Monday, December 27, 2010

24/12/2010 * การลงทุนแบบเฉลี่ยต้นทุน (DCA หรือ BCA) (6)

วันนี้ดัชนี SET ปิดที่ 1021.99 จุด เพิ่มขึ้น 0.72 จุด

สำหรับหุ้นในกลุ่ม SET50 วันนี้มีสัญญาณซื้อ CPF, DTAC ขณะนี้ถือหุ้นอยู่รวมทั้งหมด 30 ตัว

กลุ่มฟิวเจอร์ส วันนี้ไม่มีสัญญาณซื้อขาย

ด้านตลาดต่างประเทศ วันนี้ไม่มีสัญญาณซื้อขาย วันนี้ตลาดสำคัญหยุดหลายตลาดเนื่องในเทศกาลคริสต์มาส รวมทั้งตลาดสหรัฐอเมริกา

การลงทุนแบบเฉลี่ยต้นทุน (DCA หรือ BCA) (6)


จากที่เมื่อวานเราติดตามพอร์ตการลงทุนแบบเฉลี่ยนต้นทุนหรือ BCA ของลุงแมวน้ำที่ออมมา 14 ปี จนเพิ่งจะมามีกำไรในปี พ.ศ. 2550 (2007) จากนั้นก็กลับมาขาดทุนหลายหมื่นบาทอีกในปีถัดมาคือปี พ.ศ. 2551 (2008) ถ้าหากไม่ถอดใจสิ้นหวัง ออมต่อมาอีก หากนับจนถึงปีปัจจุบัน 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 (2010) (วันดังกล่าวไม่มีความหมายอะไรพิเศษ เพียงแต่ว่าลุงแมวน้ำทำข้อมูลเอาไว้ถึงวันนั้นเท่านั้นเอง) ที่ดัชนี 1,088.77 จุด ลุงแมวน้ำออมเงินทุกเดือน ซื้อหุ้นเดือนละ 1,000 บาท คิดเป็นเงินที่ซื้อหุ้นไว้ทั้งสิ้น 204,000 บาท และพอร์ตของลุงแมวน้ำมีกำไร 172,507 บาท หรือคิดเป็นผลตอบแทน 84.6%

ผลตอบแทนในระดับ 172,507 บาท หรือ 84.6% นี้อาจต้องแลกมาด้วยความรู้สึกกังวลและใจหายใจคว่ำมาตลอด 17 ปี และหากยังออมต่อไปอีกก็คงใจหายใจคว่ำต่อไปอีกเนื่องจากขนาดมีกำไรแสนกว่าบาทยังพลิกกลับมาขาดทุนได้ในปีถัดไป ไม่รู้เหมือนกันว่าปีหน้าปีโน้นจะเกิดอะไรขึ้น และกำไร 84.6% นี้จะยั่งยืนไปได้นานเท่าไร

ผลตอบแทนในระดับนี้หากคิดเปรียบเทียบกับการฝากเงินแบบสะสมทรัพย์ทุกเดือน เดือนละ 1,000 บาท หากได้รับอัตราดอกเบี้ย 5.5% ต่อปีและคิดดอกเบี้ยทบต้นให้ทุกเดือน เมื่อฝากเงินพร้อมๆกับที่เริ่มออมหุ้นเมื่อ 17 ปีก่อน มาจนถึงปัจจุบันก็ได้ผลตอบแทนใกล้เคียงกัน อีกทั้งไม่ต้องใจหายใจคว่ำอีกด้วย อัตราดอกเบี้ยในระดับ 5.5% ก็ใกล้เคียงกับอัตราดอกเบี้ยพันธบัตร ดังนั้นจึงสรุปว่าเฉพาะในกรณีที่ยกมานี้หากออมเป็นพันธบัตรก็ได้ผลตอบแทนพอๆกันแต่น่าจะสบายใจกว่าไม่ต้องเครียด

ก่อนจะอ่านต่อไป ลุงแมวน้ำอยากตั้งคำถามให้เพื่อนนักลงทุนลองตอบดู คำถามของลุงแมวน้ำก็คือ จากตัวอย่างการลงทุนแบบ BCA ที่ยกมาให้ดูนี้ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2536 ถึง 2553 หากท่านต้องการขายหุ้นที่ออมไว้ออกไป ท่านจะขายอย่างไร จะขายเมื่อไร จะขายจำนวนเท่าไร และเหตุผลที่ขายคืออะไร ลองตอบตนเองดูก่อนจากนั้นจึงค่อยอ่านต่อไป


ทีนี้เอาใหม่ สมมติกันใหม่ว่าเริ่มออมหุ้นหรือซื้อหุ้นแบบเฉลี่ยต้นทุนเดือนละ 1,000 บาท เริ่มตั้งแต่ 30 ธันวาคม 2548 (2005) จนถึงเดือนพฤศจิกายน 2553 ลุงแมวน้ำจะมีเงินลงทุน (เงินต้น) อยู่ 60,000 บาท และได้ผลตอบแทนจากการลงทุน 28,126 บาท หรือคิดเป็น 46.9% กราฟของผลตอบแทนแสดงไว้ในภาพต่อไปนี้




จากกราฟจะเห็นว่าในปี 2008 ก็มีช่วงที่ขาดทุนอยู่เหมือนกัน แต่หากเป็นกรณีนี้แล้วการออมแบบเฉลี่ยต้นทุนดูจะให้ผลตอบแทนที่น่าชื่นใจเนื่องจากช่วงเวลาการออมประมาณ 5 ปี ให้ผลตอบแทน 46.9% อีกทั้งในช่วงของการออมก็คงมีภาวะกดดันทางจิตใจไม่มากนัก มีเพียงช่วงปีเดียวที่หุ้นกลับเป็นขาลงเท่านั้น ถ้าเป็นในกรณีนี้การออมด้วยวิธี BCA ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าการฝากธนาคารหรือลงทุนในหุ้นกู้ พันธบัตรมากเลยทีเดียว

จากตัวอย่างการลงทุนแบบ BCA ที่ยกมาให้ดูทั้งสองกรณี คงพอทำให้เข้าใจเหตุผลกันแล้วว่าเหตุใดลุงแมวน้ำจึงบอกว่าผลการลงทุนแบบนี้อาจเป็นภาพลวงตาได้ เนื่องจากขึ้นกับว่าเริ่มลงทุนในช่วงใดและคำนวณผลตอบแทนแทนช่วงใด ซึ่งผลตอบแทนที่คำนวณได้อาจเป็นไปได้ต่างๆนานา ดังนั้นหากจะพิจารณาการลงทุนแบบ BCA จึงไม่ควรติดยึดอยู่ที่อัตราผลตอบแทนที่เห็น แต่ควรเข้าใจธรรมชาติของการลงทุนแบบนี้อย่างแท้จริงว่าเป็นอย่างไร

แนวคิดสำนัก BCA นั้นมีหลักที่แตกต่างจากสำนักการลงทุนอย่างเป็นระบบโดยใช้การวิเคราะห์ทางเทคนิค กล่าวคือ แนวคิดแบบการลงทุนเป็นระบบฯนั้นถือการหยุดยั้งความเสียหายเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ในการลงทุนต้องมีจุดหยุดความเสียหายหรือที่เรียกว่าจุด STOP LOSS เสมอ หากราคาต่ำกว่าจุดดังกล่าวจำเป็นต้องขายหุ้นออกไปเพื่อยับยั้งความเสียหายเนื่องจากเราไม่รู้ว่าหุ้นจะลงไปจนถึงเท่าใด หากถือต่อไปยิ่งลงมากก็ยิ่งเสียหายหนัก ส่วนแนวคิดแบบ BCA นั้นมองหุ้นขาลงเป็นโอกาสที่ดีที่จะทำให้ซื้อหุ้นได้ในจำนวนที่มากขึ้น

ลองดูภาพต่อไปนี้ ภาพนี้เป็นภาพดัชนี SET และส่วนของเส้นที่เป็นสีเขียวหมายถึงสัญญาณซื้อ และส่วนสีแดงหมายถึงสัญญาณขาย ปกติแล้วเมื่อเกิดสีแดงขึ้นนักลงทุนที่ใช้การลงทุนอย่างเป็นระบบด้วยสัญญาณซื้อขายจะขายหุ้นทันที และตราบใดที่เส้นยังคงเป็นสีแดงอยู่ช่วงนั้นจะไม่มีการซื้อหุ้น จะซื้อก็ต่อเมื่อเกิดสัญญาณสีเขียว และตราบใดที่เส้นยังเป็นสีเขียวอยู่ก็จะยังไม่มีการขายหุ้น แต่จะถือไปเรื่อยๆ




ส่วนแนวคิดแบบ BCA นั้นไม่มีจุดหยุดยั้งความเสียหาย หุ้นตกเท่าใดก็ซื้อไปเรื่อยๆทุกเดือน ขึ้นก็ซื้อ ลงก็ซื้อ

จากที่กล่าวมาแล้ว พอสรุปได้ว่าจุดแข็งของการลงทุนแบบเฉลี่ยต้นทุนก็คือ
  1. สร้างวินัยการออม
  2. เมื่อหุ้นตก เงินก้อนที่เท่ากัน หากซื้อหุ้นตอนราคาตกจะทำให้ได้จำนวนหุ้นมากขึ้น
  3. การเฉลี่ยต้นทุนจะทำให้หุ้นที่ถืออยู่มีต้นทุนไม่สูงนัก

ส่วนจุดอ่อนนั้นลุงแมวน้ำพอสรุปได้ดังนี้
  1. การลงทุนแบบเฉลี่ยต้นทุนมีสมมติฐานว่าเงินทุนไม่จำกัด จะเหนื่อย จะล้า หรือจะหมดเงินไม่ได้ เพราะกระบวนการออมจะสะดุด
  2. แนวคิดนี้ไม่ได้พูดถึงกรณีเลวร้าย ว่าหากหุ้นตกเป็นระยะเวลานานๆจะเกิดอะไรขึ้นหรือควรทำอย่างไร ที่ลุงแมวน้ำยกกรณีออมหุ้นปี 2536 มานั้นหลายคนอาจคิดว่าลุงแมวน้ำมองโลกในแง่ร้าย เนื่องจากจงใจไปซื้อเอาที่ยอดดอยพอดี ใครจะโชคร้ายได้ขนาดนั้น แต่โชคร้ายนี้อาจเกิดขึ้นได้กับทุกคนเพราะตลาดหุ้นไม่มีอะไรแน่นอน อีกทั้งพระท่านว่าสรรพสิ่งเป็นอนิจจังหรือไม่เที่ยง หากใช้วิธี BCA นี้กับการออมหุ้นในตลาดหุ้นญี่ปุ่นอาการจะหนักยิ่งกว่าหุ้นไทยเสียอีกเนื่องจากตลาดหุ้นญี่ปุ่นเป็นขาลงต่อเนื่องมา 20 ปีแล้ว
  3. วิธีเฉลี่ยต้นทุนนี้บอกแต่ระบบการซื้อหุ้น แต่ไม่ได้บอกวิธีการขายเอาไว้ด้วยว่าควรขายเท่าไร เมื่อไร และอย่างไร เนื่องจากการมีผลตอบแทนการลงทุนที่ดีไม่ได้ขึ้นอยู่กับจังหวะการซื้อหรือว่าต้นทุนที่ซื้อเพียงอย่างเดียว แต่อยู่ที่จังหวะการขายและวิธีการขายด้วย
  4. การขายหุ้นที่ออมด้วยวิธีเฉลี่ยต้นทุนนั้น หากขายทั้งหมดในคราวเดียวกันการคำนวณก็ยังไม่ยุ่งยากนัก แต่หากขายเพียงส่วนเดียว ส่วนที่เหลือเก็บเอาไว้ และยังมีการออมหุ้นต่อไปอีก วิธีการคำนวณจะซับซ้อน หากคำนวณผิดก็อาจทำให้เข้าใจผิดและรับรู้ผลตอบแทนการลงทุนอย่างผิดๆได้

ทั้งหมดนี้ก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการลงทุนแบบเฉลี่ยต้นทุนที่มีชื่อเรียกกันหลายชื่อ ไม่ว่าจะเรียกว่า dollar cost averaging, dollar cost average, baht cost averaging, baht cost average, DCA, BCA ก็คือเรื่องเดียวกันทั้งสิ้น หวังว่าคงเป็นประโยชน์ตามสมควร หากคิดลงทุน ไม่ว่าจะใช้แนวคิดของสำนักใดหรือวิธีการอะไร นักลงทุนต้องศึกษาวิธีการเหล่านั้นมาเป็นอย่างดีก่อนจึงจะลงทุน อย่าลงทุนเพราะใครเขาว่าดี อย่าลงทุนเพราะเห็นการแสดงตัวเลขประกอบที่งดงามเพราะตัวเลขนั้นอาจเป็นภาพลวงตาได้ รวมทั้งอย่าเลือกลงทุนในวิธีใดเพราะคิดว่าวิธีนั้นเหมาะกับผู้ที่ไม่ค่อยมีความรู้ การลงทุนต้องลงทุนเพราะว่ามีความรู้ ไม่ใช่ลงทุนเพราะว่าไม่มีความรู้ มิฉะนั้นอาจพลาดพลั้งได้




2 comments:

Anonymous said...

ผมก็พิมพ์ไม่เก่ง พูดไม่เก่ง และ เนื่องด้วย ใกล้วันปีใหม่ แล้ว ผมอยากจะมา ขอบคุณ ลุงแมวน้ำนะครับ สำหรับการวิเคราะืห์ทางเทคนิค และอวยพรให้ ลุงแมวน้ำมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง นะครับ ยังติดตามลุงแมวน้ำสม่ำเสมอนะครับ เวปบล็อกลุงแมวน้ำเป็นเวปที่ให้ความรู้มากมาย ถ้ามีเวลา ผมอยากจะไล่อ่านตั้งแต่เริ่มต้น เลย

บอลครับ

ลุงแมวน้ำ said...

ขอบคุณที่ติดตามอ่าน รวมทั้งขอบคุณสำหรับพรของคุณบอล ขอให้คุณบอลมีสุขภาพที่แข็งแรงพร้อมทั้งมีชีวิตที่มีความสุขเช่นกันครับ

ลุงแมวน้ำ