Wednesday, December 22, 2010

21/12/2010 * RSS, BO, SB, STA, KSL, TVO, การลงทุนแบบเฉลี่ยต้นทุน (DCA หรือ BCA) (3)

วันนี้ดัชนี SET ปิดที่ 1013.19 จุด เพิ่มขึ้น 6.68 จุด

สำหรับหุ้นในกลุ่ม SET50 วันนี้มีสัญญาณขาย BANPU ขณะนี้ถือหุ้นอยู่รวมทั้งหมด 30 ตัว

กลุ่มฟิวเจอร์ส วันนี้ไม่มีสัญญาณซื้อขาย

ด้านตลาดต่างประเทศ วันนี้ตลาดสำคัญทั่วโลกที่มีอยู่ในรายงานส่วนใหญ่ปิดเขียว ยกเว้นจีนที่ปิดแดง

มีผู้เขียนถามลุงแมวน้ำมาว่าราคาฟิวเจอร์สของสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกบางชนิดกับราคาหุ้นไทยที่เกี่ยวกับสินค้าโภคภัณฑ์นั้น โดยเฉพาะสินค้าเกษตร เป็นอย่างไร คำตอบก็คือเท่าที่ตามมาในช่วงนี้ราคาไม่ค่อยตามกันเท่าไร ลองมาดูกราฟกัน

ราคาฟิวเจอร์สยางพาราของไทยนั้นอิงกับราคาของตลาดโตคอมในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งอิงกับตลาดฟิวเจอร์สในประเทศจีนอีกทอดหนึ่ง เปรียบเทียบกับราคาหุ้น STA จะเห็นว่าไม่ค่อยตามกัน ยิ่งในช่วงสั้นๆที่ผ่านมานี้ยิ่งกลายเป็นสวนทางกันไปเลย ดังภาพต่อไปนี้ เส้นสีดำคือราคาหุ้น STA ส่วนแท่งเทียนคือราคาฟิวเจอร์ส RSS3




ราคาฟิวเจอร์สน้ำมันถั่วเหลือง (BO) กับราคาหุ้นน้ำมันพืชถั่วเหลือง TVO ก็ไม่ค่อยตามกัน คือตามบ้างไม่ตามบ้าง ยิ่งระยะนี้ยิ่งสวนทางกัน ดังภาพต่อไปนี้ เส้นสีดำคือราคา TVO




ราคาฟิวเจอร์สน้ำตาลกับราคาหุ้นโรงงานน้ำตาล KSL ก็ไม่ค่อยตามกัน ช่วงนี้ก็ส่วนทางกันเช่นกัน ดังภาพต่อไปนี้ เส้นสีดำคือราคา KSL



จากการเปรียบเทียบกราฟด้วยสายตาคงพอเห็นได้ว่าการเทรดหุ้นตามฟิวเจอร์สเป็นเรื่องยาก แม้แต่ใช้ดูแนวโน้มย่อยก็ยังใช้ไม่ได้ในบางช่วง หากจะใช้ก็คงพอใช้ได้แต่การดูแนวโน้มใหญ่ ทั้งนี้ เพราะหุ้นไทยก็มีปัจจัยภายในของเราเอง เช่น การควบคุมราคาหรือการแทรกแซงราคา รวมทั้งต้องพิจารณาให้ดีด้วยว่าหุ้นตัวที่ว่าทำธุรกิจในส่วนไหนของวงจรธุรกิจนั้น เป็นต้นน้ำ กลางน้ำ หรือว่าปลายน้ำของธุรกิจสินค้านั้น ผู้เล่นในแต่ละส่วนของวงจรธุรกิจอาจได้รับอานิสงส์จากราคาสินค้าโภคภัณฑ์นั้นๆต่างกันออกไป

นอกจากการพิจารณาความสัมพันธ์ด้วยกราฟและประเมินด้วยสายตาแล้ว ยังมีวิธีการทางสถิติศาสตร์ที่สามารถหาความสัมพันธ์ระหว่างข้อมูล 2 ชุดได้ นั่นก็คือการใช้สัมประสิทธฺ์สหสัมพันธ์ของเพียร์สัน (Pearson's correlation coefficient) ดังที่ลุงแมวน้ำเคยคุยให้ฟังไปแล้ว และยิ่งเมื่อใช้สัมประสิทธ์สหสัมพันธ์เคลื่อนที่ (moving correlation coefficient) ก็จะยิ่งเห็นชัดว่าระดับความสัมพันธ์ระหว่างฟิวเจอร์สสินค้าเกษตรกับราคาหุ้นของสินค้าตัวนั้นสัมพันธ์กันบ้าง ไม่สัมพันธ์กันบ้าง แล้วแต่ช่วงเวลา


การลงทุนแบบเฉลี่ยต้นทุน (DCA หรือ BCA) (3)

มาคุยเรื่องการลงทุนแบบเฉลี่ยต้นทุนกันต่อ จากเดิมที่เราได้ลองทำพอร์ตจำลองเพื่อลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ไปนั้นเราคงพบว่าผลตอบแทนที่ได้จากการลงทุนแบบเฉลี่ยต้นทุนนี้เข้าท่าเลยทีเดียวเพราะให้ผลตอบแทนสูงน่าพอใจ

วันนี้ลุงแมวน้ำจะขอเล่านิทานเรื่องหนึ่ง เป็นเรื่องการลงทุนแบบเฉลี่ยต้นทุนของลุงแมวน้ำ

เมื่อลุงแมวน้ำลงทุนออมหุ้นด้วยวิธี BCA

เมื่อนานมาแล้ว สมัยปี พ.ศ. 2536 (1993) ตอนนั้นลุงแมวน้ำเป็นดาราดังของคณะละครสัตว์ ขวัญใจของเด็กๆ (ตอนนี้ก็ยังเป็นอยู่) ในแต่ละเดือนลุงแมวน้ำนอกจากจะได้เงินเดือนแล้วยังได้ทิปจากเด็กๆที่มาชมการแสดงอีกด้วย ลุงแมวน้ำก็เก็บเล็กผสมน้อยเอาเนื่องจากเงินทิปของเด็กๆนั้นไม่มากนัก ปกติก็ใช้วิธีการฝากธนาคาร

วันหนึ่งลิงชิมแปนซีเจ้าปัญญา (ตัวเดียวกับที่มาช่วยลุงแมวน้ำทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้านั่นแหละ) ก็มาชวนลุงแมวน้ำลงทุนในหุ้นเนื่องจากเห็นว่าให้ผลตอบแทนอย่างงาม ใครที่ผ่านชีวิตการลงทุนในช่วงนั้นมาคงทราบดีว่าในปี พ.ศ. 2536 นั้นหุ้นขึ้นต่อเนื่องนานนับเดือน ดัชนี SET วิ่งตั้งแต่ประมาณ 900 จุดไปจนถึง 1,700 จุดในปีเดียวกันนั้นเอง ใครที่เทรดหุ้นล้วนแต่มีกำไรเริงร่า เล่นไม่เป็นหลับตาจิ้มรายชื่อหุ้นเอาจากหน้าหนังสือพิมพ์แล้วก็ไปซื้อหุ้นตัวนั้นถือไว้สองสามวันก็ได้กำไร ไม่มีใครขาดทุนเพราะหุ้นขึ้นแล้วขึ้นอีก ขึ้นอีกและขึ้นอีก...

วันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2536 ลิงชิมแปนซีชวนลุงแมวน้ำไปเยี่ยมชมโบรกเกอร์ค้าหลักทรัพย์รายหนึ่ง เห็นนักลงทุนในห้องค้าแน่นขนัด ส่งเสียงเอะอะเฮฮาราวกับมีงานปาร์ตี้เพราะว่าหุ้นขึ้นเอาๆ ทุกคนมีความสุขกันถ้วนหน้า

“ลุงแมวน้ำ ซื้อหุ้นกันเถอะน่า” ลิงชวน

“ไม่เอาดีกว่ามั้ง” ลุงแมวน้ำปฏิเสธเพราะได้ยินมาว่ารายย่อยเล่นหุ้นมีแต่เจ๊ง แต่ก็ลังเลอยู่เหมือนกันเพราะว่าภาพที่เห็นเบื้องหน้ามันตรงกันข้ามกับที่เคยคิดเอาไว้ ทำให้คิดว่าการเทรดหุ้นมันช่างง่ายอะไรเช่นนี้

“นี่นะลุงแมวน้ำ ถ้าลุงปาเป้ายังมีเข้าเป้าบ้างไม่เข้าเป้าบ้าง แต่เล่นหุ้นนี่มันเสี่ยงน้อยกว่าปาเป้าอีก หลับตาซื้อตัวไหนมันก็ขึ้น” ลิงชักชวน ปกติลิงตัวนี้เจ้าปัญญา ลุงแมวน้ำค่อนข้างเชื่อถือในความเห็นของเจ้าลิงตัวนี้เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

“มันขึ้นแล้วมันไม่มีลงบ้างหรือไง” ลุงแมวน้ำยังไม่วางใจ

“ก็เห็นหุ้นขึ้นมาหลายเดือนแล้วยังไม่ลงสักที ลุงแมวน้ำก็ซื้อแล้วถือเอาไว้สักสองสามวันก็ขายแล้ว มันคงยังไม่ลงตอนนี้หรอกน่า” ลิงชวนอีก “นะ ลุง ซื้อหุ้นด้วยกัน”

“ก็ถ้าเผื่อมันลงล่ะ” ลุงแมวน้ำยังกลัวกลายพันธุ์เป็นแมงเม่าอยู่

“ผมเห็นลุงแมวน้ำพยายามเก็บหอมรอมริบ ก็เลยอยากช่วยนะลุง ผมไม่ได้ค่านายหน้าหรือได้ผลประโยชน์อะไรด้วยนะ” ลิงพูด “ถ้ากลัวหุ้นตกก็ลงทุนแบบเฉลี่ยต้นทุนหรือ dollar cost averaging ก็แล้วกัน ซื้อทุกเดือน เดือนละเท่าๆกัน ยิ่งหุ้นตก เงินก้อนเดียวกันนั้นก็ยิ่งซื้อได้หุ้นจำนวนมากขึ้น ถ้าแบบนี้ก็ไม่กลัวหุ้นตกแล้ว เพราะหากหุ้นตกก็เฉลี่ยต้นทุนตอนหุ้นตกไปเรื่อยๆ ยิ่งนานต้นทุนก็ยิ่งต่ำลง” ลิงเสนอแนะวิธีการใหม่

แม้ลุงแมวน้ำจะยังไม่วางใจในตลาดหุ้นนัก แต่ประการหนึ่งเพราะว่าเกรงใจลิงชิมแปนซีที่อุตส่าห์แนะนำด้วยความหวังดี อีกประการหนึ่งก็อยากให้เงินทำงานด้วย (ก็อยากได้เงินนั่นแหละ) จึงตัดสินใจเลือกลงทุนด้วยวิธีเฉลี่ยต้นทุน โดยลุงแมวน้ำจะซื้อหุ้น SET ทุกเดือน เงินลงทุนเดือนละ 1,000 บาท เริ่มตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2536 (1993) เป็นต้นไป




(หมายเหตุ ดังที่ลุงแมวน้ำเกริ่นไว้แล้วว่าเรื่องนี้เป็นนิทาน ดังนั้นบางสิ่งบางอย่างจึงเป็นการแต่งเติมขึ้นมา อย่างเช่น การเทรดดัชนี SET ในสมัยนั้นก็ไม่มี แต่ลุงแมวน้ำก็สมมติเอาว่าดัชนี SET เป็นเสมือนหุ้นตัวหนึ่ง จึงลงทุนซื้อได้ นอกจากนี้ การคิดค่าคอมมิชชันในยุคนั้นยังมีขั้นต่ำอยู่ อย่างเช่น การเทรดแต่ละครั้งคิดค่าคอมมิชชันขั้นต่ำ 100 บาท แม้ว่าจะซื้อหุ้นเป็นเงินน้อยเท่าใดก็ตาม เป็นต้น ซึ่งในยุคนั้นหากออมหุ้นเดือนละ 1,000 บาท คงทำไม่ได้เนื่องจากไม่คุ้มกับค่าคอมมิชชันขั้นต่ำ แต่ว่าลุงแมวน้ำก็สมมติเอาว่าคิดค่าคอมมิชชันตามจริง ไม่มีขั้นต่ำ จึงทำให้สามารถซื้อหุ้นได้ทุกเดือน)



No comments: