Friday, September 14, 2012

14/09/2012 * QE3 มาแว้ว ลุงแมวน้ำเตรียมเข้าลงทุน



ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ (DJI) เมื่อคืนทำแท่งเทียนขาวใหญ่ ดูท่าอาจไปต่อจนทดสอบ 14,200 จุด

เงินดอลลาร์ สรอ (USD index) อ่อนตัวหนัก ดูท่าคงลงยาวเนื่องจากเฟดเติมเงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจ



ประสบการณ์จาก QE1 และ QE2 ที่ทำให้ทองคำและสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆราคาพุ่ง คราวนี้ก็คงเช่นกัน


ในที่สุดก็รู้ผลกันแล้วว่าลุงเบน เฮลิคอปเตอร์ ประธานเฟด จะเยียวยาปัญหาเศรษฐกิจอย่างไร นั่นคือ เฟดจะทุ่มเงินซื้อตราสารหนี้ ทั้งพันธบัตร และ MBS (mortgage-backed securities คือตราสารหนี้ที่ผูกพันกับสินเชื่ออสังหาริมทรพย์) เดือนละ 40,000 ล้านดอลลาร์ สรอ ทั้งนี้ก็เพื่อกดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านในตลาดให้ต่ำลงยิ่งไปกว่านี้อีก คือเดิมวัตถุประสงค์ของมาตรการ operation twist ที่ลุงเบนออกมาในครั้งที่แล้วก็เพื่อการนี้แหละ คือกดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อที่อยู่อาศัย เพื่อให้คนมีกำลังซื้อได้ รวมทั้งคนที่เดิมมีสินเชื่อดอกสูงก็จะได้รีไฟแนนซ์ลดภาระดอกเบี้ยลง เมื่อภาคอสังหาริมทรัพย์ฟื้นก็จะทำให้เศรษฐกิจรวมของสหรัฐอเมริกาฟื้นตัวขึ้น แต่กรณี operation twist นั้นไม่ได้เติมเงินลงไปในระบบเศรษฐกิจ เพียงแค่ใช้การปรับพอร์ตตราสารหนี้ แต่ลุงเบนดูแล้วเห็นผลไม่ทันใจ ดังนั้นคราวนี้จึงประกาศมาตรการทุ่มเงินซื้อตราสารหนี้เดือนละ 40,000 ล้าน ดอลลาร์ สรอ อีกทั้งยังไม่จำกัดจำนวนเงินและเวลา คือทุ่มจนกว่าอัตราการว่างงานจะดีขึ้นจนน่าพอใจ ซึ่งคาดว่าคงทุ่มอยู่นานเป็นปี

มาตรการของลุงเบนในนี้ครั้งก็คือ QE3 นั่นเอง แถมยังเลียนแบบ QE ของยุโรป ฝั่งยุโรปนั้น ECB ทุ่มเงินซื้อพันธบัตรประเทศที่มีปัญหาอย่างไม่อั้น (แต่มีเงื่อนไข) ส่วนของสหรัฐอเมริกานั้น QE1 และ QE2 มีกำหนดวงเงินไว้ แต่คราวนี้ทุ่มแบบไม่อั้นเช่นกัน คือทุ่มไปเรื่อยจนกว่าจะเห็นผล ซึ่งแน่นอน เงินที่จะใส่เข้าไปในระบบนั้นคือเงินในอนาคตนั่นเอง คือเฟดต้องก่อหนี้และเอาเงินในอนาคตมาใส่ในตลาดปัจจุบัน จะเรียกว่าพิมพ์เงินเพิ่มก็ได้ นัยเดียวกัน

คราวนี้ทั้งยุโรปและสหรัฐอเมริกาทุ่มเงินแบบไม่อั้น เหนือความคาดหมายของลุงแมวน้ำ และยิ่งไปกว่านั้น เมื่อไม่กี่วันก่อนจีนก็ประกาศอัดฉีดเศรษฐกิจ ลุงแมวน้ำลืมเอามาเล่า

สรรพสิ่งย่อมมีเกิด รุ่งเรือง เสื่อม และดับสูญ วัฏจักรเศรษฐกิจก็เช่นกัน ถึงคราวเสื่อมแต่ไม่ยอมให้เสื่อม ก็อุปมาคล้ายกับคนขับรถบรรทุกที่ง่วงนอนและต้องกินยาบ้าเพื่อให้ขับรถได้นั่นเอง หรือคล้ายกับคนป่วยที่กินยาโด๊ป พฤติกรรมฝืนสังขารเช่นนี้ผลเป็นอย่างไรพวกเราคงคาดกันได้ แต่ยุโรปไม่ยอม สหรัฐอเมริกาไม่ยอม จีนไม่ยอม ลุงแมวน้ำว่าอนาคตในระยะยาวเป็นเรื่องน่ากลัวทีเดียว

แต่ระยะยาวก็เป็นเรื่องในระยะยาว แต่ระยะกลางและสั้น ต่อจากนี้ไป เงินคงไหลเข้ามาในเอเชีย ตลาดหุ้นและตลาดเงินในเอเชียคงปั่นป่วน ภาคเศรษฐกิจจริงก็อีกเรื่องหนึ่ง ภาคประชาชนก็เรื่องหนึ่ง เพราะราคาข้าวของคงจะแพงเนื่องจากเงินเฟ้อ คนชราและคนยากจนคงลำบากเนื่องจากกินแต่เงินเก่า รวมทั้งธุรกิจขนาดย่อมคงลำบากและแข่งขันยากยิ่งขึ้น แต่ภาคการลงทุนในตลาดรอง คือตลาดหุ้นในเอเชียและสินค้าโภคภัณฑ์คงไปต่อได้อีก เงินดอลลาร์ สรอ กับยูโร น่าจะอ่อน เงินเยน ฟรังก์สวิส ดอลลาร์ออสเตรเลีย และเงินเอเชียอื่นๆรวมทั้งเงินบาทคงจะแข็ง ทองคำคงได้เห็นเกิน 1900 ดอลลาร์ สรอ/ทรอยออนซ์อีกครั้งหนึ่ง

ตอนนี้ตลาดทุนกับเศรษฐกิจจริงคงแยกจากกันชั่วคราวบางส่วน แต่บางส่วนยังสัมพันธ์กับภาคเศรษฐกิจจริง ดังนั้นสถานการณ์น่าจะซับซ้อนยิ่งขึ้น ดูแล้วสำหรับรายย่อยคงลงทุนยากเอาการ แต่รายใหญ่หรือสถาบันคงมีโอกาสกอบโกย มือใครยาวก็สาวได้สาวเอา เงินยิ่งมากก็ยิ่งรวยหนักยิ่งขึ้นเพราะได้เปรียบในการเข้าถึงแหล่งทุน ความรู้ และทรัพยากรต่างๆ นี่แหละ ความโหดร้ายของทุนนิยมกระแสหลัก

สถานการณ์เปลี่ยนก็ต้องปรับมุมมองใหม่ เพราะผลจาก QE สามารถทำให้ปัจจัยทางเทคนิคเปลี่ยนไปได้เนื่องจากพฤติกรรมราคาปลี่ยนไป ส่งผลทำให้รูปแบบทางเทคนิคอาจเปลี่ยนไปด้วย อย่างเช่น เดิมที่เรามองเป็นคลื่น A ก็อาจเป็นคลื่น 4 และที่เดิมมองเป็นคลื่น B ก็อาจกลายเป็นคลื่น 5 เป็นต้น ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ โลกนี้ไม่มีอะไรแน่นอนอยู่แล้ว ลุงแมวน้ำจะเขียนให้ละเอียดอีกครั้งหนึ่ง ขอดูให้ชัดอีกสักระยะหนึ่ง

ตอนนี้ลุงแมวน้ำเตรียมเข้าลงทุนแล้ว และรอจังหวะอยู่ครับ หาจังหวะก่อน ยังไม่ผลีผลามในทันที ประกาศ QE3 แค่วันเดียว ฝุ่นยังตลบอยู่ ถ้าขึ้นจริงก็ยังมีเวลาเตรียมตัวครับ ใจเย็นๆ

ผู้ที่ลงทุนในต่างประเทศ (offshore investment) ในสกุลเงินดอลลาร์ สรอ กับผู้ที่ลงทุนในกองทุนรวม FIF ที่ไม่ได้ปิดความเสี่ยงค่าเงิน ควรติดตามสถานการณ์อย่างระวัง เพราะหากเงินดอลลาร์อ่อน กำไรจะหายไปเยอะ ถ้าขาดทุนอยู่ก็ยิ่งขาดทุนมาก ส่วนผู้ที่ลงทุนค้าขายในต่างประเทศเป็นเงินยูโรหรือดอลลาร์ สรอ ก็ควรติดตามค่าเงิน ลุงแมวน้ำเองเวลาขายของได้คงต้องหมั่นแลกกลับเป็นเงินไทยบ่อยๆ เพราะค่าเงินคงไม่นิ่ง แลกช้าก็อาจขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนได้





No comments: