Friday, December 17, 2010

16/12/2010 * การลงทุนแบบเฉลี่ยต้นทุน (DCA หรือ BCA) (1)

วันนี้ดัชนี SET ปิดที่ 1029.60 จุด ลดลง 5.87 จุด

สำหรับหุ้นในกลุ่ม SET50 วันนี้มีสัญญาณขาย CPF และมีสัญญาณซื้อ RATCH, TCAP ขณะนี้ถือหุ้นอยู่รวมทั้งหมด 36 ตัว

กลุ่มฟิวเจอร์ส วันนี้มีสัญญาณซื้อขายทองคำ (GC) และมีสัญญาณซื้อ KTB

ด้านตลาดต่างประเทศ วันนี้ตลาดสำคัญทั่วโลกที่มีอยู่ในรายงานปิดบวกและลบคละกันไป ไม่มีอะไรหวือหวา

การลงทุนแบบเฉลี่ยต้นทุน (DCA, BCA)

การลงทุนแบบเฉลี่ยต้นทุนนี้ก็คือการทยอยลงทุนในอะไรสักอย่างอย่างสม่ำเสมอซึ่งจะทำให้ต้นทุนของสิ่งนั้นมีหลายราคา ซื้อถูกบ้าง ซื้อแพงบ้าง ถัวเฉลี่ยกันไป ยกตัวอย่างเช่นการซื้อหุ้นหรือการซื้อหน่วยลงทุน ทยอยซื้อหุ้นเก็บเอาไว้อย่างสม่ำเสมอ ต้นทุนถูกบ้างแพงบ้างก็ถัวเฉลี่ยกันไป

วิธีการลงทุนแบบเฉลี่ยต้นทุนนี้ทางฝรั่งก็มีใช้กัน ในภาษาอังกฤษเรียกว่า dollar cost averaging (บางทีก็เรียก dollar cost average) หรือเขียนย่อว่า DCA ดังนั้นเมื่อเราใช้บางทีเราก็ติดปากเรียกตามฝรั่งว่า dollar cost averaging หรือ DCA ไปด้วยเช่นกันทั้งๆที่เราซื้อขายหุ้นเป็นเงินบาท บางคนก็เรียกว่า baht cost averaging (บางทีก็เรียก baht cost average) หรือ BCA เพื่อให้สอดคล้องกับระบบเงินตราของบ้านเรา ดังนั้นจึงขอให้เข้าใจว่า DCA กับ BCA นั้นก็คือวิธีการลงทุนแบบเฉลี่ยต้นทุนวิธีการเดียวกันนั่นเอง

แต่เดิมวิธีการลงทุนแบบเฉลี่ยต้นทุนโดยลงทุนอย่างสม่ำเสมอนั้นหากนักลงทุนจะทำต้องทำเอาเอง กล่าวคือ ต้องซื้อหุ้นหรือกองทุนเอาเอง แต่ในปัจจุบันเทคนิคนี้มีการนำมาใช้กันแพร่หลายขึ้น บริษัทหลักทรัพย์และ บลจ. บางแห่งนำวิธีการลงทุนนี้มาทำเป็นบริการให้แก่นักลงทุนเสียเลย นั่นคือ ทำเป็นโปรแกรมการลงทุนออมหุ้น หรือออมทอง หรือออมกองทุนรวม โดยอำนวยความสะดวกแก่นักลงทุน กำหนดวงเงินลงทุนให้เลือก จากนั้นบริการซื้อหุ้นหรือหน่วยลงทุนให้เป็นประจำทุกเดือนโดยการตัดบัญชีธนาคาร ทำให้นักลงทุนได้รับความสะดวกสบายขึ้นมาก

แนวคิดเกี่ยวกับ DCA หรือ BCA

ที่กล่าวมาเป็นวิธีการ BCA แบบย่อๆที่ลุงแมวน้ำสรุปให้ฟังด้วยคำพูดของลุงแมวน้ำเอง ส่วนที่ว่าวิธีการนี้มีแนวคิดหรือว่ามีหลักการและที่มาที่ไปอย่างไรนั้น เท่าที่ลองค้นหาดูในเว็บไซต์เกี่ยวกับการลงทุนที่น่าเชื่อถือได้หลายแห่งก็พบคำอธิบายแนวคิดของวิธีการลงทุนแบบเฉลี่ยต้นทุนพอสรุปได้ดังนี้

“เทคนิคการลงทุนแบบ Dollar Cost Averaging (DCA) เป็นการลงทุนอย่างสม่ำเสมอเป็นประจำในระยะยาวโดยมีการกำหนดช่วงเวลาสำหรับการลงทุนไว้อย่างแน่นอนเป็นงวดๆ เช่น ทุกสัปดาห์ ทุกเดือน ทุกไตรมาส ด้วยเงินลงทุนที่เท่าๆกันในแต่ละงวด

“สำหรับแนวคิดภายใต้เทคนิคการลงทุนแบบนี้มองว่า แทนที่จะลงทุนซื้อหน่วยลงทุนแบบทุ่มเป็นเงินก้อนใหญ่ (Lump - sum) ในทีเดียวก็ให้ทยอยลงทุนในหน่วยลงทุนเป็นจำนวนเงินคงที่เท่าๆกัน ตามระยะเวลาที่ได้กำหนดไว้อย่างสม่ำเสมอโดยไม่สนใจว่าราคาหน่วยลงทุน ณ วันที่เข้าลงทุนนั้นจะเป็นเท่าใด ทั้งนี้ นักลงทุนจะได้รับจำนวนหน่วยลงทุนมากน้อยแตกต่างกันไปตามแต่ละช่วงเวลาที่ได้ลงทุนไป หรือพูดอีกนัยหนึ่งก็คือมีการกระจายการซื้อหน่วยลงทุนตลอดเวลาทั้งในยามที่ตลาดดีและตลาดไม่ดีด้วยเงินจำนวนเดียวกัน โดยหาก ณ เวลาที่ลงทุนปรากฏว่าราคาหน่วยลงทุนแพงก็ทำให้ซื้อได้จำนวนน้อยลง ในทางกลับกัน หากราคาหน่วยลงทุนถูกก็ซื้อได้มากขึ้น เป็นการถัวเฉลี่ยต้นทุนในการลงทุนให้ลดน้อยลง และเพิ่มเสถียรภาพของผลตอบแทนที่จะได้รับจากการลงทุนในระยะยาว นอกจากนี้ ยังเป็นการช่วยลดความกังวลใจเกี่ยวกับจังหวะการลงทุนที่เหมาะสมและลดความเสี่ยงของการเข้าลงทุนผิดจังหวะด้วยเงินลงทุนก้อนใหญ่ในครั้งเดียว ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดวินัยในการลงทุนขึ้นอีกด้วย

“ทั้งนี้ เทคนิคการลงทุนแบบ DCA มีลักษณะการลงทุนที่ควรรู้ดังต่อไปนี้

  • ต้องเป็นการลงทุนในระยะเวลายาว เช่น 5 ปี 10 ปี เป็นต้น
  • ต้องพิจารณาว่า มีความสามารถในการลงทุนอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอได้หรือไม่
  • ต้องมีการกำหนดช่วงเวลาสำหรับการลงทุนไว้อย่างแน่นอนเป็นงวดๆ เช่น ทุกสัปดาห์ ทุกเดือน ทุกไตรมาส เป็นต้น
  • ต้องมีการกำหนดจำนวนเงินที่ต้องใช้สำหรับการลงทุนเป็นจำนวนคงที่เท่าๆ กันในแต่ละงวด
  • ต้องมีวินัยในการลงทุน โดยไม่หวั่นไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาวะการลงทุนที่เกิดขึ้นในท้องตลาดแต่อย่างใด

“ดังนั้น จากลักษณะการลงทุนดังกล่าวข้างต้นจึงกล่าวได้ว่า เทคนิคการลงทุนแบบ DCA เหมาะสำหรับนักลงทุนที่ไม่มีเวลาหรือความรู้เพียงพอที่จะติดตามสภาวะการลงทุน และต้องการลดความเสี่ยงจากความผันผวนของตลาด ตลอดจนรักษาผลตอบแทนให้ได้ในระดับที่เหมาะสมนั่นเอง”

“การลงทุนแบบเฉลี่ยต้นทุนเหมาะมาก ในภาวะตลาดผันผวน ราคาหลักทรัพย์หรือมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) เปลี่ยนแปลงขึ้นลงอย่างรวดเร็ว และช่วยให้นักลงทุนไม่ตกขบวนด้วย”

แนวคิดเหล่านี้เป็นแนวคิดที่มักกล่าวถึงกันทั่วไป ดูจากหลายๆเว็บไซต์ก็เป็นในแนวทางนี้ รวมทั้งในเว็บไซต์ภาษาอังกฤษก็จะกล่าวถึงหลักการ DCA ในแนวนี้เช่นกัน ดังนั้นคงเป็นแนวคิดแบบภาพรวม ไม่ใช่แนวคิดของใครคนใดคนหนึ่ง แต่อย่างไรก็ตาม จากแนวคิดเกี่ยวกับการลงทุนแบบเฉลี่ยต้นทุนนี้ทำให้ลุงแมวน้ำมีประเด็นที่ยังไม่กระจ่างอยู่หลายประการ ดังนี้

  • เหตุผลที่ว่า “เทคนิคการลงทุนแบบ DCA เหมาะสำหรับนักลงทุนที่ไม่มีเวลาหรือความรู้เพียงพอที่จะติดตามสภาวะการลงทุน” แต่ปกติเมื่อเราดูโฆษณาเกี่ยวกับการซื้อขายหุ้นหรือกองทุนใดๆก็ตาม มักมีข้อความปิดท้ายเพื่อเตือนเอาไว้ว่า “การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน" ลุงแมวน้ำคิดว่าแนวคิดเกี่ยวกับระดับความรู้ความเข้าใจก่อนการลงทุนของผู้ลงทุนดูจะไม่สอดคล้องกันนัก วิธีการ DCA นั้นหากผู้ลงทุนต้องการจะใช้ก็ควรศึกษามาเป็นอย่างดีจึงเลือกใช้วิีธีนี้ มิใช่เลือกใช้วิธีนี้เพราะว่าขาดความรู้
  • ที่บอกว่า “การลงทุนแบบเฉลี่ยต้นทุนเหมาะมากในภาวะตลาดผันผวนนั้นตลาดแบบไหนที่เรียกว่าผันผวน เพราะการตีความว่าผันผวนของแต่ละคนอาจแตกต่างกัน เมื่อตลาดไม่ผันผวนแล้วการลงทุนวิธีนี้ให้ผลเป็นอย่างไร รวมทั้งที่บอกว่า เหมาะกับการลงทุนระยะยาว เช่น 5 ปี 10 ปี สองข้อความนี้ดูจะไม่ค่อยสอดคล้องกันนัก เนื่องจากภาวะตลาดผันผวนมักหมายถึงช่วงเวลาอันจำกัด น่าจะกินเวลาไม่นานมากนัก แต่ก็มีบอกว่าเหมาะกับการลงทุนระยะยาวเอาไว้ด้วย ทำให้น่าสับสนเรื่องระยะเวลาในการลงทุนที่เหมาะสมของวิธี BCA นี้
  • แนวคิด BCA นี้บอกเกี่ยวกับการลงทุน คือบอกวิธีการการซื้อหุ้นซื้อหน่วยลงทุน แต่ไม่ได้บอกว่าเมื่อไรควรขาย ควรขายอย่างไร และขายเท่าไร ขายแบบทยอยขายหรือไม่ และหากเป็นการทยอยขาย นักลงทุนทั่วไปที่ไม่ถนัดเรื่องการคำนวณจะคิดกำไรขาดทุนที่แท้จริงอย่างไรในเมื่อมีต้นทุนซื้อและต้นทุนขายหลายรายการมากมายไปหมด
เืพื่อให้หายสงสัยและเกิดความกระจ่าง ลุงแมวน้ำจึงทดลองทำพอร์ตจำลองและทดลองซื้อขายแบบเฉลี่ยต้นทุนดู ในวันถัดไปเราลองมาดูกันว่าพอร์ตจำลองของลุงแมวน้ำเป็นอย่างไร



No comments: