Friday, October 3, 2014

หุ้นไม่มีค่าพีอี, หุ้น P/E สูง, หุ้น P/E ต่ำ, หุ้นตั้งไข่, หุ้นฟื้นไข้ (2)





ลุงแมวน้ำบรรยายต่อไป

“เอาละ ทีนี้จินตนาการต่อไปอีกหน่อย ต่อไปนี้จะมีการคำนวณนิดหน่อยละนะ แต่ก็จำเป็น ลุงจะพยายามทำให้ง่ายที่สุด

“สมมติว่าลุงแมวน้ำเพิ่งตั้งโรงงานใหม่ ในปีแรกเพิ่งเริ่มทำการตลาด ลูกค้าเพิ่งจะรู้จักสินค้า ในปีแรกมียอดขายเพียง 35 ชิ้น สมมติว่าขายได้เท่าไรก็คือผลิตในจำนวนเท่านั้น มันก็ไม่สมเหตุผลหรอก แต่เพื่อไม่ต้องคำนวณเกี่ยวกับสินค้าคงเหลือ

“ในปีแรกผลิตและขายหมอนข้างลุงแมวน้ำได้ 35 ชิ้น คิดเป็นยอดขาย 3500 บาท หักต้นทุนการผลิตและต้นทุนบริหารแล้วมีผลประกอบการในปีแรกขาดทุน 675 บาท”


“เนี่ยนะ หมอนข้างยอดนิยม ปีแรกก็ขาดทุนย่อยยับ” ลิงหัวเราะ

“นี่แหละนายจ๋อ โลกธุรกิจที่แท้จริง ในโลกของการทำธุรกิจนั้นส่วนใหญ่ต้องลงทุนไปก่อน มีผลขาดทุนสักช่วงหนึ่ง ขึ้นอยู่กับลักษณะของกิจการ กิจการบางชนิดต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมากก่อนที่จะมียอดขาย พวกนี้เรียกว่า capital intensive industry ยกตัวอย่างเช่น โรงกลั่น โรงงานปิโตรเคมี ผู้ให้บริการโทรคมนาคม โรงถลุงเหล็ก พวกนี้ต้องลงทุนมหาศาล ทำเล็กๆไม่ได้

“โรงงานผลิตสินค้าโดยทั่วไปก็เป็น capital intensive เพราะต้องสร้างโรงงาน ซื้อเครื่องจักร แต่ระดับความเข้มข้นว่าต้องลงทุนมากมายขนาดไหนก็แล้วแต่อุตสาหกรรมไป ซึ่งอุตสาหกรรมที่ใช้เงินลงทุนสูงพวกนี้สองสามปีแรกมักมีผลประกอบการขาดทุน คือคืนทุนไม่เร็วนักนั่นเอง ผู้ที่ลงทุนต้องทำใจเอาไว้เลยว่าหวังผลระยะยาว ดังนั้นที่นายจ๋อซื้อหุ้นแล้วราคาร่วงลงไปหน่อยก็มาบ่นว่าติดดอยนั้น ผู้ที่เป็นเถ้าแก่จะคิดแบบนั้นไม่ได้ บางทีเราก็ต้องเอาแนวคิดแบบเถ้าแก่ลงทุนทำธุรกิจมาใช้กับการลงทุนในหุ้นบ้าง เพราะว่าก็เหมือนกับว่าเรากำลังทำธุรกิจ” ลุงแมวน้ำพูด

“ฮิฮิ น้าจ๋อโดนสวนกลับเลย” กระต่ายน้อยหัวเราะชอบใจ

ลุงแมวน้ำหยิบตารางออกมาอีกแผ่นหนึ่ง แล้วพูดว่า


ผลการดำเนินงานของโรงงานลุงแมวน้ำ ปีที่ 1 ขาดทุน 675 บาท พีอีเป็น n/a


“เอาละ ลุงสรุปบัญชีของปีแรกมาให้ดูกันแบบสั้นๆ ลองดูนี่ ยอดขาย 35 ชิ้น ได้เงินมา 3500 บาท แต่ว่าต้นทุนทั้งหมด 4175 บาท ดังนั้นขาดทุน -675 บาท อัตราการเติบโตของยอดขาย กับอัตราการเติบโตของกำไรสุทธิ ยังคำนวณไม่ได้ เพราะว่าเป็นปีแรก ดังนั้นจึงใส่ว่า n/a เอาไว้ หมายความว่า not available คือช่องนั้นไม่มีข้อมูล

“เอ๊ะ แล้วช่องที่เป็นค่า P/E ล่ะลุง ทำไมเป็น n/a ด้วย” ยีราฟถามบ้าง “ค่านี้มาจากราคาหารด้วยกำไรสุทธิต่อหุ้นใช่ไหม ฉันว่าคำนวณได้นะ คือ P เป็น 100 บาทต่อหุ้น ส่วนกำไรสุทธิต่อหุ้นก็คือ eps ที่ลุงให้มาในตาราง -0.68 ดังนั้น P/E ก็คือ 100/-0.68 ก็คำนวณได้นี่จ๊ะลุง ฉันกดเครื่องคิดเลขได้ผลลัพธ์ -147 เท่า”

“แม่ยีราฟถามได้ดีมาก” ลุงแมวน้ำชม และอธิบาย“ในทางคณิตศาสตร์ ค่า P/E เป็นค่าลบนั้นเกิดขึ้นได้ก็จริง แต่ในเชิงการตีความ ค่า P/E เป็นลบตีความไม่ถูก เพราะเราอยากรู้ว่าราคาหุ้นเป็นกี่เท่าของกำไรสุทธิ หากค่านี้เป็นลบก็จินตนาการไม่ถูกว่ามันกี่เท่ากันแน่ ดังนั้นในทางปฏิบัติ ปีใดที่ผลประกอบการขาดทุน ปีนั้นถือว่าไม่มีค่าพีอี และเราจะเขียนว่า n/a แทน เราจะคำนวณเฉพาะปีที่มีกำไรเท่านั้น ค่าที่ได้จะได้ตีความได้อย่างมีความหมาย”

ลุงแมวน้ำหยุดนิดหนึ่ง แล้วจึงบรรยายต่อ พร้อมกับหยิบตารางให้ดูอีกตารางหนึ่ง


ผลการดำเนินงานของโรงงานลุงแมวน้ำ ปีที่ 2 เริ่มมีกำไร ค่าพีอีสูงลิ่ว



“เราจินตนาการกันต่อไปอีก สมมติว่าปีที่สองมียอดขาย 45 ชิ้น  ขายดีขึ้นมาหน่อย ผลประกอบการปีที่สองนี้ได้กำไรมาอย่างเฉียดฉิว คือมีกำไรเพียงนิดเดียว 275 บาท”

“โรงงานของลุงนี่น่าสงสารจังเลยฮะ ทำมาสองปีเพิ่งได้กำไรสองร้อยกว่าบาท” กระต่ายน้อยพูด

“ถูกใจมาก ขอตีมือหน่อย” ลิงหัวเราะถูกใจพร้อมกับยกมือขวาขึ้น ส่วนกระต่ายน้อยก็ยกเท้าหน้าขึ้นตีกับมือของลิงจ๋อ

ลุงแมวน้ำอธิบายตารางต่อไป

“ลองมาดูตารางในคอลัมน์ของปีที่สองกัน จะเห็นว่าปีนี้มีกำไร แม้จะนิดเดียวแต่ก็ทำให้ค่า eps หรือกำไรสุทธิต่อหุ้น (earning per share) เป็นบวก ดังนั้นจึงคำนวณค่า P/E ได้ พร้อมกันนั้นก็ยังคำนวณค่าอัตราการเติบโตของยอดขายได้ด้วย”

“โอ้โฮ ลุงแมวน้ำ ค่าพีอีตั้ง 363.64 เท่า ทำไมสูงมากขนาดนั้น” ยีราฟอุทาน

“ก็เพราะว่าผลกำไรนิดเดียวไง ค่าพีอีจึงสูง แม่ยีราฟพอเห็นภาพหรือยังว่าหุ้นที่ค่าพีอีสูงมีความหมายว่าอย่างไร” ลุงแมวน้ำตอบ

“ฉันพอเห็นภาพแล้วจ้ะลุง ที่ลุงบอกว่าค่าพีอียิ่งสูงก็คือความคุ้มค่ายิ่งน้อย” ยีราฟตอบ “หุ้นนี้ไม่ค่อยน่าซื้อเลย พีอีสูงลิ่ว”

“แต่แม่ยีราฟดูในตารางให้ดีๆ เห็นบรรทัดที่บอกว่าอัตราการเติบโตของยอดขายไหม” ลุงแมวน้ำชี้ให้ดูในตาราง

“จ้ะ เห็น” ยีราฟพูด “ปีที่แล้วคำนวณไม่ได้ แต่ปีนี้คำนวณได้ ยอดขายของปีนี้โตขึ้น 29% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว”

“แล้วแม่ยีราฟไม่สนใจบ้างหรือไง ยอดขายโต 29% เชียวนะ ถือว่าการเติบโตสูงทีเดียว” ลุงแมวน้ำพูด

“เอ้อ...” ยีราฟอึกอัก ชักลังเล “ตกลงว่าหุ้นโรงงานหมอนข้างนี่มันน่าซื้อหรือไม่น่าซื้อกันแน่ ฉันงงแล้วนะ”

“ก็นี่แหละ ลูกเต๋ายังมีตั้ง 6 ด้าน โลกนี้ก็ยิ่งมีมากมายหลายมุมมอง หากมองจากค่าพีอี หุ้นนี้ก็ไม่น่าซื้อ หากมองจากอัตราการเติบโต หุ้นนี้ก็น่าซื้อมาก” ลุงแมวน้ำพูด

“มิน่าล่ะลุง ยังงี้นี่เอง” ลิงเอาหางเคาะหัวตัวเองเบาๆ “ผมเข้าใจแล้วล่ะ”

“นายจ๋อเข้าใจว่ายังไง” ยีราฟถาม

“ก็ตอนก่อนที่ฉันจะซื้อหุ้น ก็มักมีคนมาแนะนำยังงั้นยังงี้ พอฉันเห็นว่ามันน่าจะดีก็ซื้อไป แล้วก็ติดดอย” ลิงพูด “ลุงแมวน้ำกำลังจะบอกว่าใครที่อยากเชียร์หุ้นก็มักเอาข้อมูลด้านดีๆมาบอกแก่นักลงทุน ส่วนตัวเลขที่ไม่ค่อยสวยก็เก็บเอาไว้ไม่บอก ใช่ไหมลุง”

“ที่นายจ๋อพูดก็มีส่วนถูก ลุงกำลังจะบอกว่าข้อมูลของหุ้นมีหลายแง่หลายมุม บางค่าดูดี บางค่าดูไม่ดี แต่สุดท้ายหุ้นตัวนี้มันน่าลงทุนไหมล่ะ นี่คือสิ่งที่สำคัญที่พวกเรานักลงทุนต้องรู้จักใช้ข้อมูลและนำมาตัดสินใจให้เหมาะสม ลองมาดูผลงานปีที่สามกันต่อดีกว่า” ลุงแมวน้ำพูด พลางหยิบตารางออกมาอีกแผ่นหนึ่ง


ผลการดำเนินงานของโรงงานลุงแมวน้ำ ปีที่ 3 เกำไรเพิ่มขึ้น แต่อัตราการเติบโตกลับลดลง



“สมมติว่าปีที่สามยอดขายดีขึ้นกว่าเดิมอีก ปีนี้ขายได้ 55 ชิ้น ปีนี้ได้กำไร 1225 บาท ลุงมีข้อสังเกต 3 ข้อ คือ

“ข้อแรก ปีที่สามนี้กำไรดีกว่าปีที่สอง แต่สังเกตไหมว่าอัตราการเติบโตของยอดขายลดลง เหลือเพียง 22% 

“ข้อสอง ปีที่สามนี้เนื่องจากกำไรสุทธิโตขึ้น ดังนั้นค่าพีอีจึงลดลงเหลือ 81.63 เท่า

“ข้อสาม ปีที่สามนี้มีค่าที่คำนวณได้เพิ่มมาอีกหนึ่งค่า นั่นคือ อัตราการเติบโตของกำไรสุทธิ เดิมทีคำนวณไม่ได้เพราะค่าติดลบ ปีนี้ไม่ติดลบแล้ว กำไรสุทธิของปีที่สามนี้โตเป็น 345% เมื่อเทียบกับปีที่สอง 

“โห อัตราการเติบโตของกำไรสุทธิดีเว่อเลย” ลิงอุทาน “ถ้าใครมาบอกผมว่าหุ้นนี้เติบโต 345% ผมคงต้องรีบซื้อแน่”

“ใจเย็นๆ นายจ๋ออย่าเพิ่งรีบตัดสินใจ คราวนี้ลุงให้พวกเราทุกคนดูผลประกอบการไปจนถึงปีที่ 7 เลย ลองดูตามนี้” ลุงแมวน้ำพูดจบก็หยิบตารางมาให้ดูอีก


ผลประกอบการ 7 ปี ของโรงงานของแมวน้ำ



“สมมติว่าปีที่สี่ ปีที่ห้า และปีที่หก มียอดขาย 65 ชิ้น 75 ชิ้น และ 85 ชิ้นตามลำดับ ปีที่เจ็ดก็ขายได้ 85 ชิ้น บัญชีของกิจการก็จะเขียนสั้นๆได้ดังที่เห็นนี้

“แต่ขอให้สังเกตว่าตั้งแต่ปีที่ 1 ถึงปีที่ 6 ยอดขายเติบโตขึ้นทุกปี กำไรเพิ่มมากขึ้นทุกปี อัตราการเติบโตกลับลดลง ทั้งอัตราการเติบโตของยอดขาย และของกำไรสุทธิ ต่างก็ลดลงเรื่อยๆ ทั้งๆที่ปีหลังๆกำไรยิ่งมาก”

“จริงด้วยลุง แล้วมันเพราะอะไรล่ะ กำไรดีขึ้นแต่อัตราเติบโตลดลง” ลิงสงสัย

“นี่คือการเล่นกับตัวเลขในรูปแบบหนึ่ง ปีหลังอัตราลดลงเพราะว่าการคำนวณนั้นใช้ฐานจากปีก่อนหน้า หากฐานสูง ผลคำนวณที่เป็นร้อยละจะค่อยๆลดลง ดังนั้น การอ่านและทำความเข้าใจกับตัวเลขร้อยละเป็นเรื่องที่ต้องระวังอย่างมาก ตัวเลขเปอร์เซ็นต์นี้มักสร้างความสับสนแก่นักลงทุน ทำให้นักลงทุนเกิดภาพที่ดูดีเกินจริงก็ได้ เหมือนอย่างในปีต้นๆที่อัตราการเติบโตเป็นหลายร้อยเปอร์เซ็นต์ทั้งๆที่กำไรนิดเดียว นั่นคือดูดีเกินจริง และก็ให้ภาพที่ดูแย่กว่าความเป็นจริงก็ได้ ดังเช่นอัตราเติบโตในปีหลังๆ แม้แต่ลุงแมวน้ำเอง หากอ่านข้อมูลที่รายงานเป็นร้อยละเยอะๆ ลุงก็มึน คิดไม่ออกเหมือนกัน ซึ่งปัจจุบันนี้การรายงานข้อมูลเป็นร้อยละ ในข่าวต่างๆมีเยอะมาก บางเรื่องอ่านแล้วแยะแยะไม่ถูกหรอก อย่างเช่นการเติบโตของจีดีพี หรือยอดการส่งออก นี่พูดเป็นร้อยละกันหมดตลอดทั้งชิ้นข่าว สรุปแล้วคือลุงงง” ลุงแมวน้ำพูด

“แล้วทำยังไงจึงจะมองภาพตามที่มันเป็นจริงได้ละจ๊ะลุง” ฮิปโปถามบ้าง

ลุงแมวน้ำหยิบกราฟออกมาให้ดูกัน


กราฟแสดงยอดขาย (revenue) และกำไรสุทธิ (netprofit, net income) ของโรงงานลุงแมวน้ำ



ข้อมูลเชิงร้อยละทำให้เกิดภาพลวงตา อาจกลายเป็นกับดักนักลงทุนได้ ทางที่ดี เราไม่ต้องไปดูข้อมูลร้อยละ ดูข้อมูลยอดขาย กำไรสุทธิ ในรูปกราฟดีกว่า ลองดูในภาพนี้สิ ภาพนี้กราฟเส้นสีฟ้าคือยอดขาย ส่วนกราฟแท่งสีเหลืองคือกำไรสุทธิ หากดูในรูปกราฟจะเห็นได้ชัดเลย ไม่หลอกความรู้สึก จะเห็นว่ายอดขายและกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยปีแรกขาดทุนเพียงปีเดียว

“ส่วนค่าพีอีนั้น สมมติว่าราคาหุ้นคงที่ไม่มีเปลี่ยนแปลงเลย ค่าพีอีก็จะลดลงเรื่อยๆ ดังที่เห็น ลุงขอถามแม่ฮิปโป แม่ฮิปโปเห็นกราฟรูปนี้แล้วรู้สึกคุ้นๆไหม”

“ไม่เลยลุง” ฮิปโปปฏิเสธ “ฉันเพิ่งศึกษา ยังไม่ค่อยเข้าใจนักหรอก นายจ๋อเห็นอะไรคุ้นๆบ้างไหม ช่วยตอบหน่อยสิ”

“ผมก็ว่าคุ้นๆนะลุง มันจะเกี่ยวกับวัฏจักรไหม” ลิงถาม

“ถูกต้องนะคร้าบ” ลุงแมวน้ำตอบ “เก่ง”

จากนั้นลุงแมวน้ำก็หยิบกราฟออกมาอีกหนึ่งแผ่น


ยอดขายและกำไรสุทธิสะท้อนให้เห็นวัฏจักรของกิจการ



“ลองดูนี่สิ ลุงเอาภาพวัฏจักรของกิจการมาซ้อนให้ดู คราวนี้พอนึกออกหรือยัง” ลุงแมวน้ำถาม

“ว้าว โรงงานของลุงแมวน้ำปีที่ 7 ยอดขายไม่โตเลย แสดงว่าใกล้จะเจ๊งแล้วสิฮะ” กระต่ายน้อยหัวเราะร่าพลางแทะแครอตอย่างเพลิดเพลิน

“ดูเจ้านี่สิลุง แสบดีไหม” ลิงอดหัวเราะไม่ได้ ทุกตัวต่างก็ขำในความซ่าของกระต่ายน้อย

“ลุงขออธิบายกราฟนี้ให้พวกเราฟัง อยากให้พยายามทำความเข้าใจให้ดี เพราะสำคัญมาก



พีอี (P/E ratio) สูงก็ลงทุนได้หากเป็นหุ้นตั้งไข่หรือหุ้นฟื้นไข้ (หุ้นเทิร์นอะราวด์)



“โรงงานของลุงเป็นไปตามวัฏจักรธุรกิจทั่วไป คือปีหรือสองปีแรกก็ขาดทุน จากนั้นจึงเริ่มมีกำไรนิดหน่อย ช่วงนี้คือช่วงที่ธุรกิจอยู่ในขั้นตั้งไข่ หลังจากนั้นธุรกิจก็จะมั่นคงและเริ่มเติบโตได้ดี เรียกว่าเข้าระยะเติบโต ในช่วงรอยต่อของระยะตั้งไข่กับระยะเติบโตนี้เอง ที่เราจะเห็นอัตราการเติบโตของยอดขายหรือของกำไรโตแบบเว่อๆ เพราะมาจากฐานที่ต่ำมาก รวมทั้งค่าพีอีก็จะสูงลิ่ว

“ต่อมาเมื่ออยู่ในระยะเติบโต อัตราการเติบโตทั้งของยอดขายและกำไรจะค่อยๆลดลงเพราะฐานการคำนวณที่ค่อยๆสูงขึ้น อันนี้เป็นเรื่องปกติ ส่วนค่าพีอีก็มักจะค่อยๆลดลง แต่พีอีขึ้นกับราคาหุ้นด้วย ดังนั้นหากราคาหุ้นไม่เปลี่ยนแปลงนักเราจึงจะเห็นค่าพีอีค่อยๆลดลง ถ้าราคาหุ้นเปลี่ยนแปลงมาก ค่าพีอีก็เปลี่ยนแปลงมากด้วย นั่นก็ไปว่ากันอีกเรื่องหนึ่ง

“ทีนี้มาดูที่ปีที่ 7 ยอดขายปีที่ 6 กับ 7 เท่ากัน ไม่โตเลย นั่นคือเข้าสู่ระยะอิ่ม หรืออิ่มตัวนั่นเอง การเข้าสู่ระยะอิ่มมีสองสาเหตุ นั่นคือ ยอดขายอิ่มตัว หรือกำลังการผลิตอิ่มตัว สำหรับกรณีของลุงนี้ยอดขายไม่โตไม่ใช่เพราะว่าตลาดอิ่มตัว แต่เป็นเพราะโรงงานของลุงผลิตได้เต็มที่ 85 ชิ้นต่อปีไงล่ะ เต็มที่ก็ได้เท่านี้ หากมีความต้องการมากกว่านี้ลุงก็สนองไม่ได้ ดังนั้นกำไรจึงเต็มที่เท่านี้”

“ผมยังสงสัย แล้วภาพนี้มีระยะ อืด ไหม” ลิงถาม

“ระยะอืดที่จริงลุงเพิ่มขึ้นมา ปกติมันแฝงอยู่ในระยะเติบโต คือเมื่อเติบโตไปนานเข้าก็จะเริ่มอืดอาด ระยะอืดคือปลายของระยะเติบโตนั่นเอง สำหรับโรงงานที่ลุงสมมตินี้ดูจากกราฟจะเห็นว่าไม่มีระยะอืด คือโตแล้วเข้าอิ่มไปเลย แต่นี่คือเรื่องสมมติใน ในธุรกิจจริงมักมีระยะอืดเกิดขึ้น คือเริ่มอืดอาด จากนั้นก็เข้าสู่ระยะอิ่ม คืออิ่มตัว” ลุงแมวน้ำอธิบาย

“ชักจะงง” ลิงเกาหัว

ลุงแมวน้ำหยิบภาพออกมาให้ดูอีก


การยืดวัฏจักรของผลิตภัณฑ์ออกไปโดยการปรับปรุงผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์อาจเสื่อมความนิยมจากคู่แข่ง หรือจากความล้าสมัยของตัวผลิตภัณฑ์เอง การปรับปรุงผลิตภัณฑ์อาจช่วยเพิ่มยอดขายได้ ทำให้ผลิตภัณฑ์ไม่ต้องเดินไปสู่จุดจบ



“อย่าเพิ่งงง ลองดูภาพนี้อีก ภาพนี้เราเคยดูกันมาแล้ว” ลุงแมวน้ำพูด

“ดูเหมือนจะเป็นเรื่องการต่อยอดวัฏจักร” ลิงทบทวนความจำ

“ใช่แล้ว ที่ลุงเคยบอกไงว่าเมื่อกิจการเข้าระยะเสื่อมถอย ทางแก้ก็คือต้องต่อยอดกิจการ หากการต่อยอดทำได้ดี ยอดขายที่ตกต่ำก็จะกลับฟื้นขึ้นมา เสมือนคนฟื้นไข้นั่นเอง หรือที่เราเรียกกันว่า หุ้นเทิร์นอราวด์ (turnaround stock) นั่นเอง และที่ลุงจะบอกก็คือ ระยะตั้งไข่กับระยะฟื้นไข้นั้น มีอาการเดียวกัน นั่นคือ ยอดขายตก ขาดทุน แล้วกลับมาฟื้นมีกำไร”


ตั้งไข่ ฟื้นไข้ คลื่นยอดปรารถนา



ลุงแมวน้ำยังไม่หยุดอธิบาย หยิบภาพออกมาอีกภาพหนึ่ง


คลื่นอีเลียตเปรียบเทียบกับวัฏจักรของกิจการ



“นี่ก็เป็นภาพที่เราเคยดูกันมาแล้ว จำได้ไหม” ลุงแมวน้ำถาม

“จำได้ฮะลุง ภาพคลื่นอีเลียตกับวัฏจักรของกิจการ” กระต่ายน้อยรีบตอบบ้าง

“ใช่แล้ว” ลุงแมวน้ำพูด “ทีนี้ก็มาถึงขั้นบูรณาการ เอาความรู้ที่เราคุยกันในวันนี้มาปะติดปะต่อให้เป็นความู้ในการลงทุน”

“ยังไงกันลุง” ลิงสงสัย

“ลองฟังลุงนะ” ลุงแมวน้ำพูด “จากทุกอย่างที่เราคุยกัน นำมาบูรณาการ ก็ได้ความว่า กิจการในระยะตั้งไข่ กับระยะฟื้นไข้นั้น มีลักษณะที่น่าสังเกตคือมีค่าพีอีสูงมาก รวมทั้งอัตราการเติบโตก็สูงมากด้วยเช่นกัน ซึ่งหากเทียบกับคลื่นอีเลียตก็คือช่วงรอยต่อระหว่างคลื่น 2 กับคลื่น 3 นั่นเอง และเมื่อเข้าคลื่น 3 แล้วอัตราการเติบโตจะค่อยๆลดลง รวมทั้งค่าพีอีก็มักลดลงด้วย ซึ่งจังหวะที่กิจการเข้าสู่ระยะเติบโตหรือต้นคลื่นสามนี้แหละเป็นจังหวะการลงทุนที่เป็นยอดปรารถนาของทั้งสายวีไอปัจจัยพื้นฐานและสายเทคนิค ดังนั้นแม้กิจการจะมีค่าพีอีสูง หรือมีอัตราการเติบโตที่ลดลง แต่เราต้องพิจารณาว่ากิจการอยู่ในขั้นอะไร หากเป็นขั้นเติบโตหรือคลื่น 3 ละก็สามารถลงทุนได้ ดังนั้นลุงตอบคำถามแม่ยีราฟแล้วนะ ว่าพีอีสูงลงทุนได้หรือไม่”

“แล้วมันลงทุนได้หรือไม่จ๊ะลุง” ยีราฟถามอีก

“โอย จะบ้าตาย” ลิงเอาหางเคาะหัวตัวเอง

Wednesday, October 1, 2014

หุ้นไม่มีค่าพีอี, หุ้น P/E สูง, หุ้น P/E ต่ำ, หุ้นตั้งไข่, หุ้นฟื้นไข้ (1)






ช่วงนี้ที่คณะละครสัตว์แอบเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น มันเป็นการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วจนน่าตกใจ นั่นคือ สมาชิกหลายตัว เช่น ยีราฟ สิงโต ม้าลาย ฮิปโป และแม้กระทั่งกระต่ายน้อย ต่างก็พร้อมใจกันซื้อโทรศัพท์แบบสมาร์ทโฟนมาใช้พร้อมๆกัน

สาเหตุที่ลุงแมวน้ำรู้ก็เพราะว่าช่วงนี้บรรดาสมาชิกคณะละครสัตว์ต่างก็ชอบมานั่งคุยกันในสวนในช่วงที่ว่างเว้นจากการแสดง และลุงก็สังเกตเห็นว่าแต่ละตัวมีโทรศัพท์ใหม่เอี่ยมอ่อง ต่างหัดใช้กันเป็นการใหญ่ ส่วนใหญ่เป็นยี่ห้อและรุ่นเดียวกัน แสดงว่าซื้อมาพร้อมๆกันและซื้อตามกัน โอ ลุงแมวน้ำช่างสังเกตแบบนี้เป็นนักสืบได้เลย ^_^

“นี่เกิดอะไรกันขึ้นเนี่ย ทำไมเกิดมีสมาร์ทโฟนพร้อมๆกัน” ลุงแมวน้ำถามอย่างแปลกใจขณะเดินเข้าไปในศาลาชมสวนที่สมาชิกกำลังชุมนุมกันอยู่

“เราซื้อสมาร์ทโฟนมาเพื่อเทรดหุ้นออนไลน์จ้ะ” ฮิปโปตอบ

“หา” ลุงแมวน้ำอุทาน “เอายังงั้นเลยเรอะ”

“ใช่แล้วลุง เราต้องใจจะลงทุนกันอย่างจริงจัง ซื้อโทรศัพท์แบบนี้มาจะได้ติดตามราคาหุ้นได้” สิงโตตอบ “ติดตามราคาได้ทุกที่ ทุกเวลา แม้ขณะแสดงอยู่”

“นี่เป็นความคิดนายจ๋อใช่ไหม” ลุงแมวน้ำถาม “แล้วดูราคาหุ้นตอนแสดงเดี๋ยวก็ได้แสดงผิดคิว เผลอๆได้ตกงานกันยกแก๊งรวมทั้งลุงด้วย”

“นี่ไม่ใช่ความคิดของผมนะลุง พวกนี้เห็นผมมีก็เลยอยากได้บ้าง ก็เท่านั้นเอง ผมไม่ได้ยุยงอะไรเลย” ลิงจ๋อรีบแก้ตัว

“อ้อ นายก็มีด้วย” ลุงแมวน้ำหันมาถามนายจ๋อ

“ซื้อก่อนหน้าพวกนี้วันเดียวเองครับลุง พอผมเอามาอวดก็เลยอยากได้กันบ้าง” ลิงพูด

“สมาร์ทโฟนนี่สะดวกมากเลย ฉันไม่ต้องลำบากโทรศัพท์ที่ตู้สาธารณะอีก” ยีราฟพูดบ้าง

“มาร์เก็ตติ้งชวนพวกเราเข้ากลุ่มไลน์ด้วย มีหุ้นเด็ดบอกทุกวันเลย” ม้าลายพูดบ้าง

“กลุ่มไลน์หุ้นนี่มันดีจริงๆเลยฮะลุง อีกไม่นานเราจะรวยกันแล้ว เย้...” กระต่ายน้อยครึกครื้นบ้าง

“ลุงไม่อยากเชื่อเลย” ลุงแมวน้ำอุทาน แล้วพูดต่อ “ลุงว่าชีวิตมันคงไม่ง่ายขนาดนั้นหรอก นี่ดัชนีใกล้ 1600 แล้ว นายจ๋อยังบ่นอยู่เลยว่าติดดอยอยู่หลายตัว”

“นั่นมันตัวเก่าๆน่ะลุง เดี๋ยวนี้ผมเปลี่ยนแนวแล้ว หุ้นที่ซื้อในช่วงหลังไม่ใช่หุ้นเน่า ไม่ได้ติดดอย” ลิงพูด “แต่ที่ลุงพูดมาก็ถูก กำไรไม่ใช่ได้มาง่ายๆ มีเหตุการณ์ฆาตกรรมหมู่หมกยอดดอยเกิดขึ้นแทบทุกวัน”

“ลุงแมวน้ำจ๊ะ ไหนๆลุงมาแล้วก็นั่งคุยกันก่อน ฉันมีเรื่องอยากจะถาม” ยีราฟพูด

“มียีราฟจะถามอะไรล่ะ” ลุงแมวน้ำพูด “แต่พูดก็พูดเถอะ ลุงห่วงแม่ฮิปโปจัง”

“ลุงห่วงแม่ฮิปโปทำไม” ลิงจ๋อถาม

“กลัวแม่ฮิปโปกลืนโทรศัพท์ลงท้องไปน่ะสิ สมาร์ทโฟนเครื่องนิดเดียว หล่นเข้าท้องแม่ฮิปโปได้สบายๆเลย” ลุงแมวน้ำแสดงความเป็นห่วง

“น่นสิลุง ฉันก็ห่วงตัวเองเหมือนกัน วันก่อนก็เพิ่งกลืนลูกกอล์ฟลงท้องไป” ฮิปโปบ่น

“แม่ยีราฟจะถามอะไรล่ะ” ลุงแมวน้ำวกกลับมาที่ยีราฟคอยาว

“หุ้นไร่ถั่วฝักยาวที่ฉันอยากซื้อแต่นายจ๋อห้ามไว้เพราะค่าพีอีสูงร้อยกว่าเท่านั่นน่ะ ลุงมีความเห็นว่ายังไง พีอีร้อยกว่าเท่านี่แพงจริงไหม” ยีราฟถาม “ฉันขอถามสั้นๆแค่นี้แหละ”

“แม่ยีราฟถามประโยคเดียวว่าพีอีร้อยกว่าเท่าแพงไหม คำถามสั้นๆแต่ลุงต้องตอบหลายวันเลยเชียวเพราะต้องอธิบายกันยาว” ลุงแมวน้ำพูด “คำถามของแม่ยีราฟน่าสนใจ ถ้าอย่างนั้นใครที่สนใจก็มาคุยกันหลังเลิกงานก็แล้วกัน”

“ดีเลยฮะ คุยกันเยอะๆสนุกดี” กระต่ายน้อยพูดอย่างร่าเริง “บอกหุ้นเด็ดด้วยนะครับลุง”

“ที่จริงลุงอยากคุยเรื่องแนวคิดเกี่ยวกับการลงทุนเสียก่อน เพราะทัศนคติในการลงทุนก็เป็นเรื่องที่สำคัญมาก ทัศนคติเปรียบเสมือนส่วนฐานราก ฐานรากดีสิ่งปลูกสร้างก็มั่นคง ฐานรากแย่สิ่งปลูกสร้างก็อาจพังได้” ลุงแมวน้ำพูด “แต่ในเมื่อแม่ยีราฟมีคำถามเรื่องค่าพีอี เรามาคุยเรื่องค่าพีอีก่อนก็แล้วกัน จากนั้นวันหลังค่อยมาอื่นเรื่องอื่นๆ ลุงขอเวลาเตรียมข้อมูลก่อน ใครสนใจวันพรุ่งนี้แวะมาคุยกัน”


อัตราส่วนพีอี (P/E ratio) เครื่องมือประเมินหุ้นอย่างคร่าวๆ


วันรุ่งขึ้น ลุงแมวน้ำแวะไปที่ศาลาในสวนอีกครั้งหนึ่ง เห็นบรรดาสมาชิกคณะละครสัตว์กำลังคุยเฮฮาเรื่องหุ้นกันอยู่

“ลุงแมวน้ำมาแล้วคร้าบ” ลุงแมวน้ำทักทาย “วันนี้เรามาคุยเรื่องหุ้นกับค่าพีอีกัน”

บรรดาสมาชิกเริ่มล้อมวงเข้ามา กระต่ายน้อยกระโดดแผลวมานั่งอยู่แถวหน้าเพราะตัวเล็กกว่าเพื่อน นั่งเหยียดแข้งเหยียดขาสบายใจ เท้าหน้าข้างหนึ่งถือแครอต อีกข้างหนึ่งถือสมาร์ทโฟน ใบหูยาวกระดิกไปมาอย่างอารมณ์ดี

“เริ่มได้เลยฮะลุงแมวน้ำ ผมเตรียมของว่างไว้รอฟังลุงแล้ว” กระต่ายน้อยพูด

“แครอตนี่เตรียมไว้ให้ลุงเหรอ ขอบใจกระต่ายน้อยมาก” ลุงแมวน้ำปลื้ม

“เปล่าฮะ ผมเตรียมของว่างไว้กินเองระหว่างที่ฟังลุงคุย” กระต่ายน้อยตอบ “ลุงก็รู้นี่ฮะว่าผมหิวบ่อยๆ”

“ฮิฮิ ลุงแมวน้ำเห็นความแสบของกระต่ายน้อยหรือยัง” ลิงหัวเราะ “เอากาวมาซ่อมหน้าหน่อยไหมลุง”

“อะแฮ่ม” ลุงแมวน้ำกระแอมแก้เขิน “เรามาเริ่มคุยกันดีกว่า ก่อนอื่น ลุงขอตอบคำถามของแม่ยีราฟก่อนเรื่องค่าพีอีสูงร้อยกว่าเท่าแล้วยังลงทุนได้ไหม ในความเห็นของลุงก็คือ บางครั้งหุ้นที่มีค่าพีอีสูงก็ยังน่าลงทุน ในขณะที่บางครั้งหุ้นที่ค่าพีอีต่ำก็ไม่น่าลงทุน”

“อ้าว ไหงยังงั้นล่ะลุง” ลิงทักท้วง “ก็ลุงเคยบอกว่าให้เลือกหุ้นที่ค่าพีอีต่ำเอาไว้ก่อน”

“ลุงถึงได้บอกไงว่าการลงทุนไม่ใช่เรื่องง่าย มันไม่มีอะไรตายตัวหรอก” ลุงแมวน้ำพูด “ที่ลุงบอกว่าให้เลือกหุ้นพีอีต่ำเอาไว้ก่อนนั่นก็ใช่ เพราะโดยทั่วไปก็ต้องถือหุ้นที่มีค่าพีอีต่ำมีแต้มต่อที่ดีกว่าหุ้นที่ค่าพีอีสูง แต่หากเราเข้าใจที่มาที่ไปของค่าพีอีและเข้าใจในหุ้นที่เราลงทุน เราก็จะรู้ว่ามันก็มีข้อยกเว้นได้ เราถึงได้มาคุยกันในวันนี้ไงล่ะ”

“อ้อ ยังงั้นคุยต่อเลยลุง อย่าชักช้า ลุงเป็นลุงแมวน้ำนะ ไม่ใช่ลุงเต่า” ลิงหัวเราะ “ช้าไม่ทันใจวัยรุ่นเลย”

เสียงคุยค่อยๆเงียบลง ลุงแมวน้ำเห็นว่าทุกคนพร้อมฟังกันแล้วจึงเริ่มการบรรยาย

“อันที่จริงแล้วค่าพีอีนั้นเป็นข้อมูลเชิงปัจจัยพื้นฐาน นักลงทุนในสายปัจจัยทางเทคนิคก็ไม่ได้ใช้กันหรอก แต่ว่า ดังที่ลุงเคยคุยให้ฟังว่าหากนำปัจจัยพื้นฐานมาประกอบปัจจัยทางเทคนิค จะยิ่งช่วยในการคัดเลือกหุ้นเพื่อลงทุนได้ดียิ่งขึ้น ดังนั้นในวันนี้เราจะมาคุยกันถึงเรื่องค่าพีอี ที่มาที่ไปของค่าพีอีและการนำไปใช้ในการคัดเลือกหุ้น ทำไมหุ้นพีอีต่ำบางครั้งก็ไม่น่าลงทุน ทำไมหุ้นพีอีสูงก็ยังลงทุนได้ รวมทั้งหุ้นที่ไม่มีค่าพีอี ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น แต่เนื่องจากเรื่องมันยาว ดังนั้นเราจึงต้องค่อยๆคุยและทำความเข้าใจกันทีละประเด็น อย่าใจร้อนกัน เพราะว่าหากเข้าใจไม่ถูกต้องและนำไปใช้ไม่เหมาะ การลงทุนก็เสียหายได้

“เรามาทบทวนกันก่อนว่าค่าพีอีนั้นคืออะไร ค่าพีอีนั้นอาจเรียกและเขียนได้หลายอย่าง เช่น พีอีเรโชหรือสัดส่วนพีอี (P/E ratio) บางทีก็เรียกว่าพีอีเฉยๆ รวมทั้งค่าพีอีนี้บางทีก็เขียนย่อเป็น PER ดังนั้นบางทีจึงเรียกว่าค่าพีอีอาร์ แต่ขอให้เข้าใจว่าชื่อที่พูดมาทั้งหมดนี้คือเรื่องเดียวกันทั้งหมด

“ค่าพีอีนี้ชื่อเต็มก็คือ price to earning ratio หมายถึงราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิ เป็นเครื่องมืออย่างง่ายที่ใช้ในการประเมินราคาหุ้นว่าถูกหรือแพง แต่เป็นการประเมินในเบื้องต้นเท่านั้น คือดูคร่าวๆนั่นเอง”


สัดส่วนพีอี (P/E ratio) บางทีก็เรียกว่าพีอีเฉยๆ รวมทั้งค่าพีอีนี้บางทีก็เขียนย่อเป็น PER ดังนั้นบางทีจึงเรียกว่าค่าพีอีอาร์ P คือ price แปลว่าราคา ส่วน E คือ earning per share หรือกำไรสุทธิต่อหุ้น


“เหรอจ๊ะลุง แล้วที่ว่าหุ้นถูกหรือว่าหุ้นแพงนั้นดูยังไง เท่าไรจึงถูก เท่าไรจึงแพง” ยีราฟสงสัย

“มันไม่มีคำตอบตายตัวหรอกแม่ยีราฟ” ลุงแมวน้ำตอบ “ก่อนอื่นต้องเข้าใจความหมายของค่าพีอีก่อน ค่าพีอีนี้อธิบายเป็นภาษาง่ายๆก็คือตอนนี้ราคาหุ้นเป็นกี่เท่าของกำไรสุทธินั่นเอง เนื่องจาก P คือ price แปลว่าราคา ส่วน E คือ earning per share หรือกำไรสุทธิต่อหุ้น

“สมมติว่าหุ้นไร่ถั่วฝักยาวตอนนี้ราคา 10 บาท และผลประกอบการไร่ถั่วมีกำไรสุทธิ 1 บาทต่อหุ้น ดังนั้นค่าพีอีคำนวณด้วยการนำ P มาหารด้วย E ก็คือ 10/1 ดังนั้นค่า P/E ratio ของหุ้นไร่ถั่วฝักยาวตอนนี้คือ 10 เท่า คือราคาเป็น 10 เท่าของกำไรสุทธิต่อหุ้น

“ทีนี้เอาใหม่ สมมติว่าเดือนหน้า ราคาหุ้นกลายเป็น 12 บาท ณ เวลานั้น ค่าพีอีก็เปลี่ยนไป คือกลายเป็น 12/1 นั่นคือ 12 เท่านั่นเอง

“ดังนั้นค่าพีอีเป็นการประเมินความคุ้มค่าโดยเอาราคาหุ้น ณ เวลาใดเวลาหนึ่งมาเทียบกับกำไรสุทธิต่อหุ้น เปรียบเทียบได้กับว่ามีต้นทุเรียนพันธุ์ดี ออกลูกปีละ 1 ผล ถามว่าถ้าขายราคาต้นละ 10 บาท 20 บาท 50 บาท ราคาไหนน่าซื้อกว่ากัน

“ราคาต้นละ 10 บาทสิฮะ เพราะว่าคุ้มค่ากว่า ออกลูกปีละผลจะซื้อแพงไปทำไม” กระต่ายน้อยตอบ “แต่ว่าทุเรียนที่ไหนของลุงฮะ ออกลูกปีละผล”

“นี่ลุงสมมติให้ตัวเลขเข้าใจง่ายๆเท่านั้น” ลุงแมวน้ำหัวเราะ “การตีความค่าพีอีโดยทั่วไปก็เหมือนเราซื้อต้นทุเรียนในตัวอย่างของลุงนั่นแหละ ยิ่งซื้อราคาสูงเท่าไรความคุ้มค่ายิ่งน้อยลง


ค่าพีอีสองแบบ มองไปข้างหลัง กับมองไปข้างหน้า


“นอกจากนี้ก็ยังมีรายละเอียดเพิ่มเติมอีก นั่นคือ ค่าพีอีมีทั้งพีอีในอดีต และพีอีในอนาคต ค่าพีอีในอดีตเรียกว่า trailing P/E ratio เป็นการคำนวณจากผลประกอบการย้อนหลังไป 4 ไตรมาสหรือหนึ่งปีนั่นเอง คิดง่ายๆก็คือปีที่แล้วทุเรียนออกลูกมากี่ผล ให้เอาค่านั้นมาคำนวณ

“กับ พีอีในอนาคต หรือ forward P/E ratio คือค่าพีอีที่คำนวณจากผลประกอบการคาดหมายล่วงหน้าสี่ไตรมาส คิดง่ายๆก็คือเราคาดหมายว่าปีหน้าทุเรียนจะออกลูกกี่ผล ก็เอาค่านั้นมาคำนวณ


ค่าพีอีย้อนหลัง หรือ trailing PER มองผลประกอบการย้อนหลังไปสี่ไตรมาสหรือหนึ่งปี


ค่าพีอีล่วงหน้า หรือ forward PER มองผลประกอบการล่วงหน้าไปสี่ไตรมาสหรือหนึ่งปี



“ชักเริ่มงง” ยีราฟทำหัวโคลงเคลง “แล้วพีอีอดีตกับพีอีอนาคต ค่าไหนใช้ดีกว่ากันล่ะลุง”

“โดยปกติหากไม่บอกอะไรเป็นพิเศษ ค่าพีอีที่เห็นในหน้าหนังสือพิมพ์ทั่วไปมักเป็นพีอีในอดีต เพราะผลกำไรในอดีตนั้นเป็นข้อมูลที่หาง่าย ส่วนพีอีในอนาคตนั้นต้องอาศัยความรู้และข้อมูลในการประเมินผลกำไรในอนาคตซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ง่ายนัก ค่าพีอีในอนาคตย่อมมีประโยชน์กว่า เพราะว่าการซื้อหุ้นคือการซื้ออนาคต ดังนั้นหากมีข้อมูลในอนาคตย่อมมีประโยชน์กว่า แต่ก็อีกนั่นแหละ อนาคตเป็นเรื่องไม่แน่นอน ดังนั้นการประเมิน forward P/E ratio นั้น ก็ต้องทำใจว่ามีโอกาสคลาดเคลื่อนได้สูง

“ใช้ค่าพีอีแบบไหนดี โดยทั่วไปมีอะไรก็ใช้อันนั้นนั่นแหละ หมายความว่า หากได้ค่าพีอีมา ถ้าไม่ได้บอกอะไรพิเศษก็ถือว่าใช้กำไรสุทธิในอดีตมาคำนวณ คือถือว่าเป็น trailing P/E ratio เอาไว้ก่อน หากมีระบุว่าเป็น forward P/E ratio การใช้ค่าพีอีล่วงหน้าก็ยิ่งดี

“แล้วอะไรคือถูก อะไรคือแพงล่ะลุง ยังไม่ตอบฉันสักที” ยีราฟทวงอีก

“แม่ยีราฟอย่าเพิ่งใจร้อนสิ การลงทุนไม่ควรใจร้อน ไม่อย่างนั้นจะพลาดได้ง่าย คำตอบที่ว่าอะไรถูกอะไรแพงโดยดูจากค่าพีอีนั้น ลุงต้องอธิบายอีกหลายวันทีเดียว” ลุงแมวน้ำตอบ “แต่ว่าลุงไม่ได้มุ่งตอบแต่เฉพาะคำถามของแม่ยีราฟหรอกนะ เรื่องที่ลุงเล่าก็จะเป็นความรู้ในการลงทุนอื่นๆประกอบไป พวกเราจะได้รู้เกี่ยวกับหุ้นหลายๆแบบด้วย เช่น หุ้นตั้งไข่ หุ้นฟื้นไข้ ฯลฯ ดังนั้นค่อยๆคุยกันไป


โรงงานของลุงแมวน้ำ


“เอาล่ะ เรารู้ที่มาของการคำนวณค่าพีอีแล้ว คราวนี้เรามาเข้าเรื่องการลงทุนของเรากัน เราจะใช้ค่าพีอีช่วยในการลงทุนได้อย่างไร พูดง่ายๆก็คือจะใช้ค่าพีอีช่วยในการคัดเลือกหุ้นได้อย่างไรนั่นเอง แต่ก่อนที่จะไปถึงขั้นนั้น เราต้องสมมติตัวเองว่าเป็นเถ้าแก่เจ้าของกิจการเสียก่อน

“คราวนี้หลับตา และจินตนาการว่าเราเป็นเจ้าของกิจการโรงงานแห่งหนึ่ง เป็นโรงงานที่ผลิตหมอนข้างรูปลุงแมวน้ำ”

“สมมติเป็นร้านอาหารได้ไหม ฉันอยากทำร้านอาหาร” ฮิปโปถาม “จะซื้อหุ้นทำไมต้องไปสมมติว่าเป็นเถ้าแก่ด้วยล่ะ”

“ร้านอาหารไม่ได้ จินตนาการว่าเป็นโรงงานผลิตหมอนข้าง” ลุงแมวน้ำตอบ “การซื้อหุ้นเป็นการลงทุน เรามีส่วนเป็นเจ้าของกิจการส่วนหนึ่ง นั่นคือ เราเป็นเถ้าแก่อยู่ครึ่งตัว ดังนั้นสมมติว่าเป็นเจ้าของกิจการน่ะถูกแล้ว”

“โอม จงหลับ จงหลับ จงหลับ” ลิงจ๋อร่ายคาถาพึมพำ “คร่อก ฟี้”

“อ้าว อย่าเพิ่งหลับ ฟังลุงก่อน” ลุงแมวน้ำหัวเราะขำกับท่าทางของลิงจ๋อ แล้วพูดต่อไป

“ขอให้เราสวมบทบาทของเถ้าแก่โรงงานผลิตหมอนข้างก่อน เราเห็นว่าหมอนข้างลุงแมวน้ำต้องขายดีแน่ๆเพราะว่าลุงแมวน้ำน่ารักฝุดๆ” พูดถึงตอนนี้ได้ยินเสียงแหวะเบาๆ แต่ลุงแมวน้ำก็ยังพูดต่อไป

“การทำโรงงงานผลิตสินค้าต้องมีอะไรบ้างล่ะ ต้องมีสถานที่ ต้องมีเครื่องจักร ต้องมีส่วนการผลิตคือวัตถุดิบและพนักงานผลิต ต้องมีส่วนงานออฟฟิสคือพนักงานบัญชี พนักงานขาย พนักงานการเงิน พวกนี้ต้องลงทุนไปก่อนทั้งนั้น กำไรยังไม่ทันเห็นแต่ว่าเงินลงทุนต้องจ่ายไปก่อนแล้ว นี่คือการทำธุรกิจ



ข้อมูลโดยสรุปของโรงงานลุงแมวน้ำ


“เอาละ ทีนี้จินตนาการต่อไป โรงงานผลิตนี้มีเครื่องจักรที่มีกำลังการผลิตสินค้าได้ 85 ชิ้นต่อปี ราคาขายชิ้นละ 100 บาท มีต้นทุนเป็นสองส่วนหลัก คือ

“ต้นทุนการผลิตหมอนข้างชิ้นละ 5 บาท เรียกว่าเป็นต้นทุนการผลิต ประกอบด้วยค่าวัตถุดิบกับค่าแรงของพนักงานผลิต เฉลี่ยแล้วเป็นต้นทุนชิ้นละ 5 บาท ผลิตน้อยก็จ่ายน้อย ผลิตมากก็จ่ายมาก ขึ้นกับจำนวนที่ผลิต

“นอกจากนี้ยังมีค่าใช้จ่ายในส่วนงานออฟฟิสอีก ซึ่งงานออฟฟิสนี้จ้างพนักงานเป็นรายเดือน ไม่ว่าจะผลิตน้อยหรือมากก็ต้องจ่ายคงที่ สมมติว่าค่าใช้จ่ายส่วนงานออฟฟิสนี้จ่ายเดือนละ 4000 บาทต่อเดือน เรียกว่าเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหาร

“แล้วก็สมมติต่ออีกนิดหนึ่ง นั่นคือ ธุรกิจของลุงแมวน้ำนี้มีจำนวนหุ้นทั้งหมด 1000 หุ้น ราคาตลาดหุ้นละ 100 บาท”

“นี่เราไม่ใช่นักลงทุนสายเทคนิค และไม่ใช่สายปัจจัยพื้นฐาน แต่เป็นสายพันธุ์ใหม่ เรียกว่า นักลงทุนสายจิน” ลิงพูดเบาๆทั้งที่ยังหลับตา

“สายจินคืออะไรฮะน้าจ๋อ” กระต่ายน้อยถาม

“สายจินตนาการไง” ลิงตอบ “ลุงแกมีแต่โขดหิน โรงงานอะไรที่ไหน มโนล้วนๆเลย ขืนหลับตาจิตนาการต่อไปคงได้หลับกันจริงๆ ชักง่วงแล้ว”

Tuesday, September 23, 2014

23/09/2014 วัฏจักรชีวิต วัฏจักรเศรษฐกิจ วัฏจักรกิจการ และวัฎจักรราคาหุ้น (3)






“ลุงแมวน้ำ ผมอยากรู้ว่าดัชนีตลาดหลักทรัพย์ต่างๆสะท้อนภาพของเศรษฐกิจจริงได้มากน้อยแค่ไหน” ม้าลายพูดขึ้นบ้าง ม้าลายกับสิงโตยังไม่ค่อยซักถามอะไรนัก อาจจะกำลังตั้งหลักอยู่ “ผมฟังวิทยุ นักวิเคราะห์คุยให้ฟังว่าเศรษฐกิจของยุโรปยังไม่ค่อยดี แต่ตลาดหุ้นเยอรมนีขึ้นไปเรื่อยๆ ทำจุดสูงสุดใหม่ได้อีกด้วย แล้วแบบนี้หมายความว่ายังไงที่ตลาดหุ้นกับเศรษฐกิจจริงไม่ไปด้วยกัน

“เป็นคำถามที่ดีทีเดียว” ลุงแมวน้ำชม “ที่จริงก็มีนักลงทุนมากมายสงสัยเรื่องนี้กับตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกาเช่นเดียวกัน เนื่องจากอเมริกากำลังฟื้นฟูเศรษฐกิจของตนเองจากความบอบช้ำกรณีวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ พูดง่ายๆก็เสมือนกับคนป่วยที่กำลังฟื้นตัวอยู่ แต่ทำไมตลาดหุ้นจึงได้ขึ้นเอา ขึ้นเอา และทำสถิติจุดสูงสุดตลอดกาลใหม่ได้ ราวกับว่ามีเศรษฐกิจที่โดดเด่นยังงั้นแหละ”

“นั่นสิครับลุง เป็นเพราะอะไร เพราะตลาดถูกปั่นใช่ไหม” ลิงถามด้วย “ในตลาดย่อมต้องมีเจ้ามือเสมอ”

“เจ้ามืออะไรที่ไหนลุงก็ไม่รู้หรอก” ลุงแมวน้ำขำกับทฤษฎีเจ้ามือปั่นหุ้นของลิงจ๋อ “หากว่าเราคุยเรื่องนี้ก็ต้องแตกประเด็นยาวอีก เดี๋ยวเรื่องวัฏจักรจะคุยกันไม่จบ วันนี้ลุงอยากจับประเด็นเรื่องวัฏจักรก่อน คำถามนั้นลุงขอตอบแบบคร่าวๆก่อนก็แล้วกัน ใน คหสต...”

“เดี๋ยว” ลิงรีบขัด “คหสต คืออะไร”

“อ้าว นายจ๋อไม่รู้จักหรือ” ลุงแมวน้ำถาม

“เพิ่งเคยได้ยินนี่แหละ” ลิงพูด ยีราฟ ฮิปโป ม้าลาย สิงโต ต่างก็ทำหน้างงๆ

“ผมรู้ฮะลุง คหสต คือ ความเห็นส่วนตัว ฮ่ะฮ่ะฮ่ะ” กระต่ายน้อยหัวเราะขำ “ทำไมลุงรู้จักภาษาเด็กแนวด้วยล่ะฮะ”

ลิงส่ายหัว “ลุงแมวน้ำจะวัยรุ่นเกินไปหน่อยไหมเนี่ย”

“ก็บอกแล้วว่าลุงหาความรู้รอบพุงอยู่เสมอ พยายามไม่ให้ตกกระแส” ลุงแมวน้ำพูด “เอ้า มาวกเข้าเรื่องของเรากันต่อ ในความเห็นของลุง ดัชนีตลาดหุ้นมีลักษณะสำคัญอยู่สองประการ

“ประการแรก ดัชนีตลาดหุ้นเป็นตัวบ่งชี้ล่วงหน้า หรือที่เรียกว่า leading indicator คือบ่งชี้ความคาดหวังของนักลงทุนต่อสภาพเศรษฐกิจ ดัชนีตลาดหุ้นสะท้อนการคาดการณ์ในอนาคตราว 6-12 เดือนข้างหน้ามากกว่าที่จะสะท้อนภาพเศรษฐกิจในอดีตหรือในปัจจุบัน

“ประการที่สอง บริษัทที่อยู่ในตลาดหุ้นเป็นธุรกิจที่ใช้เงินลงทุนสูง แม้จะเป็นกิจการที่ตลาดหุ้นจัดให้เป็นกิจการขนาดเล็ก (small cap) ก็ยังมีมูลค่ากิจการเป็นร้อยล้านบาท ทำธุรกิจกับนานาชาติ ไม่ใช่กิจการของชาวบ้านร้านถิ่นทั่วไปที่ขายของในชุมชน ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าตลาดหุ้นหรือว่าดัชนีตลาดหุ้นนั้นสะท้อนภาพของเศรษฐกิจระดับบน ไม่ใช่เศรษฐกิจระดับล่าง ก็คิดดูง่ายๆ ตอนนี้เศรษฐกิจภาคการเกษตรของเรากำลังมีปัญหา ราคาข้าวกับยางพาราซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจหลักของไทยมีราคาผลผลิตตกต่ำ แถมขายไม่ออก ชาวนาชาวสวนกระเป๋าแบน ขาดสภาพคล่อง แล้วดัชนีตลาดหุ้นไทยขึ้นได้อย่างไร

“ลุงขอพูดคร่าวๆแค่นี้ก่อนละกัน เรามาคุยกันเรื่องวัฏจักรกันต่อก่อนดีกว่า เนื่องจากเรื่องวัฏจักรและกราฟระฆังคว่ำนี้เป็นพื้นฐานสำคัญที่จะทำให้เราเข้าใจสภาพเศรษฐกิจรวมทั้งตลาดหุ้นต่อไป”



ต่อยอดกิจการ ยุทธวิธียื้อวัฏจักร


“เรามายกตัวอย่างร้านกาแฟแม่เล็กกันอีกครั้งหนึ่ง ลองดูกราฟในภาพนี้อีกที” ลุงแมวน้ำพูดพลางหยิบกราฟรูปเดิมขึ้นมาให้ดู







“ร้านของแม่เล็กเป็นร้านขายกาแฟ สินค้าของแม่เล็กมีเพียงอย่างเดียว นั่นคือ กาแฟ วัฏจักรของผลิตภัณฑ์อย่างใดอย่างหนึ่งมันก็ไม่เที่ยงแบบนี้แหละ ไม่มีสินค้าใดอยู่ค้ำฟ้าหรือ เกิดมาแล้วอยู่ได้สักพักก็เสื่อมไป ยอดของจึงเป็นไปตามกราฟของวัฏจักรสินค้า และเป็นรูประฆังคว่ำ

“กราฟแสดงวัฏจักรผลิตภัณฑ์กาแฟของแม่เล็กดำเนินอยู่ได้เพียงปีเดียว นั่นคือ จากเกิดจนเสื่อมและดับไปใช้เวลาหนึ่งปี และเนื่องจากร้านของแม่เล็กมีสินค้าเพียงอย่างเดียว ดังนั้นกราฟแสดงวัฏจักรของกิจการแม่เล็กจึงเป็นแบบเดียวกับกราฟแสดงวัฏจักรของผลิตภัณฑ์

“ทีนี้ลุงถามกระต่ายน้อยว่า ถ้าหากแม่เล็กขายกาแฟไม่ออก และไม่อยากเลิกกิจการ แม่เล็กควรทำอย่างไร”

กระต่ายน้อยกะพริบตากลมโตใสแจ๋ว แทะแครอตไปพร้อมกับตอบลุงแมวน้ำ

“ลุงสมมติไม่ค่อยสมจริงนี่ฮะ ใครเขาขายสินค้าเพียงอย่างเดียวกัน เขาก็ต้องขายหลายๆอย่างสิฮะ ถ้ากาแฟขายไม่ดีก็หาสินค้าอย่างอื่นมาเพิ่ม อย่างเช่นขายแครอตด้วย” กระต่ายน้อยตอบ พร้อมเคี้ยวตุ้ยๆ

“ขายถั่วฝักยาวด้วยก็ได้” ยีราฟเสนอบ้าง

“ถูกต้องนะคร้าบ” ลุงแมวน้ำตอบ “นั่นคือ หาอย่างอื่นมาขายด้วย ขายของหลายๆอย่าง

“เอาละ ที่ลุงอยากจะบอกก็คือ หากกิจการมีสินค้าเพียงอย่างเดียว กราฟของกิจการจะเป็นเส้นเดียวกับกราฟของผลิตภัณฑ์ คือเมื่อผลิตภัณฑ์ดับไป กิจการก็ดับตามไปด้วย ดังนั้น หากกิจการไม่ต้องการดับไปแบบนั้นก็ต้องหาสินค้ามาหลายๆตัว เข้ามาในเวลาต่างๆ ผลิตภัณฑ์บางตัวดับไป แต่บางตัวก็ยังรุ่งอยู่

“เมื่อเป็นเช่นนี้ กราฟของวัฏจักรกิจการก็จะเบี่ยงเบนไปจากกราฟของวัฎจักรผลิตภัณฑ์เดี่ยวแล้ว คือไม่ได้เป็นเส้นเดียวกันแล้ว  นี่คือยุทธวิธีในการยื้อชีวิตของกิจการให้ยืดยาวออกไป

“และอันที่จริงแล้ว ตัวผลิตภัณฑ์เองก็อาจยื้อชีวิตของตนเองออกไปได้อีก ด้วยการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง ยกตัวอย่างกรณีกาแฟแม่เล็ก หากต้องการยื้ออายุการขายกาแฟออกไปก็อาจลองปรับปรุงรสชาติของกาแฟเสียใหม่ เปลี่ยนสูตรในการชงว่างั้นเถอะ หรือเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ให้สวยงามดึงดูด ก็อาจยืดอายุผลิตภัณฑ์กาแฟไม่ให้ดับเร็วก็เป็นไปได้

“เอาละ ผลของการยื้อชีวิตของผลิตภัณฑ์ หรือชีวิตของกิจการ ทำให้เส้นกราฟวัฏจักรเบี่ยงเบนไป เบี่ยงไปยังไง ลองดูภาพนี้กัน”

ลุงแมวน้ำพูดจบก็หยิบเอากราฟออกมาให้ดูอีก


การยืดวัฏจักรของผลิตภัณฑ์ออกไปโดยการปรับปรุงผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์อาจเสื่อมความนิยมจากคู่แข่ง หรือจากความล้าสมัยของตัวผลิตภัณฑ์เอง การปรับปรุงผลิตภัณฑ์อาจช่วยเพิ่มยอดขายได้ ทำให้ผลิตภัณฑ์ไม่ต้องเดินไปสู่จุดจบ



“นี่คือตัวแบบ แสดงผลของการยื้อชีวิตของผลิตภัณฑ์หรือยื้อชีวิตของกิจการออกไป นั่นคือ พยายามไม่ให้เส้นกราฟเข้าสู่ช่วงดับสูญ ด้วยการต่อยอด ดังที่เราคุยกันมาแล้ว หากการต่อยอดเกิดผล ยอดขายกลับเพิ่มขึ้น ก็จะเป็นดังกราฟรูปนี้ เส้นกราฟยอดขายกลับกระดกขึ้นไปอีก”

“เอาละ ทีนี้ลุงจะไม่พูดถึงกราฟวัฏจักรของผลิตภัณฑ์แล้วนะ เพราะกิจการส่วนใหญ่ไม่ได้มีผลิตภัณฑ์เดียวหรอก เราจะพูดไปเน้นกันที่วัฏจักรของกิจการ แต่ก็ให้เข้าใจว่าพื้นฐานของวัฏจักรของผลิตภัณฑ์และกิจการนั้นมาจากที่เดียวกัน

“กลยุทธ์ในการยื้อวัฏจักรของกิจการไม่ให้หมดอายุหรือดับไป ก็ต้องใช้การต่อยอด ซึ่งทำได้หลายอย่าง เช่น ในเชิงการผลิตก็ด้วยการหาผลิตภัณฑ์ใหม่เข้ามาเสริม การปรับปรุงผลิตภัณฑ์ การนำเทคโนโลยีการผลิต หรือนวัตกรรมการผลิตต่างๆเข้ามาเสริม

“หรือหากมองในเชิงการตลาด ก็อาจต่อยอดกิจการด้วยการชุบชีวิตหรือรีแบรนดิงผลิตภัณฑ์ 

“และหากมองในเชิงเทคโนโลยีการจัดการ วิธีการเพิ่มรายได้ที่ง่ายและเร็ว นั่นก็คือ M&A (merging and acquisition) พูดง่ายๆก็คือการต่อยอดธุรกิจด้วยการเทกโอเวอร์ ซื้อกิจการอื่นๆเข้ามาควบรวมกับกิจการเดิมนั่นเอง วิธีนี้เป็นที่นิยมกันมากในปัจจุบัน เป็นเหมือนการเรียนลัด ไม่ต้องไปสร้างกิจการเอง ซื้อกิจการอื่นเข้ามาเลย และนี่เองคือโมเดลธุรกิจของหลายๆกิจการในตลาดหุ้น ที่เน้นการเติบโตอย่างรวดเร็วด้วยการซื้อกิจการ จนบางกิจการอาจเรียกได้ว่าซื้อทุกอย่างที่ขวางหน้า งบการเงินของกิจการที่ควบรวมกันแล้วจะดูดี คือยอดขายเพิ่มแบบก้าวกระโดด เนื่องจากเป็นยอดของของกิจการเดิมรวมกับกิจการใหม่ ลองมาดูภาพนี้กัน”

ลุงแมวน้ำหยิบกราฟออกมาอีกแผ่นหนึ่ง



รูปแบบของการยืดวัฎจักรของกิจการ เช่น การควบรวมกิจการ จะทำให้ยอดขายเติบโตอย่างกระโดดเนื่องจากรายได้จากกิจการเดิมรวมกับรายได้ของกิจการใหม่ ส่วนการต่อยอดในบางกรณีเกิดผลเพียงแค่ประคองกิจการให้ทรงตัวต่อไปเท่านั้น หรือในบางกรณีการต่อยอดเกิดผลแค่ในช่วงสั้นๆ แต่แล้วก็ไปไม่ไหว



“นี่คือกราฟที่แสดงผลของการต่อยอดกิจการ ซึ่งลุงขอแบ่งออกเป็นสามแบบ ค่อยๆดูตามไป

“ดูรูปบนสุดก่อน ยอดขายของกิจการโตแบบก้าวกระโดดแทนที่จะเสื่อมถอย การควบรวมกิจการหรือว่าการเทคโอเวอร์กิจการมักให้ยอดขายโตกระโดดแบบนี้

“มาดูกันที่รูปกลาง นี่ก็เป็นการต่อยอดที่เมื่อต่อยอดแล้วไม่ได้ทำให้ยอดขายโตขึ้น เพียงแค่ช่วยให้ยอดขายทรงตัวอยู่ได้เท่านั้น เช่นการออกผลิตภัณฑ์ใหม่มาทดแทนผลิตภัณฑ์เดิม ก็อาจช่วยแค่รักษายอดขายไม่ให้ตกเท่านั้น แต่จะให้โตไปกว่านี้อาจทำไม่ไหว

“มาดูกันที่รูปล่าง รูปนี้คือการต่อยอดที่ยื้อไม่ไหว เช่น การออกผลิตภัณฑ์ใหม่หรือการรีแบรนด์ผลิตภัณฑ์เดิม ที่ทำแล้วตลาดไม่ตอบรับ คือยอดขยับแค่ตอนต้นๆเท่านั้น แต่สุดท้ายก็ร่วงแบบเดิม ภาษาวัยรุ่นบอกว่าต่อยอดแล้วไม่เวิร์ก”

จากนั้นลุงแมวน้ำก็กางภาพอีกแผ่นหนึ่งตามมา


วัฏจักรของกิจการแบ่งเป็น 6 เฟส คือระยะตั้งไข่ เติบโต อืด อิ่ม เสื่อม และดับ ในเชิงอุดมคติแล้ว การต่อยอดหวังผลที่ยืดขั้นเติบโตให้ได้นานที่สุด แต่ในความเป็นจริงแล้ว ผลจากการต่อยอดอาจไม่ได้ยืดขั้นเติบโตเสมอไป อาจไปยืดในขั้นอืด อิ่ม หรือเสื่อม ให้ยาวนานออกไปแทน ซึ่งก็ยังดีกว่าไม่ทำอะไร แต่ไม่ว่าเฟสใดจะยืดอายุไปได้นานเท่าใดก็ตาม ท้ายที่สุดก็ยังต้องก้าวเข้าสู่เฟสถัดไปอยู่ดี


“เอาละ ลุงแมวน้ำขอสรุปด้วยภาพนี้ละกัน รูปนี้พิเศษอยู่หน่อย ตรงที่ว่าแบ่งวัฏจักรเป็น 6 เฟส ลุงขอเรียกว่าเป็นระยะต่างๆ 6 ระยะ คือ ตั้งไข่ เติบโต อืด อิ่ม เสื่อม และเลิก

“การต่อยอดกิจการนั้น ในเชิงอุดมคติแล้ว ใครๆก็อยากต่อยอดในขั้น ‘เติบโต’ เพื่อยืดเส้นกราฟในขั้นเติบโตไปให้ได้นานที่สุด กิจการใดที่ทำได้ตามนี้ก็จะมีเส้นกราฟในขั้นเติบโตที่ชันและกินเวลายาวนาน ถ้าแบบนี้ละก็วิเศษสุดยอดไปเลย

“แต่กฎของธรรมชาตินั้นไม่ได้ละเว้นใคร มีเกิดย่อมมีเสื่อมและมีดับ จะช้าหรือเร็วเท่านั้น ดังนั้น ในทางปฏิบัติ หรือว่าในชีวิตจริง กิจการที่พยายามต่อยอดนั้น อาจไปเพิ่มขั้นเติบโตให้ยาวนานออกไปอีกหน่อย หรือไม่ก็ไปยืดขั้น ‘อืด’ ให้ยาวนาน

“หรือถ้าทำไม่ไหวก็ขอไปยื้อในขั้น ‘อิ่ม’ ให้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้ กิจการที่ยื้อในขั้นอิ่มได้นานๆนั้นจะได้กราฟทรงระฆังแบนเป็นยอดภูกระดึง หรือเป็นธุรกิจ cash cow นั่นเอง

“และถ้าหากยังไม่ไหวอีก ก็ขอให้การต่อยอดนั้นยืดขั้น ‘เสื่อม’ ไปให้ยาวนานที่สุด พวกนี้จะได้กราฟระฆังที่หางข้างขวาลากยาว

“แต่อย่างไรก็ตาม การต่อยอดกิจการเป็นการยืดเฟสใดเฟสหนึ่งให้ยาวออกไปเท่านั้น อาจจะหลายปีหรือหลายสิบปีก็ตาม แต่ท้ายที่สุดก็ยังต้องเดินเข้าสู่เฟสถัดไปอยู่ดี”



ต่อยอดกิจการสู่การต่อยอดเศรษฐกิจ



“เป็นไงบ้าง นั่งอ้าปากหวอเชียว พอเข้าใจใช่ไหม” ลุงแมวน้ำถามเพื่อความแน่ใจ

“พอเข้าใจจ้ะลุง” ยีราฟตอบ ตัวอื่นๆก็พยักหน้าไปด้วย

“ถ้ายังงั้นเรามาต่อกันอีกหน่อย” ลุงแมวน้ำพูด “การต่อยอดกิจการนั้นส่งผลดังที่ลุงแมวน้ำอธิบายมา และในทำนองเดียวกัน หากเป็นเศรษฐกิจของประเทศซึ่งก็คือกิจการของประเทศนั่นเอง เราก็ใช้แนวคิดนี้อธิบายเช่นกัน

“เศรษฐกิจของประเทศมีขึ้น มีลง เพราะผลจากการที่แต่ละประเทศพยายามพัฒนาและต่อยอดเศรษฐกิจของตน ไม่มีประเทศไหนปล่อยเศรษฐกิจตามบุญตามกรรมหรือ ต่างก็พยายามพัฒนาต่อยอดกันทั้งนั้น ดังนั้น ในระดับเศรษฐกิจของประเทศ เราก็สามารถใช้แนวคิดของภาพ เกิด โต อืด อิ่ม และเสื่อมได้เช่นกัน นั่นคือ ความพยายามต่อยอดนั้นไปเกิดผลให้กราฟในเฟสใดยืดขยายออกไป

“ยกตัวอย่างที่เห็นได้ง่ายๆ นั่นคือ เศรษฐกิจจีนไง เมื่อก่อน จีนต้องพยายามทำให้เศรษฐกิจโตปีละสองหลักให้ได้ หมายความว่าต้องให้โตปีละกว่า 10% แต่เร่งมากจนตัวเองแย่ เกือบจะได้กราฟแบบนี้ คือตอนขึ้นก็เป็นพลุ ตอนลงก็เป็นผีพุ่งใต้ ดีที่ตอนหลังจีนปรับตัวใหม่ ขอโตเพียงปีละ 7.5% นั่นคือ เสมือนกับว่าจีนพยายามยืดกราฟในขั้น เติบโต ในวัฏจักรให้ยืดยาวออกไป โดยลดความชันของกราฟเฟสนี้ลงมา”





“ไม่ใช่ว่าตอนนี้จีนอยู่ในขั้น อืด หรือฮะ” กระต่ายน้อยไม่วายสงสัย “จากปีละกว่า 10% เหลือ 7.5% น่าจะเรียกว่าอืด”

“อัตราปีละ 7.5% ถือว่าเป็นอัตราเติบโตที่ยังสูงอยู่ ลุงจึงยังมองว่าเป็นเติบโตอยู่ เพียงแต่ลดระดับลงมาบ้าง แต่ยังไม่น่าเข้าขั้นอืด อย่างสหรัฐอเมริกาสิที่น่าจัดอยู่ในเฟส อืด หรืออาจจะเป็นเฟส อิ่ม ก็ได้ แต่เรื่องนี้เราเอาไว้คุยกันต่ออีกทีหนึ่ง” ลุงแมวน้ำพูด

“เหมือนนั่งเรียนหนังสือในโรงเรียนฝึกละครสัตว์เลย” ลิงบ่นอุบอิบ “ง่วงชะมัด”

“หัวข้อนี้อาจจะเหมือนกางตำราคุย แต่กราฟทรงระฆังคว่ำนี้มีความสำคัญ ลุงจึงอยากให้เข้าใจที่มาที่ไปกัน กราฟรูปนี้จะเป็นประโยชน์ในการลงทุนของเราในโอกาสต่อไป ซึ่งเราจะค่อยๆคุยกัน” ลุงแมวน้ำสรุปในที่สุด

Friday, September 19, 2014

19/09/2014 วัฏจักรชีวิต วัฏจักรเศรษฐกิจ วัฏจักรกิจการ และวัฎจักรราคาหุ้น (2)





“ลุงแมวน้ำ ผมมีคำถาม” ลิงจ๋อชูหางสูงแทนการยกมือ

“เอ้า ว่ามา” ลุงแมวน้ำพูด

“รูปที่ลุงเอามาให้ดูน่ะ เป็นทรงโค้งสวยงามทุกภาพ แต่ในชีวิตจริง ทุกอย่างไม่ได้เป็นทรงเป๊ะเว่อแบบนั้น” ลิงทักท้วง

“มันก็ใช่ ทุกอย่างไม่ได้เป๊ะเว่อ สวยแบบในภาพ” ลุงแมวน้ำใช้ศัพท์วัยรุ่นบ้าง “แล้วนายจ๋อจะบอกอะไรล่ะ”

“ดูอย่างในกราฟคลื่นอีเลียตสิลุง ในชีวิตจริงมันไม่ได้ขึ้น 5 ลง 3 อย่างสวยงาม แต่มันหักเห เฉไฉ จนนับคลื่นไม่ถูก ที่ผมจะถามลุงก็คือ โดยทฤษฎีอย่างที่ลุงว่า หากเรารู้ว่าเราอยู่ตรงไหนในคลื่น เราก็คาดการณ์เหตุการณ์ข้างหน้าได้ แต่นั่นคือทฤษฎี ในชีวิตจริงหากเรานับคลื่นไม่ถูก เราก็ไม่รู้ว่าเราอยู่ตรงไหน และก็จะคาดการณ์ข้างหน้าไม่ได้” ลิงพูด “ผมนับคลื่นไม่ถูกอยู่บ่อยๆ”

“นายจ๋อพูดมีเหตุผล และเป็นคำถามที่ดี แต่เรื่องนี้ไม่ใช่ตอบกันได้สั้นๆ ลุงว่าเราคุยกันไปเรื่อยๆก่อน แล้วประเด็นที่นายจ๋อถามเราจะเรียนรู้กันไปเรื่อยๆ อาจไม่ได้ตอบจนหมดในทีเดียว” ลุงแมวน้ำตอบ

ลุงแมวน้ำหยิบภาพออกมาจากหูกระต่ายอีกภาพหนึ่ง แล้วพูดว่า


โค้งของกราฟทรงระฆังคว่ำสามารถแปรปรวนเป็นรูปทรงต่างๆได้หลากหลาย



“รูปที่เราดู เท่าที่ผ่านมา ที่ลุงบอกว่าเป็นทรงโค้งระฆังคว่ำนั้นการแสดงตัวแบบ (model) หรือว่าเป็นกราฟในเชิงอุดมคติ แต่ในความเป็นจริง ลีลาของเส้นกราฟมีความหลากหลายได้มากมาย ลองดูในภาพนี้สิ นี่เป็นเป็นส่วนหนึ่งของความหลากหลายหรือความแปรปรวนที่อาจเกิดขึ้นได้ มีทั้งระฆังสูง ระฆังเตี้ย ระฆังเบ้ซ้าย เบ้ขวา ยอดระฆังแหลมเป็นหมวก ยอดระฆังแบนเป็นภูกระดึง ฯลฯ มีหมดนั่นแหละ

“นี่ตอบคำถามนายจ๋อไปได้ข้อหนึ่งแล้วนะว่ารูปทรงระฆังคว่ำสวยๆนั้นในโลกของความจริงแล้วแปรปรวนได้หลากหลาย ส่วนคำถามอื่นๆ จะจะค่อยๆทยอยตอบต่อไป”



วัฏจักรเศรษฐกิจ จากระฆังกลายเป็นคลื่น


“เอาละ ตอนนี้เราจะมาคุยกันเรื่องวัฏจักรเศรษฐกิจเพิ่มเติมกันสักหน่อย ลุงเอาภาพนี้ให้ดูทบทวนกันก่อน เผื่อว่าจะลืม”

ลุงแมวน้ำพูดพลางหยิบกราฟวัฏจักรเศรษฐกิจที่แสดงให้ดูไปแล้วมาให้ดูกันอีก จากนั้นจึงพูดต่อไปว่า



วัฏจักรเศรษฐกิจ เป็นการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจมหภาค เริ่มจากขั้นฟื้นตัว (recovery) เศรษฐกิจจะเติบโตช้าๆ จากนั้นเศรษฐกิจจะขยายตัวและเติบโตอย่างรวดเร็ว (expansion) จนเศรษฐกิจเฟื่องฟูสุดขีด (boom) หลังจากนั้นเศรษฐกิจก็จะโตต่อไปไม่ได้และถดถอย (recession) เมื่อเศรษฐกิจถดถอยนานเข้าก็เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ (depression) หลังจากที่อยู่ในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำนานวัน เศรษฐกิจก็จะค่อยๆฟื้นตัว อนึ่ง วัฎจักรเศรษฐกิจคล้ายคลึงกับวัฏจักรกิจการ แตกต่างกันตรงที่กิจการตกต่ำจนเลิกกิจการได้ แต่เศรษฐกิจตกต่ำนั้นมักไม่ถึงขั้นสังคมล่มสลาย ส่วนใหญ่มักกลับฟื้นขึ้นมาได้ เป็นวัฎจักรที่หมุนวนไปเรื่อยดุจกลางวัน-กลางคืน



“เศรษฐกิจนี้เป็นปัจจัยมหภาค มีความหมายในเชิงกว้างหลายระดับ เช่น อาจหมายถึงเศรษฐกิจโลกซึ่งเป็นเชิงกว้างที่สุด หรืออาจหมายถึงเศรษฐกิจของประเทศใดประเทศหนึ่งซึ่งเป็นความหมายในเชิงแคบลงมา หรืออาจหมายถึงเศรษฐกิจในท้องถิ่นก็ได้ซึ่งก็แคบลงมาอีก แต่ที่ลุงจะคุยให้ฟังนั้นลุงเน้นที่เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจระดับประเทศ

“สุดปลายด้านขวาของกราฟคือปลายทาง หากเป็นชีวิตคน เมื่อกราฟดำเนินไปจนสุดปลายด้านขวาก็หมายถึงหมดสิ้นอายุขัย หรือหากเป็นกิจการก็หมายถึงกิจการสิ้นสุดหรือว่าเลิกไป

“แต่หากเป็นเศรษฐกิจประเทศ โดยทั่วไปแล้วเศรษฐกิจไม่มีทางแย่จนประเทศเจ๊งหรือดับสูญไป นี่เราพูดถึงเฉพาะสมัยนี้นะ”

“หมายความว่ายังไงฮะลุง ที่ว่าเฉพาะสมัยนี้” กระต่ายน้อยสงสัย ไม่สงสัยเปล่า หยิบแครอตออกมาแทะอีกด้วย “ขอแทะแครอตหน่อยนะฮะ ผมหิวบ่อย”

“คือหากเป็นในสมัยโบราณ ดินแดนแว่นแคว้นต่างๆมีโอกาสเจ๊งได้ ยกตัวอย่างอาณาจักรโรมันที่เศรษฐกิจ การเมือง การปกครอง อ่อนแอ จนท้ายที่สุดก็ต้องสิ้นสุดอาณาจักรเนื่องจากถูกชนเผ่าอื่นมายึดไป หรือกรณีอียิปต์โบราณก็เช่นกัน ในปลายยุค ผู้ปกครองอ่อนแอ ทำให้เศรษฐกิจอ่อนแอ ประชาชนอดอยาก แถมยังมีความไม่สงบภายใน แย่งชิงอำนาจกัน สุดท้ายก็ต้องสิ้นสุดอาณาจักรโดยถูกชนชาติอื่นยึดครอง”

ลุงแมวน้ำกางภาพออกมาอีกแผ่นหนึ่ง


 
วัฎจักรของเศรษฐกิจในระดับประเทศ ในปัจจุบันมักไม่ได้มีเพียงวัฎจักรเดียว (เกิดขึ้นและจบเพียงรอบเดียว) แต่เกิดเป็นหลายวัฏจักรต่อเนื่องกันเหมือนคลื่น



“แต่มาในยุคปัจจุบัน ประเทศที่เศรษฐกิจแย่จนสิ้นประเทศนั้นไม่มีหรอก เพราะโลกกลัววิกฤตเศรษฐกิจลามแบบโดมิโน ดังนั้นหากประเทศใดเศรษฐกิจย่ำแย่ก็มักถูกอุ้มถูกช่วยจนรอดพ้นวิกฤตเศรษฐกิจไปได้ ดังนั้นรูปแบบเศรษฐกิจของประเทศที่จะเป็นแบบระฆังคว่ำใบเดียวนั้นไม่มี แต่จะเป็นระฆังคว่ำที่ต่อเนื่องกันมากกว่า ลองดูรูปนี้สิ นี่คือรูปแบบของเศรษฐกิจในปัจจุบัน นั่นคือ ฟุบแล้วฟื้น ฟื้นแล้วก็ฟุบลงไปใหม่ ขึ้นแล้วลง ลงแล้วขึ้น หมุนเวียนไปเรื่อยๆ”

“จากทรงระฆังคว่ำกลายเป็นคลื่นในทะเลไปแล้ว” ฮิปโปพูดบ้าง

“ใช่แล้ว ทรงระฆังกลายเป็นทรงคลื่น และกราฟทรงคลื่นนี้ก็เป็นความลับของธรรมชาติอีกเรื่องหนึ่ง” ลุงแมวน้ำพูด “แต่อย่าเพิ่งถามลุงเลยว่าความลับข้อนี้คืออะไร ลุงขอยกไปเล่าในวันอื่น สำหรับในวันนี้ขอคุยเรื่องคลื่นเศรษฐกิจก่อน”

“ความลับแยะจริงนะฮะลุง” กระต่ายน้อยหัวเราะร่า “ผมชอบ ผมชอบ ตื่นเต้นดี เล่ามาอีกเลยฮะ”

ลุงแมวน้ำกางภาพออกมาอีกใบหนึ่ง และพูด

“เอาละ ทีนี้เรามาดูคลื่นเศรษฐกิจกันต่อ คลื่นเศรษฐกิจนั้นเกิดจากวัฏจักรเศรษฐกิจทรงระฆังคว่ำที่ไม่ยอมยุติ แต่กลับเรียงร้อยต่อเนื่องกันไปจน เมื่อจบวัฎจักรหนึ่งก็ตามด้วยอีกวัฏจักรหนึ่งไม่มีสิ้นสุด จึงกลายเป็นรูปทรงคลื่น ซึ่งรูปทรงคลื่นที่เกิดเป็นความต่อเนื่องนี้มีความพิเศษกว่าการเป็นวัฏจักรเดี่ยว นั่นคือ รูปทรงคลื่นนี้เนื่องจากมันต่อเนื่องยาวไปเรื่อยๆ ดังนั้นมันจึงอาจมีทิศทางได้ด้วย ลองดูภาพนี้


คลื่นเศรษฐกิจอาจมีทิศทางได้ นั่นคือ เกิดเป็นแนวโน้มเศรษฐกิจนั่นเอง คลื่นเศรษฐกิจมีได้ทั้งแนวโน้มขาขึ้น แนวโน้มขาลง และแนวโน้มคงตัว 



“ภาพนี้เป็นลักษณะคลื่นเศรษฐกิจ 3 แบบ

“กราฟรูปบนสุดเป็นคลื่นเศรษฐกิจแบบที่ขึ้นลง ขึ้นลงก็จริง แต่ขึ้นมากกว่าลง ดังนั้นจึงเกิดเป็นแนวโน้มใหญ่ขาขึ้น นั่นคือ เป็นคลื่นเศรษฐกิจในทิศทางขาขึ้น

“กราฟรูปกลางเป็นคลื่นเศรษฐกิจที่ยามขาลงลึกกว่ายามขาขึ้น ดังนั้นจึงเกิดเป็นแนวโน้มใหญ่ขาลง หรือว่าเป็นคลื่นเศรษฐกิจในทิศทางขาลงนั่นเอง

“ส่วนกราฟรูปล่างเป็นคลื่นเศรษฐกิจที่ขึ้นและลงพอๆกัน ดังนั้นจึงไม่มีทิศทาง เสมอตัวไปเรื่อยๆ”

“ขึ้นลง ขึ้นลง คลื่นย่อยประกอบเป็นคลื่นใหญ่ คลื่นใหญ่แยกส่วนเป็นคลื่นย่อย” ลิงพึมพำ จากนั้นก็ร้องว่า “นี่ก็คือคลื่นใหญ่คลื่นย่อยในทฤษฎีคลื่นอีเลียตนี่ลุง”

“ก็ทำนองนั้นแหละ” ลุงแมวน้ำหัวเราะขำท่าทางของลิงจ๋อ “คลื่นอีเลียตประกอบด้วยคลื่นใหญ่ คลื่นย่อย ซ้อนกัน คลื่นอีเลียตนอกจากอธิบายพฤติกรรมของราคาหุ้นได้แล้วยังใช้อธิบายเศรษฐกิจมหภาคได้ด้วย”

“ใช้กับเศรษฐกิจได้ด้วยหรือลุง ไม่เคยอ่านพบว่ามีใครใช้เลยนะเนี่ย” ลิงถามอย่างสงสัย

“อ้าว ก็ใช้ทฤษฎีคลื่นอีเลียตกับกราฟดัชนีตลาดหลักทรัพย์ของประเทศนั้นๆไง” ลุงแมวน้ำหัวเราะอีก “ดัชนีตลาดหลักทรัพย์เป็นตัวบ่งชี้เศรษฐกิจของประเทศได้ส่วนหนึ่งไง เราใช้คลื่นอีเลียตอธิบายดัชนีก็คือเราใช้คลื่นอีเลียตอธิบายเศรษฐกิจระดับประเทศนั่นเอง ใช้หลักการของคุณสมบัติการถ่ายทอด (transitive property) ในวิชาคณิตศาสตร์กับเศรษฐศาสตร์”


วัฏจักรเศรษฐกิจเกิดต่อเนื่องกันจนกลายเป็นคลื่นเศรษฐกิจ และคลื่นเศรษฐกิจนี้สามารถอธิบายได้ด้วยคลื่นอีเลียต โดยพิจารณาจากกราฟของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ของประเทศนั้นๆนั่นเอง ในภาพนี้เป็นคลื่นในกราฟดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ซึ่งสะท้อนเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาได้ส่วนหนึ่ง จะเห็นว่าเกิดเป็นทรงคลื่น การใช้ทฤษฎีคลื่นอีเลียตอธิบายดัชนีตลาดก็เท่ากับอธิบายเศรษฐกิจของประเทศด้วย ตามหลักคุณสมบัติการถ่ายทอด (เมื่อ a=b และ b=c ดังนั้น a=c)

Wednesday, September 17, 2014

17/09/2014 วัฏจักรชีวิต วัฏจักรเศรษฐกิจ วัฏจักรกิจการ และวัฎจักรราคาหุ้น (1)






“ไม่เอา บอกว่าแพงแล้ว”

“ก็ฉันชอบนี่”

“เอ๊ะ ก็บอกว่าแพงแล้วยังจะซื้อทำไม จะซื้อชาตินี้แล้วขายชาติหน้าหรือไง”

“ไม่รู้ล่ะ ฉันว่าไม่แพง”

“โอ๊ย ทำไมดื้อยังงี้”

ในตอนเย็นวันหนึ่ง ขณะที่ลุงแมวน้ำกำลังเดินเข้าไปในสวนเพื่องีบสักครู่ ก็ได้ยินเสียงเถียงกันวุ่นวาย เมื่อลุงแมวน้ำเดินไปถึงศาลาในสวน ก็เห็นสมาชิกคณะละครสัตว์มากหน้าหลายตากำลังจับกลุ่มกันอยู่ และเจ้าของเสียงที่กำลังเถียงกันหน้าดำหน้าแดงคือลิงจ๋อกับแม่ยีราฟนั่นเอง

“โอ๊ะ มีอะไรกันเนี่ย เสียงเอะอะดังไปถึงนอกสวน” ลุงแมวน้ำทักทาย

“พ่อจ๋อกับแม่ยีราฟเขาทะเลาะกันจ้ะลุง เถียงกันเรื่องซื้อหุ้น” ฮิปโปสาวร่างใหญ่ตอบ ก็แน่ล่ะ ฮิปโปก็ต้องร่างใหญ่อยู่แล้ว

“แล้วพวกเรามาฟังเขาเถียงกันเรื่องซื้อหุ้นทำไมละเนี่ย” ลุงแมวน้ำถามอย่างงงๆ

“ก็อยากรู้ว่ามันดีหรือไม่ดี ถ้าดีก็ได้จะได้ซื้อบ้างไงครับ” ม้าลายตอบ

“หา นี่พวกเราจะซื้อหุ้นกันเรอะ” ลุงแมวน้ำอึ้งไป เมื่อเห็นเหล่าสมาชิกคณะละครสัตว์สนใจหุ้นโดยพร้อมเพียงกัน เป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

“ใช่แล้วลุง นายจ๋อจัดการให้พวกเราเปิดบัญชีซื้อขายหุ้นกันเรียบร้อยแล้ว” สิงโตพูด “ทุกวันนี้ดอกเบี้ยเงินฝากไม่พอยาไส้เลย ลุงก็รู้นี่” สิงโตพูดบ้าง “เห็นนายจ๋อซื้อขายหุ้นกำไรงาม พวกเราก็อยากลงทุนบ้าง”

“ลุงแมวน้ำมาก็ดีแล้ว ช่วยฉันหน่อยจ้ะลุง ฉันอยากซื้อหุ้นตัวหนึ่งแต่นายจ๋อห้ามไม่ให้ซื้อ” ยีราฟสาวพูดกับลุงแมวน้ำด้วยสีหน้ากลุ้มใจ

“ก็ผมหวังดีนะลุง หุ้นที่แม่ยีราฟอยากซื้อน่ะค่าอัตราส่วนพีอีตั้งร้อยกว่าเท่า แพงจะตาย ซื้อเข้าไปได้ยังไง ขืนซื้อคงได้อยู่ดอยยาวหลายปี” ลิงจ๋อรีบเถียง

“ฉันว่ามันไม่แพงเพราะธุรกิจเขาดี สินค้ามีแต่ขึ้นราคา แถมบางช่วงยังหาซื้อยากอีกต่างหาก เมื่อหน้าฝนที่ผ่านมาราคาขึ้นเป็นเท่าตัวเลย ฉันหาซื้อกินแทบไม่ได้” ยีราฟเถียงบ้าง “ฉันซื้อลงทุนเพื่อความมั่นคงทางอาหาร”

“ฮ่ะ ฮ่ะ ใช้ภาษาวิชาการเสียด้วย ความมั่นคงทางอาหาร” ลิงหัวเราะ “โอ๊ย ขำ”

“มันหุ้นอะไรกันน่ะ ถึงได้ต้องเถียงกันขนาดนี้” ลุงแมวน้ำชักสงสัย

“หุ้นไร่ถั่วฟักยาวจ้ะลุง” ยีราฟตอบ “ทีนายจ๋อซื้อหุ้นสวนกล้วยบ้างล่ะ ไม่เห็นพูดเลยว่าซื้อแพง”

“ก็พีอีของหุ้นสวนกล้วยต่ำกว่านี้ตั้งเยอะ” ลิงโต้อีก “ลุงมาก็ดีแล้ว ช่วยบอกแม่ยีราฟหน่อยว่าหุ้นที่พีอีร้อยกว่าเท่านี่มันแพงไหม มันยังน่าซื้ออยู่ไหม”

“ว่าอีกแล้ว” ยีราฟสาวทำหน้ายู่ยี่ พร้อมกับเบะปากเตรียมจะร้องไห้

“เดี๋ยวก่อน” ลุงแมวน้ำรีบห้ามวิวาทะ พร้อมกับเอาครีบอุดหู “แม่ยีราฟไม่ต้องร้องไห้ ฟังลุงก่อน”

เมื่อเห็นลิงกับยีราฟหยุดเถียงกันแล้ว ลุงแมวน้ำจึงพูดต่อ “เรื่องหุ้นถูก หุ้นแพง น่ะ เราเอาไว้ก่อนดีกว่า ที่แม่ยีราฟกับนายจ๋อพูดต่างก็มีเหตุผลทั้งคู่ แต่เป็นเหตุผลจากมุมมองที่มองจากคนละด้าน ดังนั้นเถียงกันไม่จบหรอก ลุงคิดว่าก่อนที่เราจะประเมินได้ว่าหุ้นนี้ถูกหรือแพง เราควรเข้าใจธรรมชาติของธุรกิจและเศรษฐกิจเสียก่อน ถ้าสนใจค่ำนี้แวะไปที่โขดหินของลุง แล้วเรามาคุยกัน ตอนนี้ลุงขอเวลาเตรียมข้อมูลนิดหน่อยก่อน”

“ยังงั้นก็ได้ครับลุง งั้นค่ำๆคุยกันใหม่” ลิงตอบ

และแล้ว วิวาทะย่อยๆก็สงบลงชั่วคราว...

ค่ำวันนั้นเอง ที่โขดหินแสนสุขของลุงแมวน้ำ สิงโต ฮิปโป ยีราฟ ลิง กระตายน้อย และลุงแมวน้ำ เหล่าสมาชิกคณะละครสัตว์ก็มานั่งล้อมวงคุยกันข้างโขดหิน เสียงคุยจ้อแจ้กจอแจอย่างครึกครึ้น

“ว่าไงจ๊ะลุงแมว มีหุ้นเด็ดๆอะไรจะบอกพวกเรา ฉันจะได้ไปซื้อบ้าง” ฮิปโปสาวถาม

“นี่ลุงไม่ได้บอกเลยนะว่าจะให้หุ้นเด็ด ลุงบอกว่าจะคุยให้ฟังเรื่องธรรมชาติของเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อเป็นแนวคิดในการลงทุนต่างหาก” ลุงแมวน้ำตอบ

“อ้าว งั้นเหรอจ๊ะ บอกชื่อหุ้นมาเลยไม่ได้เหรอ ไม่ต้องบอกใบ้หรอกลุง” ฮิปโปพูดอีก “เอาแบบพรุ่งนี้ขึ้นเลยนะ”

ลุงแมวน้ำเหลือบมองดูลิงจ๋อ ลิงยกหางของตนเองขึ้นปิดตา

“ผมไม่เกี่ยวนะลุง ไม่ได้ยุยงแม่ฮิปโปเลย รายนี้เขามีใจรักพวกหุ้นเด็ดเอง ส่วนผมเดี๋ยวนี้เปลี่ยนแนวการลงทุนมาเป็นการลงทุนในหุ้นดีๆและหวังผลระยะยาวแล้ว” ลิงพูด

“ที่ลุงจะคุยให้ฟังนี่ก็เพื่อให้พวกเราลงทุนอย่างมีความรู้ความเข้าใจน่ะ ถ้าเลือกหุ้นได้ดีก็คือเท่ากับถือหุ้นเด็ดเช่นกัน แต่เป็นการถือและหวังผลในระยะยาวหน่อย โพยหุ้นเด็ดราวกับสั่งได้อย่างที่แม่ฮิปโปถามน่ะลุงไม่มีหรอก” ลุงแมวน้ำพูด

“อ้าว เหรอ” ฮิปโปผิดหวัง “ไม่มีก็ไม่เป็นไรจ้ะลุง  ยังไงฉันก็นั่งฟังด้วย นั่งคุยกันเป็นกลุ่มสนุกดี ไม่เหงา”

“ลุงแมวน้ำเริ่มเลยเถอะฮะ” กระต่ายน้อยเร่ง “คืนนี้ผมต้องรีบกลับเข้าหมวก”

“ได้ๆ ยังงั้นเรามาเริ่มคุยกันเลยก็แล้วกัน” ลุงแมวน้ำพูด

เมื่อเห็นบรรดาสมาชิกพร้อมแล้ว ลุงแมวน้ำก็หยิบภาพประกอบออกมาปึกหนึ่ง เลือกมาภาพหนึ่ง คลี่ให้ทุกตัวได้เห็น พร้อมกับเริ่มการพูดคุย



วัฎจักรการเติบโตของมนุษย์ แสดงการเติบโตเป็น 5 วัย วัยเด็ก (infant and child รวมวัยทารกด้วย) มีการเจริญเติบโตในขั้นต้น ต่อมาการเจริญเติบโตเพิ่มมากขึ้นในวัยรุ่น (youngster) และเติบโตเต็มที่ในวัยผู้ใหญ่ (adult and middle aged) หลังจากนั้นร่างกายจะเริ่มเสื่อมถอยในวัยชรา (oldster) และเสื่อมถอยลงเรื่อยๆจนหมดอายุขัย (dead)



“เรามาดูภาพนี้กันก่อน ดูซิ นี่ภาพอะไร” ลุงแมวน้ำถาม

ลิงจ๋อเอียงคอดูภาพ จากนั้นยกหางเกาหัว แล้วถาม

“ลุงหยิบภาพมาผิดหรือเปล่า นี่ไม่เห็นเกี่ยวอะไรกับหุ้นเลย” ลุงพูด เห็นมีแต่รูปเด็ก รูปผู้ใหญ่ และรูปคนแก่”

“ไม่ผิดหรอก ลุงขอเริ่มการคุยของเราด้วยภาพนี้ก่อน” ลุงแมวน้ำพูด “พวกเราลองดูให้ดีๆ ภาพนี้เป็นกราฟที่แสดงการเจริญเติบโตของมนุษย์ ที่จริงก็หมายความรวมถึงสัตว์ต่างๆด้วยนั่นแหละ”

“แล้วดูยังไงฮะลุง” กระต่ายน้อยถามบ้าง

“แกนตั้งแทนการเติบโต ส่วนแกนนอนแทนอายุ” ลุงแมวน้ำพูด “สำหรับแกนตั้งนั้น อาจจะคิดง่ายๆว่าแสดงส่วนสูงของมนุษย์ก็ได้

“ดูตามลุงไปนะ ตอนเด็กๆร่างกายยังไม่สูงใช่ไหม พอโตขึ้น การเติบโตหรือว่าส่วนสูงก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนถึงวัยผู้ใหญ่ร่างกายก็โตเต็มที่ ไม่โตกว่านี้อีกแล้ว ส่วนสูงก็หยุดแค่นี้

“หลังจากที่โตเต็มที่แล้ว พออายุมากขึ้นอีก คราวนี้นอกจากไม่โตแล้วยังเสื่อมถอย นั่นคือ ร่างกายเรื่อมเสื่อมลง ส่วนสูงก็ลดลง หลังค้อม หลังโกง

“เมื่อเสื่อมมากๆเข้า ในที่สุดก็ถึงกาลสิ้นสุดอายุขัย นั่นคือฉากสุดท้ายของมนุษย์และสัตว์” ลุงแมวน้ำอธิบาย

“ที่ลุงอธิบายมา ฉันพอจะดูภาพนี้เข้าใจแล้วจ้ะลุง” ยีราฟพูดบ้าง “แต่ก็สงสัยว่าเกี่ยวกับหุ้นไร่ถั่วฝักยาวของฉันตรงไหน”

“ใจเย็นๆสิ ค่อยๆฟังลุงอธิบายก่อน” ลุงแมวน้ำพูด “ทีนี้ลุงถามพวกเราว่ายังจำรถเข็นขายกาแฟของแม่เล็กที่ประตูทางเข้าโรงละครสัตว์กันได้ไหม”

“จำได้ครับลุง แต่ว่าร้านแม่เล็กเลิกกิจการไปนานแล้วนี่” ม้าลายพูดบ้าง

“นั่นแหละ ลุงอยากให้ย้อนคิดเรื่องรถเข็นขายกาแฟแม่เล็กดูสักหน่อย จำได้ไหม ตอนที่มาขายใหม่ๆ แต่ละวันขายได้น้อยมาก หลังจากนั้นก็เริ่มมีลูกค้าติดใจในฝีมือชงกาแฟ และขายได้มากขึ้นและมากขึ้น จนในที่สุดขายดีจนชงกาแฟไม่ทัน และจากนั้นต่อมามีร้านกาแฟหรูมาเปิดแข่ง ยอดขายของร้านแม่เล็กก็ลดลง ลดลง จนขายแทบไม่ได้ในที่สุด จากนั้นจึงได้เลิกกิจการไป” ลุงแมวน้ำพูดทบทวนอดีตของร้านขายกาแฟแม่เล็ก

“ใช่แล้วลุง ร้านแม่เล็กเป็นอย่างที่ลุงว่า” สิงโตพูดบ้าง

ลุงแมวน้ำหยิบกระดาษอีกแผ่นหนึ่งออกมากาง แล้วพูดต่อ



วัฎจักรผลิตภัณฑ์และวัฎจักรกิจการเป็นรูปแบบเดียวกัน เนื่องจากผลิตภัณฑ์ก็เป็นองค์ประกอบในกิจการนั่นเอง วัฎจักรกิจการประกอบด้วยขั้นตั้งไข่หรือเริ่มต้นกิจการ (start up) ขั้นนี้ยอดขายหรือรายได้จะไม่มากเนื่องจากเริ่มต้นทำธุรกิจ ต่อมาเมื่อกิจการเป็นที่รู้จักและติดตลาด ยอดขายก็จะเติบโตอย่างรวดเร็ว เรียกว่าอยู่ในขั้นเติบโต (growth) จนยอดขายเติบโตเต็มที่ถึงขีดจำกัดที่โตต่อไปไม่ได้แล้ว ขั้นนี้เป็นขั้นอิ่มตัวหรือคงตัว (maturity) ต่อจากนั้นยอดขายก็จะชะลอตัว (decline) เนื่องจากผู้บริโภคเบื่อหน่ายจำเจกับสินค้าเดิมๆ รวมทั้งมีคู่แข่งเกิดขึ้น เมื่อยอดขายลดลงเรื่อยๆสุดท้ายก็ต้องเลิกกิจการ (obsolete)



“เอาละ เราลองมาดูภาพนี้กัน หากเราให้แกนตั้งเป็นยอดขายกาแฟ ส่วนแกนนอนเป็นเวลา กราฟแสดงยอดขายกาแฟของร้านแม่เล็กก็คงเป็นทำนองนี้ใช่ไหม” ลุงแมวน้ำพูด “ตอนต้นขายได้น้อย เมื่อเวลาผ่านไปก็ขายได้มากขึ้น จนถึงจุดอิ่มตัว จากนั้นก็โดนแย่งตลาดไปจนยอดขายลดลง และเลิกกิจการไปในที่สุด”

“ใช่จ้ะลุง น่าจะเป็นทำนองนี้ เอ๊ะ ดูคล้ายๆกับภาพการเติบโตของมนุษย์ภาพที่แล้วเลย” ลิงจ๋อตั้งข้อสังเกต

“ใช่แล้ว ในภาพชีวิตมนุษย์นั้นเราอธิบายวงจรชีวิตมนุษย์และลัตว์ต่างๆเป็นวัยเด็ก วัยรุ่น วัยผู้ใหญ่ วัยชรา และหมดอายุขัย ส่วนในภาพนี้เป็นภาพของกิจการร้านกาแฟ ซึ่งมันก็เป็นทำนองเดียวกัน นั่นคือ เริ่มต้นธุรกิจ (start up) รุ่งเรือง (growth) เต็มที่ (maturity) เสื่อมถอย (decline) และเลิกกิจการ (obsolete)” ลุงแมวน้ำพูด

“อือม์” ลิงจ๋อครางพลางยกหางเกาหัวอย่างใช้ความคิด

“เอาละ ทีนี้ลุงถามอีกคำถามหนึ่ง พวกเรายังจำวิกฤตต้มยำกุ้งกันได้ไหม” ลุงแมวน้ำถาม

“ผมเกิดไม่ทันฮะลุง” กระต่ายน้อยกระดิกหูยาว พร้อมกับส่ายก้นน่าเอ็นดู

บรรดาสมาชิกส่วนใหญ่ผ่านเหตุการณ์ต้มยำกุ้งมา คงมีแต่กระต่ายน้อยเพียงตัวเดียวที่เกิดไม่ทัน

“กระต่ายน้อยเกิดไม่ทันก็ไม่เป็นไร” ลุงแมวน้ำพูด แต่สำหรับพวกเราที่ผ่านเหตุการณ์มา คงจำกันได้ว่าในยุคก่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยค่อยๆโตมาเรื่อยๆ ถ้าลุงจะย้อนไปไกลหน่อยก็ต้องบอกว่าในช่วงปี พ.ศ. 2500 ถึง พ.ศ. 2525 เศรษฐกิจของไทยค่อยๆเติบโตอย่างช้าๆ พอมาช่วงปี 2526-2530 เศรษฐกิจไทยค่อยโตด้วยอัตราเร่งที่มากขึ้น พอปี 2530 เป็นต้นมา เศรษฐกิจไทยก็เติบโตแบบก้าวกระโดด พวกเราบางตัวอาจยังจำยุคน้าชาติมาดนักซิ่งได้ ยุคนั่นเศรษฐกิจการค้าบูมสุดๆ จนมาบูมเต็มที่เอาในปี 2537 และหลังจากนั้นปี 2540 หม้อต้มยำกุ้งก็แตกดังโพละ พวกเรานั่งเอาหางปัดยุงกันอยู่หลายปีเพราะเศรษฐกิจไม่ดี ผู้คนก็ไม่มาชมละครสัตว์ และหลังจากนั้น ตั้งแต่ปี 2545 เป็นต้นๆมา อะไรๆก็ค่อยๆดีขึ้น”

“จำได้ ยุคน้าชาตินี่พวกเรากินอิ่มหนำสำราญ พอมาถึงต้มยำกุ้งอาหารการกินของพวกเราก็เริ่มแย่ลงและแย่ลง ในที่สุดก็อดอยาก” สิงโตพูด

“หลังจากพ้นต้มยำกุ้ง พวกเราอิ่มหมีพีมันกันอยู่หลายปี พอถึงปี 2550 ก็เกิดวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ อาหารการกินของพวกเราก็เริ่มแย่ลงอีก” ม้าลายเสริมขึ้นบ้าง

ลุงแมวน้ำหยิบกระดาษอีกแผ่นออกมากาง และพูดว่า



วัฏจักรเศรษฐกิจ เป็นการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจมหภาค เริ่มจากขั้นฟื้นตัว (recovery) เศรษฐกิจจะเติบโตช้าๆ จากนั้นเศรษฐกิจจะขยายตัวและเติบโตอย่างรวดเร็ว (expansion) จนเศรษฐกิจเฟื่องฟูสุดขีด (boom) หลังจากนั้นเศรษฐกิจก็จะโตต่อไปไม่ได้และถดถอย (recession) เมื่อเศรษฐกิจถดถอยนานเข้าก็เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ (depression) หลังจากที่อยู่ในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำนานวัน เศรษฐกิจก็จะค่อยๆฟื้นตัว อนึ่ง วัฎจักรเศรษฐกิจคล้ายคลึงกับวัฏจักรกิจการ แตกต่างกันตรงที่กิจการตกต่ำจนเลิกกิจการได้ แต่เศรษฐกิจตกต่ำนั้นมักไม่ถึงขั้นสังคมล่มสลาย ส่วนใหญ่มักกลับฟื้นขึ้นมาได้ เป็นวัฎจักรที่หมุนวนไปเรื่อยดุจกลางวัน-กลางคืน



“ใช่แล้ว อาหารการกินของพวกเราในยุคต่างๆสามารถสะท้อนภาพเศรษฐกิจได้ ทีนี้ลองดูนี่สิ นี่คือแผนภาพที่แสดงวงจรทางเศรษฐกิจที่มีทั้งรุ่งเรือง คงตัว ตกต่ำ และกลับฟื้น จากนั้นก็รุ่งเรืองอีก หมุนเวียนไปเช่นนี้”

“สามภาพนี้มันรูปเดียวกันนี่ฮะลุงแมวน้ำ” กระต่ายน้อยทักท้วง “แค่ลุงเปลี่ยนเหตุการณ์เท่านั้นเอง”

“จริงด้วย นี่มันภาพเดียวกัน” ลิงพูดบ้าง

“ช่างสังเกตดีมาก ทั้งสามภาพนี้เป็นกราฟทรงเดียวกัน นั่นคือ เป็นทรงระฆังคว่ำ” ลุงแมวน้ำชมเชย “และนี่แหละคือเรื่องที่ลุงแมวน้ำกำลังจะบอก

“วัฏจักรของชีวิตนั้นหากจะแบ่งเป็นวัยต่างๆ ก็พอจะแบ่งได้เป็นวัยเด็กอันเป็นวัยตั้งต้น จากนั้นก็เป็นวัยรุ่นอันเป็นวัยที่มีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว จากนั้นก็มาสู่วัยผู้ใหญ่ที่ร่างกายโตเต็มวัยแล้ว และหลังจากนั้นก็เข้าสู่วัยชราอันเป็นวัยเสื่อม และหมดอายุขัย

“ส่วนในทางธุรกิจนั้น วัฏจักรของธุรกิจก็เช่นกัน คือช่วงแรกเป็นช่วงเริ่มต้นกิจการ ยอดขายก็ก๊อกๆแก๊กๆ ต่อมาก็เข้าสู่ยุครุ่งเรือง จากนั้นก็เป็นยุคที่กิจการโตเต็มที่แล้วและคงตัว ต่อมาก็เข้าสู่ยุคที่กิจการเสื่อมถอย และเลิกกิจการไปในที่สุด

“ส่วนในทางเศรษฐกิจนั้นเล่าก็เช่นกัน มียุคตั้งต้น (recovery) ยุครุ่งเรือง (expansion) ยุคที่รุ่งเรืองสุดขีด (boom) จากนั้นเศรษฐกิจก็เสื่อมถอย (recession) และมาจบที่ยุคตกต่ำ (depression)

“ทั้งวงจรชีวิต วงจรธุรกิจ และวงจรเศรษฐกิจ ต่างก็อธิบายได้ด้วยหลักเดียวกัน นั่นคือ หลักของอนิจจัง นั่นคือความไม่เที่ยง ไม่มีอะไรที่อยู่ค้ำฟ้า ชีวิตดำเนินไปเป็นวัฎจักร มีเด็ก วัยรุ่น ผู้ใหญ่ แก่ชรา และตาย ธุรกิจและเศรษฐกิจก็ไม่ได้แตกต่างกันเลย ดำเนินไปเป็นวัฎจักร เปรียบได้กับการเกิด โต แก่ และตาย เช่นกัน ที่ลุงใช้ภาพเดียวกันเป็นความจงใจ เพราะทั้งสามเรื่องนี้เป็นปรากฏการณ์ของความไม่เที่ยงนั่นเอง”

“สาธุ นี่เรากำลังเรียนธรรมะหรือคุยเรื่องหุ้นกันแน่เนี่ย” ลิงจ๋อแซว

“ธรรมะก็คือธรรมชาติไง ลุงกำลังบอกว่าเหล่านี้คือกฎของธรรมชาตินั่นเอง” ลุงแมวน้ำพูด “กราฟทรงระฆังคว่ำนี้คือสัจธรรม คือกฎธรรมชาติ ทรงระฆังคว่ำนี้เป็นความลับของธรรมชาติที่สำคัญพอๆกับเลขฟิโบนาชชีทีเดียว เพราะระฆังคว่ำนี้แสดงถึงความไม่เที่ยง แสดงถึงวัฏจักร และแสดงถึงจังหวะ

“ไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าใจ” บรรดาสมาชิกยกหางแกว่งไกวแสดงความงุนงงกัน ยกเว้นกระต่ายน้อยที่หางสั้น จึงส่ายทั้งก้นเลย

“เอ้า ดูรูปนี้ ดูแล้วจะถึงบางอ้อ” ลุงแมวน้ำพูดพลางปยิบรูปใบสุดท้ายออกมากางให้ดูกัน


วัฏจักรชีวิต (life cycle) วัฏจักรเศรษฐกิจ (economic cycle) วัฏจักรกิจการ (business life cycle) และวัฏจักรราคาหุ้นตามทฤษฎีคลื่นอีเลียต (Elliott wave) มีความคล้ายคลึงกัน ต่างก็มีพื้นฐานมาจากกราฟทรงระฆังคว่ำ


“อ๋อ ยังงี้นี่เอง” ลิงอุทาน “โธ่ แล้วลุงก็ไม่พูดตั้งแต่แรก วกไปวนมาจนงง”

“ยังไงกันจ๊ะนายจ๋อ” ฮิปโปถาม “เธอเข้าใจแล้วหรือ”

“นี่คือคลื่นอีเลียต (Elliott wave) ไง ผู้ที่ศึกษาการวิเคราะห์หุ้นทางเทคนิคจะต้องรู้จักคลื่นนี้ เพราะนี่คือพฤติกรรมการขึ้นลงของราคาหุ้น” ลิงพูด จากนั้นหันมาถามลุงแมวน้ำ “ลุงจะบอกว่าวัฏจักรชีวิต วัฏจักรธุรกิจ วัฏจักรเศรษฐกิจ และการเคลื่อนไหวของราคาหุ้น คือเรื่องเดียวกันทั้งหมดใช่ไหมครับ”

“ก็ทำนองนั้นแหละ” ลุงแมวน้ำตอบ “นี่คือความไม่เที่ยง มีขึ้นและลง อันเป็นกฎของธรรมชาติ ทั้งหมดนี้อยู่ในรูปแบบที่คล้ายคลึงกัน นั่นคือทรงระฆังคว่ำ และถ้าหากเรารู้ว่าเราอยู่ที่ส่วนไหนของวัฏจักร เราย่อมคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นข้างหน้าได้”

“เหมือนกับที่เรารู้ว่าเราอยู่ในคลื่นอีเลียตลูกใด เราก็รู้ว่าเหตุการณ์ข้างหน้าราคาหุ้นจะเป็นอย่างไร ชิมิ ชิมิ” ลิงจ๋อพูดอย่างกระหยิ่มยิ้มย่อง

“โดยทฤษฎีก็น่าจะเป็นอย่างนั้น” ลุงแมวน้ำตอบ “ทรงระฆังคว่ำนี้มีความสำคัญ และเป็นพื้นฐานของความเข้าใจในอีกหลายๆเรื่อง นั่นคือ ความเข้าใจในปัจจัยมหภาคหรือปัจจัยทางเศรษฐกิจ ความเข้าใจในตัวกิจการของหุ้นนั้น และความเข้าใจในพฤติกรรมราคาหุ้นนั้น การลงทุนในหุ้นประเภทต่างๆ เช่น growth stock, cash cow stock, cyclical stock และ turnaround stock ล้วนแต่อาศัยความรู้ความเข้าใจในเรื่องวัฎจักร

“ที่ลุงคุยมาในวันนี้ พวกเราอาจมองว่าไม่ออกว่าจะเกี่ยวโยงกับเรื่องหุ้นได้อย่างไร แต่นี่รูปทรงพื้นฐาน แม้แต่คลื่นอีเลียตก็ยังอิงกับรูปทรงนี้ ซึ่งเมื่อเราคุยกันต่อไป ลุงก็จะอ้างอิงถึงรูปทรงนี้อีก ตอนนี้ยังงงๆก็ไม่เป็นไร ฟังไปเรื่อยๆก็จะค่อยๆเข้าใจ”

Monday, September 8, 2014

08/09/2014 บาทแข็ง แนวโน้มตลาดหุ้นขึ้นต่อ CSI300, KTB, SCB, KBANK, BBL, TMB, BANPU, DTAC



เมื่อตอนเช้ามืด ราวๆตี 4 ลุงแมวน้ำตื่นขึ้นมาเพราะท้องร้อง >.< ก็เลยแวะดูค่าเงินบาทเสียหน่อย กินขนมไปดูค่าเงินบาทไป ปรากฏว่าเงินบาทแข็งค่าอย่างรวดเร็ว ดูท่าตลาดหุ้นไทยคงขึ้นต่อไปอีก ดังนั้นวันนี้ลุงแมวน้ำจึงอัปเดตตลาดอีกสักรอบดีกว่า


ลุงแมวน้ำจับภาพความเคลื่อนไหวของเงินบาทมาให้ดู ดูกราฟกันเลย






ค่าเงินบาทตั้งแต่ปลายสัปดาห์ที่แล้วจะเห็นว่าค่อยๆแข็งค่า (กราฟลงแปลว่าแข็งค่า) จาก 32.15 บาท/ดอลลาร์ สรอ แข็งค่ามาเรื่อยๆ จนมาถึงเมื่อเช้า เงินบาทแข็งค่าจนถึง 31.96 บาท/ดอลลาร์ สรอ ทั้งๆทั้งที่ดัชนีดอลลาร์ สรอ (usd index ไม่ได้เอากราฟมาให้ดู) แข็งค่าอยู่ โดยหลักการแล้วเงินบาทน่าจะอ่อนค่า แต่นี่เงินบาทแข็งค่า ทำให้สงสัยว่ามีกระแสเงินไหลเข้ามา


ทีนี้มาดูภาพนี้กัน เป็นมูลค่าการซื้อขายของนักลงทุนต่างชาติเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา




จะเห็นว่าสัดส่วนการซื้อขายของนักลงทุนต่างชาติเพิ่มขึ้น จากเมื่อสัปดาห์ก่อนอยู่ที่ราวๆ 15%-16% จนถึงวันศุกร์สัดส่วนการซื้อของต่างชาติเพิ่มขึ้น กลายเป็น 20%

ที่ลุงแมวน้ำยกมานี้เป็นสัญญาณเบื้องต้นที่บ่งชี้ว่าเงินต่างชาติอาจกำลังเข้ามาในตลาดหุ้นอีกรอบหนึ่ง

ทีนี้หากต่างชาติเข้ามาจะซื้อหุ้นกลุ่มไหนล่ะ

กลุ่มพลังงาน โอกาสน้อย เพราะว่าราคาน้ำมันดิบตลาดโลกยังร่วงอยู่ ประกอบกับนโยภายภาครัฐเรื่องการปฏิรูปพลังงานยังไม่ชัดเจน ต่างชาติอาจยังรีรอไปก่อน

กลุ่มธนาคาร เป็นไปได้เลย เพราะภาคการเงินเป็นหุ้นกลุ่มที่ต่างชาติซื้ออยู่แล้ว ตอนนี้กลุ่มธนาคารใหญ่ค่าพีอียังไม่สูงด้วย

กลุ่มสื่อสาร ตอนนี้นโยบายภาครัฐก็บังไม่ชัดเจน ต่างชาติอาจยังไม่เข้าลงทุน

ดูไปแล้วกลุ่มธนาคารมีภาษีมากกว่า ทีนี้มาดูกราฟรายธนาคารกัน









จะเห็นว่าธนาคารใหญ่ BBL, KBANK, SCB, KTB, TMB กราฟทางเทคนิคเป็นแนวโน้มขาขึ้นทั้งหมด ในทางเทคนิคยังไปต่อได้

ทำไมตลาดหุ้นไทยมี P/E ratio สูงแล้ว จึงยังขึ้นได้อีก ลุงแมวน้ำเขียนบทความไว้ ลองแวะไปอ่านดูได้


เฟดลดคิวอี เตรียมขึ้นอัตราดอกเบี้ย ทำไมตลาดหุ้นจึงขึ้น (1)

เฟดลดคิวอี เตรียมขึ้นอัตราดอกเบี้ย ทำไมตลาดหุ้นจึงขึ้น (2)

เฟดลดคิวอี เตรียมขึ้นอัตราดอกเบี้ย ทำไมตลาดหุ้นจึงขึ้น (3)


นอกจากนี้ วันนี้ลุงแมวน้ำยังมีกราฟปลีกย่อยมาอัปเดตอีกนิดหน่อย มาดูกันเลย




ดัชนี CSI 300 ของตลาดหุ้นจีน ตลาดหุ้นจีนน่าจะกลับทิศเป็นขาขึ้นแล้ว ตลาดหุ้นจีนน่าลงทุนทีเดียว เพราะเป็นตลาดที่เพิ่งฟื้นตัว เหมือนกับตอนที่ไทยเพิ่งเพิ่งผ่านต้มยำกุ้งมา ยังมีโอกาสให้ลงทุนได้อีกมาก การลงทุนในตลาดหุ้นจีนทำได้ไม่ยาก กองทุนรวมหุ้นจีนมีมากมาย เลือกเอาหน่อยก็แล้วกัน เพราะว่าผลงานแตกต่างกันค่อนข้างหลากหลาย หรือจะเอาง่ายๆก็ซื้ออีทีเอฟ CHINA ก็ได้ ซึ่งซื้อขายในกระดานเหมือนกับหุ้นตัวหนึ่ง

กลุ่มเรือ ทั้งเรือเทกองและเรือตู้จะได้อานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ลุงแมวน้ำอัปเดตเรือหลายครั้งแล้ว วันนี้ขอเว้นไปก่อน 




ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกยังเป็นขาลง ราคาถ่านหินก็ยังไม่ค่อยไปไหน คือยังไม่เห็นการฟื้นตัว แต่หุ้น BANPU ทางเทคนิคเป็นขาขึ้นแล้ว โดยเฉพาะในช่วงสัปดาห์ที่แล้วเกิดแท่งเทียนขาวใหญ่ด้วย ปัจจัยมหภาคยังไม่เอื้อ แต่ที่ขึ้นอาจเป็นการลุ้นคำพิพากษาคดีที่หงสา เพราะว่าใกล้ตัดสินแล้ว





 DTAC หลุดกรอบชายธงลงมาข้างล่าง เป็นอาการที่ไม่ค่อยดี ระวังลงต่อนะคร้าบ

Wednesday, September 3, 2014

03/09/2014 เฟดลดคิวอี เตรียมขึ้นอัตราดอกเบี้ย ทำไมตลาดหุ้นจึงขึ้น (3)




“เอ เดี๋ยวก่อนนะลุง” ยีราฟโน้มคอลงมาพูดหลังจากที่ดูกราฟอย่างพินิจพิเคราะห์ “ฉันสังเกตว่าปริมาณทุนสำรองส่วนเกินกลับเพิ่มพรวดพราดขึ้นมาอีกเร็วๆนี้นะ”

“แหม แม่ยีราฟ คอยาวขนาดนี้ยังอุตส่าห์เห็นอีกนะ” ลิงแซว

“ที่แม่ยีราฟพูดก็ถูก เอ้า ลองดูกราฟให้ละเอียดสิ” ลุงแมวน้ำพูดพลางขยับกราฟให้ดูกันชัดๆ “เห็นไหมว่าปริมาณทุนสำรองส่วนเกินเพิ่มขึ้นโดยตลอด และตั้งแต่เดือนเมษายน 2014 เป็นต้นมา ทุนสำรองนี้กลับมีแนวโน้มลดลง พอมาถึงเดือนกรกฎาคมกลับเพิ่มขึ้นมาอีก”


ทุนสำรองส่วนเกินที่เฟด หลังจากที่ค่อยๆลดต่ำลง จู่ในเดือนกรกฎาคมก็กลับสูงขึ้นมาอีก ซึ่งน่าจะเป็นเพราะเหตุการณ์ความไม่สงบในยูเครน




“จริงด้วยฮะ” กระต่ายน้อยพูดขึ้นบ้าง พลางกระดิกหูยาวโตไปมา

“ในความเห็นของลุง ที่จริงแล้วปริมาณทุนสำรองส่วนเกินน่าจะค่อยๆลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่มามีเหตุการณ์พิเศษ นั่นคือ กรณีพิพาทยูเครน รัสเซีย ซึ่งลุกลามไปถึงขั้นที่โลกตะวันตกคือสหรัฐอเมริกาและยุโรปคว่ำบาตรรัสเซีย ลุงคาดว่าทุนสำรองส่วนเกินที่กลับเพิ่มขึ้นมาเนื่องจากธนาคารต่างๆถือเงินสดเอาไว้ก่อนเพื่อรอดูสถานการณ์ด้านยูเครน รัสเซีย” ลุงแมวน้ำตอบ

“แล้วลุงแมวน้ำมองแนวโน้มตลาดหุ้นว่าจะเป็นอย่างไรต่อไปครับ” ลิงถาม



ทุนสำรองส่วนเกิน (Excess Reserves) QE 4 จำแลง


“ลุงแมวน้ำมีสมมติฐานว่าเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาค่อยๆฟื้นตัวได้จริง และกรณีพิพาทยูเครน รัสเซีย จำกัดวงอยู่ ไม่ได้บานปลายกลายเป็นสงครามใหญ่ ถ้าเป็นอย่างนั้นลุงคาดว่าทุนสำรองส่วนเกินนี้จะไหลออกมาหากำไร ลองดูภาพนี้” ลุงแมวน้ำพูดพลางหยิบกราฟอีกแผ่นหนึ่งออกมากาง


แผนภาพแสดงการไหลออกของเงินทุนสำรองส่วนเกินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหลังสิ้นสุด QE3


“ภาพนี้เป็นแนวคิดเกี่ยวกับปริมาณทุนสำรองส่วนเกิน ว่าเมื่อสิ้นสุดโครงการ QE3 แล้วทุนสำรองส่วนเกินนี้จะไหลออกมาจากเฟดและเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ” ลุงแมวน้ำพูด “และที่ลุงเคยพูดเอาไว้ว่าลุงเบนเตรียมกระสุนเอาไว้ให้ป้าเจนใช้อีกหนึ่งโกดัง กระสุนที่ว่าก็คือทุนสำรองส่วนเกินที่ลุงเบนสะสมเอาไว้ที่เฟดนั่นเอง”

“ฟังดูแล้ว ทุนสำรองส่วนเกินก้อนนี้คล้ายกับเป็นกระสุนอัดฉีดระบบเศรษฐกิจอีกนะครับลุง” ลิงจ๋อสงสัย

“ก็นั่นน่ะสิ ในความคิดของลุง มันก็เป็น QE4 จำแลงมานั่นเอง เพียงแต่ไม่ได้เรียกว่า QE4 เท่านั้นเอง เนื่องจากกลไกการใช้งานทุนสำรองส่วนเกินนี้แตกต่างจาก QE3 แต่โดยเนื้อหาก็คือยังมีเงินค่อยๆอัดฉีดเข้ามาในระบบเศรษฐกิจอยู่” ลุงแมวน้ำตอบ

“ถ้าอย่างนั้นตลาดหุ้นก็ขึ้นกันยกใหญ่อีกใช่ไหมจ๊ะ” ยีราฟถามบ้าง

“โดยหลักการแล้วมันก็น่าจะเป็นยังงั้น” ลุงแมวน้ำตอบ “แต่ทุนสำรองส่วนเกินนี้เป็นเหมือนระเบิด เพราะว่าหากควบคุมการไหลไม่ได้ เกิดว่าไหลพรวดพราดเข้ามาในระบบเศรษฐกิจ ก็จะทำให้เงินเฟ้อใหญ่ ตลาดหุ้นขึ้นเป็นพลุ เกิดเป็นภาวะฟองสบู่ สุดท้ายก็จะเกิดหายนะทางเศรษฐกิจอีกรอบหนึ่ง”

“อ้าว ไหงยังงั้นละฮะ” กระต่ายน้อยถามบ้าง

“ทุนสำรองส่วนเกินที่เก็บสะสมมาตั้งแต่ยุคลุงเบนนั้นมีปริมาณมหาศาล ก็ขนาดจำนวนเงินที่ทำ QE3 ทั้งโครงการยังประมาณ 1 ล้านล้านดอลลาร์ สรอ นี่คิดเป็นตัวเลขกลมๆง่ายๆนะ แต่ทุนสำรองส่วนเกินตอนนี้มีอยู่ถึง 2.7 ล้านล้านดอลลาร์ สรอ นั่นคือป้าเจนมีกระสุนอีก 3 เท่าของโครงการ QE3 ทีเดียว เยอะไหมล่ะ” ลุงแมวน้ำตอบ

“แล้วจะมีโอกาสเกิดหายนะทางเศรษฐกิจอีกไหมฮะ” กระต่ายน้อยถามอีก

“ลุงคิดว่าในระยะปีถึงสองปีนี้เรายังไม่ต้องกังวลไปถึงขนาดนั้น เพราะว่าเท่าที่ดูท่าทีของป้าเจนและเฟดในช่วงที่ผ่านมา พบว่าเฟดเองก็เตรียมใช้อัตราดอกเบี้ยทุนสำรองส่วนเกิน หรือ IOER นี้เป็นเครื่องมือทางการเงินที่สำคัญอย่างหนึ่งในการควบคุมทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบาย” ลุงแมวน้ำพูด

“ยังไงกันลุง ฟังลุงพูดแล้วไม่เข้าใจเลย” ลิงจ๋องง

“ตอนนี้อเมริกาใช้อัตราดอกเบี้ยนโยบายหรือที่เรียกว่าอัตราดอกเบี้ยเฟด (FED fund rate) ต่ำมาอย่างยาวนาน หากเศรษฐกิจค่อยๆดีขึ้นแล้วจำเป็นจะต้องค่อยๆขยับอัตราดอกเบี้ยนี้ขึ้นเพื่อไม่ให้เกิดเงินเฟ้อรุนแรงและภาวะฟองสบู่ แต่เครื่องมืออัตราดอกเบี้ยเฟดเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอหรืออาจได้ผลไม่ดีนักในการควบคุมอัตราดอกเบี้ยตลาด การเอาอัตราดอกเบี้ยทุนสำรองส่วนเกิน (IOER) มาใช้ร่วมด้วยจะช่วยให้การควบคุมอัตราดอกเบี้ยตลาดทำได้ดีขึ้น เปรียบเทียบง่ายๆก็คือ FED fund rate คืออัตราดอกเบี้ยเงินกู้อ้างอิง ส่วน IOER คืออัตราดอกเบี้ยเงินฝากอ้างอิง

“หากเฟดขึ้นอัตราดอกเบี้ย IOER ให้สูงขึ้น ธนาคารก็จะไม่ยอมปล่อยกู้แก่ใครในอัตราดอกเบี้ยถูกๆ เพราะหากปล่อยกู้ถูกๆ สู้เอาเงินไปฝากที่เฟดดีกว่า ไม่เสี่ยงด้วย แต่ในทางตรงกันข้าม หากเฟดต้องการเสริมสภาพคล่อง ก็ลด IOER ลง เป็นการไล่เงินทุนสำรองส่วนเกินนี้ออกมาจากเฟดให้เข้าไปในระบบเศรษฐกิจ

“แต่ในภาพใหญ่ หากเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาฟื้นตัวจริง กิจกรรมทางเศรษฐกิจจะมากขึ้น ความต้องการใช้เงินจะมากขึ้น อัตราดอกเบี้ยในท้องตลาดจะค่อยๆขยับขึ้น เงินทุนสำรองส่วนเกินจะไหลออกมาหากำไรในระบบเศรษฐกิจเองนั่นแหละ” ลุงแมวน้ำอธิบาย “ป้าเจนก็คงใช้กลไกอัตราดอกเบี้ย IOER เพื่อควบคุมอัตราการไหลของเงิน ไม่ให้มากเกินไป หรือน้อยเกินไป

“และนอกจากนี้ ยังมีอีกสองประเด็น นั่นคือ ญี่ปุ่นกับยุโรป ญี่ปุ่นนั้นในปัจจุบันก็กำลังอัดฉีดสภาพคล่องเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอยู่ นั่นคือ ญี่ปุ่นกำลังทำคิวอีอยู่ เงินทุนที่เป็นสกุลเงินเยนต้นทุนการเงินต่ำมากๆกำหลังไหลออกไปทำกำไรยังตลาดต่างๆในโลก

“ส่วนทางยูโรโซนนั้น เศรษฐกิจยังยอบแยบอยู่ ทางยูโรโซนนั้นปัญหาซับซ้อนทีเดียว เพราะว่าประกอบด้วยหลายประเทศ สภาพเศรษฐกิจต่างๆกัน เท่าที่ลุงติดตามดู ประเทศที่ฟื้นได้จริงก็คือเยอรมนี ส่วนประเทศอื่นๆ เช่น สเปน อิตาลี กรีซ เท่าที่ลุงลองสุ่มดูงบการเงินของหุ้นในตลาดประเทศเหล่านี้ พบว่าผลประกอบการแย่ลง ดัชนีตลาดหุ้นประเทศเหล่านี้เป็นตัวสะท้อนที่ดี ตอนนี้กำลังเป็นขาลงอยู่ ดังนั้น เป็นไปได้ว่าลุงมาริโอ ประธานธนาคารกลางของยุโรป (ECB)  กำลังคิดหาทางทำคิวอีอยู่เช่นกัน ซึ่งน่าจะรู้กันในเร็วๆนี้ หากยูโรโซนทำคิวอีด้วย คราวนี้ก็ไปกันใหญ่ เงินทุนที่ต้นทุนถูกๆจากยุโรปก็จะออกมาอาละวาดหากำไรในต่างประเทศด้วย

“ดังนั้น ตลาดทุนในโลกยังมีความเสี่ยงจากการเก็งกำไรของเงินร้อนต้นทุนถูกเหล่านี้อยู่” ลุงแมวน้ำสรุป

“แล้วเงินร้อนพวกนี้จะไปเก็งกำไรที่ไหนบ้างละลุง” ลิงจ๋อถาม

“แล้วลุงจะรู้ไหมเนี่ย ลุงไม่ได้เป็นเจ้าของเงินร้อนพวกนี้สักหน่อย” ลุงแมวน้ำพูด แต่แล้วก็หยิบกราฟออกมากางอีก “ลองดูสองภาพนี้อีกทีสิ”


ตลาดหุ้นในย่านเอเชียมีแนวโน้มขึ้นต่อเนื่องจากเงิน QE4 จำแลง และจากเงินคิวอีของญี่ปุ่น และต่อไปอาจมีเงินคิวอีจากยุโรปด้วย



“หากให้ลุงเดา ลุงว่าเป้าหมายคือตลาดเกิดใหม่นั่นแหละ ทั้งเอเชีย และอเมริกาใต้ ลองดูกราฟดัชนีตลาดหุ้นในเอเชียนี้สิ เป็นขาขึ้นทั้งนั้นเลย ที่เป็นเช่นนี้เพราะว่าอัตราการเติบโตของประเทศในเอเชีย โดยเฉพาะแถบเอเชียตะวันออก คือจีน เกาหลี ไต้หวัน ตลอดจนอาเซียน อยู่ในขั้นดีทีเดียว เป็นเด็กที่กำลังโต ต้องกินต้องใช้”

จากนั้นลุงแมวน้ำก็กางตารางออกมาอีกภาพหนึ่ง


ตลาดพันธบัตรและหุ้นกู้ของตลาดเกิดใหม่ก็เป็นอีกแหล่งหนึ่งของเงินร้อนต้นทุนถูกจากสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และยุโรปเข้ามาหากำไร เนื่องจากให้อัตราดอกเบี้ยสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรของตลาดที่พัฒนาแล้วพอควร


“นี่เป็นภาพเดิมที่ลุงเคยให้ดูไปแล้ว สังเกตอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลไหม พันธบัตรบราซิลให้ 11% กว่าๆ อินเดีย อินโดนีเซีย ให้ 8% กว่าๆ ส่วนฟิลิปปินส์ ไทย มาเลเซีย เกาหลี เม็กซิโก ให้ในระดับ 3-5% จะเห็นว่าประเทศเหล่านี้ให้อัตราดอกเบี้ยสูงพอควร เงินต้นทุนถูกๆจากอเมริกา ญี่ปุ่น และต่อไปอาจรวมยุโรปด้วย ก็คงอยากมาเก็งกำไรหรอก เพราะว่าได้ส่วนต่างพอสมควรทีเดียว อีกทั้งยังทำกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนได้ด้วย



ทฤษฎี Excess Reserves Drain อธิบายได้


“จากที่ลุงเล่ามา จะเห็นว่าทฤษฎีกระแสหลักคือ The Great Rotation กับเงิน dollar carry trade ไหลกลับคืนสู่สหรัฐอเมริกา อธิบายไม่ได้ว่าทำไมหลังจากที่ป้าเจนลด QE3 ตั้งแต่ต้นปี 2014 แล้วตลาดพันธบัตรยังมีแรงซื้ออยู่ และทำไมตลาดหุ้นเกิดใหม่ยังขึ้นต่อได้  แต่ถ้าใช้ทฤษฎี excess reserves drain หรือ QE4 จำแลง ที่ว่ามานี้ก็พอจะอธิบายได้อย่างสอดคล้องว่าเป็นเพราะอะไร

“และด้วยทฤษฎี QE4 จำแลงนี้ ลุงแมวน้ำคาดว่าตลาดหุ้นในปี 2014 กับ 2015 ยังเป็นปีของการเก็งกำไรกันอย่างร้อนแรง ด้านอเมริกานั้นตลาดหุ้นน่าจะขึ้นต่อได้จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจริง ส่วนยูโรโซนนั้นตลาดหุ้นคงต้องดูเป็นรายประเทศ บางประเทศจะขึ้นได้เพราะความคาดหวังว่าจะฟื้น เช่น เยอรมนี แต่บนเงื่อนไขที่ว่ายุโรปเลิกบาตรรัสเซียเร็วๆนี้ หากยังคว่ำบาตรยาวนาน ลุงว่าเศรษฐกิจยุโรปจะเสียหาย ตลาดหุ้นอาจจะลงเสียมากกว่า

ส่วนตลาดย่านเอเชียนั้นคงขึ้นต่อไป ด้วยอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจจริงที่ดีกว่าฝั่งตะวันตกผสมกับเงินร้อนต้นทุนถูกจากอเมริกา ญี่ปุ่น และอาจมียุโรปด้วย ไหลเข้ามาเก็งกำไร” 

“ด้านตลาดพันธบัตร ทั้งของสหรัฐอเมริกาและตลาดเกิดใหม่ น่าจะยังมีแรงซื้ออยู่ ไม่ได้ถูกทิ้งถล่มทลาย อัตราผลตอบแทนหรือบอนด์ยีลด์ (bond yield) ของตลาดพันธบัตรอเมริกาน่าจะค่อยๆปรับขึ้นอย่างช้าๆ ไม่หวือหวาจนกระชากตลาดหุ้น นักลงทุนน่าจะหันไปลงทุนในตราสารระยะสั้นมากกว่าระยะยาว เพื่อรอดูการปรับตัวของอัตราดอกเบี้ยสู่ขาขึ้น” ลุงแมวน้ำสรุป

“แล้วตลาดหุ้นไทยละจ๊ะลุง” แม่ยีราฟถาม

“ตลาดหุ้นไทยน่าจะขึ้นต่อได้ แต่ด้วยเหตุปัจจัยที่แตกต่างออกไป เราอาจขึ้นต่อได้เพราะว่าความคาดหวัง เนื่องจากปีที่แล้วกับปีนี้เศรษฐกิจเรายังไม่ค่อยดีนัก แต่เราก็คาดหวังว่าปีหน้า 2015 เศรษฐกิจเราจะดีขึ้น” ลุงแมวน้ำพูด “ด้านเงินจากต่างชาติ ตอนนี้ยังไม่เห็นเงินต่างชาติยังไม่เข้ามาในตลาดหุ้นไทยเท่าไรนัก มีแค่นิดๆหน่อยๆ ตลาดหุ้นที่ขึ้นทุกวันนี้เป็นกองทุนกับรายย่อยช่วยกันทำตลาดเอง ไทยช่วยไทยกันเองว่ายังงั้นเถอะ ตลาดหุ้นไทยต่อไปข้างหน้าจะมีเงินต่างชาติไหลเข้ามามากน้อยเพียงใดยังบอกยาก แต่ถึงแม้ไม่ค่อยมี ก็ดูเหมือนว่าตลาดหุ้นไทยก็ยังพอไปได้อยู่ เซ็กเตอร์ใหญ่ๆ เช่น พลังงาน ปิโตรเคมี ธนาคาร สื่อสาร ส่งออก พวกนี้ยังไม่ค่อยขึ้น หากกองทุนเข้าซื้อกลุ่มเหล่านี้ก็สามารถพาดัชนีไปได้อีกช่วงหนึ่ง”

“ถ้าเป็นไปอย่างลุงว่าก็แจ่มเลย ที่ลงทุนระยะยาวอยู่จะได้หลุดสักที” ลิงจ๋อพูด

“แต่ก็ต้องระวังเอาไว้ ลุงว่าต้องระวังตัวแจทีเดียว เพราะสถานการณ์โลก หรือว่าปัจจัยมหภาค ถือว่าไม่ค่อยปกตินัก อะไรก็อาจเกิดขึ้นได้ ดังนั้นต้องเลือกลงทุน ต้องไม่โลภ และไม่ประมาท” ลุงแมวน้ำเตือนในที่สุด

“ลุงวิเคราะห์สถานการณ์ให้ละเอียดกว่านี้อีกหน่อยได้ไหม” ลิงจ๋อถาม

“วันนี้เราพอแค่นี้ก่อนดีกว่า ลุงเมื่อยแล้ว” ลุงแมวน้ำพูด “วันนี้เราคุยกันในภาพใหญ่ ว่าหลังจากอเมริกาเลิกคิวอีแล้วน่าจะเป็นอย่างไรต่อไป แต่ในภาพที่ละเอียดขึ้น เราค่อยมาคุยกันต่ออีกทีในโอกาสต่อไป”