆว่า QE (quantitative easing) แปลว่าการผ่อนคลายเชิงปริมาณ แต่จะเรียกอะไรก็ไม่สำคัญเท่ากับว่าการอัดฉีดเงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจนั้นก่อให้เกิดผลอะไรบ้าง” ลุงแมวน้ำหยุดจัดของและคุยกับนายจ๋ออย่างเป็นเรื่องเป็นราว
“เดือนกันยายน 2012 นี้เป็นเดือนที่มีเรื่องราวสำคัญเกิดขึ้นหลายอย่างในแง่เศษฐกิจ เริ่มตั้งแต่ธนาคารกลางของยุโรปหรือ ECB ออกมาตรการซื้อพันธบัตรอย่างไม่จำกัดเพื่อช่วยประเทศในกลุ่มยูโรโซนที่มีปัญหา ซึ่งเดิมทีธนาคารกลางแห่งยุโรปพยายามหลีกเลี่ยงการใช้มาตรนี้มาตลอด ต่อจากนั้นก็เป็นเรื่องที่สหรัฐอเมริกาประกาศมาตรการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าไปในระบบเศรษฐกิจด้วยการซื้อตราสารหนี้ที่มีสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์คำประกัน ที่เรียกว่า MBS หรือ mortgage backed securities นั่นเอง โดยการอัดฉีดนี้ผ่านระบบธนาคาร เดือนละ 40,000 ล้านดอลลาร์ สรอ เพื่อกดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านให้ต่ำลง และจะอัดฉีดไปเรื่อยๆจนกว่าอัตราการว่างงานจะดีขึ้นจนน่าพอใจ ซึ่งการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกานี้ทางเฟดมีหลักคิดอยู่ว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐอเมริกามีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงมาก รวมทั้งเป็นตลาดที่มีการจ้างงานสูง เมื่อตลาดอสังหาฯดีขึ้นก็จะมีการจ้างงานมากขึ้น อัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านที่ลดลงก็จะทำให้ประชาชนมีกำลังซื้อดีขึ้น ดังนั้นเมื่อภาคอสังหาริมทรัพย์ดีขึ้น เศรษฐกิจของประเทศก็จะพ้นจากหล่มได้
“นอกจากนี้ ประเทศญี่ปุ่นก็อัดฉีดสภาพคล่องเข้าไปในระบบเศรษฐกิจของญี่ปุ่นเองเช่นกัน เพราะว่าเงินเยนแข็งค่ามากอันเป็นผลจากการอัดฉีดสภาพคล่องของยุโรปและสหรัฐอเมริกาในช่วงหลายปีที่ผ่านมาทำให้เงินดอลลาร์ สรอ และยูโรอ่อนค่า เงินบางส่วนจึงหนีร้อนมาพึ่งเยน (ก็ทั้งหนีร้อนมาพึ่งเย็นและมาพึ่งเยนนั่นแหละ) ทำให้อุตสาหกรรมของญี่ปุ่นที่ปกติก็แข่งขันได้ยากอยู่แล้วเพราะโดนสินค้าเกาหลี จีน ไต้หวันตีตลาด เมื่อเงินเย็นแข็งก็ยิ่งเสียเปรียบ เศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ติดหล่มมาประมาณ 20 ปีและดูมีท่าว่าจะฟื้นขึ้นมาได้แล้วก็กลับทรุดลงไปอีก ช่วงสองสามปีที่ผ่านมานี้ธนาคารกลางของญี่ปุ่นอัดฉีดเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและรักษาสภาพคล่องไปหลายรอบ รวมเป็นจำนวนไม่น้อยแล้ว
“ทางด้านประเทศจีน จีนได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากฝั่งตะวันตกมากทีเดียวเพราะเป็นประเทศที่พึ่งพิงการส่งออกสูง เมื่อฝั่งตะวันตกลดการใช้จ่าย อุตสาหกรรมของจีนก็ได้รับผลกระทบ นอกจากนี้จีนยังมีปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศของตนเอง เช่น เรื่องฟองสบู่ตลาดอสังหาริมทรัพย์และตลาดหุ้น ราคาอสังหาริทรัพย์ตกลงอย่างต่อเนื่อง ช่วงในวิกฤติแฮมเบอร์กอร์ จีนอัดฉีดสภาพคล่องไปแล้วสี่ล้านหยวนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ จนในช่วงหลังจีนไม่กล้าอัดฉีดเพิ่มอีกมากนักเพราะเกรงปัญหาเงินเฟ้อ แต่พยายามใช้มาตรการอื่นๆแทน
“แต่แล้วในที่สุด เมื่อวานนี้เอง (27/09/2012) ทางการจีนก็ประกาศอัดฉีดเงินอีกประมาณ 5.7 หมื่นล้านดอลลาร์ สรอ และอาจต้องอัดฉีดเพิ่มติมอีก ตามแต่สถานการณ์ สรุปแล้วตอนนี้ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจขนาดใหญ่ต่างก็เลือกใช้มาตรการอัดฉีดสภาพคล่องกัน
“ธนาคารของประเทศต่างๆอัดฉีดสภาพคล่องแล้วเอาเงินมาจากไหน คำตอบก็คือพิมพ์เงินเพิ่ม หรืออีกนัยหนึ่งก็คือการนำเงินในอนาคตมาใช้ก่อนนั่นเอง ที่ว่าพิมพ์เงินนั้นคงเป็นการเปรียบเทียบเพื่อให้เห็นภาพ เพราะระบบเศรษฐกิจในยุคปัจจุบันใช้เงินอิเล็กทรอกนิกส์คือไม่ต้องใช้เงินกระดาษ แต่ลุงแมวน้ำก็ขอเรียกรวมๆว่าการพิมพ์เงินเพิ่มเพื่อให้เรียกง่ายและเห็นภาพ”
“อ้าว นึกว่ามีแต่สหรัฐอเมริกาที่อัดฉีด ที่แท้ประเทศใหญ่อื่นๆก็เอากับเขาด้วย” ลิงจ๋อพูด “เมื่อประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ต่างก็พิมพ์เงินเพิ่ม แล้วผลจะเป็นอย่างไรละลุง”
“เราลองมาดูที่สหรัฐอเมริกาและยุโรปกันก่อน ตั้งต้นกันที่ฝั่งตะวันตกก่อน เมื่อ สรอ และกลุ่มยูโรโซนพิมพ์เงินดอลลาร์ สรอ และเงินยูโรเพิ่มจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง” ลุงแมวน้ำหยุดนิดหนึ่งแล้วเล่าต่อไป
“ปกติแล้วการอัดฉีดสภาพคล่อง รัฐโดยธนาคารชาติมักเติมสภาพคล่องผ่านทางระบบธนาคาร แล้วให้ธนาคารเอาไปปล่อยกู้ ไม่ใช่เอาเงินไปใส่มือประชาชนโดยตรง ยูโรโซนและ สรอ ก็เช่นกัน แต่ในสภาพเศรษฐกิจที่ไม่ดี ธนาคารแต่ละแห่งจะปล่อยกู้ก็ต้องคิดหนัก เพราะเกรงหนี้สูญ ดังนั้น ในสภาพความเป็นจริงก็คือเงินกองอยู่ในระบบธนาคารโดยไม่ถึงมือประชาชน ธนาคารมีสภาพคล่องสูงแต่ประชาชนกระเป๋าแฟบ หรือที่มักพูดกันว่าเงินล้นธนาคารนั่นเอง
“การที่นำเงินในอนาคตมาใช้นั้นทำให้ความเชื่อมั่นในเงินตราสกุลนั้นๆลดลง ผลก็คือ เงินสกุลนั้นๆจะอ่อนค่าลง เมื่อดอลลาร์ สรอ และยูโรอ่อน ผลก็คือเงินตราสกุลอื่นๆแข็งค่าขึ้นเพราะอัตราแลกเปลี่ยนนั้นสัมพันธ์กัน”
“แล้วเงินตั้งเยอะแยะนอนอยู่ในธนาคารจริงๆเหรอ” ลิงถาม
“ก็ไม่จริงเสียทั้งหมด เพราะการที่ธนาคารมีเงินอยู่ในธนาคารมากๆก็มีต้นทุนทางการเงิน ดังนั้นจำเป็นต้องหาทางทำให้เกิดดอกออกผล ธนาคารไม่กล้าปล่อยกู้แก่รายย่อยแต่กล้าปล่อยกู้แก่นักลงทุนรายใหญ่ เช่น พวกกองทุน ฯลฯ นักลงทุนก็กู้เงินไปลงทุนในตลาดพันธบัตรบ้าง ตลาดหุ้นบ้าง ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์บ้าง ไปซื้อกิจการอื่นๆบ้าง ฯลฯ เมื่อเงินไม่มีที่ไปก็ต้องหาทางไปจนได้นั่นแหละ จาก QE1 และ QE2 ที่ผ่านมาผลก็บ่งชี้เช่นนั้น เพราะตลาดหุ้นและสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวขึ้น ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรลดลง”
ผลจากมาตรการ QE1 และ QE2 ทำให้ตลาดหุ้นของสหรัฐอเมริกาและทั่วโลกปรับตัวขึ้น รวมทั้งทำให้สินค้าโภคภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นทองคำ พลังงาน และสินค้าเกษตรปรับตัวขึ้นทั่วโลกด้วยเช่นกัน |
“อ้อ ยังงี้นี่เอง” ลิงจ๋อพูด
“ยังไม่ใช่เท่านี้ เงินยูโรอ่อนค่าลงเรื่อยๆใช่ไหม เงินดอลลาร์ สรอ อ่อนค่าลงเรื่อยๆใช่ไหม อย่ากระนั้นเลย เอาไปซื้อเป็นเงินตราสกุลอื่นดีกว่า เงินประเทศตนเองอ่อนค่าลงเรื่อยๆก็หนีไปถือเงินสกุลอื่นหรือไม่ก็ถือโลหะมีค่าเช่น ทองคำที่มีสภาพเป็นเงินตราสกุลหนึ่งด้วย” ลุงแมวน้ำพูดต่อ
“สมมติกรณีเงินยูโร หากเงินยูโรล้นธนาคารยุโรป ธนาคารและนักลงทุนก็จะหาช่องทางเอาเงินยูโรเงินไปแลกเป็นเงินสกุลอื่น เช่น เงินเยนของญี่ปุ่น เมื่อเอาเงินยูโรไปซื้อเงินเยน เงินเยนก็เลยแข็งค่าขึ้นเพราะว่ามีความต้องการเงินเยนเพิ่มมากขึ้น อันเป็นกลไกอุปสงค์อุปทานธรรมดา เมื่อเงินเยนแข็งค่ามากขึ้น เจ้าของเงินยูโรที่ไปซื้อเงินเยนก็ได้กำไรดี คนอื่นๆที่ถือยูโรอยู่เห็นแล้วก็เอาตามบ้าง แห่กันเข้าไปซื้อเงินเยน ผลก็คือ ยูโรอ่อนลง ส่วนเงินเยนแข็งค่าขึ้นเรื่อยๆ การกู้เงินยูโรที่มีต้นทุกถูกแล้วไปหากำไรในเงินสกุลอื่น ทำอย่างนี้เรียกว่า ยูโรแครีเทรด (Euro carry trade) นั่นเอง”
“ต่อเลย ต่อเลย ลุงแมวน้ำ กำลังสนุก” ลิงจ๋อพูด
“นี่ไม่ใช่นิยาย ไม่สนุกหรอก แต่เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง” ลุงแมวน้ำพูด “สมมติอีกที คราวนี้เป็นสหรัฐอเมริกา เงินล้นธนาคารใน สรอ เช่นกัน ค่าเงินก็อ่อนลงเรื่อยๆ ทำอย่างไรดี คำตอบก็คือไปลงที่เมืองไทยดีกว่า เงินดอลลาร์ สรอ ก็ไหลมาซื้อเงินบาทและนอนอยู่ในเมืองไทย เมื่อมีความต้องการเงินบาทมากขึ้น เงินบาทก็แข็งค่าขึ้นเรื่อยๆ แรงขายเงินดอลลาร์ สรอ มาซื้อเงินบาทก็ยิ่งมากขึ้น เพราะเห็นว่าได้กำไรดีจากอัตราแลกเปลี่ยน การกู้เงินดอลลาร์ สรอ ต้นทุนถูกไปหากำไรในเงินสกุลอื่น ทำอย่างนี้ก็เรียกว่า ดอลลาร์แครีเทรด (Dollar carry trade) นั่นเอง”
“เงินยูโรแปลงเป็นเยน เงินดอลลาร์แปลงเป็นบาท แปลงแล้วเงินไปอยู่ที่ไหน” ลิงยังสงสัยต่อไป
“เงินที่แปลงแล้วก็ต้องเอาไปลงทุนอะไรสักอย่าง จะนอนเฉยๆไม่ได้หรอก ที่เสี่ยงน้อยหน่อยก็คือคือไปลงทุนซื้อตราสารหนี้ของประเทศนั้นๆ ที่ปลอดภัยก็คือพันธบัตรรัฐบาล นักลงทุนที่เป็นผู้ชำนาญก็อาจไปลงทุนในหุ้นกู้เอกชน หรือไม่อย่างนั้นก็ลงทุนในตลาดหุ้น หรืออสังหาริมทรัพย์ พวกนี้จะได้กำไรสองเด้ง คือกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน กับกำไรจากผลตอบแทนพันธบัตรหรือผลตอบแทนตลาดหุ้น สบายพุงไปเลย ดังนั้นสรุปก็คือผลจากการที่เงินทุนเคลื่อนย้ายไปได้ทั่วโลก การอัดฉีดสภาพคล่องของสหรัฐอเมริกาและยุโรปทำให้ตลาดหุ้นและสินค้าโภคภัณฑ์ทั่วโลกขึ้นตามไปด้วยนั่นเอง” ลุงแมวน้ำตอบ
“ถ้าเงินไหลเข้าแบบที่ลุงแมวน้ำว่า ก็แสดงว่าเงินบาทต้องแข็งค่า คนไทยก็มีอำนาจซื้อมากขึ้นด้วยสิ น่าจะเป็นเรื่องดี ชิมิ” ลิงจ๋อใช้ภาษาวัยรุ่น “หุ้นขึ้นก็ดีสิ ทุกคนก็มีกำไร”
“มันก็ไม่เชิงหรอก” ลุงแมวน้ำตอบ “เพราะว่าเมื่อเงินบาทแข็ง สมมติกรณีเงินบาทนะ เมื่อเงินบาทแข็ง การส่งออกของเราที่ฝืดเคืองอยู่แล้วก็จะยิ่งฝืดหนักขึ้น เงินเยนกับญี่ปุ่นเองก็เจอปัญหานี้เช่นกัน แต่การนำเข้าจะดีอย่างที่นายจ๋อว่า เพราะว่าผู้นำเข้าซื้อของได้ถูกลงเนื่องจากเรามีอำนาจซื้อมากขึ้น”
“ฮ่าๆ ผมก็รู้เหมือนกันนำ” ลิงจ๋อคุย
“แต่” ลุงแมวน้ำขัด “ก็มีแต่อีกนั่นแหละ เพราะว่าในแง่เศรษฐกิจของประเทศไม่ได้รับผลดี เนื่องจากแม้เงินบาทแข็ง แต่สินค้าโภคภัณฑ์ก็ถูกปั่นให้แพงขึ้นด้วย ซึ่งหนึ่งในสินค้าโภคภัณฑ์ที่สำคัญมากคือกลุ่มพลังงาน แม้เงินบาทแข็งแต่เราก็ต้องซื้อพลังงานแพง สินค้าก็ขึ้นราคา เงินก็เฟ้อได้ สุดท้ายเงินคงเฟ้อไปทั่วโลก คนมีเงินอาจทำมาค้าขายได้กำไร แต่คนจนที่เงินในชีวิตส่วนใหญ่หมดไปกับค่าอาหารในชีวิตประจำวัน พวกนี้เดือดร้อนแน่เพราะว่าสินค้าแพงขึ้น”
“ยังมีอีก” ลุงแมวน้ำพูดต่อ “เงินนอกที่เข้าประเทศมา มาไล่ซื้อหุ้น ไล่ซื้ออสังหาริมทรัพย์ เงินพวกนี้จะทำให้เกิดฟองสบู่ในตลาดทุนและในภาคอสังหาริมทรัพย์ได้ เงินพวกนี้มาเร็ว เคลมเร็ว ไปเร็ว เมื่อวันใดที่เงินเหล่านี้ไหลออกไป ฟองสบู่ในประเทศของเราก็จะแตก นี่แหละลุงแมวน้ำถึงได้บอกว่าเป็นเรื่องน่าเศร้าและน่าเป็นห่วงมากกว่าเรื่องน่าดีใจ”
“เรื่องเงินเฟ้อแบงก์ชาติต้องเอาอยู่สิ” ลุงจ๋อพูด รู้สึกว่าชอบคำนี้เสียจริง “ขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปเล้ย ผมก็พอรู้นะ”
“ขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้ไง” ลุงแมวน้ำพูด ว่าแล้วก็หยิบกระดาษแผ่นหนึ่งออกมาจากหูกระต่ายมากางให้นายจ๋อดู “ลองดูตารางนี้ก่อน”
“อะไรน่ะลุง” ลิงถาม
“ตารางอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบางอายุ 10 ปีของประเทศต่างๆ” ลุงแมวน้ำพูด “นายจ๋อดูสิ “ประเทศตะวันตกที่เครดิตดีๆ อย่างเช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา เยอรมนี อังกฤษ ฝรั่งเศส สวีเดน เดนมาร์ก ฯลฯ ล้วนแต่ผลตอบแทนพันธบัตรต่ำกว่าของไทยทั้งนั้น หากเราขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ เงินทุนก็จะยิ่งไหลเข้ามามากมายยิ่งกว่านี้ คราวนี้ยิ่งป่วน แต่หากปรับอัตราดอกเบี้ยลงเพื่อลดการไหลเข้าของเงิน คราวนี้เงินก็เฟ้อ ค่าครองชีพก็สูงยิ่งขึ้นไปอีก ดังนั้นมันเป็นสถานการณ์ที่ธนาคารกลางขยับตัวทำอะไรได้ยาก” ลุงแมวน้ำพูด
“อ้อ เหรอ” ลิงจ๋อนึกไม่ถึง
“และยิ่งไปกว่านั้น” ลุงแมวน้ำพูดต่อ “ธนาคารกลางของแต่ละประเทศมีหน้าที่ดูแลเสถียรภาพของค่าเงินอย่างที่นายจ๋อว่า ดังนั้นหากมีเงินไหลเข้ามามาก ธนาคารกลางก็ต้องรักษาสเถียรภาพของเงินตรา ต้องออกพันธบัตรมารับสภาพคล่องพวกนี้เอาไว้ คือดูดเงินออกไปจากตลาดบ้างไม่ให้มีมากเกินไป แล้วธนาคารแห่งประเทศไทยดูดเงินเหล่านี้ออกมาจากตลาดแล้วเอาไปเก็บไว้ที่ไหน เงินพวกนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องจ่ายดอกเบี้ยให้เขาทั้งนั้น ตามอัตราดอกเบี้ยพันธบัตร ดูดซับเงินเข้ามามากธนาคารกลางก็ยิ่งขาดทุนมาก”
“แบงก์ชาติก็เอาเงินไปลงทุนสิ” นายจ๋อรีบพูดทันที “จะปล่อยให้ขาดทุนทำไม”
“ก็นี่ไง ธนาคารแห่งประเทศไทยไม่ใช่วาณิชธนกิจ ดังนั้นการลงทุนเพื่อหาผลตอบแทนจึงมีกรอบเข้มงวดมาก ไปลงทุนหุ้นอะไรแบบนั้นไม่ได้หรอก ที่ทำได้คือไปซื้อพันธบัตรที่มีเครดิตสูงสุด อย่างเช่นพันธบัตรอเมริกัน แล้วนายจ๋อคิดดูสิ เงินดอลลาร์จากอเมริกาเข้ามาป่วนในไทยเพื่อผลตอบแทนที่ดีกว่าในบ้านตนเอง แต่แล้วธนาคารแห่งประเทศไทยต้องเอาเงินพวกนั้นนั่นแหละ หอบกลับไปซื้อพันธบัตรอเมริกันเอาไว้ ดอกเบี้ยพันธบัตร 10 ปีบ้านเรา 3.8% ต่อปี เงินต่างชาติเข้ามานอนกินดอกเบี้ยในบ้านเราในอัตรานี้ แต่ธนาคารชาติของเราต้องเอาเงินพวกนี้หอบไปซื้อพันธบัตรอเมริกาที่ให้ผลตอบแทนประมาณ 1.7% ขาดทุนทั้งขึ้นทั้งล่อง เจ็บไหมล่ะ แล้วผลขาดทุนของธนาคารแห่งประเทศไทยคือหนี้สาธารณะ คนไทยทั้งชาติต้องรับเอาไว้ คนจนหรือคนรวยรับไว้เท่าเทียมกัน แล้วคนจนเสียเปรียบหนักไหมล่ะ ค่าครองชีพสูงขึ้น แล้วยังแบกหนี้เท่ากับคนรวยอีก” ลุงแมวน้ำสาธยาย
“ฮื่อ” ลิงจ๋อคราง “น่าเป็นห่วงและน่าเศร้าจริงๆด้วย”
“และยิ่งกว่านั้น เท่าที่ผ่านมา การที่โลกตะวันตกพิมพ์เงินเพิ่มแต่แล้วก็แก้ปัญหาเศรษฐกิจไม่ได้ ผลที่ตามมาก็คือเศรษฐกิจตะวันตกเป็นตัวฉุดเศรษฐกิจไปทั่วโลก ประเทศต่างๆในที่สุดก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องอัดฉีดสภาพคล่องเข้าไปในระบบเศรษฐกิจของตนบ้าง สุดท้าย ทุกฝ่ายต่างก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องนำเงินในอนาคตมาใช้ก่อน ปัญหายิ่งซ้อนปัญหาเข้าไปอีก ยุ่งเป็นลิงแก้แหอย่างที่เป็นอยู่นี้ไง”
“แล้วมันเกี่ยวอะไรกับผมล่ะ ผมไม่ได้แก้แห ผมพยายามแก้ขาดทุน ฮึ” ลิงพูด “ขอบคุณมากนะลุงแมวน้ำ คราวนี้หุ้นขึ้นแน่ ผมจะได้มีกำไรเอาอาไปซื้อกล้วยหอมกินสักที”
“นายจ๋ออย่าประมาท ในอดีตเป็นอย่างนั้นไม่ได้เป็นหลักประกันว่าอนาคตจะต้องเป็นเช่นเดิมอย่างแน่นอน หากมีปัจจัยพิเศษเข้ามาแทรก เช่น อุกกาบาตถล่มโลก สงครามนิวเคลียร์ โรคระบาดทั้งทวีป ฯลฯ ผลลัพธ์อาจจะเปลี่ยนไปเลยก็ได้ ตลาดหุ้นไม่เคยปรานีใคร นายจ๋อลงทุนต้องรู้จักควบคุมความเสี่ยงให้ได้ด้วยการจัดพอร์ตลงทุน”
“แหม ตัวอย่างของลุงนี่เว่อเหลือเกิน ฮิ” ลิงหัวเราะขำ “มันจะเกิดขนาดนั้นได้ยังไง”
“นั่นลุงยกตัวอย่างหมายความว่าอะไรก็เกิดขึ้นได้นายจ๋อ” ลุงแมวน้ำพูด “ที่สำคัญคือต้องรู้จักการจัดการลงทุน เมื่อมีเหตุไม่คาดหมายนายจ๋อต้องถอนตัวออกมาได้ และแม้ว่าขาดทุนก็ต้องมีทุนเหลือพอที่จะกลับเข้าไปในลงทุนใหม่ได้เมื่อโอกาสมาถึง พูดง่ายๆว่าถึงพลาดชีวิตกต้องเดินต่อไปได้ ไม่ใช่ล้มไปเลย อย่าลืมล่ะ”
No comments:
Post a Comment