Friday, September 19, 2014

19/09/2014 วัฏจักรชีวิต วัฏจักรเศรษฐกิจ วัฏจักรกิจการ และวัฎจักรราคาหุ้น (2)





“ลุงแมวน้ำ ผมมีคำถาม” ลิงจ๋อชูหางสูงแทนการยกมือ

“เอ้า ว่ามา” ลุงแมวน้ำพูด

“รูปที่ลุงเอามาให้ดูน่ะ เป็นทรงโค้งสวยงามทุกภาพ แต่ในชีวิตจริง ทุกอย่างไม่ได้เป็นทรงเป๊ะเว่อแบบนั้น” ลิงทักท้วง

“มันก็ใช่ ทุกอย่างไม่ได้เป๊ะเว่อ สวยแบบในภาพ” ลุงแมวน้ำใช้ศัพท์วัยรุ่นบ้าง “แล้วนายจ๋อจะบอกอะไรล่ะ”

“ดูอย่างในกราฟคลื่นอีเลียตสิลุง ในชีวิตจริงมันไม่ได้ขึ้น 5 ลง 3 อย่างสวยงาม แต่มันหักเห เฉไฉ จนนับคลื่นไม่ถูก ที่ผมจะถามลุงก็คือ โดยทฤษฎีอย่างที่ลุงว่า หากเรารู้ว่าเราอยู่ตรงไหนในคลื่น เราก็คาดการณ์เหตุการณ์ข้างหน้าได้ แต่นั่นคือทฤษฎี ในชีวิตจริงหากเรานับคลื่นไม่ถูก เราก็ไม่รู้ว่าเราอยู่ตรงไหน และก็จะคาดการณ์ข้างหน้าไม่ได้” ลิงพูด “ผมนับคลื่นไม่ถูกอยู่บ่อยๆ”

“นายจ๋อพูดมีเหตุผล และเป็นคำถามที่ดี แต่เรื่องนี้ไม่ใช่ตอบกันได้สั้นๆ ลุงว่าเราคุยกันไปเรื่อยๆก่อน แล้วประเด็นที่นายจ๋อถามเราจะเรียนรู้กันไปเรื่อยๆ อาจไม่ได้ตอบจนหมดในทีเดียว” ลุงแมวน้ำตอบ

ลุงแมวน้ำหยิบภาพออกมาจากหูกระต่ายอีกภาพหนึ่ง แล้วพูดว่า


โค้งของกราฟทรงระฆังคว่ำสามารถแปรปรวนเป็นรูปทรงต่างๆได้หลากหลาย



“รูปที่เราดู เท่าที่ผ่านมา ที่ลุงบอกว่าเป็นทรงโค้งระฆังคว่ำนั้นการแสดงตัวแบบ (model) หรือว่าเป็นกราฟในเชิงอุดมคติ แต่ในความเป็นจริง ลีลาของเส้นกราฟมีความหลากหลายได้มากมาย ลองดูในภาพนี้สิ นี่เป็นเป็นส่วนหนึ่งของความหลากหลายหรือความแปรปรวนที่อาจเกิดขึ้นได้ มีทั้งระฆังสูง ระฆังเตี้ย ระฆังเบ้ซ้าย เบ้ขวา ยอดระฆังแหลมเป็นหมวก ยอดระฆังแบนเป็นภูกระดึง ฯลฯ มีหมดนั่นแหละ

“นี่ตอบคำถามนายจ๋อไปได้ข้อหนึ่งแล้วนะว่ารูปทรงระฆังคว่ำสวยๆนั้นในโลกของความจริงแล้วแปรปรวนได้หลากหลาย ส่วนคำถามอื่นๆ จะจะค่อยๆทยอยตอบต่อไป”



วัฏจักรเศรษฐกิจ จากระฆังกลายเป็นคลื่น


“เอาละ ตอนนี้เราจะมาคุยกันเรื่องวัฏจักรเศรษฐกิจเพิ่มเติมกันสักหน่อย ลุงเอาภาพนี้ให้ดูทบทวนกันก่อน เผื่อว่าจะลืม”

ลุงแมวน้ำพูดพลางหยิบกราฟวัฏจักรเศรษฐกิจที่แสดงให้ดูไปแล้วมาให้ดูกันอีก จากนั้นจึงพูดต่อไปว่า



วัฏจักรเศรษฐกิจ เป็นการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจมหภาค เริ่มจากขั้นฟื้นตัว (recovery) เศรษฐกิจจะเติบโตช้าๆ จากนั้นเศรษฐกิจจะขยายตัวและเติบโตอย่างรวดเร็ว (expansion) จนเศรษฐกิจเฟื่องฟูสุดขีด (boom) หลังจากนั้นเศรษฐกิจก็จะโตต่อไปไม่ได้และถดถอย (recession) เมื่อเศรษฐกิจถดถอยนานเข้าก็เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ (depression) หลังจากที่อยู่ในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำนานวัน เศรษฐกิจก็จะค่อยๆฟื้นตัว อนึ่ง วัฎจักรเศรษฐกิจคล้ายคลึงกับวัฏจักรกิจการ แตกต่างกันตรงที่กิจการตกต่ำจนเลิกกิจการได้ แต่เศรษฐกิจตกต่ำนั้นมักไม่ถึงขั้นสังคมล่มสลาย ส่วนใหญ่มักกลับฟื้นขึ้นมาได้ เป็นวัฎจักรที่หมุนวนไปเรื่อยดุจกลางวัน-กลางคืน



“เศรษฐกิจนี้เป็นปัจจัยมหภาค มีความหมายในเชิงกว้างหลายระดับ เช่น อาจหมายถึงเศรษฐกิจโลกซึ่งเป็นเชิงกว้างที่สุด หรืออาจหมายถึงเศรษฐกิจของประเทศใดประเทศหนึ่งซึ่งเป็นความหมายในเชิงแคบลงมา หรืออาจหมายถึงเศรษฐกิจในท้องถิ่นก็ได้ซึ่งก็แคบลงมาอีก แต่ที่ลุงจะคุยให้ฟังนั้นลุงเน้นที่เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจระดับประเทศ

“สุดปลายด้านขวาของกราฟคือปลายทาง หากเป็นชีวิตคน เมื่อกราฟดำเนินไปจนสุดปลายด้านขวาก็หมายถึงหมดสิ้นอายุขัย หรือหากเป็นกิจการก็หมายถึงกิจการสิ้นสุดหรือว่าเลิกไป

“แต่หากเป็นเศรษฐกิจประเทศ โดยทั่วไปแล้วเศรษฐกิจไม่มีทางแย่จนประเทศเจ๊งหรือดับสูญไป นี่เราพูดถึงเฉพาะสมัยนี้นะ”

“หมายความว่ายังไงฮะลุง ที่ว่าเฉพาะสมัยนี้” กระต่ายน้อยสงสัย ไม่สงสัยเปล่า หยิบแครอตออกมาแทะอีกด้วย “ขอแทะแครอตหน่อยนะฮะ ผมหิวบ่อย”

“คือหากเป็นในสมัยโบราณ ดินแดนแว่นแคว้นต่างๆมีโอกาสเจ๊งได้ ยกตัวอย่างอาณาจักรโรมันที่เศรษฐกิจ การเมือง การปกครอง อ่อนแอ จนท้ายที่สุดก็ต้องสิ้นสุดอาณาจักรเนื่องจากถูกชนเผ่าอื่นมายึดไป หรือกรณีอียิปต์โบราณก็เช่นกัน ในปลายยุค ผู้ปกครองอ่อนแอ ทำให้เศรษฐกิจอ่อนแอ ประชาชนอดอยาก แถมยังมีความไม่สงบภายใน แย่งชิงอำนาจกัน สุดท้ายก็ต้องสิ้นสุดอาณาจักรโดยถูกชนชาติอื่นยึดครอง”

ลุงแมวน้ำกางภาพออกมาอีกแผ่นหนึ่ง


 
วัฎจักรของเศรษฐกิจในระดับประเทศ ในปัจจุบันมักไม่ได้มีเพียงวัฎจักรเดียว (เกิดขึ้นและจบเพียงรอบเดียว) แต่เกิดเป็นหลายวัฏจักรต่อเนื่องกันเหมือนคลื่น



“แต่มาในยุคปัจจุบัน ประเทศที่เศรษฐกิจแย่จนสิ้นประเทศนั้นไม่มีหรอก เพราะโลกกลัววิกฤตเศรษฐกิจลามแบบโดมิโน ดังนั้นหากประเทศใดเศรษฐกิจย่ำแย่ก็มักถูกอุ้มถูกช่วยจนรอดพ้นวิกฤตเศรษฐกิจไปได้ ดังนั้นรูปแบบเศรษฐกิจของประเทศที่จะเป็นแบบระฆังคว่ำใบเดียวนั้นไม่มี แต่จะเป็นระฆังคว่ำที่ต่อเนื่องกันมากกว่า ลองดูรูปนี้สิ นี่คือรูปแบบของเศรษฐกิจในปัจจุบัน นั่นคือ ฟุบแล้วฟื้น ฟื้นแล้วก็ฟุบลงไปใหม่ ขึ้นแล้วลง ลงแล้วขึ้น หมุนเวียนไปเรื่อยๆ”

“จากทรงระฆังคว่ำกลายเป็นคลื่นในทะเลไปแล้ว” ฮิปโปพูดบ้าง

“ใช่แล้ว ทรงระฆังกลายเป็นทรงคลื่น และกราฟทรงคลื่นนี้ก็เป็นความลับของธรรมชาติอีกเรื่องหนึ่ง” ลุงแมวน้ำพูด “แต่อย่าเพิ่งถามลุงเลยว่าความลับข้อนี้คืออะไร ลุงขอยกไปเล่าในวันอื่น สำหรับในวันนี้ขอคุยเรื่องคลื่นเศรษฐกิจก่อน”

“ความลับแยะจริงนะฮะลุง” กระต่ายน้อยหัวเราะร่า “ผมชอบ ผมชอบ ตื่นเต้นดี เล่ามาอีกเลยฮะ”

ลุงแมวน้ำกางภาพออกมาอีกใบหนึ่ง และพูด

“เอาละ ทีนี้เรามาดูคลื่นเศรษฐกิจกันต่อ คลื่นเศรษฐกิจนั้นเกิดจากวัฏจักรเศรษฐกิจทรงระฆังคว่ำที่ไม่ยอมยุติ แต่กลับเรียงร้อยต่อเนื่องกันไปจน เมื่อจบวัฎจักรหนึ่งก็ตามด้วยอีกวัฏจักรหนึ่งไม่มีสิ้นสุด จึงกลายเป็นรูปทรงคลื่น ซึ่งรูปทรงคลื่นที่เกิดเป็นความต่อเนื่องนี้มีความพิเศษกว่าการเป็นวัฏจักรเดี่ยว นั่นคือ รูปทรงคลื่นนี้เนื่องจากมันต่อเนื่องยาวไปเรื่อยๆ ดังนั้นมันจึงอาจมีทิศทางได้ด้วย ลองดูภาพนี้


คลื่นเศรษฐกิจอาจมีทิศทางได้ นั่นคือ เกิดเป็นแนวโน้มเศรษฐกิจนั่นเอง คลื่นเศรษฐกิจมีได้ทั้งแนวโน้มขาขึ้น แนวโน้มขาลง และแนวโน้มคงตัว 



“ภาพนี้เป็นลักษณะคลื่นเศรษฐกิจ 3 แบบ

“กราฟรูปบนสุดเป็นคลื่นเศรษฐกิจแบบที่ขึ้นลง ขึ้นลงก็จริง แต่ขึ้นมากกว่าลง ดังนั้นจึงเกิดเป็นแนวโน้มใหญ่ขาขึ้น นั่นคือ เป็นคลื่นเศรษฐกิจในทิศทางขาขึ้น

“กราฟรูปกลางเป็นคลื่นเศรษฐกิจที่ยามขาลงลึกกว่ายามขาขึ้น ดังนั้นจึงเกิดเป็นแนวโน้มใหญ่ขาลง หรือว่าเป็นคลื่นเศรษฐกิจในทิศทางขาลงนั่นเอง

“ส่วนกราฟรูปล่างเป็นคลื่นเศรษฐกิจที่ขึ้นและลงพอๆกัน ดังนั้นจึงไม่มีทิศทาง เสมอตัวไปเรื่อยๆ”

“ขึ้นลง ขึ้นลง คลื่นย่อยประกอบเป็นคลื่นใหญ่ คลื่นใหญ่แยกส่วนเป็นคลื่นย่อย” ลิงพึมพำ จากนั้นก็ร้องว่า “นี่ก็คือคลื่นใหญ่คลื่นย่อยในทฤษฎีคลื่นอีเลียตนี่ลุง”

“ก็ทำนองนั้นแหละ” ลุงแมวน้ำหัวเราะขำท่าทางของลิงจ๋อ “คลื่นอีเลียตประกอบด้วยคลื่นใหญ่ คลื่นย่อย ซ้อนกัน คลื่นอีเลียตนอกจากอธิบายพฤติกรรมของราคาหุ้นได้แล้วยังใช้อธิบายเศรษฐกิจมหภาคได้ด้วย”

“ใช้กับเศรษฐกิจได้ด้วยหรือลุง ไม่เคยอ่านพบว่ามีใครใช้เลยนะเนี่ย” ลิงถามอย่างสงสัย

“อ้าว ก็ใช้ทฤษฎีคลื่นอีเลียตกับกราฟดัชนีตลาดหลักทรัพย์ของประเทศนั้นๆไง” ลุงแมวน้ำหัวเราะอีก “ดัชนีตลาดหลักทรัพย์เป็นตัวบ่งชี้เศรษฐกิจของประเทศได้ส่วนหนึ่งไง เราใช้คลื่นอีเลียตอธิบายดัชนีก็คือเราใช้คลื่นอีเลียตอธิบายเศรษฐกิจระดับประเทศนั่นเอง ใช้หลักการของคุณสมบัติการถ่ายทอด (transitive property) ในวิชาคณิตศาสตร์กับเศรษฐศาสตร์”


วัฏจักรเศรษฐกิจเกิดต่อเนื่องกันจนกลายเป็นคลื่นเศรษฐกิจ และคลื่นเศรษฐกิจนี้สามารถอธิบายได้ด้วยคลื่นอีเลียต โดยพิจารณาจากกราฟของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ของประเทศนั้นๆนั่นเอง ในภาพนี้เป็นคลื่นในกราฟดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ซึ่งสะท้อนเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาได้ส่วนหนึ่ง จะเห็นว่าเกิดเป็นทรงคลื่น การใช้ทฤษฎีคลื่นอีเลียตอธิบายดัชนีตลาดก็เท่ากับอธิบายเศรษฐกิจของประเทศด้วย ตามหลักคุณสมบัติการถ่ายทอด (เมื่อ a=b และ b=c ดังนั้น a=c)

No comments: